http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-12

โกวิท: Majority Rule../ จำลอง: ..นับ 1 ได้ทันทีไม่ต้องรีรอ

.
มีโพสต์เพิ่ม 1 - ขานรับเยียวยาเหยื่อการเมือง
มีโพสต์เพิ่ม 2 - "เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย" โดย นฤตย์ เสกธีระ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ธาตุแท้ของประชาธิปไตย: Majority Rule/Minority Rights
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ปรากฏการณ์ "อาหรับ สปริง (ฤดูใบไม้ผลิของชาวอาหรับ)" ตั้งแต่ปลายปี 2553 คือการขับไล่ผู้เผด็จการที่ฉ้อฉลออกจากอำนาจการปกครอง ที่ยึดครองมายาวนานโดยอาศัยความกลัวเป็นเครื่องมือ

อาหรับ สปริงนี้ ประชาชนอาหรับที่ลุกฮือกันขึ้นมาล้มล้างรัฐบาลเผด็จการได้สลัดทิ้งความกลัวและพร้อมที่จะสู้ตาย(..ซึ่งลงคนไม่กลัวตายแล้ว ก็ยากที่อำนาจเผด็จการจะดำรงอยู่ได้..) แม้แต่ในประเทศอิสราเอลเอง ซึ่งเป็นศัตรูไม้เบื่อไม้เมากับกลุ่มประเทศอาหรับก็ได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์อาหรับ สปริงเต็มๆ เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ประเทศอิสราเอลนี้จัดได้ว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริงประเทศหนึ่งในปัจจุบัน (สำหรับคนยิวเท่านั้นนะครับ) ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มประเทศอาหรับส่วนใหญ่ที่เป็นเผด็จการกับประชาชนทั่วไปถ้วนหน้า


ชาวยิวมีอยู่หลายพวกนะครับไม่เหมือนกัน เกลียดกันเป็นศัตรูก็เยอะไป ไม่มีคนกลุ่มไหน ชาติไหนหรือศาสนาไหนหรอกครับที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะคนทุกกลุ่ม ทุกชาติ ทุกศาสนานั้นจะมีการขัดแย้งภายในกันเอง ต่างความเห็น ต่างความเชื่อ ต่างวิธีการนั้นมักจะทะเลาะกัน หากทะเลาะกันมากเข้าและขัดผลประโยชน์กันด้วยแล้วก็อาจถึงกับฆ่ากันหรือรบกันจนเป็นสงครามกลางเมืองได้ ซึ่งก็เกิดขึ้นให้เห็นอยู่เสมอ

แม้ว่าพวกคนยิวเพิ่งร่วมกันตั้งประเทศอิสราเอลขึ้นมาเมื่อ 60 กว่าปีมานี้ ก็มีความรังเกียจเดียดฉันท์ระหว่างกันมากทำนอง "พวกฉันดีกว่าพวกเธอ พวกฉันรักพระผู้เป็นเจ้ามากกว่าพวกเธอ พวกฉันเป็นชาวยิวแท้ๆ ส่วนพวกเธอเป็นพวกยิวที่ชำรุดไม่ใช่ชาวยิวที่สมบูรณ์" กล่าวคือพวกยิวหัวโบราณที่มีชื่อว่า Haredi Jew ซึ่งถือว่าพวกตนเป็นพวกที่ปฏิบัติตนตามแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้ากำหนดมาผ่านทางโมเสสที่เขียนอยู่ในคัมภีร์ทอราห์ (พระคัมภีร์เก่าที่ทางพวกคริสต์และมุสลิมก็ยังเชื่อถืออยู่)


พวกยิวหัวโบราณเป็นประชากรส่วนน้อยของประเทศอิสราเอล คือมีอยู่ประมาณ 7 แสนคน จากประชากรของประเทศอิสราเอลทั้งหมดประมาณ 7 ล้าน 8 แสนคน แต่พวกยิวหัวโบราณเหล่านี้รวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นและเลือกพรรคการเมืองที่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมของอิสราเอลมาโดยตลอด ทำให้พวกยิวหัวโบราณนี้มีสิทธิพิเศษเหนือชาวยิวอื่นๆ อาทิ ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร (ชาวยิวในอิสราเอลทุกคนทั้งหญิงและชายต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารทุกคน)

พวกยิวหัวโบราณเหล่านี้จะแต่งกายด้วยชุดสีดำ สวมหมวกสีดำ พวกผู้ชายที่ยังไม่แต่งงานจะไม่โกนจอน ครั้นแต่งงานแล้วจะไม่โกนหนวดเคราด้วย ส่วนผู้หญิงก็ต้องแต่งชุดดำคลุมแขนขาและผมอย่างมิดชิด และเมื่อผู้หญิงแต่งงานแล้วมักจะโกนศีรษะแล้วสวมวิกและใช้ผ้าคลุมผมอีกชั้นหนึ่ง

พวกยิวหัวโบราณเหล่านี้มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าจะต้องแบ่งผู้หญิงออกจากผู้ชายในสถานที่สาธารณะอย่างเคร่งครัดและผู้หญิงต้องแต่งตัวให้มิดชิดและคลุมผมตลอดเวลา

ดังนั้นเวลาขึ้นรถประจำทางผู้หญิงต้องนั่งแถวหลังของรถซึ่งมักจะมีการไล่ผู้หญิงไปนั่งแถวหลังของรถเป็นประจำในถิ่นของพวกยิวหัวโบราณพวกนี้และหากผู้หญิงเดินสวนกับผู้ชายบนทางเท้า ผู้หญิงจะต้องเลี่ยงลงไปเดินข้างทาง


ปรากฏการณ์ที่น่าชังนี้จะเกิดขึ้นในย่านที่อยู่ของพวกชาวยิวหัวโบราณซึ่งถ้าเจอผู้หญิงยิวประเภทหัวแข็งที่ไม่ยอมลงให้กับข้อบังคับบ้าๆ เหล่านี้ก็จะถูกพวกยิวหัวโบราณ (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) รุมด่าอย่างหยาบคายอย่างเสียๆ หายๆ ซึ่งพวกผู้หญิงยิวห้าวๆ ก็ไม่แคร์อยู่แล้วเพราะว่าผู้หญิงยิวทุกคนเคยถูกเกณฑ์ทหารมาแล้วทั้งสิ้น

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ เด็กหญิงนามา มาร์โกลิส อายุ 8 ขวบ ยืนร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ข้างถนนทางไปโรงเรียนของเธอหลังจากโดนพวกยิวหัวโบราณกลุ่มใหญ่ถ่มน้ำลายรดและด่าว่าเธอหยาบๆ คายๆ ว่าเธอเป็นโสเภณีเด็กเพราะเธอไม่มีผ้าคลุมผมและไม่แต่งกายด้วยชุดสีดำ

เธอเล่าว่าเธอกลัวจนปวดท้องทุกวันด้วยความหวาดผวาในการเดินไปโรงเรียน เพราะเธอต้องเผชิญกับเหตุการณ์ถูกด่าทอและถ่มน้ำลายใส่เป็นประจำ คลิปภาพเหตุการณ์นี้ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศอิสราเอล สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวยิวส่วนใหญ่


ประธานาธิบดีซิมอน เปเรส ออกมาแถลงการณ์ชักชวนชาวยิวให้เดินขบวนประท้วงพวกยิวหัวโบราณพวกนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคมที่ผ่านมานี้ โดยพูดว่าเป็นหน้าที่ของชาวยิวทั้งมวลที่จะต้องช่วยชนส่วนใหญ่ของสังคมจากการข่มเหงกดขี่ของชนส่วนน้อยของสังคม เนื่องจากชาวยิวหัวโบราณนี้ได้จัดตั้งตำรวจศาสนาของกลุ่มตนขึ้นมาคอยข่มขู่ผู้หญิงและเด็กให้หวาดผวาอยู่เป็นประจำ

ชาวยิวจำนวนมากได้พากันเดินขบวนไปตามท้องถนนที่เมืองเบธ ชาเมช (Beit Shemesh) ซึ่งเป็นแขวงหนึ่งของนครเยรูซาเล็มอันเป็นสถานที่เกิดเหตุและร้องตะโกน "นาซี! นาซี!" ไปตลอดทาง


เรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ หรอกครับ

อเล็กซิส เดอ ทอกกาวิลล์ (Alexis de Tocqueville) ปรัชญาการเมืองนามอุโฆษเขียนไว้ว่า "ประชาธิปไตยคือการปกครองด้วยเสียงข้างมากและรักษาสิทธิและเสรีภาพของเสียงข้างน้อยให้เท่าเทียมกับประชาชนทุกคนอย่างเคร่งครัด" พูดง่ายๆ คือการปกครองนั้นต้องใช้เสียงข้างมากตัดสิน แต่ความเสมอภาคทางกฎหมายต้องเท่าเทียมกันทุกคน

