http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-01

พุทธทาส (ไม่) สนับสนุนประชาธิปไตย (?) โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : พุทธทาส (ไม่) สนับสนุนประชาธิปไตย (?)
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:00: น.


ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งทางการเมือง 5 - 6 ปี มานี้ มีการอ้างอิงความคิดทางการเมืองของพุทธทาสภิกขุมาใช้ประโยชน์ในการต่อสู้ทางการเมืองอย่างแพร่หลาย ความคิดที่นำมาอ้างนั้นเป็นความคิดเดียวกัน แต่ฝ่ายหนึ่งตีความว่าเป็นความคิดสนับสนุนประชาธิปไตย อีกฝ่ายตีความว่าเป็นความคิดที่ปฏิเสธประชาธิปไตย 

ข้อความคิดดังกล่าวนี้ปรากฏใน “วรรคทอง” ของพุทธทาสที่ว่า “ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ ประชาชนเห็นแก่ตัวก็ได้ โดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด” 

ที่ควรเข้าใจตรงกันก่อนคือ การสรุปว่า “ความคิดทางการเมือง” ของพุทธทาสสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่มีผลกระทบต่อคุณค่าของความคิดทางการเมืองนั้นในแง่อื่นๆ หรือ “ความเป็นพุทธทาส” ในสาระสำคัญ 
หมายความว่า ความคิดทางการเมืองของพุทธทาส หรือความเป็นพุทธทาสสามารถมีคุณค่าต่อสังคมไทย หรือต่อพุทธศาสนาในแง่อื่นๆ อีกหลายด้าน โดยไม่ขึ้นต่อเงื่อนไขว่าความคิดทางการเมืองของท่านสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ (เช่น ความคิดทางการเมืองของคาร์ล มาร์กซ์ ยังคงมีคุณค่า แม้ว่าจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ เป็นต้น) 


หากเราเชื่อว่าประชาธิปไตยปัจจุบัน หรือ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” คือ “สิ่งที่พึงปรารถนา” การที่จะยอมรับความจริงว่า ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสไม่สนับสนุนประชาธิปไตยแบบนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะที่จริงปราชญ์ระดับปรมาจารย์ของโลกทั้งในยุคโบราณและสมัยใหม่ ก็แทบจะไม่มีใครสนับสนุนประชาธิปไตยในความหมายปัจจุบันอย่างตรงๆ หรือบางคนก็ปฏิเสธเลยด้วยซ้ำ 
ดังที่อุกฤษฏ์ แพทย์น้อย เขียนไว้ในบทนำของหนังสือ “ปรัชญากับอนาคตของประชาธิปไตย” (สรุปใจความสำคัญได้) ว่า ปราชญ์ชาวกรีก เช่น โสเครตีส เพลโต อริสโตเติล ก็ปฏิเสธประชาธิปไตยทางตรงแบบเอเธนส์ โดยเพลโตเสนอระบบการปกครองที่ฝากความเชื่อมั่นไว้ที่อำนาจการตัดสินใจของนักปกครองที่เป็นนักปรัชญา หรือ “ราชาปราชญ์” ผู้ซึ่งมีปัญญาสูงส่งเข้าถึงความจริง ความดี ความงาม รู้ว่าการมีชีวิตที่ดีและรัฐที่ดีควรเป็นอย่างไร ขณะที่อริสโตเติล เสนอระบบ “อภิชนาธิปไตย” ที่มอบอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองไว้กับกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นคนดีมีคุณธรรม

ส่วนนักปรัชญาสมัยใหม่อย่างจอห์น ล็อก ฌอง ฌาค รุสโซ คาร์ล มาร์กซ์ หรือแม้แต่จอห์น สจ๊วต มิลล์ ก็ไม่ได้ยืนยันประชาธิปไตยในความหมายปัจจุบัน เพราะล็อกเองแม้จะเป็นนักเสรีนิยมที่ยืนยัน “สิทธิทางธรรมชาติ” ของปัจเจกบุคคล แต่เขาก็ไม่ได้ยืนยันว่าประชาธิปไตยดีที่สุด จะเลือกระบอบกษัตริย์ก็ได้ แต่ผู้ปกครองต้องมีหน้าที่ไม่ละเมิดสิทธิทางธรรมชาติของประชาชน
ส่วนรุสโซตรงกันข้ามกับล็อค ถือว่ามนุษย์เกิดมามีเสรี แต่ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ที่ต้องไม่กระทบต่อสวัสดิภาพของส่วนรวม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคนส่วนใหญ่ที่มาร่วมกันตกลงเลือกระบบสังคมการเมืองว่าจะกำหนดขอบเขตนั้นอย่างไร 
สำหรับมาร์กซ์นั้น คำถามว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดหรือไม่หามีความสำคัญไม่ เนื่องจากเขาเชื่อว่า อำนาจรัฐคืออำนาจที่ชนชั้นหนึ่งใช้กดขี่ชนชั้นอื่น
มิลล์นั้นยืนยันทั้งเสรีนิยมและประชาธิปไตย ถือว่าปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น แต่ในเรื่องการออกเสียงลงมติเขากลับเห็นว่า คนมีการศึกษาดีกว่า ฉลาดกว่าควรถูกนับว่ามีเสียงตั้งแต่สองเสียงขึ้นไป ขณะที่คนมีการศึกษาต่ำหรือฉลาดน้อยกว่ามีเสียงได้เพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น

กลายเป็นว่า นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงของโลกก็ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน
คนที่ดูเหมือนสนับสนุนกลับเป็นนักปรัชญากรีกโบราณที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้ร้าย” ในยุคนั้น คือนักปรัชญาในกลุ่มโซฟิสต์บางคน เช่น Protagoras ยืนยันว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ว่าอะไรถูก-ผิด ยุติธรรม ไม่ยุติธรรมอย่างเสมอภาคกัน ฉะนั้น จึงควรมีสิทธิ์ลงความเห็นในการปกครองเสมอภาคกัน



ประชาธิปไตยปัจจุบัน หรือ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ที่ยึดกติกาเสียงส่วนใหญ่ และถือว่าหนึ่งคนเท่ากับหนึ่งเสียง คือประชาธิปไตยที่กำหนดหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคขึ้นมาให้สำคัญกว่าเสียงส่วนใหญ่ หมายความว่า หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคคือกรอบ หรือขอบเขตการใช้อำนาจของเสียงส่วนใหญ่ จึงเป็นประชาธิปไตยที่ยึดกติกาเสียงส่วนใหญ่ที่ถือว่าหนึ่งคนเท่ากับหนึ่งเสียงเสมอภาคกัน แต่การใช้เสียงส่วนใหญ่ต้องไม่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพ เช่น จะอ้างเสียงส่วนใหญ่บังคับให้คนนับถือศาสนาเดียวกันไม่ได้ เป็นต้น

หากพิจารณาความคิดของพุทธทาสจะเห็นว่าคล้ายกับล็อก เพราะล็อกถือ “สิทธิของประชาชนสำคัญที่สุด” จะปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่หรือโดยกษัตริย์ก็ได้ แต่ผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจรัฐมีหน้าที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิทางธรรมชาติของประชาชน สำหรับพุทธทาสจะไม่ใช่โดยประชาชนก็ได้ หรือจะให้เป็นโดยใครก็ได้ถ้าการปกครองนั้นยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่


อะไรคือประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าตอบแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็มีทั้งประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมหรือวัตถุ เช่น ความเจริญทางเศรษฐกิจ การศึกษา เป็นต้น มีทั้งประโยชน์เชิงนามธรรม เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ส่วนพุทธทาสพูดไว้กว้างๆ ว่าประโยชน์ของประชาชนจะเรียกว่าสันติภาพ หรือความสงบสุขก็ได้ 
แต่พุทธทาสก็ไม่ได้ปฏิเสธเสรีภาพ ความเสมอภาค ดังที่ท่านอ้างถึงสังคมสงฆ์ว่ามีความเป็นประชาธิปไตย เพราะมีความเสมอภาค มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อ้างหลักกาลามสูตรว่ารับรองเสรีภาพสูงสุดในการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ปฏิเสธการยึดศาสนาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ แต่ต้องวิจารณ์ได้ เรียกร้องให้ชาวพุทธวิจารณ์ตนเอง อ้างถึงการที่พุทธะให้วิจารณ์ท่านได้ เป็นต้น โดยทั้งหมดนั้นยึด “ธรรมาธิปไตย” หรือความถูกต้อง (ประโยชน์สุขประชาชน?) เป็นใหญ่

ฉะนั้น หากกล่าวอย่างกว้างๆ เราอาจเข้าใจได้ว่า การที่พุทธทาสยืนยัน “ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่” นั้น คือการยืนยัน “กรอบ” หรือ “ขอบเขต” ของการใช้อำนาจ (ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของเสียงข้างมาก หรือของบุคคล คณะบุคคล) ที่จะละเมิดประโยชน์สุขของประชาชนไม่ได้ (คล้ายกับที่ล็อกอ้าง “สิทธิทางธรรมชาติ” เป็นกรอบการใช้อำนาจรัฐ)

เราจึงไม่อาจสรุปง่ายๆ ว่า ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสสนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสื้อเหลือง (ดังที่มีการกล่าวอ้าง) หรือปฏิเสธประชาธิปไตยแบบเสื้อแดง (ดังที่มีการโจมตี) เราอาจเข้าใจได้เพียงว่าความคิดทางการเมืองของพุทธทาสมีบริบทเฉพาะ เนื่องจากท่านเป็นพระและอ้างอิงหลักการของพุทธศาสนา (ตามการตีความของท่าน) มันจึงมีความหมายและตรรกะเฉพาะบางอย่าง ซึ่งท่านเรียกมันว่า “ธรรมมิกสังคมนิยม”
คุณค่าของความคิดเช่นนี้จึงไม่ได้ “ผูก” อยู่กับเงื่อนไขเพียงว่าสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ แต่อยู่ที่ความหมายที่ต่างออกไป และการอ้างอิงตรรกะที่ชวนให้เราเข้าไปร่วมถกเถียง พูดอีกอย่างว่า ความคิดทางการเมืองของพุทธทาสไม่ใช่ “คำตอบสำเร็จรูป” แต่คือการตั้งคำถามกับคำตอบสำเร็จรูปที่เรารับมา ไม่ว่าจะเป็นคำตอบสำเร็จรูปในนาม “ประชาธิปไตย” หรือ “สังคมนิยม”


ฉะนั้น ความสำคัญจึงอยู่ที่การพยายามเสนอแนวคิดหรือทฤษฎีที่ต่างออกไป เพื่อเปิดให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยน อย่างน้อยที่สุดในบ้านเราแม้ไม่มีนักรัฐศาสตร์คนใดเคยเสนอแนวคิดทางการเมืองของตนเองที่แตกต่างจากความคิดกระแสหลัก ก็ยังมีพระรูปหนึ่งที่พยายามเสนอให้เราได้ถกเถียง

ซึ่งเราควรนำมาถกเถียงเพื่อให้เกิดความหลากหลายทางความคิด ไม่ใช่นำมาอ้างอิงอย่าง “สูตรสำเร็จ” หรืออ้างอิงเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น!



.