.
สองมาตรฐาน กับการบริหารจัดการบ้านพักเก่า
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 76
กําลังเป็นข่าวสะเทือนใจวิญญูชนอยู่ในขณะนี้ กรณีที่ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 เชียงใหม่ เดินหน้าขอคืนบ้านพักศึกษาธิการเก่าซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังเยื้องกับโรงเรียนยุพราช ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าบ้านหลังนี้ได้รับการพัฒนาให้เป็น "ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่" ไปแล้ว
โดยอ้างว่าจะนำมาใช้เป็นบ้านพักตามสิทธิ์ของผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ นัยว่าอันที่จริงก็มีบ้านส่วนตัวอยู่แล้วที่ลำพูน แต่ยังอ้างว่าไกลไม่ค่อยสะดวกต้องขับรถข้ามจังหวัด ทั้งๆ ที่ลำพูน-เชียงใหม่ใช้เวลาเดินทางถึงกันไม่เกินครึ่งชั่วโมง
มีผู้เสนอให้ใช้บ้านพักในศูนย์ราชการที่แม่ริม ก็กลับหาว่าคับแคบเกินไปไม่ภูมิฐานเหมาะกับฐานะ ผอ. อ้างว่าทุกวันนี้กัดฟันเช่าบ้านราคาหมื่นสี่แต่เบิกตามจริงได้เพียงสี่พัน
ไม่มีใครรู้ว่าวิวาทะเรื่องนี้จะมีฉากจบเช่นไร แต่ดิฉันกลับประหวัดนึกไปถึงบ้านพักเก่าอีกหลังหนึ่ง เป็นบ้านพักสรรพากรพื้นที่จังหวัดลำพูน ที่สร้างทับซากโบราณสถาน
แต่เมื่อผู้ดูแลโบราณสถานทวงสิทธิ์ กลับถูกปฏิเสธด้วยการอ้างระเบียบการบริหารจัดการ ซึ่งฟังดูขัดแย้งกับมาตรฐานที่กำลังนำมาใช้กับบ้านพักศึกษาฯ เชียงใหม่
หรือว่าในความเป็นจริงนั้น คำว่า "มาตรฐานหนึ่งเดียว" ไม่เคยมีอยู่จริง
บ้านพักสรรพากรพื้นที่ลำพูน
ไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้แหล่งเรียนรู้
บ้านพักสรรพากรลำพูน ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพระธาตุหริภุญไชย ด้านทิศตะวันออก หันหน้าสู่แม่น้ำกวง เลยร้านข้าวซอยอร่อยเจ้าเก่า และร้านครัวอัยการน้อย ไปทางทิศใต้ประมาณ 10-15 เมตร
ในอดีต พื้นที่นี้เคยมีชื่อว่า "วัดเปลือกเต้า" (บ้างก็เรียกว่าเปลือกข้าว) มีสถานะเป็นหนึ่งในแปดทิศบรรดาวัดบริวารที่ตั้งรายล้อมพระบรมธาตุหริภุญไชย
บ้านพักหลังนี้เมื่อแรกสร้างนั้นมองข้ามหัวพระราชบัญญัติโบราณสถานของกรมศิลปากรไปอย่างหน้าตาเฉย นึกจะสร้างอะไรก็สร้าง เอาทำเลสะดวกเข้าว่า ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่เต็มตาว่าสถานที่แห่งนี้กล่นเกลื่อนไปด้วยซากอิฐ ดินเผา ปูนปั้น ศิลาแลง ใช่เพียงหลังเดียวแต่ยังเลยไปถึงบ้านเรือนแถวนั้นอีก 4-5 หลัง รวมทั้งร้านอาหารแห่งหนึ่งด้วย
การอนุญาตให้สร้างบ้านพักทับที่โบราณสถานไม่ว่าที่ใดก็ตาม ล้วนเป็นภาพที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความล้มเหลวอ่อนแอในการบริหารจัดการของภาครัฐโดยสิ้นเชิง ที่ปล่อยปละละเลยเรื่องที่ควรจะเข้มงวดแต่กลับหละหลวมทำไม่รู้ไม่ชี้ ส่วนเรื่องที่ควรอนุโลมผ่อนปรนแต่กลับมาสวมบทโหดชนิดกัดไม่ปล่อยในหลายๆ เหตุการณ์ที่เราเห็น
ที่น่าเจ็บใจซ้ำสองก็คือ บ้านพักหลังนี้ถูกทิ้งร้างนานแล้ว กรมศิลปากรจึงได้เสนอต่อคณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่าลำพูน ว่าน่าจะคืนให้รัฐบาลและมอบให้กรมศิลป์ทำการขุดค้นทางโบราณคดี เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนในชุมชนได้ศึกษาศิลปสถาปัตยกรรมสมัยหริภุญไชยที่ซ่อนฝังอยู่ใต้ดิน ซึ่งหาดูได้ยากเต็มที เหตุเพราะพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วในลำพูนได้ถูกสร้างพอกทับด้วยของใหม่อย่างต่อเนื่องมานานกว่าพันปี
จะให้บากหน้าไปขอสถานที่อื่นๆ ซึ่งกลายเป็นร้านค้าและบ้านเอกชนไปหมดแล้วทำการขุคค้น ก็คงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไปกันใหญ่
ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย ยกเว้นสรรพากรที่อ้างว่าแม้นเจ้าตัวจักไม่อยู่อาศัย แต่ก็ยังมีสิทธิ์ตามกฎหมาย ไม่อนุญาตให้กรมศิลป์เข้ามายุ่มย่ามเด็ดขาด
ถึงจะร้างก็พอใจที่จะเก็บเอาไว้เป็นเรือนพักรับรองยามฉุกเฉินหากมีแขกผู้ใหญ่จากกรุงเทพฯ มาตรวจราชการแล้วเกิดเบื่อโรงแรมในเชียงใหม่ อยากได้ที่พักในบรรยากาศโรแมนติกจะได้สำรองไว้ให้เจ้านาย
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าข้าราชการระดับสูงคนไหนที่มีความประสงค์จะพักในบ้านที่ไร้อุปกรณ์อำนวยความสะดวก ห้องน้ำอยู่ชั้นล่าง แถมต้องนั่งยองๆ แบบคอห่าน ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ไฟในห้องรับแขกแตกสองดวง ไม่มีทีวี มุ้งลวดขาดโหว่ ดีไม่ดีเวลานอนต้องปูเสื่อกางมุ้งด้วยกระมัง ไม่ทราบว่าโรแมนติกพอไหม?
สุดท้ายกรมศิลป์ต้องเป็นฝ่ายล่าถอย ด้วยถูกสำนักพระพุทธศาสนาตีแสกหน้าซ้ำเข้าให้อีกแผลว่า ถึงแม้สรรพากรจะไม่ใช้ประโยชน์อาคารแล้ว แต่กรรมสิทธิ์พื้นที่เดิมก็ไม่ได้เป็นของกรมศิลป์อยู่ดี ในโฉนดระบุว่าวัดเปลือกเต้าเป็นวัดร้าง หน่วยงานที่ดูแลคือกรมการศาสนา ซึ่งมอบหมายให้มหาเถรสมาคมเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ด้วยการเก็บค่าเช่ารายปี โดยไม่สนใจว่าพื้นที่แห่งนั้นจะมีสถูปสถานเก่าตั้งอยู่หรือไม่
นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมสรรพากรจึงมีสิทธิ์สร้างบ้านพักบนวัดร้างได้ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังจ่ายค่าเช่ามิได้บอกเลิกสัญญา หากกรมศิลป์ประสงค์จะขุดค้นทางโบราณคดีในที่ผืนนี้ก็ต้องไปตกลงกับมหาเถรสมาคมด้วยการเสนอราคาค่าเช่าในอัตราที่เหมาะสม โดยผ่านการยินยอมของทางสรรพากรด้วย
เวรกรรมแท้ๆ ไหนบอกว่าซากโบราณสถานใดๆ นั้นคือทรัพย์ของแผ่นดิน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะเข้ามาจับจองสถานที่นั้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม แต่ย่อมไม่มีสิทธิ์ครอบครองตัวโบราณสถานนั้น
แล้วยังไงเล่า กรณีนี้พื้นที่ก็เป็นของหลวง ซากโบราณสถานก็มองเห็นกันอยู่ทนโท่ อาคารก็ไม่ใช้งานแล้ว ทำไมกว่าจะเอาคืนมาทำให้เกิดประโยชน์แก่แวดวงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มันถึงได้ยากเย็นเข็ญใจถึงเพียงนี้
บ้านพักศึกษาธิการ
บทพิสูจน์วิสัยทัศน์คนในวงการศึกษา
ย้อนมองบ้านพักศึกษาฯ เชียงใหม่ ที่น่าจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกันกับบ้านพักสรรพากรลำพูน เพราะดูจากรูปแบบสถาปัตย์ที่ละม้ายกันแล้ว รายนี้มีปัญหากลับตาลปัตรกันอีกอย่าง
กล่าวคือแรกสร้างใช้เป็นบ้านพักของศึกษาธิการจังหวัด แต่ต่อมาได้ยกเลิกตำแหน่งนี้ไป บ้านพักจึงพลอยร้างไปด้วยเกือบ 10 ปี ต่อมาภาครัฐได้อนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ได้
ผ่านไปเพียงแค่ 1-2 ปี วันดีคืนดีภาครัฐก็ลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ในฐานะคนกระทรวงเดียวกัน แม้จะต่างกรมต่างตำแหน่งก็ตามที ภายใต้คำพูดยอดนิยมแกมโหดว่า "ขอคืนพื้นที่" ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการที่เพิ่งย้ายมาใหม่
ทำราวกับว่า ศูนย์สร้างสรรค์ฯ นั้นไร้หัวจิตหัวใจ บทใจดีนึกจะให้เข้ามาปรับปรุงก็เปิดไฟเขียวให้ แต่แล้วกลับนึกสนุกจะเขี่ยไล่ไสส่งออกไปเมื่อไหร่ก็ไม่มีการส่งสัญญาณล่วงหน้า
สมมุตว่าหากบ้านร้างแห่งนี้ไม่ได้รับการบูรณะใหม่ด้วยงบฯ ที่ภาคเอกชนระดมหามาด้วยความยากลำบาก จนดูสวยงามคงทนน่าอยู่ และหากไม่มีการพัฒนาบริเวณรายรอบทำให้ดูพ้นจากสภาพของป่าช้ากลางกรุงแล้ว ไม่ทราบว่ารัฐใจป้ำพอที่จะกล้าลงทุนตั้งงบปรับปรุงอาคารให้คืนสภาพเป็นบ้านพักดังเดิมหรือไม่ เพราะต้องใช้เงินหลายล้านบาท จะคุ้มล่ะหรือกับค่าเช่าที่ให้สิทธิ์เบิกได้เดือนละ 4,000 บาท ต่อให้ ผอ.ท่านนี้ต้องดำรงตำแหน่งกี่ปีก็ตาม
เมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว พบว่าการบริหารจัดการเรื่องบ้านพักเก่าสองหลังนี้มีสองมาตรฐานอย่างชัดเจน หลังหนึ่งภาครัฐขอใช้พื้นที่สร้างแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์จากภาครัฐด้วยกันเอง กลับไม่ให้ ซ้ำยังถูกสกัดด้วยการอ้างสิทธิ์ความหวงแหน ไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นที่สิงสถิตของนกหนูแมลงและแหล่งบ่มเพาะอัตตาตัวตน
ในทางกลับกัน บ้านพักอีกหลังหนึ่ง เป็นข้อพิพาทระหว่างภาคเอกชน (อันที่จริงก็คือกลุ่มอดีตคณาจารย์ปัญญาชนที่เคยเป็นข้าราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งสิ้น) กับภาครัฐที่เป็นผู้บริหารด้านการประถมศึกษาระดับจังหวัด กรณีนี้ดูเหมือนว่าเปิดฉากแรกได้สวยงามกว่า คือผู้บริหารคนเดิมมีน้ำใจอนุญาตให้เช่าและพัฒนาเป็นศูนย์สร้างสรรค์ฯ ใช้จัดกิจกรรมเวทีนอกหลักสูตรได้
แต่แล้วอยู่ดีๆ เมื่อผู้มาทีหลังใช้อำนาจทึกทักจะเอาพื้นที่นั้นคืนมาใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวสำหรับคนในครอบครัวเดียว ทีเรื่องแบบนี้ภาครัฐกลับยินยอม
ยังไม่รู้จะออกหัว-ออกก้อย แว่วว่าภาครัฐยื่นคำขาดขั้นสุดท้ายให้ศูนย์สร้างสรรค์ฯ เก็บข้าวเก็บของคืนพื้นที่ให้แก่ ผอ.เขต 1 ด่วนที่สุดภายในสิ้นเดือนมกราคม หลังจากที่อัยการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันหลายครั้งแล้วแต่ไม่ลงตัว
เกมนี้คงได้เห็นกึ๋นของผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาบ้านเรากันให้จะๆ ซะทีว่าชอบวิสัยทัศน์แบบไหนกันแน่
ระหว่างการเปิดพื้นที่ให้เกิดการศึกษานอกระบบเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็งโดยไม่ต้องมาอ้างสิทธิ์ความเป็นข้าราชการ-เอกชน หรือยังติดใจระบอบเจ้าขุนมูลนายเดิมๆ ที่เน้นการกุมอำนาจรัฐแบบรวมศูนย์ เหยียดหยามคนคิดต่าง มองคนในท้องถิ่นที่คิดนอกกรอบเป็นส่วนเกิน!
++++
บทความของต้นปี 2554
ใครกระชากประคำ 108 เม็ดของครูบา?
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1589 หน้า 75
ข่าวไฟใหม้กุฏิวัดศรีชุมที่ลำปาง สร้างความสะเทือนอกให้แก่นักโบราณคดีและคนรักษ์ศิลปะ กลบข่าวที่ฮือฮามา 2-3 สัปดาห์ กรณีวัดพระบาทผาหนาม ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ ที่ลำพูน เตรียมจะรื้อกุฏิไม้สักทองโบราณอายุกว่าครึ่งศตวรรษ
หรือว่าความสูญเสียของโบราณสถานที่เกิดขึ้นซ้ำซากจนยากที่จะหาใครมาปกป้องและรับผิดชอบนั้น กลายเป็นเรื่องธรรมดาชาชินไปเสียแล้ว
ทั้งชาวบ้านชาวรัฐราชการต่างโยนแพะกันไปมา แต่สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้สักที ว่าฝ่ายไหนกันแน่ที่เป็นตัวฉุดกระชากลากทึ้งสมบัติเก่าแก่ที่เริ่มร่อยหรอลงไปทุกวัน...
กรณีการทำลายของเก่าที่คลาสสิกมากๆ ดังเช่น กุฏิวัดพระบาทผาหนามนั้น มีที่มาที่ไปอย่างเป็นกระบวนการหรือเป็นวงจรอุบาทว์เลยทีเดียว
กุฏิวัดผาหนามเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นแบบกะเหรี่ยงที่หาดูได้ยาก โดดเด่นด้วยแท่งเสาไม้ผสมปูนกว่า 400 ต้น ที่วางเรียงรายรองรับเรือนไม้ติดกระจก แค่มูลค่าของไม้กระดานแต่ละแผ่นหากเข้าสู่ตลาดค้าไม้เก่าย่อมเป็นที่หมายปองของบรรดาพ่อค้า
ข้อสำคัญเป็นผลงานการสร้างของครูบาอภิชัยขาวปี (ภาษาเหนืออ่าน "ขาวปี๋") คุ้มแล้วหรือกับการเกือบถูกครอบด้วยกุฏิปูนหลังใหม่รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ร่วมสมัยที่ไร้ราก ในวงเงิน 12 ล้านบาทซึ่งมีเจ้าศรัทธาบริจาคเป็นชาวกรุงเทพ ผู้ไม่เคยคลุกคลีใช้ชีวิตหยั่งรู้จิตวิญญานของชาวปกาเกอะญอในชุมชนลี้มาก่อน!
โชคดีที่กระแสคัดค้านจากนักอนุรักษ์ทั่วทุกสารทิศกระหึ่มสังคมออนไลน์และเฟซบุ๊ก สร้างแรงกดดันช่วยยื้อชีวิตกุฏิชิ้นประวัติศาสตร์นั้นไว้ได้อย่างหวุดหวิด โดยทางวัดรีบแก้เก้อเมื่อคนจับพิรุธได้ อ้างว่าแค่จะรื้อกระจกบานหน้าต่างและกระเบื้องมุงหลังคาผุๆ พังๆ ไม่กี่แผ่นเท่านั้น มิได้คิดจะทุบทิ้งหรือเปลี่ยนรูปแบบกุฏิแต่อย่างใด
การกลับคำให้การเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าแบบแปลนกุฏิหลังใหม่ที่แสนจะหรูหราอลังการติดกระจกวับๆ แวมๆ คล้ายยี่เก ที่วัดเคยนำมาอวดชาวบ้านให้มุงดูนั้น เป็นอาการตาฝาดแบบหมู่หรืออย่างไร
ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ข้ออ้างที่กรรมการกับเจ้าอาวาสวัดมักยกขึ้นมาแก้ต่างในการรื้อถอนโบราณสถานก็คือ
"เงินที่เจ้าศรัทธาปวารณาให้ไว้กับวัดนั้น มีเจตนาเพื่อสร้างอาคารในรูปแบบใหม่ทันสมัยตามที่เจ้าศรัทธาออกแบบมาให้เท่านั้น ใครจะรับผิดชอบหากเจ้าศรัทธายกเลิกการบริจาคเงินให้ทางวัด"
หรือ "กุฏิ (วิหาร-ศาลา) หลังนี้กรมศิลป์ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนแท้ๆ ร้อยวันพันปีก็ไม่เคยมาดูดำดูแดง พอจะมีคนใจบุญเอาเงินมาสร้างหลังใหม่ให้ กรมศิลป์จะมาเป็นเดือดเป็นร้อนทำไม" ฯลฯ
ประเด็นสำคัญมันมิได้อยู่ที่ "เสนาสนะชิ้นนั้นได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ แล้วหรือยัง" หากอยู่ที่ "จิตสำนึก" อนุรักษ์ของคนรับผิดชอบหรือไม่ต่างหากเล่า
ประคำ 108
เม็ดเกี่ยวข้องอะไรกับกุฏิวัดผาหนาม?
คําว่า "ประคำ 108 เม็ด" ในที่นี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา และศิษย์เอกอย่างครูบาอภิชัยขาวปี ได้ใช้เรียกแทนสัญลักษณ์ของเสนาสนะที่ท่านสร้างขึ้น เพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณชาวล้านนาให้กลับคืนมา ภายหลังจากที่วัดวาอารามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ได้ถูกรูปแบบศิลปะพม่ากลืนกินไปทั่วล้านนาประเทศ เหตุเพราะล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามานานกว่า 217 ปี
กอปรกับสมัยรัชกาลที่ 4-5 มีคหบดีพม่ากลุ่มใหญ่เข้ามาทำสัมปทานค้าไม้รับใช้ชาวอังกฤษในภาคเหนือ ชาวพม่ามีความเชื่อว่าเมื่อตัดต้นไม้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องสร้างวัดอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรที่เป็นรุกขเทวดามากขึ้นเท่านั้น
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทางภาคเหนือตอนบนเมื่อหันไปทางไหนก็มีแต่วัดรูปแบบพม่าเต็มไปหมด
กุศโลบายที่จะปลดแอกให้พ้นจากเงาพม่า ในความคิดของครูบาเจ้าศรีวิชัยก็คือการเดินหน้า "ซ่อม" และ "สร้าง" เสนาสนะทั่วแผ่นดินล้านนาด้วยรูปแบบศิลปะ "ล้านนาประยุกต์" หรือ Neo-Lanna ให้ครบ 108 แห่ง เท่ากับจำนวนเม็ดประคำที่ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยใช้เป็นเครื่องบริกรรมภาวนา
และแน่นอนว่ากุฏิวัดพระบาทผาหนามก็เป็นหนึ่งในบรรดาเม็ดประคำนั้น
ทำไมต้องชื่อ "ครูบาขาวปี"?
ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ถูกสอบสวนลงโทษถึง 5 ครั้ง เหตุเพราะมหาเถรสมาคมหวาดระแวงการที่ท่านลุกขึ้นมาประกาศแข็งข้อต่อการกดขี่ข่มเหงพระล้านนาของคณะสงฆ์ชาวสยาม
นักบุญท่านนี้ถูกใส่ร้ายให้กลายเป็นผีบุญด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ทั้งนี้ เมื่อท่านจาริกไปแห่งหนใดก็มีแต่ชาวบ้านนำลูกชายไปถวายให้ท่านบวช ท่านก็ใช้วิธีบวชให้ตามพุทธบัญญัติและพุทธานุญาติ ตามประเพณีล้านนาเก่าก่อนไม่มีพิธีกรรมอะไรมาก เพียงแต่ไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอนของมหาเถรสมาคมภาคกลางซึ่งเป็นศูนย์อำนาจ
ช่วงนั้นครูบาอภิชัยขาวปีผู้เป็นศิษย์เอกก็ถูกจับสึกถึงสองครั้งสองครา ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นผีบุญพระเถื่อนเช่นเดียวกัน ท่านจึงตัดปัญหาด้วยการไม่นุ่งห่มผ้าเหลืองอีกเลย หันไปนุ่งห่มผ้าขาวแทนชั่วชีวิต ทั้งๆ ที่วัตรปฏิบัตินั้นถือศีลอย่างเคร่งครัด 227 ข้อเยี่ยงพระภิกษุหาใช่ชีปะขาวไม่
ภายหลังจากมรณกรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปีก็ได้กลายเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณคนล้านนาแทนที่ ทั้งๆ ที่เป็นเพียงพระบ้านนอกธรรมดาๆ รูปหนึ่ง ร่างเล็กบอบบาง จาริกไปไหนก็มีเพียงบาตรใบ จีวรขาวผืนเดียว ประคำคล้องคอพวง และไม้เท้าอันหนึ่ง
ทว่า ท่านได้ก้าวเข้ามานั่งอยู่ในหัวใจชาวล้านนานับแสนนับล้านคน ด้วยการสืบทอดเจตนาต่อจากครูบาเจ้าศรีวิชัย ยืนยันที่จะประกาศแข็งข้อต่อการกดขี่ข่มเหงของคณะสงฆ์ชาวสยามและมุ่งมั่นที่จะสร้างประคำ 108 เม็ดให้ครบ
จึงมุ่งหน้าเดินสายชักชวนพุทธศาสนิกชนให้สร้างแต่สถานที่รวมจิตใจคน ทั้งเจดีย์ โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา ด้วยรูปแบบศิลปะล้านนาประยุกต์ที่ลดทอนลวดลายให้ดูเรียบง่ายกว่าสมัยล้านนายุครุ่งโรจน์
สะท้อนถึงความสมถะ ด้วยวัสดุอันจำกัดไม่หรูหราฟุ่มเฟือย หากสัมฤทธิ์ได้ด้วยแรงศรัทธาของมหาชน ไม่เคยได้รับงบจากทางการแม้แต่บาทเดียว
"ลูกประคำในมือใคร..."
แต่แล้วลูกประคำ 108 ที่ท่านครูบาทิ้งไว้ให้เป็นอนุสรณ์ กำลังถูกมือมืดลอบเด็ดทิ้งอย่างต่อเนื่อง เกิดจากความจงใจและความผิดพลาดเพราะโง่เขลาของคนหลายกลุ่ม
การเที่ยวรื้อทำลายกุฏิวิหารอันเป็นดั่งลูกประคำของครูบาแล้วสร้างสิ่งแปลกปลอมขึ้นมาใหม่นี้ พูดไปก็คล้ายปรากฏการณ์ฝนตกขี้หมูไหล
ทั้งจากนักการเมืองท้องถิ่นมุ่งหาเสียง
ชาวบ้าน-กรรมการวัดเห่อเหิมของใหม่
พระหนุ่มไฟแรงบางรูปอยากแข่งบารมีเป็นครูบาหรือสะสมแต้มเพื่อเป็นพระครู
เจ้าหน้าที่ทางการเอาหูไปนาเอาตาไปเล็งเก้าอี้ ฝ่ายแม่ยกเจ้าศรัทธาก็หวังบุญหมายแปะป้ายชื่อในวัดไว้อวดเพื่อน
ที่ร้ายแรงสุดๆ ก็คือ...ใบสั่งซื้อจากพ่อค้าของเก่า
จาก "ครูบา" ถึง "พระครู"
บวกวิสัยทัศน์วิปริตของภาครัฐ
"ครูบา" คือใคร คำว่า "ครูบา" นั้นชาวล้านนาถือว่ายิ่งใหญ่มาก มีสถานะแตกต่างไปจาก "พระภิกษุ" ทั่วไปทั้งพระป่าหรือพระบ้าน การจะยกย่องเรียกขานใครสักคนว่าเป็น "ครูบา" ชาวล้านนาวัดจากความมุ่งมั่นที่ท่านบวชเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ มีศีลวัตรธุดงควัตรเข้มข้น สร้างบารมีเพื่อปรารถนาพุทธภูมิ ข้อสำคัญคือเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเป็นที่พึ่งของชาวบ้านยามมีวิกฤติ
แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาได้เกิด "ครูบาอุปโลกน์" ผุดพรายเป็นดอกเห็ด พระหนุ่มเณรน้อยต่างยกตัวประกาศตนเป็นนักบุญ ส่วนมากมักอ้างนิมิตว่าเป็นครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับชาติมาเกิดก็มี อ้างว่าครูบาอภิชัยขาวปีสั่งเสียบิดามารดาตนให้ช่วยมาดูแลวัดประคำ 108 เม็ดก็มาก ครูบาใหม่เหล่านี้หวังอาศัยชื่อเสียงของครูบาในอดีตมาเสริมบารมีให้กับโปรเจ็กต์การสร้างวัดของตนให้ดังเร็วขึ้น ใหญ่โตมากขึ้น
เครื่องราช ยศช้างขุนนางพระก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งเร้าให้เกิดการรุกรานโบราณสถาน ยิ่งตำแหน่ง "พระครู" เปิดช่องให้เลื่อนชั้นกันด้วยเม็ดเงินบริจาคที่หามาได้ แต่ละวัดจึงแข่งขันกัน "พัฒนา" ในทางสร้างวัตถุ ประคำ 108 เม็ดจึงถูกใช้เป็นช่องทางลัดหากินจากการประกาศขายบุญให้แก่คนรวยชาวกรุงที่หูผึ่งทันทีเมื่อได้ยินว่าเงินที่ตนกำลังจะบริจาคนั้นเพื่อนำไป "พัฒนาและฟื้นฟู" เสนาสนะที่ครูบาศรีวิชัยเคยสร้างไว้ ซึ่งบัดนี้ดูเก่าซอมซ่อขี้ริ้วขี้เหร่ หากอยากได้บุญมากก็ต้องทุ่มงบก้อนโตมโหฬารเป็นเงาตามตัว
ในเมื่อวัดต้องการเลื่อนสมณศักดิ์จากพระบ้านๆ เป็นชั้น "พระครู" ฝ่ายไฮโซก็ปรารถนาจะอิ่มบุญ หลงว่าตนมีส่วนพัฒนาอาคารหลังเก่าที่ครูบาสร้าง แถมชาวบ้านยังมีเอี่ยวได้รับส่วนแบ่งกระจายค่าจ้างแรงงานสร้างวัดอีก
เช่นนี้แล้วมีหรือจะให้วัดไหนมาแจ้งกรมศิลปากรอย่างหน้าชื่นตาบานว่าขออนุญาตรื้อทำลายโบราณสถาน โดนแน่ทั้งจำทั้งปรับ! ยกเว้นแต่กรณีที่ชาวบ้านผู้อดรนทนไม่ไหวต่อวงจรอุบาทว์ แอบโทร.มาฟ้องกรมศิลป์ เมื่อความลับแตกวัดมักทำไขสืออ้างว่าได้ขออนุญาตจากเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะจังหวัดแล้ว
อย่าลืมว่าคณะบุคคลดังกล่าวดูแลแต่เพียงด้านศาสนธรรม ศาสนพิธี และศาสนบุคคลเท่านั้น ส่วนด้านศาสนสถานกับศาสนวัตถุต้องเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรหน่วยงานเดียว จะเลี่ยงบาลีกันอย่างไรล่ะทีนี้
เว้นเสียแต่ว่าดวงไม่ดีไปพบเจ้าหน้าที่ของกรมศิลป์ที่พูดปัดภาระไปให้พ้นๆ หน้าตักตัวเองว่า "เสนาสนะชิ้นนี้ยังไม่ค่อยเก่าเท่าไหร่ สวยก็ไม่สวย รูปแบบก็พื้นถิ่น (ใจจริงคงอยากพูดว่า "บ้านนอก") ไม่ใช่ฝีมือช่างหลวง ข้อสำคัญคือยังไม่ขึ้นทะเบียน ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพระคุณเจ้าก็แล้วกันว่าอยากซ่อมบูรณะปรับปรุงในรูปแบบใด" (คือถึงแม้จะรื้อ กรมศิลป์ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ว่างั้นเถอะ)
วัดที่มีความตั้งใจสูงอุตส่าห์บากหน้ามาขอให้กรมศิลป์ช่วยอนุรักษ์ เจอคำตอบแบบเตะลูกออกอย่างนี้เข้า อาจเขวได้เหมือนกัน แต่ถ้าหากเป็นเพียงการโยนก้อนหินถามทางของวัดหัวหมอ ก็ "เข้าทาง" วัดพอดิบพอดี
ใบสั่งตรงจากพ่อค้า Antique?
สิ่งที่น่าตกใจจากการลงพื้นที่วัดหลายแห่ง พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความจงใจรื้อวิหารกุฏิศาลาหลังงาม ทั้งประคำ 108 และโบราณสถานอื่นๆ ตาม "ใบสั่ง" อย่างเป็นกระบวนการ โดยนักสะสมของเก่า หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นระบุสเป็คของ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย หน้าบัน ขื่อ เสา ตามความต้องการว่าชิ้นไหนจะเอาไปประดับตกแต่งห้องใดในโรงแรมรีสอร์ทที่ตนเป็นเจ้าของ
ข้ออ้างของการรื้อโบราณสถานเพื่อแปรสภาพชิ้นส่วนเป็น antique ส่งส่วยให้ผู้มีอำนาจนั้น มักหนีไม่พ้นเรื่องนิมิต เมื่อถูกตำรวจจับดำเนินคดี วัดมักอ้างว่าทำไปเพราะ "ครูบาเข้าฝันเพื่อฝากฝังขอให้ตนรื้อวิหารหลังเก่าทิ้งแล้วสร้างหลังใหม่เพราะไม่สวย เก่าโทรมมอซอ"
มีเหตุการณ์ที่อยากให้เปรียบเทียบกันสองกรณี สามปีที่แล้วมีชาวบ้านปกาเกอะญอคนหนึ่งลุกขึ้นมาขับไล่พระอิมพอร์ตจากกรุงเทพดีกรีมหาบัณฑิต ที่คิดจะมารื้อมณฑปครอบรอยพระบาทแห่งหนึ่งของครูบาให้ออกไปจากพื้นที่อำเภอดอยเต่า เชียงใหม่ โดยฝากวลีกินใจว่า
"เฮาบ่ใค่ได้ของใหม่ เฮาจะเอาฮอย (รอย) ขี้มือขี้ตีนของครูบาเฮา ไผจะว่าบ่งามก็ช่าง"
ส่วนอีกกรณีหนึ่งเป็นด้านตรงข้าม เหตุเกิดในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าอาวาสวัดดังแห่งหนึ่งในอำเภอลี้คิดจะทุบพระเจดีย์ก่อปูนแบบเรียบง่ายซึ่งเป็นหนึ่งในประคำ 108 เม็ดอีกเช่นกัน เพื่อครอบองค์ใหม่อร้าอร่ามปิดทองติดกระจก
พระท่านถามดิฉันว่า "เหมือนเสื้อผ้าน่ะโยม มีใครอยากได้เสื้อผ้าเก่าบ้าง เราทุกคนอยากได้เสื้อใหม่กันทั้งนั้นใช่ไหม"????
ในสายตาของคนที่ไม่รัก-ไม่รู้จักสนใจในประวัติศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ กุฏิวัดผาหนามอาจเป็นเพียงอาคารไม้เก่าๆ ฝีมือชาวบ้าน โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วมันคืออนุสาวรีย์แห่งการต่อสู้เพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีของชาวล้านนาในช่วงวิกฤติถึงสองด้าน
ด้านหนึ่งเป็นการลบรอยอิทธิพลของพม่าให้หมดไปจากแผ่นดินล้านนา
ในขณะเดียวกันก็เป็นการประกาศอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวบ้านร้านถิ่นว่าจะไม่ขอขึ้นตรงต่อสยาม
นี่คือหัวใจที่แท้จริงของประคำ 108 เม็ด ที่ทุกวันนี้ถูกปู้ยี่ปู้ยำเด็ดทิ้งทีละเม็ดๆ จนแทบไม่เหลือลมหายใจ
ดิฉันหวังว่าการพยายามรื้อกุฏิวัดพระบาทผาหนามที่ผ่านมา คงจะเป็นประคำเม็ดสุดท้ายที่รอดเงื้อมมือมืดอุ้งมือมารมาได้อย่างหวุดหวิด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย