http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-16

อนาคตเด็กฯ ผู้ใหญ่..สร้างหรือทำลาย โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.
มีโพสต์หลังบทความหลัก - ผ่าแผนน้ำ-สร้างอนาคตประเทศ รบ."ยิ่งลักษณ์" ทุ่ม 2.67 ล้านล้าน ระวังฝ่ายการเมืองล้วงลูก วังวนแห่งผลประโยชน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อนาคตเด็ก อนาคตชาติ ผู้ใหญ่ วาด...สร้าง...หรือทำลาย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 20


วันเด็ก...
วันที่ผู้ใหญ่ต้องนึกถึงอดีตของตนเอง
และอนาคตของเด็ก


ถึงวันนี้คนที่มีลูกหลานก็ต้องเหลียวกลับไปสำรวจดูอดีต แล้วมองไปยังอนาคต ถ้าไม่มองเฉพาะครอบครัวตัวเองก็จะพบว่า มีปัญหามากมายที่เด็กทั้งสังคมต้องเผชิญ สิ่งแวดล้อมและฐานะทางเศรษฐกิจแบ่งวิถีชีวิตของเด็กเหล่านั้นให้มีความแตกต่างทางชนชั้น

แต่ในโลกสมัยใหม่ ระบบการศึกษาและการสื่อสารได้เข้ามาลดช่องว่างลงได้บ้าง

เด็กทุกคนจึงสามารถเติบโตและรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง

แต่คนที่อยู่ชั้นล่างน้อยคนที่จะดันตัวเองให้ข้ามชนชั้นขึ้นไปได้

การเลื่อนชั้นทางสังคมปัจจุบันยังคงใช้เส้นทางการศึกษาและการเมืองเป็นหลัก เส้นทางการค้าก็พอทำได้ แต่ยากลำบากมาก นี่เป็นบันไดที่ทุกคนแย่งกันขึ้น

ถ้าเหลียวมองไปรอบๆ จะเห็นความแตกต่างของเด็กหลายกลุ่ม

เริ่มตั้งแต่เด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานต่างชาติ ลูกหลานชาวบ้านที่ยากจนในชนบท ลูกคนจนในเมือง

เด็กบางส่วนเกิดขึ้นในครอบครัวใหม่ซึ่งมีฐานะดีขึ้นจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีหลังนี้ อยู่ในเขตเมืองเล็ก ใหญ่ ทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ

เด็กอีกส่วนหนึ่งจะเป็นลูกหลานของคนชั้นกลางซึ่งมีฐานะค่อนข้างดี

กลุ่มสุดท้ายจะเป็นเด็กที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวคนรวยและคนชั้นนำของสังคมซึ่งมีน้อยมาก

เด็กทุกกลุ่ม เติบโตมากับครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่าง แต่ทุกคนต้องต่อสู้ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งเพื่ออยู่รอดในวันนี้ และเพื่ออนาคตในวันหน้า


ผู้ใหญ่และเด็กอยากวาดอนาคต...
แต่สิ่งแวดล้อมจะกำหนดอนาคต

พ่อแม่ทุกคนวาดฝันและมีความหวังที่จะให้ลูกๆ เก่ง มีฐานะ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าที่ตัวเองเป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่ในสภาพความเป็นจริง ชีวิตของเด็กส่วนใหญ่จะเติบโตตามสภาพแวดล้อมคล้ายพ่อแม่ ลูกหลานของคนงาน ส่วนหนึ่งก็จะจบที่ ม.3 หรือ ม.ปลาย และได้มาทำงานต่อในโรงงาน

เด็กที่เรียนเก่งและมีโอกาสที่ดีกว่าบ้าง ก็จะได้เรียนจนจบสายช่างหรือปริญญาตรี ได้ทำงานต่อที่โรงงานหรือบริษัท

มีส่วนน้อยที่กลับไปทำการเกษตรต่อในชนบท แต่พวกเขาก็ยอมรับถ้าลูกหลานได้ทำงานประจำ มีเงินเดือน นั่นหมายถึงความมั่นคงในชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในรุ่นของพ่อแม่

ส่วนคนชั้นกลางก็จะมีความสมหวัง เมื่อลูกได้เป็นหมอหรือรับราชการที่มีฐานะตำแหน่ง ซึ่งในความเป็นจริงมีช่องว่าง ให้ไปแย่งกันได้ไม่กี่คน

