http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-12

ชี้กลุ่ม"ต้านนิติราษฎร์"/ฝ่ายขวา-ไม่ผลิตมุขใหม่ๆจึงเชยมาก

.
เพิ่ม 1 - 112(อีกที) โดย ฐากูร บุนปาน
เพิ่ม 2 - สื่อ สตรี และการเมือง โดย ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"คำ ผกา" ชี้กลุ่ม "ต้านนิติราษฎร์" ใช้มุขเก่า ไล่คนออกจากบ้าน-ดิสเครดิตปชต. สะท้อนฝ่ายขวาไม่ทำงาน

ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 15:30:00 น.


กฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังได้รับการพูดถึงในวงกว้าง

หากใช้ "กระแส" เป็นตัววัด ทั้งจากหน้าจอโทรทัศน์ หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ต วันนี้เรื่องการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "นิติราษฎร์" และคณะ ในนาม "คณะรณรงค์แก้ไข มาตรา 112 (ครก.112)" ถูกพูดถึงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สำหรับกรณีที่ค่อนข้าง "อ่อนไหว" อย่างนี้

มีทั้งฝ่ายต้าน อาทิ กลุ่มคนเสื้อเหลือง, กลุ่มคนเสื้อหลากสี ฯลฯ

มีทั้งฝ่ายสนับสนุน อาทิ ผู้ที่ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ครั้งนี้

"คำ ผกา" หรือ "ลักขณา ปันวิชัย" คือหนึ่งในคนที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ "กลุ่มนิติราษฎร์" เธอแสดงออกทั้งจากงานเขียน และการพูดถึงในเวทีต่างๆ

โดยเฉพาะใน "มติชนสุดสัปดาห์" มีทั้ง "ดอกไม้" และ "ก้อนอิฐ" ที่ถาโถมเข้ามาหานักเขียน - คอลัมน์นิสต์ฝีปาก(กา)กล้าคนนี้


"มติชน ทีวีออนไลน์" มีโอกาสได้พูดคุยกับเธอ และปรากฏการณ์ ต่อต้าน และขับไล่ฝ่ายต้านกลุ่ม "นิติราษฎร์" ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

มองความเคลื่อนไหวนิติราษฎร์ยังไง?
ชื่นชม เพราะว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการเสนอหนทางของการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แล้วก็ตั้งอยู่บนฐานของวิธีคิดทางวิชาการและข้อกฎหมายที่ "นูเทริล"หรือความเป็นกลาง (neutral- มติชนทีวีออนไลน์)" มากๆเลย คือยืนอยู่บนหลักนิติศาสตร์ ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักของ อคติ หรือ อัตวิสัย แต่ว่ายืนอยู่บนหลักวิชา นี่เป็นเรื่องที่ดีมาก

มาตรา 112 เห็นว่าควรแก้ไขหรือยกเลิก?
เชื่อมั่นในหลักวิชาการ หลักนิติศาสตร์ เพราะฉะนั้นให้ยืนอยู่บนหลักเหตุผลของหลักนิติศาสตร์ก่อน ทีนี้ต้องไปดูว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์คืออะไร ปัญหาหลักๆของ 112 ตอนนี้คืออะไร ไปแก้กันเป็นเปลาะๆตรงนั้น จะแก้ หรือจะยกเลิก ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราสามารถเปลี่ยนอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการผลิตและการใช้กฎหมายนี้ เพราะฉะนั้น จะต้องทำสองอย่างไปควบคู่กัน คือ กฎหมายต้องได้รับการปรับปรุง ไม่พูดว่าแก้หรือยกเลิก ขณะเดียวกันอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังกฎหมายนี้เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันให้มากขึ้นในสังคมไทย

ทำไมไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องอุดมการณ์นี้?
พูด ก็พูดเยอะ อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล พูดตอนแถลง

หมายถึงคนอื่นๆ ทำไมไม่พูด?
ต้องไปถามว่าทำไมนักข่าวไม่พูด ทำไมนักเขียนคนอื่นไม่พูด ทำไมสังคมไม่พูด ทำไมสื่ออื่นไม่พูด ต้องกลับไปถามสื่อมวลชนทั้งหมด

นักการเมืองในสภาไม่แตะเรื่องนี้ เป็นเพราะอะไร?
ไม่มีสิทธิไปตอบแทนใครว่าทำไมเขาไม่ทำ

ปรากฏการณ์ไล่คนออกนอกประเทศ สะท้อนอะไร?
สะท้อนให้เห็นว่า จินตนาการเกี่ยวกับเรื่องความเป็นชาติของคนไทย คงมีหลายชุดปะทะกันอยู่ตอนนี้ บางคนคิดว่าชาติเป็นของคนไทยทุกคน บางคนคิดว่าชาติเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ตราบเท่าที่คิดว่าเรามีความสามารถที่จะไล่ใครคนใดคนหนึ่งออกจากบ้าน แสดงว่าเราคิดว่าชาติเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ชาติไม่ใช่หน่วยจินตนาการทางการเมืองร่วมกันของคนในชาติ เพราะฉะนั้น เราจะไล่ใครออกจากบ้านได้ต้องมีเจ้าของบ้าน แต่ถ้าหากว่าบ้านหลังนี้มีคนอยู่ 20 คน แล้วทุกคนมีความเป็นเจ้าของบ้าน ร่วมกัน เท่าๆกัน 20 คน มันไม่มีใครไล่ใครออกจากบ้านได้ เพราะทุกคนมีสิทธิเท่าๆกันในบ้านหลังนี้เท่าๆกัน

คิดอย่างไรกับคำวิจารณ์ นิติราษฎร์เป็นพวกหัวนอก ไม่เข้าใจบริบทสังคมไทย?
ไม่เห็นมีอะไรซับซ้อนเลย เขาวิจารณ์ 2475 อย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ตอนคณะราษฎรปฏิวัติ 2475 เขาบอกว่า ไอ้พวกนี้เป็นพวกหัวนอก ไปเรียนจบเมืองนอกมา แล้วอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบฝรั่ง

ไอ้ "อาร์กิวเมนต์ หรือข้อโต้แย้ง(argument -มติชนทีวีออนไลน์)" ขอบอกพวกฝ่ายขวาจัด บอกฝ่ายที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงว่า พวกคุณช่วยไปหาเหตุผลที่มันทันสมัยกว่านี้ได้มั้ย เหตุผลนี้มันเก่ามากแล้ว เชยมากแล้ว เบื่อแล้ว พล็อตนี้ซ้ำ ช่วยหาเหตุผลอื่นที่มันแสดงให้เห็นว่าคุณมีสติปัญญาลึกซึ้ง ทำการบ้าน ทำงานหนักหน่อยได้มั้ย คือเขารู้ทันกันหมดแล้ว ไอ้มุขชิงสุกก่อนห่าม มุขอยากเป็นฝรั่ง มุขจะเอาแอ๊ปเปิ้ลมาปลูกในเมืองไทย ผลไม้นี้กับดินนี้อากาศนี้มันไม่เข้ากัน มุขอย่างนี้มันทำกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เชยมากเลย รู้สึกว่าฝ่ายขวาไม่ทำงาน

ก่อนนิติราษฎร์แถลงคิดอยู่แล้วว่าต้องโดนแบบนี้?
ไม่ใช่คิดอยู่แล้ว อาร์กิวเมนต์นี้มันอยู่ๆแล้ว อยู่ในแบบเรียน อยู่ในหนังสือเรียน อยู่ในการดิสเครดิตประชาธิปไตย มันอยู่ในการดิสเครดิตคณะราษฎร แล้วไอ้พวกที่ดิสเครดิตเรื่องพวกนี้ มันไม่เคยพัฒนาอาร์กิวเมนต์อะไรเลย แล้วมันใช้ซ้ำซาก คนเขาอธิบายมาเยอะแยะมากมายแล้วว่ามันเป็นผลงานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทย ผลิตซ้ำกันมาตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่อาร์กิวเมนต์อะไรที่แบบ...โอ้เซอร์ไพรซ์ ตกใจมากเลย

วันที่นิติราษฎร์แถลงไปร่วมงานมั้ย?
ไปค่ะ

เห็นคนเยอะรู้สึกอย่างไร?
มันไม่เยอะหรอกนะ คนไทยมีตั้ง 70 ล้านคน คนมาฟังนิติราษฎร์แค่ 2,000 มันไม่เยอะหรอกนะ

แต่ก็เต็มห้องประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์?
เยอะคุณต้องมีเรฟเฟอร์เร้นต์ (ข้ออ้างอิง-มติชนทีวีออนไลน์) แต่ฉันเรฟเฟอร์เร้นต์ว่าคนไทยมี 70 ล้านคน แต่มีคนสนใจนิติราษฎร์ 500 คน ลงชื่อ 700 นี่เป็นคนส่วนน้อยมากๆๆ ในสังคม แต่ถามว่าเราควรหยุดมั้ย นี่ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรหยุด เราต้องยอมรับว่าสิ่งที่เราทำเป็นชายขอบ เป็นอุดมการณ์ที่ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ถืออำนาจนำ เราคือเสียงที่เบามาก เราคือเสียงที่อยู่ขอบนอก ชายขอบของอำนาจมากๆ ต่อให้เรามีคนเยอะแค่ไหน เสียงของเราเป็นเสียงที่อยู่แค่ชายแดนของอำนาจ เราไม่ได้อยู่ที่จุดศูนย์กลางของอำนาจ

ถ้ารณรงค์ได้ถึง 10,000 รายชื่อ คิดว่าคนในสภาจะหนุนมั้ย?
ต้องได้สัก 5 ล้าน

เขาไม่ได้มองว่าตรงนี้เป็นฐานเสียงเหรอ?
ไม่



++

112(อีกที)
โดย ฐากูร บุนปาน คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 08 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ข้อถกเถียงว่าควรจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่ในสังคมไทย

แต่ถ้าถึงขนาดระบุว่า ผู้ที่แสดงความเห็นหรือเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้คือพวก "ล้มเจ้า" หรือเป็นคนที่ 'สร้างความแตกแยก' ให้เกิดขึ้นในสังคม

เข้าใจว่าอย่างนั้นก็แรงไปหน่อย

เพราะท่านผู้ที่ใช้ตรรกะชนิดนี้ เวลาที่พูดหรือคิดคงเพ่งไปแต่ที่กลุ่ม ครก. 112 หรือกลุ่มนิติราษฎร์ (ซึ่งมีผู้พยายาม ?จุดไฟ? ด้วยการตั้งชื่อเรียกขานด้วย ?โทสะวาท? ให้ใหม่ว่านิติเรด) เป็นหลัก

เพราะถ้าใช้ตรรกะว่า ผู้ที่เห็นด้วยว่าควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมาตรการนี้เป็นพวกล้มเจ้าหรือสร้างความแตกแยก

ก็ต้องเหมารวมอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน หรือข้าราชการระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม สำนักอัยการสูงสุด และอีกหลายๆ หน่วยงานที่เห็นด้วยกับหลักการนี้ หรือกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่

ว่าเป็นกลุ่มล้มเจ้า เป็นพวกสร้างความแตกแยกไปด้วย

หรือถ้าเสนอความเห็นเรื่องนี้เป็นการสร้างความแตกแยก แล้วท่านที่ออกมาแสดงความเห็นว่าคนที่คิดหรือพูดเรื่องนี้จะต้อง

- ไปอยู่ที่อื่นบ้าง

- ออกนอกบ้านไปบ้าง

อย่างนั้นจะนับว่าเข้าข่ายสร้างความแตกแยกด้วยหรือไม่

น่าขำและน่าตกใจ พอๆ กับข้อเสนอของผู้ฟังวิทยุในรายการของ 'พี่เจ๊ก' วีระ ธีรภัทร ที่บอกว่าให้เอาผู้ที่เสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไป 'ตัดคอ' ทั้งที่ยังไม่รู้ ไม่ได้ศึกษาเลยว่าเขาเสนออะไร อย่างไร

จริงอยู่ว่ากฎหมายนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึก

และสุ่มเสี่ยงต่อการ "ปั่น" ให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย (ถ้าไม่อ่าน ไม่ฟังกันให้ครบถ้วนกระบวนความ)

ซึ่งเห็นอยู่แล้วว่า โอกาสที่จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขหรือปรับปรุงจริงๆ นั้นเป็นไปได้น้อยมาก

เมื่อสองพรรคการเมืองใหญ่ในสภาอย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนอยู่ตรงที่เดียวกัน

ว่าไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112

ถามว่าถ้าเสนอขึ้นมาแล้วเหมือนยิงปืนด้าน-จะกลัวอะไร

ห้ามไม่ให้พูดแล้ว ห้ามไม่ให้คนที่คิดเรื่องนี้ไม่คิดอะไรต่อไปได้หรือเปล่า?

หรือเมื่อเขาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยอยู่บนดิน อยู่กลางแสงไฟสว่าง-ก็ไม่ชอบ

ชอบให้มุดลงรูไปทำอะไรกันบ้างก็ไม่รู้ที่ใต้โต๊ะ ใต้ดิน

ต้องการอย่างนั้นหรือ?

หรือวันนี้เราไม่เชื่อหลักการสำคัญข้อหนึ่งของประชาธิปไตยที่ วอลแตร์ นักปราชญ์ฝรั่งเศส พูดไว้ ซึ่งเคยท่องกันสมัยเรียน ว่า

"ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณพูด ผมก็พร้อมจะตายเพื่อให้คุณมีโอกาสได้พูด"

(I disapprove of what you say, but I will defend to the death your right to say it.)

ท่านอื่นไม่เชื่อหรือไม่เคยอ่าน-ไม่เป็นไร

แต่ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในธรรมศาสตร์ ไม่เคยผ่านหูผ่านตา

หรือว่าผ่านแล้วไม่ติดอยู่ในรอยหยักในสมองเลย

นี่สิน่าแปลกใจ



+++

สื่อ สตรี และการเมือง
โดย ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.


เมื่อปี 2538 ดิฉันได้รับการแนะนำให้รู้จัก ดร. นลินี ทวีสิน จากโปรเฟสเซอร์ชื่อดังสัญชาติอเมริกัน "เอฟเวอร์เรต โรเจอร์" เขากล่าวว่า เราทั้งคู่เป็นเหมือนหลานของเขา เพราะเราต่างเรียนด้านการสื่อสาร และเป็นลูกศิษย์เอกของลูกศิษย์เอกของเขา

เรามีความต่างกันหลายมุม ดิฉันสนใจสนุกกับการเป็นนักวิจัย ศึกษา วิเคราะห์ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการสื่อสารในการกำหนดวาระทางสังคม ส่วนดร. นลินี เป็นนักบริหารที่สนใจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ในแวดวงธุรกิจ

ปี 2549 ดิฉันได้มีโอกาสชื่นชมกับ ดร. นลินี ในฐานะหนึ่งในสิบหกของผู้ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก

แต่แล้วสถานการณ์พลิก ดร. นลินี ไม่ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร


ปี 2551 ในขณะที่ดิฉันเป็นนักวิชาการอาคันตุกะที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ดิฉันได้มีโอกาสพบ ดร. นลินี ที่อังกฤษ ในขณะที่เราไปเข้าร่วมประชุมเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ดิฉันกล่าวเชิญชวนเธอให้สมัครไปฮาร์วาร์ด

หลังจากนั้นอีกไม่นานเธอได้ตัดสินใจไปใช้ชีวิตเป็นนักวิชาการที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ต

ทันทีที่ได้กลับเข้าสู่บรรยากาศของประชาธิปไตย และการเลือกตั้งอีกครั้ง ดิฉันก็ได้เห็นข่าว ดร. นลินี เลือกเข้าสู่เวทีแข่งขันทางการเมืองอีกครั้ง รอบนี้เธอเลือกลงสมัครรับเลือกตั้งในฐานะตัวแทนจากพรรค "พลังประชาชน"

ถึงแม้เธอไม่ได้รับการเลือกตั้งในรอบนั้น และเราก็ขาดการติดต่อกันไป แต่ดิฉันก็จะได้ยินข่าวคราวจากเพื่อนๆ ในหลากหลายวงการว่า เธอได้หันมาทุ่มเทการใช้ความรู้ความสามารถในช่วยรัฐบาลบริหารงานด้านธุรกิจการค้า และการต่างประเทศอย่างจริงจัง

และเมื่อการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมาถึง ดิฉันได้มีโอกาสเห็นชื่อ ดร. นลินี ในฐานะน้องใหม่ในเวทีการเมืองอีกครั้ง เธอมีชื่ออยู่ในตำแหน่งที่ 125 อันเป็นรายชื่อสุดท้ายในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย

ถึงแม้ชื่อเธอจะไม่ได้อยู่ในสัดส่วนที่เข้าไปเป็นผู้แทน แต่เธอก็ได้รับดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนการค้าไทย


ดิฉันได้ข่าวเธอผ่านคนอื่นๆ อีกเช่นกันว่า เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินทางไปเปิดตลาดการค้าให้ไทยในต่างแดน โดยเฉพาะในบรรดาประเทศที่เป็นตลาดใหม่ๆ ของไทยในทวีปแอฟริกา และเอเชียกลาง

บรรดาคนแวดล้อมบอกดิฉันว่า รัฐบาลได้อาศัยความรู้ ความสามารถ ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเธอกับผู้นำประเทศต่างๆ ในการเปิดตลาดการค้า การลงทุนใหม่ๆ

แล้วเส้นทางชีวิตของดิฉัน และของเธอที่ห่างกันไปกลับมาบรรจบกัน เมื่อเธอก้าวเข้ามาพบกันในงานรับน้องใหม่ ของนักศึกษาวิทยาลัยการตลาดทุน เมื่อเดือนกันยายน 2554

เราได้ทักทายกันในฐานะเพื่อนเก่า ที่เคยรู้จักกันมาในอดีต และรุ่นพี่ รุ่นน้องของสถาบันเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้ติดต่อสื่อสารกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว


......

สายของวันที่ 17 มกราคม 2555 ดิฉันส่งข้อความสั้นไปแสดงความยินดีกับเธอ หลังจากเห็นข่าวผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนว่า เธอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 2

เธอตอบ "ขอบคุณ" กลับมาสั้นๆ อย่างรวดเร็ว

ส่วนดิฉันก็ไม่ได้ติดตามข่าวอะไรต่อ จนกระทั่งเช้าวันที่ 19 มกราคม 2555 ดิฉันเห็นข่าวโทรทัศน์นำเสนอเรื่องการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่

ดร. นลินี มีชื่อตามโผ แถมยังมีชื่อตัวโตกว่าคนอื่นๆ เมื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข่าวพาดหัวใหญ่เป็นชื่อเธอ พร้อมทั้งคำว่า "แบล๊กลิสต์"

ผู้ดำเนินรายการข่าวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่ง อ่านคำบรรยายข่าวว่า เธอเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีประวัติคอร์รัปชั่น แต่ไม่ได้ขยายความต่อว่า บุคคลผู้นั้นเป็นใคร

ดิฉันเริ่มอยากรู้อยากเห็น และเริ่มโทรศัพท์พูดคุยกับบรรดาผู้คนในวงการข่าว

นักข่าวบอกดิฉันว่า ได้ข่าวมาจาก facebook ของนักการเมืองคนหนึ่ง


......

ในขณะที่นั่งรถโดยสารสาธารณะบีทีเอสไปประชุมในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้น ดิฉันใช้สมาร์ทโฟนค้นหาชื่อเธอผ่านระบบค้นหาข้อมูล Google และพบข้อมูลเกี่ยวกับเธอในหน้าเฟซบุ๊ก ของนักการเมืองค่ายตรงข้ามจริงตามที่เพื่อนบอก

ข้อความดังกล่าว เป็นข้อความซึ่งบุคคลหนึ่งได้ส่งไปไว้ในหน้ากระดานข่าวเฟซบุ๊กของนักการเมืองชื่อดังแห่งค่ายตรงกันข้าม พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซด์ของหน่วยงานด้านการคลังสหรัฐ ซึ่งลงรายชื่อของเธอ พร้อมกับรายชื่อของนักธุรกิจคนอื่นๆ ที่ทางการสหรัฐแนะนำไม่ให้นักธุรกิจของตนทำธุรกิจด้วย

ไม่มีคำว่า "แบล๊กลิสต์" ในเอกสารดังกล่าว


ในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่ถึงสามนาที ข่าวจากสำนักข่าวชื่อดังก็รายงานผ่านจอมอนิเตอร์ในรถบีทีเอสเกี่ยวกับ ดร. นลินี

โดยเนื้อความในข่าวเป็นการให้สัมภาษณ์ของตัวแทนพรรคใหญ่ฝ่ายตรงข้ามซึ่งเคยทำงานอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ เขาตั้งคำถามกับรัฐบาลเกี่ยวกับความรับผิดชอบในประเด็นดังกล่าว

ดิฉันยกโทรศัพท์คุยกับเพื่อนนักข่าวอีกคนเกี่ยวกับคำว่า "แบล๊กลิสต์" ที่ปรากฎในสื่อไทย แต่ยังไม่เห็นในข้อความของกระทรวงการคลังสหรัฐ

เพื่อนบอกว่า คำว่า "แบล๊กลิสต์" เป็นภาษาง่ายๆ ที่สามารถทำให้คนเข้าใจได้ว่า เป็นคนมีปัญหา หากใช้ข้อความซับซ้อนแบบที่ฝรั่งใช้ ก็ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ง่ายๆ

แต่เพื่อนบอกว่า คำนั้นมีความหมายแฝง เพราะเรามักมองว่า เกี่ยวข้องกับคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชียาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมายต่างๆ

หลังจากวางหูโทรศัพท์ ดิฉันเห็นข้อความของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ในระบบสมาร์ทโฟน พาดหัวว่า ดร. นลินี ยอมรับว่า เธอติดแบล๊กลิสต์จริง

ยังไม่ทันไร สำนักข่าวการเมืองอีกแห่งก็ส่งข้อความสั้นว่า

"นลินียันสปริงนิวส์ USA กล่าวหาข้างเดียว-ไม่เคยทำธุรกิจ เชื่อถูกดิสเครดิต"


ดิฉันส่ง sms ไปหาเธอ เพื่อชื่นชมคำให้สัมภาษณ์ของเธอในสปริงนิวส์ พร้อมทั้งขอ email ของเธอ เพื่อส่งข่าวต่างๆ ที่ดิฉันได้อ่านทางมือถือไปแบ่งปันให้เธออ่านบ้าง และเตือนเธอเรื่องความหมายแฝงที่ต้องระวัง เมื่อใช้คำว่า แบล๊กลิสต์

ดิฉันทักเธอผ่านอีเมล์ว่า เนื้อความในเอกสารของหน่วยงานสหรัฐยังไม่มีคำว่า แบล๊กลิสต์ แต่ทำไมเธอถึงไปเผลอยอมรับในหนังสือพิมพ์

เธอบอกว่า เธอไม่ได้กล่าวว่า เธอถูกแบล๊กลิสต์เลย และไม่ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว


......

ช่วงค่ำ ดิฉันติดตามดูข่าวทางโทรทัศน์อีกรอบ คราวนี้นักข่าวทำสกู๊ปข่าวเชิงเจาะลึกมากขึ้น

สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ได้รายงานว่าทางการสหรัฐได้ออกมาแถลงการณ์ล่าสุดต่อประเด็นดังกล่าวผ่านหน้าเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย


ส่วนภาพข่าว เป็นภาษาอังกฤษ เป็นข้อความพาดหัวจากหนังสือพิมพ์ News & Guardian ว่า


"Crony-Thai-Minister Blacklisted for Mugabe links."

ในการสะท้อนมุมข่าวให้หลากหลายมิติ นักข่าวเจ้าเดียวกันยังหยิบกรณีของนักการเมืองชื่อดังในอดีตที่เกือบจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่มีอันเป็นไปเพราะพัวพันกับกรณียาเสพติด และถูกขึ้นบัญชีแบล๊กลิสต์

นอกจากนั้น นักข่าวยังตามไปหานักรัฐศาสตร์เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนสำนักข่าวคู่แข่งก็ไม่น้อยหน้า

ทีมงานให้นักข่าวทำสกู๊ปข่าวลึกเช่นกัน โดยไปสืบค้นเนื้อข่าวจากสำนักข่าว AFP มาเป็นแหล่งข่าวในการอ้างอิง


ด้วยความสงสัยถึงที่มาของคำว่า blacklist ดิฉันก็ใช้ google สืบค้นหาข่าวต้นตอจาก News & Guardian และ AFP

รอบนี้ดิฉันค้นเจอเนื้อข่าวดังกล่าวอย่างไม่ยากนัก

แถมยังค้นเจอข่าวใหม่ๆ จากสำนักข่าวต่างๆ เกี่ยวกับเธอเพิ่มขึ้นทวีคูณในช่วงเวลาแค่ไม่ถึงสิบช่วงโมง ภายหลังจากการสืบค้นครั้งแรก

ข่าวของสำนักข่าว และหนังสือพิมพ์ในประเทศต่างๆ เป็นข่าวใหม่

เนื้อความของข่าวระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นการรายงานตรงจากกรุงเทพมหานคร เรื่องปัญหาความเชื่อมโยงระหว่างรัฐมนตรีใหม่ กับผู้นำประเทศซิมบับเว


แล้วตกลง....อเมริกันแบล๊กลิสต์ ดร. นลินี จริงๆ เหรอ?

หรือ นักข่าวไทยเริ่มต้นการใช้คำว่า Blacklist ให้การกระทำของสหรัฐต่อ ดร. นลินี?

แทนที่จะใช้คำว่า "แบน" เหมือนดั่งที่ใช้ในข้อความในเฟซบุ๊กที่ผู้ปรารถนาดีส่งให้ทางตัวแทนพรรคคู่แข่งก่อนหน้านั้น

แทนที่จะใช้ข้อความที่เป็นภาษากฎหมาย และเข้าใจยาก เหมือนดังเอกสารที่ทางกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ผ่านเวปไซด์ของ OFAC

แล้วคำดังกล่าว ก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เมื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ ได้อ้างอิงแหล่งข่าวจากสื่อไทย เพื่อนำเสนอข่าวล่าสุดจากเวทีการเมืองไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ


......

ดิฉันกลับมาอ่านข่าวจากเมืองไทยอีกรอบ ในช่วงดึกคืนวันที่ 19 มกราคม

สิ่งที่ดิฉันพบ คือ มีเพียงสำนักพิมพ์มติชนเท่านั้น ที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับเธอในช่วงดึก

และเป็นข่าวที่สัมภาษณ์ตรงจากมุมของ ดร. นลินี เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างเธอกับผู้นำของประเทศซิมบับเว อันเป็นประเทศที่อเมริกากำลังใช้มาตรการแซงก์ชั่น


สิ่งที่ดิฉันพยายามคาดการณ์ต่อ ก็คือ แล้วพรุ่งนี้สื่อไทย สื่อเทศจะไปไหนต่อ?

....จะเปลี่ยนประเด็นไปเล่นข่าวคนอื่น

....จะอ้างข้อความคำให้สัมภาษณ์ของ ดร. นลินี ใน "มติชน"

....จะประสานงานไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกา หรือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือใคร เพื่อนำเสนอประเด็นที่ใหม่กว่าเดิม

...หรือจะขุดประเด็นเชื่อมโยงต่อไปถึงใคร และข้อสันนิษฐานที่สื่อกำลังวิเคราะห์เกี่ยวกับ "ค่าย" ที่ส่ง ดร. นลินีลงชิงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือเบื้องหน้าเบื้องหลังที่พรรครัฐบาลหนุนเธอเต็มที่ให้ก้าวสู่ตำแหน่งดังกล่าว

หรือจะหันกลับมาตั้งคำถามกับ "มติชน" ว่าอะไรคือมูลเหตุที่ได้สกู๊ปข่าวพิเศษมาก่อนใคร?


ประเด็นการเมืองในประเทศและในเวทีนานาชาติ กับการสื่อสารประเด็นการเมืองผ่านสื่อไทยและเทศกำลังเข้มข้น

โดยเฉพาะเป็นการเมืองที่บรรดา "สื่อ" ช่วยกันฉายภาพประเด็นการเมืองผ่านชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในโลกธุรกิจ และวิชาการ แต่กำลังก้าวเข้ามาเป็นหน้าใหม่เวทีสื่อและการเมืองแบบไทยๆ อย่างเต็มตัว



.