http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-03

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(13) (14): “ดินมรณะ”, “มูโตะ” ชิวิตที่เปลี่ยนไป โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก: (13) “ดินมรณะ”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม 
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 36


ในระหว่างวัดระดับกัมมันตรังสีในพื้นที่มินามิโซมา จังหวัดฟุคุชิมา หลังเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ในวันที่ 11 มีนาคมปีที่ผ่านมา "โคอิชิ โอยามา" ผู้เชี่ยวชาญ แสดงความสงสัยเป็นอย่างยิ่ง เพราะสภาพดินที่แห้งกรังปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นมีสีดำ 
ที่น่าแปลกไปกว่านั้น ก็คือการตรวจวัด "กัมมันตรังสี" ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาอย่างกรุงโตเกียว หรือเมืองมิยากิ, ยามากาตะ และจังหวัดนิอิกาตะ มีระดับสูงและสภาพดินเป็น "สีดำ" เช่นกัน

"ดินดำ" ในความหมายของนักวิจัย "โอยามา" เปรียบได้กับ "ฝนดำ" ที่เกิดขึ้นหลังสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ในสงครามโลกครั้งที่สอง 
ฝนดำทำให้ชาวเมืองทั้งสองเกิดอาการเจ็บป่วยเป็นโรคประหลาดลึกลับที่วงการแพทย์ในสมัยนั้นมิอาจวินิจฉัยได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
กระนั้นสภาพ "ดินดำ" ยังดำรงคงอยู่ในพื้นที่หลายๆ แห่ง แม้ว่าเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาผ่านมานานถึงหนึ่งปี เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองมินามิโซมาบอกว่า กัมมันตรังสีปนเปื้อนในดินถือเป็นเรื่องปกติและไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ในทันที 
ดินดำที่คณะของโอยามาเก็บรวบรวมนำไปส่งให้ ศาสตราจารย์โทโมยา ยามาอูชิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวัดระดับกัมมันตรังสีแห่งมหาวิทยาลัยโกเบ ผลปรากฏว่ามีระดับเซเซียมอยู่ที่ 1.08 ล้านเบคเคอเรล (becquerels) ต่อกิโลกรัม 
ตัวอย่างดินดำบางชิ้นที่ "โอมายา" นำไปตรวจวัดยังพบว่า มีกัมมันตรังสี เช่น "พลูโตเนียม" และ "สตรอนเตียม" ปนเปื้อนอยู่ด้วย


ตัวอย่าง "ดินดำ" ที่เก็บจากพื้นที่ต่างๆ ทางตะวันออกของญี่ปุ่น รวมกว่า 100 แห่ง นำไปวิเคราะห์ร่วมกับมหาวิทยาลัยอิวากิ เมเซอิ และมหาวิทยาลัยโตโฮกุ 
ขณะเดียวกัน บรรดาชาวโตเกียวเป็นกังวลถึงผลกระทบจากกัมมันตรังสี โดยเฉพาะผู้ปกครองที่พาลูกหลานไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะมิซูโมโต ในเขตคัตสุชิกะ
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้ปกครองราว 90 คน ระดมกำลังจัดหาซื้อเครื่องมือตรวจวัดกัมมันตรังสีหรือโดซิมิเตอร์ ไปตรวจวัดผิวดิน ใต้ร่มไม้ของสวนสาธารณะแห่งนั้นพร้อมบันทึกผล พบว่าปริมาณกัมมันตรังสีในพื้นที่เกินระดับ 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง 

จุดที่พบกัมมันตรังสีสูงสุดคือดินดำบริเวณถนนลาดยางมะตอยของสวนสาธารณะ 
บนผืนหญ้าของสวนมีระดับกัมมันตรังสีที่ 0.25 ไมโครซีเวิร์ต 
แต่ถ้าเทียบระหว่างกัมมันตรังสีบนผิวหญ้ากับผิวดินดำ พบว่า "ดินดำ" ปนเปื้อนมากกว่า 4 เท่า