ดังนั้น แม้จะผลักดันจนลูกเรียนจบปริญญาตรีซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่มากมาย เด็กเหล่านี้บางคนก็ต้องไปเริ่มต้นชีวิตการงานที่ Call Center ของบริษัทโทรศัพท์มือถือ หรือเป็นพนักงานขายตามบริษัทต่างๆ ที่แข็งแกร่งหน่อยก็อาจออกมาทำการค้าขายอิสระ

เด็กที่พลัดหลงเข้าไปในเส้นทางมืด ก็จะมีชีวิตและเติบโตอยู่ในเส้นทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพนัน ยาเสพติด การค้ามนุษย์ แม้พ่อแม่จะไม่เคยวาดหวังไว้ แต่เงินนอกระบบ ปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาล ถึงขนาดคนที่อ้างว่ามีเกียรติและอยู่ในที่สว่างยังเอื้อมมือเข้าไปล้วงไปรับ ไปควานหาเงินจากที่มืดสลัวเหล่านั้น

ไม่ว่าเส้นทางในสังคมจะบิดเบี้ยวคดเคี้ยวอย่างไร แต่เด็กทุกกลุ่มจะต้องเติบโตไปสู่อนาคตและจะต้องอยู่ร่วมกัน พวกเขาจะเป็นองค์ประกอบในการผลักดันสังคมให้เดินต่อไป เด็กที่โตเป็นผู้ใหญ่จะกลายเป็นแรงงาน บางคนก็กลายเป็นเจ้าของกิจการ

แต่การก้าวเข้าสู่อนาคตที่มีการแข่งขันในระดับโลก จะต้องมีการเตรียมพร้อมให้คนทุกกลุ่มรับการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ทั่วโลก

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ ต้องมีแผนและการจัดการ



รัฐบาลและผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์
มีแผนการ
และเตรียมพร้อมให้กับเยาวชน

ชนชั้นนำของประเทศต้องกำหนดยุทธศาสตร์ และทิศทางมีการวางแผนล่วงหน้าหลายๆ ปี ต้องรู้ว่าในอนาคต การเปลี่ยนแปลงของโลก จะเป็นอย่างไร ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อนย้ายทุน แหล่งวัตถุดิบและพลังงาน การแปรเปลี่ยนของตลาดสินค้าประเภทต่างๆ การพัฒนาการด้านสื่อสารและขนส่ง

เมื่อประเทศเราพัฒนาไปโดยอาศัยภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก จะต้องประเมินล่วงหน้าได้ และต้องมีการเตรียมเยาวชนไว้รับมือล่วงหน้า

เช่น ช่างฝีมือด้านต่างๆ ต้องสร้างเด็กอาชีวะแต่ละแขนงขึ้นมาเป็นช่างฝีมือ ให้มีปริมาณพอเพียงกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น

การเรียนรู้ภาษาหลายภาษาเพื่อพัฒนาการค้า

ถ้าปล่อยให้เด็กเรียนจบปริญญาตรีแบบไม่มีเป้าหมายมากมายและไม่มีงานทำ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ปัญหาอาชญากรรม การทุจริต เพราะไม่มีใครยอมอยู่อย่างยากจน

รัฐบาลยังจะต้องชี้นำผู้ประกอบการให้เห็นทิศทางในอนาคตว่าโลกจะก้าวไปอย่างไร เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใ

สิ่งเหล่านี้ต้องเป็นทั้งนโยบายและมีแผนปฏิบัติ มิฉะนั้น จะกลายเป็นความล้มเหลวและทั้งนโยบายและการบริหารของรัฐบาล


กรณีตัวอย่าง...
อนาคตเด็กและอนาคตชาติ

ผู้ปกครองท่านหนึ่งเล่าว่า... ปี 2551 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้จัดการโครงการการเรียนการสอนภาษาสเปนตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

ปี 2552 มีการสอบคัดเลือกได้นักเรียนแผนกภาษาสเปน 25 คน นับเป็นนักเรียนรุ่นแรกในรอบร้อยปีที่ได้เรียนภาษาสเปนในระดับมัธยม (ในขณะที่ภาษาฝรั่งเศสมีการสอนมาแล้วกว่า 70 ปี)

ทุกคนรู้ดีว่าภาษาสเปนมีความสำคัญเพราะมีคนใช้เป็นอันดับ 3 รองจากภาษาจีน และภาษาอังกฤษ ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก

ไทยละทิ้งโอกาสทางการทูตและการค้าในภูมิภาคนี้มาเกินครึ่งศตวรรษ

แต่ในเดือนตุลาคมปี 2553 ก็มีข่าวทาง น.ส.พ. ว่า ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีมติว่าไม่มีการสอบ PAT ภาษาสเปนในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา

นั่นหมายความว่าเด็กที่เรียนภาษาสเปนจะไม่สามารถนำวิชานี้มาสอบแข่งขันได้ในขณะที่ภาษาญี่ปุ่น จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน บาลี อาหรับ สามารถนำมาใช้สอบได้

แม้มีการเคลื่อนไหวเข้าไปร้องขอกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ แต่ก็ไม่สำเร็จ

แต่ที่น่าเจ็บใจและตลกแต่หัวเราะไม่ออก คือหลังจากนั้นเพียงแค่ 40 วัน ก็มีการจัดงาน Latin Business Forum 2010 ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 มีการเชิญนักธุรกิจไทย 380 คน ร่วมกับสถานทูตกลุ่มละตินอเมริกา 7 ประเทศ โดยมีเป้าหมายจะขยายตลาดการค้า ในกลุ่มละติน อเมริกา ซึ่งมี 47 ประเทศ ประชากร 660 ล้านคน เป็นตลาดใหม่ซึ่งหวังจะขยายมูลค่าการค้าให้ถึง 4.4 แสนล้านบาท

ในอีก 4 ปีข้างหน้า ทั้งรัฐบาลและนักธุรกิจรู้ดีว่าเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและอเมริกากำลังอยู่ในขาลง จำเป็นต้องหาตลาดใหม่ (แต่สิ่งที่เราคิด มาเลเซียทำมาแล้ว 10 ปี) เมื่อเราเริ่มต้นออกเดิน อุปสรรคของเราก็คือ เราไม่รู้ภาษาสเปน ซึ่งใช้กันเกือบทุกประเทศในย่านนั้น แม้แต่ทูตพาณิชย์ก็พูดสเปนไม่ได้

การไม่สร้างบุคลากรที่มีความรู้ทางภาษาคือจุดอ่อนที่จะใช้ติดต่อทางการทูตและการค้า จะให้เจ้าหน้าที่ทูตและพ่อค้าถือ Talking Dictionary ไปคนละอัน คงเป็นไปไม่ได้

เวลาผ่านไปอีกเป็นปี เด็กกลุ่มนี้ก็ไม่มีโอกาสสอบ PAT ภาษาสเปน


การทุ่มเทของอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมฯ อาจารย์จากจุฬาฯ นักเรียนและผู้ปกครอง ทำให้เด็กสามารถใช้ภาษาได้ดีพอสมควร แม้มีอุปสรรคจากผู้ใหญ่แต่ก็ยังมีเด็กที่มองเห็นอนาคตและความจำเป็น เข้ามาเรียนรุ่นต่อไป

พวกเขาไม่คาดหวังว่าผู้ใหญ่ในระบบราชการจะฉลาดพอที่จะรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก เพียงหวังว่าในอนาคตจะมีผู้นำที่ฉลาดกว่านี้บ้าง

ที่พวกเขาไม่อยากเชื่อ คือ คนระดับอธิการบดีจะไม่รู้ถึงความสำคัญของภาษาสเปน ในยุทธศาสตร์การค้าแถบละติน อเมริกา และจะไม่รู้ถึงขั้นตอนการสร้างบุคลากรทางภาษา ว่าต้องใช้เวลาพอสมควรจึงต้องรีบทำ

ความฉลาดของคนระดับอธิการบดีบางคนยังสามารถเอาเงิน กยศ. ไปค้ำประกันการประมูลข้าวได้ถึง 30 ล้านบาท ทำไมเรื่องแค่นี้ถึงคิดไม่ออก

รัฐบาลและข้าราชการที่ไร้คุณภาพ ทำให้ พ่อค้า ประชาชนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และเจ้าของกิจการที่สูงวัย ต้องพึ่งตนเองโดยการไปขอเรียนพิเศษภาษาสเปนตอนเย็นที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต้องถือว่าได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาการค้าข้ามทวีป


ตัวอย่างที่ยกมา จึงไม่เพียงแสดงถึงการไม่รับผิดชอบต่ออนาคตของเยาวชน แต่ยังแสดงถึงความไม่รู้เรื่องในยุทธศาสตร์ของประเทศ ผู้ใหญ่แบบนี้ ไม่ควรให้มานั่งวาดอนาคตของเด็ก ไม่ควรให้มารับผิดชอบงานระดับชาติ

ย้อนไปมองอดีตจึงไม่แปลกใจที่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ถูกร่างโดยผู้ใหญ่ในวงวิชาการที่ไร้ความรับผิดชอบ และนำมาใช้ จนเกิดความวุ่นวายไปทั้งประเทศ ผู้ใหญ่ที่ทำงานแบบนี้จะทำให้ประเทศล่มจมแน่นอน

ทุกวันนี้เรามีเด็กกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสได้เรียนรู้หลายภาษา สามารถสร้างเป็นกองหน้าเพื่อเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ตั้งแต่เป็นเยาวชน เรื่องแบบนี้เป็นความฝันและอนาคตของเด็ก

แต่ถ้ารู้จักเอาพลังเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ กองหน้าเหล่านี้จะทำให้ประเทศมีโอกาสสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้เด็กกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะเติบโตขึ้นมาในฐานะเจ้าของกิจการ ช่างเทคนิคหรือคนงานได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้งชาติ



ผู้ใหญ่ต้องกล้าตัดสินใจ เสียสละ
เพื่อชี้ทิศทางที่ถูกต้อง

วันนี้บทบาทของรัฐบาลเก่าจบลงไปแล้ว หวังว่ารัฐบาลใหม่คงจะแก้ตัวเรื่องแบบนี้ได้ ยุทธศาสตร์ระยะยาว เริ่มที่คนรุ่นหลัง แต่คนที่มาก่อนต้องมองอนาคตให้เห็น และต้องเปิดช่องทางให้พวกเขาเดินไป ถ้าเดินนำหรือชี้ทางผิด ก็เท่ากับเป็นการทำลายทั้งตัวเด็กและสังคม

ที่สำคัญคือจะให้พวกเขาเดินไปในสภาพแวดล้อมอย่างไร เพราะสิ่งที่พวกเขาพบเห็นในชีวิตจริงมีน้ำหนักมากกว่าคำสอน

ถ้าการฆ่าคนทั้งเรื่องส่วนตัวและเรื่องการเมืองไม่ต้องติดคุก แต่การมีความคิดเห็นต่างทางการเมืองต้องติดคุก สำหรับคนหนุ่มเขาจะไม่กลัวแต่จะใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้

ถ้ามองไปรอบข้างเห็นคนโกงได้ดีมีเงินมากจนไม่มีที่เก็บ เด็กบางคนก็อยากจะทำตาม

สื่อสารมวลชนจำนวนหนึ่งก็เสนอทั้งข่าวและความคิดเห็นหรือแม้แต่สร้างข่าวเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ โดยไม่สนใจว่าจะไปสร้างทัศนะคติที่ผิดแก่เด็กๆ มากน้อยแค่ไหน

แต่เด็กหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์ยังคงมีอยู่ทุกยุคสมัย เป็นวัยที่ตัดสินแยก ถูก, ผิด, ชั่ว, ดี ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีเงื่อนไขมากมาย

ในขณะที่ผู้ใหญ่จะกังวลกับปัจจัยต่างๆ เพราะกลัวกระทบกับสถานะที่เป็นอยู่ ตัวอย่างเช่น ด่าอยู่ทุกวันว่านี่คือรัฐธรรมนูญโจร แต่พอมีอำนาจกลับลังเลที่จะแก้ไข

สถานะของประชาชนเหมือนน้ำ ตามปกติคือของเหลว วันนี้ผู้มีอำนาจรู้สึกว่าการนั่งอยู่บนน้ำแข็งเย็นสบาย กลัวว่าถ้าสถานการณ์ร้อนขึ้นมาน้ำแข็งจะละลาย แต่นั่นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งที่ประชาชนต้องสร้างกำแพงปกป้องคนที่เขาเลือก จึงกลายเป็นกำแพงน้ำแข็ง แต่ทำตลอดเวลาไม่ได้ เมื่อถึงเวลากลุ่มผู้นำก็ต้องลงมาลอยคออยู่ในน้ำ ร่วมต่อสู้ ตัวจมลงไป หัวโผล่ขึ้นมา ตามอง สมองคิด ทำสิ่งที่ถูกต้อง

ไม่ต้องไปกลัวความร้อน ความรุนแรง เพราะเราแช่อยู่ในน้ำ ถ้าร้อนมากเราคือน้ำร้อน คือไอน้ำเดือด ใครแน่จริงก็แหย่มือลงมา

