http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-02-23

ทางเลือกสู่อนาคตของสังคมไทย โดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

.

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ทางเลือกสู่อนาคตของสังคมไทย
ใน www.prachatai.com/journal/2012/02/39345 . . Tue, 2012-02-21 19:53


คำถามที่คนถามไถ่เพื่อนฝูงและตนเองมากที่สุด อันแสดงให้เห็นถึงความกังวลอย่างยิ่งของคนจำนวนมากในสังคมไทยได้แก่ อนาคตของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร

ผมก็ตอบไม่ได้ว่าอนาคตสังคมไทยจะเดินไปทางไหน หากแต่ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ได้บ้าง เราก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันให้ชัดเจน คนแต่ละกลุ่มก็จะต้องทบทวนตนเองว่าเหตุใดกลุ่มของตนจึงคิดในลักษณะอย่างที่คิด เพื่อที่จะทำให้เห็นและเข้าใจได้ว่าความคิดและความกังวลทั้งหมดเกิดขึ้นจากการดำรงอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและพัฒนาการความเป็นมาทางประวัติศาสตร์กลุ่มของตนมาอย่างไร การทำความเข้าใจระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละกลุ่มให้แจ่มชัดก็จะช่วยทำให้แต่ละกลุ่มมองเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่งชัดเจนมากขึ้นไปด้วย การ”เห็นซึ่งกันและกัน” ชัดเจนมากขึ้นของคนในสังคมก็จะทำให้การปลุกเร้าด้วยวาทกรรม (จูงใจ) เกิดได้ยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม “ คนจนโง่และถูกซื้อเสียง” “ มีคนต้องการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือวาทกรรม “ ไพร่-อำมาตย์”

วาทกรรมสั้นๆเหล่านี้มีพลังเพราะไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น หากแต่เป็นการยกระดับปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองตลอดชีวิตที่ผ่านมาของคนรุ่นหนึ่งๆให้กลายเป็นชุดความรู้ที่อธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองที่ดำเนินมาว่าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองที่เหมาะสมที่สุด ดีที่สุดเพื่อจะจรรโลงระบบที่เป็นอยู่ให้เดินหน้าต่อไปหรือเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองที่เลวร้ายที่สุดเพื่อที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ผมคิดว่าเราทั้งหลายไม่เคยถามตนเองเลยว่าทำไมเราถึงรู้สึก “อิน” กับวาทกรรมปลุกเร้าเหล่านี้ และเมื่อเราไม่ถามตนเองเช่นที่ว่า เราก็จะแสดงตนไปตามวาทกรรมนั้นโดยไม่รู้ตัวโดยยึดถือเอาแกนกลางของวาทกรรมนั้นมาเป็นแนวทางปฏิบัติการณ์ทางสังคมการเมืองและสามารถละทิ้งหลักการบางอย่างที่ตนเองเคยยึดถือไปได้


ความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการนำเสนอทบทวนเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและพัฒนาการความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของคนสองกลุ่มใหญ่ๆในสังคมว่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงทำให้พวกเขามีความแตกต่างในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างมากมายและลึกซึ้ง อันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนี้

แต่อย่างไรก็ตามต้องกล่าวในที่นี้ก่อนว่าแม้จะจัดแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น แต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดกันอย่างแท้จริงหรือเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันทั้งหมด ในแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะเฉพาะของตนซึ่งคงจะต้องศึกษากันต่อไป เช่น การแยกแยะในลักษณะที่คนทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้วว่าในกลุ่มสีแดงก็มีทั้งแดงเอาเจ้าและแดงไม่เอาเจ้าหรือกลุ่มสีเหลืองก็มีทั้งเหลืองเอาเจ้าทั้งหมดหรือเหลืองเอาเจ้าแต่ไม่ทั้งหมด เป็นต้น ดังนั้น การทำความเข้าใจระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละกลุ่มภายใต้เงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจในที้นี้จึงจะเป็นการมองภาพรวมๆเท่านั้น

