http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-24

พ.ร.ก."ภิวัฒน์"? รธน."พิบัติ"?, ลึกแต่ไม่ลับ 24 ก.พ.55

.
รายงาน 1 - ระฆังยก 1 เริ่มแล้ว "หนุน-ต้าน" แก้ รธน. "นปช.-พธม." กรีธาทัพ ไต่ระดับ "องศาเดือด"!
รายงาน 2 - ขัดแย้ง แตกแยก ภายใน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ใต้ร่มธง "ทักษิณ"
บทความ 3 - "ยิ่งลักษณ์" พลิกวิกฤติ "โฟร์ซีซั่นส์" "ว.5" พิสูจน์ เชิง-ชั้น "นารี"! "ปชป." สะดุด "(สวรรค์) ชั้น 7"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พ.ร.ก. "ภิวัฒน์"? รธน. "พิบัติ"?
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 10


ฝันร้าย ที่เคยได้รับจากสิ่งที่เรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์"
ทั้งการที่พรรคไทยรักไทย ถูกยุบ
พรรคพลังประชาชน ถูกยุบ
2 นายกรัฐมนตรี ทั้ง นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกจากเก้าอี้อย่างไม่คาดฝัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้เอง ทำให้พรรคเพื่อไทยมีท่าทีไม่วางใจต่อผลการวินิจฉัย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 (พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท) และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท) ของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกมาอย่างไร

ลึกๆ หลายคนในพรรคเพื่อไทยอาจจะทำใจรับ "ชะตากรรม" อีกรอบ
และรีบหาทางหนีทีไล่ เอาไว้ เช่น จะแปลงโฉมไปเป็นพระราชบัญญัติแทน เพื่อที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะได้ไม่ต้องลาออก
แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ด้วยมติ 7 ต่อ 2 ว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านไม่ขัดรัฐธรรมนูญ, และมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่า พ.ร.ก.กู้เงินแก้น้ำท่วม 3.5 แสนล้าน ไม่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน
ย่อมจะนำมาซึ่ง "ความโล่งอก"
โล่งอกที่ "2 พ.ร.ก." ร้อน กลายเป็น "พ.ร.ก.ภิวัฒน์" อันมีความหมายเชิงบวกที่จะนำไปเป็นเครื่องมือสร้างผลงานของรัฐบาลต่อไป
และที่สำคัญ ทำให้การเมืองที่ระอุมาตลอดสัปดาห์ เย็นลงไปอีกประเด็นหนึ่ง


แต่ที่ยัง "ระอุ" และกำลังเพิ่มอุณหภูมิขึ้นเรื่อยๆ จนต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ก็คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ เสนอแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แม้พรรคเพื่อไทย จะกุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
และต้องพึ่งพาเสียงจากวุฒิสมาชิกอีก ไม่มากนักคือราวๆ 25 เสียงเป็นอย่างน้อย
ซึ่ง นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยว่า ไม่ต้องมาล็อบบี้ ส.ว. เพราะขาดแค่เพียง 25 เสียง ส.ว. จะให้คะแนนเสียงมากกว่านี้ ไม่ต้องห่วง เพราะ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ให้การสนับสนุน

เสียงสนับสนุนในรัฐสภา จึงไม่น่ากังวลนัก
ขณะที่นอกสภา มวลชนคนเสื้อแดงก็พร้อมจะเป็น ฝ่ายสนับสนุน รัฐบาลอย่างเต็มที่
ดูเพียงนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะราบรื่น

แต่เอาเข้าจริง กลับไม่ใช่เช่นนั้น
เพราะเริ่มมีการเคลื่อนไหว ที่เป็นสัญญาณไม่ดีนักต่อรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย



เริ่มจาก องค์กรกลางๆ ซึ่งว่าที่จริง ควรจะอยู่ข้างรัฐบาลเสียด้วยซ้ำ
แต่กลับไม่ใช่เช่นนั้น
เมื่อ นายคณิต ณ นคร ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของ คปก. เรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต่อประธานรัฐสภา
เรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาออกไป
โดยขอให้รอร่างแก้ไขอีก 3 ร่างของภาคประชาชนก่อนที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ลงชื่อสนับสนุน เพื่อที่จะลดความขัดแย้ง และสร้างความรู้สึกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของทุกฝ่าย ไม่ใช่มุ่งประโยชน์การเมืองของฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่ง

พร้อมทั้งเรียกร้องให้
1) ที่มาของ ส.ส.ร. ควรมีความหลากหลาย มากกว่าร่างที่รัฐบาลกำหนด โดยให้มีจำนวนตามสัดส่วนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เท่าเทียมกัน
2) การรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติ ที่กำหนดไว้ 180 หรือ 240 วันสั้นเกินไป ควรจะเป็น 300 วัน

แต่ดูเหมือนว่า จะไม่ทันกาล เพราะการพิจารณาเรื่องนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็อาจพอทำได้ในช่วงแปรญัตติ
แต่รัฐบาลซึ่งหวังจะจบเกมไวจะเอาด้วยหรือไม่
ถ้าไม่ ก็จะเสียแนวร่วมที่สำคัญไป