ที่ตลกในกรณีของประเทศอิสราเอลในขณะนี้คือ เสียงส่วนน้อย (พวกยิวหัวโบราณ) นั้นกระทำการเป็นทรราชต่อเสียงส่วนใหญ่คือ ประชาชนชาวยิวทั่วไปที่แต่งกายไม่เหมือนพวกตน

ฟังดูคล้ายๆ กับเรื่องเสื้อเหลือง-เสื้อแดงบ้านเรานะครับ



++

แก้รัฐธรรมนูญ - แก้ศก. นับ 1 ได้ทันทีไม่ต้องรีรอ
โดย จำลอง ดอกปิก คอลัมน์ ระหว่างวรรค
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.

มีข้อเสนอทางการเมืองจากทั้งภายนอก และภายในพรรคเพื่อไทย ให้จัดลำดับความสำคัญการแก้ไขปัญหาประเทศ ด้วยการชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปก่อน ด้วยเหตุผล ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เมื่อเปรียบเทียบกับการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนเหยื่ออุทกภัย

และการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพียงพอต่อการป้องกันการเกิดอุทกภัยใหญ่ซ้ำซาก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย และการแก้ไขปัญหายาเสพติด

เสียงจากภายนอก เป็นการแสดงความห่วงใยจากภาคธุรกิจ ที่ต้องการให้รัฐบาลมีสมาธิมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน และเป็นเสียงทักท้วงจากฝ่ายการเมืองตรงกันข้าม ที่ดูเหมือนต้องการชี้นิ้ว-ชี้นำว่า รัฐบาลบริหารงานไม่เป็น ไม่สนใจการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเท่าที่ควร มุ่งเน้นแต่งานการเมือง อันอาจนำมาสู่การกระพือความขัดแย้งระลอกใหม่

ขณะที่เสียงขอให้ชะลอจากภายใน แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวล การเดินเครื่องแก้รัฐธรรมนูญทันที อาจกระทบต่ออายุขัย การดำรงสถานภาพฝ่ายบริหารของพรรคเพื่อไทย

จึงเสนอทอดเวลาออกไป 8 เดือน รอรัฐบาลมีผลงานการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด และด้านอื่นๆ ก่อน

พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ แนวคิดนี้มุ่งลดกระแสการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการโชว์ฝีมือ แสดงผลงาน สร้างความประทับใจให้เกิดกับประชาชนก่อน ซึ่งแน่นอนว่าในที่สุดแล้ว จะกลายมาเป็นแนวร่วมสนับสนุนการแก้ไขให้ราบรื่น



ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ มีความคิดเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ระหว่างฝ่ายพรรคเพื่อไทยที่ได้ประกาศและบรรจุนโยบายไว้อย่างชัดเจนกับกลุ่มมวลชนเสื้อแดงฝ่ายหนึ่ง และฝ่ายตรงกันข้ามที่คัดค้านการแก้ไข

2 ฝ่ายนี้เป็นคู่ขัดแย้งอมตะที่กำเนิดมาพร้อมกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันเป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญ

ฉะนั้น จึงไม่ว่า จะเดินหน้าผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ หรือทอดเวลายาวนานออกไปเพียงใด ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนใจอีกฝ่าย ที่ตั้งป้อมคัดค้านการแก้ไขให้หันมาสนับสนุน เนื่องจากยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม ปฏิเสธพรรคเพื่อไทยอย่างสิ้นเชิงมาโดยตลอด


ที่จำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คือกลุ่มประชาชนที่มักเรียกกันว่าพลังเงียบ หรือฝ่ายวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่สีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มค่อนข้างมีเหตุผล รู้จักแยกแยะ การใดควรสนับสนุน หรือคัดค้านอยู่แล้ว

ปัญหาอยู่ที่พรรคเพื่อไทยมากกว่า จะชี้แจงหลักการและเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไข ให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า มิได้มีวาระทางการเมืองแอบแฝง หากแต่ต้องการแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างแท้จริง

เพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่นั้น ดูเหมือนมีความโน้มเอียง สนับสนุน เล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ไขเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีบางคำถามค้างคาติดมากับความชอบธรรมเท่านั้น

หากพรรคเพื่อไทยสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงใจ และมิได้มีผลประโยชน์ส่วนบุคคลซ่อนเร้น เสียงจากประชาชนส่วนใหญ่นี่แหละ จะเป็นพลังเร่งเร้าให้อย่ารอช้า


รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเลือกทำอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนตามข้อเสนอ

สามารถผลักดัน นับหนึ่งเดินหน้าแก้ไข ด้วยการปลดล็อกมาตรา 291 ตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาดำเนินการได้ทันที คู่ขนานไปกับการแก้ไขปัญหาอื่นๆ

อย่าลืมว่า (รัฐบาล) พรรคเพื่อไทยนั้น สวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งคือการบริหารราชการแผ่นดิน อีกใบคือเป็นเสียงส่วนใหญ่ในฝ่ายนิติบัญญัติ

ในเมื่อการบริหารราชการแผ่นดินเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาล การผลักดันออกกฎหมาย ปรับปรุง แก้ไขสิ่งที่ล้าหลัง ให้สอดคล้องเหมาะสมกับยุคสมัย ก็เป็นภาระหน้าที่สำคัญของฝ่ายนิติบัญญัติ

การเลือกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด จึงมิใช่แนวควรยึดถือปฏิบัติ



+++

หมายเหตุ ตัวเลขการชดเชยที่เหล่า "สลิ่ม"ออกมาคัดค้านและไปเปรียบเทียบกับกรณีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตจากหน้าที่เป็นการจับแพะชนแกะเลื่อนลอยแบบคนละฐานของกรณี ตัวเลขนี้ที่จริงก็อิงจากคำพิพากษาของศาลที่มอบให้แก่เหยื่อภาคใต้จากการกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่สามารถชดเชยเยียวยาอย่างคุ้มค่าแล้วอยู่ดี การชดเชยนี้อาจทำให้ญาติหรือเหยื่อลดความเคียดแค้นต่อรัฐลงได้บ้าง มีความหวังขึ้นในความยุติธรรมของสังคมไทย ลดความกังวลว่า พวกสลิ่มจะยิ่งใหญ่จนกีดขวางความก้าวหน้าของประชาธิปไตยไปได้ตลอด แต่คงไม่สามารถลดความเกลียดชังต่อผู้มีอำนาจผู้สั่งใจเหี้ยมทั้งที่เปิดเผยทั้งที่ปกปิดและเหล่าผู้ปฏิบัติที่อ่อนแอไร้ความคิดความกล้าในวิชาชีพ ...ทั้งจะต้องทำการไล่เบี้ยให้พวกเขาต้องชดใช้ตามที่รัฐออกให้ก่อนนี้ เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจให้นักการเมืองฟาสซิสต์ต้องหลาบจำ เจ้าหน้าที่องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องระมัดระวังและคัดค้านการทำงานที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนเพราะทำให้วงเงินงบประมาณและผลประโยชน์ตอบแทนของตนลดทอนหายไป ( ..ซึ่งประเด็นสำคัญอีกหนึ่ง คือความรับผิดกรณีประวิงสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา )


ขานรับเยียวยาเหยื่อการเมือง
คอลัมน์ รายงานพิเศษ ใน นสพ.ข่าวสดรายวัน
วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7714 หน้า 3


ในที่สุดครม.มีมติอนุมัติจ่ายเงินชดเชยเหยื่อการเมือง ตั้งแต่ช่วงม็อบพันธมิตรขับไล่รัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2548 จนถึงการสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนพ.ค.2553

ซึ่งครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ วางวงเงินงบประมาณไว้ 2 พันล้านบาท

โดยกรณีการเสียชีวิตเบ็ดเสร็จจะได้ 7.75 ล้านบาท ซึ่งอัตราการเยียวยาจะลดหลั่นกันมาตามระดับการสูญเสีย แม้แต่เจ็บนิดๆ ก็ได้ 2.25 แสนบาท

ผู้ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นมีความเห็นอย่างไร



พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช
อดีตรองผบ.ตร.ในฐานะก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ

เป็นเรื่องที่ดี ทำ ให้บรรยากาศในการสร้างความสามัคคี ธรรมเกิดขึ้น ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบหลังการปฏิวัติเพื่อประท้วงเรียกร้องประชา ธิปไตย

หากรัฐบาลคิดหาทางแก้ไข เริ่มต้นสมานฉันท์ด้วยการเยียวยารักษาแผลใหม่และแผลเล็ก ด้วยความเสมอภาคและเป็นธรรม ไม่เลือกแบ่งฝ่าย จะทำให้ประโยชน์เกิดขึ้นแก่บ้านเมืองและประชาชน

สำคัญที่สุดการเยียวยาของรัฐบาลจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดจาเข้าหากัน การที่คนซึ่งได้ รับบาดเจ็บได้รับการเยียวยา ไม่ได้เป็นเพียงแค่รักษาบาดแผลทางกายอย่างเดียว ยังรวมไป ถึงบาดแผลทางใจด้วย ลดอคติ ทุกฝ่ายเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย นำไปสู่การให้อภัยซึ่งกันและกัน

เมื่อบาดแผลถูกรักษา ทุกคนจะเห็นว่าเราจะขัดแย้งกันทำไม


พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
รมว.กลาโหม

เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นเรื่องดี เพราะช่วยเหลือครอบครัวที่ สูญเสียและบุคคลภายในครอบครัว อย่างน้อยจะช่วยจรรโลงให้ครอบ ครัวต่อสู้ชีวิตได้

มีบางครอบครัวมาร้องเรียนกับกระทรวงกลาโหม ผมบอกไปว่าขณะนี้ได้รับการเยียวยาแล้วซึ่งช่วยบรรเทาได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตร นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง ต้องรับผิดชอบในฐานะนำประชาชนออกมาคลื่อนไหวด้วยหรือไม่

เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยที่ต้องดูแลเยียวยาประชาชนอยู่แล้ว จากนั้นจะเกิดความรักใคร่ปรองดอง อะไรที่เป็นปัญหาจะแก้ไขในแต่ละขั้นตอนต่อไป

ส่วนจะต้องให้แกนนำที่นำประชาชนมาเคลื่อนไหวจนเสียชีวิตรับผิดชอบด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน ต่อไป

การเยียวยาในครั้งนี้ อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นขั้นตอนขั้นหนึ่งในการดูแลครอบครัวของผู้ที่มีความทุกข์โศก ขาดที่พึ่ง

ส่วนจะทำให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องคดี 91 ศพยุติลงหรือไม่ หากบางคนพอใจ ปัญหาจะลดลงไปมากกว่าปล่อยทิ้งคาไว้แบบนี้

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าทหารเสียชีวิตเพื่อชาติและศาสนา โดยเฉพาะทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชาย แดนภาคใต้ ยังได้เงินชดเชยน้อยกว่าคนที่เสียชีวิตเพื่อนักการเมืองนั้น เรื่องนี้ก็ต้อง ไปดูกันต่อไป

แต่ข้าราชการทหารที่เสียชีวิต มีระเบียบกฎเกณฑ์ของการเสียชีวิตอยู่แล้ว รวมถึงการดูแลบุตร ทั้งเรื่องการศึกษา ที่กองทัพมีระเบียบในเรื่องนี้อยู่ แต่ต้องได้รับการเยียวยาทุกคน ได้มากได้น้อยมีขั้นตอนอยู่

ทุกครอบครัวหากมีปัญหา กองทัพยังดูแล รวมถึงองค์การทหารผ่านศึกก็ดูแลอยู่เช่นกัน อนาคตจะปรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นให้ทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องมีการปรับตลอดเวลา


ธิดา โตจิราการ
รักษาการประธาน นปช.

พอใจในตัวเลขการชดเชย แต่อยากทราบรายละเอียดที่ชัดเจนกว่านี้ คือต้องมีหลักการและกรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจนเพราะบางประเด็นอาจไม่ครอบ คลุม ต้องถามข้อมูลของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้เสียหายด้วยว่า มีปัญหาอะไรบ้าง เพราะหลายอย่างเราก็นึกไม่ถึง

เมื่อทราบความต้องการที่แท้จริงแล้วจึงจะทราบว่าต้องเสนออะไรไปยังรัฐบาลเพิ่มบ้าง

เบื้องต้นจะเข้าพบนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ถามถึงขั้นตอนการเยียวยาและขอบคุณที่นำเรื่องเข้าสู่ครม.อย่างรวดเร็ว

ขณะที่คณะทำงานด้านเยียวยาที่รัฐบาลตั้งขึ้น นปช. จะติดตามดูว่าในทางปฏิบัติสามารถตอบสนองปัญหาได้ดีแค่ไหน

ส่วนเงินชดเชยเยียวยายังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เบื้องต้นรัฐบาลจะใช้หลักการรายได้ประชาชาติต่อผู้เสียชีวิต 1 คน ซึ่งพอรับฟังได้

บางครอบครัวอาจพึงพอใจ บางครอบครัวอาจมีปัญหา เพราะผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่ ต้องเลี้ยงดูครอบครัว หากในครอบครัวนั้นมีคนที่ต้องเลี้ยงดูมาก ก็ต้องมาดูรายละเอียดเพิ่มเติม

คดี 91 ศพ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้อง หาตัวคนทำร้ายมาลงโทษให้ได้ นปช.จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป

การเยียวยาช่วยสร้างความปรองดองได้ในระดับหนึ่ง ปรองดองได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเกิดความสบายใจขึ้นเล็กน้อยว่าได้รับการช่วยเหลือแล้วดีกว่าการรู้สึกว่ายังไม่ได้รับการสนใจดูแล

แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินจะช่วยทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นได้ ความยุติธรรมต่างหากที่เป็น สิ่งสำคัญที่สุด


ดิเรก ถึงฝั่ง
อดีตประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ

เห็นด้วยกับการเยียวยา เป็นเรื่องที่ควรทำและเกิดการปรองดอง ตัวเลขค่าชดเชยนั้น ไม่มีอะไรขัดแย้ง ขึ้น อยู่กับงบที่รัฐจะทำไม่ ใช่ประเด็นปัญหา เพียง แต่ต้องชัดเจนในรายละเอียดที่ยังเป็นข้อสงสัย

ทั้งความครอบคลุมเหตุการณ์ ตัวผู้ได้รับการชดเชย และหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ทุพพลภาพต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญ ร้อยละ 80 นั้น จะนำอะไรเป็นเกณฑ์วัด

เรื่องผู้ได้รับการชดเชยก็ควรครอบคลุมทุกคน ชาวต่างชาติด้วย เป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนควร มีเท่ากัน ไม่ใช่ให้แต่คนของเรา เขาจะดีใจเสียด้วยซ้ำ

ตอนแรกคิดว่ารัฐชดเชย 3 ล้านบาท ก็น่าพึงพอใจแล้ว แต่เห็นตัวเลขเกือบ 8 ล้าน ดีเกินคาด หากใครมาต้าน ก็ไม่รู้ว่าจะต้านไปทำไม เพราะเขาต้องสูญเสียชีวิต เกือบหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นญาติพี่น้องตัวเอง ไม่รู้สึกหรอก

ใช่ว่าจะเลือกฝ่าย เพราะครอบคลุมทั้งสองสี และยังครอบคลุมวิกฤตเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไม่กี่ราย จนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ

เรื่องนี้ไม่มีข้อติติง หลักการเยียวยาเป็นไปเพื่อความปรองดอง ช่วยทำให้ผู้ที่ต้องรู้สึกสูญเสียกลับมารู้สึกดี ดีกว่าปล่อยไว้โดยไม่เยียวยา


ปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์
โฆษกพันธมิตร

รัฐบาลต้องพิจารณาการเยียวยาให้รอบคอบ ครอบ คลุมทุกประเด็นทุกเหตุการณ์ เพราะไม่ใช่การสูญเสียเฉพาะกลุ่มนปช. และพันธมิตรเท่านั้น

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, 14 ตุลา, ตากใบ, ฆ่าตัดตอนผู้ค้า ยาเสพติดในช่วง รัฐบาลทักษิณ เป็นความสูญเสียจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน แต่ไม่ได้รับการเยียวยาสนใจดูแล

หากใช้หลักการเยียวยาเฉพาะกลุ่มนปช.กับพันธมิตร สังคมย่อมสงสัยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม กลุ่มนปช.กับพันธมิตรจะกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนทันที

แต่ผู้เสียชีวิตของกลุ่มพันธมิตรมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนปช. จึงเหมือนเอากลุ่มพันธมิตรมาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้งบที่ค่อนข้างมาก

เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รัฐบาลควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

ส่วนจะนำไปสู่การปรองดองหรือไม่นั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำโดยรัฐเอง พันธมิตรไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายผู้ชุมนุมว่าจะรับหรือปฏิเสธการเยียวยา ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละครอบครัวที่สูญเสียเอง

จึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันกับการสร้างความปรองดอง



+++

"เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย"
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:00 น.


กรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติวงเงินเยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

ผู้เสียชีวิตจะได้เงินรวมทั้งสิ้น 7.75 ล้านบาท
แบ่งเป็นเยียวยาผู้เสียชีวิต 4.5 ล้านบาท ค่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตเสียใจ 3 ล้านบาท ค่าทำศพ 2.5 แสนบาท

ทั้งนี้ หลังจาก ครม. เห็นชอบก็เกิดปฏิกิริยาขึ้น

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เห็นด้วยกับการเยียวยา แต่ต้องกระจายไปยังกรณีอื่นด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถามหาความเท่าเทียมกับเหยื่อจากเหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อีกหลายเสียงบอกว่า ไม่ควรจ่ายเงินให้มากขนาดนี้ เพราะกระทบกับขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้พลีชีพ และคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
อีกหลายเสียงก็บอกว่า ไม่ควรจ่าย เพราะเกรงว่าการชุมนุมครั้งหน้า คนจะมาชุมนุมเพราะหวังผลแบบเดียวกัน

สรุปได้ว่ากรณีเงินเยียวยา มีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
กลุ่มเห็นด้วย มองว่า ประชาชนที่เสียชีวิตและพิการเป็น "เหยื่อ" จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง
กลุ่มไม่เห็นด้วย มองว่า ประชาชนที่เสียชีวิตและพิการเป็น "ผู้ร้าย"


ความเห็นทำนองนี้มีมาตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงผ่านพ้นไป แต่วันนี้รัฐบาลเห็นว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็น "เหยื่อ" มากกว่า "ผู้ร้าย"
และเห็นว่า เหยื่อเหล่านั้นต้องได้รับการชดเชย และต้องเป็นการเยียวยาอย่างสมน้ำสมเนื้อที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย


การตัดสินใจของรัฐบาล ทำให้เหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองรู้สึกดีขึ้น

ตอนนี้ก็มาลุ้นล่ะว่า สำหรับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้น รัฐบาลมองเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นอะไร และใครควรจะได้รับการเยียวยาในฐานะ "เหยื่อ" กันบ้าง

เชื่อว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่รับผิดชอบ
น่าจะตอบคำถามได้

ลองคิดแบบฝันๆ ไปว่า ถ้ารัฐบาลเชื่อว่า " ชีวิต" มีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
สำคัญกว่าเงิน สำคัญกว่าอำนาจ
ต่อไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองถึงขั้นขับไล่รัฐบาล แทนที่รัฐบาลจะดื้อแพ่งจนการชุมนุมยกระดับสู่ความรุนแรง
รัฐบาลอาจคิดถึง "ชีวิต" ของผู้ชุมนุม และยอมยุติเหตุการณ์ก่อนจะเกิดความรุนแรงด้วยการยุบสภาหรือลาออก
หรือกรณีเกิดความรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม หากฝ่ายปฏิบัติการคิดถึง "ชีวิต" ของผู้ชุมนุม
คิดว่า คนเหล่านี้เป็น "เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย"
บางทีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อาจจะรอบคอบขึ้น


การจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตากใบ คงไม่มีใครต้องตายเพราะขาดอากาศหายใจ
หรือถ้าพลาดพลั้งไป ผู้เสียชีวิตหรือผู้พิการจากการพลาดพลั้งก็ต้องได้รับการเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากๆ แบบนี้แหละครับ
เพราะพวกเขาเป็น "เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย"
ส่วนใครที่ศาลตัดสินว่าเป็น " ผู้ร้าย" ไม่ใช่ "เหยื่อ" อันนี้ก็ต้องยอมรับกันว่าไม่ได้รับการเยียวยา


ทั้งหมดนี้พูดแต่เฉพาะประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สละชีพก็ควรจะมีเกณฑ์แยกต่างหาก โดยเกณฑ์นั้นต้องดีกว่าเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน



.