http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-01

ปริศนาพระแก้วมรกต(4) จากเวียงจันถึงสุวรรณภูมิ?(จบ) โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
อ่านตอนแรก - ปริศนาพระแก้วมรกต(1) จากปาฏลีบุตรถึงนครอินทปัตถ์ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ 
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/p1emrbd.html
อ่านตอนสอง - ปริศนาพระแก้วมรกต(2) จากอโยชฌาถึงวชิรปราการ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/p2emrbd.html

อ่านตอนสาม - ปริศนาพระแก้วมรกต (3) จากเชียงราย สู่ลำปาง ถึงเชียงใหม่ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/p3emrbd.html


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปริศนาพระแก้วมรกต (จบ) จากเวียงจันถึงสุวรรณภูมิ?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 76


รวมเวลาที่พระแก้วมรกตประทับอยู่ที่เชียงใหม่เพียงแค่ 85 ปีเท่านั้น (ระหว่าง พ.ศ.2011-2096) พระไชยเชษฐาธิราช ก็อัญเชิญ "รวมดาวพระดัง" ทั้ง 4 รายการจากวัดเจดีย์หลวงไปไว้ที่หลวงพระบาง
อันได้แก่ พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ พระแก้วขาว และพระแทรกคำ


พระไชยเชษฐาเป็นใคร มีสิทธิ์อะไรถึงกล้าอุกอาจช่วงชิงพระแก้วมรกตไปไว้ที่ล้านช้าง?

คงต้องเท้าความไปถึงเหตุการณ์ชุลมุนชุลเกในราชสำนักเชียงใหม่ช่วงปลายราชวงศ์มังราย เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเมืองเกษเกล้า (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21) บัลลังก์ร้างกษัตริย์ลง พระไชยเชษฐาธิราชกำลังนั่งเมืองศรีสตนาคนหุต (หลวงพระบาง) อยู่ดีๆ ก็ถือโอกาสข้ามน้ำโขงมาอ้างสิทธิประกาศตัวเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ ในฐานะที่เป็น "หลานตา" ของพระเมืองเกษเกล้า
แม้เสด็จตาทรงสวรรคตไปแล้ว แต่เสด็จแม่ (พระนางยอดคำทิพ-พระธิดาของพระเมืองเกษเกล้า) ก็ถือเป็นขัตติยนารีจากล้านนาผู้เชื่อมสายสัมพันธ์กับล้านช้าง ในฐานะมเหสีของพระเจ้าโพธิสาลราช พระราชบิดาของพระไชยเชษฐา
เมื่อเสด็จมาถึงเชียงใหม่ พระไชยเชษฐาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสมเด็จยาย หรือพระราชไอยกา พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี ผู้ให้การสนับสนุนยุวกษัตริย์วัย 13 ชันษาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการรู้เห็นเป็นใจในการอัญเชิญพระปฏิมาสำคัญทั้งสี่องค์ไปไว้ที่ล้านช้าง

ตำนานประวัติเมืองลำพูนถึงกับขนานนามพระนางเจ้าจิรประภาองค์นี้ว่า "มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่" และไม่ยอมนับพระนางเป็นหนึ่งในทำเนียบกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย 
ชาวล้านนาได้แต่เฝ้ารอคำสัญญาจาก "ยาย-หลาน" คู่นี้ ที่หลอกว่า "จะขอย้ายพระคู่บ้านคู่เมืองไปฝากไว้ที่หลวงพระบางชั่วคราวเพื่อหลบหนีการรุกรานของบุเรงนอง หากสถานการณ์ปกติจะเอากลับคืนมาให้"
ทั้งๆ ที่พระนางจิรประภารู้อยู่เต็มอกว่าจะไม่มีวันเสด็จกลับคืนเชียงใหม่ให้ยุ่งยากใจ และเลือกที่จะสวรรคต ณ หลวงพระบาง จึงได้วางแผนการนี้ แต่ครั้นผ่านไปในปีรุ่งขึ้น นอกจากจะไม่มีวี่แววว่าจะส่งพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งกลับคืนเชียงใหม่แล้ว พระไชยเชษฐายังหักหลังชาวล้านนาด้วยการย้ายหนีลงไปทางใต้ที่เมืองเวียงจันอีกด้วย 
สรุปแล้ว พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบางเพียงปีเดียว แต่ว่าอยู่ที่นครเวียงจันนานถึง 226 ปี


เกี่ยวกับชื่อเมืองเวียงจันนี่ก็แปลก จำได้ว่าในวัยเด็กถูกบังคับให้เขียนว่า "เวียงจันทน์" (บางคนล่อ "เวียงจันทร์") พอโตขึ้นมาหน่อยก็เปลี่ยนไปเป็น "เวียงจันท์" เขียนไปเขียนมา ปราชญ์ผู้รู้ทั้งหลายบอกว่าผิดทั้งหมดต้องเป็น "เวียงจัน" ตามภาษาของคนลาวที่เขียนแบบเรียบง่ายไม่เคยมีการันต์แบบบาลีสันสกฤต เอาเป็นว่ายิ่งนานวันตัวสะกดตอนท้ายยิ่งหดหายทีละตัวสองตัว จึงเรียนมาเพื่อทราบว่าชื่อบทความตอนนี้มิได้มีความผิดพลาดในขั้นตอนการพิสูจน์อักษร

เมื่อพระไชยเชษฐาย้ายพระพุทธรูปจากเชียงใหม่มาไว้ที่เวียงจันแล้ว ตำนานฝ่ายล้านนาระบุว่าชาวเชียงใหม่ขอร้องให้พระไชยเชษฐาส่งกลับคืนมาอย่างน้อยสักสององค์และทางล้านช้างก็เลือกที่จะส่งคืนพระแก้วขาวกับพระพุทธสิหิงค์ แต่ไม่คืนพระแก้วมรกตกับพระแทรกคำ
ในขณะที่ตำนานฝ่ายลาวและฝ่ายสยามกลับกล่าวว่าพระไชยเชษฐาไม่ยอมส่งคืนกลับให้แม้แต่องค์เดียว
ใครจะเชื่อตำนานไหนก็โปรดใช้วิจารณญาณให้ดี เพราะหากเชื่อตามตำนานลาวว่าไม่มีการส่งกลับแม้แต่องค์เดียว ก็ดูเป็นเหตุเป็นผลเหลือเกินที่จะให้เชื่อต่อไปอีกว่า ด้วยเหตุนี้พระแก้วขาวจึงได้มีผู้นำมาถวายแด่รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ส่วนพระอนุชาวังหน้าของรัชกาลที่ 1 ก็ไปได้พระพุทธสิหิงค์ตามมาติดๆ เป็นเวอร์ชั่นที่ "เข้าทาง" คนที่นิยมประวัติศาสตร์การรวมศูนย์อำนาจของรัตนโกสินทร์

แต่หากใครเชื่อตำนานล้านนา ก็ย่อมเชื่อต่อไปว่า ในที่สุดพระแก้วขาวก็กลับมาประทับอยู่ที่วัดเชียงมั่น (โดยไม่เปลี่ยนชื่อ ยังเป็นเสตังคมณีองค์เดิม แต่พระแก้วขาวที่กรุงรัตนโกสินทร์เขา "เปี๊ยนไป๋" มีชื่อใหม่ไฉไลไปแล้วเป็น พระจันทบุษยรัตน์ แปลกดีนะ) 
ในขณะที่พระพุทธสิหิงค์ก็ยังคงกลับมาประทับ ณ วัดพระสิงห์ที่เดิม



ในช่วงระยะเวลา 226 ปีที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ ณ เวียงจัน ชาวล้านช้างคงให้ความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าถึงได้แต่ง "พงศาวดารพระแก้วมรกตฉบับล้านช้าง" ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด 
ที่น่าประหลาดใจก็คือ กัมพูชาผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียแม้แต่น้อยกับพระแก้วมรกต ก็พลอยรจนาพงศาวดารพระแก้วมรกตฉบับเขมรทำเกรียนอย่างเป็นตุเป็นตะกับเขาด้วย 
คงเพราะช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีสงครามวุ่นวายระหว่างไทย-ลาว-เขมร ฝ่ายหลังนี่เผลอไม่ได้ชอบแอบตีท้ายครัวตอนอีกสองฝ่ายเขารบกัน เมื่อเขมรไปได้ยินได้ฟังเรื่องราวการช่วงชิงพระรัตนปฏิมาองค์นี้ระหว่างสยามกับลาว ก็อาจจะเก็บซ่อนความรู้สึกอยากได้ไว้ไม่ไหว

แต่ทำไงได้ในเมื่อตัวเองไม่มีวาสนาในปัจจุบัน แต่ให้เผอิญที่ตำนานช่วยระบุว่า เมื่อครั้งกระโน้นพระแก้วมรกตเคยประทับที่นครอินทปัตถ์หรือ Angkor นครธมมาแล้ว คืออย่างไรเสียก็ขอเก็บกินบุญเก่ากับความยิ่งใหญ่ในอดีตก็ยังดี  
อันที่จริงการกล่าวอ้างชื่อเมืองใหญ่ๆ มากมายในตำนานนั้น ก็เพียงเพื่อลากเข้ามาเสริมบารมีเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระแก้วมรกต ไม่ว่าปาฏลีปุต (เขียนแบบบาลี) หรือปาตลีบุตร (เขียนแบบสันสกฤต) ลังกา พุกาม กัมพูชา อโยชฌ (แท้คือหริภุญไชย) กำแพงเพชร 
กลุ่มเมืองเหล่านี้ถือว่า "ขึ้นหิ้ง" หรือว่า "เก๋า" มากพอที่จะนำมาอวดอ้างแล้วเพิ่มราคาความขลังได้


มีข้อน่าสังเกตว่า ตำนานพระแก้วมรกตปฏิเสธที่จะจารึกนามสองเมืองสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงในตำนานพุทธสิหิงค์ คือนครศรีธรรมราช กับสุโขทัย คืออยู่ๆ จากละโว้อโยชฌา ผู้รจนาตัดสินใจส่งพระแก้วมรกตข้ามไปเมืองกำแพงเพชรหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่ตามฟอร์มแล้ว ช่วงที่สำเภาจากพุกามแตกมาเกยตื้นทะเลใต้ น่าจะต้องมีนครศรีธรรมราชเข้าไปเอี่ยวด้วย หรือช่วงที่หมดยุคอโยชฌาแล้วก็ไม่น่ามองข้ามสุโขทัย เพราะไหนๆ ก็อุตส่าห์ให้ท้าวมหาพรหมลงมาตื๊อพระญาไสยฦๅไทยถึงที่นี่แล้ว

เหตุที่ไม่นับญาติกับนครศรีธรรมราชและสุโขทัย ก็เพราะดังได้กล่าวมาแล้วว่า "พระแก้วมรกต" เขียนขึ้นเพื่อสนองรับความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ใหม่ในล้านนาคือ "นิกายป่าแดง" หรือนิกายสีหล ที่เชื่อว่าพระยังเติร์กหนุ่มๆ หลายรูปผู้ไปบวชใหม่สายตรงจากลังกานั้นบริสุทธิ์กว่าพระล้านนาสายลังกาวงศ์เก่าคือนิกายสวนดอก ซึ่งมีรากเหง้ามาจากพระสุมนเถระแห่งสุโขทัย และสุโขทัยก็รับพระพุทธศาสนาสืบต่อมาจากนครศรีธรรมราชอีกทอดหนึ่งตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง 
พระพุทธสิหิงค์นั้นให้เครดิตกับนครศรีธรรมราช และสุโขทัยอย่างออกนอกหน้า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของพระพุทธปฏิมาในนิกายสวนดอก 
อันใดก็ฉันนั้น พระแก้วมรกตจำต้องลดบทบาทของเมืองใหญ่ทั้งสองนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ มิเช่นนั้นความชอบธรรมของท้าวมหาพรหมที่ไปได้มาจากกำแพงเพชรแล้วนำมาเแอบซ่อนลับๆ ล่อๆ ที่เชียงรายก็จะถูกบดบังรัศมีความโดดเด่นให้ด้อยลงไปง่ายๆ



ตัดกลับมาที่กรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่ไปตีเวียงจันแล้วนำเอาพระแก้วมรกตมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมินั้นก็คือพระยาจักรี ตามรับสั่งของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2321 
พระแก้วมรกตประดิษฐานที่ธนบุรีได้เพียง 5 ปี จากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ.2325 แล้ว โปรดให้ย้ายพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อปี พ.ศ.2327 
จวบปรัตยุบันพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในสุวรรณทวีปนานถึง 234 ปีแล้ว ทำลายสถิติการครอบครองของนครเวียงจันไปได้เกือบทศวรรษ
แต่หากถือว่าเวียงจันเป็นส่วนหนึ่งของโยนกทวีป เพราะล้านนา-ล้านช้างต่างก็ถูกสยามดูแคลนว่าเป็นพวกลาวเหมือนๆ กัน ก็ต้องนับว่าพระแก้วมรกตประดิษฐานที่โยนกทวีปนานที่สุด คือนับจากยุคท้าวมหาพรหมที่นำมาซ่อนไว้ที่เชียงรายก่อนยุคพระญาสามฝั่งแกนรู้ข่าวเมื่อปี พ.ศ.1937 นั้น ก็ถือว่าพระแก้วมรกตเคยอยู่ในโยนกทวีปนานเกินกว่า 520 ปี  


หากตัดเรื่องอภินิหารเร้าใจทั้งหมดทิ้งไป พบว่านัยแห่งการเชิดชูพระแก้วมรกตในดินแดนโยนกทวีปมีเพียงสองนัยเท่านั้น 
นัยแรกคือการสร้างความชอบธรรมให้ท้าวมหาพรหมได้กลับมาครองเมืองเชียงราย 
และนัยที่สองคือการยกยอนิกายป่าแดงขึ้นกดข่มนิกายสวนดอก คือเป็นเครื่องมือสร้างภาพของพระกับเจ้าเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับพุทธธรรมใดๆ เลยค่ะ

แต่สำหรับพระไชยเชษฐาแล้ว ความสำคัญของพระแก้วมรกตมิได้อยู่ที่การเป็นตัวแทนของนิกายสงฆ์ ทว่ากลับปรับเปลี่ยนความหมายและบิดเบือนไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอำนาจเหนือกว่ากันระหว่างรัฐต่อรัฐ 
ล้านช้างยิ่งใหญ่กว่าล้านนาไหม หากวัดกันด้วยบริบทอื่นๆ ทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ แต่เมื่อเอาคำถามที่ว่า หากล้านช้างไม่ยิ่งใหญ่กว่าล้านนา เหตุไฉนจึงสามารถนำพระแก้วมรกตมาครอบครองได้ คนที่จะต้องตอบคำถามก็อาจถึงกับสะอึก  

เช่นเดียวกับการที่กรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังจากที่ได้ทำลายกรุงธนบุรีลง ก็ได้ใช้พระแก้วมรกตเป็นเครื่องหมายแห่งการประกาศอำนาจทางการเมืองของกรุงเทพที่มีต่อกรุงธนบุรี ไม่ต่างอะไรไปจากที่ล้านช้างกระทำกับล้านนา 
แทบไม่น่าเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์น้อย จำหลักจากหินหยกสีเขียวเมื่อ 500 กว่าปี พระเกศาเรียบเกลี้ยงไร้เม็ดพระศก หน้าตักกว้างศอกเศษๆ ยิ่งนานวันกลับยิ่งกลายมาเป็นเครื่องมือเสริมส่งบุญญาบารมีของผู้ถือครองอย่างมุ่งมั่น โดยไม่สนใจจะวิเคราะห์เอกสารตำนานดั้งเดิมก่อนการกำเนิดองค์พระปฏิมาจริง หรือตั้งคำถามว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างเพื่ออะไร ใครเนียน ใครเกรียนเขียนตำนาน และเขียนไปเพื่ออะไร

ไม่ทราบว่าดวงวิญญาณของท้าวมหาพรหม กับพระเจ้าติโลกราช จักรู้สึกยินดีหรือสะเทือนใจ หากรับรู้ว่าผู้คนในสุวรรณทวีปสนใจพระแก้วมรกตเฉพาะในมิติของผู้ครอบครองคือผู้มีชัยชนะ ภูมิใจกับข้อมูลตัวเลขสถิติการเดินทางระยะไกลระหกระเหินแรมรอนมาหลายทวีป

และในที่สุดก็กลายมาเป็น "พระพุทธรูปองค์สำคัญที่สุดของสยาม" ที่เหล่าอำมาตย์และสลิ่มหน้ามืดนำมาใช้ข่มขู่ไพร่ฟ้า ข้าราชการ หรือนักการเมือง เป็นเครื่องจับเท็จ หาความจริงที่พิสูจน์ไม่ได้ ด้วยการท้ากันจูงมือมาสาบานตนต่อหน้าพระพุทธรูปองค์นี้



.