ขณะเดียวกัน มีอีกความเคลื่อนไหวหนึ่ง ที่น่าจับตามอง
เมื่อ นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 10 คน เพื่อเสนอแนะในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ประกอบด้วย
นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550
นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
นายศุภชัย ยาวะประภาษ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีต ส.ส.ร. ปี 2550
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งล้วนเป็น "บิ๊กเนม" ที่มีอิทธิพลทางความคิด สามารถโน้มนำสังคมได้อย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญ
ที่สำคัญ บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ มีน้ำเสียง "คนละคีย์" กับพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล
จึงทำให้น่าสนใจ และต้องจับตามองว่า การที่คนเหล่านี้มารวมตัวกัน มีเป้าหมายอะไร อย่างไร
ซึ่งหากมาเพื่อ "สกัด" "ควบคุม" หรือ "ขัดขวาง"

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็เท่ากับว่าจะมี "ฝ่ายค้านภาควิชาการ" ที่น่ากลัวขึ้นมาอีกคณะ

นี่ยังไม่รวมองค์กรต่างๆ ที่จับตาเขม็ง ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกระทบตัวเองหรือไม่ ทั้ง ศาลปกครอง องค์กรอิสระต่างๆ

ซึ่งหากกระทบ ก็พร้อมจะไปยืนอยู่ในจุดตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย ทันทีเช่นกัน


ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมฝ่ายที่ตั้งป้อมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเปิดเผย และเริ่มเคลื่อนไหวขัดขวาง เข้มข้นขึ้นตามลำดับ
พรรคประชาธิปัตย์นั้นชัดเจนยิ่ง ที่จะไม่เอาด้วย
ซึ่งไม่ใช่เรื่อง "เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ" เท่านั้น
หากแต่พ่วง เอาเหตุผลทางการเมืองเข้าไปเต็มที่
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการขับเน้นประเด็นไปที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังเอื้อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พ้นมลทินจากคดีความต่างๆ และเปิดทางกลับประเทศ

สติ๊กเกอร์ รณรงค์คัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีรูป พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกากบาทคาดหน้า ที่พรรคประชาธิปัตย์ ทำแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ถือเป็นยุทธวิธีสำคัญที่พรรคเก่าแก่จะขับเน้น และให้ความสำคัญมากกว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอื่นๆ
ซึ่งดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะเชื่อมั่นว่า จะจุดติด
และยิ่งหาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดรุกล้ำเข้าไปในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เชื่อว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะโหมกระหน่ำเข้าใส่ อย่างไม่ยั้ง

โดยมีพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยืนเคียงข้าง เปิดเกมสู้ในสภา อีกพรรคหนึ่ง


เช่นเดียวกับ กลุ่ม ส.ว.สรรหา เช่น นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งอ้างว่ามี ส.ว. ในกลุ่มประมาณ 50 คน เริ่มเปิดตัวเคลื่อนไหวคัดค้านเช่นกัน
โดยชูธงต่อต้านไปยังการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ว. กลุ่มดังกล่าวเชื่อว่า มุ่งล้างบางองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช.-กกต. รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนอำนาจองค์กรตุลาการ

กระแสต้านในรัฐสภา จึงไม่เบาเลย



ส่วนฝ่ายต่อต้านนอกสภา
คงมองข้าม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไปไม่ได้
แม้ระยะหลัง จะมีอาการแผ่ว ให้เห็นก็ตาม
ซึ่งตอนนี้ก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการมุ่งล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้อง
อันถือเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์ที่จะต้องต่อต้าน ทั้ง การดำเนินคดีอาญา ถอดถอน ยุบพรรค ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้

และประกาศว่าพร้อมเคลื่อนมวลชนชุมนุมทันที
หากพบการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หรือ มีการลบล้างความผิดให้กับนักการเมืองและพวกพ้องในอดีต
โดยจะมีการประชุมในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคมนี้


นี่คือ ความเขม็งเกลียว ของสถานการณ์ทางการเมือง

ที่แม้ เรื่อง พ.ร.ก. 2 ฉบับ จะกลายเป็น "พ.ร.ก.ภิวัฒน์" ที่เป็นเรื่องบวกต่อรัฐบาลในการใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปแล้ว

แต่ "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ยังไม่รู้ว่าจะแปรเปลี่ยนไปสู่ภาวะ "ภัยพิบัติ" หรือเป็น "รัฐธรรมนูญพิบัติ" สำหรับรัฐบาลหรือไม่

ซึ่งดูแล้ว ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย

เพราะเรื่องนี้เดิมพันสูง ถึงขั้นเป็น ขั้นตาย ทางการเมืองกันเลยทีเดียว!



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 8


ผลต่อเนื่องมาจาก ประเทศไทยเกิดอุทกภัย น้ำท่วมครั้งใหญ่ ในรอบ 100 ปี รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพิ่งเข้ามารับงานบริหารประเทศ กลิ่นมือใหม่ยังกรุ่นๆ อยู่ ได้ตัดสินใจออก "พระราชกำหนด" (พ.ร.ก.) ออกมา 4 ฉบับ เพื่อแก้ไข-รับมือปัญหาภัยน้ำท่วม และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 มกราคม 2555

"พ.ร.ก. 4 ฉบับ" ประกอบด้วย 1.พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 2.พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 กู้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท 4.พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 หรือ พ.ร.บ.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาทจากรัฐบาลสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย

2 ฉบับแรก ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ค้างเติ่งอยู่ 2 ฉบับหลัง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูง เข้าชื่อยื่นคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ อ้างว่าประกาศ พ.ร.ก. ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 โดยวรรคสอง ระบุว่า "การตราพระราชกำหนด ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้"

ลุ้นระทึกกันอยู่เป็นเวลาหลายวัน ระหว่างที่เรื่องอยู่ในกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ช่วงที่รอศาลวินิจฉัย มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ส่วนใหญ่ประมาณการว่า ผ่านหนึ่งฉบับ ถูกตีตกหนึ่งฉบับ โดยเฉพาะ พ.ร.ก. ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการโอนหนี้ ส่ออันตรายสุด

มีการตั้งธงว่า กรณีที่ พ.ร.ก. ไม่ผ่านศาลวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย ซึ่งขัดต่อกฎหมายสูงสุดต้องแสดงสปิริต รับผิดชอบทางการเมืองด้วยการลาออก หรือยุบสภาเท่านั้น

ฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ ลับมีดไว้เชือดเป็นที่เรียบร้อย หากรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ไม่รับผิดชอบใดๆ กรณีที่ "พ.ร.ก." ฉบับหนึ่งฉบับใด ถูกตีตกว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยจะอาศัยมาตรา 270 ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการ "ยื่นถอดถอน" ครม. ทั้งคณะ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน

แต่เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 40 วันหลังการลุ้นระทึกทั้งฝ่าย "แช่ง" ฝ่าย "เชียร์" ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงว่า พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.โอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่า พ.ร.ก. 4 ฉบับของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เพื่อแก้ไข-รับมือปัญหาอุทกภัย สามารถใช้ได้เต็มรูปแบบ



ขณะที่ รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ขนคณะรัฐมนตรีไปโกยแต้ม ขับเคลื่อนนโยบาย "ประชานิยม" ในภาคอีสาน-เหนือ-ภาคกลาง อันเป็น "พื้นที่เข้มแข็ง" ทั้งในรูปแบบของ "ทัวร์นกขมิ้น" และประชุม "ครม.สัญจร" นำงบประมาณไปโปรย ครั้งแรกที่เชียงใหม่ บ้านเกิดหลังเก่าของ "นายกฯ ปู" ครั้งที่ 2 ไปปักหลักที่ "อุดรธานี" ที่เปรียบเสมือนถ้ำใหญ่ของ "คนเสื้อแดง" ฐานเสียงใหญ่ของเพื่อไทย ตั้งหน้าตั้งตาโกยเรตติ้ง เข้ากระเป๋าเป็นว่าเล่น

"ประชาธิปัตย์" คู่ปรับตลอดกาล นั่งไม่ติดกับที่เหมือนกัน
เพราะปฏิบัติการไล่ล่า ทั้ง กรณี "ว.5 ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์" ก็ดี "พ.ร.ก. 2 ฉบับ" ก็ดี ถึงตอนนี้ลุ้นไม่ขึ้น
ตัดสินใจเดินสายประชุมเชิงปฏิบัติการ ยึดหัวหาดในถิ่นตัวเองเช่นเดียวกัน คือ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หัวข้อ "โครงการยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาศักยภาพสาขาพรรค 14 จังหวัดภาคใต้"
ระดมขุนพลทั้งรุ่นเก่า-รุ่นเดอะ-รุ่นกลาง ไปเต็มสนาม อาทิ "ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ" ไปกันครบ

การขับเคลื่อนก้าวนี้ ประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่ระดมหัวกะทิไปเต็มพิกัดเท่านั้น ยังรวมพลกรรมการบริหารพรรค ส.ส. ประธานสาขาพรรค และสมาชิก ไม่น้อยกว่า 500 คน ไปชุมนุมใหญ่ อาจจะมีคนเปิดประเด็น "ปรับยุทธศาสตร์" สู้รบใหม่
เจ้าภาพคงเป็นใครไปไม่ได้ ต้องเป็น "ถาวร เสนเนียม" ในฐานะรองหัวหน้าพรรคโควต้าภาคใต้ และเจ้าถิ่น
อัดโปรแกรมแน่นเอี๊ยด 2 วันเต็ม ระหว่าง 27-28 กุมภาพันธ์ เปิดเวทีด้วย "มั่นใจพรรค ชัยชนะทุกภาค" ปลุกใจโดย "ชวน หลีกภัย"
ตามด้วยแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศไทยระหว่างดำรงตำแหน่ง โดย "สุเทพ เทือกสุบรรณ"
"อภิสิทธิ์" จะเปิดประเด็น 2 ปี กับการบริหารราชการแผ่นดิน
วันปิดสัมมนาใหญ่ ฟัง "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" เลขาธิการพรรคที่โลกกำลังจะลืม พูด "ก้าวต่อไปพรรคประชาธิปัตย์" น่าจะมีอะไรใหม่ๆ มาฝากสมาชิก
เพราะนับตั้งแต่ "เฉลิมชัย" ก้าวขยับขึ้นมายึดเก้าอี้เลขาธิการพรรค ต่อคิวจาก "เทพเทือก" ประชาธิปัตย์ก็แผ่วลงไปมากอย่างเห็นเด่นชัด

ปัญหาของประชาธิปัตย์ น่าจะต้องปรับยุทธศาสตร์ว่าด้วย "โครงสร้างพรรค"
โดยเฉพาะโครงสร้างว่าด้วยการเลือกกรรมการบริหารพรรค ที่มีขั้นตอนการโหวตจากที่ประชุมใหญ่วิสามัญ
ที่วางกรอบไว้ว่า 1.คณะกรรมการบริหาร กุมสัดส่วน 9 เปอร์เซ็นต์ 2.สาขาพรรคทั่วประเทศ 139 สาขา มีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ 3.ส.ส.ปัจจุบัน 2 ระบบ มีสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ 4.ตัวแทนสมาชิกจากทุกภาค 20 คน มีสัดส่วน 1 เปอร์เซ็นต์ 5.สมาชิกพรรคที่เป็นผู้นำท้องถิ่น อาทิ นายก อบจ. หรือนายกเทศมนตรี-ส.ก.-ส.ข. จำนวน 23 ตัว มีสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์

โครงสร้างของพรรคประชาธิปัตย์ วางไว้เป็นระบบ ดูเข้มแข็ง และทำให้พรรคยืนยงคงกระพันมายาวนาน ไม่มีใครมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่เหมือนกับพรรคการเมืองคู่แข่งรายอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคเฉพาะกิจ
แต่ในทางกลับกัน เมื่อถึงเวลาหนึ่ง โครงสร้างอันเป็นเสมือนกำแพงเหล็ก ก็แปรสภาพเป็น "จุดอ่อน" ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเช่นเดียวกัน

และเพราะโครงที่ว่าเข้มแข็งนี้หรือไม่ ที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เผชิญกับความพ่ายแพ้ต่อศึกเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายครั้งหลายสมัย



+++

ระฆังยก 1 เริ่มแล้ว "หนุน-ต้าน" แก้ รธน. "นปช.-พธม." กรีธาทัพ ไต่ระดับ "องศาเดือด"!
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 13


การนัดหมายแกนนำคนเสื้อแดงทุกจังหวัดระดมมวลชน
รวมพลังเคลื่อนไหวในรูปแบบการจัดคอนเสิร์ต สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต่อต้านการรัฐประหาร ในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ ณ โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
คือมาตรวัดพลังคนเสื้อแดงอีกครั้ง

หลังจากแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ออกเสียงส่วนใหญ่ในการประชุมวันที่ 15 กุมภาพันธ์
เลือก นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช. ขึ้นเป็นประธาน นปช. เต็มตัว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแกนนำสายฮาร์ดคอร์จำนวนหนึ่ง

นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำคนเสื้อแดงและที่ปรึกษา รมว.คมนาคม ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้งประธาน นปช. ครั้งนี้ โดยระบุว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มีการ "ล็อกสเป๊ก" ไม่ต่างจากเผด็จการ ทําให้มวลชนคลางแคลงใจ เกิดผลเสียต่อองค์กร

ขณะที่ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรฯ แกนนำหลักเสื้อแดงภาคอีสาน แสดงอาการไม่ยอมรับ"การนำ"ของนางธิดา

นายขวัญชัยอ้างถึงการตั้งประธาน นปช. ระดับตำบลและระดับอำเภอ ระหว่างที่นางธิดาเป็นรักษาการ นปช. ว่าส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และแตกแยกขึ้นในพื้นที่นั้นๆ อย่างมาก เพราะนางธิดาไม่ได้หาข้อมูล ไม่ได้สกรีนคนว่ามีอุดมการณ์หรือมวลชนในมือหรือไม่
นายขวัญชัยยังประกาศว่า จากนี้ชมรมคนรักอุดรฯ และกลุ่มชมรมคนรักอีสาน 20 จังหวัด จะทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่เท่านั้น ไม่ไปร่วมกับกลุ่ม นปช. รวมทั้งการจัดกิจกรรมชุมนุมใหญ่คนเสื้อแดงในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ก็จะไม่ไปร่วม

ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ยังย้ำจุดยืนของกลุ่มตนเองชัดเจนว่า ต้องการเดินหน้าไปกับรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้กลับเข้าประเทศเท่านั้น
อันเป็นจุดยืนที่ "แคบ" กว่าของ นปช. ส่วนกลาง ที่กำหนดภารกิจหลักของกลุ่มในปี 2555 ไว้ตรงการเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อต้านการรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละทิ้งภารกิจเดิม ในการทวงถามความยุติธรรมให้กับ 91 ศพ เหยื่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553
และเร่งรัดกระบวนการหาตัว "ผู้กระทำผิด" มารับโทษทางอาญา


อย่างไรก็ตาม ถึง นายชินวัฒน์ หาบุญพาด จะไม่พอใจการเลือกประธาน นปช. คนใหม่

แต่เจ้าตัวยืนยันว่ายังเป็นคนเสื้อแดงเหมือนเดิม ไม่ทำลายองค์กรเด็ดขาด กิจกรรมการเคลื่อนไหวถ้ามีก็ทำ แต่จะทำในส่วนของตัวเองเท่านั้น

เช่นเดียวกับ นายขวัญชัย ไพรพนา กล่าวเปิดช่องว่า การจะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. มีอยู่เหตุผลเดียวเท่านั้นคือเมื่อทหารตบเท้าออกมาปฏิวัติ

ด้วยท่าทีดังกล่าวนำไปสู่ข้อประเมินที่ว่า แม้การที่นางธิดาขึ้นมาเป็น "ผู้นำ" คนเสื้อแดงเต็มตัว จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในหมู่คนกันเองอยู่บ้าง

แต่ก็เป็นแรงกระเพื่อมเล็กน้อยไม่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวโดยรวมของกลุ่ม นปช.

ไม่ว่าการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเป็น"กองหนุน"ปกป้องรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้พ้นจากการถูกโค่นล้มด้วย "อำนาจนอกระบบ"


กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีการปูพื้นโดยฝ่ายตรงข้ามมาระยะหนึ่งว่า

รัฐบาลชุดนี้มีเจตนาแก้ไขเพื่อช่วยเหลือคนคนเดียวคือ "ทักษิณ ชินวัตร" ก่อนจะมีการแตกประเด็นไปไกลถึงการแก้ไขเพื่อ "ล้มล้างสถาบัน"

กระทั่งรัฐบาลซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำเริ่มต้น"นับหนึ่ง"กระบวนการแก้ไข โดยมี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ "รับไม้" ต่อจากรัฐบาล

บรรจุวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 ขึ้นมาตามข้อเสนอของฝ่ายรัฐบาล เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์

ความวุ่นวายขัดแย้งก็เริ่มก่อตัวขึ้นทันที ท่ามกลางกระแสทั้ง"สนับสนุน"และ"ต่อต้าน" ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายทั้งในและนอกสภา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ

ไม่ว่าจะกลุ่ม"เสื้อหลากสี" ของ "หมอตุลย์" นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ที่ออกท่าทางชัดเจนว่าคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่แรก

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ล่าสุดได้แถลงนัดชุมนุมรวมพล "เสื้อเหลือง" ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 มีนาคมนี้

ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนนอกสภา นำโดยกลุ่ม นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ติดตามทุกความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พร้อมกันนั้นแกนนำ นปช. ยังได้ตระเตรียมระดมพลังคนเสื้อแดงในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลหลายกลุ่ม เพื่อเป็น "กันชน" ให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้

โดยจะเน้นการคุมเชิงและอดทนต่อการยั่วยุจากฝ่ายตรงข้าม ที่ต้องการให้เกิดการปะทะเพื่อให้สถานการณ์ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงกระทั่งรัฐบาล "เอาไม่อยู่"



ส่วนกรณีการชูธงต่อต้านการรัฐประหารนั้น

ด้วยแกนนำ นปช. เชื่อว่าขณะนี้มีสัญญาณหลายอย่างบ่งชี้ว่า ขบวนการทำลายล้างรัฐบาลเพื่อไทย ยังทำงานอยู่อย่างเป็นระบบ เชื่อมโยงถึงกันหลายฝ่าย

อย่างที่เห็นคือถึงแม้ พ.ร.ก.กู้เงินแก้น้ำท่วม และ พ.ร.ก.โอนหนี้ไปยังแบงก์ชาติ จะ"ผ่าน"การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปได้ แต่ปรากฏว่ามีการนำกรณี "ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" เข้ามาแทนที่ในทันทีทันใด

เส้นทางกรณี "ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" เริ่มจาก นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ออกมาเปิดประเด็นให้พรรคประชาธิปัตย์รับไปขยายประเด็นเป็นเรื่อง "ใต้สะดือ" แต่เกิด "ผิดคิว" โดนกระแสสังคมตีกลับจนเสียผู้เสียคนไปตามกัน

ต่อมาจึงได้พยายามพลิกกลับให้มาเป็นเรื่องความไม่ชอบมาพากล ในการเลื่อนประกาศราคาประเมินที่ดินปี 2555 ออกไปอีก 6 เดือน

และการขยายเวลาบังคับใช้ผังเมืองใหม่ 12 แห่งรวม กทม. ออกไปจากเดิม 15 พฤษภาคม 2555 เป็น 15 พฤษภาคม 2556

ว่าอาจมีเบื้องหลังเกี่ยวพันกับกรณี "ว.5 โฟร์ซีซั่นส์" ระหว่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อดีตผู้บริหารบริษัทเอสซี แอสเสทฯ กับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 6-7 คน

อีกด้านหนึ่งเป็น "กลุ่มกรีน" ที่รับลูกจากนายเอกยุทธ เดินหน้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ดำเนินการตรวจสอบ"จริยธรรม"ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่เข้าร่วมประชุมสภา แต่กลับไปปฏิบัติภารกิจลับที่โรงแรม

