http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-04

WAR HORSE"สัตว์ประเสริฐ", Wind that Shakes the Barley"ศัตรู" อันเป็นอนันต์ โดย นพมาส, คนมองหนัง

.
มีโพสต์คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก - สู้ต่อไป ลูเชียส!! เล่ม1 โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

WAR HORSE "สัตว์ประเสริฐ"

โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 87


กำกับการแสดง Steven Spielberg
นำแสดง Jeremy Irvine , Emily Watson
Tom Hiddleston
Benedict Cumberbatch
David Thewlis
Niels Arestrup



War Horse เป็นหนังสือสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมสูง และเมื่อนำมาสร้างเป็นละครก็ประสบความสำเร็จอย่างดีที่โรงละครแถบเวสต์เอนด์ในลอนดอน

เมื่อ สตีเว่น สปีลเบิร์ก นำเรื่องราวมาสร้างเป็นหนัง จึงน่าเป็นที่น่าติดตามว่าเรื่องราวเดียวกันนี้จะนำเสนอออกมาเป็นอย่างไร

War Horse เป็นเรื่องราวของม้าพันธุ์ดีที่ชาวไร่คนหนึ่งใช้เงินค่าเช่าที่ดินประมูลมาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ แทนที่จะซื้อม้าลากคันไถมาทำงานในไร่ ไม่มีใครเชื่อว่าม้าลักษณะดีเยี่ยมตัวนี้จะลากคันไถพรวนดินที่เต็มไปด้วยหินในไร่นั้นได้

แต่ อัลเบิร์ต นาร์ราคอตต์ (เจเรมี เออร์วีน) ก็สร้างความสัมพันธ์กับม้าตัวนี้ที่เขาให้ชื่อว่า โจอี้ และสอนให้โจอี้ยอมรับห่วงคล้องคอสำหรับลากคันไถ ด้วยความไว้ใจในกันและกันระหว่างสัตว์กับคน

แต่แล้วโชคเคราะห์อันผันผวนก็ทำให้พ่อของอัลเบิร์ตต้องขายโจอี้ไปให้แก่กองทหารอังกฤษที่กำลังจะเดินทางไปรบในภาคพื้นยุโรป เมื่อเกิดสงครามกับเยอรมนี

อัลเบิร์ตที่กำลังจะสูญเสียโจอี้ไปอย่างไม่มีทางเลี่ยง สัญญากับโจอี้ว่าเขาจะพยายามหาทางให้ได้เจอกันอีก

โจอี้เดินทางไปร่วมรบในฝรั่งเศส และเยอรมนี เกิดเหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้ต้องเปลี่ยนเจ้าของไปหลายทอด กลายเป็นม้าศึกอยู่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วง ค.ศ.1914-1918

กว่าจะกลับคืนมาพบกับอัลเบิร์ตเพื่อนเก่าเจ้าของเดิมที่พลัดพรากจากกันไป



สปีลเบิร์กยังคงรักษาโทนของเรื่องให้เป็นหนังสำหรับครอบครัว โดยไม่ให้เห็นความโหดร้ายของสงครามมากจนเกินไป ในขณะที่เสนอความเป็นจริงอันโหดร้ายของสงคราม

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าสปีลเบิร์กเป็นคนรักสันติและต่อต้านสงคราม เขาเคยทำหนังเกี่ยวกับสงครามอันโหดร้ายมาแล้วอย่างน้อยสองเรื่อง คือ Schindler"s List และ Saving Private Ryan

เรื่องแรกเป็นเรื่องการที่นักธุรกิจชาวเยอรมันคนหนึ่งพยายามช่วยคนยิวกว่าพันคนให้รอดจากการถูกส่งตัวไปค่ายกักกันและถูกพวกนาซีฆ่าตายในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งฮิตเลอร์จองล้างจองผลาญและสังหารชาวยิวไปทั้งหมดจำนวนหกล้านคน

