http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-19

หนุ่มเมืองจันท์: Red Sun, +ความ"หวัง"และความ"หลัง"

.
มีโพสต์ - สรกล อดุลยานนท์ : การทูต "ออเคสตรา"

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

Red Sun
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 24


ตอนแรกที่เห็นทำเลของร้าน Red Sun
ผมชม "สุพจน์" เพื่อนตายทันที
"เอ็งกล้าหาญมาก"
เพราะร้านนี้อยู่บนชั้น 7 ของศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่
แม้จะเป็นศูนย์การค้าทำเลกลางเมืองอย่างสยามสแควร์
แต่ทำเล "ชั้น 7" นั้นระดับปราบเซียน

ขึ้นบันไดอีกชั้นหนึ่งก็หลังค้าห้างแล้ว
อย่างที่ผมเคยเขียนไว้ อาคารสูงนั้นถ้าเป็นคอนโดมิเนียม ยิ่งสูงยิ่งแพง

แต่ถ้าเป็นศูนย์การค้า ยิ่งสูง ยิ่งเหนื่อย
ทำเลชั้นล่างจึงแพงที่สุด


"สุพจน์" นั้นหลังจากประสบความสำเร็จจากโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงขนาดใหญ่แล้ว เขาอยากทำร้านขนาดเล็กเพื่อเข้าศูนย์การค้าบ้าง
ขนาดเล็กของเขาคือ 120 ที่นั่ง
คือ เทียบกับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่จุคนได้ประมาณ 1,000 ที่นั่งที่สาขาพระราม 3
และ 2,000 ที่นั่งที่สาขาเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา
120 ที่นั่งก็ถือว่าเล็กแล้ว

"สุพจน์" ขยับเข้า ขยับออกหลายครั้ง
จนในที่สุดเขาก็กระโดดเข้าศูนย์การค้าด้วยแบรนด์ใหม่
Red Sun
ครับ Red Sun ก็คือ "ตะวันแดง"

จะบอกว่าเป็นร้านอาหารไทยสไตล์โมเดิร์นก็ใช่ แต่ยังมีกลิ่นของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
คือ ความสนุกสนาน และเสียงดนตรี
ฮาเฮเหมือนเดิม
ด้วยรสชาติอาหาร และบรรยากาศของ Red Sun นั้นไม่มีปัญหา

แต่ "ชั้น 7"
คนจะมาต้องตั้งใจมากเลย
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งมาดามทุสโซ อยู่ชั้น 6
ขึ้นมาชั้น 6 A มีร้านอาหารดังๆ อีกหลายร้าน

ชั้น 7 มีแค่ร้าน Red Sun กับลานสเก็ตน้ำแข็ง
ผมถามเพื่อนว่าเคยได้ยินคำนี้ไหม
"ยิ่งสูง ยิ่งหนาว"
แต่ "สุพจน์" เถียงว่าเอ็งดูดีๆ ชั้นนี้ฮวงจุ้ยดีมาก
ด้านขวาเป็นลานสเก็ตน้ำแข้ง เย็นสุดๆ
แต่ด้านขวาเป็นร้านพระอาทิตย์สีแดง ร้อนสุดๆ
"หยิน-หยาง ชัดๆ"

ครับ ช่างเป็นการให้กำลังใจตัวเองได้ดีมาก

ทำเลไหนเลือกแล้ว ทำเลนั้นดีเสมอ



ผมคุยกับ "มด" มือขวาของ "สุพจน์" ที่รับผิดชอบโครงการนี้ถึงเรื่อง "ชั้น 7"
สาวมดเล่าว่าเธอบอก "เจ้านาย" ตั้งแต่วันแรกๆ ที่รู้ทำเลร้าน Red Sun
"พี่พจน์ ทีหลังถ้าจะไล่หนูออกก็บอกมาตรงๆ"
ไม่ต้องลงทุนตั้ง 20 ล้านเพื่อหาเหตุผลมาไล่เธอ
เป็น "มุข" ของสาวมดครับ

"สุพจน์" เป็นคนชอบทำอะไรยากๆ
โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาแรกก็เริ่มต้นช่วงเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติ
แต่เขาทำโรงเบียร์ขนาดใหญ่ 1,000 ที่นั่ง
บ้าขนาดนั้นยังทำมาแล้ว
แค่ "ชั้น 7" เด็ก...เด็ก

รู้ไหมครับว่า "สุพจน์" จัดงานแกรนด์ โอเพนนิ่ง เปิดตัวร้าน Red Sun เมื่อไร
วันศุกร์ที่ 13 มกราคมที่ผ่านมาครับ
ล้อเล่นกับความเชื่อเรื่อง "ศุกร์ 13" ซะงั้น

ผมแวบไปเยี่ยมชมกิจการของเพื่อนครั้งหนึ่งแบบเอาใจช่วยเต็มที่

เริ่มการเยี่ยมชมด้วย "ขาหมูทอด" และ "กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา"

เมนูที่เป็น "ซิกเนเจอร์" ของโรงเบียร์

สุดยอดครับ

ไม่ได้เชียร์เพื่อน แต่ผมไม่เคยกิน "ขาหมูทอด" ที่ไหนอร่อยเท่าที่นี่มาก่อน

ส่วน "กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา" ก็เป็นสูตรเฉพาะของที่นี่

ไปเมื่อไร ไม่เคยพลาด

เคยมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทยักษ์ใหญ่คนหนึ่งบอกผมว่านี่คือเมนูผัดผักที่อร่อยที่สุดในเมืองไทย
หวานกะหล่ำ ปะแล่มความเค็มแบบหอมน้ำปลา
เหมือนจะทำง่าย แต่อร่อยแบบนี้ยากมากเลย
จำได้ว่าวันนั้นผมไม่ได้แสดงความเห็นอะไร
เพราะ "กะหล่ำปลี" เต็มปากอยู่

อีกเมนูหนึ่งที่ไม่น่าพลาด คือ "กุ้งเรือนแก้ว"

เป็นกับแกล้มที่เป็นอาหารหลักของผม

มักจะหมดจานก่อนหมดแก้ว



วันที่ผมไปเป็นช่วงก่อนวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ
คนแค่ครึ่งร้าน
แต่ไปอีกครั้งหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน
เฮ้ย...คนแน่นเลย

"ตอนนี้ศุกร์-เสาร์ มีคิวแล้วพี่" สาวมดคุย
แปลกมาก ดึงคนขึ้นมาชั้น 7
"เธอทำได้ไง" ผมถาม
กลยุทธ์ของ "มด" คือ จับมือกับ "สยามดิสคัฟเวอรี่" ขอติดสติ๊กเกอร์ "Red Sun" บนทางเดิน

มีลูกศรนำทางมาชั้น 7
เป็นกลยุทธ์ง่ายๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ

อีกกลยุทธ์หนึ่ง คือ การดึงลูกค้าด้วยเสียงดนตรี
"ดนตรี" ก็คือ เสน่ห์ของโรงเบียร์
ที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จะมีวงฟองน้ำ ของ อาจารย์บรู๊ซ แกสตัน
แต่ที่นี่เป็นวงดนตรี 3 ชิ้น 2 วงเล่นตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน
เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มากด้วยฝีมือ

ส่วนตอนกลางวันก็จะเป็นกีตาร์สไตล์สเปน ขิม และเปียโน

ร้านอาหารใน "สยามดิสคัฟเวอรี่" ทั้งหมดมี Red Sun แห่งเดียวที่มีวงดนตรีเล่นสด

ดังนั้น แม้จะอยู่ชั้น 7 แต่เสียงเพลงเพราะๆ สามารถเรียกแขกจากชั้นล่างๆ ได้

ครับ ถ้าไม่เดินตามลูกศร ก็เดินตามเสียงเพลง

"มีคนลุกขึ้นเต้นหรือยัง" ผมถาม
"เริ่มขยับแล้วพี่ ตอนนี้เอานักดนตรีจากโรงเบียร์มาเล่นคืนวันศุกร์-เสาร์ ได้เรื่องเลย"
ครับ วงจากโรงเบียร์จะเก่งมากในเรื่องเอ็นเตอร์เทนแขก
ถ้าสามารถดึงลูกค้าลุกขึ้นเต้นได้เมื่อไร
Red Sun จะสร้างปรากฏการณ์

