.
เปลี่ยนมุมมอง
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 24
วันที่นั่งฟัง "ต้อ" บินหลา สันกาลาคีรี สอนเรื่องการเขียนเรื่องสั้น
ผมชอบวิธีคิดเรื่องหนึ่งของ "ต้อ"
เขาบอกว่าตอนเขียนเรื่องสั้น เขาจะมีเก้าอี้ 3 ตัววางอยู่กลางห้อง
เก้าอี้ตัวแรก คือ เก้าอี้นักเขียน
ตัวที่สอง คือ เก้าอี้ตัวละคร
ตัวที่สาม คือ เก้าอี้คนอ่าน
เมื่อเขาเขียนเรื่อง ตัวละครก็จะโลดแล่นอยู่บนกระดาษ
คุยกัน ทะเลาะกัน รักกัน
เขาจะเขียนไปเรื่อยๆ บนเก้าอี้ของ "นักเขียน"
พอถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ "ตัวละคร"
สมมุติตัวเองเป็นตัวละครในเรื่อง
อ่านเรื่องที่ "นักเขียน" เขียน
แล้วถามตัวเองว่าถ้าเราเป็นนักธุรกิจคนนี้ เราจะตัดสินใจแบบนี้หรือเปล่า
จะพูดแบบนี้หรือเปล่า
ถ้าเราเป็นเด็กนักศึกษาคนนี้ เราจะ "ครับผม-ครับผม" ทุกครั้งที่รุ่นพี่สั่งหรือเปล่า
ถ้ารู้สึกขัดหู ขัดใจ
"ต้อ" ในฐานะ "ตัวละคร" ก็จะบอก "นักเขียน" ว่าในชีวิตจริง ผมจะไม่พูดแบบนี้
แล้วเขาก็จะเปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ "นักเขียน"
แก้ไขบทสนทนาใหม่
จากนั้น "ต้อ" เปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ "คนอ่าน"
นักเขียนนั้นมีอภิสิทธิ์อยู่ข้อหนึ่ง คือ เขาอยากเล่าอะไร จะเล่าแบบไหนก็ได้
หรือจะขยักไม่ยอมเล่าเรื่องไหนก็ได้
บางทีก็เขียนเป็น "สัญลักษณ์" เพื่อให้ผู้อ่านตีความ
แต่เมื่อ "ต้อ" เปลี่ยนเก้าอี้มาเป็น "คนอ่าน"
เขาจะอ่านแบบ "คนอ่าน" ที่ไม่รู้ความคิดของ "นักเขียน"
อ่านตัวอักษรในเรื่องแล้วถ้าไม่เข้าใจ
หรือไม่รู้สึกอะไรกับ "สัญลักษณ์"
"คนอ่าน" ชื่อ "บินหลา" ก็จะตะโกนบอก "นักเขียน"
"อ่านไม่รู้เรื่องโว้ย"
"ต้อ" ก็จะรีบวิ่งไปนั่งเก้าอี้ "นักเขียน" แล้วแก้ไขงานใหม่ทันที
"ทฤษฎีเก้าอี้ 3 ตัว" ของ "ต้อ" คือ วิธีการคิดให้ครบทุกมุมมอง
วิธีคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ
หรือการใช้ชีวิตของเรา
วันก่อน เจอเทปการบรรยายเรื่อง "คำถามเปลี่ยนชีวิต" ของ พระไพศาล วิสาโล ใน youtube
พระไพศาล เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่าเคยเห็นนกกระเรียนหลับไหม
นกกระเรียนนั้นจะยืนหลับ
และยืนขาเดียว
ถ้าเราถามว่าทำไมนกกระเรียนยืนขาเดียวเวลาหลับ
เราจะตอบยาก
แต่ถ้าถามว่าทำไมนกกระเรียนหดขาเดียวเวลาหลับ
เราจะตอบง่าย
คำตอบของ "พระไพศาล" คือ "ถ้าหด 2 ขา นกกระเรียนจะล้ม"
เป็นมุขเริ่มต้นของการบรรยายธรรมของพระไพศาลครับ
จากนั้นท่านยกตัวอย่างเรื่องการตั้งคำถามในชีวิตของเรา
เช่น พอมีปัญหาว่าเพื่อนไม่เข้าใจ แฟนไม่เข้าใจ แม่ไม่เข้าใจ
ก็ "ทุกข์"
พระไพศาลบอกว่าแทนที่เราจะตั้งคำถามว่าทำไม "เพื่อน-แฟน-แม่" ไม่เข้าใจ
เราน่าจะตั้งคำถามใหม่
"แล้วเราเข้าใจเขาแล้วหรือยัง"
ทุกข์ของเราที่เกิดขึ้นเพราะเราเรียกร้องคนอื่นมากเกินไป
จนลืมเรียกร้อง "ตัวเอง"
หรือทักทายเพื่อนแล้วเพื่อนไม่ตอบ ถามแล้วไม่ได้คุย
แวบแรกเราจะโกรธ
คิดว่าเพื่อนไม่สนใจเรา
แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมคิดใหม่
สงสัยว่าเพื่อนเป็นอะไรหรือเปล่า ทุกข์ร้อนเรื่องอะไร
แล้วเดินเข้าไปถามด้วยความห่วงใย
บางทีเราจะรู้ว่าที่เพื่อนทำท่าเฉยเมยกับคำทักทายของเรา
เพราะมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ภายใน
หรือกรณีที่เกิดเงินหาย มือถือหาย
ส่วนใหญ่จะนึกอยู่ในใจว่าทำไมต้องเป็นเรา
เราซวยจริงๆ
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามใหม่
คนอื่นก็เคยทำเงินหาย มือถือหาย
"ทำไมจะเป็นตัวเราไม่ได้ เราพิเศษมาจากไหนหรือ"
แค่เปลี่ยนมุมมอง เราก็จะเห็นความจริงของชีวิต
แล้วความทุกข์ก็จะลดลง
อีกเรื่องหนึ่ง เพิ่งอ่านเจอในหนังสือ "สุดยอดเรื่องน่าอ่าน...เพื่อการพัฒนาตนเอง" ของ ดร.ชัยเสฎฐ์ พรหมศรี
มีผู้ชายคนหนึ่ง ขับรถไปบนถนนพบคน 3 คนยืนรอรถเมล์ท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก
คนหนึ่ง เป็นหญิงชราที่กำลังป่วยหนัก
คนที่สอง เป็นเพื่อนที่เคยช่วยชีวิตของเราไว้
และคนที่สาม เป็นผู้หญิงสาวสวยที่เราเฝ้ารอมาทั้งชีวิต
เมื่อรถคันนี้นั่งได้ 2 คน คำถามก็คือเราจะรับใครขึ้นรถ
ถ้าเลือกหญิงชราใกล้ตาย เราก็อาจไม่มีโอกาสตอบแทนเพื่อนที่เคยช่วยชีวิตเรา
ถ้าเลือกเพื่อน หญิงชราก็อาจเสียชีวิต
ถ้าเลือกสาวสวย หญิงชราก็อาจเสียชีวิต และไม่มีโอกาสช่วยเพื่อนอีก
ลองคิดดูสิครับว่าคุณจะทำอย่างไรก็สถานการณ์นี้
คำถามดังกล่าวใช้ในการสัมภาษณ์งานในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา
ส่วนใหญ่คนจะตอบวนเวียนอยู่ที่ หญิงชรา เพื่อน และสาวสวย
พร้อมกับเหตุผลที่แตกต่างกัน
แต่มีอยู่คนหนึ่งเขาตั้งคำถามใหม่
...รถนั่งได้ 2 คน แต่ไม่จำเป็นที่เขาต้องอยู่บนรถ
คำถามนี้ทำให้คำตอบกว้างขึ้นกว่าเดิม
ในที่สุด เขาก็เลือกแนวทางใหม่
เขาจะมอบกุญแจรถให้เพื่อน
และขอให้เพื่อนขับรถพาหญิงชราไปโรงพยาบาล
ส่วนเขาจะลงจากรถ และยืนรอรถเมล์เป็นเพื่อนหญิงสาว
ทางเลือกนี้เขาได้ช่วยชีวิตหญิงชรา ได้ตอบแทนบุญคุณเพื่อน
และได้อยู่ใกล้ชิดกับหญิงสาวที่เฝ้ารอมาทั้งชีวิต
เป็น "คำตอบ" ที่ได้ครบทุกความต้องการ
ครับ เขาได้รับเลือกให้ทำงานในบริษัทนี้
แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง
ลองใช้ "ทฤษฎีเก้าอี้ 3 ตัว" ของ "ต้อ" ดูสิครับ
เปลี่ยนไปนั่งเก้าอี้ของ "สาวสวย" คนนั้น
เธอคงคิดอยู่ในใจ ก่อนหน้านี้อยู่กัน 3 คน แม้ฝนจะตก แต่ก็ปลอดภัย
แต่ตอนนี้อยู่กับชายหนุ่มที่แสดงความมุ่งมั่นในตัวเธออย่างชัดเจน
สองต่อสอง
บางทีหญิงสาวอาจตัดสินใจเสี่ยงตาย
เกาะหลังคารถไปดีกว่า
++++
บทความต้นปีที่แล้ว 2554
จุดเปลี่ยน
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 24
เมื่อปลายปีที่แล้ว ในแวดวงธุรกิจ ข่าวการลาออกที่ดังที่สุด คือ "ตัน ภาสกรนที" ลาออกจาก "โออิชิ"
ตัดนามสกุล "โออิชิ" ทิ้งไป แล้วเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "ไม่ตัน"
จาก "ตัน โออิชิ" เป็น "ตัน ไม่ตัน"
มาต้นปีนี้ คนที่ลาออกแล้วเป็น "ข่าวใหญ่" ก็คือ "ธนา เธียรอัจฉริยะ"
"ธนา" เป็นคนหนุ่มอายุเพียง 41 ปี แต่เป็นถึง "รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์องค์กร"
เบอร์ 2 ของ "ดีแทค"
บริษัทที่มียอดขายประมาณ 70,000 ล้านบาท กำไรปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท
"ธนา" คือ คนสำคัญคนหนึ่งที่พลิกฟื้น "ดีแทค" จากบริษัทที่เกือบจะเจ๊งให้กลายมาเป็น "ยักษ์ใหญ่" แห่งวงการโทรคมนาคม
"Happy" ที่รู้จักกันดีก็มาจากฝีมือของ "ธนา"
แต่วันนี้เขาตัดสินใจลาออกจาก "ดีแทค" ไปอยู่ "แม็คยีนส์"
บริษัทผู้ผลิตกางเกงยีนส์ที่มียอดขายประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท กำไรปีละ 200 ล้านบาท
เล็กกว่า "ดีแทค" 60 เท่า
"ธนา" คุยกับ "สุนี เสรีภาณุ" เจ้าของ "แม็คยีนส์" 3 ครั้ง
ทุกครั้งที่คุย เขารู้สึกเลือดสูบฉีดแรง
รู้สึกท้าทายและอยากทำ
การตัดสินใจครั้งนี้ "ธนา" ใช้ "ความรู้สึก" เป็น "เข็มทิศ" นำทาง
เชื่อไหมครับว่าวันที่เขายื่นใบลาออก "ธนา" เพิ่งนึกขึ้นได้ว่าเขาไม่ได้ถาม "สุนี" อยู่เรื่องหนึ่ง
จะให้เขาไปนั่งเก้าอี้ตัวไหน
"กรรมการผู้จัดการ" หรือ "ซีอีโอ"
หลังการลาออก มีโทรศัพท์จากคนที่คุ้นเคยมาสอบถามเรื่องนี้กันมากมาย
แต่มีประโยคหนึ่ง ที่ "ธนา" ชอบที่สุด
"พาที สารสิน" ซีอีโอ ของ "นกแอร์" ครับ
เขาโทรมาถามว่าจะไปอยู่ที่ไหน
พอ "ธนา" บอกว่า "แม็คยีนส์" เขาก็หลุดปากออกมาทันที
"คุณบ้ากว่าที่ผมคิดจริงๆ"
คนที่กระตุ้นต่อมการลาออกของ "ธนา" คือ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน
"ธนา" เจอ "ดร.วิทย์" ซึ่งอายุประมาณ 40 ต้นๆ เล่นไอซ์สเก็ตที่เซ็นทรัลเวิลด์
ในบรรดาคนที่เล่นสเก็ตน้ำแข็งทั้งหมด "วิทย์" อายุมากที่สุด
เล่นแล้วก็ล้ม ล้มแล้วก็ลุก
"ธนา" เห็นแล้วอายแทน
เขาถาม ดร.วิทย์ ว่าทำไมถึงมาเล่นกีฬาประเภทนี้
คำตอบของ "วิทย์" ก็คือ "ผมอยากออกจาก คอมฟอร์ต โซน อยากลองล้มดูบ้าง จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ"
"คอมฟอร์ต โซน" หรือพื้นที่ที่สุขสบาย น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา
แต่ความปลอดภัยที่มากเกินทำให้เรากลัว
ไม่กล้าเดินไปสู่ที่ใหม่ที่ไม่รู้จัก
ประโยคนี้เองที่กระตุ้นให้ "ธนา" เริ่มคิด
ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจโทรคมนาคม และตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของ "ดีแทค" ทำให้เขาเริ่มทำอะไรไม่ผิด
เดินเข้าห้องประชุม พูดอะไรก็พูดได้ คนไม่ค่อยเถียง เหมือนรู้ไปหมดทุกอย่าง
ไม่เกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่
"มันสบายจนถึงขนาดว่าผมเข้าไปเสิร์ชกูเกิ้ล หรือเข้าไปอ่านหนังสืออะไรใหม่ๆ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาใช้อะไร เพราะเหมือนเราทำมาหมดแล้ว"
"ธนา" เรียกภาวะนี้ว่า "รู้จนโง่"
"รู้" มากจนกลายเป็น "ไม่รู้"
อายุ 41 ปีของ "ธนา" ไม่พร้อมที่จะสบายแบบนี้
ช่วงนั้นมีบริษัทยักษ์ใหญ่หรือธนาคารพาณิชย์บางแห่งทาบทาม "ธนา" ไปทำงานด้วย
แต่เขาไม่รู้สึกอยากไป
จนวันหนึ่ง "สุวภา เจริญยิ่ง" เจ้านายเก่าชวนเขาไปคุยกับ "สุณี" เจ้าของ "แม็ค ยีนส์"
"สุณี" ให้เกียรติ "ธนา" มาก
และที่สำคัญคือ ธุรกิจเสื้อผ้าเป็นเรื่องที่เขาไม่รู้เรื่อง
มันแปลก มันท้าทาย
และเป็น "มวยรอง" แบบที่เขาชอบ
เพราะ "แม็ค ยีนส์" เป็นบริษัทของคนไทย ต้องสู้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก
"ธนา" บอกว่า ความรู้สึกของเขาเริ่มตื่นเต้น
เลือดลมสูบฉีดแรง
คุย 3 ครั้งก็ตัดสินใจเลย
วันก่อน ผมเจอ ดร.วิทย์ ในงานหนึ่ง
เราคุยกันเรื่อง "ธนา" และ "คอมฟอร์ต โซน" อย่างสนุกสนาน
ดร.วิทย์ บอกว่าเขาเล่นสเก็ตน้ำแข็งเพราะไม่อยากแก่
อยากเล่นอะไรที่คนหนุ่มสาวเล่นกัน
"มันท้าทายดี"
ผมบอกเขาว่ารู้ไหม ถ้า "ธนา" ล้มเหลวที่ "แม็ค ยีนส์" คนที่ต้องรับผิดชอบมีอยู่คนเดียว
"คือ ดร.วิทย์"
"ธนา" ให้สัมภาษณ์ใน "aday BULLETIN" ว่าเคยเห็นบทเรียนสำคัญเมื่อครั้งลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
มีพนักงานหลายคนที่อายุ 50 ปีตกงาน แล้วไม่รู้จะไปไหน
เพราะเขาไม่ได้เตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลง
"ธนา" บอกว่า "มืออาชีพ" ที่ดี ต้องนึกถึง "จุดจบ" ของตัวเองเสมอ
คิดแบบวันนี้คือวันสุดท้ายของชีวิต
คิดแบบนี้ในมุมหนึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำงานอย่างเต็มที่
ในอนาคตจะได้ไม่ต้องเสียดายว่าทำไมวันนั้นถึงไม่ทำ
แต่อีกด้านหนึ่ง คือ การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง
"การที่เราคิดว่าจะต้องออกในวันใดวันหนึ่ง เป็นความคิดที่ไม่เลวนะ จะได้เตรียมตัวว่าถ้าออกแล้วจะทำอะไร คือ ไม่ได้ออกจริงๆ แต่อย่างน้อยจะมีความคิดถึงจุดจบไว้บ้างว่าวันหนึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ไปชั่วชีวิต"
เพราะถ้าคิดว่าจะอยู่องค์กรใดองค์กรหนึ่งไปชั่วชีวิต
"เราอาจจะนิ่ง สบายๆ ไม่ได้ขวนขวายอะไร"
"ธนา" เล่านิทานเรื่อง "คนตัดฟืน" กับ "เจ้านาย"
คนตัดฟืนรักเจ้านายมาก เขาจะตัดฟืนมาให้เจ้านายผิงไฟ
วันแรกใช้เวลา 10 ชั่วโมงได้ฟืนมา 1 กอง
วันที่สองใช้เวลา 11 ชั่วโมง ได้ฟืนมา 1 กอง
วันที่สามใช้เวลา 12 ชั่วโมงได้ฟืนมา 1 กอง
ยิ่งตัดยิ่งใช้เวลานานขึ้น
เขาถาม "เจ้านาย" ว่าเขาทำอะไรผิด ทั้งที่เขาตั้งใจตัดฟืน แต่ทำไมถึงใช้เวลานานขึ้น
"เจ้านาย" ยิ้มและถามสั้นๆ
"ลับขวานครั้งสุดท้ายเมื่อไร"
ครับ การลับขวานก็คือการฝึกตัวเองให้มีทักษะมากขึ้น เพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง
เพราะไม่ได้ลับขวาน จึงตัดฟืนได้น้อยลง
"ธนา" บอกว่า บางครั้งถ้าคิดว่าจะทำงานที่ใดที่หนึ่งตลอดไป
อยู่ที่นี่ forever
"เราก็จะไม่ได้ลับขวานตัวเอง เราจะทื่อ"
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย