http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-04

ไปเดินเล่นวันที่ 24 มิถุนาฯ โดย คนมองหนัง

.
sms ข่าวTPNews - 5 กค. 10 น. ญาติเหยื่อ ม.112 นัดแถลงข่าวที่ สมาคมผู้สื่อข่าว ตปท. อาคารมณียา

 ________________________________________________________________________________________

ไปเดินเล่นวันที่ 24 มิถุนาฯ
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 85


ช่วงหัวค่ำของวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปยังถนนราชดำเนิน เพื่อร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดงอีกคำรบหนึ่ง 
การชุมนุมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ 80 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475
ตามความคิดแรกเริ่ม ผมตั้งใจจะไปฟังทอล์กโชว์ของนิสิตนักศึกษากลุ่ม "คณะราษฎรที่ 2" ที่เวทีของกลุ่ม 24 มิถุนาฯ บริเวณสี่แยกคอกวัว ตรงข้ามอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซึ่งมีกำหนดการอยู่ที่เวลา 19.00 น.
แต่เพราะมัวเอ้อระเหยลอยชายด้วยอารมณ์แบบชิลล์ๆ มากเกินไปหน่อย กว่าจะถึงที่หมาย เข็มนาฬิกาก็บอกเวลา 19.30 น. เสียแล้ว
และ "คณะราษฎรที่ 2" ก็มิได้ปรากฏกายอยู่บนเวที

ที่กำลังขึ้นแสดงบนเวที 24 มิถุนาฯ กลับเป็นวงดนตรีชื่อ "ไฟเย็น" ซึ่งผมไม่เคยรู้จักและไม่เคยได้ฟังเพลงของพวกเขามาก่อน 
ถ้าพูดถึงท่วงทำนอง ผลงานของ "วงไฟเย็น" จัดเป็นเพลงแนวสามช่า โจ๊ะๆ สนุกสนาน บางเพลงก็น่าจะหยิบยืมเมโลดี้ติดหูมาจากต่างประเทศ
ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ส่งผลให้บรรดาแฟนเพลงเสื้อแดงด้านหน้าเวทีนับพันคน พร้อมใจปรบมือและโยกย้ายส่ายสะโพกกันอย่างสนุกสนาน ยามได้ชมการแสดงของพวกเขา
แต่ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น กลับเป็น "เนื้อเพลง" ของ "วงไฟเย็น" ต่างหาก

หากฟังเผินๆ เนื้อเพลงของพวกเขาก็บรรจุไว้ด้วยอารมณ์ขบขันเฮฮาสอดคล้องไปกับทำนอง
แม้เราอาจไม่พบ "ความแหลมคม/ล่อแหลม" ใดๆ ดำรงอยู่ เมื่อพิจารณาลงไปใน "ตัวบท" ของเนื้อเพลงอย่างเฉพาะเจาะจงเพียงองค์ประกอบเดียว โดยแยกขาดมันออกจากสภาพแวดล้อมอื่นๆ 
ทว่า หากนำเนื้อเพลงของ "วงไฟเย็น" ไปวางอยู่ท่ามกลางบริบทของสังคมการเมืองไทยในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
และเทียบเคียงกันกับ "เรื่องเล่าเชิงสัญลักษณ์" ต่างๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็น "นิทานแบบชาวบ้านๆ" อันถูกสร้างขึ้นมาท้าทาย "นิทานที่เป็นตำนานฐานรากของระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ" แล้ว
เราก็จะพบว่า เพลงของวงดนตรีวงนี้มี "ความแหลมคม" เป็นอย่างยิ่ง

"แหลมคม" ขนาดที่ ส.ส. คนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีคิวขึ้นเวทีปราศรัยบนเวที 24 มิถุนาฯ ต่อจาก "วงไฟเย็น" และนั่งอยู่ในวงล้อมของมวลชนที่กำลังเต้นรำไปตามบทเพลง
ถึงกับประกาศด้วยอารมณ์ทีเล่นทีจริงและระมัดระวังตัว เมื่อถูกเชิญชวนให้ลุกขึ้นโลดเต้นตามเสียงเพลงว่า คราวนี้ เขาคงต้องขออนุญาตขัดใจพี่น้องสักครั้ง 
น่าสนใจว่า ทั้งๆ ที่เพลงของ "วงไฟเย็น" มีเนื้อหา "แหลมคม" ขนาดนั้น แต่เหตุใดมวลชนเสื้อแดงหลายพันคน (ซึ่งส่วนใหญ่คงสามารถ "ถอดรหัส" ของเนื้อเพลงได้อย่างถูกต้อง) จึงยังรู้สึกเพลิดเพลินใจกับบทเพลงเหล่านี้  
หรือนี่อาจเป็นความเพลิดเพลินใจที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย?



หลังชมการแสดงของ "วงไฟเย็น" จบ ผมเดินไปที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณทางเข้าอนุสรณ์สถาน มีผู้นำบทกวีการเมืองและรูปภาพของ "เหยื่อ" ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาติดไว้ 
พร้อมๆ กันกับที่ผมไปถึง มีพ่อคนหนึ่ง ซึ่งดูจากบุคลิกลักษณะน่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี เดินจูงลูกชายวัยราวสิบขวบต้นๆ มาชมรูปภาพดังกล่าว และอธิบายอะไรบางอย่างให้บุตรของตนเองได้รับฟัง 
ผมอยากจะลองตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อคนเสื้อแดงกลับมารวมตัวกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ภายหลังการปราบปรามประชาชนเมื่อปี 2553 ผ่านการชุมนุมหลายระลอก ซึ่งสามารถระดมพลมาได้เรือนหมื่นทุกคราว 
เรามีแนวโน้มจะพบเห็นพ่อแม่ "คนชั้นกลาง" พาลูกเล็กๆ มาเดินดูการชุมนุมของคนเสื้อแดงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 
ก่อนหน้านี้ เราอาจได้พบเห็นภาพและรับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในม็อบของ "คนชั้นกลาง" ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 หรือในการชุมนุมของ "คนเสื้อเหลือง" เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร, สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ 
แต่เรากลับไม่ค่อยได้พบเห็นภาพหรือได้ยินเรื่องราวประเภทดังกล่าว จากฝั่ง "ม็อบเสื้อแดง" ในช่วงปี 2552-2553 มากนัก

เป็นไปได้ไหมว่า ในขณะนั้น ภาพลักษณ์อันฝังแน่นกับ "ม็อบเสื้อแดง" อย่างเข้มข้น ก็คือ ภาพ "ความเป็นคนอื่น" "ผู้บุกรุก" "เชื้อโรคร้าย" ที่เป็นอันตรายหรือไม่ปลอดภัยต่อกรุงเทพมหานคร 
ในสายตา "คนชั้นกลางกรุงเทพฯ" ส่วนใหญ่ แม้การเข้าร่วมม็อบการเมืองอื่นๆ อาจนำมาสู่อันตรายได้เช่นกัน แต่นั่นก็เป็น "อันตรายอันเลวร้ายจากภายนอก" ที่พุ่งตรงมายัง "กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมอันบริสุทธิ์" 
ผิดกับสถานะของ "ม็อบเสื้อแดง" ที่มักถูกมองหรือตัดสินว่า ภยันตรายต่างๆ มิได้เดินทางมาจากพลังทำลายล้างภายนอก หากแฝงอยู่ในตัวกลุ่มผู้ชุมนุมเอง 
ขณะที่ในปัจจุบัน แม้ "ภาพเหมารวมเชิงลบ" ต่างๆ จะยังมิได้จางหายไป แต่ก็ดูเหมือนว่า "คนชั้นกลางกรุงเทพฯ" จำนวนไม่น้อย จะกล้าแสดง "ตัวตนทางการเมือง" ของตนเอง ผ่านการเข้าร่วม "ม็อบเสื้อแดง" โดยสะดวกใจมากขึ้น สอดคล้องกับภาพรถเก๋งหรูๆ หลายคัน ที่ถูกขับมาร่วมชุมนุม 
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงข้อสังเกตคร่าวๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดมาสนับสนุนแต่ประการใด


พอเดินห่างออกมาจากพ่อ-ลูกคู่นั้น ผมมุ่งหน้าไปนั่งพักบริเวณประติมากรรม "วีรชนเดือนตุลา" ข้างๆ ประติมากรรมชิ้นนี้ มีคนนำหุ่นพระพรหมขนาดเล็กที่พบเห็นได้ตามศาลพระภูมิส่วนใหญ่มาตั้งไว้ หนึ่งในกรของพระองค์มีพวงมาลัยคล้องอยู่ 
ตรงกลางระหว่างประติมากรรมวีรชนประชาธิปไตยกับเทวรูปแห่งศาสนาพราหมณ์ มีน้ำเปล่าขวดหนึ่งวางไว้ ผมไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งสักการบูชาประติมากรรมชิ้นแรก เทวรูปชิ้นหลัง หรือทั้งสองอย่างกันแน่? 

จากพระพรหมข้างวีรชนเดือนตุลา ผมย้อนนึกไปถึงภาพของหนึ่งในนักร้องนำ (หรือแขกรับเชิญก็มิทราบได้?) ของ "วงไฟเย็น" ซึ่งไม่ใส่เสื้อ นุ่งโจงกระเบนสีทอง และสวมชฎาบนศีรษะ ขึ้นเวที 
ย่ำรุ่งวันเดียวกัน ชายคนนั้นแต่งกายในลักษณะสะดุดตาคล้าย "เทวดา" เช่นนี้ ไปร่วมรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง บริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า 
ในฐานะตัวแทนเชิง "สัญลักษณ์ล้อเลียน" ของ "คณะบวรเดชที่ 3"



.