คนสองกลุ่ม-สองสีที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเป็นกลุ่มก้อนในปัจจุบันนี้เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน กล่าวคือ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนกลางคน โดยมีอายุประมาณสี่สิบปีขึ้นไป ( แน่นอนว่ามีวัยรุ่นร่วมด้วยแน่ๆ แต่ต้องบอกว่าการพิจารณาจำเป็นต้องพิจารณาคนส่วนใหญ่) ซึ่งคนทั้งสองกลุ่ม-สองสีมีชีวิตร่วมกันในช่วงเวลาความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างน้อยสามช่วงเวลา ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทศวรรษ ๒๕๐๐ การเข้าสู่ชีวิตการทำงานในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐-๒๕๓๐ และช่วงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังทศวรรษ ๒๕๔๐ แม้ว่าในจังหวะของประวัติศาสตร์เป็นช่วงเวลาเดียวกันนี้ แต่คนสองกลุ่ม-สองสีอยู่กันคนละมุมของความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ความแตกต่างของคนสองกลุ่มสองสีได้แก่ ระยะเวลาที่ได้รับการศึกษา ลักษณะของงานที่ทำ และการปรับตัวหลังทศวรรษ ๒๕๔๐

การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจทศวรรษ ๒๕๐๐ ไม่ได้เป็นการพัฒนาบนสูญญากาศ หากแต่ทศวรรษ ๒๔๙๐ ได้เกิดการขยายตัวของการลงทุนทำพาณิชยกรรมของกลุ่มคนจีนที่ต้องตัดสินใจที่จะอยู่ในเมืองไทยเพราะกลับประเทศจีนไม่ได้เนื่องจากจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ กลุ่มพ่อค้าจีนเหล่านี้ได้ดัดแปลงตนเองกลายมาเป็นไทย พร้อมกันนั้นก็ได้เริ่มส่งลูกเข้าสู่การศึกษาของไทยอย่างจริงจัง ( ผมสรุปความคิดและข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ปริญาโทประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของอาจารย์ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๒๐ )

นักเรียนที่สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยในช่วงหลังทศวรรษ ๒๕๐๐ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกหลานคนจีนและลูกหลานข้าราชการที่อยู่ในเขตเมือง งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ พบว่าสัดส่วนนักศึกษาที่มาจากชนบทหรือคนจนนั้นมีเพียงร้อยละห้าเท่านั้น

ช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมได้มีอำนาจเผด็จการครองประเทศ และรัฐบาลเผด็จการได้พยายามรักษาอำนาจของตนด้วยการประนีประนอมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดยการถวายบทบาทให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อัตลักษณ์ของนักศึกษาขณะนั้นเป็นกลุ่มอภิสิทธิชนที่สามารถปิดถนนเพื่อร้องเพลงเชียร์ในงานแข่งบอลประเพณี ขณะเดียวกันก็ผูกตนเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น ก่อนการเคลื่อนไหวเดือนตุลา ๒๕๑๖ ข่าวลือเรื่องจอมพลประภาสมีเจตนาร้ายต่อพระมหากษัตริย์ระบาดไปทั่วในทุกกลุ่มนักศึกษาซึ่งก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจในบทบาทของสองจอมพล-หนึ่งนายพันสูงยิ่งขึ้น

ความรู้สึกสำนึกผูกพันระหว่างนักศึกษากับสถาบันพระมหากษัตริย์ยังแสดงออกในการเคลื่อนขบวนในเหตุการณ์ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่เน้นการอัญเชิญพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์และพระราชินีนำขบวน รวมไปถึงการเคลื่อนขบวนไปพึ่งพระบารมีในช่วงที่วิกฤติสูงสุด

ลูกหลานคนจีนที่เติบโตในสังคมไทยราวทศวรรษ ๒๔๙๐ ได้โอกาสในการศึกษาและการทำงานในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทห้างร้าน รวมทั้งส่วนหนึ่งได้มีส่วนในการขยายบทบาทธุรกิจของครอบครัวตนเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมดำเนินมาอย่างดีตลอด คนกลุ่มนิ้จึงสามารถที่จะสร้างฐานทางเศรษฐกิจและสร้างสถานทางสังคมของตนได้อย่างมั่นคง

การที่พวกเขาเติบโตมาในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญการเมืองถูกทำให้นิ่งสงบด้วยอำนาจรัฐเผด็จการ แม้ว่าจะมีรอยปะทุของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ ความคิดทางการเมืองเรื่อง “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ( Stability ) จึงกลายมาเป็นหลักในการคิดและรู้สึก เพราะ “เสถียรภาพ-ความมั่นคง” เป็นฐานที่สำคัญของชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา


“เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ได้ถูกสร้างให้ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นหลังเหตุการณ์ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยเริ่มจากการยุติการนองเลือดในปี พ.ศ. ๒๕๑๖, ยุติความขัดแย้ง พ.ศ. ๒๕๑๙, การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่สำคัญ ภายหลังจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้สร้างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งต้องการความชอบธรรมลักษณะใหม่มารองรับ ระบอบการเมืองช่วงสมัยพลเอกเปรมจึงได้ทำให้เกิดการยึดโยงสถาบันพระมหากษัตริย์กับ “เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ทางสังคมการเมืองมากขึ้น

การยุติการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นนำในระบบราชการระหว่างพลเอกเปรม กับกลุ่มทหารหนุ่มและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายทหารรุ่นห้ากับบางส่วนของนายทหารรุ่นเจ็ดในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ยิ่งทำให้หลักการ “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ถูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในฐานะผู้ทรงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งภายในกองทัพในช่วงของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในหนังสือเรื่อง “พระผู้ทรงปกเกล้าฯประชาธิปไตย: ๖๐ ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย” ความว่า

ชัยชนะของพลเอกเปรม และการดำรงอยู่ของดุลยภาพทางการเมืองที่ถูกคุกคามโดยคณะปฏิวัติคงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการสนับสนุนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงอย่างรวดเร็วโดยปราศจากความรุนแรง

พร้อมกันนั้น หลังทศวรรษ ๒๕๐๐การอธิบายรวบยอด “ประวัติศาสตร์”ของคนจีน (ที่ตัดสินใจอยู่ในประเทศไทย) ก็ได้ปรากฏชัดเจนขึ้นในชุดคำกล่าวทำนองว่า “ คนไทยเชื้อสายจีนได้อพยพหนีความเดือดร้อนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร “

การให้ความหมายแก่ประวัติศาสตร์ของกลุ่มพี่น้องจีนเช่นนี้มีพลังอย่างมากในการทุ่มตนเองเพื่อรักษา “เสถียรภาพ-ความมั่นคง” อันมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลาง เพราะนี่คือการทดแทนบุญคุณที่บรรพบุรุษตนเองได้รับจากการพึ่งพระบรมโพธิสมภาร


“เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ของสังคมการเมืองในระบบความคิดเห็นชุดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็น “ประชาธิปไตย” และหลังทศวรรษ ๒๔๙๐ การสร้างความคิดความเชื่อที่ว่านักการเมืองเป็นคนเลวที่เห็นแก่ตัวและเป็นผู้ที่ก่อกวน “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ยิ่งทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวนั้นมีไม่มากนัก แต่หากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแสดงตนเองว่าเป็นผู้รักษา “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง “ได้ด้วยการทำอะไรที่เป็นเผด็จการก็จะได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มนี้

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเคยได้รับความชื่นชมและชื่นชอบจากการปราบปรามยาเสพติด “ ฆ่าตัดตอน” เพราะคนกลุ่มนี้เห็นว่าการปราบยาเสพติดด้วยการ “ ฆ่าตัดตอน” เป็นการทำเพื่อรักษา “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ของรัฐ

แต่เมื่อเกิดข่าวลือ/ข่าวปล่อยจากหลายฝ่ายว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเริ่มล้ำเส้นเข้ามาพื้นที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้เกิดการปะทุขึ้นของความกังวลในเรื่อง “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” จากนั้น การสถาปนาตนเองเป็น “ลูกจีนรักชาติ-ลูกจีนกู้ชาติ” จึงก่อกำเนิดและแรงกล้าขึ้นทันที

ปัญหาความกังวลในเรื่อง “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ที่ถูกทำให้ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนในเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องหลายประเด็น แต่ทั้งหมดถูกทำให้รวมศูนย์ไปอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ในระบบคิดชุดนี้จะมองว่าหากไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีเสียคนเดียวแล้ว ความไม่แน่นอนเรื่องอื่นๆก็จะสามารถคลี่คลายไปได้ด้วยตัวเอง

ความรู้สึกกังวลใน “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ของสังคมการเมืองไทยกลายมาเป็นกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๕๔๕ และดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน กรณีล่าสุด ได้แก่ การต่อต้านข้อเสนอของกลุ่มอาจารย์ “ นิติราษฏร” ซึ่งหากอ่านและคิดกันให้ดีแล้ว ข้อเสนอนี้เป็นการเสนอที่ต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปลอดจากการถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมือง เพราะนิติราษฏรเห็นว่าการถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าลักษณะใดก็ตาม ก็จะทำให้มีคนที่เสียประโยชน์และไม่พอใจ อันจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งต้องการป้องกันการฟ้องร้องโดยใครก็ได้ซึ่งทำให้การฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันเกิดได้ง่ายมากขึ้น

แต่ข้อเสนอนี้กลับถูกโจมตีอย่างรุนแรง เพราะความปรารถนาดีของนิติราษฏรนี้ที่จะคลี่คลายปัญหา จำเป็นต้องยกเลิก/ตัดสายโยงใยสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกใช้ไปในเรื่องการรักษา “เสถียรภาพ-ความมั่นคง “ทางสังคมการเมืองเสีย ซึ่งกลุ่มคนที่ต่อต้านดังกล่าวต่างวิตกกังวลกันมากในประเด็นที่หากไม่สร้างสายสัมพันธ์ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงคอยรักษาเสถียรภาพแล้ว บ้านเมืองก็จะวุ่นวายและปั่นป่วน


หากคนกลุ่มนี้พยายามทำความเข้าใจระบบการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายให้ดี ก็จะพบว่าหากจะถวายความจงรักภักดีเพื่อที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยก็จำเป็นที่จะต้องทำให้การเมืองเข้าไปแปดเปื้อนสถาบันฯให้น้อยที่สุด ซึ่งทางออกในเรื่องนี้มีไม่มากนัก และหนึ่งก็คือข้อเสนอของนิติราษฏร์

จำเป็นที่จะต้องเตือนกันว่าในวันนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันรักษา “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง “สังคมการเมืองด้วยมือของพวกเราเองครับ อย่าทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเหนื่อยกับปัญหาของพสกนิกรอีกเลยครับ



อีกภาคส่วนหนึ่งของสังคมไทยในช่วงเวลาเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมไทยในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน “พื้นที่ชนบท” อย่างลึกซึ้ง การทำการเกษตรทั้งหมดไม่ใช่การทำการเกษตรในลักษณะเดิมที่ใช้แรงงานครอบครัวเป็นฐานและทำเพื่อบริโภคเองอีกต่อไปแล้ว การทำการเกษตรที่ดำเนินมาล้วนแล้วแต่เป็นการผลิตเพื่อขายและใช้แรงงานจ้าง/เครื่องจักรในทุกระดับ ขณะเดียวกัน รายได้หลักของครัวเรือนทั้งหมดที่ใช้ทั้งเลี้ยงชีพและจ้างแรงงานในไร่นานั้นมาจากนอกการทำงานนอกภาคการเกษตร

กล่าวได้ว่าคนส่วนใหญ่ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวข้างต้น แต่ปัญหาสำคัญก็คือว่าเราจะเข้าใจทางเลือกสู่อนาคตของคนกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิตเขาได้อย่างไร

หากแบ่งคนในสังคมไทยออกเป็นสองกลุ่มอย่างหยาบๆ คนกลุ่มแรกคือคนชั้นกลางรุ่นเก่าที่ได้รับผลพวงจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษ ๒๕๑๐ มาก่อนดังได้กล่าวมาข้างต้น คนรุ่นราวคราวเดียวกันที่เติบโตมากับคตวามเปลี่ยนแปลงในชนบท ได้แก่ คนชั้นกลางกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกัน( อายุสี่สิบขึ้นไป ) ส้วนใหญ่แล้วได้รับการศึกษาระดับภาคบังคับ ( ป.๔ และ ป.๗ ) ในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ พวกเขาเป็นเพียงแรงงานระดับล่างที่เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆในช่วงว่างจากการเพาะปลูกแล้วก็กลับบ้านกลับสู่ไร่นาเหมือนเดิม ต่อมาพวกเขาได้พบว่าช่องทางในการเลื่อนฐานะนั้นอยู่ที่การออกไปทำงานนอกภาคเกษตร ในทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา การอพยพเพื่อทำงานนอกภาคเกษตรจึงเข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานขายแรงงานต่างประเทศหรือในประเทศ จนกระทั่งในสองทศวรรษหลัง ( ๒๕๓๐-๒๕๔๐ ) งานนอกภาคเกษตรเป็นหนทางเดียวในการเลื่อนชนชั้นหรือเปลี่ยนสถานะของพวกเขา


ความเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงยี่สิบปีที่ผ่าน ได้ทำให้สังคมชาวนาที่ผลิตแบบชาวนาไม่เหลืออยู่แล้วในสังคมไทย คนกลุ่มใหม่นี้ได้เปลี่ยนตนเองจากชาวนาในสังคมชาวนามาสู่การดำรงชีวิตอยู่บนระบบเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรม ซึ่งได้ส่งผลอย่างน้อยห้าด้านด้วยกัน

ด้านแรก คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ ต้องมี “ ทักษะ” ส่วนตัวระดับหนึ่งเพื่อที่จะ “ขาย” หรือผลิตสินค้า การที่จะต้องมีและสร้าง “ ทักษะหรือความสามารถ” เฉพาะตัวเช่นนี้ ได้ทำให้เกิดความสำนึกในศักยภาพของปัจเจกบุคคลสูงมากกว่าการทำงานร่วมหมู่ปลูกข้าวเพื่อกินแบบเดิม ไม่ว่า “ ทักษะ” ส่วนตัวนี้จะอยู่ในระดับธุรกิจระดับกลางหรือเล็ก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพลังของสำนึกในศักยภาพของบุคคลอย่างเต็มเปี่ยม

ด้านที่สอง การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ ได้ทำให้พวกเขาได้มองเห็นธุรกิจของตนเองเชื่อมต่อกับส่วนรวมของสังคมมากขึ้น คนทำงานอาชีพต่างๆในชุมชนแออัดได้พบว่าในยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น พวกเขาทั้งหลายต่างหากที่ได้ทำงานหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในเมือง แท็กซี่ย้อมตระหนักดีว่าหากปราศจากพวกเขาแล้ว การเดินทางในกรุงเทพฯก็จะหยุดชะงักทันที สายใยแห่งจินตนาการเชื่อมต่อตนเองกับการผลิตส่วนรวมของสังคมเช่นนี้ ย่อมทำให้พวกเขาสำนึกได้อย่างแจ่มชัดถึงความเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองที่ทำงานในระบบเศรษฐกิจของสังคม

ด้านที่สาม การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของการประกอบการหรือความเสี่ยงของการดำรงชีวิต เช่น เรื่องสุขภาพ ดังนั้นคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงนี้ในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกัน เพื่อที่พวกเขาจะได้ดำรงชีวิตดำเนินธุรกิจต่างๆได้อย่างสบายใจมากขึ้น เดิมนั้น พวกเขาต้องแบกรับความเสี่ยงทุกด้านด้วยตนเองในขณะที่ข้าราชการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องนี้สูงมากกว่า พวกเขาในฐานะที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรกลทางเศรษฐกิจแบบใหม่จึงเรียกร้องรัฐให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น

ด้านที่สี่ การทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ได้ทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายอีกลักษณะหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เชิงเสมอภาคและร่วมมือกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองท้องถิ่นที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปมีบทบาทในหน่วยการปกครองที่เท่าเทียมกันมากขึ้น การจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์เสมอภาคนี้ได้ทำให้เขามองย้อนกลับไปในอดีตที่พวกเขาเคยมีชีวิตอยู่ภายใต้องค์กรที่ไม่เสมอภาคและมีลำดับชั้นที่ชัดเจนและพบว่าชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเมื่ออยู่ในองค์กรลักษณะใหม่

ด้านที่ห้า ความสามารถในการสร้างความเท่าเทียมกันในการบริโภค การขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันทำให้สินค้าต่างๆราคาถูกลงมาก ประกอบกับการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เอื้ออำนวยให้คนทั้งหมดสามารถที่ครอบครองสินค้าต่างๆได้อย่างเท่าเทียมกัน พลังของการบริโภคที่เท่าเทียมกันนี้ได้ทำให้ความรู้สึกถึงการที่จะต้องยอมรับความแตกต่างทางสถานะภาพลดลงอย่างรวดเร็ว


ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างน้อยห้าด้านที่กล่าวมานี้ ได้ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมไทยที่ครั้งหนึ่งเคยยินยอม/ยอมรับ/สยบยอมกับความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่สามารถที่จะยอมรับและอยู่กับความไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นในสูญญากาศหรือเกิดขึ้นเพียงเพราะถูกใครคนใดคนหนึ่งชักจูง การที่ความคิดและความรู้สึกต่อบางสิ่งบางอย่างของเราเปลี่ยนแปลงไปก็เพราะเราอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างจากเดิมมากจนเราได้รู้สึกถึงความหมายใหม่ของตัวของเราในตำแหน่งแห่งที่ใหม่ในเงื่อนไขของสังคม และความหมายใหม่ของตัวตนของเรานี่เองได้นำให้เราต้องตีความและให้ความหมายแก่สรรพสิ่งรอบตัวแบบใหม่ให้สอดคล้องกันไป

