.
บทความเพิ่ม - บทเรียนจากไฟล์เอกสาร โลกดิจิตอล คนไม่ดิจิตอล โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
บทความของปี2554 - ความเป็นส่วนตัว ดาบสองคมของโลกดิจิตอล โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
“คาร์ แชริง” ซื้อรถมาจอดว่างๆ ทำไม เอามาแบ่งกันใช้ดีกว่า
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 100
อ่านข่าวต่างประเทศพักหลังเริ่มเห็นเรื่องคาร์ แชริง บ่อยขึ้น
แนวคิดนี้กำลังเริ่มขึ้นมาเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทุกวันนี้มีมากกว่าหนึ่งพันเมืองในโลกที่มีระบบคาร์ แชริง ใช้
หากจะสรุปด้วยถ้อยคำสั้นๆ คาร์ แชริง ก็คือการแบ่งปันรถกันใช้นั่นเอง คล้ายๆ กับคาร์ พูล ที่บ้านเรารู้จักกัน เพียงแต่คาร์พูล เป็นการแบ่งที่นั่งในรถให้คนอื่นร่วมใช้เดินทาง
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอื้ออำนวยให้เกิดคาร์ แชริง มากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลรถยนต์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือขึ้นมารองรับ บางบริษัทที่ให้บริการคาร์ แชริง ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ทำให้เราสามารถหาเช่ารถได้ทันท่วงทีในยามที่ต้องการ อาศัยที่จอดรถสาธารณะใกล้จุดบริการขนส่งมวลชนเป็นที่รับรถและส่งรถ
ระบบที่พัฒนาไปมากๆ มีถึงขนาดเมื่อเลือกรถที่ต้องการได้ก็ไปที่จุดรับรถ ใช้ระบบเปิดล็อกทางไกล กุญแจรถจะวางรออยู่ในรถเรียบร้อยพร้อมให้ขับไปได้
และคนที่เป็นเจ้ารถยนต์ก็เอารถของตัวเองเข้าไปเป็นรถในระบบคาร์ แชริง รถจะเปิดให้เช่าแบบออนไลน์ในช่วงเวลาที่เจ้าของรถไม่ได้ใช้
มีการศึกษาอยู่ชิ้นหนึ่งที่บอกว่าคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกระบบคาร์ แชริง ราวละร้อยละ 30 เปอร์เซ็นต์ ขายรถของตัวทิ้งไป เพราะรถยนต์ที่เป็นเจ้าของอยู่ไม่ได้ใช้ตลอดเวลา ระบบคาร์ แชริง ทำให้มีโอกาสที่จะใช้รถยนต์เมื่อจำเป็นต้องใช้เท่านั้น
ประโยชน์ของคาร์ แชริงมีมากมาย ทั้งลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนน ลดการปลดปล่อยก๊าซพิษ ลดการใช้พลังงาน เมื่อมาใช้คาร์ แชริง คนก็หันมาใช้จักรยาน การเดิน และบริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น
เมื่อตอนปลายปีที่ผ่านมา เจนเนอรัล มอเตอร์ บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐลงนามในข้อตกลงธุรกิจกับบริษัทคาร์ แชริงน้องใหม่รายหนึ่งชื่อ Relayrides ครอบคลุมระยะเวลาสองปี
ในข้อตกลง ผู้เป็นเจ้าของรถยนต์ GM และเป็นสมาชิกบริการด้านความปลอดภัยของบริษัท OnStar ที่เป็นบริษัทลูกของ GM จะสามารถเข้าสู่ระบบคาร์ แชริง ของ Relayrides ได้
OnStar ให้บริการเกี่ยวกับรถยนต์ที่คล้ายๆ กับบริษัทประกันแต่ครอบคลุมมากกว่ากันเยอะ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาเชื่อมโยงทำให้รถยนต์กลายเป็นแบบที่เรียกว่าคอนเน็กเต็ด คาร์ ข้อมูลของรถยนต์และการใช้รถยนต์ทุกอย่างจะเชื่อมโยงเข้าสู่คอมพิวเตอร์ซึ่งจะเชื่อมโยงกับการให้บริการแบบอัตโนมัติ
แม้แต่การแจ้งเตือนว่าได้ว่าเปลี่ยนถ่ายน้ำเครื่องแล้ว เป็นต้น หรือ การปลดล็อกรถจากทางไกลเมื่อเจ้าของลืมกุญแจรถเอาไว้ในรถ อันเป็นพฤติกรรมที่มีผลการศึกษาบอกว่าโดยเฉลี่ยคนจะลืมกุญแจไว้ในรถ 8 เดือนต่อ 1 ครั้ง
ด้วยระบบอัตโนมัติของ OnStar นี่เองที่จะทำให้คาร์ แชริง ของ Relayrides พัฒนาไปอีกขั้น จากเดิมที่เป็นระบบแบบจับคู่เจ้าของรถกับคนต้องการใช้รถ
คาร์ แชริง ในแบบรถยนต์เอารถยนต์ส่วนตัวมาแบ่งกันใช้ในยามว่างแบบนี้ เห็นทีจะเกิดได้ยากในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเพราะรถยนต์เป็นมากกว่ายานพาหนะไว้สำหรับการเดินทาง อีกส่วนหนึ่งไม่ไว้วางใจทั้งการให้คนอื่นมาขับและความไร้ระเบียบบนท้องถนนที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ
แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่คล้ายๆ กัน โดยกระจายจุดรับส่งรถไปตามจุดต่างๆ ที่ใกล้บริการขนส่งสาธารณะ แล้วใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาจัดการอีกที ก็น่าสนเหมือนกัน...ถ้าไม่กลัวรถหาย
++
SOPA โลกใหม่ปะทะโลกเก่า
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 100
ในประเทศที่ยังพอมีความเป็นประชาธิปไตย แม้เสียงของนายทุนจะใหญ่กว่า แต่เสียงของประชาชนก็ดังจนเป็นที่รับฟังของนักการเมืองอยู๋บ้างเช่นกัน
ดังเช่นในกรณีการเสนอกฎหมาย SOPA (Stop Online Piracy Act) ในสหรัฐอเมริกาที่ชะลอไป เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวคัดค้านกันอย่างกว้างขวาง โดยมีหัวหอกคือเว็บไซต์วิกิพีเดีย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วประท้วงด้วยการปิดบริการเว็บไซต์ไปหนึ่งวัน
โดยมีแนวร่วมที่เข้าร่วมโดยตรงและโดยอ้อมอีกมากมาย ทั้งในหมู่เว็บไซต์ใหญ่น้อย รวมไปถึงผู้ใช้งานธรรมดา อย่างเช่นที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะเห็นการเปลี่ยนรูปโพรไฟล์เป็นไอคอนเพื่อคัดค้าน SOPA เกลื่อนไปในช่วงเวลาก่อนหน้านี้
SOPA เป็นการเสนอกฎหมายเพื่อขยายการตีความการละเมิดลิขทรัพย์ออนไลน์ทั้งทรัพย์สินทางปัญญาและเหล่าสินค้าปลอมแปลงทั้งหลายที่อาศัยอินเตอร์เน็ตเป็นสะพาน
ขยายบทลงโทษสูงสุดที่เกี่ยวพันกับคดีอาญาสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ให้สามารถขออำนาจศาลสั่งการให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตหรือไอเอสพีบล็อกเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือมีส่วนสนับสนุนธุรกรรม เช่น รับชำระเงิน ขยายรวมไปถึงพวกเสิร์ช เอ็นจิ้นไม่ให้โชว์ลิงก์เหล่านี้ และการสตรีมมิ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้รับอนุญาต
ฝ่ายเสนอกฎหมายอ้างว่าการเพิ่มการบังคับใช้และบทลงโทษเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องรวมไปถึงตำแหน่งงานและรายได้
โดยตรรกะก็คืออ้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนอินเตอร์เน็ต
ขณะที่ฝ่ายค้านเห็นว่ากฎหมายใหม่มีแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรม
อุตสาหกรรมที่มักชอบอ้างความสูญเสียอันเนื่องมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์คืออุตสาหกรรมบันเทิงที่หนีไม่พ้นค่ายเพลงกับค่ายหนังใหญ่ที่มีกันอยู่ไม่กี่ค่ายแต่ครองตลาดทั้งโลกเอาไว้
กรณีการปิดเว็บไซต์ไฟล์ แชริ่ง เมกะอัพโหลดเมื่อไม่กี่วันมานี้พวกนี้ก็อ้างว่าเมกะอัพโหลดทำให้เม็ดเงินของพวกตนสูญหายไปมากเป็นหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้สร้างสรรค์งานขาดแรงจูงใจในการสร้างงานออกมา
แต่ข้ออ้างซ้ำซากเหล่านี้ของอุตสาหกรรมหนังและเพลงมีคนแย้งมาตลอดว่าเป็นข้ออ้างที่เกินจริงไปมาก ขณะเดียวกันมาตรการขั้นเด็ดขาดที่คิดว่าจะแก้ได้ก็จะแก้ไม่ได้ แต่จะส่งผลข้างเคียงที่สำคัญคือปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม
จากรายงานการศึกษาของ เฟลิกซ์ โอเบอร์โฮลเซอร์-จี แห่งฮาร์วาร์ด บิสสิเนส สกูล เมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณผลงานใหม่สอดคล้องกับข้อโต้แย้งที่ว่าไฟล์ แชริงไม่ได้ทำให้ผู้สร้างหรือผู้ผลิตจำหน่ายหมดกำลังใจในการผลิตผลงานเลย เพราะพวกเขากลับผลิตผลงานออกมากันมากขึ้น อย่างที่สุดก็ในตลาดสหรัฐ
ขณะที่ข้อมูลจากนีลเส็น ซาวด์สแกน ระบุว่าในปี 2000 มีอัลบั้มออกใหม่ประมาณ 35,000 อัลบั้ม มาถึงปี 2008 อัลบั้มออกมาใหม่เพิ่มขึ้นถึง 106,000 อัลบั้ม และในปี 2010 ทั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยกันโดยถ้วนหน้า อัลบั้มออกใหม่ก็ยังสูงมากถึง 75,000 อัลบั้ม
ตัวเลขเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับข้ออ้างว่ายอดขายตกต่ำลงตั้งปี 2004 อันเนื่องมาจากการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์เลยแม้แต่น้อย
ตรงข้ามมีคนชี้ให้เห็นด้านกลับของไฟล์แชริ่งเสียด้วยซ้ำไปว่ากลับมีส่วนให้ยอดขายสูงขึ้น แต่ไม่ใช่ในรูปแบบเดิม กล่าวคือแม้ว่ายอดขายอัลบั้มจะลดลง ทว่า ยอดขายดิจิตอลและซิงเกิ้ลกลับสูงขึ้น มีการเติบโตอย่างกว้างขวางของศิลปินอิสระไม่สังกัดค่ายหรือพวกค่ายเล็กค่ายน้อย ซึ่งธุรกิจใหญ่ไม่ยอมนับเข้ามาเป็นภาพรวมเนื่องจากจะทำให้พลังการอธิบายความสูญเสียจากการละเมิดสิทธิ์ออนไลน์อ่อนลงยวบยาบ
ปัญหาอยู่ที่นักการเมืองฟังเสียงจากภาคธุรกิจมากกว่าจึงมีการเสนอกฎหมาย SOPA เข้าสภาผู้แทนฯ สหรัฐ แต่ถอนออกไปเพื่อทบทวนเมื่อถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง รอวันที่ตกแต่งหน้าตากลับมาใหม่อีก
การปะทะกันระหว่างโลกใบใหม่กับโลกใบเก่ายังคงจะดำเนินต่อไปอีกหลายยก
+++
บทเรียนจากไฟล์เอกสาร โลกดิจิตอล คนไม่ดิจิตอล
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1659 หน้า 100
การคลุกคลีอยู่ในโลกดิจิตอลมากๆ บางทีก็เจอเรื่องน่าเอือมระอา และก็เป็นปัญหาเก่าๆ
อย่างหลายวันก่อน ภรรยาผมรับไฟล์งานมาจากน้องที่มาฝึกงานด้วย ซึ่งธรรมดาโลกที่ไฟล์จะเป็นไฟล์ที่มาจากโปรแกรมไมโครซอฟต์ ออฟฟิศ และเป็นธรรมดาอีกเช่นกันที่เวอร์ชั่นใหม่ๆ ไม่เข้ากับเวอร์ชั่นเก่า แปลว่าโปรแกรมเดียวกันของบริษัทเดียวกันต่างเวอร์ชั่น เปิดดูไม่ได้
นี่คือมาตรฐานแบบไมโครซอฟต์
ผมพยายามแก้มันอยู่บนเครื่องวินโดว์ สุดท้ายก็ยอมแพ้ ต้องหันหน้าเข้าหาลินุกซ์ "อูบุนตู" จิ๋วแต่แจ๋วของผม ที่ตอนนี้เดินมาถึงเวอร์ชั่น 12.04 ที่เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ในอูบุนตูมีโปรแกรมประเภทออฟฟิศอยู่ตัวหนึ่งที่ใช้กันคือ LibreOffice สมัยก่อนๆ เป็น Openoffice แต่ตอนหลังแยกสายออกมา และอูบุนตูเลือกเอาตัวแยกสาย
พวกนี้เป็นซอฟต์เสรีหรือโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ครับ คือมันพัฒนามาจากการมะรุมมะตุ้มของอาสาสมัครและบริษัทไอทีที่ช่วยๆ กัน เปิดซอร์สโค้ดให้ดูได้ เอาไปดัดแปลงแก้ไขได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะกำหนดทำนองว่าหากดัดแปลงก็ต้องเปิดซอร์สโค้ดหรือรหัสต้นฉบับส่วนที่ดัดแปลงสู่สาธารณะด้วย
มันเป็นปรัชญาที่งดงามที่แกนกลางคือการแบ่งปัน
ผมใช้ Libre Office ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทั้งเสรีและฟรีด้วยโดยไม่ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อเปิดไฟล์น้องฝึกงานของคุณภรรเมีย แล้วเซฟกลับไปเป็นไมโครซอฟต์ ออฟฟิศเวอร์ชั่นเก่าที่คุณภรรเมียเปิดได้ เสร็จไปหนึ่งไฟล์ด้วยคุณูปการของโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์
กำชับว่าไฟล์ต่อไปก็ให้น้องเซฟเลือกเวอร์ชั่นต่ำลงมาที่เราจะเปิดได้ ปรากฏว่าน้องฝึกงานก็เป็นพวกที่ฝรั่งเขาเรียกว่าดิจิตอล อิลลิตเตอเรซี (digital illiteracy) คำหลังนี่ภาษาไทยคือแบบเดียวกับคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั่นแหละ แค่มีดิจิตอลนำหน้า แปลว่าไม่รู้อะไรทั้งนั้นในเรื่องดิจิตอล มีโปรแกรมอะไรก็สักแต่ว่าใช้ ใช้ไปดุ้นๆ เลือกเซฟให้เวอร์ชั่นเก่าลงมาเผื่อคนอื่นเขาไปเปิดก็ไม่เป็น ก็เซฟมาแบบเดิมอีก คนส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ แต่เมื่อบอกวิธีแล้วควรจะจำไว้
ไฟล์ที่สองผ่านไปแก้ให้แบบเดิม ผมกะว่าเดี๋ยวก็มีไฟล์ที่สามมาอีก ก็เลยลง Libre Office ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของภรรยาจะได้เปิดเองเวลาไมโครซอฟต์ ออฟฟิศ บนวินโดว์ของไมโครซอฟต์มันเปิดไฟล์โปรแกรมเดียวกันต่างเวอร์ชั่นไม่ได้
ปรากฏว่าวิธีนี้แก้ได้บางส่วนกับไฟล์ที่ไม่มีรูปแบบเส้นตารางอะไรมากนัก พอมีเข้า รูปแบบบางส่วนเสียไปอีก แต่เปิดได้และเซฟกลับให้ใช้ไมโครซอฟต์ ออฟฟิศเวอร์ชั่นเก่าเปิดได้
ที่จริงแล้วเรื่องไฟล์เอกสารที่ควรอิงมาตรฐานกลางนี่เป็นรื่องที่เรียกร้องกันมานาน และก็มีออกมาที่เรียกกันว่าโอเพ่น ด็อกคิวเมนต์ พื้นๆ ก็เซฟเป็นไฟล์ที่นามสกุล .odt แล้วปัญหาพวกนี้ตกไปหมด
แต่ไม่มีคนทำคนใช้ ทุกคนมีอะไรก็ใช้ไป ไม่ได้เคยคิดถึงคนอื่น เป็นวิธีคิดที่ทำให้การทำงานไม่ค่อยราบรื่น เปลืองทรัพยากร ทั้งๆ ที่ทำให้ไม่เปลืองได้ แค่ฉุกคิดบ้าง เรียนรู้บ้างเท่านั้นเอง
หมายเหตุ : อยากลองใช้ Libre Offic เอาคำนี้ไปกูเกิล แล้วดาวน์โหลดมาติดตั้ง ติดตั้งแล้วใช้ เจอปัญหาก็กูเกิลเข้าไป ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงมากนัก
++++
บทความของปี 2554
ความเป็นส่วนตัว ดาบสองคมของโลกดิจิตอล
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1602 หน้า 100
เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตกันขึ้นมา เมื่อผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยสองคนตรวจพบว่า โทรศัพท์ไอโฟนและไอแพดรุ่น 3G แอบบันทึกข้อมูลความเคลื่อนไหวของผู้ใช้โทรศัพท์เอาไว้ตลอดเวลา อุปกรณ์พกพาพวกนี้จะมีระบบระบุพิกัดหรือตำแหน่ง ณ ขณะนั้นของเราว่าไปอยู่ตรงจุดไหนของโลก เมื่อประสานเข้ากับแผนที่อย่างเช่น กูเกิ้ล แมบ ก็จะชี้ตำแหน่งได้ชัดเจนขึ้น
บริการอย่างหนึ่งอันเป็นที่นิยมกันของคนรุ่นใหม่ๆ จากอุปกรณ์พกพาหรือสมาร์ทโฟนก็คือบริการที่เรียกว่า โลเกชั่น เซอร์วิส คนเป็นจำนวนมากเปิดใช้งานและใช้ร่วมกันกับโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก อย่างทวิตเตอร์ หรือ เฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้น เวลาไปถึงไหนมันก็จะแจ้งตำแหน่งที่ชัดเจนไปปรากฏบนโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กเหล่านั้น
แต่นั่นเป็นกรณีผู้ใช้งานเต็มใจ และระบุตำแหน่งแล้วก็แล้วกันไป
ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากไฟล์ที่แอปเปิ้ลบันทึกไว้นั้นบันทึกข้อมูลพิกัดของผู้ใช้ไปตลอดเวลาแม้เมื่อไม่ได้เปิดใช้บริการโลเกชั่น เซอร์วิส และไฟล์ดังกล่าวไม่ได้เข้ารหัส ทำให้ผู้ใช้งานทั่วๆ ไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ โดยผ่านซอฟต์แวร์พื้นๆ นอกจากนั้น ไฟล์บันทึกพิกัดที่อยู่ในไอโฟนและไอแพด ยังถ่ายโอนไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เมื่อผู้เสียบสายซิงก์ผ่านโปรแกรมไอจูนส์
ข้อมูลพิกัดที่บันทึกไว้นี้เป็นข้อมูลที่เก็บยาวเป็นปี เมื่อใช้ซอฟต์แวร์ดึงข้อมูลออกมาพล็อตลงบนแผนที่ เราก็พอจะสามารถอ่านแบบแผนการเดินทางประจำวันของคนคนนั้นได้
ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงมีโอกาสสร้างปัญหาได้ เช่น กรณีโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ถูกโขมยหรือแฮก ไม่นับว่าการแอบบันทึกข้อมูลไว้โดยไม่มีระบบที่ประกาศชัดแจ้งจะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้หรือไม่
ที่จริงแล้วการใช้บริการออนไลน์อะไรสักอย่าง เป็นเรื่องปรกติที่ข้อมูลของผู้ใช้บริการจะส่งผ่านเข้าระบบเพื่อให้ระบบทำงานตอบสนองผู้ใช้ แต่ข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันไปมาในตอนนั้นควรจะเป็นข้อมูลที่เก็บแบบชั่วคราวระหว่างที่ใช้บริการมากกว่าการเก็บบันทึกกันแบบถาวรโดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้
เรื่องนี้เป็นเหตุให้รัฐบาลของหลายประเทศเริ่มขยับตัวที่เข้ามาสอบสวน และที่แน่ๆ ตอนนี้มีลูกค้าแอปเปิ้ลสองคนยื่นฟ้องศาลไปแล้วเรียบร้อยในสหรัฐอเมริกา
อย่างที่รู้ว่าโอกาสในการถูกแฮกนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก คำแนะนำสำหรับผู้ใช้ไอโฟนและไอแพดในส่วนของไฟล์ที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ก็คือให้เข้ารหัสเสีย เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลในไฟล์ได้ง่ายขึ้น
แต่ไฟล์ที่เก็บอยู่ในไอโฟนหรือไอแพดนั้น หมดสิทธิ์ครับ
และโดยที่อุปกรณ์พกพาพวกนี้ถูกออกแบบมาตอบสนองต่อการใช้งานแบบอัตโนมัติในการเชื่อมเครือข่ายและการรับส่งข้อมูล ทันทีที่มันเชื่อมต่อเครือข่าย โอกาสที่จะถูกแฮกก็ยิ่งง่ายขึ้น
มีการทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญที่หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน จ้างมาให้ลองทำไวไฟ ฮ็อตสปอตปลอมขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยใช้แลปท็อปและเราเตอร์ทำเป็นเกตเวย์ปลอม และรับการเชื่อมต่อแบบอัตโนมัติจากสมาร์ทโฟนที่สถานีรถไฟสองแห่งในอังกฤษ ในการทดสอบครั้งแรก หลังจากเปิดเราเตอร์ ก็มีโทรศัพท์หลายเครื่องพยายามเชื่อมต่อเข้ามา แต่ผู้ทดสอบเปิดให้เข้ามาได้เฉพาะอาสาสมัคร
ผลก็คือแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอัตโนมัติเมื่อมีการเชื่อมเครือข่ายจะส่งชื่อผู้ใช้ พาสเวิร์ด และข้อความผ่านเข้ามาที่เกตเวย์ ซึ่งสามารถใช้ซอฟต์แวร์ถอดข้อมูลเหล่านี้ออกมาได้
เวลาไปอยู่ในที่สาธารณะเราไม่รู้ว่าฮ็อตสปอตไหนปลอมหรือไม่ปลอม เพราะฉะนั้น เขาจึงแนะนำว่าอย่าเปิดไวไฟไว้ตลอดเวลา
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย