http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-01

จาก “จีที200”ถึงกรณี“นาซา” วิทยาศาสตร์ไทยอ่อนแอมาก..

.

จาก “จีที๒๐๐” ถึงกรณี “นาซา” วิทยาศาสตร์ไทยอ่อนแอมาก..ประเทศที่เล่นเกมการเมืองอย่างเลวร้าย
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 09:09:09 น. 


จาก "จีที 200" ถึงกรณี "นาซา" เปิดอก...เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ "วิทยาศาสตร์ไทยอ่อนแอมาก" สัมภาษณ์โดย เชตวัน เตือประโคน  มติชน 1 กรกฎาคม 2555

กรณีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ "นาซา" ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เป็นฐานการวิจัยในภูมิภาคนี้ เป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าจอโทรทัศน์อยู่หลายวัน
กับโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study (SEAC4RS) และโครงการ 7 SEAS ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของอนุภาคแขวนลอยในอากาศ (Aerosol Particles) ต่อชั้นบรรยากาศและสภาพภูมิอากาศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
ซึ่งโครงการนี้มีความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกากับนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคนี้ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม

"แต่ถึงวันนี้ ชัดเจนว่าโครงการระดับโลกขององค์การนาซาได้ถอยร่นไปจากประเทศไทยแล้ว
มีคำแซวกันเล่นๆ ในหมู่เพื่อนฝูงทำนองว่า "นาซาส่งคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้ แต่ส่งคนมาเหยียบประเทศไทยไม่ได้"
ไม่รู้ว่าควรจะหัวเราะหรือร้องไห้ เพราะการยกเลิกใช้อู่ตะเภาเป็นฐานการวิจัยในครั้งนี้ ทำให้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่สังคมไทยและสังคมโลกจะได้รับ ต้องล่าช้าออกไปอีก เพียงเพราะความขัดแย้งจากเกมการเมืองของประเทศไทยแท้ๆ  
"ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยออกมาแฉถึงความลวงโลกของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด "จีที 200" ถึงกับบอกว่า "เป็นบทเรียนราคาแพงของสังคมไทย...สังคมที่วิทยาศาสตร์อ่อนแออย่างมาก"


อ.เจษฎา คือคนหนึ่งที่ออกมาให้ข้อมูลเรื่องการมาของนาซา โดยเฉพาะในประเด็นที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ เพราะนาซาทำงานเรื่องวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ไม่มีเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, ไม่มีเรื่องบ่อน้ำมัน, ไม่มีเรื่องความมั่นคง, ไม่มีเรื่องผลกระทบกับจีน ฯลฯ และไม่มีผลอะไรเลยอย่างที่ฝ่ายการเมืองของเราเอามาโจมตีกัน 

"ผมเริ่มอายุมากขึ้นระดับหนึ่งแล้ว เริ่มจับสังคมไทยได้ว่า อันไหนคือเรื่องจริง เรื่องเท็จ อันไหนเชื่อมโยงเป็นเกมอย่างไร ผมเห็นชัดว่าแต่ละฝ่ายทำอะไรอยู่ ผมพยายามจะบอกว่า ตัวเองไม่ได้เป็นพวกสีไหนเลย ผมเบื่อทุกสีที่ทะเลาะกัน... 
"ผมแค่รู้สึกว่า ตายล่ะ ความขัดแย้งทางการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องวิทยาศาสตร์เพียวๆ ได้ เป็นเรื่องที่แย่แล้ว"
นี่คือความรู้สึกของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง


ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2515 บุตรของ "จำลอง-จรัศศรี เด่นดวงบริพันธ์" เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ฝ่ายประถม) มัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ (ฝ่ายมัธยม) 
ด้วยความชื่นชอบวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก จึงสอบชิงทุน "โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)" ได้ทุนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ต่อด้วยปริญญาตรี สาขาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และปริญญาเอก สาขาชีววิทยาโมเลกุล (Molecular Biology) มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก (University og Edinburgh) สหราชอาณาจักร  
ปี พ.ศ.2545 กลับมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนจะโด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อออกมาตรวจสอบเรื่องเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ว่าเป็นแค่ "ไม้ล้างป่าช้า" ไม่ได้ช่วยปกป้องชีวิตเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
"กระทั่งมาถึงกรณีนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นฐานงานวิจัย"

เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองทำท่าว่าจะทำให้องค์กรนาซาถอนตัว อ.เจษฎารีบออกมาจัดเสวนาในหัวข้อ "นาซามาทำอะไรที่อู่ตะเภา?" เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาสะท้อนถึงผลประโยชน์มหาศาลของโครงการนี้ 
แต่ในที่สุดก็ "เอาไม่อยู่" เพราะนาซาสั่งพับโครงการในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย 
"น่าสนใจมั้ยล่ะว่า คนในแวดวงวิทยาศาสตร์อย่าง ผศ.ดร.ว่าที่ร้อยตรี เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จะรู้สึกอย่างไรต่อการไม่ได้เหยียบแผ่นดินไทยของนาซา คราวนี้"


- เรียนด้านชีววิทยา มาเกี่ยวอะไรกับจีที 200 และนาซา?
มีคนถามเยอะเรื่องนี้ และออกมาตอนแรกก็ในนามคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ไม่ได้ลงไปที่ภาควิชา ด้วยความรู้สึกว่า ถ้าบอกว่าภาควิชาชีววิทยาคนต้องแปลกใจแน่ๆ 
การเข้ามาเกี่ยวกับจีที 200 เรื่องมันซับซ้อน ไม่ใช่โผล่มาช่วงที่เป็นข่าว คือผมจะมีทั้งลูกศิษย์ เพื่อน คนในวงการวิทยาศาสตร์ ในอินเตอร์เน็ต พยายามพูดเรื่องนี้กันมานาน เพียงแต่ว่าเราเป็นคนที่มีความพร้อม ความกล้าที่จะพูด เรื่องนาซาก็เหมือนกัน ทั้งสองอย่างนี้แค่ใช้วิทยาศาสตร์พื้นฐานก็สามารถทำความเข้าใจได้


- กรณีจีที 200 ทำไมอาจารย์กล้าออกมา? 
ไม่ได้คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ ตอนนั้นแค่จะรวบรวมข้อมูลแล้วมีคนรับลูกต่อ แต่เมื่อไม่มีใครรับ เราก็เหมือนกับโดนยกสถานะขึ้นไปเรื่อยๆ มีการเชิญไปพูดตามที่ต่างๆ นักข่าวไม่รู้จะถามใครก็มาถามผม เหมือนโดนดึงขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งพอขึ้นแล้วมันลงไม่ได้ ทั้งที่เราก็พยายามจะขอความช่วยเหลือจากหลายๆ ส่วน แต่ก็ไม่มีใครยอมพูด 

เรื่องนี้สะท้อนกลับมาถึงเรื่องนาซาขอใช้สนามบินอู่ตะเภา และเรื่องอื่นๆ ด้วยว่า วงการวิทยาศาสตร์ไทยไม่เข้มแข็ง ไม่มีองค์กรอะไรมารองรับ คืออย่างถ้ามีเรื่องกับนักข่าว ก็มีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยออกมา แต่วงการวิทยาศาสตร์ไทยไม่มีอะไรเลย


- รู้สึกอย่างไรกับบทสรุปกรณีจีที 200? 
ถ้าฟังเสียงจากคนภายนอก เขาก็ยังไม่พอใจนะ เพราะบอกว่ายังเห็นมีการใช้เจ้าเครื่องนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัว ทีมงานของเราพอใจมาก เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ จริงๆ ต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อทำความเข้าใจกับสังคมไทย แต่เรื่องนี้กลับจบได้ใน 4 เดือน และจบแบบดีมาก คือให้ความรู้แก่ประชาชน มีการโต้เถียง มีวิวาทะ ให้คนได้เรียนรู้ ไตร่ตรอง แยกแยะ และในที่สุดก็มีคำสั่งหยุดใช้ 
กรณีจีที 200 มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ครบ ตั้งแต่กำหนดปัญหา ตั้งสมมติฐาน ออกแบบการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล คือตอบคำถามให้คนในพื้นที่ได้ ผมพอใจมาก ได้ประหยัดงบประมาณประเทศชาติมหาศาล และที่สำคัญคือช่วยชีวิตเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้เครื่องนี้


- ระหว่างกรณีจีที 200 ถึงเรื่องนาซาที่อู่ตะเภา หายไปไหน? 
จริงๆ ช่วง 2 ปีนี้ ผมพยายามจะทำตัวเงียบๆ เพราะรับปากกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ คนไว้ และเราก็ห่วงตัวเราเองด้วย แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ออกมาเป็นระยะๆ เช่นกรณีโรงเรียนปิดตาพลังจิต ที่มีโรงเรียนรับเด็กเข้าค่ายอบรมฝึกพลังจิตแล้วมองทะลุผ้าได้ ผมรับไม่ได้ รู้สึกว่าหลอกลวง นี่เป็นมายากลธรรมดา  
หรือเรื่องพายุสุริยะ ก็มีการจัดเสวนา ชี้แจง ให้ความรู้ เรื่องคลื่นน้ำในแม่น้ำโขงที่บอกว่าเป็นพญานาค ก็ออกมาพูด


- มองอย่างไรกับการเข้ามาของนาซา? 
เรื่องนาซาต้องบอกว่าจับพลัดจับผลูเข้ามา คือเรื่องนี้เงียบมาตลอดเลย ทั้งที่โครงการของนาซามีมานานแล้ว นาซาพยายามจะเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เป็นข่าว ที่ผ่านมานาซาสำรวจมาแล้วทั้งในฮ่องกง ญี่ปุ่น อย่างฮ่องกงนี่ก็คือจีนชัดๆ ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรเลย
นาซาเป็นองค์กรทางวิทยาศาสตร์เพียวๆ จริงอยู่ อาจจะมีเงินจากหลายๆ ส่วน แต่เขาทำงานวิทยาศาสตร์เป็น 100 ปีแล้ว งานสำรวจบรรยากาศทำมาเกือบทั่วโลก เพราะเขาตระหนักว่า ไฟป่าที่บ้านเรา หมอกควัน ควันพิษต่างๆ นั้นกระจายไปทั่วโลก 
คือตอนนี้ภาพในบ้านเราเหมือนเป็นเรื่องตลก คล้ายๆ กับจะมีฝรั่งกลุ่มหนึ่งเข้ามาปล้นประเทศไทย อะไรทำนองนี้ คือต้องเข้าใจว่า นาซาเป็นเจ้าภาพ มีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเข้าไปร่วมทีม คนจีนก็มี


- ในฐานะนักวิทยาศาสตร์รู้สึกอย่างไรต่อโครงการนี้? 
ก็ลองคิดว่า ถ้า 30 ปีที่แล้ว เขาจะให้คนไทยไปดวงจันทร์กับยานอพอลโล เราตื่นเต้นมั้ย นี่คือโครงการที่ทำในโลกที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่เขาเคยทำ แล้วมาลงในประเทศไทย ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ เครื่องมือที่มาทุกอย่างอลังการ อัศจรรย์มาก เป็นการทำงาน 3 ประสาน ภาคสนาม ระดมเครื่องมือมาจากหลายที่ ภาคอากาศ เครื่องบินสามลำเหมือนเป็นแล็บลอยฟ้า และอีกภาคหนึ่งคือประสานกับดาวเทียม 10 ดวง นี่คืองานใหญ่ 
นาซาเก็บข้อมูลเรื่องนี้ทั้งโลกจะครบแล้ว มาโหว่อยู่ตรงนี้เอง เราฟังในเชิงของวิทยาศาสตร์เพียวๆ ตื่นเต้นมาก เราอยากเห็นเครื่องมือ อยากเห็นเครื่องบินที่เขาเอามา 
แต่ในขณะเดียวกัน ข่าวที่เราได้ยินโดยทั่วไปคือ วาทกรรมทางการเมืองที่หนักขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มไปกันใหญ่ การอ้างไม่ได้เป็นการถกเถียงเชิงวิทยาศาสตร์เลย กลายเป็นเรื่องอะไรไม่รู้ บ่อน้ำมัน พ.ต.ท.ทักษิณ การสอดแนม ความมั่นคง ฯลฯ ไปกันใหญ่


- การถอนตัวของนาซาคราวนี้สะท้อนอะไร? 
หลายอย่าง ผมชอบบ่นว่าประเทศไทยเราไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ เราใช้เรื่องความเชื่อ ศรัทธา เชื่อตามผู้นำ หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่กระบวนการวิทยาศาสตร์ เราไม่ใช่แค่ไม่ชอบวิทยาศาสตร์ หรือไม่ชอบสารคดีวิทยาศาสตร์ แต่เราไม่ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการคิดเรื่องต่างๆ ด้วย กรณีนี้สะท้อนว่า เราไม่เอาวิธีคิดแบบไตร่ตรองมาคุยกัน แสดงว่าความเข้มแข็งของวงการวิทยาศาสตร์ไทยต่ำมาก

สมมติว่าเรื่องนี้เกิดที่ประเทศอื่นๆ อย่าง อเมริกา อังกฤษ หรือประเทศมาเลเซีย เวียดนาม เชื่อว่าต้องมีองค์การวิทยาศาสตร์ออกมายันว่าไม่ใช่แล้วนะ นี่มันเรื่องของวิทยาศาสตร์เพียวๆ 
แต่ประเทศไทย เป็นประเทศที่เล่นเกมการเมืองอย่างเลวร้าย วันนี้ก็เริ่มโทษกันแล้วว่าโครงการล้มไปเพราะฝ่ายไหน รัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ซึ่งผมเป็นประชาชนธรรมดารู้สึกเบื่อมากกับเกมนี้ ไม่เคยคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะลุกลามมาได้ทุกวงการ นี่เป็นบทเรียนราคาแพงมาก


- เรื่องภาพพจน์ของประเทศก็เสีย? 
ใช่ ภาพพจน์ต่างๆ ของประเทศไทยเสียไปหมดเลย ต่อไปใครจะกล้าเข้ามาลงทุน อย่างโครงการนี้บอกว่าให้เลื่อนไปหน่อย คือมันเลื่อนไม่ได้ เพราะเขาต้องเก็บข้อมูลในช่วงนี้ ณ วันนี้มันช้าไปแล้วด้วย การประสานงานตรงนี้มีมา 2 ปีแล้ว แต่เรื่องไปคาอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ทำไมผู้ห่วงใยเรื่องความมั่นคงทั้งหลายไม่ไปถามกระทรวงการต่างประเทศ 
การถอนตัวของนาซาทำให้ประเทศไทยเสียชื่อมาก เพราะนี่เป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินมาหลายส่วนแล้ว นาซาเขาจะกลับไปตอบคำถามกับคนให้ทุนอย่างไร ประเทศไทยวิทยาศาสตร์โดยรวมแย่อยู่แล้ว เจอเรื่องนี้ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก และใครจะกล้าเข้ามา องค์กรระดับโลกอื่นๆ ไหนจะกล้าเข้ามาอีก


- วิเคราะห์ว่าวงการวิทยาศาสตร์บ้านเราอ่อนแอเพราะ? 
ผมว่าวิเคราะห์ยาก มีหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่การศึกษา สภาพสังคม อุตสาหกรรม เกษตรกรรม อย่างมุมหนึ่งเรายังติดภาพเกษตรกรรม อยู่ในโลกง่ายๆ สบายๆ ขณะที่อีกหลายประเทศทั่วโลกเขาไม่ได้คิดอย่างนั้นแล้ว ประเทศที่เขาเจริญ เขาไปอีกมุมหนึ่ง มองว่าทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนาไปได้กับประชาคมโลก
เรื่องการศึกษา เราสอนให้ท่องจำมาตลอด ท่องอาขยาน และที่สำคัญคือห้ามเถียง ทั้งที่เรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องเถียง วิทยาศาสตร์ผ่านประวัติศาสตร์โลกมาหลายพันปีเพราะการเถียง เถียงเมื่อไม่เชื่อ-เถียงไม่เชื่อ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่บอกว่าคุณต้องเชื่อสิ่งที่ฉันพูด นั่นไม่ใช่วิทยาศาสตร์


- กรณีนาซา อยากฝากอะไรกับสังคมไทย? 
คนจำนวนมากไม่รู้ว่าเราสูญเสียอะไรไป และเราที่ว่าก็ไม่ใช่ประเทศไทย แต่คือคนทั้งโลก เราไม่รู้ตัวว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสีย การที่เราทะเลาะกันอยู่ ขัดแย้งกันอยู่ เป็นสาเหตุของการสูญเสีย ผมอยากให้เรารู้ตัวก่อน รู้แล้วจะได้คิดว่านี่เป็นอุทาหรณ์ ได้เห็นบทเรียนราคาแพง
ความที่ประเทศเรายังคิดไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ วงการวิทยาศาสตร์เรายังไม่เข้มแข็ง มีผลกระทบรุนแรงต่อภาพลักษณ์ ต่อชื่อเสียงประเทศชาติ มีผลกระทบรุนแรงต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของคนทั้งโลกในเรื่องนี้

เราเริ่มต้นใหม่ได้ ผมว่าคนทุกคนรักชาติ เรารักโลกด้วย กลับมาคุยโดยหลักการและเหตุผล เอาข้อมูลที่แท้จริงมาถกเถียงกัน รับฟังโดยรอบด้าน อย่าฟังด้านเดียว อย่าฟังแค่สีใดสีหนึ่ง อย่าฟังแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ฟังนักวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ ฟังคนในวงการแพทย์ให้มากขึ้น

สังคมที่เจริญแล้ว คือสังคมที่อยู่บนฐานความรู้มากกว่าฐานความเชื่อ คิดว่า ถ้าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของโลก ต้องก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ไปให้ได้

"นี่เป็นบทเรียนราคาแพง แต่หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ในใจเรา"



.