คิดดูสิครับ ดิ้นในศูนย์การค้า
มีที่ไหน นอกจากที่นี่แห่งเดียว
ผมบอก "มด" ว่าถ้าคนแน่นกว่านี้อีก ก็ให้ขอเช่า "ลานสเก็ตน้ำแข็ง" เพิ่ม
ดิ้นบนลานน้ำแข็ง

ร้อนรุ่มบนความยะเยือก

"หยิน-หยาง" ชัดๆ



++++
บทความของปี 2553

ความ"หวัง" และความ"หลัง"
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1584 หน้า 24


วันเสาร์ที่ผ่านมา ผมไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

"เอก" อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตร รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ชวนไปคุยกับนักศึกษาเรื่อง "พลเมืองกับการรับผิดชอบต่อสังคม" ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งในวิชาสหวิทยาการสังคมศาสตร์

วิชาบังคับของนักศึกษาปี 1 ธรรมศาสตร์

ฟัง "เอก" เล่าเรื่องหลักคิดและวิธีการสอนของวิชานี้แล้ว

ชอบครับ ชอบ

เพราะเป็นการสอนกึ่งปฏิบัติ ไม่มีการสอบกลางภาคและปลายภาค
มีแต่การทำรายงานและโครงการ
เป้าหมาย คือ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ชีวิตของคนยากไร้ และสภาพปัญหาที่ "ชนชั้นกลาง" ไม่เคยสัมผัสมาก่อน
วิชานี้มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียน 1,500 คน
อาจารย์ 30 คน

ต้องลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ รอบมหาวิทยาลัย เพื่อรับรู้ปัญหาทั้งกองขยะ ชุมชนแออัด หรือโรงงานต่างๆ
จากนั้นก็วิเคราะห์สาเหตุ และเชื่อมโยงกับตัวนักศึกษาเอง
"คุณ" เกี่ยวข้องหรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอย่างไร
จะแก้ไขแบบไหน
ฟังดูเหมือนการทำกิจกรรมนักศึกษา เหมือนการไปค่ายพัฒนาชนบท หรือค่ายสลัม
แต่นี่คือ วิชาเรียน และเป็นวิชาบังคับ
เจอกับอาจารย์แค่ 10 ครั้งเท่านั้น

วันที่ผมไปพูด เป็นครั้งที่ 4
เขาแบ่งเป็น 4 ห้องใหญ่ เช้า 4 เรื่อง บ่าย 4 เรื่อง
นักศึกษาจะเลือกเข้าห้องไหนก็ได้ตามจิตศรัทธา
หัวข้อที่ผมเป็น "วิทยากร" คือ เรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและและบทบาท "พลเมือง"

มีวิทยากรอีกคนหนึ่ง คือ ดร.มานะ ตรียาภิวัฒน์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมี "เอก" เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ทั้ง 3 คน เป็นนักกิจกรรมเก่า

"มานะ" เคยเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) มี "เอก" เป็นอุปนายก รุ่นเดียวกัน

ส่วนผมเป็นอุปนายก อมธ. รุ่นพี่

กลับมาธรรมศาสตร์ครั้งนี้ แม้จะไม่ใช่ "ท่าพระจันทร์" ที่คุ้นเคย

แต่ก็ได้บรรยากาศและความรู้สึกของการทำกิจกรรมนักศึกษา

และยิ่งชัดขึ้นเมื่อเข้าห้องเรียน



ตอนที่เดินเข้าไปในห้องเรียนขนาดใหญ่
"เอก" ขึ้นเวทีไปตรวจดูอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
บนเวทีไม่มีเก้าอี้หรือโซฟาตั้งอยู่เลย
"สงสัยเขาไม่รู้ว่าจะเป็นการเสวนา 3 คน" เอกบ่นนิดนึง แล้วหันไปดูโซฟาที่วางอยู่ด้านล่างเวที
เรา 3 คนหันมาสบตากัน
สัญชาตญาณดั้งเดิมทำงานทันที
ผมยกโต๊ะกลางขึ้นไปก่อน
จากนั้น เรา 3 คนก็ช่วยยกโซฟา 2 ตัวไปบนเวที
...เรียบร้อยครับ

ผมอดนึกขำในใจไม่ได้ ไป "ธรรมศาสตร์" ทีไร ไม่เคยได้เป็นวิทยากรผู้ทรงเกียรติสักที

จำได้ว่าครั้งแรกที่มาเป็นวิทยากรให้กับนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อหลายปีก่อน