ซึ่งล่าสุดที่ประชุมผู้ตรวจแผ่นดินมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว พร้อมมีหนังสือถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวภายใน 30 วัน

จุดพลิกผันกรณี "ว.5 โฟร์ซีซั่น" นี้ อยู่ตรงที่หากว่านายกฯ ชี้แจงแล้ว แต่ทางผู้ตรวจการแผ่นดินยังเห็นว่ามีปัญหาเรื่องจริยธรรมก็จะรายงานต่อรัฐสภา หากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงอาจเป็นเหตุให้ถูก "ถอดถอน" ได้

เหล่านี้คือ"โค้งอันตราย"ทางการเมือง

สะท้อนว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ถึงจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย แต่ก็อยู่ในสภาพ "เปราะบาง" อย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ที่เริ่มไต่ระดับเข้าสู่ "องศาเดือด"

ตามการประเมินสถานการณ์ของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. ที่ว่า

แถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 1/2555 เกิดขึ้นแล้ว แสดงว่ามีการเปิดฉากให้กลุ่มขบวนการนอกระบบ ที่จะสนับสนุนให้มีความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่รัฐประหาร เริ่มแสดงตัวออกมาอย่างเปิดเผย

ฉะนั้น การจัดคอนเสิร์ตการเมืองในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ ขอให้คนเสื้อแดงไปพร้อมเพรียงกันที่โบนันซ่า เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา

เพราะมีการลั่นระฆังยกที่ 1 ขึ้นแล้ว



+++

ขัดแย้ง แตกแยก ภายใน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ใต้ร่มธง "ทักษิณ"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 8


ความขัดแย้งทางความคิด การแตกแยกทางการเมือง และการแยกตัวทางการจัดตั้ง ภายในแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน

มิได้เป็นเรื่องเพิ่งเกิดขึ้น

ภายหลังการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน 2552 นายจักรภพ เพ็ญแข ก็แยกตัวออกไปเคลื่อนไหวในต่างประเทศ

คล้ายกับเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี

แต่หากสืบสาวราวเรื่องไปจริงๆ ก็เป็นปัญหาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น หากสังเกตให้ดีก็จะเห็นความแนบแน่นทางความคิดระหว่าง นายจักรภพ เพ็ญแข กับ นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งต่อมาก็แยกตัวจาก นปช. มาประกาศตัวเป็น "แดงสยาม"

ภายหลังสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ภายใน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ก็มีการจัดขบวนครั้งใหญ่

นายวีระ มุสิกพงศ์ ขอลงแค่บางซื่อ

ขณะที่ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ไปไกลยิ่งกว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

ที่สุดก็เดินไปในพื้นที่ซึ่ง นายจักรภพ เพ็ญแข ล่วงหน้าไปก่อน



ฉะนั้น การที่ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ซึ่งสร้างรากฐานจากกลุ่มแท็กซี่ ออกมาประกาศขับ นางธิดา ถาวรเศรษฐ จึงมิได้เป็นเรื่องแปลก

สะท้อนความพร้อมที่จะสร้างดาวกันคนละดวง ช่วงชิงไปสู่สวรรค์

ฉะนั้น การที่ นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร ประกาศไม่ร่วมกับ นปช. หาก นางธิดา ถาวรเศรษฐ เป็นประธาน

จึงมิได้เป็นเรื่องใหม่

ถามว่าเหตุปัจจัยมาจากไหน คำตอบตรงเป้าอย่างที่สุดก็คือ ปัญหาการนำ ปัญหาอันเนื่องแต่ต้องการช่วงชิงการนำ

เพราะความเอนเอียงของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ไปในทางหมู่บ้านคนเสื้อแดง จึงก่อความหงุดหงิดให้ นายขวัญชัย ไพรพนา เป็นอย่างสูง เพราะการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดง อันมีอุดรธานีเป็นฐานที่มั่นสำคัญ สะท้อนการช่วงชิงการนำ

ขณะที่เมื่อ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสียงเอะอะโวยวายก็เงียบไป

กระนั้น ทั้ง นายชินวัฒน์ หาบุญพาด และ นายขวัญชัย ไพรพนา ก็มีจุดร่วมเหมือนกัน นั่นคือ ไม่เอา นางธิดา ถาวรเศรษฐ ไม่เอา นพ.เหวง โตจิราการ



ภายในความขัดแย้ง ภายในการแตกแยก ภายในการแยกตัวทางความคิด ทางการเมือง และทางการจัดตั้ง แต่น่าสนใจก็ตรงที่ "จุดร่วม" ของทุกฝ่าย

นายชินวัฒน์ หาบุญพาด อาจไม่ยอมรับ นางธิดา ถาวรเศรษฐ แต่ก็ยอมรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่เคยแปรเปลี่ยน

เช่นเดียวกับ นายขวัญชัย ไพรพนา

นายขวัญชัย ไพรพนา ขัดหูขัดตากับการดำรงตำแหน่งประธาน นปช. ของ นางธิดา ถาวรเศรษฐ อย่างแน่นอน แต่ก็ยืนยันว่า

"ไม่มีใครรัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เท่าผมหรอก"

มีความขัดแย้ง มีการแตกแยก มีการแตกตัว ระหว่างแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เกิดขึ้น ดำรงอยู่ แต่ก็ดำเนินไปภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนเดิม



+++

"ยิ่งลักษณ์" พลิกวิกฤติ "โฟร์ซีซั่นส์" "ว.5" พิสูจน์ เชิง-ชั้น "นารี"! "ปชป." สะดุด "(สวรรค์) ชั้น 7"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 9


ประเด็น "นายกรัฐมนตรี" นัดพบกับ "เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ที่ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ที่ออกมาจากปากคำของ "เอกยุทธ อัญชันบุตร" เจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์

กลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่ "พรรคประชาธิปัตย์" และ "ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย" นำมาขยายผล เป็นคำถามถึงตัว "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี

โดยคำถามแรก มุ่งตรงไปที่ "ความสัมพันธ์ส่วนตัว" ของ "นายกรัฐมนตรี" กับ "นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ที่ทั้งคู่ ต่างมี "สถานะครอบครัว" และ "สถานะทางสังคม" ที่ชัดเจนอยู่แล้ว ว่ามีความถูกต้องตามจารีตประเพณีหรือไม่?

คำถามที่สอง มุ่งไปที่ "การปฏิบัติหน้าที่" ของ "นายกรัฐมนตรี" ด้วยการเอาเวลาราชการไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัวนั้น มีความเหมาะสมเพียงใด?

คำถามที่สาม เป็นเรื่องของสถานะตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ในการไปพูดคุยกับ "นักธุรกิจเอกชน" ที่มีความใกล้ชิดกันเป็นการส่วนตัว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ "นโยบายรัฐบาล" นั้นจะส่งผลต่อความได้เปรียบ เสียเปรียบทางธุรกิจที่จะส่งให้เกิดปัญหา "ผลประโยชน์ทับซ้อน" หรือไม่?

กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ถาโถมเข้าใส่ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตลอด 2 สัปดาห์นับตั้งแต่เกิดเรื่อง

โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ และมีพรรคเพื่อไทยในการเป็นตัวแทนในการตอบโต้รายวัน

แต่ "ยิ่งลักษณ์" ซึ่งถือเป็นคนต้นเรื่อง กลับอยู่ในอาการสงบนิ่ง โดยไม่บุ่มบ่ามแสดงความคิดเห็นหรือให้ชัดเจนใดๆ และยังคงปฏิบัติภารกิจในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ในการลงพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือและภาคกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอย่างขะมักเขม้น



ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดปมปัญหา "ว.5 ชั้น 7 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์" นั้น ทั้ง "ฝ่ายประชาธิปัตย์" และ "กลุ่มตรงข้ามพรรคเพื่อไทย" ดูเหมือนจะยังไม่ได้มีการกำหนดทิศทางของการตรวจสอบที่ชัดเจน และยังวนเวียนอยู่เฉพาะประเด็น "ความสัมพันธ์ส่วนตัว" ระหว่าง "นายกรัฐมนตรีหญิง" กับ "นักธุรกิจหนุ่มใหญ่"

จนคล้ายกับว่า พยายามมุ่งเป้าจะโจมตีไปที่ "พฤติกรรม" ที่ไม่เหมาะสมในฐานะที่เป็น "ผู้หญิง"

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ "3 ส.ส.ประชาธิปัตย์" นำโดย "ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต" โฆษกพรรค "ศิริโชค โสภา" ส.ส.สงขลา และ "เทพไท เสนพงศ์" ส.ส.นครศรีธรรมราช นำมาพูดในรายการ "สายล่อฟ้า" ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ "บลูสกาย ทีวี" ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมในเครือของพรรคประชาธิปัตย์

โดยมีลักษณะเป็นการจับกลุ่มวิพากษ์เชิงเสียดสี "นายกรัฐมนตรี" เสียมากกว่าการวิจารณ์ในมุมของ "การใช้อำนาจรัฐ"

กลับยิ่งทำให้เรื่อง "การตรวจสอบ" ถูกมองว่า เป็นเพียงเรื่อง "สนุกปาก"!

ส่งผลทำให้น้ำหนักของ "ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" กลายเป็นเพียงการ "โจมตีทางการเมือง" และ "จับผิดพฤติกรรม" ตามประสาชาวบ้าน

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นเป็นจังหวะทางการเมืองที่ดีที่สุดจังหวะหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยจะหยิบจับจุดผิดพลาดของประชาธิปัตย์มาเป็นโอกาสในการโต้ตอบกลับทันที

พรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นไปที่ประเด็น "ละเมิดสิทธิสตรี" และการ "หมิ่นศักดิ์ศรีผู้หญิง" มาเป็นหลักในการปะทะ

แปรเปลี่ยน "จุดอ่อน" เรื่องความเป็น "ผู้หญิง" ของนายกรัฐมนตรีให้เป็น "จุดแข็ง" ในการต่อกรกับประชาธิปัตย์

พร้อมกับฉวยเอา "พฤติกรรม" ในอดีตและปัจจุบันของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นส่วนประกอบการตอบโต้

