http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-26

ฟัง"นิธิ เอียวศรีวงศ์" เล่าเรื่อง500ปี สยาม-โปรตุเกส ความสัมพันธ์ที่จืดชืด ไร้สีสัน แต่...

.

ฟัง"นิธิ เอียวศรีวงศ์" เล่าเรื่อง500 ปี สยาม-โปรตุเกส ความสัมพันธ์ที่จืดชืด ไร้สีสัน แต่...
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:08:07 น.


เมื่อวันที่ 26 ม.ค. มีการจัดสัมมนา "500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554" ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยในงานได้มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักเขียนและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์


นิธิ กล่าวถึงการเข้ามามีบทบาททางการค้าในเอเชียว่าเมื่อโปรตุเกสเข้ามาถึงเอเชียนั้น โปรตุเกสตระหนักดีว่า การค้าระหว่างยุโรปและเอเชียไม่มีทางทำกำไรได้ สิ่งที่จะสามารถสร้างกำไรให้ได้ก็คือการค้าภายในเอเชียด้วยกันเอง โปรตุเกสจึงหาวิธีที่จะแทรกเข้ามาในการค้าที่รุ่งเรืองอยู่แล้วของเอเชีย โดยโปรตุเกสเข้ามาแย่งผลประโยชน์และมามีบทบาทในการค้าในเอเชีย ด้วยการหากำไรจากเครื่องเทศ ป้องกันไม่ให้เครื่องเทศไหลผ่านมือชนชาติอื่นไปสู่ยุโรป อย่างไรก็ดี การกระทำดังกล่าวมีต้นทุนสูงมาก โดยเฉพาะต้นทุนทางสังคม ทั้งการรบราฆ่าฟันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ดังกล่าว

ในการเข้ามามีบทบาททางการค้าในเอเชียนั้น ราชสำนักโปรตุเกสเป็นผู้ลงทุนและเก็บเกี่ยวผลกำไรเอง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสเปนที่ยังเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาลงทุนได้บ้าง "โปรตุเกสคิดว่าตนได้เดินทางมาพบกับขุมทองขนาดมหึมา การเดินทางมาเอเชียและการค้าในเอเชียเองจึงเป็นความลับ"

"การเป็นความลับนี่เองยิ่งทำให้ตัวเองอ่อนแอเพราะเปิดรับใครก็ไม่ได้" นิธิกล่าว


นิธิ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของวิธีการหากำไรจากการค้านั้น นอกจากโปรตุเกสจะหากำไรจากการค้าเครื่องเทศและการค้าภายในเอเชียด้วยกันเองแล้ว โปรตุเกสยังผูกขาดเส้นทางการเดินเรือและเส้นทางการค้าอีกด้วย ทั้งในทะเลจีนใต้ มหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงทะเลอาหรับ ด้วยการขายใบอนุญาตเดินเรือ นอกจากนี้โปรตุเกสยังผูกขาดเครื่องเทศ 3 ชนิด คือ พริกไทย กานพลู และอบเชย ส่วนเครื่องเทศอื่นๆนั้นใครอยากค้าก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้ส่วนแบ่งแก่โปรตุเกส 30 % "ดังนั้น การค้ากับการโจรสลัดก็เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน โดยเฉพาะในโลกตะวันตก ที่การค้ากับทำการปล้นเป็นสิ่งที่คล้ายกัน และในปัจจุบัน ในหลายๆประเทศก็ยังเป็นเช่นนั้นอยู่"

การหากำไรจากการค้าดังกล่าวนั้นมีต้นทุนสูง ไม่ว่าจะต้องมีเรือที่คอยตรวจตราเส้นทางการค้า ต้องคอยตรวจใบอนุญาตตลอดเวลา ต้องรบราฆ่าฟัน และแม้ว่าในระยะแรกๆ กำไรที่ราชสำนักโปรตุเกสได้มาจะมีสูงมาก ทว่าโปรตุเกสแทบจะไม่ได้เอากลับไปลงทุนในกิจการการค้าของตัวเองมากนัก แต่กลับนำเงินเหล่านั้นไปใช้ "เพื่อชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย และเพื่อซื้อความสวามิภักดิ์ของเจ้าครองแคว้นต่างๆที่ตนยังไม่สามารถซื้อได้ ดังนั้นระยะยาวแล้ว โปรตุเกสได้ผ่านระยะเวลาที่มีทุนไหลเข้าประเทศจากเอเชีย แต่แทบไม่ได้เอาทุนเหล่านี้ไปเป็นฐานในการเปลี่ยนเศรษฐกิจของตนเอง"

ขณะเดียวกันโปรตุเกสเองก็ไม่มีเครือข่ายการค้าของตนเองในยุโรป ฉะนั้นเมื่อได้เครื่องเทศมาแล้วก็ต้องนำเครื่องเทศเหล่านี้ขายต่อให้พ่อค้าอิตาลีและเยอรมันเพื่อนำไปกระจายต่อในยุโรปกำไรที่โปรตุเกสได้จึงไม่มากนัก นอกจากนี้ โปรตุเกสก็แทบไม่มีสินค้าอะไรมาขายให้กับเอเชียด้วย "ว่ากันว่า เรือโปรตุเกสที่แล่นมายังเอเชียนั้นแทบจะไม่ได้บรรทุกอะไรมาเลยนอกจากอับเฉา และปืน" นิธิกล่าว



นิธิกล่าวต่อไปว่า และในส่วนของผู้ที่ควบคุมการค้าของโปรตุเกสในเอเชียนั้นก็เป็นพรรคพวกและคนที่ราชสำนักไว้วางใจ

"ใช้เฉพาะพวกอำมาตย์ว่าอย่างนั้นเถอะ เอาพวกอำมาตย์มาเป็นผู้ปกครอง ผู้หากำไร มาเป็นนายท่า เพราะไม่ไว้ใจคนเล็กๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตกอื่นๆอย่างฮอลันดานั้น ฮอลันดาค่อนข้างจะเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถ- แม้จะเป็นไพร่ก็ตาม ได้ไต่เต้าในตำแหน่งบริหาร เพราะฉะนั้นการบริหารงานของโปรตุเกสในเอเชียจึงเต็มไปด้วยการทุจริต คดโกง ไม่สามารถควบคุมกิจการต่างๆที่ควรจะทำกำไรให้แก่โปรตุเกสได้"

"ในเมืองไทยชอบพูดเสมอว่าในวิกฤติมีโอกาส ผมอยากจะพูดว่า ในโอกาสก็มีวิกฤติ คือคุณอุตส่าห์รวยได้ขนาดนี้ แต่คุณกลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความมั่งคั่งร่ำรวยได้" นิธิกล่าว


ส่วนสินค้าที่โปรตุเกสนำเข้ามาขายในประเทศไทยคือ ผ้าจากอินเดีย ซึ่งไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใดเพราะพ่อค้าอินเดียและพ่อค้าอาหรับนั้นเคยเอาเข้ามาขายในประเทศไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ผ้าจากอินเดียดังกล่าวได้ถูกพระคลังสินค้ารับซื้อเอาไว้ แต่เนื่องจากพระคลังสินค้าไม่ได้มีสาขาในการกระจายสินค้า ผ้าจากอินเดียที่รับซื้อไว้จึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลต่อการผลิตผ้าในประเทศไทยแต่อย่างใด

สินค้านำเข้าอีกอย่างหนึ่งคือ ปืนคาบศิลาประจำตัวทหารซึ่งเป็นอาวุธที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปืนคาบศิลาเป็นอาวุธที่อันตรายมาก "เขาจะไม่เอาปืนคาบศิลาไปให้ทหารใช้ แต่จะเก็บใส่พระคลังแสงลั่นกุญแจ และมีคนคอยเฝ้าไว้ เพราะว่ากลัวจะไม่เอาไปยิงข้าศึกแต่จะเอาไปยิงนายตัวเอง มันจึงไม่เกิดผลต่อการจัดกำลังทัพของเอเชียเท่าใดนัก "

ในเรื่องของศาสนานิธิกล่าวว่า พระจากโปรตุเกสที่เข้ามายังอยุธยานั้นก็เป็น "พระเชยๆ" "พระโปรตุเกสในช่วงนั้นไม่ได้เป็นเอเย่นต์ของการนำคริสต์ศาสนามาสู่เอเชียที่ดีนัก" เมื่อเปรียบเทียบกับพระอิตาลีหรือพระฝรั่งเศสในสมัยเดียวกัน



สุดท้ายนี้นิธิกล่าวปิดท้ายการปาฐกถาว่า "สรุปแล้วผมคิดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสนั้นให้ผลต่อกันน้อยมาก หรือหากจะถามว่าการค้าในเอเชียนั้นส่งผลกระทบอะไรต่อสังคมโปรตุเกสบ้าง ก็ตอบได้ว่าไม่กระทบอะไร คุณอาจจะเห็นตึกแบบโปรตุเกส เห็นท่าเรือ แต่ถามว่าแล้วมันไปกระทบอะไรต่อสังคมโปรตุเกสบ้าง คำตอบคือไม่มีเลย"

"ในทางตรงข้าม ถามว่าเราได้อะไรจากโปรตุเกส คำตอบก็คือสิ่งละอันพันละน้อย คือการค้ากับโปรตุเกสไม่ได้กระทบกับโครงสร้างการผลิต อาวุธปืนและทหารก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนกระบวนการรบ คือมันไม่มีอะไร มันอาจจะมีฝอยทอง หรือมีอิทธิพลจากภาษาโปรตุเกส มีอะไรอย่างที่พูดๆกันอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้กระทบถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอะไร"

"สรุปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกสเป็นความสัมพันธ์ที่จืดชืด ไร้สีสัน" แต่...


"ก็เป็นสิ่งที่น่าจดจำ เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวดำเนินไปบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกัน มากกว่าความสัมพันธ์ของเรากับชาติฝรั่งอื่นๆ โปรตุเกสไม่มีอำนาจเพียงพอ ไทยก็ไม่มีอำนาจเพียงพอ เราสัมพันธ์กันแบบคนเท่าเทียมกัน เขายอมรับเงื่อนไขของเรา เราก็ยอมรับเงื่อนไขของเขา"

"และสิ่งที่น่าจดจำก็คือความสัมพันธ์จืดๆอันนี้แหละครับ" นิธิกล่าวจบท้ายปาฐกถา " 500 ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศไทยกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ 2054-2554 "



.