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ระหว่างเกิดเหตุเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิด กัมมันตรังสีฟุ้งกระจายสู่ท้องฟ้า กระแสลมและสายฝนพัดมาจากฝั่งทะเลตะวันออกของญี่ปุ่นนำพามายังพื้นที่ของสวนสาธารณะมิซูโมโต 
สำหรับผลสรุปการตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา จุดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือบริเวณทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดฟุคุชิมาและทางเขตคันโตเกือบทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีทางตอนเหนือของกรุงโตเกียวบางส่วน 
ระดับกัมมันตรังสีที่สูงสุดคือ 5.57 ล้านเบคเคอเรลต่อกิโลกรัมพบอยู่ในดินดำที่เก็บมาจากเมือง "คานายา" ทางตอนใต้ของมินามิโซมา
ในจังหวัดฟุคุชิมา พบดินดำเปื้อนกัมมันตรังสีถึง 36 แห่งจากตัวอย่างที่เก็บทั้งหมด 41 แห่งและมีระดับกัมมันตรังสีสูงเกิน 100,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม การบริหารจัดการกับดินดำประเภทนี้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แยกชิ้นออกมาแล้วฝังในคอนกรีตอัดแน่น
พื้นที่รอบๆ และปริมณฑลของกรุงโตเกียว พบกัมมันตรังสีฟุ้งกระจาย มีอาทิ เมืองคาวาจิมา ในจังหวัดไซตามะ มีระดับ 420,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม
บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาติ ใกล้กับสวนสาธารณะคิตาโนมารุ ในเขตชิโยดะ พบกัมมันตรังสี 90,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ที่เมืองชินบาชิ ในเขตมินาโตะ มีปริมาณ 70,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

ศาสตราจารย์ยูคิโอะ ฮายากาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูเขาไฟวิทยา (volcanology) แห่งมหาวิทยาลัยกุนมะ ศึกษาการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีทางอากาศในพื้นที่ 60 แห่งตั้งแต่เมืองฮอกไกโดจนถึงพื้นที่ตอนใต้ของจังหวัดคาโกชิมา พบว่า ระดับกัมมันตรังสีที่พบในเมืองโคริยามา จังหวัดฟุคุชิมาอยู่ที่ 9.1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง 
ในเขตปริมาณของกรุงโตเกียว พบว่าจังหวัดชิบะมีระดับกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายในอากาศระหว่างโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิด 3.8 ไมโครซิเวิร์ตต่อชั่วโมง และเมืองอะบิโก 2.5 ไมโครซิเวิร์ตต่อชั่วโมง 
ตามมาตรฐานของญี่ปุ่น ถ้าพบว่ากัมมันตรังสี "ซีเซียม" มีระดับเกิน 10,000 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม จะต้องกำจัดอย่างระมัดระวังเช่นเก็บวัตถุปนเปื้อนกัมมันตรังสีดังกล่าวใส่ในถังโลหะพิเศษเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย

แต่ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นกำจัดและบำบัดพื้นที่เปื้อนกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาเป็นไปอย่างเชื่องช้าจนเกิดเสียงตำหนิจากกลุ่มนักวิชาการที่เฝ้าระวังภัย "กัมมันตรังสี"



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก: (14) “มูโตะ” ชิวิตที่เปลี่ยนไป
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 35


วิถีชีวิตของครูเกษียณวัย 58 ปี "รุยโกะ มูโตะ" เปลี่ยนอย่างกะทันหันในทันทีที่โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดและพ่นกัมมันตรังสีออกมา 
"มูโตะ" มีบ้านอยู่ในหุบเขาใกล้กับเมืองทามูระ จังหวัดฟุคุชิมา แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม
ตลอด 16 ปีที่ผ่านมาครูมูโตะอยู่อย่างเรียบง่าย และจดจำฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านในแต่ละห้วงเวลาได้อย่างแม่นยำ
ทุกฤดูร้อน นกนานาชนิดออกมาหากินส่งเสียงร้องขับขานดังกังวานทั่วผืนป่าที่เขียวชอุ่มด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายสีสันสดใส
ถึงฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีและร่วงหล่นสู่พื้นเมื่อลมแรงและหนาวเย็น

จากนั้นเข้าสู่ฤดูหนาว "มูโตะ" เก็บตัวอยู่ในบ้านอันอบอุ่นด้วยเตาผิง แล้วกลับมามีสีสันสดใสอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ
รอบๆ บ้านของครูเกษียณเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้มากมาย ทั้งลิลลี่ ดอกไวโอเล็ต ดอกไม้ชนิดอื่นๆ เบ่งบานไปทั่วท้องทุ่งส่งกลิ่นหอมอบอวล
ในคืนเดือนมืด มูโตะมองท้องฟ้าเห็นดวงดาวน้อยใหญ่ เปล่งแสงสุกสว่างระยิบระยับ

ร้านกาแฟ "คิราระ" หมายถึง "ความสุกใสแวววาว" ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขาธรรมชาติอันสวยงามด้วยนั้น "มูโตะ" สร้างขึ้นมาเมื่อ 9 ปีก่อนด้วยหมายมั่นปั้นมือให้เป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่ส่องสว่างสุกใสเหมือนชื่อ อีกทั้งยังคาดหวังลูกค้าที่เข้ามาชิมรสกาแฟและอาหารดื่มด่ำความสุขกับรสชาติอันพิเศษสุด 
อาหารในร้าน "คิราระ" ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติไร้มลพิษส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวจากชุมชน ซึ่งแทบจะหาได้ยากในเมืองใหญ่ เช่น ซุปถั่วเหลืองของร้านคิราระมีส่วนผสมของใบอาชิตาบะ (Ashitaba) เป็นต้นไม้ขึ้นเฉพาะในป่าทึบ 
ใบอาชิตาบะมีคุณค่าทางแพทย์สูง มีสารต้านโรคมะเร็ง วิตามินบี 12 และสารคัลโคนอยด์ เช่นเดียวกับข้าวแกงกะหรี่ของร้านนี้รสชาติพิเศษไม่เหมือนใคร


บ่ายวันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดแผ่นดินไหวความแรง 9.0 ริกเตอร์ ตามด้วยเสียงระเบิดของเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา 
ขณะที่ "มูโตะ" ง่วนอยู่กับร้านกาแฟ ได้ยินเสียงดังคำรามราวกับภูเขาถล่ม 
นับจากวันนั้น ร้าน "คิราระ" อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาราว 45 กิโลเมตร ติดป้ายประกาศปิดกิจการ 
"มูโตะ" บอกว่า สภาพแวดล้อมเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง ต้นไม้ใบหญ้าปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี
บรรดาถั่วพันธุ์ต่างๆ พืชผักนานาชนิดรวมไปถึงผลไม้อย่างลูกเบอร์รี่ แอปเปิ้ล สาลี่และลูกท้อ ปลูกในป่าแถวๆ ใกล้เมืองทามูระ ปกติแล้วชาวเมืองรวมทั้งร้าน "คิราระ" นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร
แต่นับจากวันมหันตภัย "ฟุคุชิมา" แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง วัตถุดิบเหล่านี้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามไม่เว้นแม้กระทั่งไม้ฟืนซึ่ง "มูโตะ" ไปเก็บหาจากป่าเอามาตัดเป็นท่อนๆ ใส่เตาผิงและเป็นฟืนในร้าน ก็มิอาจนำมาใช้ได้อีก

ทางการญี่ปุ่นประกาศบังคับให้ผู้คนในเมืองทามูระและเพื่อนบ้าน "มูโตะ" รวมแล้ว 620,389 คน ออกจากพื้นที่และห้ามนำข้าวซึ่งปลูกในพื้นที่ 73 ตารางกิโลเมตรออกมาขาย 
"ทุกสรรพสิ่งในป่าเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี ชีวิตของดิฉันอยู่ท่ามกลางภูเขาล้อมรอบจะไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป" มูโตะให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนหลายแขนางด้วยน้ำเสียงนุ่มๆ เรียบๆ แต่นัยน์ตาของเธอนั้นบ่งบอกถึงความขุ่นเคืองขับข้องใจเป็นอย่างยิ่ง



เมื่อสื่อมวลชนถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้ "มูโตะ" กลายเป็นหัวขบวนของขบวนการรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เธอบอกว่าไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาเพียงเท่านั้น หากในอดีตเคยมีประสบการณ์อันขมขื่นมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง 
ครั้งแรกในช่วงยังเป็นวัยเด็ก หลังสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ผู้ใหญ่จะเตือนว่าห้ามไปเล่นน้ำฝน เวลาฝนตกเลี่ยงอย่าให้น้ำฝนกระเด็นใส่เป็นอันขาด มิฉะนั้นแล้วจะเป็น "ฮิบาคูชา" หรือเหยื่อนิวเคลียร์
ครั้งที่สอง น้องสาวมูโตะ นักศึกษามหาวิทยาลัยฟุคุชิมาป่วยเป็นโรคไทรอยด์แล้วพัฒนากลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เสียชีวิตในวัย 36 ปี 
ภาพและเสียงของ "มูโตะ" ในวันให้สัมภาษณ์ "ชีวิตที่เปลี่ยนไป" กระจายไปทั่วโลก

เมื่อเดือนที่แล้ว คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐ เชิญ "มูโตะ" เป็นแขกพิเศษไปเล่าเรื่องราวอันรันทดในหัวข้อ "นิวเคลียร์ ยุคที่สอง" ให้ชาวอเมริกันฟัง 



.