http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-17

ปริศนาพระแก้วมรกต(2) จากอโยชฌาถึงวชิรปราการ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
อ่านตอนแรก - ปริศนาพระแก้วมรกต(1) จากปาฏลีบุตรถึงนครอินทปัตถ์ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/p1emrbd.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปริศนาพระแก้วมรกต(2) จากอโยชฌาถึงวชิรปราการ
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1661 หน้า 76


การเดินทางมาราธอนของพระแก้วอมรโกฏ (มรกต) จากลังกาทวีปไปสู่ทวีปที่สองอันมีชื่อว่า "กัมโพชอโยชฌวิสัย" นั้น ต้องแรมรอนจากเมืองสู่เมืองมากถึง 5 ครั้ง คือจากมหานครอินทปัตถ์ (นครธม) สู่อโยชฌา ต่อมากรุงอโยชฌามอบให้เจ้าเมืองวชิรปราการ (กำแพงเพชร) ช่วงหนึ่งพระเจ้าละโว้ได้มาขอยืมไปประดิษฐานที่กรุงลวะปุระ แต่สุดท้ายเจ้าเมืองกำแพงเพชรขอกลับคืน ถอดเป็นเส้นทางได้ว่า

นครธม-อโยชฌา-กำแพงเพชร (1)-ละโว้-กำแพงเพชร (2)

ปริศนาที่ชวนฉงนยิ่งนักก็คือเมือง "อโยชฌา" จะเป็นเมืองเดียวกันกับ "อโยธยา" ซึ่งคนส่วนใหญ่คุ้นตาด้วยภาษาสันสกฤตหรือไม่ 
คำตอบคือก็น่าจะใช่ แต่ "อโยชฌ" เป็นคำเก่า เขียนแบบบาลี ดังเช่นปรากฏอยู่ในจารึกลานทองแผ่นที่ 3 สมัยสมเด็จเจ้าสามพระยา (พ.ศ.1967-1991) ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี มีการเรียกแว่นแคว้นแดนสุพรรณภูมิในยุคอยุธยาต้นว่า "อโยชฌปุระ" 

พงศาวดารพม่าสมัยพระเจ้าอโนรธา กล่าวว่าอาณาเขตของอาณาจักรพุกามนั้น ทางทิศตะวันออกจรดประเทศพิงกะ (พิงคบุรี เป็นอีกชื่อของหริภุญไชย) อยู่ตอนบนของแม่น้ำปิง ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้คือประเทศของพวกขอม ซึ่งเรียกว่า "อยอชะ" (อโยชฌยา) 
เมืองอโยธยาเป็นที่รับรู้กันว่ามีมาก่อนกรุงศรีอยุธยา แต่ว่าจะเก่านานแค่ไหน ร่วมรุ่นกับทวารวดีหรือเช่นไร ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดเจน เหตุเพราะที่บริเวณเมืองเก่าอยุธยาในยุคละโว้-ทวารวดีนั้น มีสภาพเป็นทะเล พบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุเก่ากว่ากรุงศรีอยุธยาเพียงศตวรรษเศษๆ เท่านั้นที่บริเวณวัดสมณะโกษา วัดกุฎีดาว และวัดศรีอโยธยา

อโยธยามักถูกเรียกโดยรวมว่า "อโยธยาศรีรามเทพนคร" จิตร ภูมิศักดิ์ บอกว่าสามารถแยกได้เป็นสามเมืองคืออโยธยา ศรีราม และเทพนคร โดยเมือง "ศรีราม" นี้ จิตร ภูมิศักดิ์ อ้างตำนานมูลศาสนาว่าเป็นเมืองของเจ้าชายรามราช พระสวามีของพระนางจามเทวี ธิดาพระเจ้ากรุงละโว้ ดังนั้น เมืองศรีราม จึงอยู่ห่างจากเมืองละโว้ไม่มากนัก เพราะมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของละโว้  

แต่หลายท่านกลับเชื่อว่า "อโยธยาศรีรามเทพนคร" นั้นอาจเป็นเมืองเดียวกัน แต่มีชื่อสร้อยที่เรียกเสริมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บางท่านว่าอาจอยู่ที่อู่ทอง สุพรรณบุรี เหตุเพราะที่นี่ได้มีการขุดค้นพบซากเมืองร้างก่อนที่จะมาตั้งกรุงศรีอยุธยาถึง 300 ปี 
ในขณะที่จารึกวัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท พ.ศ.1951 เรียกชื่อเมืองชัยนาทในอดีตว่า "นครพระราม" ไม่ทราบว่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับ "อโยธยาศรีรามเทพนคร" หรือเปล่า 
สรุปแล้ว ตราบทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอโยธยาอยู่ที่ไหนกันแน่


ไม่ว่าอโยธยา หรืออโยชฌาจะอยู่ที่ใด แต่ตำนานพระแก้วมรกตกลับระบุชัดถึงนามกษัตริย์ 
"...บัดนี้มาจะกล่าวถึงพระมหากษัตริย์เจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าอาทิตยราช พระองค์ได้ครอบครองราชสมบัติในกรุงอโยชฌา"
ข้อความตอนนี้ตรงกับพงศาวดารกรุงกัมพูชาที่ว่า "...ในลำดับนี้ ขอกล่าวถึงพระบาทอาทิตยราช เสวยราชย์ ณ กรุงอโยชฌนคร คือเมืองไทยเหนือ"
ฟังดูแปร่งๆ ชอบกล ถ้าบอกแค่ว่า "อโยชฌา" ก็พอจะเข้าใจได้ว่าประมาณชัยนาท สุพรรณบุรี อยุธยาเก่า หรือเมืองรอบๆ ลพบุรี แต่นี่กลับบอกว่าเป็นไทยเหนือ (เหนือนครธม หรือว่าเหนือขึ้นไปจากละโว้มิทราบได้) แถมระบุชื่อนามของกษัตริย์ว่า "อาทิตยราช"

จะใช่ "อาทิตยราช" ผู้เป็นมหาราชแห่งนครหริภุญไชย ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับพระเจ้าอนิรุทธแห่งพุกาม-พระเจ้าวิชัยพาหุที่ 1 แห่งลังกา และสูริยวรมันที่ 1 แห่งนครธม หรือไม่?
เพียงแต่สงสัยว่า หากต้องการตอกย้ำว่าคือพระญาอาทิตยราชแห่งหริภุญไชย ไฉนจึงไม่เขียนชื่ออาณาจักรตรงๆ ไปเลยเล่า ทำไมต้องเป็นอโยชฌา ในเมื่อหริภุญไชยก็เป็นแคว้นเอกเทศที่มีชื่อเสียงเกรียงไกร ไม่เป็นสองรองใครอยู่แล้ว

ถ้าเช่นนั้น "พระเจ้าอาทิตยราช" ในตำนานพระแก้วมรกตผู้นี้เป็นใครหรือ



มีกษัตริย์องค์ใดบ้างในรัฐโบราณละแวกอุษาคเนย์ที่มีพระนามว่าอาทิตยราชหรือชื่ออื่นที่ใกล้เคียง ระหว่าง พ.ศ.1500 จนถึง พ.ศ.1979 ในสมัยพระญาสามฝั่งแกน (เหตุที่ระบุ พ.ศ.1979 ก็เพราะเป็นยุคที่มีการพบพระแก้วมรกตองค์เป็นๆ แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องราวในตำนาน)

พินิจพิเคราะห์ดูรายนามกษัตริย์ที่มีชื่อในความหมายว่าพระอาทิตย์ ที่สืบต่อจากสูริยวรมันที่ 1 (พ.ศ.1553-1593) แห่งยโสธรปุระ (นครธม) ซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้วในนามของกษัตริย์แห่งกรุงอินทปัตถ์ มีดังนี้  
พระเจ้าอุทัยทิตยวรมัน (พ.ศ.1593-1604) ผู้เป็นปนัดดาและครองราชย์ที่นครธมสืบต่อจากสูริยวรมันที่ 1

พระญาอาทิตยราช (พ.ศ.1550-1601) แห่งหริภุญไชยนคร (ลำพูน) เป็นมหาราชที่ยกทัพไปตีละโว้หลายหนจนผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ เป็นยุคที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองจนถึงขีดสุด มีการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุทำให้เกิดการสถาปนาพระมหาธาตุเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินล้านนา

พระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1659-1703) ยุคนี้ทำสงครามกับจามปา คำว่า "นี่ สยามกุก" ได้ปรากฏอยู่บนภาพสลักระเบียงคตปราสาทนครวัด

ยุครัฐโบราณมีเพียงเท่านี้ น่าเสียดายที่เราไม่พบรายชื่อกษัตริย์รัฐเล็กเมืองน้อยที่กำลังก่อตัวยุคหัวเลี้ยวหัวต่อจากรัฐโบราณก้าวเข้าสู่รัฐไทย ไม่ว่าจากตำนานหรือศิลาจารึก
จากนั้นก็มี พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ.ศ.1780-ไม่ระบุ) ปฐมกษัตริย์แห่งสุโขทัย 
และสุดท้าย พระอาทิตยวงศ์ (พ.ศ.2172) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

องค์สุดท้ายตัดทิ้งไปได้เลย เพราะอายุสมัยล่วงเลยเกินกว่ายุคที่พระแก้วมรกตจะยังคงประดิษฐานใน "กัมโพชอโยชฌวิสัย" แล้ว
ส่วนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์แห่งสุโขทัย ก็น่าจะไม่เกี่ยวข้องเช่นกัน เพราะตำนานระบุว่ากษัตริย์ผู้มีนามว่าอาทิตยราชพระองค์นั้น มีอำนาจบารมีอย่างล้นหลาม สามารถพิชิตละโว้และทำสงครามยกทัพลงไปปราบจลาจลที่มหานครได้ เมื่อเห็นว่ามหานครหรือนครธมกำลังระส่ำระสายก็รีบนำพระแก้วมรกตหนีขึ้นมาไว้ที่อโยชฌปุระ 
ซ้ำยังเป็นกษัตริย์ที่ปกครองเมืองกำแพงเพชรอีกด้วย โดยพระเจ้าอาทิตยราชได้มอบพระแก้วมรกตให้แก่เมืองเครือข่ายคือวชิรปราการ แน่นอนว่า "กำแพงเพชร" ในยุคนั้น ก็มิใช่กำแพงเพชรในยุคที่เป็นรอยต่อระหว่างสุโขทัยกับอยุธยา ต้องเป็นเมืองที่มีมาก่อนหน้านั้น


ย้อนกลับมามองดูพระญาอาทิตยราชแห่งหริภุญไชย พระองค์ได้สร้างวีรกรรมสำคัญคือยกกองทัพไปรบกับละโว้หรือลวปุระหลายครั้งหลายครา ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ อาณาจักรหริภุญไชยได้ปกครองดินแดนแถบกำแพงเพชรซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่ปิงตอนกลางมาช้านานตั้งแต่สมัยเจ้าแม่จามเทวีแล้ว จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าที่เมืองเก่ากำแพงเพชรได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปสกุลช่างหริภุญไชยอยู่หลายชิ้น

ข้อสำคัญคือ ตำนานรัตนพิมพวงศ์กล่าวว่า เมื่อพระเจ้าอาทิตยราชได้รับพระแก้วมรกตมาแล้ว ได้โปรดให้สร้างคูหามณฑปสำหรับประดิษฐาน และสร้างเวชยันต์ปราสาทครอบทับ มีการฉลองกลางพระนคร 7 วัน 7 คืน บัดนั้นเป็นต้นมา อโยชฌาก็กลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา

อ่านไปอ่านมารู้สึกคุ้นๆ ว่าเคยพบข้อความลักษณะนี้มาก่อนแล้วในตำนานมูลศาสนา ที่กล่าวว่าในแผ่นดินของพระญาอาทิตยราช ภายหลังจากที่ได้รบชนะละโว้แล้ว ก็ได้บังเกิดสิ่งอัศจรรย์คือมีการขุดพบพระบรมสารีริกธาตุกลางมหานคร พระองค์โปรดให้สร้างไพชยนต์ (เวชยันต์) ปราสาทครอบทับมณฑป แล้วจัดสมโภช 7 วัน 7 คืน จากนั้นนครหริภุญไชยก็รุ่งเรืองประหนึ่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนา 
เมื่อประมวลดูทั้งหมดแล้ว "อโยชฌา" กับพระเจ้าอาทิตยราช ในที่นี้จะเป็นองค์อื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจาก พระญาอาทิตยราชแห่งหริภุญไชย ผู้ยกทัพไปปราบละโว้ (ส่วนหนึ่งของขอม) ผู้ปกครองดินแดนแถบลุ่มแม่ปิงมีอำนาจเหนือวชิรปราการ และมีอายุร่วมสมัยกับสูริยวรมันที่ 1 
นอกจากนี้แล้ว ยังพบว่าฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง กลางเมืองลำพูนเก่า มีวัดแห่งหนึ่งชื่อเดิมว่า "วัดดอนพระแก้ว" แต่ภายหลังเรียกกันสั้นๆ ว่า "วัดดอนแก้ว"

ส่วนมูลเหตุแห่งการยกพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระเจ้าวชิรปราการอย่างง่ายดายชนิดไม่หวงแหนนั้น วิเคราะห์ได้ว่า เพราะในนครหริภุญไชยนั้นมีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอยู่ก่อนแล้วองค์หนึ่ง คือพระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาว ได้มาตั้งแต่สมัยของพระนางจามเทวี จึงอาจเป็นไปได้ว่า พระแก้วมรกตจึงไม่น่าจะมีความหมายอันใดนักสำหรับชาวหริภุญไชย   
ผู้รจนาตำนานรัตนพิมพวงศ์ เป็นชาวเชียงแสน เขียนเรื่องพระแก้วมรกตขึ้นภายหลังจากที่ได้อ่านวีรกรรมของพระญาอาทิตยราชในตำนานมูลศาสนาถือเป็นคัมภีร์ชั้นครูมาก่อนแล้ว อาจเป็นไปได้ว่า พระพรหมราชปัญญาจงใจที่จะยกยอถึงความยิ่งใหญ่ของพระแก้วมรกตเสมอเสมือนกับเหตุการณ์การอุบัติขึ้นของพระบรมสารีริกธาตุในนครหริภุญไชย

แต่ในขณะเดียวกันก็มองว่าแว่นแคว้นที่อยู่ตอนใต้ของโยนกเชียงแสนทั้งหมดเป็นพวกขอมกัมโพช มองภาพรวมของหริภุญไชยซึ่งเป็นยุคสมัยที่ทำสงครามผนวกรวมรัฐละโว้ ว่าเป็นเมืองกลุ่มเดียวกัน คือเป็นพวกละโว้อโยชฌา (มิใช่คนเผ่าไทโยนเหมือนพวกตน)



การเดินทางของพระแก้วมรกตมาสู่ทวีปที่สองก็จบลงที่กำแพงเพชร เห็นได้ว่าจากปาฏลีบุตรถึงอินทปัตถ์นั้น เป็นการล้อเหตุการณ์เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเขี้ยวแก้ว ส่วนตอนที่สองจากอโยชฌาถึงกำแพงเพชรนั้นก็มีแกนอยู่ที่ความจงใจจำลองฉากสำคัญของการสถาปนาพระบรมสารีริกธาตุกลางนครหริภุญไชยสมัยพระญาอาทิตยราช 
แต่น่าเสียดาย ที่เรื่องทั้งหมดนี้มักถูกมองว่าเป็นตำนานที่เขียนแบบยกเมฆขึ้นทั้งเพ ไม่ควรวิเคราะห์ค้นหาความจริงให้เสียเวลา เป็นเรื่องที่ไร้แก่นสาร ผู้รจนาเพียงแค่หยิบเอาตัวละครนู่นนี่นั่นจับยัดใส่ชื่อเมืองแบบจับแพะชนแกะเพื่อเสริมบารมีให้พระแก้วมรกตมีคุณค่าว่าเดินทางไกลและเป็นที่หมายปองของเมืองต่างๆ เท่านั้นเอง เพราะยังไงๆ ตัวองค์พระปฏิมาก็เพิ่งจะเริ่มขึ้นจริงๆ ที่อาณาจักรล้านนา

แต่สำหรับดิฉันแล้ว ยังข้องใจและคาใจอยู่ไม่น้อยว่า ทำไมที่กำแพงเพชรจึงมีวัดพระแก้ว ซึ่งสร้างมาก่อนยุคสุโขทัย ที่เมืองสรรคบุรีชัยนาทก็มีวัดพระแก้ว อันเป็นเมืองร่วมสมัยกับหริภุญไชย-ละโว้ตอนปลาย แม้จะมีผู้พยายามบอกว่าไม่เกี่ยวข้องอะไรกับพระแก้วมรกตหรอก แต่เรียกเพี้ยนมาจากวัดป่าแก้วต่างหาก 
ซ้ำที่ลำพูนยังมีวัดร้างดอนพระแก้ว พร้อมๆ กับชาวบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงรำพึงรำพันถึงตำนานพระแก้วมรกตว่าเคยประทับอยู่ที่นี่ เป็นมุขปาฐะที่นักวิชาการกระแสหลักไม่เคยรับรู้มาก่อน

เขียนมาสองตอนนี่ ยังไม่ใช่ไฮไลต์ของตำนานพระแก้วมรกตดอกนะ คราวหน้าจะว่าด้วยการเดินทางขึ้นสู่โยนกทวีป ยิ่งมีประเด็นซับซ้อนซ่อนเงื่อนต้องถอดรหัสทีละเปลาะๆ อย่างละเอียดยิบ

แฟนพระแก้วพันธุ์แท้มิควรพลาด



.