นักศึกษาปั่นจักรยานมารับตรงห้องสมุด แล้วเดินจูงจักรยานไปห้องประชุมที่หอพักด้วยกัน

ถามว่าทำไมไม่ปั่นจักรยานไป

"ผมซ้อนท้ายได้" บอกกับน้องตรงๆ เพราะคิดว่าน้องเขาจะอายที่ปล่อยให้ "วิทยากร" ซ้อนจักรยาน

"ผมขี่ไม่แข็งครับ ซ้อนไม่ได้" เขายิ้มเขินๆ

สุดท้าย เราก็แก้ปัญหาด้วยการให้วิทยากรผู้ทรงเกียรติทำหน้าที่คนปั่นจักรยาน

ส่วนน้องคนนั้น...นั่งซ้อนท้าย

เป็น "ความประทับใจ" ที่ตราตรึงจนถึงปัจจุบัน
ไม่นึกว่านอกจากปั่นจักรยานแล้ว วันนี้ยังต้องมายกโต๊ะและโซฟาอีก
เฮ้อ...ช่างเป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนจริงๆ
ทุกคนเท่าเทียมกันหมด
ไม่ว่า "วิทยากร" หรือ "รองอธิการบดี"

เริ่มการสัมมนา นักศึกษาเข้ามาฟังประมาณ 300-400 คน ทั้งที่เป็นประเด็นเรื่อง "การเมือง"

ผมตั้งใจจะพยายามพูดเรื่องการเมืองแบบเบาๆ เพราะคิดว่านักศึกษารุ่นนี้ไม่รู้เรื่องและไม่สนใจเรื่องการเมืองเท่าไรนัก

"มานะ" ยังแซวเลยว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษารุ่นนี้

ไม่ต้องเขียนโปสเตอร์ หรือมาร่วมชุมนุมตากแดดตากฝน

แค่ใช้ "นิ้วชี้" นิ้วเดียว

ตั้งกลุ่มใน facebook ประเภท "เชื่อว่ามี 1 ล้านคนไม่เอาอภิสิทธิ์" หรือ "มั่นใจว่ามี 1 ล้านคนไม่เอาเสื้อแดง"

ตั้งกลุ่มตามทัศนะของตนเอง

เสร็จแล้ว ก็กด Like



การเสวนาวันนี้ แม้จะเป็นเรื่องการเมือง แต่ก็สนุกมาก

และเมื่อ "เอก" ให้นักศึกษาตั้งคำถามขึ้นมาบนเวที

ความคิดของผมก็เปลี่ยนไป

"คำถาม" ที่ส่งมาแสดงให้เห็นเลยว่าเด็กรุ่นใหม่มีความรู้เรื่องการเมืองดีทีเดียว

และการตั้งคำถามก็คมคายมาก

บางคำถามที่ลึกซึ้งและสูงส่ง

ผมก็โยนให้ "เอก" เป็นคนตอบ
อาจารย์นิติศาสตร์จัดการได้
ตอบคำถามไม่กี่คำถาม เวลาก็หมด
แต่ผมขอ "คำถาม" ทั้งหมดกลับบ้าน
อยากอ่าน "คำถาม" ละเอียดๆ อีกครั้ง
และเมื่ออ่านจบ บอกได้คำเดียวว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ธรรมดาเลย

ไม่รู้ว่าเพราะการเมืองและความรุนแรงบนท้องถนนในช่วง 3-4 ปีนี้หรือเปล่าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กรุ่นนี้สนใจการเมืองมากขึ้น

วันนั้น ผมขอโทษนักศึกษาในห้องทุกคนที่ประเมินพวกเขาต่ำเกินไป

ใครที่คิดว่า "เด็กรุ่นใหม่" ไม่สนใจเรื่องการเมือง

คิดใหม่ได้แล้วครับ

เขาสนใจ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไรเท่านั้นเอง

ถ้าเขาหาทางเจอเมื่อไร เราอาจได้เห็นพลังคนรุ่นใหม่


ตอนเช้า ผมเดินเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยความรู้สึกเฉยๆ
แต่เมื่อเห็นหลักสูตรและวิธีการสอนในวิชานี้
...ได้ย้อนอดีตและย้อนวัยด้วยออกแรงยกโซฟา
และเห็น "คำถาม" จากนักศึกษา
ไม่แปลกที่ผมจะเดินออกจาก "ธรรมศาสตร์" ด้วยรอยยิ้ม

ด้วย "ความหวัง"

และ "เจ็บหลัง"



+++

สรกล อดุลยานนท์ : การทูต "ออเคสตรา"
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.


ในช่วงสงครามเย็น "สหรัฐอเมริกา" และ "จีน" เป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน
ความสัมพันธ์ด้านการทูตอยู่ในขั้นเลวร้าย
แม้ทั้ง 2 ฝ่ายต่างอยากจะ "คืนดี" กัน แต่ต่างฝ่ายก็รักษาฟอร์มไม่มีใครยื่นมือไปหาก่อน

จนกระทั่ง "ญี่ปุ่น" จัดแข่งขันปิงปองชิงแชมป์โลกในปี 2514 "จีน" และ "สหรัฐ" ต่างส่งทีมปิงปองลงแข่งขัน
เป็นครั้งแรกที่นักกีฬาทั้งสองฝ่ายได้จับมือกัน
และนักปิงปองสหรัฐอเมริกาเอ่ยปากอยากไปแข่งขันที่เมืองจีนบ้าง

จาก "จุดเริ่มต้น" ด้วยความบังเอิญ รัฐบาล "จีน" ได้เดินเกมการทูตด้วยการเชิญนักปิงปองสหรัฐไปแข่งขันที่เมืองจีน
และตามมาด้วยการไปเยือนเมืองจีนของ "เฮนรี่ คิสซิงเจอร์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ
ปิดท้ายด้วย "ริชาร์ด นิกสัน" ประธานาธิบดีสหรัฐ

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง "สหรัฐอเมริกา" และ "จีน" เริ่มต้นจาก "ปิงปอง"

นักรัฐศาสตร์จึงขนานนามปรากฏการณ์นี้ว่า "การทูตปิงปอง"

เริ่มต้นจาก "กีฬา" สู่ "ความสมานฉันท์"


ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็กำลังเกิดขึ้นในเมืองไทย

แต่ไม่ใช่ "การทูตปิงปอง"

หากเป็น "การทูตออเคสตรา"

ใช้ "ดนตรี" เป็น "สื่อ"

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยเริ่มต้นเมื่อปี 2549 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
แบ่งคนไทยเป็น 2 สี
"สีแดง" กับ "สีเหลือง"
ในมุมมองของ "คนเสื้อเหลือง" แม่ทัพของฝ่ายตรงข้ามคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ในมุมมองของ "คนเสื้อแดง" ขุนพลของอีกฝั่งหนึ่ง คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ดังนั้น ภาพของ พล.อ.เปรม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ "ทักษิณ" ในคืนวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงเป็นภาพประวัติศาสตร์
ใครจะบอกว่าเป็นงานขอบคุณผู้ที่ช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม
หรือใครจะอ้างเป็นการฟังดนตรีเฉยๆ
ไม่มีใครเชื่อ

"ป๋าเปรม" คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองมานาน ทั้งในสนามและนอกสนาม ย่อมอ่านออกว่าภาพที่เกิดขึ้นในงานรักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทยจะถูกตีความทางการเมืองอย่างไร

เช่นเดียวกับ "ยิ่งลักษณ์"

ไม่เช่นนั้น รัฐบาลคงไม่เชิญเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มาร่วมงานครั้งนี้

เพราะรู้ดีว่า "ภาพการเมือง" ครั้งนี้จะส่งสัญญาณทางบวกให้กับประเทศไทย

แม้จุดเริ่มต้นมาจากความปรารถนาดีอย่างบริสุทธิ์ใจของ "สุกรี เจริญสุข" คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยากจัดคอนเสิร์ตออเคสตราที่ทำเนียบรัฐบาล
เหมือนกับนักปิงปองชาวจีนและสหรัฐอเมริกา
แต่สุดท้ายกีฬาและดนตรีก็กลายเป็น "สื่อกลาง" ที่ทำให้เกิดจุดเริ่มต้นของการสมานฉันท์

วันนี้ก้าวแรกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

เหลือเพียงก้าวต่อไป และก้าวต่อไป

นี่คือ "ความหวัง" ของสังคมไทย



.