ถ้าวันนี้ผู้ใหญ่ไม่กล้าทำ ก็ไม่แปลกที่ต่อไปจะมี เด็กหญิง เด็กชาย กลายเป็น ควันธูป เปลวเทียน ยอมเสียสละทำตัวเองเป็นสัญญาณและแสงสว่าง ให้กับคนอื่นๆ เพื่ออนาคตของพวกเขาและประเทศชาติ



+++

ผ่าแผนน้ำ-สร้างอนาคตประเทศ รบ."ยิ่งลักษณ์" ทุ่ม 2.67 ล้านล้าน ระวังฝ่ายการเมืองล้วงลูก วังวนแห่งผลประโยชน์
คอลัมน์ เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 22


ปี2554 วิกฤตการณ์ที่สร้างปัญหาให้ประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง คงหนีไม่พ้นมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

รัฐบาลประเมินตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นไว้ที่ 1.4 ล้านล้านบาท พื้นที่การเกษตรเสียหาย 11.20 ล้านไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,131,109 ราย

ภาคอุตสาหกรรมโดยนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง มีจำนวน 7 นิคมที่จมน้ำ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 2 แสนล้านบาท

แรงงานเกือบ 400,000 รายต้องตกงาน ส่งผลให้การส่งออกสินค้าสำคัญหลายชนิดต้องหยุดชะงักไปด้วย กระเทือนถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่างฮาร์ดดิสต์ไดรพ์ ที่ไทยเป็นฐานการผลิตอับดับหนึ่งของโลก ความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจึงหดหาย อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี) ปี 2554 ถูกฉุดลงมาเหลือแค่ 1.8% จากที่คาดการณ์ไว้ 3.8%

ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเริ่มตกต่ำ จากความไม่เชื่อมั่นของประชาชนอันเนื่องมาจากความผิดพลาดในการบริหารงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งการจัดซื้อจัดจ้างถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ยังถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส ทำให้รัฐบาลต้องรีบหาทางแก้ไข ด้วยการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน!!

ชุดแรก คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นที่ปรึกษา ระดมผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศ ทำหน้าที่วางแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว

ชุดสอง คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มี นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ระดมกูรูผู้เชี่ยวชาญงานด้านต่างๆ อาทิ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายวิษณุ เครืองาม เป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในการวางแผนงานและจัดหาแหล่งเงินทุน มาใช้ทำโครงการสำคัญต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน คณะกรรมการทั้งสองชุดคลอดแผนการแก้ไขปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)



แผนงานแก้ไขน้ำท่วมของ กยน. แบ่งเป็น 2 ส่วน คือแผนแก้ไขปัญหาระยะสั้น กำหนดระยะเวลาดำเนินงานไม่เกิน 1 ปี เน้นทำโครงการป้องกันปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการซ่อมแซมประตูระบายน้ำ คันกั้นน้ำในพระราชดำริที่เสียหาย ขุดลอกคูคลองที่ตื้นเขิน วางระบบการระบายน้ำในพื้นที่ กทม. ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก เพื่อรับมือปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนหน้า ตั้งวงเงินงบประมาณถึง 1.7 หมื่นล้านบาท

แผนป้องกันปัญหาระยะยั่งยืน ใช้เม็ดเงินลงทุน 3.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3 แสนล้านบาท แบ่งภารกิจงานเป็น 3 ส่วนใหญ่ คือ พื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำ

พื้นที่ต้นน้ำ จะมีการปลูกป่าไม้ขึ้นมาทดแทนที่ถูกตัดโค่น พื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ จะทำโครงการอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อช่วยกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาในพื้นที่ด้านล่างให้น้อยลง อาทิ สร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมที่ยังขาดอยู่ สร้างอ่างเก็บน้ำแม่วงในลุ่มน้ำสะแกกรัง โครงการแม่แจ่ม ในลุ่มน้ำปิง รวมถึงโครงการแก้มลิง ทางระบายน้ำ (ฟลัดเวย์) ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลสู่ กทม. น้อยลง ส่วนวงเงินอีก 4 หมื่นล้านบาทจะใช้ทำแผนพัฒนาพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำที่เหลือ

ขณะที่คณะกรรมการ กยอ. เสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ คือ 1.น้ำ 2.การสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ 3.การพัฒนาพื้นที่ใหม่ทางเศรษฐกิจ 4.โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ รองรับการลงทุนจากต่างประเทศ 5.ธุรกิจประกันภัย

ในส่วนยุทธศาสตร์น้ำ จะใช้แผนแม่บทที่คณะกรรมการ กยน. จัดทำไว้ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน กำหนดวงเงินงบประมาณที่ 2.27 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการคมนาคมขนส่งทางบก ระหว่างเมือง การพัฒนารถไฟสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟในเมืองเชียงใหม่ การคมนาคมขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ ด้านพลังงาน การสื่อสาร ระบบสาธารณูปการ ส่วนแผนยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจประกันภัย จะจัดตั้งกองทุนประกันภัย ใช้วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท

ทำให้ยอดวงเงินที่รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเพื่อลงทุนสูงถึง 2.67 ล้านล้านบาท!!

ขณะที่แผนการจัดหาแหล่งงบประมาณมาลงทุน กยอ. เสนอแนวทางให้ออกกฎหมาย 4 ฉบับ ในรูปพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) คือ

1.การโอนภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแล เพื่อให้รัฐบาลมีช่องว่างการกู้เงินมาลงทุนทำโครงการต่างๆ

2.การจัดตั้งกองทุนสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท

3.การจัดตั้งกองทุนประกันภัย 5 หมื่นล้านบาท และ

4.การให้ ธปท. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม วงเงิน 3 แสนล้านบาท

รวมถึงแนวทางการต่ออายุและขยายขนาดกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเพิ่มความสามารถของรัฐวิสาหกิจในการระดมทุนเพื่อการลงทุน และลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐวิสาหกิจด้วย



หากพิจารณาภาพรวมของแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล จะพบว่าโครงการที่จะดำเนินการส่วนใหญ่ล้วนเป็นโครงการประจำที่อยู่ในแผนงานของหน่วยงานต่างๆ อยู่แล้ว เช่น การซ่อมแซมประตูระบายน้ำ อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน กทม. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โครงการลงทุนเพื่อก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ กรมชลประทานจัดทำแผนแล้วแต่ติดขัดเรื่องงบประมาณและการต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ เช่น โครงการแก่งเสือเต้น ลุ่มน้ำยม แถมบางโครงการยังมีปัญหาถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอีกด้วย

มีการยืนยันข้อมูลว่า แต่ละปีหน่วยงานที่รับผิดชอบได้รับงบประมาณการซ่อมแซมโครงการเรื่องน้ำต่างๆ เป็นจำนวนมาก ถึงหลักร้อยหลักพันล้านบาทในบางหน่วยงานทีเดียว

คำถามชวนคิด คือได้รับงบประมาณมากขนาดนี้ ทำไมเครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ยังชำรุดทรุดโทรมจนใช้ประโยชน์ไม่ได้เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม เงินงบประมาณจากภาษีประชาชนจำนวนมากไปตกอยู่ในกระเป๋าใครหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิดว่าต่อให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณลงทุนมากแค่ไหน แต่หากยังใช้เงินไม่เป็น ยังมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง เหตุการณ์อย่างน้ำท่วมปี 2554 ยังคงมีให้เห็นอีก

นายกิจจา ผลภาษี กรรมการ กยน. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระยะยาวหรือยั่งยืน ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า

"แผนงานป้องกันปัญหาน้ำท่วม ต่อให้แผนวางไว้ดีเลิศเพียงใด หากไม่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง จะไม่เกิดผลอะไรเลย หัวใจสำคัญของแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการที่จัดไว้ จะประสบความสำเร็จได้มีปัจจัยสำคัญที่คนที่รับผิดชอบงาน คงต้องยอมรับความจริงว่า สังคมไทยทุกวันนี้ มีปัญหาเรื่องคนอย่างมาก ปัญหาเรื่องน้ำท่วมช่วงที่ผ่านมา ระบบทุกอย่างที่วางไว้น่าจะช่วยป้องกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่เป็นเพราะคนที่ดูแลระบบ ไม่เข้าใจดีพอ จึงกลับกลายเป็นสร้างปัญหาให้กับระบบมากขึ้น"

"แต่สิ่งสำคัญที่สุด ฝ่ายการเมืองต้องไม่แทรกแซงแผนงานที่วางไว้ ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวก ต้องมองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพราะการลงทุนจัดการน้ำใช้เงินจำนวนมหาศาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครๆ อยากจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ แต่คงเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชะตากรรมของประเทศชาติ"

นี่คือโจทย์สำคัญที่ท้าทาย ต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างยิ่ง



.