http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-03

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (4)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (4)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 39


ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร มันก่อวิกฤติหนี้ได้อย่างไร ปัญหานี้ถ้าให้นักวิชาการอธิบายให้ละเอียดลออ ประกอบด้วยไดอะแกรมและกราฟจำนวนมาก ย่อมยากที่สาธารณชนจะเข้าใจ และในที่สุดก็ละทิ้งความสนใจไป 
แต่เมื่อเกิดวิกฤติใหญ่ปี 2008 ผู้คนทั้งหลายจึงได้ประจักษ์ว่า เรื่องของเศรษฐกิจนั้นมีความสำคัญมากจนเกินกว่าที่จะปล่อยให้เศรษฐี ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนน้อยมาบริหารจัดการโดยลำพัง
จึงเกิดมีความพยายามที่จะอธิบายเรื่องของเศรษฐกิจและวิกฤติในภาษาที่เข้าใจได้สำหรับสาธารณชน เพื่อที่อย่างน้อยเป็นการป้องกันตนเอง ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกและวิกฤติของมัน อาจเรียงร้อยได้ดังนี้คือ


ระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นแบบทุนนิยมขับเคลื่อนไปด้วยการมุ่งแสวงหากำไร ซึ่งกระทำได้โดยวิธีการ 2 อย่างใหญ่ๆ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอย่างไม่หยุดยั้งและการเพิ่มสินเชื่อหรือหนี้สินอย่างต่อเนื่อง กระบวนการนี้ได้สร้างโภคทรัพย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 

แต่ในอีกด้านหนึ่งได้สร้างสิ่งพื้นฐาน 2 อย่าง ที่กัดกร่อนระบบเศรษฐกิจนั้น นั่นคือ หนี้กับของเสีย หนี้เป็นมลพิษทางเศรษฐกิจ ของเสียเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ที่พอกพูนขึ้นทุกทีจนระเบิดออกเป็นวิกฤติเป็นระยะ

การปล่อยสินเชื่อหรือการสร้างหนี้ ซึ่งกระทำเพื่อกระตุ้นการบริโภคที่ขาดหายไป (Demand Gap) นั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นว่า อัตราการปล่อยสินเชื่อสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
ซึ่งเมื่อถึงขั้นนี้ ในไม่ช้าก็จะถึงทางตัน ไม่สามารถหาผู้กู้รายใหม่อีกได้ 
ดังนั้น จึงมีวงจรคล้ายกับ "แผนฉ้อฉลลูกโซ่" (Ponzi Scheme) ที่เมื่อหาผู้มาเล่นต่อท้ายไม่ได้ก็จะล่มสลายลง เกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจใหญ่น้อยตามแต่ความเสียหาย 
ตัวอย่างการปล่อยสินเชื่อมากเกินไปจนเกิดวิกฤติ เช่น การปล่อยสินเชื่อปริมาณมาก ทำให้ขายอสังหาริมทรัพย์ได้ดีขึ้น ผลักดันให้ราคาบ้านและที่ดินสูงลิ่ว ทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้จ่ายเต็มที่ หรือซื้อบ้านใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ที่จะมีราคาสูงขึ้นอีก เกิดภาวะฟองสบู่ทาง อสังหารริมทรัพย์ขึ้น


เมื่อหมดผู้กู้ยืมในหมู่ชนชั้นกลาง ก็หันไปหาชนชั้นล่างที่มีรายได้น้อย บางคนไม่มีรายได้หรือไม่มีงานทำ เกิดการให้กู้แบบคุณภาพต่ำเกณฑ์หรือซับไพรม์ขึ้น จนกลายเป็นวิกฤติใหญ่ 
เมื่อเกิดวิกฤติก็นิยมแก้ไขปัญหา 2 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่ง ได้แก่ การปัดกวาดหนี้พิษและหนี้เสียไปด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งมักทำให้เหยื่อจำนวนมากล้มละลายหรือมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวลงมาก ในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ การขยายหรือหาพื้นที่ลงทุนใหม่

ในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ 1970 ระบบเศรษฐกิจโลกเผชิญกับวิกฤติรุนแรง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ประเทศสังคมนิยม ได้แก่ จีน ยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต และกึ่งสังคมนิยม ได้แก่ อินเดีย ได้หันมาพัฒนาประเทศโดยใช้ระบบตลาด เท่ากับเป็นการขยายพื้นที่การลงทุนและสินเชื่อขนานใหญ่ เศรษฐกิจโลกจึงได้ขยายตัวต่อไป จนกระทั่งระบบทุนได้ครอบงำไปทั่วโลก 
เมื่อเกิดวิกฤติปี 2008 ขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็น "มารดาแห่งวิกฤติ" เหลือพื้นที่ใหม่เพื่อการลงทุนไม่มาก มีบริเวณขั้วโลกเหนือและในทวีปแอฟริกาที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจน้อย เป็นต้น 
วิกฤตินี้จึงนับว่าเป็นการท้าทายต่อนายธนาคารใหญ่นักวิชาการและผู้บริหารทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 
วิกฤติเศรษฐกิจหรือวิกฤติหนี้ มักก่อให้เกิดภาวะชะลอตัว การว่างงาน และภาวะเงินฝืด ซึ่งจะวนซ้ำให้วิกฤติรุนแรงขึ้น หากหาทางออกไม่ได้ วิกฤติใหญ่ครั้งนี้ดำเนินมา 5 ปีแล้ว ดูเหมือนว่าจะยังไม่พ้นวังวน ในที่นี้จะกล่าวถึงสถานการณ์ทั่วไปเป็นเบื้องต้นก่อน



การร่วมมือของกลุ่มทุนใหญ่

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ในทศวรรษ 1930 นั้นกล่าวกันว่ามีความรุนแรงมากเพราะรัฐบาลตะวันตกแต่ละประเทศพยายามแก้ไขปัญหาของตนเอง จนกระทั่งเกิดลัทธิคุ้มครองทางการค้า ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากประเทศอื่น เพื่อให้อุตสาหกรรมของตนอยู่รอดและสร้างงานได้   แต่การปฏิบัติเหล่านี้ดูเหมือนยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงอีก 
นี่ดูจะเป็นบทเรียนสำคัญที่กลุ่มทุนใหญ่ของโลกได้มา

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจแสดงตัวชัดเจนในการล้มของสถาบันการเงินเลห์แมน บราเธอร์ส ในเดือนกันยายน 2008 ประธานาธิบดีบุชได้เรียกให้มีการประชุมกลุ่ม 20 เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และได้ยืนยันว่า สหรัฐยังคงถือนโยบายโลกาภิวัตน์ ได้เกิดการร่วมมือของกลุ่มทุนใหญ่ในโลกอย่างน่าจับตา  
โดยประเทศที่สถาบันการเงินมีปัญหาก็ให้อุ้มชูไถ่ถอนให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ประเทศที่ไม่มีปัญหานี้ก็ให้เพิ่มปริมาณเงินหรือสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือจะทำทั้ง 2 ด้านพร้อมกันก็ได้ 
สหรัฐเลือกทำ 2 ด้าน ประเทศจีนและไทยเน้นการเพิ่มปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤติหนี้ในเขตยูโร ที่เริ่มปะทุขึ้นที่กรีซในปี 2009 นั้นอาศัยกลุ่มองค์กรที่เรียกกันว่ารถเทียมม้า 3 ตัวหรือทรอยก้า ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ ความร่วมมือดังกล่าวช่วยให้โลกพ้นจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจได้อย่างน่าทึ่ง

สะท้อนถึงความคงทนของระบบทุนนิยมด้วย 
ปัญหาเหลืออยู่ว่าจะร่วมมือและมีความคงทนจนตลอดรอดฝั่งหรือไม่


ความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม 20 และจีน

กลุ่ม 20 ประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่ม 7 คือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิม กลุ่มบริกส์ที่เป็นแกนประเทศตลาดเกิดใหม่ มี จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ และกลุ่มอิสลาม ได้แก่ อินโดนีเซีย และตุรกี (ที่เหลือจัดอยู่ในกลุ่มอื่นๆ) ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจโลก

การที่กลุ่ม 20 เพิ่มความสำคัญขึ้นน่าจะเนื่องจากเหตุผลง่ายๆ ว่า วิกฤติใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นภายในกลุ่ม 7 เอง นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว ลำพังกลุ่ม 7 ไม่สามารถแก้ไขได้ต้องการขยายความร่วมมือออกไป 
การที่กลุ่ม 20 มีบทบาทสูงขึ้น ส่งผลให้จีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกมีความโดดเด่นในการแก้ไขปัญหาวิกฤติหนี้ของยุโรปมากขึ้น จนกล่าวได้ว่าแซงหน้าสหรัฐ   
จากการสำรวจของสำนักประชามติพิว พบว่า ชาวเยอรมนีร้อยละ 62 ชาวอังกฤษร้อยละ 58 ชาวฝรั่งเศสร้อยละ 57 และชาวสเปนร้อยละ 57 เห็นว่าจีนมีอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของโลก ( pewglobal.org 130612 )



วิกฤติหนี้ในทุกภาคส่วน

วิกฤติหนี้ครั้งนี้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เนื่องจากการขยายสินเชื่อเป็นเวลานานหลายสิบปี ดังนั้น กว่าจะทำความสะอาดหนี้ทั้งหมดจึงต้องใช้เวลามาก หนี้บางอย่างยังซุกซ่อนไว้เหมือนระเบิดเวลาอีก จำแนกหนี้ภาคส่วนต่างๆ ได้ดังนี้

1. หนี้สถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม จนรัฐบาลต้องเข้าอุ้มไถ่ถอน ทำให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่รอดจากการล้มละลาย และขยายตัวดำเนินกิจการของตนต่อไปไม่ต่างจากเดิมมาก แต่หนี้สินนั้นก็ยังคงอยู่ หนี้เหล่านี้ยังเป็นเรื่องเล็ก
สิ่งที่น่าห่วง ได้แก่ ปัญหาอนุพันธ์ (Derivatives) ที่ธนาคารเหล่านี้ถือไว้ อยู่ระหว่าง 700 ล้านล้าน ถึง 1,200 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเป็นตัวเลขหลังก็มากกว่าจีดีพีโลกถึง 20 เท่า  
อนุพันธ์เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อน และอยู่นอกการควบคุมด้วยกฎระเบียบของทางการ

วอร์เรน บัฟเฟต เศรษฐีพันล้านนักการเงินใหญ่ชาวสหรัฐได้กล่าวถึงอนุพันธ์และกล่าวเตือนไว้ตั้งแต่ปี 2002 ว่า 
"ผมเห็นอนุพันธ์เป็นเหมือนระเบิดเวลา ทั้งต่อผู้ที่ร่วมเล่นและระบบเศรษฐกิจ พื้นฐานแล้วอนุพันธ์เป็นเครื่องมือทางการเงินอย่างหนึ่งที่ช่วยการเปลี่ยนเงินจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งในเวลาที่แน่นอนในอนาคต โดยจำนวนจะเป็นเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับรายการอ้างอิงบางอย่างเช่นอัตราดอกเบี้ย ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือค่าของเงินตรา การทำสัญญาซื้อขายอนุพันธ์สั้นยาวไม่แน่นอน บางสัญญายาวถึง 20 ปีหรือกว่านั้น รายได้จากการซื้อขายอนุพันธ์ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร มักทำตัวเลขให้สูงเกินจริง ข้อผิดพลาดสำคัญของการซื้อขายอนุพันธ์ มันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ได้สมมาตร เกือบทั้งหมดเกิดจากนักค้าที่ต้องการเงินโบนัสหลายล้านดอลลาร์หรือซีอีโอที่ต้องการจะรายงานรายได้ที่น่าประทับใจ โบนัสได้จ่ายไปแล้ว ซีอีโอได้ตราสารสิทธิ์แล้ว เพียงแต่หลังจากนั้นเป็นเวลานานผู้ถือหุ้นจึงได้รู้ว่ารายงานรายได้นั้นเป็นการตบตา...อนุพันธ์ยังเร่งความลำบากแก่บรรษัทในยามยาก...และยังทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นลูกโซ่คล้ายกับความเสี่ยงจากการประกันและการประกันต่อ ซึ่งเป็นการนำธุรกิจของตนไปขึ้นต่อของผู้อื่น... อนุพันธ์เป็นอาวุธทำลายล้างสูงทางการเงิน แม้ปัจจุบันอันตรายจะแฝงอยู่ แต่มีศักยภาพที่ทำให้ถึงตายได้" (ดูเอกสารชื่อ Warren Buffet on Derivatives ใน fintools.com )

เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคาร เจ. พี. มอร์แกน-เชส ประกาศว่าตนขาดทุนจากการค้าอนุพันธ์ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ แต่นี่อาจเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง


2. หนี้รัฐบาล วิกฤติที่เริ่มจากภาคธุรกิจเอกชนในที่สุดก็ลามสู่ภาครัฐบาลด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เป็นวิกฤติที่ลึกขึ้นไปทุกที นั่นคือไม่ใช่สถาบันการเงินไม่มีเงินชำระหนี้ คราวนี้เป็นรัฐบาลเอง

รัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกที่เป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจอยู่ในกลุ่ม 7 ล้วนมีหนี้กองใหญ่ และยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนมีเครดิตน้อย หนี้รัฐบาลโดยทั่วไปค่อนข้างต่ำ 
หนี้สาธารณะของประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศมีดังนี้ ญี่ปุ่น ราวร้อยละ230 ของจีดีพี, อิตาลี ร้อยละ120, สหรัฐ ร้อยละ103, ฝรั่งเศส ร้อยละ 86, แคนาดา ร้อยละ85, อังกฤษ ร้อยละ82, เยอรมนี ร้อยละ81 (ตัวเลขปี 2011 จากวิกิพีเดีย)

ในปัจจุบันถือกันว่า หนี้รัฐบาลในเขตสกุลเงินยูโรหลายประเทศถึงขั้นวิกฤติต้องขอให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศช่วยเหลือ ได้แก่ กรีซ (สัดส่วนหนี้รัฐบาลร้อยละ 161 ของจีดีพี), ไอร์แลนด์ (ร้อยละ 105), โปรตุเกส (ร้อยละ 106) และ สเปน (ร้อยละ 68)


3. วิกฤติหนี้บรรษัท บรรษัทใหญ่ทางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าทุกอย่างขึ้นมานั้น มีข่าวเสมอมาว่ามีรายได้งามและมีกำไรเป็นยอดเงินสูง แต่ในอีกด้านหนึ่งบรรษัทเหล่านี้ก็ต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นตลอดเพื่อขยายกิจการ

สำนักจัดระดับความน่าเชื่อถือ 'สแตนดาร์ดแอนด์พัวส์' ประมาณว่าบรรษัทที่ไม่ใช่ทางการเงินในยุโรป สหรัฐ และบางประเทศเอเชีย ต้องการเงินทุนมหาศาลเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้ที่ครบกำหนดชำระ และเงินก้อนใหม่เพื่อการลงทุนขยายการเติบโต โดยมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 43-46 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 4 ปี ข้างหน้า (ค.ศ. 2012 - 2016) หรือเฉลี่ยปีละกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ 
การที่พันธบัตรของบรรษัทถึงกำหนดชำระเงินคืนนั้นจะกลายเป็นกำแพงหนี้ใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งจะยิ่งทำให้ตลาดสินเชื่อตึงขึ้นอีก
ในสภาพที่เกิดวิกฤติหนี้ในเขตยูโร เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวดี ธนาคารต่างๆ จะหาเงินมาจากไหน แต่การไม่แก้ไขปัญหาหนี้และให้สินเชื่อแก่บรรษัทเหล่านี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการก็เกิดขึ้นได้ยาก ( ดูบทความของ Jeremy Warner ชื่อ Debt Crisis : a $46 trillion problem comes sweeping in ใน telegraph.co.uk 280512 )


4. สถานการณ์หนี้ครัวเรือน ยกตัวอย่างของสหรัฐปัจจุบัน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2012 พบว่าสูงถึง 11.44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ซึ่งเป็นยอดที่ต่ำกว่าในปี 2008 ที่เกิดวิกฤติราว 584 แสนล้านดอลลาร์) ในนี้เป็นหนี้การจำนองร้อยละ 72 หนี้จากการใช้บ้านค้ำประกันร้อยละ 5 หนี้ในการซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 หนี้บัตรเครดิตร้อยละ 6 หนี้กู้ยืมของนักศึกษาร้อยละ 8 หนี้อื่นๆ ร้อยละ 3 ( businessinsider.com 310512 )

เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐขับเคลื่อนโดยการบริโภคของภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ดังนั้น ปริมาณหนี้มหาศาลจึงย่อมส่งผลลดการบริโภคด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งการกู้เงินให้น้อยลง ซึ่งจะวนซ้ำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่สามารถสร้างงานและรายได้เพื่อการบริโภค ที่เรียกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐนับว่าอ่อนแรงมาก 
คาดว่าคงจะต้องเพิ่มปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

วิกฤติหนี้ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนมวลน้ำมหาศาลที่โถมท่วมทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า



.