เรื่องที่สองอยู่ในสงครามโลกครั้งที่สองเหมือนกัน และเปิดเรื่องด้วยฉากการที่ฝ่ายสัมพันธมิตรบุกขึ้นฝั่งที่นอร์มังดี ซึ่งเป็นฉากที่การรบที่ยืดยาวและสมจริงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ท่ามกลางความโหดร้ายอันไร้เหตุผลของสงคราม อเมริกาพยายามสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชนของตนโดยใช้เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวไรอัน ที่สูญเสียลูกชายไปในการรบแล้วสองคน และไม่อยากให้แม่ซึ่งยังมีลูกชายอีกคนอยู่ในแนวหน้า ต้องประสบความสูญเสียลูกชายคนสุดท้องไปอีก โดยส่งกองทหารพิเศษที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ไปเอาตัวพลทหารไรอันกลับมาอย่างปลอดภัย

หนังทั้งสองเรื่องแฝงความคิดที่แยบคาย การแสดงแนบเนียนน่าประทับใจ และอยู่ในบรรดาหนังดีที่สุดของวงการภาพยนตร์

ใน War Horse สปีลเบิร์กประกาศไว้ว่าไม่อยากทำหนังสงครามอีกแล้ว แต่หนังของเขาก็ทำให้เราเห็นเรื่องราวและภาวการณ์ในสงครามได้อย่างชัดเจน จากมุมมองของคนที่ไม่ใช่ตัวขุนแต่เป็นตัวเบี้ยของสงคราม


โฉมหน้าของสงครามเปลี่ยนไปมากนับจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รูปแบบของการรบในตอนนั้นหลักๆ คือการตะลุมบอนด้วยทหารม้า ทหารติดอาวุธปืน และการยิงปืนใหญ่เข้าถล่มข้าศึก

คู่สงครามจะประจันหน้ากันอยู่หลังแนวหน้า คั่นกลางด้วยบริเวณสมรภูมิที่เรียกว่า no man"s land ที่ทั้งสองฝ่ายซุ่มอยู่ในสนามเพลาะและบังเกอร์

ยุทธวิธีที่จะเอาชนะกันคือขับไล่ให้ข้าศึกแตกกระเจิงไป และยึดพื้นที่รุกหน้าไปเรื่อยๆ

การรบแบบนี้เป็นการประจันหน้ากันตรงๆ และจะแพ้จะชนะกันได้ก็ต้องมีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตทหารนับไม่ถ้วน

ฝ่ายรุกก็จะต้องออกคำสั่งว่าใครเห็นเพื่อนทหารฝ่ายเดียวกันหันหลังกลับหรือวิ่งหนี ให้ยิงทิ้งได้เลย

ในการตะลุมบอนนั้น วีรกรรมคือความไม่กลัวตาย

หนังติดตามการเดินทางและผจญภัยของม้าโจอี้ไป และแสดงให้เห็นความกล้าหาญและเสียสละอันเป็นคุณธรรมประเสริฐของโจอี้และบุคคลอีกหลายคนที่มันประสบพบเห็น


ฉากที่ติดตรึงที่สุดฉากหนึ่งในหนังเกิดขึ้นเมื่อโจอี้วิ่งเตลิดไปใน no man"s land และติดอยู่ในลวดหนามอีนุงตุงนังจนไม่มีทางรอด

แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นแก่มัน ด้วยมีทหารอังกฤษคนหนึ่งถือธงขาวเดินเข้าไปในดินแดนที่เฝ้าระวัง เสี่ยงกับกระสุนปืนของฝ่ายข้าศึก เพื่อช่วยให้ม้าที่กำลังทุกข์ทรมานรอดออกมาได้ ในขณะที่ทหารเยอรมันคนหนึ่งก็ตัดสินใจถือกรรไกรตัดลวดออกมาช่วยด้วย

ฉากนี้นำเสนอด้วยอารมณ์ขันที่น่ารัก ซึ่งไม่มีคนดูคนไหนอดหัวเราะได้ และอารมณ์ขันนั้นก็ยังออกตัวให้กับตัวเอง ด้วยการที่บอกว่าทหารเยอรมันคนนั้นเผอิญเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้ข้าศึกทั้งสองสามารถพูดคุยสื่อสารกันได้รู้เรื่อง

ในท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม แต่มนุษย์ก็ยังดำรงคุณธรรมความดีงามอยู่ เมื่อถึงวาระที่เรียกร้องให้แสดงออก มนุษย์ก็ยังคงแสดงมนุษยธรรมและความเสียสละให้ปรากฏอย่างน่าซาบซึ้งใจ

คุณธรรมนั้นทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ประเสริฐแน่แท้

สัตว์ประเสริฐในเรื่องจึงเป็นทั้งมนุษย์และม้าด้วยประการฉะนี้



++

"ศัตรู" อันเป็นอนันต์
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 85


"The Wind that Shakes the Barley" กำกับโดย "เคน โลช" เป็นหนังรางวัลปาล์มทองคำประจำปี ค.ศ.2006 จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ซึ่งเข้าฉายในเมืองไทยช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 ก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยาฯ ราว 3 สัปดาห์

หนังเล่าเรื่องราวของ "เท็ดดี้-เดเมี่ยน โอซุลลิแวน" สองพี่น้องชาวไอริช ที่ต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากสหราชอาณาจักรในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

"ศัตรูแรกเริ่ม" ของเท็ดดี้และเดเมี่ยน คือ ทหารอังกฤษ ซึ่งมีพฤติกรรมกดขี่ข่มเหงรังแกคนเล็กคนน้อยในไอร์แลนด์

จาก "ผู้หญิง" ถึง "คนแก่" จาก "เด็กหนุ่ม" ถึง "พนักงานการรถไฟ"

เช่น "มิฮอย" เด็กหนุ่มวัย 17 ผู้ไม่ยอมเรียกชื่อตนเองเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถึงกับถูกทหารของเจ้าอาณานิคมรุมซ้อมจนตายต่อหน้าครอบครัว

ที่สุด เท็ดดี้กับเดเมี่ยนจึงตัดสินใจจับปืนสู้รบกับอังกฤษ

โดยพี่ชายมีลักษณะเป็นขาบู๊ นักรบ ขณะที่น้องชายซึ่งเป็นหมอ มีลักษณะของปัญญาชนผู้เห็นใจคนตกทุกข์ได้ยาก


รบไปรบมา "จุดเปลี่ยน" สำคัญพลันบังเกิดขึ้น เมื่อเท็ดดี้ถูกจับตัวและนำไปทรมานด้วยวิธีการถอดเล็บ

แม้เดเมี่ยนจะสามารถช่วยพี่ชายและพรรคพวกบางส่วนให้หนีออกจากสถานคุมขังได้สำเร็จ แต่เขากลับต้องละทิ้งเพื่อนร่วมรบอีก 3 คนเอาไว้ในห้องขัง กระทั่งผู้ถูกทอดทิ้งถูกตัดสินประหารชีวิตในเวลาต่อมา

ความสูญเสียครั้งนั้นส่งผลให้หมอหนุ่มอย่างเดเมี่ยนเริ่มต้นลั่นไกปืนสังหารคนเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อเขาต้องรับบทเพชฌฆาตประหารเด็กชายร่วมชาติ

ซึ่งนำความลับของขบวนการกู้ชาติไอริชไปเปิดเผยกับเจ้าหน้าที่อังกฤษ

"ความเปลี่ยนแปลง" ในวิถีความคิดและตัวตนของสองพี่น้อง เกิดขึ้นพร้อมกันกับสนธิสัญญาสงบศึกระหว่างสหราชอาณาจักรกับไอร์แลนด์

อย่างไรก็ตาม ชาวไอริชยังไม่ได้รับเอกราช เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวระบุให้ไอร์แลนด์มีสถานะเป็นรัฐอิสระอยู่ในสหราชอาณาจักร และต้องภักดีต่อราชวงศ์อังกฤษ


หลังผู้นำสองฝ่ายลงนามในสนธิสัญญา เท็ดดี้ผู้เคยฮาร์ดคอร์ ได้กลับกลายเป็นนักการเมืองที่เลือกประนีประนอมกับอังกฤษ

ผิดกับเดเมี่ยนที่ตัดสินใจไม่ประนีประนอม ด้วยความเชื่อว่าหากยินยอมให้การต่อสู้ยุติลงด้วยสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษก็จะยังคงมีอำนาจครอบงำเหนือไอร์แลนด์

โดยใช้ชนชั้นนำ-คนรวยชาวไอริช ซึ่งได้รับประโยชน์จากการยอมประนีประนอม มาแสดงบทบาทเป็น "รัฐบาลหุ่น" ส่วนชาวไอริชที่ทุกข์ยากอับจนก็คงต้องลำบากลำบนต่อไป

เดเมี่ยนจึงต้องรบกับเท็ดดี้

เมื่อ "ศัตรู" ได้เปลี่ยนรูปจาก "ทหารอังกฤษ" มาเป็น "คนไอริช" ด้วยกันเอง

เมื่อครึ่งหนึ่งของ "มิตรร่วมรบ/พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน" ได้แปลงร่างจาก "กองกำลังต่อต้านรัฐ" ไปเป็น "ผู้ถือครองอำนาจรัฐ" เสียเอง



เท็ดดี้อาจจะประนีประนอมกับอังกฤษและน้องชาย ที่เขาแนะนำอย่างหวังดีให้กลับไปสอนหนังสือและรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของผู้คน แต่เขาไม่สามารถประนีประนอมกับเพื่อนร่วมชาติชาวไอริชที่ต่อต้านสนธิสัญญาสงบศึก

เช่นเดียวกันกับปัญญาชนผู้ผันตนมาเป็นนักรบอย่างเดเมี่ยน ซึ่งเดินทางมาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปยังมุมสงบของชีวิตอัน "ปลอดการเมือง"

เดเมี่ยนและพวกตัดสินใจบุกปล้นคลังแสงอาวุธของรัฐบาล บางคนถูกฆ่า บางคนถูกจับ

หมอหนุ่มเป็นหนึ่งในกลุ่มคนประเภทหลัง

ในคุกแห่งเดิมที่พวกเขาเคยถูกทหารอังกฤษนำมาจับขังไว้รวมกัน เท็ดดี้ภายใต้เครื่องแบบเจ้าหน้าที่รัฐ พยายามอ้อนวอนขอให้ผู้เป็นน้องชายยอมสารภาพบอกที่ซ่อนของปืนที่ถูกปล้น ตลอดจนคนปล้นซึ่งหนีรอดไปได้

เดเมี่ยนไม่ยอมปริปากเรื่องนั้น เขากล่าวแต่เพียงว่าตนเองสังหารคนเป็นครั้งแรกในชีวิต ก็เพราะเด็กชายร่วมชาติทรยศต่อเพื่อน

ด้วยเหตุนี้ ตัวเขาเองจะไม่ยอมทรยศมิตรสหายเป็นอันขาด

สุดท้าย เดเมี่ยนจึงถูกปลิดชีวิตด้วยการยิงเป้า โดยมีพี่ชายแท้ๆ ทำหน้าที่บัญชาการประหาร



เรื่องเล่าใน "The Wind that Shakes the Barley" อาจพูดถึง "ศัตรู" ของ "ชาติ" ที่เปลี่ยนรูปแปลงร่างไป จาก "ศัตรูภายนอก" สู่ "ศัตรูภายใน"

แต่ "ศัตรู" ก็ยังคงเป็น "ศัตรู" ที่ต้องดำรงอยู่เสมอไม่เคยขาดตอน ราวกับ "ชาติ" ต้องการ "ศัตรู" ตลอดเวลา

ประวัติศาสตร์ว่าด้วย "ชาติ" และ "ศัตรูของชาติ" จึงเดินทางเป็น "วงกลม"

เฉกเช่นชะตากรรมของหลากหลายตัวละครในหนังเรื่องนี้

ทั้งคนไอริชที่เข่นฆ่ากันเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า,

คนเล็กคนน้อยอย่างผู้หญิงและคนแก่ที่ถูกบุกเข้ามาเผาบ้าน-ค้นบ้าน ทั้งโดยกองกำลังติดอาวุธของอังกฤษและไอร์แลนด์

ตลอดจนหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องช็อกสุดขีดสองครั้ง ครั้งแรก เมื่อเธอสูญเสียน้องชาย, บ้าน และถูกจับกล้อนผมโดยทหารอังกฤษ กับครั้งหลัง เมื่อเธอสูญเสียชายคนรัก จากกระสุนปืนของทหารไอริช


หลายครั้ง เราต้องอาศัยระยะเวลายาวนานในการเฝ้ารอให้ "วงจร" ดังกล่าวถูก "ตัดขาด" เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

ทว่า หลายครา "การเดินทางมาถึงของอิสรภาพก็ยาวนานเกินกว่าที่ผู้ต่อสู้เพื่อมันเคยคาดหวังเอาไว้" ดังเนื้อหาในจดหมายที่เดเมี่ยนเขียนถึงคนรัก ก่อนถูกประหารชีวิต

ความเปลี่ยนแปลงแท้จริงก็คงเดินทางมาถึงจุดหมายช้ากว่าที่ผู้หวังจะมองเห็นมันเคยคาดคิดเอาไว้เช่นกัน

และระหว่างทาง "เรา" อาจต้อง "ทำร้าย" กันเองครั้งแล้วครั้งเล่า

หลังจากชม "The Wind that Shakes the Barley" ในโรงภาพยนตร์ก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ผมย้อนกลับมาดูหนังเรื่องนี้อีกครั้งผ่านแผ่นดีวีดีในช่วงต้นปี พ.ศ.2555



+++

สู้ต่อไป ลูเชียส!! เล่ม1
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 79


ใครจะคาดคิด โรมัน ญี่ปุ่น และบ่อน้ำร้อน มารวมอยู่ในการ์ตูนเล่มเดียวกันได้

สู้ต่อไป ลูเชียส!! ผลงานของ มาริ ยามาซากิ ลิขสิทธิ์ของสยามอินเตอร์คอมิกส์ เพิ่งวางตลาดได้เพียงเล่มเดียว มีเนื้อเรื่องน่าสนใจสมควรเล่าสู่กันฟัง

เรื่องราวของนายช่างก่อสร้าง ลูเชียส โมเดสตุส ในรัชสมัยจักรพรรดิเฮเดรียน ค.ศ.117-138 ในการ์ตูนเรียกว่าเฮดริอานัส จักรพรรดิเฮเดรียนเป็นหนึ่งในห้าจักรพรรดิโรมันที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่สุด ชื่อเดิมคือ Publius Aelius Hadrianus คนส่วนใหญ่รู้จักชื่อจากกำแพงเฮเดรียนหรือ Hadrian Wall ทางตอนเหนือของอังกฤษซึ่งพระองค์ให้ก่อสร้างเพื่อป้องกันการรุกรานของคนเถื่อน ปัจจุบันซากกำแพงเฮเดรียนยังคงหลงเหลืออยู่มากกว่า 70 กิโลเมตร

จักรพรรดิเฮเดรียนมีชื่อเสียงด้านการทหารและสถาปัตยกรรม

แต่หนังสือการ์ตูนจะเล่าเรื่องบ่อน้ำร้อนเป็นหลัก



บทที่ 1 กรุงโรม นายช่างลูเชียส โมเดสตุส เพิ่งจะตกงานเพราะไล่ตามสถาปัตยกรรมที่จักรพรรดิเฮเดรียนนำเข้าจากกรีกไม่ทัน เพื่อนรักมาร์คัสจึงชวนไปแช่น้ำร้อนคลายเครียดที่โรงอาบน้ำ ระหว่างนั่งแช่น้ำร้อนอยู่นั่นเองลูเชียสพบท่อระบายน้ำที่ก้นอ่างจึงดำลงไปสำรวจแล้วถูกดูดไปโผล่ขึ้นที่โรงอาบน้ำอีกแห่งหนึ่ง

ปัญหาคือโรงอาบน้ำที่ลูเชียสโผล่ขึ้นมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ปี ค.ศ.2009

ลูเชียสพบ "พวกไร้ดั้ง" พูดภาษาญี่ปุ่นซึ่งในตอนแรกเขาคิดว่าเป็นทาส แต่เพียงไม่นานเขาก็ต้องตกตะลึงกับสิ่งประดิษฐ์ที่เขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน คือ กาละมัง ตะกร้าสานใส่เสื้อผ้า กระจกเงาบานใหญ่ โปสเตอร์ภาพถ่ายโฆษณางานเทศกาล ภาพวาดภูเขาไฟฟูจิเต็มผนังบ่อแช่น้ำร้อน แม้กระทั่งผ้าใบบังแดดหน้าร้าน

"วัฒนธรรมช่างล้ำหน้านัก" ลูเชียสช็อก "ช่างเป็นพวกทาสที่น่าตกใจเสียจริงๆ"

ขณะที่เขากำลังหมดอาลัยตายอยากกับสิ่งที่เห็นนั้นเอง เจ้าของโรงอาบน้ำยื่นเครื่องดื่มนมรสผลไม้แช่เย็นเจี๊ยบมาให้ "ฮ่า อร่อยชื่นใจ เอ้า นี่ของอาเฮียเปิดฝาให้แล้วนะ" ป๊อก!

"อร่อย!" ลูเชียสตะลึง "แถมยังเย็นแล้วก็หวานอีกด้วย" เขาหน้ามืดแล้ว "เย็นเฉียบราวกับหิมะ"


ลูเชียสฟื้นที่โรงอาบน้ำโรมัน เขานำความฝันที่ได้มาสร้างโรงอาบน้ำแบบพวกไร้ดั้ง มีตะกร้าสานวางเสื้อผ้า มีภาพวาดภูเขาไฟที่ผนัง มีเครื่องดื่มนมวัวผสมผลไม้ปิดด้วยกระดาษปาปิรัสนำไปแช่ลำธารไหลเย็น ไม่ลืมแม้กระทั่งผ้าใบบังแดดหน้าร้าน แม้ว่าโรงอาบน้ำของเขาจะมีลูกค้ามากมายและเป็นที่โจษจัน แต่เขายังไม่พอใจกับเทคโนโลยีล้าหลังของอาณาจักรโรมัน

อะไรที่ลูเชียสเผชิญคือปรากฏการณ์คล้ายคลึง culture shock โดยทั่วไปเรามักใช้คำว่า culture shock บรรยายถึงสภาพจิตของนักเรียนไทยหรือคนงานในต่างแดน ปฏิกิริยาแรกอาจจะเป็นได้ทั้งความตกใจหรือความหลงใหลได้ปลื้มในสังคมใหม่หรือวัฒนธรรมใหม่

แต่หลังจากนั้นไม่นานคนเรามักใช้ความคิดความรู้สึกของวัฒนธรรมเดิมตัดสินวัฒนธรรมใหม่ นำมาซึ่งความรู้สึกวิตกกังวล หงุดหงิด โกรธง่าย และคิดถึงบ้านอย่างรุนแรง แต่ถ้ากลับบ้านไม่ได้ก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อรองระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่ ลงเอยด้วยการปรับตัวคือ adjustment ได้ในที่สุด

ปรากฏว่าลูเชียสผ่านทุกขั้นตอนเร็วมาก ช็อก กังวล โกรธ ต่อรอง แล้วปล้นทรัพย์สินทางปัญญาของเขากลับโรมันเสียเลย



บทที่ 2 ลูเชียสถูกภรรยางอนใส่ต้องมานั่งกินเหล้า ทหารของท่านกงสุลเลพิดุสตามตัวเขาไปพบที่บ้านพักริมแม่น้ำคัมปาเนีย

"ขืนเป็นแบบนี้เมียคงจะหัวเสียยิ่งกว่าเดิมแน่" ลูเชียสกลัวเมียแต่กลัวท่านกงสุลมากกว่า

"ช่วยสร้างบ่ออาบน้ำกลางแจ้งให้หน่อยได้มั้ย" ท่านกงสุลป่วยหนัก นอนซม นอกหน้าต่างนั้นคือภูเขาไฟวิสุเวียส ที่แท้ท่านกงสุลเคยไปใช้บริการที่โรงอาบน้ำของลูเชียสซึ่งมีภาพวาดภูเขาไฟที่ผนังมาแล้ว ที่นี่คือภูเขาไฟของจริง

ลูเชียสไม่เคยสร้างบ่อน้ำร้อนกลางแจ้งมาก่อน เขาเดินสำรวจสถานที่บริเวณภูเขาไฟแล้วพลัดตกลงไปในบ่อน้ำร้อนธรรมชาติแห่งหนึ่ง คราวนี้เขาไปโผล่ที่บ่อน้ำร้อนธรรมชาติบริเวณภูเขาไฟฟูจิยุคปัจจุบัน

"ข้าย้อนกลับมายังสังคมรุ่งเรืองอารยธรรมอีกครั้งแล้ว" ลูเชียสลุกเดินสำรวจ "พวกไร้ดั้งกำลังอาบน้ำร้อนกันอยู่" เขาพบว่าที่นี่กั้นเขตอาบน้ำร้อนของลิงและคนแยกจากกันอีกด้วย

ที่นี่เขาได้เรียนรู้วิธีสร้างรางน้ำริน วิธีระบายน้ำ และเทคโนโลยีต้มไข่ "นี่ไม่ใช่เวลาที่จะมามัวภาคภูมิศักดิ์ศรีของชาวโรมันแล้ว" ลูเชียสกำหมัดแน่น ชิมไข่ลวกกับเหล้าที่พวกไร้ดั้งยื่นให้

"อร่อย!" แล้วลูเชียสก็หมดสติฟื้นขึ้นมาที่บ่อน้ำร้อนบริเวณบ้านท่านกงสุลอีกครั้งหนึ่ง เขาจึงสร้างบ่อน้ำร้อนธรรมชาติและประดิษฐ์เครื่องมือแช่ไข่เป็นไข่ลวกเพื่อนำมากินกับไวน์จนกระทั่งสุขภาพของท่านกงสุลดีวันดีคืน

จะเห็นว่าลูเชียสไม่พอใจที่พบว่าโรมันไม่ได้เหนือกว่าอย่างที่เขาคิด แต่เพราะเขารู้จักใช้กลไกต่อรองคือ negotiation เขาจึงผ่านวิกฤตทางจิตใจและแปรวิกฤตเป็นโอกาส



บทที่ 3 ช่างแกะสลักหินอ่อนสูงอายุซึ่งเป็นอาจารย์ของมาร์คัสปวดเมื่อยเนื้อตัวเหนื่อยล้าจากการทำงานหามรุ่งหามค่ำตามคำบัญชาของจักรพรรดิเฮเดรียน เขาแก่เกินกว่าจะเดินไปโรงอาบน้ำสาธารณะได้อีกแล้ว เมื่อลูเชียสดำลงบ่อน้ำร้อนเพื่องมหาสตริกิลซึ่งเป็นอุปกรณ์ขัดขี้ไคลทำจากโลหะ เขาโผล่ขึ้นมาในอ่างอาบน้ำร้อนส่วนตัวใช้ในบ้านของชาวญี่ปุ่น

ครั้งนี้เขาค้นพบวิธีออกแบบและสร้างบ่อขนาดเล็กใช้ในบ้าน ฝาปิดบ่อเพื่อกักความร้อน แปรงถูตัวและผ้าขัดขี้ไคล รวมทั้งของใช้อำนวยความสะดวกระหว่างอาบน้ำสระผมหลายชิ้น

"การใช้กองกำลังขยายอาณาเขตง่ายดายนัก แต่วัฒนธรรมนี่มัน...มันครอบครองกันไม่ได้ง่ายๆ ขนาดนั้น" ลูเชียสเสียใจจนล้มลง "ความรู้สึกพ่ายแพ้ที่ต้องรู้สึกทุกครั้งที่มาโลกนี้ รู้ทั้งรู้ว่านี่ไม่ใช่เวลามานอนร้องไห้"

อีกอาการหนึ่งของ culture shock คืออารมณ์เศร้า เช่นเดียวกันกับคนงานหรือนักเรียนไทยในต่างแดนที่เกือบทุกคนจะต้องผ่านระยะซึมเศร้าก่อนที่จะลุกได้อีกครั้งหนึ่ง ลูเชียสก็มิใช่ข้อยกเว้น เว้นเสียแต่ว่าวิธีที่เขาลุกขึ้นออกจะผิดวิธี ห้ามเลียนแบบ กรุณาใช้วิจารณญาณและ ผู้ปกครองควรแนะนำ

"ดื่มนี่ซะ จะได้รู้สึกดีขึ้น" ตาแก่เจ้าของอ่างอาบน้ำร้อนในบ้านยื่นดราฟต์เบียร์เย็นเจี๊ยบให้หนึ่งกระป่อง

"โดนมาก!" ลูเชียสตาสว่าง แล้วก็หน้ามืดไป

หลังจากนั้นอาณาจักรโรมันก็มีอ่างอาบน้ำร้อนส่วนตัวใช้ในบ้าน



บทที่ 4 ลูเชียสพบจักรพรรดิฮาเดรียน เขาหลุดมาที่ญี่ปุ่นสมัยใหม่อีก เห็นเครื่องสุขภัณฑ์อัตโนมัติและโทรทัศน์ติดผนังในห้องอาบน้ำร้อน

ครั้งนี้เขาผ่านอาการช็อกทางวัฒนธรรมหมดสิ้นแล้ว

การยอมรับความเหนือกว่าของญี่ปุ่นแล้วนำไปประยุกต์ใช้ที่วังจักรพรรดิกลายเป็นเรื่องง่ายดาย

โปรดหามาอ่านว่าโรมันจะมีทีวีได้อย่างไร



บทที่ 5 คือบทสุดท้ายของเล่มหนึ่ง ลูเชียสติดตามจักรพรรดิไปถึงอิสราเอล ตอนนี้มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์เมื่อจักรพรรดิเฮเดรียนยกทัพไปจูเดียเพื่อปราบกบฏชาวยิวที่เยรูซาเลมในปี 132 คือสงครามที่เรียกว่า Bar Kokhba revolt นับเป็นการก่อกบฏครั้งที่สามและเป็นครั้งสุดท้ายของชาวยิว

ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในปี 70 ซึ่งกองกำลังชาวยิวถอยขึ้นไปตั้งรับที่มาซาดา

ครั้งที่สองเกิดขึ้นปี 113 ในรัชสมัยจักรพรรดิทราจันก่อนหน้าจักรพรรดิเฮเดรียนนี้เอง

บทที่ห้าจะเล่าเรื่องการถือกำเนิดโรงอาบน้ำแร่เพื่อรักษาพยาบาลโรคภัยไข้เจ็บให้แก่ทหาร ซึ่งลูเชียสได้ความคิดมาจากบ่อน้ำแร่ที่ญี่ปุ่นอีกเช่นเคย

แต่ลูเชียสกลับเอาตัวไม่รอด เมื่อเขาลาจักรพรรดิเฮเดรียนกลับบ้านหลังจากจากไปนานก็พบจดหมายหย่าที่ภรรยาวางเอาไว้

"ดิฉันขอหย่าค่ะ จากลิเวีย"

มัวแต่หมกมุ่นกับงานจนเมียทิ้งซะแล้ว ลูเชียส! สู้ต่อไป ลูเชียส!!



.