http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-04

คลีโอพัตราแห่งล้านนา "นางพญาอั้วเชียงแสน" โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
มีโพสต์บทกวี - เพ็ญ ภัคตะ : หากไม่มีนิติราษฎร์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คลีโอพัตราแห่งล้านนา "นางพญาอั้วเชียงแสน"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 76


คงไม่มีตำนานรักใดจะสร้างความอมตะยิ่งไปกว่ารักสามเส้าสี่เส้าของ "นางพญาอั้วเชียงแสน" ราชินีแห่งแคว้นพะเยา นี้อีกแล้ว

เป็นพิศวาสนาฏกรรมที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ต่างไปจากโศลกรักของ "จักรพรรดินีคลีโอพัตรา" เท่าใดนัก

เหตุเพราะชู้รักของนางอั้วเชียงแสน เป็นถึงกษัตริย์ที่ียิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของกรุงสุโขทัย นั่นคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ในขณะที่พระนางคลีโอพัตราแห่งอียิปต์ ก็ตกอยู่ในฐานะชู้รักกับคนดังระดับโลก จูเลียตซีซาร์แห่งกรุงโรม


ปูมหลังแห่งแม่นาง "อั้ว"

คําว่า "อั้ว" นี้ไม่ใช่ชื่อเฉพาะ แต่เป็นคำระบุให้เห็นปูมหลังเดิมว่าเป็นเจ้าหญิงจากแว่นแคว้นไหน อันเป็นธรรมเนียมการเรียกชื่อสตรีล้านนาในเขตลุ่มน้ำโขง กก อิง ยม ตั้งแต่เชียงราย-เชียงแสน-พะเยา ไปจนถึงสิบสองปันนา

เช่น "อั้วมิ่งจอมเมือง" เป็นราชธิดาของเจ้าเมืองเชียงรุ่ง มีฐานะเป็นพระราชชนนีของพระญามังราย

หรือ "อั้วมิ่งเวียงไชย" เป็นพระมเหสีของพระญามังราย สืบเชื้อสายมาจากเวียงไชยปราการ

เช่นเดียวกับ "อั้วเชียงแสน" ราชธิดาของกษัตริย์เชียงแสน อันที่จริงพระนางมีนามว่า "สิม" ตำนานบางเล่มจึงเรียกอีกชื่อว่า "นางอั้วสิม" ผู้เป็นพระมเหสีของพระญางำเมือง

ส่วนพระญางำเมืองเป็นกษัตริย์เมืองพะเยา หรือภูกามยาว (ผายาว) มีศักดิ์เป็นญาติลูกพี่ลูกน้องกับพระญามังราย กษัตริย์เชียงราย (หิรัญนครเงินยาง) ทั้งคู่ประสูติปีเดียวกันประมาณ พ.ศ.1781-1782 จึงถือว่าเป็นสหชาติกัน

เหตุที่มีนามว่า "งำเมือง" นั้น เป็นเพราะมีอิทธิฤทธิ์ไม่ต่างจากพระร่วงเจ้า เสด็จไปทางไหน แดดก็ไม่ร้อน ฝนก็ไม่เปียก สามารถเสกท้องฟ้าให้ปกงำบดบังเมฆได้ เพราะร่ำเรียนวิชชาอาคมมาจากสำนักเขาสมอคอล (บ้างเรียกดอยด้วน บ้างเรียกสำนักสุกกะทันตะฤษี) กรุงละโว้ โดยมีพระร่วงเป็นเพื่อนร่วมสำนัก

แล้วเหตุไฉนเพื่อนเราจึงมาเผาเรือน ริเป็นชู้กับนางพญาอั้วเชียงแสนได้ เรื่องนี้มีนัยยะทางการเมืองซ่อนเร้นหรือไม่ ฤๅแค่ทั้งสองมีจิตสนิทสิเนหาต่อกันฉันชู้สาวเท่านั้น?



ชู้ทางใจ หรือชู้การเมือง?

น่าแปลกใจที่เรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างนางอั้วเชียงแสนกับพระร่วง ถูกบันทึกไว้อย่างเปิดเผยในเอกสารโบราณหลายฉบับ ราวกับเป็นเรื่องปกติสามัญ แสดงว่าคนในอดีตมองว่าเหตุการณ์ตอนนี้มีความสำคัญ หาใช่เป็นแค่เรื่องให้มานั่งเม้าธ์มอยอย่างเมามันไม่

ปฐมเหตุเกิดจากการที่พระร่วงคิดถึงสหายเก่าร่วมสำนัก จึงได้เดินทางไปรดน้ำดำหัวพระญางำเมืองที่พะเยาแถบลุ่มแม่น้ำโขงในวันสงกรานต์ แสดงว่าอาณาเขตของพะเยาครั้งนั้นกว้างใหญ่ไพศาลจนจรดแม่น้ำโขง น่าจะสร้างความสะพรึงกลัวให้แก่พระญามังรายที่มีเขตแดนชนกันไม่น้อย

สอดรับกับข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า "น้ำในตระพังโพยสีใสรสกินดีเหมือนดั่งกูกินโขงเมื่อแล้ง"

ชัดเจนว่าพ่อขุนรามคำแหงเคยมาดื่มชิมน้ำในแม่น้ำโขงคราวหน้าแล้ง ซึ่งก็ตรงกับเดือนเมษายน ถึงได้สามารถพรรณนาเปรียบเทียบรสชาติน้ำจากแม่โขงกับที่สระตระพังโพยในกรุงสุโขทัยว่ามีรสชาติดีพอๆ กัน

ระหว่างนั้นพระร่วงได้พบกับนางอั้วเชียงแสนผู้มีรูปโฉมงามล้ำบาดตาบาดใจ จึงเกิดจิตปฏิพัทธ์รักใคร่ นางอั้วเชียงแสนได้ทำแกงถวาย พระญางำเมืองไม่รู้ว่ากำลังหงุดหงิดอะไรอยู่หรือเปล่า ชิมได้เพียงคำเดียวก็วางช้อนบ่นว่า "น้ำแกงมากไปหน่อย รสชาติจืดชืดไม่เข้มข้น"

ในขณะที่พระร่วงรีบเข้าไปปลอบประโลม พลางซดน้ำแกงนั้นหมดหม้อ เรื่องเล็กๆ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ คำตัดพ้อของสวามีนั้นเข้าทางใครบางคน เริ่มด้วยการงอนตุปัดตุป่อง จากนั้นทุกราตรีก็ไม่ยอมให้พระญางำเมืองไปมาหาสู่ด้วย

ตำนานฝ่ายสุโขทัยเขียนตรงไปตรงมาว่า "พระญาร่วงรู้ว่านางอั้วรักพระองค์จึงได้เสียกัน" แต่ตำนานฝ่ายพะเยาพรรณนาฉากเข้าพระเข้านางเสียยืดยาวว่า

พระญางำเมืองเดินทางไปเจรจาศึกเรื่องพรมแดนเมืองกับพระญามังราย พระร่วงบังเกิดกำหนัดรักใคร่ในสิริโฉมพิไลพิลาสแห่งนางอั้วเชียงแสนจนสุดจะทนไหว จึงลอบปลอมแปลงพระองค์ให้คล้ายกับพระญางำเมือง เข้าสู่ห้องบรรทมลักสมัครสังวาสกันนานอยู่หลายคืน เมื่อนางอั้วเชียงแสนรู้ว่ามิใช่พระสวามีก็มิรู้จะทำฉันใดได้

ตำนานหลายฉบับระบุว่าลึกๆ แล้วนางอั้วเชียงแสนเองก็มีจิตปฏิพัทธ์ต่อพระร่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ครั้นพระญางำเมืองกลับมาและทราบเหตุการณ์จึงจับตัวพระร่วงมัดไว้ในเล้าสุ่มไก่ สั่งยายแก่คนหนึ่งดูแลหาอาหารให้ แต่ละวันมีเพียงปลาปิ้งตัวเล็กๆ พอประทังกาย เป็นการลงโทษให้พระร่วงอับอาย ว่ากำลังถูกสบประมาท

แต่ความแค้นของพระญางำเมืองมิแทบกระอักอกแตกตายยิ่งกว่าดอกหรือ จักฆ่าทิ้งเสียทั้งเพื่อนทั้งเมียก็เกรงจักเป็นเวรเป็นกรรมกันไปถึงภพหน้า คิดอย่างไรก็ปลงไม่ตก จึงเชิญให้พระญามังราย ผู้เป็นญาติมาช่วยตัดสินคดีความแทน

พระญางำเมืองนี่เองที่เป็นสะพานเชื่อมโยงให้สหายรักชาวสุโขทัย กับญาติสหชาติชาวเชียงรายได้มารู้จักกัน หากไม่มีคดีชู้ครั้งนั้น ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่า พระร่วงจะมาช่วยพระญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้อย่างไร

พระญามังรายจะทำเช่นไรได้ จู่ๆ ต้องมาสวมบทท้าวมาลีวราชว่าความ หากตัดสินลงโทษพระร่วงรุนแรงก็เกรงว่าต้องเปิดศึกใหญ่กับทางสุโขทัย เหมือนอยู่ดีๆ ก็แกว่งเท้าหาเสี้ยน ได้ไม่คุ้มเสีย

พระญามังรายเห็นว่าทั้งพระร่วงและพระญางำเมืองต่างก็มีความรู้ความสามารถ อุตส่าห์ร่ำเรียนจบมาจากสำนักเขาสมอคอลอันลือชื่อ ซึ่งพระญามังรายเองยังไม่มีโอกาสศึกษาที่นั่นด้วยซ้ำ สู้หยิบยืมมันสมองของสองสหายมาวางแผนร่วมกันสร้างเมืองเชียงใหม่มิดีกว่าหรือ

คิดดังนี้แล้วพระญามังรายจึงให้กษัตริย์ทั้งสองขอขมาอโหสิกรรมต่อกัน และเดินหน้าปรองดอง แค่ให้พระญางำเมืองเรียกปรับสินไหมค่าเสียหายจากพระร่วงตามแต่จะเห็นสมควร

เมื่อยอมความกันได้ สามสหายจึงกรีดเลือดดื่มน้ำสาบานว่า ต่อจากนี้จักซื่อสัตย์เกื้อกูลไม่เบียดเบียนกันอีก สถานที่ที่กระทำสัตย์ปฏิญาณภายหลังเรียกว่าแม่น้ำอิง เหตุเพราะสามสหายได้นั่งอิงหลังกัน ณ ฝั่งแม่น้ำ เดิมชื่อแม่น้ำขุนภู

มีข้อสังเกตว่่า บุคคลที่พยายามเปิดเผยเรื่องชู้ๆ คาวๆ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คือพระญามังราย เพราะปรากฏอย่างละเอียดอยู่ในตอน "พระญามังรายตัดสินคดีชู้พระร่วง"

หรือว่าเบื้องหลังของมิตรภาพที่แท้แล้วมีความหวาดระแวงซ่อนอยู่ เพราะต่างก็มีฐานะเป็นคู่แข่งทางการเมืองกันอยู่ในที

สถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องชู้สาวระหว่างกษัตริย์สุโขทัย-พะเยา จึงกลายเป็นเครื่องมือเสริมส่งบารมีอันชอบธรรมให้แก่พระญามังราย ลอยตัวอยู่เหนือมลทิน เป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่งที่สุดในบรรดาสามกษัตริย์

ถึงไม่ได้ตั้งใจจะบลั๊ฟฟ์สองสหาย แต่ก็ทำลายศักดิ์ศรีของทั้งคู่ไปโดยปริยายแล้ว



โศกนาฏกรรมซ้ำซาก
ของสาวงามอั้วเชียงแสน

เรื่องราวที่ผู้คนรับรู้จบลงตรงที่สามสหายกรีดเลือดร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ แต่ชะตากรรมของนางอั้วเชียงแสนหลังจากนั้นเล่า ขมขื่นร้าวรันทดเพียงไร ตัดใจลืมพระร่วงได้หรือไม่ แล้วพระญางำเมืองยังรักใคร่หลงใหลนางเหมือนเดิมอยู่ล่ะหรือ

อันที่จริงก่อนจะเกิดเหตุการณ์นี้ ขอย้อนหลังกลับไปร่วม 20 ปี พระญางำเมืองเคยยกทัพไปตีเมืองปัว และมอบหมายให้นางอั้วเชียงแสนปกครองอยู่ระยะหนึ่ง เรื่องชู้ๆ ฉาวๆ มักเป็นของคู่กับโฉมงาม วันดีคืนดี "พระญาผานอง" ผู้เป็นราชบุตรของเจ้าเมืองปัวองค์ก่อน ได้รวบรวมกำลังมายึดเมืองปัวคืน แถมยังจับตัวนางอั้วเชียงแสนเป็นชายาอีก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ีจะเป็นชู้กับพระร่วงแล้ว

ชื่อของนางอั้วสิมหรืออั้วเชียงแสน ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองน่าน ภาคที่ 10 ว่าเคยเป็นชู้กับพระญาผานองแห่งเมืองปัว แต่เชื่อว่าครั้งนั้นพระญางำเมืองคงทำใจได้ ด้วยเป็นเหตุสุดวิสัย อีกทั้งพระญาผานองก็อายุคราวลูกคืออ่อนกว่านางอั้วเชียงแสนร่วม 20 ปี

โศกนาฏกรรมฉากสุดท้ายของนางอั้วเชียงแสน เกิดขึ้นในช่วงที่พระญางำเมืองไปช่วยพระญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่อยู่นานหลายเดือน พระญามังรายรู้สึกซาบซึ้งน้ำใจของญาติผู้นี้จึงได้พระราชทานเจ้าหญิงองค์หนึ่งให้เป็นชายา

ข่าวนี้รู้แพร่งพรายไปถึงหูของนางอั้วเชียงแสน ทรงโกรธกริ้วเสียพระทัยอย่างรุนแรง ถึงกับสั่งให้เสนาอำมาตย์จัดขบวนม้าพระที่นั่งมุ่งหน้าไปยังเชียงใหม่ หมายจักสังหารชายาน้อยนั้นให้ได้

แต่แล้วในระหว่างทางนั้นทนแบกรับความทุกข์ระทมไม่ไหว เสด็จไม่ทันถึงไหนก็ตรอมใจตายเสียก่อน

เมื่อพระญางำเมืองทราบจึงรีบเสด็จกลับและนำศพของนางพญาอั้วเชียงแสนมาไว้ที่วัดพระธาตุจอมทองเมืองพะเยา

ไยพระญามังรายจึงกล้าถวายชายาองค์ใหม่ให้แก่พระญางำเมือง

หรือการปูนบำเหน็จสินน้ำใจให้แก่พระญางำเมืองด้วยสาวงามเช่นนี้ ถือเป็นการช่วยล้างแค้นศักดิ์ศรีลูกผู้ชายให้แก่พระญาติที่ถูกย่ำยีซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการมีชู้ถึงสองครั้งของนางอั้วเชียงแสน

ไม่ว่าการลอบเป็นชู้กับพระร่วงของนางอั้วเชียงแสนนั้น จักถูกพระญางำเมืองมองว่าเป็นการทรยศของคน "ตบมือข้างเดียวไม่ดัง" หาใช่เกิดจากความวูบไหวน้อยใจต่อการที่พระองค์ไม่ชื่นชมในรสแกงอ่อมไม่

ทว่า การสังเวยชีวิตของนางอั้วเชียงแสนครั้งนี้ ก็คือเครื่องพิสูจน์รักอันยิ่งใหญ่ ให้มหาราชงำเมืองไม่ต้องแบกปมด้อยเรื่องอดีตชู้ของนางอีกต่อไป


ปราชญ์ชาวบ้านเมืองพะเยาขอความเป็นธรรมให้แก่ดวงวิญญาณของนางอั้วเชียงแสน ผู้ไม่มีสิทธิ์ได้อุทธรณ์ ว่าการที่นางยอมเป็นชู้กับพระร่วงนั้นหาใช่เกิดจากกามวิสัยไม่ แต่ทำไปด้วยจิตเสียสละ

เหตุที่พระนางมีเลือดเนื้อเชื้อไขชาวเชียงแสนแต่ต้องมาเป็นสะใภ้พะเยา ช่วงนั้นพะเยากับเชียงแสนกำลังเผชิญหน้าห้ำหั่นยื้อแย่งดินแดนกัน นางจำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาเมืองที่สามมาคานอำนาจ

การสนิทสิเนหากับพระร่วง ย่อมช่วยทำให้พระญามังรายยำเกรงบารมีเลิกรุกคืบรังแกพะเยา และพระร่วงเองก็ไม่กล้ารุกล้ำทั้งพะเยาและเชียงแสน ด้วยเห็นแก่โฉมตรู "นางพญาอั้วเชียงแสน" ผู้ยอมถูกประณามว่าเป็นชู้รักนิรันดร์กาล



+++

เพ็ญ ภัคตะ: หากไม่มีนิติราษฎร์
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39107 . . Sat, 2012-02-04 12:51


หากไม่มีนิติราษฎร์...
ธรรมศาสตร์ฤๅผงาดประกาศแสง
อุดมการณ์ปรีดีเคยสำแดง
คงเหือดแห้งแล้งเผาเจ้าพระยา

หากไม่มีนิติราษฎร์...
จักมีใครใจฉกาจอาจอาสา
ยอมเป็นหนังหน้าไฟสู้กับฟ้า
ปลุกประชาชัดชี้วิถีชน

หากไม่มีนิติราษฎร์...
สังคมคงเขลาขลาดมิเคี่ยวข้น
มนุษย์ทาสรันทดทุกข์ทุรน
ตีค่าตนต้อยต่ำดั่งหญ้าตฤณ

หากไม่มีนิติราษฎร์...
ใครจักคานอำนาจการตัดสิน
ระบบศาลกลบฝังเกินพังภิณฑ์
ประชาชินสิ้นหวังสถาบัน

หากไม่มีนิติราษฎร์...
วันหนึ่งคุณเองอาจมิคาดฝัน
โดนข้อหาหมิ่นอ้างอย่างทันควัน
แค่อ้าปากถูกฟาดฟันบั่นเสรี

หากไม่มีนิติราษฎร์...
สยามราฐอวสานแล้วศักดิ์ศรี
แค่สบตาพม่าลาวแต่ละที
เขาคงชี้หน้าเย้ย...เฮ้ยไดโน!

หากไม่มีนิติราษฎร์...
กฎหมายทาส "หนึ่งหนึ่งสอง" คือช่องโหว่
ประชาธิปไตยไทยย่อมไม่โต
สลัดโซ่ความชัง มอบ...กำลังใจ



.