http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-24

ปริศนาพระแก้วมรกต (3) จากเชียงราย สู่ลำปาง ถึงเชียงใหม่ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.
อ่านตอนแรก - ปริศนาพระแก้วมรกต(1) จากปาฏลีบุตรถึงนครอินทปัตถ์ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ 
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/p1emrbd.html
อ่านตอนสอง - ปริศนาพระแก้วมรกต(2) จากอโยชฌาถึงวชิรปราการ โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/06/p2emrbd.html


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ปริศนาพระแก้วมรกต (3) จากเชียงราย สู่ลำปาง ถึงเชียงใหม่
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1662 หน้า 76


การเดินทางของพระแก้วมรกตขึ้นสู่โยนกทวีปตอนนี้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะชื่อของบุคคลที่ปรากฏในตำนานเริ่มสอดรับกับเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์
นับแต่ "ท้าวมหาพรหม" ในตำนานเรียก "พระเจ้าพรหมทัศน์ กษัตริย์เชียงราย" เป็นคนแรกที่นำเอาพระแก้วมรกตจากกำแพงเพชร ขึ้นมาประดิษฐานยังเชียงราย 


ท้าวมหาพรหมนี้เป็นอนุชาของพระญากือนา กษัตริย์เชียงใหม่ แต่ด้วยความที่คิดจะแย่งบัลลังก์พี่ชายจึงดั้นด้นลงไปหาสมัครพรรคพวกที่สุโขทัย ในทำนองชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน ยุยงให้พระญาไสยฦๅไทยยกทัพไปปราบพี่ชาย หากชนะตนก็จะได้เป็นกษัตริย์เชียงใหม่ และสัญญาว่าจะยกเมืองแถวเชียงรายให้กษัตริย์สุโขทัย 
ถ้าใครเป็นพระญาไสยฦๅไทยก็คงไม่คิดบ้าจี้ยกทัพไปตีเชียงใหม่ตามคำยุยงนั้นหรอก เพราะอยู่ดีไม่ว่าดีเท่ากับแกว่งเท้าหาเสี้ยนแท้ๆ 
แต่จะให้พระองค์ทำไงได้ แผนชั่วร้ายของท้าวมหาพรหมนี้ช่างน่ากลัวนัก จักปฏิเสธขืนขัดตรงๆ ก็ใช่ที่ อย่ากระนั้นเลย แสร้งทำเป็นผูกสัมพันธ์เชื้อเชิญให้ท้าวมหาพรหมไปพักผ่อนที่เมืองลูกหลวงคือกำแพงเพชรชั่วคราวก่อน อาจจะช่วยดับร้อนคลายความมุทะลุลงบ้าง

ตำนานระบุว่า เมื่อท้าวมหาพรหมกลับจากกำแพงเพชรแล้ว ได้นำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ติดตัวมาด้วยถึงสององค์ 
องค์แรกคือ "พระพุทธสิหิงค์" ได้นำไปถวายแด่พระญาแสนเมืองมา ผู้เป็นโอรสของพระญากือนา แสดงว่าเพิ่งมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ภายหลังจากพระเชษฐากือนาสวรรคตไม่นาน หลานชายเห็นอามาขอปรองดองคืนดีด้วย จึงยกเมืองเชียงรายให้ 

พระศักดิ์สิทธิ์อีกองค์ก็คือ "พระแก้วมรกต" ซึ่งองค์นี้เจ้าตัวหวงนักหวงหนา ไม่ยอมให้ใครเด็ดขาด ซ้ำกลัวว่าจะหายสูญถึงกับนำไปพอกปูนซ่อนบนต้นโพธิ์อยู่นานหลายสิบปี จนกระทั่งคนพอกเองก็ตายไปแล้ว วันดีคืนดีพระแก้วมรกตพลันร่วงตกลงมาด้วยเกิดอสุนีบาต ข่าวทราบไปถึงกษัตริย์เชียงใหม่ โอรสของแสนเมืองมาชื่อพระญาสามฝั่งแกน 
กษัตริย์องค์ใหม่นี้สั่งให้อำมาตย์อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นบนหลังช้างมาไว้ที่เชียงใหม่ แต่จนแล้วจนรอดเมื่อมาถึงทางแยกเชียงราย-ลำปาง-เชียงใหม่ ช้างกลับมุ่งหน้าสู่เมืองลำปางสถานเดียวโดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรม แม้อำมาตย์พยายามหยุดรั้งสกัดกั้น นำพระแก้วมรกตลงมาทำพิธีบวงสรวงต่อเทพยดาฟ้าดินถึงสามครั้งสามคราว่าขอให้ช้างมุ่งหน้าไปเชียงใหม่ทีเถิด แต่ช้างก็ยังยืนกรานที่จะมุ่งหน้าไปลำปาง

สุดท้ายพระแก้วมรกตต้องประดิษฐานอยู่วัดพระแก้วดอนเต้าเมืองเขลางค์นานถึง 32 ปี กระทั่งถึงยุคของพระเจ้าติโลกราช มหาราชะผู้เปี่ยมท้นบารมีนั่นแหละ จึงมีบุญญาธิการมากพอที่จะย้ายพระแก้วมรกตจากลำปางสู่เชียงใหม่ได้



ตํานานหน้านี้สร้างปริศนาที่ชวนให้สงสัยก็คือ องค์พระพุทธสิหิงค์และพระแก้วมรกตที่ท้าวมหาพรหมอ้างว่าได้มาจากกำแพงเพชรนั้น ได้มาจริงหรือเปล่า ได้มาอย่างไร ได้เมื่อปี พ.ศ.ไหน และได้มาจากใคร ทำไมถึงไม่มีการระบุเหตุการณ์สำคัญตอนนี้ในประวัติศาสตร์สุโขทัย ยกเว้นแต่เพียงตำนานฝ่ายโยนกเท่านั้น 
ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาพุทธศิลป์ของพระพุทธปฏิมาทั้งสององค์นี้ไว้แล้ว ได้ข้อสรุปว่า ทั้งคู่เป็นศิลปะล้านนาที่สร้างขึ้นในสกุลช่างพะเยา-เชียงแสน  
ไม่ใช่ศิลปะอินเดีย ลังกา ละโว้ หรือแม้แต่สุโขทัย 
อาจารย์ศักดิ์ชัย จึงฟันธงว่า อายุของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งสององค์นี้น่าจะคาบเกี่ยวอยู่ในรัชสมัยของพระญากือนาตอนปลายๆ จนถึงพระญาแสนเมืองมา (ต้นพุทธศตวรรษที่ 20) 
หรือพูดให้ง่ายเข้าก็คือ ท้าวมหาพรหมเองนั่นแหละคือผู้ที่แอบสร้างพระพุทธรูปสององค์นี้

และสถานที่สร้างก็น่าจะเป็นแถบเชียงราย เชียงแสน พะเยา สร้างโดยมีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง เพื่อใช้เสริมบารมีตนเองให้เกิดความชอบธรรมมากพอที่จะไปต่อรองอำนาจให้เกิดการยอมรับจากพระญาแสนเมืองมา เพราะตนเองนั้นอยู่ในฐานะ "กบฏอา" จะตื๊อขออยู่สุโขทัยต่อไปนานวันเข้าก็ไม่มีใครเขาต้อนรับ เมื่อซมซานกลับคืนล้านนาจะมามือเปล่าก็ดูกระไรๆ อยู่ 
แสร้งเอาพระพุทธสิหิงค์มาให้หลาน แล้วยกเมฆว่าตนมีบารมีสูงส่งกว่า จึงต้องเก็บรักษาพระแก้วมรกตไว้ที่เชียงราย เพียงเท่านี้ก็สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์จาก "ทรราช" มาเป็น "วีรบุรุษ" ได้ไม่ยาก



ส่วนการที่ช้างจอมดื้อไม่ยอมมุ่งหน้าสู่เชียงใหม่จะไปลำปางลูกเดียว ทั้งๆ ที่เส้นทางจากเชียงรายไปลำปางนั้นขลุกขลักสูงชันกว่าไปเชียงใหม่เป็นไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นพะเยา-งาว หรือเวียงกาหลง-วังเหนือ-แจ้ห่ม ก็ตาม ในส่วนนี้ อ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาของกรมศิลปากร ให้ความเห็นว่า
เป็นเพราะตำนานต้องการจะบอกว่า ในระหว่างที่พระญาสามฝั่งแกนครองราชย์ ณ เมืองเชียงใหม่นั้น เชียงใหม่แทบจะไร้ความหมาย (แม้แต่ช้างยังเมินหนี) ผิดกับเมืองลำปาง ทั้งๆ ที่เป็นเมืองลูกหลวงแท้ๆ แต่กลับเป็นแหล่งเนื้อนาบุญรองรับพระแก้วมรกตได้นานถึง 32 ปี

เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจารย์พิเศษวิเคราะห์ว่า ก็เพราะเมืองลำปางในช่วงสามทศวรรษนั้นเป็นเขตส้องสุมกองกำลังให้แก่พระเจ้าติโลกราชเพื่อวางแผนยึดอำนาจจากพระญาสามฝั่งแกนผู้เป็นพระราชบิดา โดยเจ้าเมืองเขลางค์ชื่อ หมื่นโลกนครมีฐานะเป็นอาแท้ๆ ของพระเจ้าติโลกราช คอยทำหน้าที่กุนซือเลื่อยขาเก้าอี้ของพี่ชายให้แก่หลาน 
ทุ่มเทช่วยงานสำคัญอย่างไม่คิดชีวิตกันขนาดนี้ หากไม่ตบรางวัลก้อนใหญ่ให้ก็ดูจะใจจืดใจดำเกินไป นี่หรือเปล่าคือคำตอบที่ว่า ทำไมช้างต้องเปลี่ยนเข็มทิศจากเชียงใหม่มาลำปาง แม้แต่เทพยดาฟ้าดินก็เอาไม่อยู่



แต่เงื่อนงำสำคัญยิ่งอีกปมหนึ่งที่นักวิชาการล้านนาสงสัยก็คือ พระแก้วมรกตนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ใหม่หรือที่เรียกว่า "ป่าแดง" ใช่หรือไม่ 
เพราะหลังจากที่พระเจ้าติโลกราชได้ขึ้นนั่งบัลลังก์แล้ว ภารกิจแรกที่ต้องปฏิบัติก็คือการขอพระแก้วมรกตคืนจากลำปางมาสู่เชียงใหม่ ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคราวนี้ช้างจึงยอมศิโรราบคาบแก้วโดยดี

พระแก้วมรกตถูกประดิษฐานในคูหาซุ้มจระนำทิศตะวันออกของพระมหาธาตุเจดีย์หลวง (ราชกูฏ) กลางเวียงเชียงใหม่ ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่เคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระสิงห์อยู่ดีๆ ก็ถูกนำมาร่วมประดับซุ้มทิศใดทิศหนึ่งที่วัดเดียวกันนี้ด้วย
ไม่เว้นแม้แต่ "พระแก้วขาว" อันเก่าแก่ของเจ้าแม่จามเทวีที่พระญามังรายชิงมาจากลำพูน เคยประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่นวัดแห่งแรกที่พระญามังรายสร้าง และใช้เป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อหน้าพระแก้วขาว ก็ยังถูกนำมา "รวมดาว" ด้วยเช่นกัน


หากพระแก้วมรกตคือตัวแทนของพระพุทธศาสนานิกายป่าแดงแล้วไซร้ พระพุทธสิหิงค์ก็ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของนิกายลังกาวงศ์เก่า หรือที่เรียกกันว่า "นิกายสวนดอก" ซึ่งสองนิกายนี้ไม่ลงรอยกันอย่างแรง ไว้โอกาสเหมาะๆ จะเล่าให้ฟังถึงปูมหลังของ "สังฆวิวาทะ" อย่างถึงพริกถึงขิง
ส่วน "พระแก้วขาวเสตังคมณี" จะหมายถึงสิ่งอื่นใดไม่ได้ นอกเสียจากภาพแทนของศาสนาพุทธนิกายดั้งเดิมเชื้อเก่าที่สืบมาตั้งแต่สมัยหริภุญไชย สำหรับพระพุทธปฏิมาองค์สุดท้ายอีกองค์ที่นำมาไว้ในซุ้มทิศวัดเจดีย์หลวงนั้นยังมีความสับสนอยู่

รวมความแล้ว พระพุทธปฏิมาทั้งสามองค์ที่พระเจ้าติโลกราชตั้งใจนำมาไว้ที่ศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่นี้ มีนัยยะแห่งการรวมศูนย์อำนาจทางศาสนาไว้ให้เป็นหนึ่งเดียว 
นิกายสงฆ์สามฝ่ายที่แตกแยกและขัดแย้งกันถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีมิใช่หรือ ? ให้เผอิญว่า "หนึ่งเดียว" ในที่นี้ขาดความชอบธรรม เพราะเป็นหนึ่งเดียวที่หนึ่งนิกายมี "ศักดิ์" และ "สิทธิ์" เหนือกว่าอีกสองนิกาย



เรื่องราวของพระแก้วมรกตจึงถูกรจนาขึ้นโดยพระสงฆ์สายวัดป่าแดง เพิ่มคุณค่าของพระแก้วมรกตให้เหนือกว่าพระพุทธสิหิงค์ (ตัวแทนสวนดอก) ด้วยการที่ท้าวมหาพรหมยกพระพุทธสิหิงค์ให้กษัตริย์เชียงใหม่ไปง่ายๆ แต่การเดินทางของพระแก้วมรกตกว่าจะไปสู่เชียงใหม่ได้นั้นต้องฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามอย่างทุลักทุเล หากไม่ใช่กษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการแล้วไซร้อย่าพึงหวังว่าจะได้ครอบครอง

หรือการที่ให้เดินเรื่องแบบ "ตามใจช้าง-เอาช้างว่า" กำหนดให้ช้างปฏิเสธที่จะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปสู่ภายใต้เศวตฉัตรของพระญาสามฝั่งแกนผู้สนับสนุนนิกายสวนดอก และตั้งข้อรังเกียจนิกายป่าแดง เหตุการณ์จริงตอนนี้จะมีหรือไม่ พระญาสามฝั่งแกนเคยแสดงความปรารถนาอยากได้พระแก้วมรกตมาอยู่ที่เชียงใหม่จริงไหม ไม่มีใครทราบ เพราะตำนานเขียนขึ้นในยุคของพระเจ้าติโลกราช 
เห็นได้ว่า "ตัวละครเอก" ที่ทำหน้าที่เดินเรื่องอย่างโดดเด่นในแดนโยนกทวีปนี้มีอยู่เพียงสองตัวละคร นั่นคือ ท้าวมหาพรหม กับพระเจ้าติโลกราช หรือทวดอากับหลาน

หากเชื่อว่าท้าวมหาพรหมเป็นผู้สร้างองค์พระปฏิมาจริง ช่วงที่สร้างนั้นคงไม่ได้คิดอะไรลึกซึ้งไปถึงขั้นจะใช้พระแก้วมรกตมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการเชิดชูนิกายพระพุทธศาสนานิกายป่าแดง ด้วยเหตุว่ายุคนั้นมีเพียงนิกายดั้งเดิมกับนิกายสวนดอกเท่านั้น แค่เอาพระพุทธปฏิมามาเป็นเดิมพันทางการเมืองล้างมลทิน "นิรโทษกรรม" ให้ตนสามารถกลับบ้านได้ พ้นข้อครหาของคำว่า "กบฏ" ก็เพียงพอแล้ว

แต่ยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราชนี่สิน่าสนใจ เพราะตรงกับช่วงเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษใหม่ พ.ศ.2000 พระองค์เป็นผู้สั่งให้ปราชญ์ราชบัณฑิตเขียนตำนานเพื่อยกย่องเทิดทูนพระแก้วมรกต มีการเน้นย้ำให้ตัวละครรุ่นทวดคือ "ท้าวมหาพรหม" เป็นฮีโร่ หากวิเคราะห์ตอนนี้ให้ดีจะเห็นว่า พระเจ้าติโลกราชได้ใช้มือของท้าวมหาพรหมมาช่วย "บลั๊ฟ" คู่แข่งคนสำคัญทางศาสนา คือพระญากือนาผู้สถาปนานิกายสวนดอกให้ด้อยลงไปโดยปริยาย 
ยิ่งการกล่าวชื่นชมท้าวมหาพรหม ซึ่งไม่ถูกกับพี่ชาย (พระญากือนา) มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการประกาศความชอบธรรมของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับพระญากือนามากขึ้นเท่านั้น (นิกายป่าแดง) เข้าทำนอง ศัตรูของศัตรูคือมิตร!
แล้วก็สมใจปรารถนาของพระเจ้าติโลกราชอย่างแม่นมั่น นิกายสวนดอกแทบขยับตัวทำอะไรไม่ได้เลยในยุคของพระองค์ ในเมื่อกษัตริย์โปรดปรานนิกายป่าแดงอย่างออกนอกหน้า สะท้อนด้วยสัญลักษณ์การเชิดชูบูชาพระแก้วมรกตว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ เดินทางไกล ใครๆ ก็หมายปอง บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามทะเล แต่สุดท้ายต้องมาจบลงบนหน้าตักของผู้มากบารมีเท่านั้น

น่าเสียดายที่พระเจ้าติโลกราชสวรรคตไปก่อนที่จะได้รับรู้เหตุการณ์ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์มังรายว่า อาณาจักรล้านนาเกิดความระส่ำระสาย เหล่าอำมาตย์บ้าอำนาจ พวกขุนนางก็ลอบปลงพระชนม์กษัตริย์เป็นว่าเล่น
กระทั่งเกิดชะตากรรมหนึ่งที่มิอาจเลี่ยงได้ ถือว่าช่วยเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พระแก้วมรกตของพระองค์หรือเปล่า  
นั่นคือการที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์สองแผ่นดิน "ล้านนา-ล้านช้าง" ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่หลวงพระบาง เพื่อหนีการบุกรุกของพระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่า ด้วยมีเจ้ายายพระมหาเทวีจิระประภาบงการอยู่เบื้องหลัง

เป็นประวัติศาสตร์จริง ตื่นเต้นเร้าใจจริง ไม่ต้องแต้มสีเติมสัน แถมด้วยความเจ็บปวดรวดร้าวหัวใจสลายปางตายของชาวล้านนา

ฉากนี้ต่อให้ผู้รจนาจะได้รับคำสั่งจากผู้มีบารมีมากแค่ไหนก็ตาม ก็มิอาจสร้างอภินิหารใดๆ ให้พระแก้วมรกตกลับคืนสู่โยนกทวีปได้ดุจเดิม



.