เมื่อการทำงานนอกภาคเกษตรของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้เป็นงานที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้น และมักจะละเอียดอ่อนกับการถูก/ผิดกฏหมายหรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฏหมาย เช่น การทำการค้าตามท้องถนน การขนส่งอย่างไม่เป็นทางการ ( รถตู้ รถจักรยานยนต์รับจ้าง) ร้านค้าย่อย ( ร้านเสริมสวยเล็กๆในหมู่บ้าน ฯลฯ )

ความจำเป็นที่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับรัฐมากขึ้นกว่าชีวิตของชาวไร่ชาวนาปรกติ ทำให้พวกเขาพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะใช้กฏหมายหรือการวินิจฉัยกฏหมายอย่างลูบหน้าปะจมูก เอกสารการวิจัยเรื่องสภาพปัญหาทางกฏหมายในชีวิตประจำวันของประชาชนและแนวทางการใช้กฏหมายเบิ้องต้นในการแก้ไขปัญหา ของอาจารย์ทศพล ทรรศกุลพันธ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าชาวบ้านจำนวนมากมีความเห็นว่าการวินิจฉัยกฏหมายของเจ้าหน้าที่นั้นมีความไม่ถูกต้องมากมาย และเป็นไปอย่างเข้าข้างคนบางกลุ่มมากกว่าชาวบ้านธรรมดา

การดำเนินชีวิตนอกภาคเกษตรกรรมของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้จึงประสบกับความ “ เสี่ยง” หลายประการด้วยกัน นอกจากที่มาจากทางด้านเจ้าหน้าที่และกฏหมายของรัฐแล้ว ความไม่มั่นคงและแน่นอนของการค้าขายรายย่อยก็เป็นปัจจัย “เสี่ยง” อีกด้านหนึ่ง เพราะพวกเขาไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าการค้าในวันรุ่งขึ้นจะดีหรือเลวอย่างไร และหากเลวแล้ว พวกเขาจะไปหาเงินทุนมาลงทุนต่อในวันต่อไปอย่างไร

ในช่วงแรกของการเข้าไปสัมพันธ์กับรัฐที่ถี่ขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นและการดำรงอยู่ในสภาวะ “ คงวามเสี่ยงสูง” เช่นนี้ก่อให้เกิดความ “ตึงเครียด”ทางสังคมสูงขึ้น ลัทธิพิธีจำนวนมากได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อผ่อนคลายความ “ ตึงเครียด” ทางสังคมนี้ เช่น ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร. ๕ ลัทธิพีธีจาตุคามรามเทพ ลัทธิพิธีแก้กรรม ฯลฯ เพราะพวกเขาไม่สามารถจะต่อรองและจัดการกับปัญหาต่างๆที่มีต้นต่อมาจากรัฐได้ เช่น กฎหมายเทศกิจ กฏหมายการจราจร กฏหมายภาษีรายได้ ฯลฯ หรือ ปัญหาที่มาจากความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจรายย่อย

แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก้าวพ้นกรอบของการสร้างความคิดนามธรรมมาสู่ความคิดรูปธรรมชัดเจนขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบอารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมไทยที่ได้เคลื่อนตนเองออกจากการเป็นชาวนานั้นทั้งห้าด้าน ได้แก่ ความสำนึกในศักยภาพหรือทักษะเฉพาะด้านของตนเองในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ, การจินตนาการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเข้ากับส่วนรวมของสังคมมากขึ้น, การแบกรับความเสี่ยงของการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง, การจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์ที่เสมอภาคมากขึ้นและความสามารถในการบริโภคที่เท่าเทียมกัน จึงได้ส่งผลให้คนเหล่านี้เกิดความสำนึกว่าตนเองในสถานะปัจเจกบุคคลได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชาติบนฐานความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันขณะเดียวกันก็ต้องการการ”ปกป้อง” ความเสี่ยงต่างๆจากรัฐอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆในสังคม ความสำนึกเช่นนี้ได้ประกอบกันทำให้เกิดความหวังที่จะสร้างชีวิตของตนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นด้วยศักยภาพของตน เครือข่ายที่ตนมีส่วนร่วม และมี “ หลังพิง” หลบเลี่ยงความเสี่ยงได้ด้วยการบริการและการควบคุมโดยรัฐ


ความสำนึกต่อตัวตนและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ก่อเกิดขึ้นในช่วงปัจจุบันเช่นนี้ ได้กลายเป็นฐานของการคิดและรู้สึกแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ โดยความสำนึกนี้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยได้เริ่มทบทวนและอธิบายระบบความสัมพันธ์แบบเดิมที่ตนคุ้นเคยและอยู่ร่วมมาเนิ่นนานด้วย “ สายตา” ใหม่

ความไม่เท่าเทียมในเรื่องต่างๆที่ตนเองเคยได้รับจากการบริการของรัฐ หรือ การที่ไม่เคยได้รับการบริการจากรัฐซึ่งเดิมนั้นจะถูกอธิบายให้ยอมรับได้ว่า “เพราะเรามันจน” หรือ “เพราะเรามันเป็นชาวบ้าน“

การยอมรับความไม่เท่าเทียมด้วยความคิดนามธรรมว่า “เพราะเรามันจน” หรือ “เพราะเรามันเป็นชาวบ้าน“ มาจากมรดกทางความคิดและทางสังคมไทยหลายประการ ได้แก่ ความคิดเรื่องบุญ-กรรมตามศาสนาพุทธ, การดำรงอยู่ในระบบอุปถัมภ์มาเนิ่นนานจนยอมรับความไม่เท่าเทียมกันว่าเป็นปรกติธรรมดาธรรมชาติของสังคมไทย, การอยู่ในระบบความคิดการอธิบายรัฐด้วยทฤษฏีองคาพยพที่ชาวบ้านธรรมดาแม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือชาติ แต่ก็เป็นส่วนที่ไม่สำคัญแต่อย่างใด เช่น เป็นขนหรือผม, การมี” โลก” หรือ “ พื้นที่ ”ของชาวบ้านที่แยกออกจาก “พื้นที่” ของรัฐซึ่งนานๆครั้งชาวบ่นจะเข้ามาเผชิญหน้ากับรัฐ ดังนั้นจึงยอมทนได้.

แม้ว่าในช่วงก่อนหน้าการยอมรับความไม่เท่าเทียมนี้จะก่อให้เกิดความตึงเครียดอยู่ไม่น้อย แต่ชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าหรือทุ่มกำลังเข้าแก้ไขความไม่เท่าเทียมกัน ชาวบ้านมักจะเลือกใช้ “อาวุธของผู้อ่อนแอ” ( Weapon of the weak) ได้แก่การเสียดสีนินทาในเพลงพื้นบ้านหรือในที่ลับตา

แต่เมื่อคนจำนวนมากในชนบทหรือชาวบ้านทั่วไปเริ่มเกิดความสำนึกแบบใหม่จึงได้ทำให้เกิดการหลุดพ้นออกจากกรอบการอธิบายความไม่เท่าเทียมด้วยความคิดว่า “ เพราะเรามันจน” หรือ “เพราะเรามันเป็นชาวบ้าน” กระบวนการการสสัดหลุดออกจากกรอบนี่เริ่มต้นในราวทศวรรษ ๒๕๓๐ ที่เด่นมากที่สุดได้แก่ การแสดงออกในเพลง “ คนจนมีสิทธิไหมครับ” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนศิลปินดนตรีหลายประเภทนำไปขับร้องใหม่

เพลง “คนจนมีสิทธิไหมครับ” ได้เชื่อมต่อให้เห็นถึงการอธิบายโอกาสของคนจนที่มีน้อยนั้นไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ หากแต่ระบบอุปถัมภ์ทำให้กลับทำให้ไม่มีโอกาส ที่สำคัญของเพลงนี้ได้สะท้อนให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่าง “คนจน” กับ “สิทธิ” ขึ้นมาอย่างแจ่มชัดขึ้น

ความสำนึกแบบใหม่ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาเริ่มแรงกล้ามากขึ้นและได้เปลี่ยนความหมายของ “ คนจน” ว่าไม่ใช่เกิดมาจนเพราะเหตุผลแบบเดิมอีกต่อไป แต่ว่า “ จน “ เพราะระบบของสังคมที่ทำให้คนจนไม่ได้สิทธิอย่างที่ควรจะได้ หากคนจนได้รับสิทธิตามที่ควรจะได้ก็ย่อมที่จะ “ ลืมตาอ้าปาก” ได้ตามสมควร

ความสำนึกใหม่ที่ก่อเกิดขึ้นเช่นนี้ได้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยหวนกลับไปให้ความหมายต่อ “ อดีต” ของตนและของสังคมใหม่ “อดีต” ของตนจึงเป็นโครงเรื่องของการถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผู้มีอำนาจและอิทธิพล ซึ่งพวกตนจะต้องช่วยกันขจัดการเอารัดเอาเปรียบนี้ให้ได้เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าต่อไป


