.
ม.112กับเกมแห่งอำนาจ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
สิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ให้แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ก็คือปฏิกิริยาต่อข้อเสนอนั้น แต่น่าเสียดายที่เราไม่อาจหยั่งรู้ความเห็นของเสียงเงียบ ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนได้ แม้แต่ในหมู่ผู้สนับสนุนอีกไม่น้อยก็คงเลือกจะอยู่กับเสียงเงียบ ดังนั้น เราจึงได้ยินแต่เสียงของฝ่ายต่อต้านระงมไปหมด จนกระทั่งมีการตีความไปเลยว่านั่นคือเสียงส่วนใหญ่ของพลเมืองไทย
แต่เสียงของฝ่ายต่อต้านคัดค้านนั้นเอง ก็น่าสนใจมาก เพราะมันบอกอะไรบางอย่างให้เรารู้เกี่ยวกับอำนาจในสังคมไทย
คนที่คัดค้านต่อต้านอย่างเป็นส่วนตัว เช่นคุยกับเมียหรือเพื่อน จะมีความเห็นอย่างไรนั้น ผมขอไม่กล่าวถึง อย่างน้อยก็เพราะผมไม่รู้ว่าเขาพูดว่าอะไร แต่คนที่คัดค้านต่อต้าน "เป็นสาธารณะ" เช่นลงข้อความในเครือข่ายออนไลน์, นัดหมายให้มาชุมนุม, ออกแถลงการณ์, เขียนบทความลงสื่อ ฯลฯ นี่ต่างหากล่ะครับที่น่าสนใจมากกว่า
เพราะการที่เขาทำ "เป็นสาธารณะ" ก็ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า เขาอยากให้ความเห็นของเขานั้น เป็นที่ยอมรับในวงกว้างกว่าลูกเมียของเขา
ตามปกติ ในสถานการณ์ที่เรากำลังหาพวกในหมู่คนกว้างขวาง ซึ่งเราไม่ได้รู้จักมักจี่เป็นส่วนตัวนั้น เราก็น่าจะเสนอความเห็น, ท่าที, และวิธีการ ที่เก็งว่าจะได้รับการฟังจากสาธารณชน จนถึงได้รับการสนับสนุนเพราะสาธารณชนเห็นด้วย เช่นชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของข้อเสนอนิติราษฎร์ (จะเป็นข้อบกพร่องในเชิงกฎหมาย, ในเชิงวัฒนธรรม, ในเชิงการเมือง หรืออื่นใดก็ตามที) ด้วยท่าทีซึ่งปราศจากความรุนแรง เพราะสาธารณชนในสังคมใดๆ ก็ตามย่อมประหวั่นท่าทีซึ่งใช้ความรุนแรงเป็นธรรมดา
แต่น่าประหลาดนะครับ ส่วนใหญ่ของการต่อต้านคัดค้านซึ่งกระทำ "เป็นสาธารณะ" กลับทำตรงกันข้าม ประหนึ่งว่าไม่สนใจว่าสาธารณชนไทย จะเห็นด้วยกับตนหรือไม่ก็ช่าง จำนวนมากใช้โทสวาท (hate speech) จนถึงข่มขู่คุกคามความปลอดภัยของคณะนิติราษฎร์ โดยเปิดเผยหรือโดยนัยยะ บ้างก็นัดชุมนุมหน้าธรรมศาสตร์ กล่าวหาว่า คณะนิติราษฎร์ปราศจากความจงรักภักดีต่อสถาบัน แล้วใช้ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ คือ "เผาหุ่น" ซึ่งดูน่ากลัวแก่สาธารณชน อีกจำนวนไม่น้อยใช้วิธีกล่าวหา แทนการตอบโต้ด้วยเหตุผลและข้อมูล เช่นกล่าวหาว่าคณะนิติราษฎร์ต้องมีเจตนาแอบแฝงอื่นๆ, กล่าวหาว่ารับเงินทักษิณ (คือเคลื่อนไหวด้วยเจตนาแอบแฝงนั่นเอง), กล่าวหาว่ามุ่งจะทำลายล้างสถาบัน, กล่าวหาว่าเนรคุณ, กล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกมการเมืองของพรรคเพื่อไทยหรือคนเสื้อแดง ฯลฯ
โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานหรือเหตุผลในการกล่าวหาเลย ในการต่อสู้กันทางความคิด กลุ่มผู้คัดค้านต่อต้านต้องการแสดงตัว หรือต้องการหาพวกกันแน่ ถ้าต้องการหาพวก เหตุใดจึงคิดว่าความเห็น, ท่าที และวิธีการเช่นนี้จะได้รับความสนับสนุนจากสาธารณชนไทย
ผมจึงออกจะสงสัยว่า สิ่งที่ปรากฏให้เราเห็นในกรณีข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ของคณะนิติราษฎร์ครั้งนี้ ไม่ใช่การปะทะกันทางความคิด แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้กันเชิง "อำนาจ" ของคนหลากหลายกลุ่มในเมืองไทย
ความสงสัยของผมได้รับการยืนยัน เมื่อผู้บริหารธรรมศาสตร์มีมติเอกฉันท์ห้ามมิให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการเคลื่อนไหวกรณี ม.112 (รวมฝ่ายคัดค้านต่อต้านนิติราษฎร์ด้วยหรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ) มตินี้ตั้งอยู่บนฐานของอำนาจโดยแท้ เพราะในฐานะผู้บริหาร ย่อมมีอำนาจในการจัดการกับพื้นที่ของมหาวิทยาลัยแน่ (แต่จะใช้อำนาจไปในทางที่ผิดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) ไม่กี่วันต่อมา คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็สั่งห้ามไม่ให้นักศึกษาใช้สถานที่เพื่อจัดเวทีเสวนาเรื่อง "สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบัน" ก็เป็นเรื่องของอำนาจอย่างเดียวกับผู้บริหารธรรมศาสตร์
พอมองออกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การต่อสู้กันบนเวทีแสดงความคิดเห็น เพื่อระดมผู้สนับสนุน แต่เป็นการต่อสู้กันบนเวทีของอำนาจ ผมก็ชักจะ "ตาสว่าง" ขึ้นมากับเขาบ้าง และออกจะสงสารคณะนิติราษฎร์ เพราะที่จริงแล้ว ไม่มีใครสนใจพวกคุณหรือข้อเสนอของพวกคุณจริงๆ หรอก เขาใช้พวกคุณเป็นเหยื่อในเกมแห่งอำนาจเท่านั้น
มองจากเกมแห่งอำนาจ ดูเหมือนปฏิกิริยาของผู้คนต่างๆ ที่ต่อต้านคัดค้านข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็ออกจะปรุโปร่งขึ้นมาทันที
เอาที่เห็นได้ชัดๆ ก่อน
คุณทักษิณ ชินวัตร บอกผ่านบริวารที่ไปคารวะว่า สิ่งที่ต้องเร่งทำคือแก้รัฐธรรมนูญ ส่วน ม.112 นั้น ควรปล่อยทิ้งไว้ตามเดิม นับตั้งแต่ พ.ศ.2519 ซึ่งมีการแก้ไขมาตรานี้ครั้งสุดท้าย จนถึงบัดนี้ คนไทยก็อยู่ร่วมกันมาได้ จึงไม่เห็นเหตุที่จะไปแก้ไขแต่อย่างใด
แน่นอนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเปิดโอกาสให้คุณทักษิณได้รับนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ หรืออย่างน้อยก็วางเงื่อนไขที่คุณทักษิณไม่เสียเปรียบทางการเมืองดังที่เป็นอยู่ แต่คุณทักษิณไม่ได้อะไรจากการแก้ไข ม.112 ยิ่งกล่าวว่า ม.112 ก็อยู่กับคนไทยมาอย่างเรียบร้อยดีตั้งแต่ 2519 ก็ยิ่งแสดงว่า คุณทักษิณลืมคนเล็กคนน้อยที่ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้ปีละนับเป็นร้อยคน
ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า การใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น ไม่ได้กระทบต่อนักการเมืองด้วยกัน แต่กระทบต่อคนเล็กคนน้อย ที่ถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยไม่มีฝ่ายใดในกระบวนการยุติธรรมใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบว่า จะดำเนินคดีหรือไม่อย่างไร คนระดับรัฐมนตรีที่จะตกเป็นเหยื่ออย่างคุณจักรภพ เพ็ญแข นั้นมีน้อย แต่เหยื่อส่วนใหญ่คือคนไร้ตัวตนที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก คนเหล่านี้ย่อมไร้ความสำคัญในเกมแห่งอำนาจเป็นธรรมดา จึงไม่แปลกที่คุณทักษิณจะมองข้าม
ท่าทีของคุณทักษิณไม่ต่างจากคุณจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งเรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ทบทวนข้อเสนอให้แก้ไข ม.112 อีกสักครั้ง คุณจตุพรกล่าวว่า การเคลื่อนไหวในทางนี้อาจส่งผลสะท้อนกลับ เพราะพวกที่มีประโยชน์ปลูกฝังซึ่งแพ้เลือกตั้งไปเมื่อปีที่แล้วนี้ จะอ้างการรณรงค์นี้เพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตยลงอีกครั้งหนึ่ง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราควรเป็นประชาธิปไตยแบบจำกัดสิทธิเสรีภาพของตนเอง มิฉะนั้น แล้วก็จะถูกผู้มีอำนาจล้มกระดานอีก แต่ประชาธิปไตยแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลที่ตั้งมาจากค่ายทหาร นอกจากว่าแกนนำกลุ่มเสื้อแดงอีกหลายคนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีหรือ ส.ส.เท่านั้น
เราอาจเข้าใจจุดยืนของคุณทักษิณ, คุณจตุพร, พรรคเพื่อไทย และผู้บริหารพรรคอีกหลายคน รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านได้ ไม่ใช่จากเหตุผลหรือข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพวกเขาไม่เคยโต้กับข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ด้วยเหตุผลหรือข้อมูล แต่จะเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก หากมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเกมแห่งอำนาจ
นอกจากนักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านแล้ว นักวิชาการ, ผู้บริหารมหาวิทยาลัย, กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ, ผู้นำม็อบ ฯลฯ ที่พากันแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ "เป็นสาธารณะ" ก็ไม่ต่างอะไรจากนักการเมือง เพราะการไม่อธิบายโต้ตอบด้วยเหตุผลและข้อมูล จึงชี้ว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการแรงสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง เพียงแต่ต้องการแสดงตัวเท่านั้น ดังนั้น จึงอาจเข้าใจความต้องการแสดงตัวของพวกเขาจากเกมแห่งอำนาจได้ดุจเดียวกัน
อำนาจที่ผมหมายในเกมแห่งอำนาจนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะอำนาจที่มีกฎหมายรองรับ เช่นได้เป็นรัฐบาลต่อไปนานๆ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง เช่น การยอมรับของกลุ่มอำนาจ (ที่มีผลประโยชน์ปลูกฝัง - ตามสำนวนของคุณจตุพร) เช่น กองทัพ, ธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่อยากเห็นเรือเอียงไปมา, กลุ่มชนชั้นนำที่ผูกสิทธิธรรม (legitimacy) ไว้กับสถาบันพระมหากษัตริย์แทนกฎหมาย (คุณกนก รัตน์วงศ์สกุลกล่าวว่า "... คนที่จบออกมาด้วยการรับพระราชทานปริญญาจากพระหัตถ์ในหลวง..."), คนชั้นกลางระดับบนที่กำลังไต่เต้า, ฯลฯ อำนาจยังหมายถึงการแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองซึ่งเป็นที่น่าไว้วางใจแก่กลุ่มอำนาจ, แม้แต่การบรรลุอำนาจเชิงอุดมการณ์ก็ถือเป็นอำนาจอย่างหนึ่ง และแน่นอนว่าการบรรลุถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ถือเป็นอำนาจอย่างแน่นอน
ข้อที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ ในสังคมที่ข้อเสนอใดๆ ก็กลายเป็นเกมแห่งอำนาจ ซึ่งเรียกร้องการแสดงตัว มากกว่าการใช้วิจารณญาณไตร่ตรองกันอย่างจริงจัง สังคมนั้นจะมีพลังอะไรในการปรับแก้ตนเองได้โดยสงบ
++
พี่นี้มีแต่ให้
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 30
ผมไม่ทราบว่าหนังสือแปลชื่อ ประวัติศาสตร์กินได้ หมดไปจากท้องตลาดหรือยัง แม้เพิ่งพิมพ์เมื่อกันยายนปีที่แล้วนี้ แต่เป็นหนังสือที่น่าตื่นตะลึงสำหรับผมอย่างมาก โชคดีที่ไปพบและซื้อมาอ่านได้โดยบังเอิญ ได้ทั้งความคิดความรู้หลายอย่างที่ไม่เคยคิดเคยรู้มาก่อน
และหนึ่งในความคิดความรู้ที่ผมขอนำมาคุยในครั้งนี้คือ เรื่องของการใหักับอำนาจทางการเมือง
เมื่อตอนที่มนุษย์เรายังล่าสัตว์และเก็บของป่ากินนั้น ความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายที่อยู่เป็นประจำ ทำให้ไม่มีใครสั่งสมสมบัติได้มากไปกว่ากำลังในการแบกขน ซ้ำสมบัติที่แบกขนไปนั้นก็ไม่เชิงจะเป็นสมบัติส่วนตัวเสียทีเดียว เช่น เครื่องมือล่าสัตว์จับปลาหรือเก็บเกี่ยวพืชป่า ก็มักจะยืมใช้กันจนมั่วไปหมด ซึ่งที่จริงก็คือสมบัติส่วนกลางที่แบ่งให้แต่ละคนครอบครองกันคนละหน่อย เพื่อสะดวกในการขนย้าย
ไม่มีสมบัติเอกชน ก็เป็นสังคมเสมอภาคอย่างแท้จริง และทุกคนได้กินอิ่มหรือไม่อิ่มเท่าๆ กัน เป็นหลักประกันความอยู่รอดของเผ่า เพราะไม่มีใครอิ่มเกินคนอื่น และไม่มีใครอดตาย
ตรงกับคัมภีร์อัคคัญสูตรของพุทธศาสนา ตอนที่แต่ละครอบครัวไปเก็บข้าวป่ามากิน สังคมก็อยู่สงบ ไม่มีขโมยขโจร แต่คนขี้เกียจบางคนเห็นว่า ไหนๆ ก็ต้องออกไปเก็บข้าวป่าทุกวันอยู่แล้ว อย่ากระนั้นเลย ลงแรงเก็บมาสะสมไว้ที่เรือนตัวเองให้พอกินไปหลายๆ วันดีกว่า เท่านั้นแหละ สมบัติส่วนตัวก็เกิดขึ้น ข้าวป่าก็หมดไป เพราะต่างอยากสะสมไว้ให้มาก และการรบราฆ่าฟันกันหรือลักขโมยกันก็ตามมา จำเป็นต้องมีผู้ปกครองหรืออำนาจทางการเมืองขึ้นมาทันที
แต่การทำเกษตรกรรมบังคับให้ต้องมีสมบัติเอกชน อย่างน้อยในแปลงที่กูเพาะปลูกดูแลจนเก็บเกี่ยวได้ ก็ควรเป็นของกู แม้กระนั้นคนก็ไม่ผลิตเกินความจำเป็นของท้อง เพราะถึงอย่างไรเกษตรกรรมก็เป็นงานหนักมาก เมื่อเทียบกับการล่าสัตว์หาของป่า สังคมที่ยอมรับสมบัติเอกชนจึงยังมีความเสมอภาคได้สืบมาในระยะหนึ่ง
ปัญหาก็คือ แล้วจะเกิดหัวหน้า เกิดกษัตริย์หรือผู้ปกครองได้อย่างไร
กลับไปดูคัมภีร์อัคคัญสูตรใหม่ ท่านให้เหตุผลว่าต้องมีคนดีที่คอยใหับริการด้านระงับข้อพิพาทและประกันสิทธิเหนือสมบัติส่วนตัวนั่นแหละครับ จึงต้องยกอำนาจให้แก่ใครบางคนไปทำหน้าที่นั้น เรียกว่าราชาซึ่งท่านแปลว่าผู้นำความยินดีมาให้แก่ฝูงชน
สมมติยอมรับทฤษฎีกำเนิดอำนาจการเมืองของคัมภีร์อัคคัญสูตร ก็ยังมีปัญหาตามมาอีกว่า แล้วทำไมหมอนี่จึงได้รับความวางใจจากเกษตรกรอื่นให้เป็นราชาเล่า?
อัคคัญสูตรหลีกเลี่ยงที่จะตอบปัญหานี้โดยการบอกว่าราชาคนนั้นที่จริงแล้วก็คือพระโพธิสัตว์-ธรรมราชานั่นเอง ก็แล้วไป สาธุ
แต่หนังสือที่สร้างความประทับใจเล่มนี้บอกว่า ที่เข้าใจกันว่าคนซึ่งจะตั้งตัวเป็นหัวหน้าย่อมมีกำปั้นอันใหญ่ โดยรวบรวมสมัครพรรคพวกมาช่วยกันใช้กำลังบังคับคนอื่นให้ยอมรับตน (ภาษาไทยเรียกว่าบารมี) นั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ไม่เชิงจะเป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว
ตรงกันข้ามกับอำนาจดิบ หมอที่จะตั้งตัวเป็นใหญ่ได้นั้น กลับใช้วิธี "ให้" ครับ
แต่เขาก็ต้องทำงานหนักในการผลิตอาหารเท่ากับคนอื่น เขาจะเอาอะไรไปให้ได้?
มีสองวิธีครับ
วิธีแรกคือทำงานหนักกว่าคนอื่น เพื่อผลิตอาหารให้มากกว่าคนอื่น แล้วก็แบ่งปันส่วนเกินนี้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น นำไปให้เฉยๆ ตลอดจนจัดเลี้ยงใหญ่ แล้วเชิญผู้คนมาร่วมกินอาหาร
การเลี้ยงเป็นการ "ให้" ที่ทรงพลังมากมาแต่โบราณ เพราะการเลี้ยงให้อำนาจแก่ผู้จัดเลี้ยงหลายอย่าง รับเชิญใคร ก็แปลว่าเราต้องยอมรับเพื่อนของเขา ในขณะที่ีเพื่อนของเขาก็ต้องยอมรับเราเพราะนึกว่าเราเป็นเพื่อนเจ้าภาพเช่นกัน ในขณะเดียวกัน เจ้าภาพก็ยังตั้งกติกาบางอย่างให้แขกต้องยอมรับอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว (เช่น มารยาทบนโต๊ะอาหารของวัฒนธรรมหนึ่งๆ เช่น ฝรั่งเชิญไปกินเลี้ยง แล้วเราจะไปนั่งยองๆ บนเก้าอี้ได้อย่างไร)
เพราะหัวหน้าและคนอยากเป็นหัวหน้าต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น แทนที่เขาจะเป็นคนร่างใหญ่ ใจเหี้ยมหาญ หลักฐานโบราณคดีกลับชี้ไปทางตรงกันข้าม
กล่าวคือโครงกระดูกของเขาชี้ว่าเขาตายเร็วกว่าคนทั่วไป ตัวเล็ก (อาจเพราะกินน้อยเพื่อมีอาหารเหลือไว้ "ให้" ได้มาก) และบางทีก็มีร่องรอยว่าอมโรคด้วย
วิธีที่สองคือมีเมียหลายคน เมียคือบริวารฝูงแรกสุดที่จะช่วยลงแรงในการผลิต ฉะนั้น จึงทำให้ครอบครัวของคนที่ทะเยอทะยานอยากเป็นใหญ่เป็นโตสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าคนอื่่น การมีเมียมากจึงเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจและเกียรติยศของหัวหน้าหรือกษัตริย์สืบต่อมาอีกนาน แม้ว่าความหมายอาจเคลื่อนออกไปจากอำนาจในการผลิตอาหาร ไปสู่การผลิตอย่างอื่น เช่น ผลิตพละกำลังทางเพศซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอานุภาพในหลายวัฒนธรรม, ผลิตเครือข่ายของกลุุ่มญาติได้กว้างกว่าคนอื่น ผลิตการยอมรับทางสังคม ฯลฯ
การ "ให้" จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสั่งสมอำนาจ ซึ่งสามารถขยายให้ใหญ่โตซับซ้อนมากขึ้นได้ในเวลาต่อมา เพราะการ "ให้" ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันว่าต้องชดใช้ พูดเป็นภาษาไทยว่าเป็น "หนี้บุญคุณ" และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่เรียกหัวหน้าว่าผู้ยังความยินดีแก่ฝูงชน หรือราชา ก็พี่มีแต่ให้นี่ครับ
จากการยอมรับของสังคมในฐานะผู้ให้ ก็เริ่มมีสมัครพรรคพวกและบริวาร พอมีกำลังผู้คนแล้ว แทนที่จะให้อาหาร ก็อาจขยับไปสู่การให้อะไรที่เป็นนามธรรมขึ้นเรื่อยๆ และเรียกเก็บส่วนแบ่งอาหารจากคนอื่น หรือที่เรียกในปัจจุบันว่าภาษี ยิ่งเก็บอาหารจากคนอื่นได้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีสมัครพรรคพวกมากขึ้น และสั่งสม "บารมี" ในทางอื่นๆ สลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่คนอื่นจะ "ให้" แข่งได้ เพราะหัวหน้าย่อมสามารถ "ให้" อะไรที่คนอื่น "ให้" ไม่ได้อีกหลายอย่าง
แม้จะมี "บารมี" เพิ่มพูนขึ้นอย่างไร การ "ให้" ก็ยังเป็นพื้นฐานของ "บารมี" อยู่นั่นเอง อย่าเข้าใจผิดว่าคนยอมเสียภาษีเพราะกำปั้นเพียงอย่างเดียว ไม่มีอำนาจดิบอะไรในโลกนี้ที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน จู่ๆ จะให้คนทำงานหนักมากขึ้นเพื่อจรรโลงสองมาตรฐานที่ตัวเสียเปรียบตลอดไปได้อย่างไร ก็ต้องทำให้การ "ให้" และ "หนี้บุญคุณ" กลายเป็นวงจรต่างตอบแทนซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
ทุกคนเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ หัวหน้า "ให้" แก่บริวารของตน บริวารรับจากหัวหน้าแล้วก็ "ให้" แก่สมุนของตน สมุน "ให้" ต่อจนถึงประชาชนผู้ "ให้" ภาษีแก่หัวหน้า หัวหน้าก็นำภาษีนี้ไป "ให้" แก่เทพหรือผีใหญ่ที่คุ้มครองชุมชน ผีใหญ่ก็ "ให้" ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาแก่ประชาชน
วงจรของการ "ให้" (หรือจะเรียกว่าการ "เสีย" ก็ได้ เพราะเป็นเรื่องเดียวกัน) จึงเป็นระเบียบของสังคม ซึ่งหากไม่มีระเบียบนี้ สังคมก็อยู่ไม่ได้ คนส่วนใหญ่ร่วมกันจรรโลงวงจรนี้ไว้ โดยไม่ได้คิดว่าแล้วใครได้เปรียบเสียเปรียบ
อย่างไรก็ตาม อำนาจมาจากการ "ให้" ลงข้างล่าง แต่การ "ให้" ขึ้นไปข้างบนถูกมองว่าคือการชดใช้ "หนี้บุญคุณ" เช่น การเสียภาษีหรือการถูกเกณฑ์แรงงานคือการชดใช้ "หนี้บุญคุณ" แก่เจ้านาย แม้แต่เมื่อจักรพรรดิจีนสังเวยบูชาสวรรค์ ก็ไม่ใช่การ "ให้" แก่สวรรค์ หากเป็นส่วนหนึ่งของการชดใช้ "หนี้บุญคุณ" แก่สวรรค์
การแบ่งการ "ให้" ออกเป็นสองทาง -- "ให้" กับชดใช้ "หนี้บุญคุณ" นี่แหละครับ คือรากฐานของสังคมโบราณทั้งหลาย ซึ่งผมขอเรียกว่าสังคมศักดินา
ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า วงจรของการรวบรวมทรัพยากรและกระจายทรัพยากรกลับ (ซึ่งภาษาวิชาการฝรั่งเรียกว่า accumulation & redistribution) เป็นวงจรที่ขาดไม่ได้ในทุกสังคมรวมทั้งในสังคมประชาธิปไตยของปัจจุบัน แต่สังคมประชาธิปไตยไม่ได้มองกระบวนการนี้ว่าเป็นการ "ให้" และ "หนี้บุญคุณ" แต่มองว่าเป็นการซื้อและการขาย
สังคมศักดินาจะมองการกระจายทรัพยากรว่าเป็นการ "ให้", การพระราชทาน, ของขวัญปีใหม่จากนายกรัฐมนตรี, ประชาสงเคราะห์, ฯลฯ เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า การ "ให้" คือที่มาแห่งอำนาจทางการเมือง ซึ่งสร้างและทำให้คนยอมรับความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมได้อย่างน่าชื่นตาบาน
ผมไม่ได้หมายความว่า การมองเป็นการซื้อขายจะดีกว่าการให้และหนี้บุญคุณไปทุกเรื่องนะครับ ต่างก็มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งคู่
แต่การมองว่าเป็นการซื้อขายทำให้เกิดการระวังตัว ตรวจสอบสินค้าว่าได้คุณภาพตามต้องการหรือไม่ เบี้ยวเราหรือไม่ และรู้แน่ชัดว่าเพื่อจะได้สิ่งนี้ จะต้องเสียอะไรเพื่อแลกมา จึงใช้วิจารณญาณของตนเองได้เต็มที่ว่า จะแลกดีหรือไม่
คราวนี้ เพื่อจะเปรียบให้เห็นว่า ในสังคมที่ยังหาอาหารด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ อันเป็นสังคมที่ความเสมอภาคเป็นเงื่อนไขสำคัญของความอยู่รอด เขาได้ตั้งใจทำลายการ "ให้" ออกไปจากกระบวนการกระจายทรัพยากรอย่างไร
ประวัติศาสตร์กินได้ เล่าถึงงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาที่เข้าไปฝังตัวศึกษากลุ่มคนที่ยังหาเลี้ยงชีพด้วยการหาของป่าล่าสัตว์ เขาพบว่าสังคมประเภทนี้ จะพยายามทำลายความหมายของการให้ในกระบวนการกระจายทรัพยากรอย่างเต็มที่ เช่นในเผ่าหนึ่งของพวกบุชแมนในแอฟริกา เป็นธรรมเนียมว่าใครล่าสัตว์มาได้ ก็ต้องป่าวประกาศให้คนอื่นมาแบ่งปันเนื้อสัตว์นั้นไปบริโภค ถือเหมือนมารยาทว่า ผู้ที่มารับเนื้อสัตว์ต้องกล่าวตำหนิติเตียนผู้ล่ามาได้ หรือของขวัญที่ีมอบให้ เช่น แหมให้ผมเดินมาเกือบตาย เพื่อจะมาเอาแค่กระดูกกับหนังเท่านี้เองหรือ, เนื้ออะไรของคุณถึงได้เหนียวเสียจนกลืนไม่ลงอย่างนี้, คุณไปลากกวางที่นอนตายอยู่ในป่ามางั้นหรือ ฯลฯ ครับไม่มีบุญคุณอะไรติดพันกันเลย กะอีแค่มาแบ่งขยะไปช่วยกินเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังเป็นธรรมเนียมด้วยว่า ใครที่ล่าสัตว์ใหญ่มาได้แล้ว มักจะไม่ออกไปล่าสัตว์อีกสักสองสัปดาห์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เป็นวีรบุรุษบ้าง ไม่มีใครเป็นพระเอก ไม่ว่าจะเป็นพรานมือฉมังอย่างไร ก็เป็นได้แค่ตัวประกอบ
ไม่มีการ "ให้" ในสังคมอย่างนี้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่มีใครเป็น "หนี้บุญคุณ" ใครด้วย เมื่อไม่มีการ "ให้" ไม่มี "หนี้บุญคุณ" ก็ไม่มีใครสามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองขึ้นเหนือคนอื่นได้ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่มีสองมาตรฐาน ไม่มีอำมาตย์และไม่มีไพร่ สืบมาได้เป็นหลายพันปี
ผมไม่ได้เจตนาที่จะทำให้กตัญญุตาภาพและเนรคุณกลายเป็นเรื่องเดียวกันหรอกครับ แต่ความเข้าใจถึงวงจรการให้ในการสถาปนาอำนาจทางการเมือง ทำให้เราต้องคิดอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้น ถึงสายสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของการให้และการรับ มือที่หยิบยื่นลงมา อาจไม่ใช่มือที่ให้ ในขณะที่มือซึ่งดูเหมืิอนแบเพื่อขอรับตลอดเวลานั้นต่างหาก ที่เป็นผู้ให้แท้จริง พันธกิจของเราพึงมีต่อมือไหนกันแน่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย