http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-24

46พันธมิตร! เจอเรียกแจ้งข้อหาเพิ่ม2มี.ค.นี้/ พยานวัดปทุมฯ คนล่าสุด โดย วงค์ ตาวัน

.
บทความคอลัมน์ ในประเทศ - เกมใต้เข็มขัดพ่นพิษ เมื่อ "สายล่อฟ้า" ผ่าลง "ประชาธิปัตย์" กรณี "โฟร์ซีซั่นส์ "

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

46พันธมิตร! เจอเรียกแจ้งข้อหาเพิ่ม2มี.ค.นี้ "กษิต-ศรัณยู-สาวิทย์-การุณ-เทิดภูมิ-พล.ต.อ.ประทิน"ด้วย
ในมติชน ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 14:11:10 น.


พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ ปรึกษา (สบ10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมปิดท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เปิดเผยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ก่อนการประชุมคณะพนักงานสอบสวนเพื่อเตรียมเรียกตัวแกนนำที่ตกเป็นผู้ต้องหามาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมว่าคดีนี้พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนมีความเห็นทางคดีเสนอต่ออัยการไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนได้รับการประสานจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 สั่งการให้สอบสวนเพิ่มเติมโดยแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับผู้ต้องหา 46 คนและให้ส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวภายในวันที่ 10 มีนาคม ซึ่งพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้ง 46 คนให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 มีนาคม นี้ เวลา 09.00 น. ที่กองปราบปราม

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 46 คนนั้นจะถูกแจ้งข้อหาแตกต่างกันตามพฤติการณ์ และมีเพียง 1 คนที่จะถูกแจ้งข้อหาก่อการร้ายเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ ทั้งนี้หากผู้ต้องหามาตามนัดทุกคนก็จะส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมให้อัยการได้ภายในกำหนดแต่หากผู้ต้องหาไม่มาพบพนักงานสอบสวนจะออกหมายเรียกครั้งที่ 2 และหากไม่มาพบอีกก็จะขออนุมัติออกหมายจับจากศาลตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับผู้ต้องหาจำนวน 46 ราย ที่จะถูกเรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1.นายนรัณยู ( ศรัณยู ) วงษ์กระจ่าง 2.นายศิริชัย ไม้งาม 3.นายสาวิทย์ แก้วหวาน 4.นายกษิต ภิรมย์ 5.นายเทิดภูมิ ใจดี 6.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 7.น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ 8.นายพิชิต ไชยมงคล 9.นายบรรจง นะแส 10.นายสมบูรณ์ สุพรรณฝ่าย 11.นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด 12.นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์13.นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ 14.นายสุนันท์ ศรีจันทา 15.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 16.นายปราโมทย์ หอยมุกข์ 17.นายอธิวัฒน์ บุญชาติ 18.นายจำรูญ ณ ระนอง 19.นายเติมศักดิ์ จารุปราณ 20.นายอัมรินทร์ คอมันตร์ 21.นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา 22.พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ 23.นายปราโมทย์ นาครทรรพ 24.นายสุทิน วรรณบวร25.นายสุทธิ อัชฌาศัย 26.นายเทิดศักดิ์ สัจจะรักษ์ 27.นายสุนทร รักษ์รงค์ 28.นายสุรพงษ์ ชัยนาม29.นายสุริยนต์ สุวรรณวงศ์ 30.นายอนันต์ กาญจนสุวรรณ 31.พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ 32.นางกรรณิกา วิชชุลตา 33.พล.ร.ต.มินต์ กลกิจกำจร 34.นายยศ เหล่าอัน 35.นายสมัชชา วิเชียร 36.นายสุพัฒน์ นิลบุตร 37.นายศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง 38.นายระพินทร์ พุฒิชาติ 39.นายสุมิตร นวลมณี 40.นายแสงธรรมดา กิติเสถียรพร 41.นายประทีป ขจัดพล 42.นายพงศธร ผลพยุง43.น.ส.เสน่ห์ หงส์ทอง 44.นายการุณ ใสงาม 45.นายประมวล หะหมาน และ46.นายสมศักดิ์ อิสมันยี

ส่วนนายกษิต นายเทิดภูมิ น.ส.อัญชลี น.ส.สโรชา นายพิชิต และนายบรรจง นั้นคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งอัยการพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับพนักงานสอบสวนแต่ก็ให้เรียกตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาอื่นเพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา คือ มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยเป็นหัวหน้า ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นๆนั้นจะถูกเรียกมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมคนละ 1 ข้อหา โดยแต่ละคนถูกแจ้งข้อหาแตกต่างกัน ไปซึ่งประกอบด้วยข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่ง แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และทำลาย ทำให้เสียหายร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานตาม พ.ร.บ.ความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ



++

พยานวัดปทุมฯ คนล่าสุด
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 98


ระหว่างผู้นำรัฐบาลใช้อำนาจรัฐอย่างแข็งกร้าวจนลงเอยเป็นการประหัตประหารชีวิตประชาชน กับฝ่ายประชาชนที่ชุมนุมประท้วงแล้วมีการใช้วิธีต่อสู้แบบนอกกฎหมาย

ถามว่าใครผิดกว่ากัน

แต่ถ้าเอาเรื่องนี้ไปถาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาจะตอบว่าเสมอๆ กัน หรือฝ่ายประชาชนที่กระทำนอกกฎหมายนั่นแหละผิดกว่า!?

ในกรณีรัฐบาลและ ศอฉ. ที่มีนายอภิสิทธิ์เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุด ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธจริงได้ ด้วยข้ออ้างในคำสั่งตามลายลักษณ์อักษรคือ ป้องกันภัยจากผู้ก่อการร้ายในที่ชุมนุม

จนลงเอยเป็นความตายของผู้คนที่มาชุมนุมประท้วงและเดินผ่านไปดู รวมทั้งทหารส่วนหนึ่ง รวมแล้วถึง 91 ศพ โดยไม่มีใครเป็นผู้ก่อการร้ายเลยแม้แต่รายเดียว

กับสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ โหมโฆษณาคือ พวกม็อบเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง

ถามว่าผู้นำรัฐที่สั่งการจนลงเอยเป็น 91 ศพ กับฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมืองนั้น ใครผิดกว่ากัน!

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ ไม่เพียงนำทั้ง 2 กรณีมาเรียกร้องความรับผิดชอบเสมอๆ กันเท่านั้น

หากแต่ถึงที่สุด นายอภิสิทธิ์ ไม่เคยรับว่า 91 ศพเป็นความผิดของรัฐ กลับเอาแต่ชี้นิ้วโทษฝ่ายม็อบว่าเผาบ้านเผาเมือง ทำให้รัฐจึงจำเป็นต้องปราบปราม

นายอภิสิทธิ์ ไม่เคยบอกว่ารัฐได้กระทำผิดพลาดจนมีคนตายเกลื่อนเมืองเลย

นายอภิสิทธิ์ เอาแต่โทษว่าฝ่ายประชาชนผู้ชุมนุม ใช้ความรุนแรง มีผู้ก่อการร้ายมีชุดดำแฝงอยู่

นายอภิสิทธิ์ พยายามถามคนที่เรียกร้องให้เขารับผิดชอบต่อ 91 ศพว่า ทำไมตอนม็อบประกาศจะเผาบ้านเผาเมืองจึงไม่ห้ามปราม!?!