หลังทศวรรษ ๒๕๔๐ การขยายตัวของรัฐทางด้านการบริการ ได้ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองมี “หลังพิง” ที่จะต่อสู้/ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกับ “ ความเสี่ยง” ที่ต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวันได้ การจัดการในเรื่องคิวรถจักรยานยนต์รับจ้างทำให้คนขัยรถจักรยานยนต์รับจ้างลดต้นทุนที่จะต้องจ่ายรายเดือนและรายวันลงไปทันที การแปลงสินทรัพย์และเปิดธนาคารออมสินให้แก่สินเชื่อประชาชนเป็นการเอื้อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่อนคลายความเสี่ยงของการค้าขายรายย่อย รวมทั้ง “หลังพิง” ที่สำคัญได้แก่ การรักษาพยาบาลที่ถูกลงอย่างมากที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้เข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

ทางเลือกของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่ไม่ใช่การแบมือของจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นความต้องการที่จะให้รัฐบาลสร้าง “ หลังพิง” ให้แก่การลงแรงในการดำรงชีวิตและเพื่อที่จะสร้างสรรค์ชีวิตให้ก้าวหน้ามากขึ้นต่อไป คนชั้นกลางกลุ่มนี้ไม่ใช่เรียกร้องต่อรัฐเหมือนคนในประเทศที่ขอความช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐแล้วไม่ทำอะไร หากแต่คนกลุ่มนี้ได้พยายามเลื่อนฐานะตนเองด้วยแรงกายและแรงใจอย่างมากทีเดียว ลองคิดถึงเจ้าของอู่แท็กซี่ดูซิครับ เมื่อยี่สิบปีก่อนนั้น เป็น “ เจ๊กดาวน์ ลาวผ่อน ” ตอนนี้กว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็น “ ลาวดาวน์ พี่น้องลาวผ่อน ” ครับ

ทางเลือกที่สำคัญของคนชั้นกลางใหม่กลุ่มนี้ ได้แก่ ความต้องการได้รับการบริการจากรัฐที่แตกต่างออกไป เพราะเมื่อก่อนนั้น การบริการของรัฐจะจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่มีรายได้สูงหรือข้าราชการเท่านั้น แต่หลังจากพวกเขาได้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ระดับหนึ่งแล้ว พวกเขาเริ่มตระหนักว่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายต่อรัฐ พวกเขาจึงควรได้รับการบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม

การสร้าง “ หลังพิง” ให้แก่คนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้ไม่ได้ทำให้คนชั้นกลางรุ่นเก่าเสียผลประโยชน์แต่ประการใด ในทางกลับกัน หากคนชั้นกลางใหม่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น พวกเขาก็จะค่อยๆเลื่อนตนเองเข้าสู่ภาคการผลิตที่เป็นทางการและเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสังคม ซึ่งก็จะทำให้กลุ่มคนชั้นกลางเก่าได้รับผลประโยชน์ร่วมเพิ่มมากขึ้นไป

ทางเลือกของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้จึงไม่ใช่การเปลี่ยนสังคมให้ผลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เพราะพวกเขาเองก็ตระหนักดีว่าชีวิตที่ดีกว่าเดิมของพวกเขารออยู่ข้างหน้าในสังคมนี้ ไม่ใช่สังคมที่เป็น “ สังคมนิยม” หรือ “สังคมเพ้อฝัน” อะไรทั้งสิ้น เพียงแต่พวกเขากำลังต้องการความเท่าเทียมจากการบริการจากรัฐเท่านั้นเอง

หากเราเข้าใจในทางเลือกของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นี้ พยายามให้กลไกอำนาจรัฐทุกระดับโปร่งใส และปฏิบัติต่อคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมไม่ลูบหน้าปะจมูก ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มก็จะลดลงทันที


เราไม่มีทางที่จะแช่แข็งสังคมเอาไว้ให้อยู่ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่เคยจรรโลงความไม่เท่าเทียมไว้ได้

ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วและได้กำลังก่อตัวแรงมากขึ้นเพี่อจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและอำนาจกันใหม่

หากเราทั้งหมดต้องการจะนำพาสังคมให้ก้าวพ้นความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังปะทุอยู่นี้ ทางใดที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคก็จะต้องทำกันในเร็ววัน



.