ขณะเดียวกัน ก็เป็นจังหวะให้ "ยิ่งลักษณ์" แสดงความอ่อนโยนด้วยการออกปาก ผ่านเวทีการพูคคุยกับ "กลุ่มสตรี" ในพิธีเปิด "กองทุนสตรี" จังหวัดละ 100 ล้านบาท ที่ทำเนียบรัฐบาล และระหว่างการลงพื้นที่ประชุม "ครม.สัญจร" ที่ จังหวัดอุดรธานี

ร้องขอความเห็นใจจากบุรุษเพศในการช่วยรักษาเกียรติยศของลูกผู้หญิง

และปลุกระดม "สตรีเพศ" ให้ลุกขึ้นมาปกป้อง "สิทธิ" ของตัวเอง

พลิกวิกฤติให้เป็น "โอกาส" ในการเรียกคะแนนสงสาร และเพิ่มคะแนนนิยมอย่างได้ผล

แม้จะไม่ใช่การชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็เป็นเทคนิคทางการเมืองที่แนบเนียน ในการจับจังหวะที่ฝ่ายตรงข้ามสะดุดปมปัญหา มาใช้ให้เป็นประโยชน์


และสุดท้าย "รายการสายล่อฟ้า" ของ "3 ส.ส.ประชาธิปัตย์" ก็กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ "ยิ่งลักษณ์" และ "เพื่อไทย" มีความชอบธรรมและน้ำหนักในการชี้แจง

ซึ่งต้องยอมรับว่าในสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่มีความแหลมคมและละเอียดอ่อนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความระมัดระวังทั้งเรื่องทิศทาง เนื้อหาและจังหวะเวลา

การที่พรรคประชาธิปัตย์มุ่งเป้าโจมตี "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ที่ไปพบปะหารือกับ "นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ในโรงแรมนั้น แม้เป้าหมายหลักจะเป็นการตรวจสอบ "ผลประโยชน์ทับซ้อน" เรื่อง "นโยบายรัฐบาล" กับ "ผลประโยชน์ทางธุรกิจ"

แต่เมื่อเปิดทางด้วยประเด็น "ความสัมพันธ์ส่วนตัว" ที่มีลักษณะไปในทาง "ชู้สาว" ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกของสังคมไทย ได้ทำให้น้ำหนักของเรื่องทั้งหมดลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อประชาธิปัตย์เปิดช่องโหว่ ให้เห็นความไม่รัดกุมในการขับเคลื่อน ก็เป็นโอกาสให้เพื่อไทยและ "ยิ่งลักษณ์" เปิดทางออกจากวิกฤติ



ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านวิกฤติความขัดแย้งมาตลอด 7-8 ปีนั้นได้เรียนรู้การต่อสู้ทางการเมืองมาไม่น้อย

ผ่านทั้งการถูกยุบพรรค การตั้งพรรคการเมืองใหม่ ไปจนถึงชัยชนะในสนามเลือกตั้งและการถูกตลบหลังสลับขั้วทางการเมือง

เป็นบทเรียนที่สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองให้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อก่อตั้งพรรคเพื่อไทยและตัดสินใจผลักดัน "ยิ่งลักษณ์" ซึ่งถือเป็น "มือใหม่" ทางการเมือง ขึ้นเป็น "แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี" ในการเลือกตั้ง 2554

"พลพรรคเพื่อไทย" ก็ได้เตรียมการรับมือเกมการเมืองในทุกรูปแบบเอาไว้ทั้งหมด

โดยมีการจัดตั้ง "คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย" ที่มี "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรีและแกนนำในกลุ่มอดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ร่วมนั่งเป็นที่ปรึกษา ในการประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์ทิศทางการต่อสู้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์เชิงรุก" ที่นำโดย "จาตุรนต์ ฉายแสง" อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และ "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาเป็นตัวนำ ในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและจัดวางทิศทาง จังหวะและประเด็นในการตอบโต้และขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างละเอียด

เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดปมปัญหาต่อตัว "นายกรัฐมนตรีหญิง" จะมีการสั่งการให้ขับเคลื่อนเพื่อปกป้องและตอบโต้ อย่างมีทิศทางและเสถียรภาพ

แตกต่างกับประชาธิปัตย์ในระยะหลังที่บ่อยครั้งปรากฏปัญหาเรื่องมุมมองและทิศทาง ตลอดจนถึงความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จนเพื่อไทยพลิกสถานการณ์ได้หลายครั้ง

และล่าสุด ประเด็น "ว.5 ชั้น 7" ฝ่ายเพื่อไทย ก็เป็นฝ่ายชักพาให้ประชาธิปัตย์พัวพันอยู่กับเรื่อง "ความสัมพันธ์ส่วนตัว" ได้มากกว่า "สาระสำคัญ" อื่นๆ อย่างได้ผล

เป็นการแสดง "จุดแข็ง" อีกจุดของ "นายกรัฐมนตรีหญิง" ที่ถูกมองว่าเป็น "มือใหม่" ตลอดเวลาที่ก้าวเข้ามารับตำแหน่ง "เบอร์ 1" ของเพื่อไทย

เป็นความแข็งแกร่งทางการเมือง ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ค่อยๆ ชัดเจนมากขึ้น!



.