http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-12

ขับเคี่ยว โดย คำ ผกา

.

ขับเคี่ยว
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 89



ฉันเพิ่งโพสต์ status ใน เฟซบุ๊กไปว่า "สังคมไทย การเมืองไทย และอุดมการณ์ไทย ณ ขณะนี้แซ่บเวอร์" ขอทบทวนให้ทราบอย่างสั้นๆ อีกครั้งว่าความแซ่บนี้ถือกำเนิดมาได้อย่างไร

ความแซ่บนี้ถือกำเนิดมาจากการรัฐประหารปี 2549 เพราะการรัฐประหารครั้งนั้นทีเดียวที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยการขุดคุ้ยลงไปที่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ด้วยความคึกคักกระตือรือร้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การปฏิวัติสยาม 2475 อันเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกฝังกลบไปด้วยวาทกรรม "ชิงสุกก่อนห่าม" หรือ "พวกนักเรียนนอกร้อนวิชา" นั้นเปื่อยยุ่ยไปในความทรงจำร่วมของคนไทยที่ถูกสอนให้จำและรู้จักแต่ประวัติศาสตร์ไทยเวอร์ชั่นที่ "รีมิกซ์" ขึ้นมาหลังปี 2500

พลันหลังการรัฐประหาร ประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสยามถูกขุดขึ้นมาจากหลุม งานของนักประวัติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นอกกระแส "2500 รีมิกซ์" ถูกขุดออกมาอ่าน มาเผยแพร่ คำประกาศของคณะราษฎร ถูกนำมาอ้างถึงครั้งแล้วครั้งเล่า

"แรง" ของการเคลื่อนตัวทางภูมิปัญญาของสังคมไทยครั้งนี้ทำให้ "รอยแยก" ของภูมิศาสตร์ของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่น่าสนใจมาก

เพราะแต่เดิมเรามักเชื่อกันว่า มีแต่ชนชั้นนำ ปัญญาชน พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา และชนชั้นกลางเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือก่อให้เกิดการปฏิวัติหรือปฏิรูป

แต่แรงกระเพื่อมในการเมืองไทยหลัง 2549 เรากลับได้เห็นการหลั่งไหลของ "มวลชน" (ที่หากอธิบายผ่านแว่นสายตาของชนชั้นกลางในเมืองแล้วพวกเขาคือ "ชาวบ้าน") เข้าไปในพื้นที่ของ "ปัญญาชน" เช่น หอประชุมเล็กของธรรมศาสตร์เพื่อจะเข้าไปฟังการอภิปราย (ที่โดยปกติแล้วแม้แต่ปัญญาชนด้วยกันก็ยังอาจรู้สึกว่าน่าเบื่อที่สุด เข้าใจยากที่สุด ไกลตัวมากที่สุด) ของนักนิติศาตร์ อย่างกลุ่มนิติราษฎร์ ในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อย่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายอาญามาตรา 112

งานสัมมนา อภิปรายของนักวิชาการฝ่ายเสรีนิยม (ในบริบทไทย) ถูกไรต์ลงแผ่นซีดี ขายดิบขายดีตามงานเทศกาลต่างๆ และ "ชาวบ้าน" กำลัง "เสพ" ความรู้เหมือนคนที่หลงทางอยู่ในทะเลทรายแล้วมาเจอโอเอซิส

ฉันไม่ได้เขียนเช่นนี้เพื่อจะยกย่องนักวิชาการว่าเขาคือผู้ชี้ทางสว่าง

แต่กำลังจะชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ของ "ชาวบ้าน" ที่จู่ๆ ก็พบว่าประสบการณ์ทางการเมืองที่พวกเขาประสบมาด้วยตนเองนั้นสามารถ "สนทนา" กับ "ความคิด" ของเหล่านักวิชาการสายเสรีนิยมได้อย่างลงล็อก เข้าร่องเข้ารอย

พูดง่ายๆ ว่า อยู่ๆ "ชาวบ้าน" ที่สนับสนุนการเมืองที่ต้องมีการเลือกตั้งก็มาค้นพบว่า พวกเขากับนักวิชาการ ปัญญาชนสายเสรีนิยมนั้น " แม่ง...พูดภาษาเดียวกัน เว้ย เฮ้ย"


สักสิบกว่าปีที่แล้วเราคงจินตนาการไม่ได้ที่จะเห็น นักประวัติศาสตร์ นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ ที่หน้าตาโคตรจะเนิร์ด คงแก่เรียน เดินไปไหนในหมู่ชาวบ้านแล้วโดนรุมล้อม กอดรัด ราวกับเป็นขวัญใจประชาชน

ก่อนหน้านี้เราคงไม่สามารถจินตนาการได้ว่า ชาวบ้านจะกระโดดไปหานักวิชาการคงแก่เรียน อย่าง อ.วรเจตน์ เพื่อขอถ่ายรูป ขอลายเซ็น-ใครจะจินตนาการได้ว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่ "มหาชน" (อันแปลว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ชนบท การศึกษาน้อย) จะพูดภาษาเดียวกันกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หรือกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ และเรียกได้เต็มปากว่าเป็น "พรรคพวก" กัน

{คำว่า "พรรคพวก" ต่างจากการเรียกมหาชนว่า "พี่-น้อง" อยู่บ้าง เพราะมีนัยของความเสมอภาคมากกว่า และหลุดจากอุปมาอุปไมยว่า "ชาติ" คือ "ครอบครัว" ดังนั้น เมื่อชาติไม่ใช่ครอบครัว เราจำเป็นต้องเป็น "พี่-น้อง" กัน-โดยส่วนตัว ฉันจึงไม่ชอบการปราศรัยที่แกนนำเรียกมหาชนว่า "พี่-น้อง ของเรา" สักเท่าไหร่ ในแง่นี้คำว่า "สหาย" ที่ใช้กันในหมู่พรรคคอมมิวนิสต์ เสนอจินตนาการว่าด้วยความเท่าเทียมได้มากกว่า-(ก็แหง..อยู่แล้ว)}

รอยแยกและการเคลื่อนตัวทางภูมิปัญญาเช่นนี้ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์การเมืองไทย

เปลี่ยนอย่างไรนั้น ขอให้ส่งสายตาขึ้นไปอ่านบทกลอน "คุณปร๊าฟด้า ด่าคนที่ กตัญญู"



คุณคนที่เป็นคนเขียนบทกลอนคุณปร๊าฟด้านั้นคือกลุ่มคนที่เคยถูก locate หรือวางตำแหน่งแห่งหนในพื้นที่สังคมการเมืองไทยว่าเป็น "ชนชั้นกลาง มีการศึกษา รู้เท่าทันนักการเมือง รังเกียจการคอร์รัปชั่น"

ดูเผินๆเหมือนจะเป็นคนสมัยใหม่หัวเสรีฯ (ภาพกลุ่มก้อนของคนกลุ่มนี้ที่เห็นได้ชัดคือบอร์ด "เสรีไทย"-นั่นคือเน้นทั้งความเป็น "เสรี" บวกกับ "ไทย" อีกทั้งมีนัยประหวัดถึงขบวนการ "เสรีไทย" ที่นำโดย ปรีดี พนทยงค์)

แต่คนกลุ่มนี้หาได้มีสำนึกทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างที่เปลือกภายนอกฉาบเอาไว้ไม่ เพราะหากเราขูดเปลือกเข้าไปดูเนื้อในของอุดมการณ์ของเขากลับพบเรื่องราวเหล่านี้คือ

"กตัญญู, เนรคุณ, เป็นคนไทย, ไม่รู้กาละเทศะ, ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง, คุณสมบัติของความเป็นคนไทย, ร่วมดองเป็นพี่น้องเพื่อนผองไทย, ให้อภัย"

อุดมการณ์รัฐและการเมืองของคนกลุ่มนี้คือผลผลิตของประวัติศาสตร์รีมิกซ์และการสร้าง "ความเป็นไทย" ที่เกิดขึ้นหลังปี 2500 อันมีวรรณกรรมอย่าง "สี่แผ่นดิน", แบบเรียนและหลักสูตรการศึกษาที่สร้างขึ้นมาใหม่ อีกทั้งสารพัดของ "rajstatetheater" อันกล่อมสร้างให้คนไทยเข้าใจว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องกอปรไปด้วย ผู้ปกครองผู้ทรงภูมิธรรม ราษฎรที่เปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวที สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (แปลว่าห้ามคิดต่าง), การลด ละ เลิก อีโก้ ตัวตน (ถูกแปรให้กลายเป็นการละทิ้งศักดิ์ศรีของตนหรือ self esteem ทว่า self esteem จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้เอาตนเองไปผูกไว้กับคุณค่าสถาบันของรัฐ เช่น เรื่องความรักสถาบัน)

การรู้กาละเทศะในไวยากรณ์ของการเมืองแบบเขาพระสุเมรและโครงสร้างทางอำนาจแบบนิ้วมือห้านิ้วไม่เท่ากันหรือหัวสูงส่งกว่าเท้า ผลผลิตสุดท้ายและน่าสะพรึงกลัวเป็นอย่างยิ่งคือ อุดมการณ์ชุดนี้ไม่เพียงสร้าง subject ของรัฐแบบรัฐก่อนสมัยใหม่ที่มุ่งความภักดีต่อ "ฟิลดัลลอร์ด" เท่านั้น แต่มันยังสร้างสำนึกแบบที่เดการ์ตต้องเกาหัวเพราะเราไม่ได้อยู่แบบ I think therefore I am แต่เป็น I love (unconditionally) therefore I am


ความแซ่บเวอร์ของอุดมการณ์ชุดนี้คือการเชิดชูระบอบ "ประชาธิปไตย" ที่เปี่ยมไปด้วยธรรมะ ศีลธรรม คุณงามความดี ผนวกไปกับการเหยียดหยาม เดียดฉันท์ การเลือกตั้ง!!! และสาปแช่งให้นักการเมืองสูญพันธุ์ เว้นแต่จะมีนักการเมืองที่มี "ชาติวุฒิ" และ "จริตวุฒิ" ที่ถูกต้องตามไวยากรณ์ของความเป็นไทยฉบับ "2500 รีมิกซ์" เท่านั้น จึงจะได้รับอนุญาตให้ดำรงสถานะนักการเมืองในฝันของผู้มีการศึกษาและรักประชาธิปไตยที่มีความหมายเท่ากับธรรมาธิปไตยและไม่รู้ว่าเกี่ยวกันหรือเปล่ากับธรรมมาภิบาล

ที่แน่ๆ เป็นเนื้อเดียวกันกับจิตวิวัฒน์ คือวิวัฒน์จากประชาชนไปเป็นได...เอ๊ย

ขณะเดียวกันพวกเขานิยาม "ความเป็นไทย" เอาไว้อย่างคับแคบให้เหลือเพียง "ถ้าพวกมึงคิดไม่เหมือนกู เชื่อไม่เหมือนกู พวกมึงไม่ใช่คนไทย"

อีกทั้งพวกเขายังหลงคิดว่า "ความเป็นไทย" นั้นสำคัญเหมือนออกซิเจน ถ้าไม่มีสิ่งนี้เราอาจไม่มีชีวิตอยู่ พวกเขาจึงชอบขู่ใครต่อใครว่า "ปั๊ดเดี๋ยวตรูก็ถอดความเป็นไทยออกจากมึงเสียเรยยย กลัวป่าวๆๆๆ"

ไม่เพียงเท่านั้น คนกลุ่มนี้ยังมีสำนึกของการรวมกลุ่มเป็น Collection แบบแผนเดียวกับเด็กช่างกลยุคโบราณที่ชอบยกพวกตีกันนั่น ผิด-ถูก กูไม่สน แต่ถ้าใครบังอาจมาล่วงเกินอะไรที่พวกกู "ถือ" มึงโดน

คนพวกนี้เค้าแมนกันมากเลยง่ะ

คนกลุ่มนี้มีปริมาณมากแต่ไหนไม่มีใครรู้ (หรือจะดูตัวเลขของผู้ลงคะแนนเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์?) แต่ที่เรารู้คือ พวกเขาคือผู้ยึดกุม "เสียง" ในสังคมการเมืองไทย สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีให้พื้นที่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์กับเสียงของคนหลุ่มนี้ไม่ว่าจะผ่านการโฆษณาโดยจงใจหรือการผลิตงานวรรณกรรม ละคร อันคลอดมาจากอุดมการณ์ชุดนี้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว (คนพวกนี้คงโดนลักหลับมายาวนานครั้งแล้วครั้งเล่าจนนึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ)


ในขณะเดียวกัน สื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมดทำเป็นไม่เห็นหรือพยายามสร้างเรื่องราวใหม่ให้กับความสัมพันธ์ระหว่าง "มหาชน" (poppular) กับ ปัญญาชน และนักวิชาการสายเสรีนิยม

แทนที่จะมองเห็นการเขยื้อนตัวทางภูมิปัญญาของสังคมไทย พวกเขาพยายามจะบิดให้มันกลายเป็น "สมุนนักการเมือง", "รับเงินมาเคลื่อนไหว", "แผนการของสหรัฐอเมริกา", "นักวิชาการปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม", "พวกหลงผิด-ถ้ากลับตัวสังคมพร้อมให้อภัย", "พวกไร้เดียงสา", "เนรคุณแผ่นดิน", "ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง", เกิดมาทำอะไรให้แผ่นดินบ้าง"

การอภิปรายเชิงวิชาการของนิติราษฎร์และการเคลื่อนไหวของนักเขียนที่มี "มหาชน" เข้าไปฟังอย่างหิวกระหายทุกครั้ง จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ายินดีที่ ณ บัดนาว นักวิชาการและภาษาวิชาการ ความรู้วิชาการ ไม่ได้สถิตอยู่ที่หอคอยงาช้างอีกต่อไปแล้ว แต่มันคือพื้นที่ของการแลกเปลี่ยน ขบคิด ลับสมอง ลองปัญญา ยั่วท้าให้เกิดสำนึกแห่งการตั้งคำถาม คิดวิพากษ์วิจารณ์ คิดอย่างเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล

มันเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มหาวิทยาลัยไม่ใช่พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของฤๅษีไม่กี่ตน

แต่เป็นพื้นที่เปิดสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัยสมกับเป็นสังคมประชาธิปไตย



แต่ว่าไม่ได้ เพราะการ "ปะทะ" กันของสองอุดมการณ์การเมืองในสังคมไทยตอนนี้คือการปะทะกันระหว่างประชาชนที่ไม่พิสมัยการเลือกตั้ง ไฝ่ฝันถึงสังคมพระศรีอาริย์ที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางจักรวาลว่าด้วยความดี ศีลธรรม คุณธรรม ค้ำจุนโลก และความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในโลกนี้เกิดขึ้นได้เพราะกรรมเก่าบุญเดิม

กับ "มหาชน" ที่ยืนยันว่าโลกทางการเมืองนั้นต้องเป็นโลกแบบฆราวาสแยกขาดจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา กรรม หรือบุญหรือบาป

ทว่า ยึดหลักการคุณค่าที่เป็นสากลคือหลักการของสิทธิมนุษย์ เสรีภาพ ยืนยันคุณค่าความเป็นมนุษย์แบบโลกย์ๆ เท่านั้นจับต้องได้มองเห็น

ไม่เหมือนเรื่องบุญทำกรรมแต่งหรือ ออร่ารัศมีแห่งบุญบารมีที่พิสูจน์ไม่ได้เว้นแต่ต้องยกให้ความศรัทธาเป็นรสนิยมและความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น ห้ามนำมาครอบงำ บีบบังคับไปจนถึงจับจองคุมขังหรือฆ่าผู้อื่นที่ไม่ศรัทธาเหมือนตน

การเมืองในรัฐสภาก็เรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้การเมืองเรื่องอุดมการณ์ขับเคี่ยวกันราวกับเป็นโค้งสุดท้ายก่อนถึงเส้นชัย



.