http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-31

พื้นที่แห่งความสมานฉันท์ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

พื้นที่แห่งความสมานฉันท์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


เหมือนตรุษจีนทุกปี คนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากแห่ไปสักการะและห่มผ้าหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง

ในสายตาของชาวจีนโพ้นทะเล นอกจากเป็นพระพุทธรูปแล้ว หลวงพ่อโตวัดพนัญเชิง ยังเป็น "ซำปอกง"ด้วย หมายถึง เจิ้งเหอ แม่ทัพเรือจีนสมัยต้นราชวงศ์หมิง (ซึ่งเป็นทั้งขันทีและเป็นทั้งมุสลิม) ผู้ได้นำกองเรือมหึมาแผ่บารมีของจักรพรรดิจีนไปทั่วเอเชีย เลยไปถึงบางส่วนของแอฟริกา (และบางกระแสว่าไปถึงทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส)

เจิ้งเหอจึงเป็น "กง" หรือผู้น่าเคารพระดับเทพของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วไป ฉะนั้น ไม่แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น ที่นับถือซำปอกง แม้ชาวจีนอื่นๆ ทั้งที่อยู่โพ้นทะเลและในแผ่นดินใหญ่ ก็ล้วนนับถือ "เทพ" องค์นี้กันทั้งสิ้น และในบรรดาศาลเจ้าซำปอกงซึ่งมีอยู่ดาษดื่นทั่วไปในดินแดนที่ชาวจีนอพยพไปตั้งภูมิลำเนา หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิงเป็นหนึ่งที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดมาแต่โบราณกาล

แม้เป็นซำปอกง แต่หลวงพ่อโต ก็ยังเป็นหลวงพ่อโตของชาวพุทธไทยอยู่เหมือนเดิม นับเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับความนับถือมาแต่โบราณเหมือนกัน เพราะสร้างขึ้นมาตั้งแต่ยังไม่ได้สร้างเมืองอยุธยาขึ้นบนเกาะเมือง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อเมืองยังอยู่นอกเกาะ และคงจะชื่อเมืองศรีรามเทพนคร (ซึ่งแปลความหมายแล้วก็คืออยุธยาหรืออโยธยาอยู่นั่นเอง)


บนพื้นที่เดียวกัน บนประติมากรรมชิ้นเดียวกันนี้ กลายเป็นวัตถุเคารพของคนสองวัฒนธรรม ซึ่งอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันมาเป็นเวลานาน

นี่คือพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ พิธีกรรมเป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญในทุกสังคม ในภาคใต้งานวัดและงานฉลองฮารีรายอ ไม่ได้แบ่งชาวพุทธและมุสลิมออกจากกัน แต่เคยเป็นพื้นที่ซึ่งคนสองความเชื่อนี้มาสนุกร่วมกัน มุสลิมหลายครอบครัวในภาคใต้เชื่อว่า บรรพบุรุษเป็นพุทธ ฉะนั้น จึงมักส่งบุตรบางคนที่เจ็บป่วยกระเสาะกระแสะไปบวชฉลองคุณบรรพบุรุษ (ตามคำบอกเล่าของอาจารย์ลออแมน) สึกแล้วก็กลับมาเป็นมุสลิมใหม่ พิธีกรรมจึงขยายขอบเขตของความสมานฉันท์เสียยิ่งกว่างานฉลองหรือตัวพิธีกรรม

ในอยุธยา งานแห่เจ้าเซนของมุสลิมนิกายชิอะห์ซึ่งเคยเป็นส่วนใหญ่ของมุสลิมในสมัยนั้น เป็นงานสนุกสนานรื่นเริงของชาวพุทธไม่น้อยไปกว่าชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย

ในภาคเหนือเมื่อชนเผ่าต่างๆ บนที่สูงได้อพยพเข้ามาอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนพื้นราบและคนบนที่สูง มีหลายพื้นที่ ในทางเศรษฐกิจ มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ (รวมทั้งฝิ่นด้วย) ชาวเขาอาจเป็นตัวตลกในทรรศนะของคนเมือง แต่ก็เป็นแค่ตัวตลก ไม่ใช่ศัตรูและไม่ใช่อันตรายของชาติ มีการกลืนระหว่างกันอยู่พอสมควร นอกจากผ่านการสมรสแล้ว ในบางหมู่บ้านบนที่สูง ยังมีคนเมืองอพยพขึ้นไปอยู่ร่วมกับชนเผ่า

สังคมใดๆ ก็มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์บ้าง, ศาสนาบ้าง, ภาษาบ้าง, วัฒนธรรมประเพณีบ้าง ฯลฯ ฉะนั้นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์จึงมีความสำคัญในทุกสังคม

ตำราประวัติศาสตร์ไทยมักอธิบายว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ เพราะทรงรับคนต่างชาติต่างศาสนาเข้ารับราชการปะปนกันไป สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ในสังคมไทยแน่ แต่ไม่ใช่พื้นที่เดียว และอาจไม่ใช่พื้นที่สำคัญที่สุดด้วย เพราะพระราชอำนาจในสมัยโบราณมีจำกัดอยู่ในอาณาบริเวณที่ไม่กว้างใหญ่นัก สังคมใดๆ ก็ย่อมมีพื้นที่สมานฉันท์มากกว่าหนึ่งเดียวเสมอ

ยิ่งกว่าต้องมีพื้นที่แห่งความสมานฉันท์มากกว่าหนึ่ง พื้นที่เหล่านั้นยังเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ พื้นที่ซึ่งเคยมีอาจไม่ทำงานได้อย่างเคย เมื่อสังคมเปลี่ยนไป พื้นที่ใหม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับความแตกต่างอันไม่เหมือนความแตกต่างอย่างเก่าอีกแล้ว

เช่นความสำคัญของหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง กำลังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ระหว่างคนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยอื่นๆ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเคยเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้งด้วยซ้ำไป



ความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ซึ่งกระทบไปทุกสังคม รวมทั้งสังคมไทย คือการเปลี่ยนไปสู่สังคมชาติ ความแตกต่างที่เคยมีในสังคมของรัฐแบบเก่า อาจไม่เป็นประเด็นสำคัญอีกแล้ว หรือในทางตรงกันข้าม อาจกลายเป็นประเด็นที่แหลมคมยิ่งกว่าเดิม เช่นความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา ในขณะที่เกิดความแตกต่างใหม่ๆ ที่เกิดจากความทันสมัยและทุนนิยมโลกาภิวัตน์

และตรงนี้แหละที่เป็นความล้มเหลวของสังคมและรัฐไทยปัจจุบัน ในอันที่จะสร้างพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ดังจะยกตัวอย่างบางประการเปรียบเทียบกับสังคมอื่น ซึ่งมีพื้นที่แห่งความสมานฉันท์แบบใหม่หลากหลาย จึงทำให้มีพลังเผชิญกับความแตกต่างและความขัดแย้งได้ดี

รัฐสภาและพรรคการเมือง เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญในหลายสังคม ในสังคมที่ประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ หรือหลายอัตลักษณ์ ที่นั่งในสภาจะถูกสงวนไว้ให้แก่แต่ละชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ แม้ต้องผ่านการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ในบางประเทศ ที่นั่งจำนวนหนึ่งถูกสงวนไว้แก่ผู้ด้อยโอกาส เช่น วรรณะจัณฑาล ในบางประเทศสงวนไว้แก่คนในบางศาสนา เป็นต้น

พรรคการเมืองจะมีความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (เช่นการถอนร่างกฎหมายป้องกันการโจรกรรมทางคอมพิวเตอร์ในสหรัฐเมื่อเร็วๆ นี้) พรรคเล็กๆ ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อจับจองตำแหน่งรัฐมนตรีการท่องเที่ยวหรือเกษตร แต่เพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนกับนโยบายที่เป็นฐานเสียงของพรรคบางประการ

กลุ่มกดดันทางการเมืองอีกจำนวนมาก ยังอาจทำงานได้โดยไม่ถูกขัดขวาง และทำให้การเมืองทั้งระบบ ไม่อาจดำเนินไปในทางสุดโต่ง (ไม่ว่าขวาหรือซ้าย) ได้ ฉะนั้นตัวระบบการเมืองเองนั่นแหละคือพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่กว้างใหญ่และมีประสิทธิภาพ

น่าเศร้าที่พื้นที่แห่งความสมานฉันท์ใหม่ๆ เช่นนี้ไม่เกิดในการเมืองไทย จะด้วยเหตุผลใดก็ตามเถิด แต่ไม่เกิดหรือยังไม่เกิด


กฎหมายก็เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญของสังคมสมัยใหม่เช่นกัน อันที่จริงในทุกสังคมมีความต่างด้านกฎหมาย (หรือหลักของกฎหมาย) อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะนอกจากกฎหมายของรัฐแล้ว มนุษย์ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของเผ่า, ของประเพณี, ของศาสนา, และของวัฒนธรรมบางอย่าง ฯลฯ อยู่ด้วยทั้งสิ้น

ปัญหาคือกฎหมายเหล่านี้กับกฎหมายของรัฐต้องไม่ขัดแย้งกัน ด้วยเหตุดังนั้น ในกฎหมายของหลายรัฐ จึงเปิดให้กฎหมายประเพณี, กฎหมายศาสนา, กฎหมายชนเผ่า ฯลฯ เข้ามามีส่วนในระบบกฎหมายของรัฐด้วย (เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกัน) เช่น กรรมสิทธิ์เหนือทรัพยากรที่กฏหมายยอมรับนั้นมีหลากหลายประเภท ไม่ตายตัวอยู่เพียงสองประเภท (สมบัติเอกชน-สมบัติรัฐ) ดังเช่นที่ปรากฏในกฎหมายไทย บางรัฐยอมรับสิทธิการไม่ถูกเกณฑ์ทหารของประชาชนผู้นับถือนิกายศาสนาบางอย่างซึ่งห้ามการจับอาวุธขึ้นสังหารเพื่อนมนุษย์

กฎหมายที่ไม่แข็งกระด้างจนเกินไป จึงเป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ในสังคมชาติ และในทางตรงกันข้าม กฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างแข็งกระด้าง ย่อมกลายเป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ซึ่งอาจกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงได้ด้วย ดังคำพิพากษาตามกฎหมายที่ประชาชนนักอนุรักษ์จำนวนมากได้รับในเมืองไทยเวลานี้


การปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอิสระก็เป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่สำคัญในรัฐสมัยใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องมีอำนาจที่สลับซับซ้อนและหลากหลายกว่าตำแหน่งบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากรนานาชนิดในท้องถิ่นของตนเองระดับหนึ่ง ทำให้ความขัดแย้งย่อส่วนลงมาเหลือแต่เพียงท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นสามารถกำกับให้ความขัดแย้งนั้น คลี่คลายไปตามกติกาได้ การปกครองท้องถิ่นในลักษณะดังกล่าวนี้ จึงเป็นพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่มีประสิทธิภาพ เพราะการตัดสินใจซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น จะต้องกระทำโดยยอมรับการต่อรองจากทุกฝ่าย ได้ผลในเชิงประนีประนอมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

น่าเสียดายที่การปกครองส่วนท้องถิ่นในลักษณะดังกล่าวยังไม่เกิดขึ้นในสังคมและรัฐไทย


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ซึ่งสังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องพัฒนาขึ้น ในหลายปีที่ผ่านมา เราพูดถึงความสมานฉันท์ในสังคมไทยกันอยู่เสมอ แต่มักมีความหมายแคบๆ เพียงว่ามีเวทีให้คู่ขัดแย้ง (มุสลิมกับพุทธ, เหลืองกับแดง, เอา 112 กับไม่เอา 112 ฯลฯ) ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน สร้างพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ขึ้นชั่วคราว เพื่อระงับความขัดแย้ง

ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีพื้นที่ประเภทนี้เสียเลย และอาจระงับความขัดแย้งได้ชั่วคราวเท่าเวที เพราะพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ที่จะมีประสิทธิภาพจริง ต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ไม่ใช่สิ่งชั่วคราวเฉพาะกิจ หากเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม, เป็นเวทีถาวรที่ทุกฝ่ายเข้าไปใช้ได้อย่างเสรี, และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในสังคมสมัยใหม่

ฉะนั้น ตราบเท่าที่สังคมไทยไม่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แห่งความสมานฉันท์ประเภทนี้ขึ้น สังคมไทยก็จะเป็นสังคมแห่งความเครียด การเคลื่อนไหวทุกอย่างอาจนำไปสู่ "อุบัติเหตุ" ที่ไม่มีใครคาดคิดหรือต้องการได้ง่ายๆ

หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง ช่วยอะไรไม่ได้เสียแล้ว



.