ในความเป็นจริงแล้วขณะนั้นเสียงห้ามปรามดังระงมไปหมด

คือ ห้ามรัฐบาลใช้มาตรการรุนแรง และขอร้องให้รัฐบาลในฐานะผู้รับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมือง หาทางลงในเหตุการณ์นี้โดยด่วน เพื่อยุติการสูญเสียเลือดเนื้อ

รัฐบาลนั่นแหละมีหน้าที่ต้องยุติปัญหาอย่างสันติวิธี

เขาก็เรียกร้องรัฐบาลกันทั้งสิ้น ห้ามปรามรัฐบาลกันทั้งนั้น

ผู้นำรัฐบาลที่มีจิตใจประชาธิปไตยมีความรักในประชาชน และมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อความสงบของบ้านเมืองพร้อมกับชีวิตเลือดเนื้อประชาชนด้วย

ต้องเลือกหาทางคลี่คลายสถานการณ์โดยไม่ให้เกิดการเผาบ้านเผาเมืองและไม่ต้องมีคนล้มตาย อย่างแน่นอน

แล้วเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมา มีคนตายถึง 91 ศพ

ที่สำคัญเหตุการณ์ที่นายอภิสิทธิ์เรียกว่าเผาบ้านเผาเมืองนั้น เกิดขึ้นหลังจากทหารเข้ายึดพื้นที่จากม็อบหมดแล้ว ผู้นำเสื้อแดงทั้งหมดขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปเข้าคุกหมดแล้ว

การเผาบ้านเผาเมืองที่เกิดขึ้นภายหลัง จะเป็นข้ออ้างเหตุที่สั่งทหารใช้อาวุธจริงได้หรือ



ตราบใดที่ไม่มีความรับผิดชอบจากฝ่ายรัฐต่อเหตุการณ์ในปี 2553 การเรียกร้องทวงถามเรื่องนี้จะไม่มีทางสิ้นสุด กรณี 91 ศพ จะไม่มีวันกลายเป็นเรื่องเก่าจนค่อยๆ เลือนหายไปอย่างแน่นอน

แต่ก็น่ายินดีที่ในวันนี้กระบวนการยุติธรรมกำลังเดินหน้า กำลังจะมีการเปิดศาลไต่สวน 16 ศพแรกจาก 91 ศพ

แค่ 16 ศพแรก ก็มีพยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่า เจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ. เป็นผู้ลั่นกระสุนใส่

มีเหตุการณ์สุดท้ายใน 91 ศพ ที่เกิดอย่างโจ่งแจ้งต่อหน้าสายตาคนนับพัน และในขณะที่สถานการณ์เวลานั้นอยู่ในการควบคุมของ ศอฉ. อย่างเบ็ดเสร็จหมดแล้ว

นั่นคือ การฆ่าประชาชนและอาสาพยาบาลภายในวัดปทุมวนาราม 6 ศพ

เหตุเกิดในค่ำวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ขณะที่ม็อบสลายหมดจบไปแล้ว

ใครจะมาอ้างเรื่องชุดดำไม่ได้อีกแล้ว

สำคัญสุดมีสายตาคนนับพันในวัด มีคลิปที่ถ่ายโดยตำรวจจากอาคารสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นทหารบนรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมฯ ส่องยิงเข้าไปภายในวัด

เป็นพยานหลักฐานข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้ง

ไม่ใช่ความเชื่อ ไม่ใช่กับดักความคิดเลอะเทอะหรอก!

น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา หัวหน้าพยาบาลอาสาในวัดปทุมวนาราม เป็นพยานเอกในเหตุการณ์ที่เข้าพบพนักงานสอบสวนล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากเก็บเนื้อเก็บตัวด้วยความหวาดผวามากว่าปี

พยานเอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่เย็นวันนั้นว่า เริ่มมีปืนยิงเข้าไปในวัด เห็นเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสและพื้นข้างล่างชัดเจน จนกระทั่งคนในวัดถูกยิงตายทีละคน

"มีกระสุนลงมาที่เต๊นท์ยาตลอด คนที่ยิงไม่รู้เลยหรือว่านี่เป็นเต๊นท์ยา ชาวบ้านอยู่ในวัด 4-5 พันคน ทั้งเด็ก ผู้หญิง คนแก่ต้องอยู่อย่างหวาดผวา ผู้ป่วยที่มาหาเรามีทั้งถูกสะเก็ดระเบิด ถูกยิง พยาบาลอาสาแทบไม่มีเวลากินข้าว ทุกคนกลัวเจ้าหน้าที่จะเข้ามายิงเรียงตัว ทุกคนในวัดไม่มีอาวุธ ไม่มีการยิงตอบโต้ ถ้าคนในวัดมีอาวุธจริงๆ เจ้าหน้าที่บนบีทีเอสไม่รอดหรอก อยากถามจริงๆ ว่าพวกคุณมาจากหน่วยไหน ใครสั่งคุณมายิงประชาชน"

น.ส.ณัฏฐธิดา ยังเก็บพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายและกระสุนปืนเอาไว้มากมาย

พร้อมทั้งกล่าวย้ำถึงชุดและสัญลักษณ์ของอาสาพยาบาล

"เราไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย"



ในมติ ครม. รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เห็นชอบให้มีการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกกันว่าเงินเยียวยาศพละ 7.75 ล้าน นั้น

มีเนื้อหาที่บอกไว้ชัดเจนว่า เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการแก้ไขความขัดแย้งให้ลงเอยด้วยสันติวิธี

ถูกต้องที่สุด

เมื่อเกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่จะมานั่งปัดความผิดไปให้ชาวบ้านผู้ประท้วงได้อย่างไร

เปรียบกับเรื่องง่ายๆ มีคนกระทำผิดจี้ตัวประกัน เมื่อตำรวจมาถึงก็ต้องใช้มาตรการเจรจา จะต้องวิงวอนขอร้องกันเป็นวันๆ ก็ต้องทำ

เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป แม้เราจะมองว่าคนที่ใช้อาวุธจี้ตัวประกันนั้นทำผิดก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิ์ไปฆ่าเขา เพราะถ้าฆ่าก็แปลว่าได้ตายกันหมดทั้งผู้ก่อเหตุและตัวประกัน

มีเหมือนกันที่เจ้าหน้าที่กระทำผิดพลาด ใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ผลคือ ตายทั้งผู้ลงมือจี้และตัวประกัน แล้วตำรวจนั้นก็ต้องติดคุกไปตามระเบียบ

ตำรวจนั้นจะมาโทษคนร้ายที่จี้ตัวประกันฝ่ายเดียวได้หรือไม่!!

ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ มีปืนในมือ แต่ต้องทำให้สถานการณ์คลี่คลายอย่างสันติวิธี โดยไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อและตัวประกันต้องปลอดภัย

ความผิดพลาดของรัฐในเหตุการณ์ประชาชนชุมนุมประท้วงเกิดแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งเมื่อมีคนตาย ผู้นำรัฐต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น

รัฐบาล "จอมพล" กับ 14 ตุลาคม 2516 ตายไปราว 60-70 ราย ก็ต้องหนีออกนอกประเทศ โดยยึดทรัพย์สิน

รัฐบาล "พลเอก" กับพฤษภาทมิฬ 2535 ตายไปราว 40-50 ราย ก็ต้องวางมือทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง และถูกย้ายหมดอำนาจไปครึ่งกองทัพ

รัฐบาลพลเรือนกับ พฤษภาคม 2553 ตายไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 91 ศพ

ยังเฉยๆ และโทษแต่พวกเผาบ้านเผาเมือง!



+++

เกมใต้เข็มขัดพ่นพิษ เมื่อ "สายล่อฟ้า" ผ่าลง "ประชาธิปัตย์" กรณี "โฟร์ซีซั่นส์"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 11


ถ้าใครเห็นภาษาท่าทางของ "ชวนนท์ โกมาลย์สุต-เทพไท เสนพงศ์-ศิริโชค โสภา" คนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ในรายการ "สายล่อฟ้า" หลังเกิดเหตุ "โฟร์ซีซั่นส์"

จะเห็นอาการกระหยิ่มยิ้มย่องเหมือนกับได้ "อาหารจานเด็ด" อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะ "ศิริโชค" ที่หยิบเรื่องนี้มา "เม้าธ์" อย่างเมามัน มีการวิเคราะห์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว.5 เดินทางไปโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์

ยิ่งมี "ตัวละคร" ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" ปรากฏตัวขึ้นด้วย นายศิริโชคยิ่งสนุกปากมากเท่านั้น

เหตุผลหนึ่ง เพราะ "เศรษฐา" สนับสนุน "ทักษิณ ชินวัตร"

เหตุผลหนึ่ง เพราะ "ศิริโชค" ได้ข่าว "ก๊อสซิป" จากแวดวงไฮโซมาก่อนหน้านี้แล้ว

เขาจึงจับแพะชนแกะอย่างสนุกสนาน และ "ยักลงต่ำ" ตลอดการสนทนา โดยนายชวนนท์และนายเทพไทคอยเป็นลูกคู่


แม้จะมีการวิเคราะห์ว่าการเดินทางไปพบนักธุรกิจเป็นการส่วนตัวอาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง แต่กลายเป็นประเด็นเล็กๆ ในรายการ

ภาพที่ปรากฏบนจอจึงเป็นภาพของ "สุภาพบุรุษลูกผู้ชาย" 3 คนจับกลุ่ม "เม้าธ์" ผู้หญิงคนหนึ่งอย่างสนุกสนานด้วยภาษาที่ "สมเกียรติ อ่อนวิมล" ใช้คำว่า "หยาบคาย หยาบโลน ไร้สติ สิ้นจริยธรรม"

จากวันแรกที่ "เอกยุทธ อัญชันบุตร" เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา และพรรคประชาธิปัตย์หยิบยกมาเป็นประเด็น

"ประชาธิปัตย์" จะพุ่งเป้าไป 2 ประเด็นหลัก คือ 1.เอาเวลาประชุมสภา ไปพบนักธุรกิจ และ 2.ตั้งประเด็นว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะกรณี "ฟลัดเวย์" หรือพื้นที่รับน้ำ เพราะหากนักธุรกิจรู้ก่อน อาจซื้อที่ดินดักหน้าได้

ก่อนที่จะเปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่อง "ใต้สะดือ" แบบสองแง่สองง่าม

ถึงขั้นพูดเล่นถึงป้ายหน้าห้องนอนในโรงแรมจากเดิมที่มีเพียง "กรุณาทำความสะอาด" หรือกรุณาอย่ารบกวน มาเป็นป้าย "เอาอยู่"

จนกระทั่งภาพรายการ "สายล่อฟ้า" ปรากฏในเว็บไซต์ "มติชนออนไลน์" และมีการส่งต่อไปทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก

พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็น "ฝ่ายรุก" ก็กลายเป็น "ฝ่ายตั้งรับ" เพราะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ "3 เกลอ" และพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง

บูมเมอแรง "จริยธรรม" ที่ขว้างใส่ "ยิ่งลักษณ์" ย้อนกลับมาที่ "ประชาธิปัตย์"


และยิ่งปรากฏภาพห้อง "เอ็กเซ็กคลูซีฟ คลับ" ที่ชั้น 7 ของโรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ ซึ่งเป็นห้องรับประทานอาหารและห้องประชุม แสดงให้เห็นว่า "ชั้น 7" ของโรงแรมไม่ได้มีเพียงห้องพักเพียงอย่างเดียว

ตามมาด้วยการยืนยันจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ว่าวันนั้นมีการสัมมนาที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์ช่วงบ่าย และเขาเป็นประธานเปิดงาน

ที่สำคัญ นายกิตติรัตน์ยืนยันว่าเขาอยู่ในการสนทนาวันนั้นด้วย พร้อมกับนักธุรกิจอีกหลายคน

กระแสสังคมจึงพลิกกลับ

"สมเกียรติ อ่อนวิมล" ที่เคยประกาศเชียร์พรรคประชาธิปัตย์อย่างเปิดเผยมานานยังทนไม่ได้ ออกมาสับ "3 เกลอ" อย่างรุนแรงผ่านทางเฟซบุ๊ก


"ผู้ใหญ่" ในพรรคประชาธิปัตย์จึงเริ่มขยับ ส่งสัญญาณเตือนไปยังเหล่า 3 เกลอ

ส่วนหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่ "3 เกลอ" พูดถึงเรื่องจริยธรรมทางเพศ หรือมีคำว่า "ผิดผัวผิดเมีย" ที่หลุดจากปาก "ศิริโชค"

คนกลุ่มหนึ่งที่สะดุ้งอยู่ในใจก็คือเหล่า "ผู้ใหญ่" ในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหลายคนเคยเจอข้อหานี้มาก่อน

ส่วนหนึ่ง เพราะประเมินแล้วว่าการพุ่งเป้าเล่นเรื่องนี้กับ "ผู้หญิง" โดยปราศจากหลักฐานชัดเจน มีแต่การปะติดปะต่อข่าว หรือวิเคราะห์จากบางประเด็นที่น่าสงสัยโดยเฉพาะเรื่องนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ชัดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรก

ยิ่งเดินหน้าต่อยิ่งทำให้ฐานเสียงกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ

หลังได้รับเสียงเตือน ท่าทีของ "ศิริโชค-ชวนนท์-เทพไท" จึงเริ่มเปลี่ยนไป

เขายังไม่หยุด แต่กลับไปเล่นเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" อีกครั้งหนึ่ง



เมื่อไม่มีประเด็นเรื่อง "ชู้สาว" การตั้งสมมุติฐานเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" จากประเด็น "นายกรัฐมนตรี" พบปะกับ "นักธุรกิจ" นอกสถานที่ราชการ

ดูเหมือนว่า "น้ำหนัก" ของข้อกล่าวหาจะเบาบางเกินไป

เพราะคนอย่าง "กรณ์ จาติกวณิช" หรือ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ตอนเป็น "รัฐมนตรี" เองก็พบปะกับนักธุรกิจนอกสถานที่บนโต๊ะอาหารเป็นประจำ

แม้แต่ "อภิสิทธิ์" ก็เคย

นอกจากนั้น ระบบการสื่อสารที่ทันสมัย หากเพียงแค่ต้องการบอกข้อมูลเพื่อให้เพื่อนนักธุรกิจหาผลประโยชน์

ไม่จำเป็นต้องเจอหน้าก็บอกได้

หรือหากจะเจอกันเรื่องผลประโยชน์ แต่ต้องการปิดลับ ก็สามารถนัดพบในสำนักงานของแต่ละฝ่าย ซึ่งล้วนแต่เป็น "มหาเศรษฐี" ได้

นี่คือ ตรรกะพื้นฐานที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าพลาด


ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตั้งประเด็นเรื่อง "ใต้สะดือ" ก่อน เมื่อต้องหยุดเรื่องนี้ความพยายามผูกโยงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจึงต้องปะผุไปเรื่อยๆ

เช่น ความพยายามจุดประเด็นเรื่องนายเศรษฐาเป็นกลุ่มผลประโยชน์เดียวกันกับตระกูลชินวัตร

ด้วยการยกเรื่องการประมูลที่ดินรัชดาฯ ว่ากลุ่มแสนสิริ ของนายเศรษฐา ร่วมประมูลช่วยสร้างภาพให้ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร

ทั้งที่ข้อเท็จจริง คือ กลุ่มที่ร่วมประมูลคือกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และกลุ่มโนเบิลฯ

ไม่ใช่ "แสนสิริ"


หรือเรื่องโครงการของแสนสิริที่เจอน้ำท่วมน้อยมาก

เกมนี้หากไม่ใช่ต้องการสร้างภาพเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" กลุ่ม 3 เกลอ อาจกำลังเล่นเกมกดดันให้นายเศรษฐาออกมาฟ้องหมิ่นประมาท เพื่อหวังใช้อำนาจศาลขอภาพโทรทัศน์วงจรปิดชั้น 7

ด้วยความเชื่อมั่นลึกๆ ว่าภาพที่ปรากฏจะเป็นประโยชน์ในทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเกมนี้ยิ่งนานวันพรรคประชาธิปัตย์ยิ่งเป็นรอง

และทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ลดต่ำลง

ต่ำลงระดับ "ใต้เข็มขัด"



.