.
'หนอน' ในใจ
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 01 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
พลันที่ "มติชนสุดสัปดาห์" ฉบับส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นปก
พร้อมถ้อยคำ "บุรุษแห่งปี"
กลุ่มคนที่เกลียด "ทักษิณ" ก็ย่อมต้องรู้สึกในทาง "ร้าย" ว่า "มติชนสุดสัปดาห์" ให้ของขวัญ "ปีใหม่" ด้วยการโยน "หนอน" เข้ากลางดวงใจ
เป็น "หนอนกลางดวงใจ" ที่ก่อให้เกิดความ "หงุดหงิด" "คับข้องใจ" และอยาก "โต้แย้ง" อย่างไม่ต้องสงสัย
กระนั้น หากอ่านข้อความในบรรทัดต่อมา
"COMING SOON/ไม่นานเกินรอ "
ก็น่าจะคลายความ "หงุดหงิด" "คับข้องใจ" และอยาก "โต้แย้ง" ลงบ้าง
และเข้าใจ "มติชนสุดสัปดาห์" ดียิ่งขึ้นว่า ไม่ได้ "ใจร้าย" ด้วยการมุ่งทำลายจิตใจฝ่ายที่เกลียดทักษิณ ในห้วง "ปีใหม่" นี้แต่อย่างใด
เพราะทั้งคำ COMING SOON และคำว่า ไม่นานเกินรอ
ที่สุดแล้วก็บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นเรื่อง "ของอนาคต"
"อนาคต" ที่ยังมาไม่ถึง!
พ.ต.ท.ทักษิณยังดำรงสถานะ "บุรุษแห่งปี" แห่งอนาคต
เพียงแต่ต้องปลอบประโลมคนที่รัก พ.ต.ท.ทักษิณด้วยเช่นกัน
จึงมีคำว่า "ไม่นานเกินรอ" พ่วงติดมาด้วย
ด้วยเหตุนี้ ปกมติชนสุดสัปดาห์จึงสะท้อนภาวะ "ความเป็นจริง" ต่อสถานะ พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า
นั่นคือ ดูเหมือนจะก้าวเข้าใกล้ "ผู้ชนะ" (อีกครั้ง)
แต่ก็เป็นเรื่องของ "อนาคต"
"อนาคต" ที่ต้องคำนึงด้วยว่า มีความไม่แน่นอนแทรกซ้อนอยู่ตลอดเวลา
ดังเช่นชัยชนะอันท่วมท้นของพรรคเพื่อไทย และนำมาสู่การได้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2554
ตอนนั้นมีการมอง "อนาคต" พ.ต.ท.ทักษิณ สดใสยิ่ง
สดใสว่า "จะได้กลับบ้าน" โดยเร็ว
แต่เอาเข้าจริง กลับมากด้วยเหตุแทรกซ้อนมากมาย จนบัดนี้ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังไม่ได้กลับบ้าน
จะคืบหน้าบ้างก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณได้พาสปอร์ตคนไทยกลับคืน แต่ก็นำมาสู่การยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์
เช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แม้จะมั่นคงด้วยเสียงในสภา แต่ในแง่การบริหารกลับ "วูบไหว" "สั่นคลอน" อย่างไม่น่าเชื่อ
นายกฯ "นกแก้ว", นายกฯ "ดาวดับ" ที่สื่อมวลชนทำเนียบและสภามอบให้ สะท้อน "มุมลบ" ต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้น "ความไม่แน่นอน" จึงทยอยเข้ามาทดสอบรัฐบาล "ทักษิณส่วนหน้า" โดยตลอด
และในช่วงปี 2555 ก็คงไม่รอดพ้นสภาพเช่นนี้ไปได้
แต่กระนั้น เราจะทุบโต๊ะเปรี้ยงลงไปว่า "รัฐบาลทักษิณส่วนหน้า" และ "นายกฯนกแก้ว" จะไม่รอด ก็คงไม่ได้เช่นกัน
เพราะแม้ พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย จะเผชิญความไม่แน่นอนมากมาย
แต่กระนั้น เราก็ไม่สามารถปฏิเสธการเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ภายใต้เงื่อนไขอันแข็งแกร่ง คือมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของ "รัฐบาลทักษิณส่วนหน้า" และ "นายกฯนกแก้ว" ด้วย
"อำนาจอันชอบธรรม" ดังกล่าว ทำให้มีการ "รุก" คืบในหลายด้าน
ทั้งการจัดแถวข้าราชการ ตำรวจ และการค่อยๆ ลดช่องว่างที่มีกับทหารลง
ส่งผลให้เราสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดีเอสไอ มหาดไทย และอื่นๆ
เราได้เห็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องไปให้การกับตำรวจเรื่องการปราบปรามประชาชน
เราได้เห็นความพิสดารพันลึกของการปล้นบ้านข้าราชการระดับสูงที่อาจโยงใยไปสู่ "ผลประโยชน์มืด" ของการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลชุดก่อน
เราได้เห็นความคืบหน้าของการปราบปรามยาเสพติด และการเร่งแปรนโยบายของพรรคเพื่อไทยไปสู่การปฏิบัติ ในหลายเรื่อง
และกำลังมีการเริ่มต้นแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างคึกคัก
ฯลฯ
นี่คือ "แต้มต่อ" อันสำคัญของฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ
และแน่นอนเราสัมผัสได้ถึง "อิทธิพล" ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังเข้มข้น
และจะเข้มข้นขึ้นอีกในปี 2555
จะเกลียด "เข้าไส้" อย่างไร ก็หนีไม่พ้นคนที่ชื่อ "ทักษิณ"!
++++
บทความในอดีตของปี 2553
กรณีศึกษา"สงครามมลายา"
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร คอลัมน์ ร่มรื่นในเงาคิด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1577 หน้า 80
ไม่ได้ขัดข้องเลย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก จะให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้อง "สถาบัน"
อย่างไรก็ตาม ไม่ค่อยสบายใจนักกับท่าทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงออก 2 ครั้งซ้อนๆ เมื่อวันที่ 22 และ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา
อย่างเช่น
"ประเทศไทยไม่เคยมีฝ่าย หากจะมีฝ่ายก็มีอยู่ได้แค่ 2 ฝ่ายเท่านั้น คือ ฝ่ายคนทำความดี กับฝ่ายทำความไม่ดี ถ้าทำไม่ดีต้องถูกดำเนินการตามกระบวนกฎหมาย ถ้าหลักฐานพยานยืนยันว่าไม่มีความผิดก็เป็นคนบริสุทธิ์ เป็นเรื่องของกฎหมายกระบวนการยุติธรรม เป็นอำนาจตุลาการ ขอให้มาต่อสู้ทางกฎหมาย"
"ไม่อยากเรียกว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แต่อยากให้ใช้คำว่าคนดีกับคนไม่ดี พุทธศาสนาบอกไว้ว่า คนไม่ดี คือคนไม่คำนึงถึงธรรมะ ไม่มีคุณธรรม ไม่มีจริยธรรม แต่คนไม่ดีมีโอกาสเป็นคนดีได้ ด้วยจิตใจของตนเองทำจิตใจให้บริสุทธิ์ขึ้น ยอมรับในกติกากฎต่างๆ ถ้าประเทศไทยไม่รักษาสถาบัน ประเทศไทยไม่รักษากฎกติกาหรือกฎหมาย คงอยู่กันไม่ได้เหมือนโจรอยู่ด้วยกัน ทหารกับเจ้าหน้าที่ก็อยู่ไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ต้องปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทย ต้องป้องกันโจร ดังนั้น ขอให้ทุกคนร่วมมือกัน"
"ผมเคยกล่าวไปแล้วว่าคนไทยมีแค่ 2 พวก คือ คนดีกับคนไม่ดี คนปกติกับคนทำผิดกฎหมาย ซึ่งคนไม่ดีกับคนทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดีไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม และค่อยไปต่อสู้ทางกฎหมาย"
"ทุกครั้งที่มีการชุมนุมจะมีการเขียนป้าย โปสเตอร์ เขียนข้อความลงบนพื้น ตอนนี้มีหลักฐานแล้วกำลังดำเนินการในการจับกุมอยู่ ก็ขอแจ้งให้ทราบไว้เลย แล้วก็อย่ามาโอดครวญเพราะได้มีการเตือนหลายครั้งแล้ว แล้วก็ไม่สมควรที่จะทำแบบนั้นด้วย ถ้าทำไปเพราะไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ให้ไปถามผู้ปกครอง ถ้าไปถามผู้ปกครองแล้วยังไม่รู้อีกก็ไปถามเหนือกว่านั้น ทุกคนที่ผ่านมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่ารัชกาลไหนก็ตามประเทศไทยเกิดขึ้นด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ และวันนี้ก็ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในเรื่องของประชาธิปไตยจะแสดงออกโดยวิธีใดก็ตาม ก็อย่านำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง"
จะเห็นว่าคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ข้างต้น
ออกโทน ขาวจัด-ดำจัด ชัดเจนมาก
คนดี-คนไม่ดี
ทำถูกกฎหมาย-ไม่ถูกกฎหมาย
แล้วมาจบลงที่คำพูดเข้มๆ ทำนอง "คงอยู่ด้วยกันไม่ได้"
"อย่ามาโอดครวญเพราะได้มีการเตือนหลายครั้งแล้ว"
ฯลฯ
เหล่านี้ คือสิ่งที่บอกว่า ไม่ค่อยสบายใจ
ไม่สบายใจ เนื่องจากในโลกแห่งความเป็นจริง ยากยิ่งที่จะนิยามคำว่า "คนดี" "คนไม่ดี"
ความแตกแยกของสังคมไทยที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนแบ่งเป็น สีเหลือง สีแดง สีนำเงิน และหลากสี ซึ่งแต่ละสี แต่ละกลุ่ม ล้วนมีจุดยืนของตัวเอง และเห็นว่า จุดยืนของตัวเองนั่นแหละ คือความดี
ด้วยความเชื่อ และจุดยืนนี้เอง ทำให้เรื่องความดี ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะนิยามให้เป็นของตัวเองได้
และยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก หากคิดจะไปปราบ หรือเอากฎหมายไปปราบปราม
เพราะนี่ไม่ใช่ "สงคราม" ที่จะยกกำลังเข้าไปปราบปรามฝ่ายตรงข้าม
หากแต่เป็น "สงครามความคิด" ที่ต้องสู้กันในเรื่องความเชื่อ อุดมการณ์ ไม่ใช่กำลัง
การถลำลึกไปสู่การใช้กำลัง ภายใต้ธง ถ้าไม่ใช่คนดี (อย่างเรา) ก็ต้องเป็นคนชั่ว หรือโจร ความหายนะก็รออยู่ข้างหน้า
น้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แสดงออกมา กำลังจะนำเราไปทางนั้น ?
จุลสารความมั่นคงศึกษา ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งมี สุรชาติ บำรุงสุข เป็นบรรณาธิการ พูดถึงเรื่อง "ปฏิบัติการข่าวสาร ในสงครามก่อความไม่สงบ"
ได้นำเสนอกรณีศึกษา การทำสงครามความคิด ที่น่าสนใจมาก
เป็นสงครามความคิด ในสงครามมลายา โดยอังกฤษ ในช่วงสงครามระหว่างปี 1948-1960
กองทัพอังกฤษอันเกรียงไกรขณะนั้น เริ่มรู้สึกว่า ปฏิบัติการทางทหารแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถเอาชนะสงครามกับชาวมลายาได้
จึงได้กลับทิศแห่งการต่อสู้ ด้วยการเน้นไปที่ "การเมืองนำการทหาร"
โดยใช้ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ "สงครามความคิด" มาเป็นตัวนำ
ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง
"ซี ซี ตู" คนจีนสัญชาติมาเลย์ หนึ่งในทีมสงครามจิตวิทยาของรัฐบาลอังกฤษในมลายา บันทึกถึงความสำเร็จของปฏิบัติการครั้งนั้นว่า อยู่บนหลักการ
"ไม่เทศนา ไม่สร้างทฤษฎี และไม่ออกคำสั่ง สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องไม่โฆษณาบนพื้นฐานของความเกลียดชัง"
เขาบันทึกว่า การโฆษณาทางการเมืองแข่งกับกลุ่มก่อความไม่สงบ (พรรคคอมมิวนิสต์มลายา) จะต้องไม่ใช้ "การประณาม" หรือ "การด่า" เป็นแนวทางหลัก
เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่า ผู้รับสารจากการโฆษณาเป็นใคร
เช่น เขาผู้นั้นอาจเป็นคอมมิวนิสต์ที่จริงใจ
หรือเป็นคอมมิวนิสต์ที่รู้ตัวว่าหลงผิดแต่ไม่กล้าหนี
หรืออาจเป็นคอมมิวนิสต์ที่หลบหนีคดีอาญา ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร
ฉะนั้น การโฆษณาจึงต้องไม่ใช่คำพูดในลักษณะกล่าวร้าย หรือการประณามหยามเหยียด
ซี ซี ทู ย้ำว่า จะต้องยึดเสมอว่า "ท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ซึ่งย่อมมีผิดพลาดได้"
ดังนั้น ใครก็ตามที่พยายามจะรวบรัด ความดี-ไม่ดี, ความชั่ว-ไม่ชั่ว ไว้ และก้าวไปถึงขนาดจะจัดการ คงจะต้องลองหาเรื่องนี้มาอ่าน เพื่อความเข้าใจ
และเตือนใจว่า ในสงครามความคิดนั้นไม่อาจเอาชนะโดยกำลังได้อย่างแน่นอน ตรงกันข้าม ยิ่งตี ยิ่งโต
ไม่เชื่อลองทบทวนดู นับตั้งแต่มีการชี้นิ้วกล่าวหา ใคร หรือฝ่ายใด "ทำลายสถาบัน" แทนที่กระบวนการดังกล่าวจะสลายหายไป กลับมีการท้าทาย และเติบใหญ่ขึ้น
ทำไม!?!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย