.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปรองดองในภาคประชาชน
ในมิติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:01:06 น.
ผมเพิ่งได้อ่านงานวิจัยเรื่อง "โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย" ของ ศ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง โดยผู้วิจัยได้แสดงให้เห็นจากข้อมูลสถิติหลายอย่างว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, สังคม และอุดมการณ์ซึ่งเกิดในสังคมไทยในระยะ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่ความตึงเครียดและแตกร้าวในประเทศไทยขณะนี้อย่างไร
ในขณะที่การ "ปรองดอง" กำลังเป็นปัญหาที่ถกเถียงจนถึงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง งานวิจัยของ อ.ธเนศน่าจะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนลงได้บ้าง เพราะ อ.ธเนศกำลังพูดว่า ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมาหลายปีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 โดดๆ หรือเพราะทักษิณ หรือเพราะสถาบันและเครือข่ายใดๆ เท่านั้น แต่มีพื้นฐานมาจากความเปลี่ยนแปลงที่ค่อยๆ คลี่คลายมานานกว่าสามทศวรรษ
การทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ตามความเข้าใจของผม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยครั้งนี้ แตกต่างจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ใน พ.ศ.2475 นอกจากเหตุผลทางการเมือง, สังคม และอุดมการณ์แล้ว ยังมีการผลักดันของกลุ่มทุนภายในบางกลุ่ม ที่ต้องการให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตั้งกำแพงภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สนใจตอบสนอง (รัฐบาลคณะราษฎรก็ไม่ตอบสนองเช่นกัน และทำความผิดหวังแก่กลุ่มทุนภายใน)
ส่วนหนึ่งของ 14 ตุลา เกิดขึ้นจากการเติบโตของคนชั้นกลางในเขตเมือง ภายใต้นโยบายพัฒนา ในขณะที่กลุ่มทุนก็ต้องการอิสรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะจากการ "กินหัวคิว" ของนายทหารในกองทัพ
ความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมากระทบต่อคนระดับบน พลังของคนระดับบนเป็นหลักในการผลักดันให้ต้องเปลี่ยนระบบการเมืองให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงด้านอื่น แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดในสามทศวรรษหลังนี้ กระทบต่อคนเกือบทุกชั้นในสังคมไทย แผ่ไปกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้พลังที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาจากคนหลายกลุ่มมาก อย่างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน
คนระดับล่างซึ่งนับวันต้องอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น แม้แต่ที่อยู่รอดในภาคเกษตร ก็เป็นเกษตรเชิงพาณิชย์เต็มตัว ต้องการความมั่นคงในชีวิตเศรษฐกิจของตนอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งชีวิตตามจารีตประเพณีไม่อาจตอบสนองได้เสียแล้ว คนชั้นกลางที่มีการศึกษาและทำงานในเมือง ก็พบว่าชีวิตของตนขาดความมั่นคงเช่นกัน โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจใน พ.ศ.2540 แต่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่า ในสภาพโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นนี้ ยากที่แต่ละปัจเจกจะสามารถแสวงหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้ จึงเป็นกลุ่มคนที่หวาดระแวงต่อความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง
ไม่ต่างจากทุนขนาดใหญ่ที่หากำไรกับการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า ยิ่งนับวันก็ยิ่งถูกผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีมากขึ้น ซ้ำยังมีเอสเอ็มอีที่เริ่มผลิตสินค้าคุณภาพแข่งขันมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมไทยนั้น จะเห็นได้ดีในอัตลักษณ์ใหม่ๆ และหลากหลายที่เกิดขึ้นในรอบสองสามทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ลูกศิษย์หลวงพ่อดังๆ ทั้งหลาย ซึ่งทำให้ต้องมีวัตรปฏิบัติส่วนตนที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะ หรือญาติธรรม ที่ต่างถึงขนาดเครื่องนุ่งห่มและทรงผม ไปจนถึงป้าย "เรารักในหลวง" หรือ "แวร์อาร์ยู ทักษิณ" (ขอให้สังเกตว่าไม่ใช่ป้ายบริษัท, องค์กรที่ตนทำงานอยู่ หรือกองทัพ) และแน่นอนย่อมรวมเสื้อเหลือง, เสื้อแดง, เสื้อหลากสี ฯลฯ ด้วย โดยสรุปก็คือ ผู้คนเริ่มมองเห็นตนเองแตกต่างไปจากเดิม และเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ย่อมมองความสัมพันธ์ของตนเองกับคนอื่นหรือสังคมแตกต่างไปจากเดิมด้วยเหมือนกัน
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ "ระบบ" ที่เคยทำงาน ไม่อาจทำงานอย่างเดิมได้อีกต่อไป ผมขอยกตัวอย่างเพียงกำลังของระบบเดิมที่ใช้ในการบังคับควบคุม (coercive forces) ที่สำคัญคือกองทัพ และคนในกระบวนการยุติธรรม
ดูเผินๆ เหมือนสถาบันเหล่านี้ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในแง่ของบทบาทอาจจะใช่ คือยังคงทำหน้าที่ปกป้องระบบเดิมด้วยอำนาจที่อยู่ในมือ แต่ที่จริงแล้วเกิดความเครียดอย่างมากขึ้นในสถาบันทั้งสองอย่างยิ่ง
การรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวที่จะรักษาระบบไว้ให้มั่นคงเหมือนเดิม บอกให้กองทัพรู้ว่า เครื่องมือสำคัญในการแทรกแซงการเมืองของกองทัพนั้นเริ่มไร้ประสิทธิภาพเสียแล้ว อย่างน้อยต้นทุนก็สูงเสียจนอาจไม่คุ้ม การใช้กำลังปราบปรามผู้ต่อต้านก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลงเมื่อสลายฝูงชนได้สำเร็จ แต่ยังกลายเป็นปัญหาที่อาจหันมาทิ่มแทงกองทัพได้จนบัดนี้
ภายในกองทัพเองก็มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น ทหารเกณฑ์มีการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมาก ยุคสมัยของการผูกผ้าที่แขนเพื่อให้ซ้ายหันขวาหันถูกต้องหมดไปแล้ว ผลการเลือกตั้งในเขตดุสิตครั้งสุดท้ายนี้ชี้ให้เห็นว่าทหารไม่ได้หันไปตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้ขัดคำสั่งโดยไม่ถูกจับได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ อุดมการณ์ที่เคยมีพลังครอบงำคนทั้งกองทัพได้กำลังถูกสั่นคลอน ปราศจากอำนาจทางอุดมการณ์ ก็เหลือแต่อำนาจที่ต้องอิงกับความชอบธรรมตามกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้กองทัพต้องอยู่ในบังคับบัญชาของพลเรือน (โดยเฉพาะนักการเมือง) มากยิ่งขึ้น
คนในกระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อัยการ, ตุลาการ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ แม้แต่ตัวกฎหมายเองก็ถูกผู้คนตั้งคำถาม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญา, แพ่ง วิธีพิจารณาความ ในวงการตุลาการ เราไม่มีคนที่มี "บารมี" สูงจนเป็นที่เชื่อฟังอย่างกว้างขวาง เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์, หรืออดีตผู้พิพากษาเรืองนามอื่นๆ มานานแล้ว
ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้บอกว่า ผู้พิพากษาที่เก่งและดีไม่มีอีกแล้ว แต่บอกว่ามาตรฐานของความเก่งและความดีในวงการผู้พิพากษาได้เปลี่ยนไปแล้วต่างหาก
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ กัดกร่อนความเชื่อมั่นตนเองในวงการสื่อไปมาก แม้แต่งบโฆษณาของสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ก็เริ่มถูกเบียดเบียนจากโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ต้องพูดถึงงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งหดหายลงตลอดมาหลายสิบปีแล้ว
ในขณะที่คนจำนวนมากซึ่งต้องเข้ามาอยู่ในเศรษฐกิจตลาดอย่างเต็มตัว ย่อมต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเอง คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในเมือง กำลังหวาดระแวงกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง เพราะได้เห็นแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงในชีวิตทางเศรษฐกิจของตนตลอดมา จึงหันไปทุ่มเทความพยายามในอันที่จะไม่ให้ระบบการเมืองเปลี่ยน เช่นคนเหล่านี้กลับไปเป็นนักกษัตริย์นิยมอย่างสุดโต่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติของความเป็นกษัตริย์นิยมที่เหนียวแน่นนักมาก่อน ทั้งนี้เพราะอยากใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์แห่งสมอที่จะหยุดการก้าวเดินไปข้างหน้า (เช่น หยุดโลกาภิวัตน์ไว้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง)
ในภาวะที่มีความขัดแย้งกันอย่างสูงเช่นนี้
ข้อเสนอที่สร้างสรรค์ต่างๆ เช่นการสร้างกติกาของความขัดแย้งใหม่ ล้วนไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ
สิ่งที่น่าคิดก็คือจะหาข้อเสนอระดับกลาง (intermediate measures) ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยตรง แต่เป็นที่ยอมรับกันได้หลายฝ่ายได้อย่างไร
โดยส่วนตัว ผมคิดว่าข้อเสนอเรื่องการปรับโครงสร้างอำนาจ น่าจะเป็นที่ยอมรับได้แก่หลายฝ่าย อำนาจการบริหารจัดการทรัพยากรทุกชนิดในสังคมไทยไม่ควรกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะส่วนกลาง แต่ต้องสร้างกลไกและกระบวนการที่จะทำให้คนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวกับ "การเมือง" ของความขัดแย้งโดยตรง แต่จะมีผลลดระดับความขัดแย้งลงไปเป็นอันมาก (หากทำได้สำเร็จ)
การเมืองจะไม่กระจุกตัวในส่วนกลาง ที่กล่าวกันว่าการเมืองไทยเป็นเกมส์ "กินรวบ" คือใครได้ก็ได้หมด ใครเสียก็เสียหมดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากสันดานของนักการเมืองไทย แต่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขในการจัดโครงสร้างอำนาจที่กระจุกไว้กับส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ใครได้ตำแหน่งบริหารก็จะมีอำนาจล้นฟ้าโดยอัตโนมัติ การกระจายอำนาจจะทำให้ไม่มีวันที่ใครจะได้อะไรหมดฝ่ายเดียว เพราะมีคนในท้องถิ่นระดับต่างๆ เข้ามาถ่วงดุลอยู่เสมอ
ประชาชนระดับล่างสามารถเข้ามามีบทบาท หรือกำกับควบคุม การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตนเอง ทั้งในรูปงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร, งบประมาณที่มาจากแหล่งรายได้ของตนเอง และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งผู้บริหารที่อยู่ในโอวาทของประชาชน ไม่ใช่โอวาทของพี่ชาย
คนชั้นกลางที่มีการศึกษาย่อมมีอิทธิพลทางด้านความคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นอยู่แล้ว ใครจะบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับหนึ่งได้ดี หากไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นที่ประชาชนสามารถกำกับควบคุมได้จริง
คนที่กลัวการรัฐประหาร การกระจายอำนาจจะทำให้ผู้ทำรัฐประหารไม่รู้จะ "ยึด" อะไร เพราะไม่มีศูนย์กลางอะไรให้ยึด แม้แต่สถานีโทรทัศน์ก็ไม่รู้จะยึดช่องไหนดี เพราะไม่มีอำนาจของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาบังคับให้ทุกช่องต้องถ่ายทอด
ความแตกแยกทางการเมือง ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ-สังคม-อุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่ม ระหว่างชนชั้น แม้แต่เมื่อชนชั้นนำสามารถเจรจารอมชอมกันได้ ก็หาได้ทำให้ความขัดแย้งที่แท้จริงหมดไปไม่
ผู้ซึ่งมีหน้าที่คิดเรื่องการ "ปรองดอง" ควรคิดถึงมาตรการระดับกลางเช่นนี้ให้มาก เพื่อจะนำไปสู่การรอมชอมที่แท้จริงของภาคประชาชน ไม่ใช่การเกี้ยเซี้ยที่มุ่งจะรักษาระบบการเมืองให้คงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย