http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-08

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตอบ ชำนาญ จันทร์เรือง../ ชำนาญ: ความผิดพลาดของนิติราษฎร์

.

พวงทอง ภวัครพันธุ์ ตอบ ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์”
ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39156 . . Wed, 2012-02-08 14:31

หมายเหตุชื่อบทความเดิม : ตอบ อ.ชำนาญ จันทร์เรือง กรณีบทความ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์” -พวงทอง ภวัครพันธุ์ ครก.112 ( ภาพจากแฟ้มภาพ 15 ม.ค.55 )


ดิฉันขออธิบายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองเกี่ยวข้องด้วยโดยตรงก่อน คือการขอชื่อ 118 คนแรก (ไม่ใช่ 112 คน) อ.ชำนาญ บอกว่า “ผู้ที่ร่วมลงชื่อในตอนแรกหลายคนออกมาปฏิเสธว่าเห็นด้วยแต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเซ็นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายพร้อมกับหลักฐาน เป็นต้น...กอปรกับในการติดต่อขอรายชื่อนั้นยังมีความไม่ชัดเจน เพราะโดยปกติในกระบวนการขอรายชื่อเพื่อเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างหรือเพื่อออกแถลงการณ์นั้นจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอารายชื่อไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากเอาไปทำแถลงการณ์ก็ต้องมีการเวียนเนื้อหาให้ดูก่อน หากจะให้ดีก็ต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขก่อนเผยแพร่ด้วยก็จะยิ่งสมบูรณ์”

ดิฉันขอชี้แจงว่า จดหมายที่ส่งถึงผู้ร่วมลงชื่อทุกคนได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ครก. 112 จะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไข ม.112 ของคณะนิติราษฎร์เข้าสู่การพิจารณาของสภา และได้ขอให้ผู้รวมลงนามกรุณาส่งสำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน และกรอกแบบ ขก.1 ไปยังที่อยู่ที่เราระบุไว้ค่ะ

สำหรับแผ่นพับที่เราทำแจกในวันเปิดตัว ครก.112 และมีรายชื่อ 118 คนต่อท้าย เป็นข้อความเดียวกับจดหมายที่ได้เวียนให้ทุกคนได้อ่าน พร้อมๆ ไปกับการขอให้ลงชื่อเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระที่สำคัญใดๆ ดิฉันยืนยันว่าทุกท่านได้เห็นข้อความที่เรานำมาทำแผ่นพับค่ะ

ข้อนี้ อ.เกษียร คงจะช่วยยืนยันได้ หาก อ.ชำนาญ ต้องการหลักฐาน ดิฉันยินดี forward mail ไปให้ดูค่ะ หรือจะถามอาจารย์แถวเชียงใหม่ให้หลากหลายขึ้นก็ได้ค่ะ


กรณีของ อ.เสกสรรค์นั้น คนที่ออกมาประณาม ไม่ใช่คนใน ครก.112 สำหรับดิฉันเอง เห็นว่าการที่ อ.เสกสรรค์กล่าวว่า “เนื่องจากถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ” ก็เป็นการพูดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งบางคนให้ความสำคัญกับประโยคดังกล่าวมาก จนมองข้ามประโยคที่ อ.เสกสรรค์ ต่อท้ายว่า “และผมเองก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของการปฏิรูปกฎหมาย มีเนื้อหากลางๆ ออกไปในแนวมนุษยธรรม และที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” สำหรับคนทำงาน ดิฉันให้ความสำคัญกับประโยคหลังมากกว่าประโยคแรกค่ะ เพราะดิฉันเชื่อว่า ไม่ว่า อ.เสกสรรค์จะเคารพผู้ใหญ่ที่ไปขอสักเท่าไร แต่ถ้าอาจารย์ไม่เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอของนิติราษฎร์เลย อาจารย์ก็คงไม่ร่วมลงชื่อด้วยแน่ ประการสำคัญ อ.เสกสรรค์ไม่ได้ประกาศถอนตัวอย่างที่สื่อบางฉบับเอาไปบิดเบือน

ดิฉันมองว่าคนที่มาร่วมลงชื่อต่างก็มีเงื่อนไขสำหรับการตัดสินใจที่แตกต่างกัน บางคนอาจมีเรื่องให้ต้องคิดต้องกังวลมากกว่าอีกหลายๆ คน แต่เมื่อเขามาร่วมลงนาม เราก็ต้องขอบคุณเขา หรือต่อให้บางคนปฏิเสธ เราก็ไม่สามารถก่นด่าเขาได้

อ.ชำนาญบอกว่า “การแถลงข่าวของ ครก.ครั้งล่าสุดที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลานั้น ๑๑๒ คนในรายชื่อนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ครก.หรือไม่ ที่สำคัญก็คือหากถือว่าเป็นแล้ว ๑๑๒ รายชื่อนั้นเห็นด้วยแล้วหรือไม่ อย่างไร หากไม่ถือว่าเป็น ครก.แล้ว ๑๑๒ คนนั้นอยู่ในฐานะอะไร เพราะหลายคนไม่ได้ลงชื่อพร้อมหลักฐานเพื่อยื่นขอแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด”

ทางทีม ครก.112 ได้อธิบายในต่างกรรมต่างวาระว่า 118 ชื่อที่ร่วมลงชื่อกับเรา ไม่ใช่ แกนนำ ครก.112 ในวันเปิดตัว 15 ม.ค. อ.กฤตยา อาชวนิจกุล ได้ประกาศบนเวที รายชื่อองค์กรต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็น ครก.112 ไปแล้ว การแถลงข่าวที่อนุสรณ์สถาน ก็ได้มีการย้ำเรื่องนี้เช่นกัน เมื่อวานบางกอกโพสต์โทรมาสัมภาษณ์ดิฉันๆ ก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไปแล้วเช่นกัน (ข้อผิดพลาดของเราคือ ในแผ่นพับที่แจกในงาน ไม่ได้ใส่ชื่อองค์กรเหล่านี้ลงไป)

โดยปกติเวลาที่มีการขอรายชื่อเพื่อสนับสนุนแถลงการณ์อะไรสักอย่าง ดิฉันก็สรุปเอาเองว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจตรงกันว่า คนที่เขียนขอรายชื่อ คือ แกนนำการเคลื่อนไหวในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ลงชื่อมีสถานะเป็นแกนนำ หรือต้องกลายเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้นๆ ไปในทันที เช่น การรณรงค์ของกลุ่มสันติประชาธรรม บางครั้งมีคนร่วมลงชื่อ 50 คนบ้าง 100+ คนบ้าง 200+ คนบ้าง ดิฉันจึงคิดเอาเองว่าทั้งคนลงชื่อ และคนอ่านก็คงเข้าใจดีว่า ไม่ใช่ทุกคนเป็นสมาชิกของสันติประชาธรรม แต่เขาแค่เห็นด้วยกับประเด็นที่กลุ่มเสนอเท่านั้น ส่วนแกนนำของสันติประชาธรรม ก็มักเป็นผู้ที่โผล่หน้าออกมาในวันแถลงข่าวนั่นเอง


อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ของ อ.ชำนาญในกรณี ครก.112 ทำให้ดิฉันต้องคิดหนักขึ้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้อีก หลังจากนี้ หากดิฉันขอให้ใครร่วมลงชื่อในเรื่องอะไรก็ตาม อาจต้องย้ำว่า “การลงชื่อของท่าน ไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นสมาชิกของกลุ่ม...แต่ประการใด”

ประการสุดท้าย ดิฉันตระหนักดีว่า หลายท่านที่ร่วมลงชื่อกับเรา ไม่ได้เห็นด้วยกับร่างข้อเสนอของนิติราษฎร์ทั้งหมด แต่ก็ยินดีลงนามด้วย โดยหลักๆ ก็คือ “เห็นด้วยในหลักการโดยรวมว่าควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้” เช่นเดียวกับอาจารย์ และเป็นก้าวแรกของการแก้ไขปัญหานี้ในวิถีทางที่ควรจะเป็น ซึ่งก็คงไม่สำเร็จในคราวเดียว และขอบคุณอาจารย์ที่ได้ส่งเอกสารมาสนับสนุนร่างแก้ไขนี้ด้วยค่ะ

สำหรับข้อวิจารณ์ที่ว่านิติราษฎร์มองแต่ประเด็นทางกฎหมาย ไม่มองประเด็นทางการเมืองนั้น ก็นับว่ามีความจริงอยู่ แต่ดิฉันมองเช่นนี้

จากการได้พูดคุยกับทางนิติราษฎร์หลายครั้ง ดิฉันเห็นว่าการที่ อ.วรเจตน์ ย้ำบ่อยครั้งว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องวิชาการ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เพื่อทำให้ตัวเอง “ลอยตัว” หรือ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”

ดิฉันเองก็เคยบอกกับทางนิติราษฎร์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี้ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ฝ่ายนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการ ซึ่งทำให้ดิฉันเข้าใจได้ทันทีว่า เพราะเราต่างมีความเข้าใจความหมายของ “การเคลื่อนไหวทางการเมือง” ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดเจนจากคำอธิบายในสเตตัสใน fb ของ อ.สาวตรี สุขศรี (แต่การกล่าวเช่นนี้ ก็หวังว่าท่านอธิการบดี สมคิด จะไม่นำคำพูดของดิฉันไปชี้หน้าว่า นี่ไงๆ แม้แต่ คนใน ครก. 112 ยังบอกว่านิติราษฎร์เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงห้ามใช้ มธ.อีก ดิฉันขอบอกว่า สำหรับดิฉัน ซึ่งเป็นศิษย์เก่า มธ. และเป็นนักกิจกรรม ดิฉันใช้ มธ.เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา ก็ไม่เคยเห็นมีปัญหาอะไร กรุณาอย่าแยก มธ.ออกจากการเมืองเลย เพราะมันจะทำลายชีวิตของ มธ.ในที่สุด)

การไม่มองมิติทางการเมืองนั้น จึงเป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของนิติราษฎร์ จุดอ่อนคือ ไม่ได้สนใจเรื่องจังหวะก้าวทางการเมืองอะไรสักเท่าไร จุดแข็งคือ มันทำให้นิติราษฎร์มุ่งผลักดันข้อเสนอต่างๆ ของตัวเอง โดยไม่สนใจแรงปะทะทางการเมืองที่จะกลับมาสู่ตนเท่าไรนัก แต่ผลักดันด้วยความเชื่อมั่นในหลักการ เหตุผล ความซื่อตรง และความบริสุทธิ์ใจของตนเองเป็นสำคัญ เราจะเห็นลักษณะเช่นนี้เด่นชัดมาก โดยเฉพาะในตัว อ.วรเจตน์ การไม่สนใจมิติการเมือง หรือไม่เป็นการเมือง จึงทำให้เราได้คนที่กล้าหาญ มั่นคงในหลักการของตัวเอง แม้ว่าจะโดนกระหน่ำอย่างรุนแรงจากรอบทิศ ก็ไม่ท้อ ไม่เคยโอดครวญเรียกร้องความเห็นใจจากสังคม ในทางตรงกันข้าม คนที่คำนึงถึงการเมืองมากๆ ก็มักเป็นคนประเภท “รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง” หรือคนประเภทจะทำอะไรแต่ละครั้ง ไม่เพียงต้องประเมินว่าผลการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่ต้องประเมินว่าตัวเองจะได้หรือเสียอะไรด้วย แต่ดิฉันคิดว่านิติราษฎร์ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งนี้เลย


แม้ว่าจะเห็นข้ออ่อนบางประการของนิติราษฎร์ แต่ดิฉันเคารพในคุณลักษณะดังกล่าวของพวกเขา ที่นับวันก็หายากขึ้นทุกที

สุดท้าย กรณีเรื่องควรผลักดันเรื่องไหนก่อนหลัง เป็นการง่ายที่คนเราจะฉลาดหลังเหตุการณ์ แต่ก็อย่างที่ อ.สาวตรีบอก กรณีอากง ทำให้สังคมเห็นปัญหาของ ม.112 มากขึ้น มีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยกลุ่มต่างๆ ก็นับว่าเป็นจังหวะที่ดีที่เราจะผลักดันเรื่อง ม.112 ให้ได้มากที่สุด

ในสภาวะที่นิติราษฎร์ถูกกระหน่ำอย่างหนักนี้ คนบางส่วนอาจหวั่นไหว และต้องการถอยห่างออกไป แต่เราก็ได้เห็นผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น อ.ชาญวิทย์ อ.นิธิ อ.เกษียร ที่ยังยืนหยัด ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคนในสังคม รวมถึงของนิติราษฎร์และ ครก. 112 ด้วย จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย



++

ชำนาญ จันทร์เรือง: ความผิดพลาดของนิติราษฎร์
จาก www.prachatai.com/journal/2012/02/39149 . . Tue, 2012-02-07 21:32


ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมลงชื่อพร้อมหลักฐาน คือ สำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมิได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของคณะรณรงค์แก้ไข ม.112 หรือ ครก.แต่อย่างใด และไม่ได้เห็นด้วยกับข้อเสนอของนิติราษฎร์ในทุกข้อ เพียงแต่เห็นด้วยในหลักการโดยรวมว่าควรที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้และเห็นด้วยในหลักการที่จะต้องมีการปฏิรูปกองทัพและปฏิรูปศาล แต่เมื่อได้ติดตามความเคลื่อนไหวมาระยะหนึ่งแล้วพบว่า กระบวนการดำเนินการของนิติราษฎร์นั้นยังมีความผิดพลาดอยู่ในบางประเด็น คือ

1) นิติราษฎร์มองประเด็นกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว โดยเชื่อว่าเมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมายแล้วย่อมสามารถทำได้โดยไม่สนใจประเด็นอื่นๆ ซึ่งนิติราษฎร์อ้างว่าได้จุดชนวนหรือเสนอประเด็นแล้ว การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องของ ครก.ไม่ใช่เรื่องของตนเอง (ทั้งๆที่บางคนในนิติราษฎร์ก็เป็น ครก.ด้วย) จึงทำให้เกิดผลประหลาด(absurd)ตามมา เช่น ผู้ที่ร่วมลงชื่อในตอนแรกหลายคนออกมาปฏิเสธว่าเห็นด้วยแต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเซ็นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายพร้อมกับหลักฐาน เป็นต้น

ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ กรณีของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่หลายคนออกมารุมประณามอย่างเสียๆหายๆซึ่งผมไม่เห็นด้วย เพราะผมเห็นว่าเป็นตัวตนและสิทธิของเสกสรรค์โดยแท้ กอปรกับในการติดต่อขอรายชื่อนั้นยังมีความไม่ชัดเจน เพราะโดยปกติในกระบวนการขอรายชื่อเพื่อเคลื่อนไหวอะไรสักอย่างหรือเพื่อออกแถลงการณ์นั้นจะต้องมีความชัดเจนว่าจะเอารายชื่อไปทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากเอาไปทำแถลงการณ์ก็ต้องมีการเวียนเนื้อหาให้ดูก่อน หากจะให้ดีก็ต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขก่อนเผยแพร่ด้วยก็จะยิ่งสมบูรณ์แบบ

ในกรณีเดียวกับเสกสรรค์นี้ยังหมายความรวมถึงอีกหลายๆคน ซึ่งผมไม่อยากยกมาเป็นตัวอย่างเดี๋ยวเจ้าตัวผู้ที่เล่าให้ฟังจะเคืองกันเปล่าๆ จึงทำได้เพียงแต่มีเสียงบ่นเบาๆเพราะไม่อยากให้ไปกระทบต่อการเคลื่อนไหวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแถลงข่าวของ ครก.ครั้งล่าสุดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลานั้น 112 คนในรายชื่อนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ ครก.หรือไม่ ที่สำคัญก็คือหากถือว่าเป็นแล้ว รายชื่อนั้นเห็นด้วยแล้วหรือไม่ อย่างไร หากไม่ถือว่าเป็น ครก.แล้ว 112 คนนั้นอยู่ในฐานะอะไรเพราะหลายคนไม่ได้ลงชื่อพร้อมหลักฐานเพื่อยื่นขอแก้ไขกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการมองเพียงประเด็นทางกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมองประเด็นอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ประเด็นทางการเมือง

แม้ว่าวรเจตน์ ภาคีรัตน์จะออกมาย้ำอยู่เสมอแม้ในครั้งล่าสุดจากการให้สัมภาษณ์ต่อจอมขวัญ หลาวเพชร ในรายการคมชัดลึกว่ามิใช่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นแต่เพียงการเสนอความเห็นทางวิชาการก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการเสนอให้แก้ไข ม.112 โดยการเปิดเวทีเพื่อระดมรายชื่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเสนอความเห็นในสื่อต่างๆนั้น คือ “การเมือง”ตามนิยามศัพท์ทางทฤษฎีรัฐศาสตร์อย่างแน่นอน (การเมือง คือ การได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร - Politics is,who gets “What”, “When”, and “How– Harold Lasswell) ซึ่งมิใช่เรื่องที่จะต้องออกมาปฏิเสธเพื่อลอยตัวแต่อย่างใด เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้การรองรับของรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้อยู่แล้ว และไม่ต้องกลัวว่าความเห็นทางวิชาการจะถูกแปดเปื้อนจากการเมืองแต่อย่างใด จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะถูกมองว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันว่าฝ่ายการเมืองนั้น นิติราษฎร์จะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทั้งในทางบวกและลบ แต่ที่แน่ๆก็คือพรรคเพื่อไทยนั้นไม่เอาด้วยอย่างแน่นอนเพราะพรรคเพื่อไทยย่อมเห็นว่าจะกระทบต่อการเกี้ยเซี้ยระหว่างพรรคเพื่อไทยกับกองทัพและอำมาตย์ทั้งหลาย ทั้งๆที่หากปล่อยสถานการณ์ ม.112 ไปอย่างนี้จะเป็นผลกระทบต่อสถาบัน แต่พรรคเพื่อไทยยังเลือกที่จะไม่ทำอะไรให้เปลืองตัว

2) นิติราษฎร์กำหนดกลยุทธหรือจัดลำดับความสำคัญผิด เพราะในสถานการณ์หลังการรัฐประหารกันยา 49 และตุลาการภิวัฒน์ ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะเสนอแนวคิดที่จะปฏิรูปกองทัพและศาล ซึ่งจะสามารถหาแนวร่วมได้มากมายมหาศาลจากผู้ที่ได้รับความคับแค้นใจ หรือขุ่นข้องหมองใจจากการแทรกแซงทางการเมืองขององค์กรทั้งสองมาโดยตลอด แต่นิติราษฎร์กลับจัดลำดับความสำคัญแก่ ม.112 ก่อน จึงเข้าทางของกองทัพและ(โฆษก)ศาลตลอดจนแนวร่วมที่ต่างก็ดาหน้าออกมารุมสหบาทานิติราษฎร์กันอย่างเมามัน

จะเห็นได้ว่าการที่นิติราษฎร์ออกมาแถลงเกี่ยวกับ ม.112 ก่อน แรงต้านยังไม่ปรากฏเท่าใดนัก แต่พอไปเสนอปฎิรูปกองทัพและศาลตามมาเลยไปเข้าล็อกของฝ่ายที่เสวยสุขจากการรัฐประหารและพวก Ultra Royalist (ผู้เป็นราชายิ่งกว่าพระราชาธิบดี) ทั้งหลายที่พากันออกมารุมยำนิติราษฎร์เสียเละตุ้มเป๊ะ ซึ่งหากนิติราษฎร์ดำเนินการในทางกลับกันโดยเอาประเด็นปฏิรูปกองทัพและศาลขึ้นมาก่อนแล้วทิ้งช่วงไว้สักระยะหนึ่ง พอประเด็นนี้ติดแล้วจึงค่อยเสนอประเด็น ม.112 ตามมา หากดำเนินดังที่ว่านี้ผลที่ตามมาก็จะไม่ออกมาเช่นนี้ เพราะเหตุผลที่อ้างความจงรักภักดีย่อมฟังดูดีกว่าการอ้างว่าชื่นชอบรัฐประหารอย่างแน่นอน ยกเว้นคนบางคนแถวบ้านพระอาทิตย์ที่ผีเข้าตอนตรุษจีนที่ออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ แต่ก็ไม่พ้นเรื่องการอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเหตุผลเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอยู่ดี

ผมเชื่อว่าการปฎิรูปกองทัพและศาลนั้นถึงแม้จะเป็นงานหิน แต่ก็ง่ายกว่าประเด็น ม.112 แน่นอน การหวังผลความสำเร็จของงานในลักษณะเช่นนี้ย่อมเริ่มจากงานที่ง่ายไปสู่งานที่ยากเป็นลำดับ เพราะผลแห่งความสำเร็จในงานแรกย่อมเป็นพลังอย่างดีที่จะขับเคลื่อนงานที่ตามมาอย่างแน่นอน

หรืออีกนัยหนึ่งในความเป็นจริงซึ่งเมื่อนิติราษฎร์ได้เสนอประเด็น ม.112 ไปก่อนแล้ว หากเสนอเพียงประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวโดยไม่รีบด่วนเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปกองทัพและศาลในระยะเวลาตามมาเพียง 2 สัปดาห์ โอกาสที่ประเด็น ม.112 จะถูกต้านผมเชื่อว่าจะน้อยกว่านี้ และโอกาสที่จำนวนรายชื่อจะถึงมือประธานสภาผู้แทนราษฎรมีมากกว่าปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าแนวความคิดที่จะแก้ไข ม.112 หรือ ปฏิรูปกองทัพและศาลจะไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่ว่าช้าหรือเร็วต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน หากเมื่อใดประชาชนมีความเห็นสอดคล้องต้องกันแล้ว ไม่มีใครสามารถขัดขืนต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างแน่นอน

ผมไม่เชื่อว่าเราจะสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆที่กล่าวมานี้ด้วยระยะเวลาเพียงชั่วข้ามวันข้ามคืนหรือเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันทันที เพราะอะไรก็แล้วแต่เมื่อมาเร็วก็ย่อมไปเร็ว ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ เป็นขั้นเป็นตอน จัดลำดับกระบวนการขับเคลื่อนให้ดี ความสำเร็จย่อมเป็นอันคาดหมายได้อย่างแน่นอน

-------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555



.