http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-01

หนุ่มเมืองจันท์ : 2555, ชื่อนี้มาจากไหน

.
มีโพสต์ - ราโชมอน 2540 โดย สรกล อดุลยานนท์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

2555
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 24


ปีหน้าเป็นปีที่สนุกมากครับ
"สอง-ฮ่า-ฮ่า-ฮ่า"
แค่หัวเราะ "ฮ่าฮ่าฮ่า" ก็ถือว่าสนุกมากแล้ว
แต่ปีหน้าเขาให้หัวเราะ "ฮ่าฮ่าฮ่า" ตั้ง 2 ครั้ง
ดังนั้น ปีหน้าเราต้องสนุกและมีความสุขให้ได้
ถือเป็นการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้เลยครับ
ขีดเส้นใต้ 2 เส้น

วันก่อนมีคนถามว่าปีหน้าน้ำจะท่วมใหญ่อีกหรือไม่
นี่คือ หนึ่งในความวิตกกังวลของคนกรุงและจังหวัดที่เจอมหาอุทกภัย

"ไม่รู้ครับ"
เป็นคำตอบแบบไร้ความรับผิดชอบของผม
โธ่ ใครจะรู้อนาคตล่วงหน้า

แต่...
ผมบอกว่าน้ำท่วมใหญ่เหมือนปีนี้หรือไม่ ไม่รู้
แต่รู้ว่าถึงน้ำจะท่วมใหญ่เท่ากับปีนี้ แต่สถานการณ์จะดีกว่านี้อย่างแน่นอน
เพราะทุกคนล้วนมีบทเรียนมาแล้ว

เหมือนกับที่เราเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540
"บทเรียน" ครั้งนั้นทำให้เราเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งต่อมาได้เป็นอย่างดี
ตอนปี 2540 เขาเตือนว่ามรสุมเศรษฐกิจจะเข้า คนก็ไม่เชื่อ
ลมแรงก็ยังเดินฝ่า
ฝนโปรยปรายก็แค่เอาหนังสือพิมพ์กันฝน
พอเจอมรสุมกระหน่ำ ก็ระเนระนาดกันเป็นแถว

แต่ผ่านปี 2540 มาแล้ว เชื่อไหมครับว่าภาคเอกชนของไทยนั้นแค่ลมเริ่มแรงก็เข้าบ้านปิดประตูแล้ว
แง้มหน้าต่างดูท่าที
จนแดดออก ลมสงบจึงค่อยมาเดินถนนต่อ
ความเจ็บปวดเมื่อวันก่อน ทำให้เราระมัดระวังมากขึ้น

น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็เหมือนกัน
ผมเชื่อว่าทุกคนต้องฉลาดขึ้นแน่นอน
"ความเจ็บปวด" มีคุณสมบัติข้อหนึ่ง
คือ จะทำให้เรา "ความจำ" ดี

เพราะทุกคนมีบทเรียน
รัฐบาลก็จะจัดการน้ำดีขึ้น
กทม. ก็จะระบายน้ำดีขึ้น
คนทั่วไปก็จะหนีเร็วขึ้น
ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่าปีหน้าต้องดีกว่าปีนี้

เอ่อ...แต่ถ้าให้ดี
ปีหน้าไม่ต้องมาเยอะขนาดนี้ก็ได้ครับ
เกรงใจ...



ปัญหาของคนเรา บางทีอยู่ที่ชอบจินตนาการทางร้ายมากเกินไป
ไม่อยู่กับ "ความจริง"
อย่าลืมนะครับ "ความจริง" วันนี้ ก็คือ เพิ่งเกิดน้ำท่วมใหญ่
ใหญ่แบบนี้น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
50 ปีเพิ่งมีครั้งแรก
ใครที่จะขายบ้านเพราะเหตุนี้ลองทบทวนดูให้ดีอีกสักครั้ง
เพิ่งครั้งแรกในรอบ 50 ปีนะครับ
ใครจะทำนายว่าปีหน้าน้ำท่วมใหญ่แน่ๆ
ก็ให้ทายไป

"ฟัง" แต่อย่าเพิ่ง "เชื่อ"
อย่าให้เหมือนเจ้าของที่ดินที่ภูเก็ตหรือพังงา ที่เจอ "สึนามิ" แล้วขายทิ้ง
กลัวว่าปีหน้าจะเกิด "สึนามิ" อีก
จนถึงวันนี้ 7 ปีแล้ว ยังไม่มี "สึนามิ" เกิดขึ้นเลย

ส่วนปีหน้าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่หรือไม่
...เราไม่รู้
ดังนั้น อย่าทุกข์เกินจริง แต่อย่าสุขเกินไป
ระมัดระวังและเตรียมพร้อมแต่พองาม
เวลาที่เราทุกข์กับเรื่องอะไร ให้ตั้งคำถามเสมอว่า "ความทุกข์" จริงๆ นั้นอยู่ในระดับไหน
เมื่อรู้ "ความจริง" แล้ว
จะได้ตัดทอนสิ่งที่จินตนาการในทางลบอก
"ความทุกข์" มีแค่ไหน ก็ให้ "ทุกข์" แค่นั้น
บอนไซมันไว้
จากนั้นให้เสริมสารเคมีที่ชื่อ "ความหวัง" ลงไป
ต้องเชื่อว่า "ความทุกข์" เดี๋ยวมันก็ผ่านไป
ส่วนที่ "ความสุข" ยังไม่มา

แฮ่ม...เขาอาจแวะเที่ยวปีใหม่
เดี๋ยวก็มาครับ
แค่อย่าทุกข์เกินจริง
แค่นั้นสุขก็เพิ่มขึ้นแล้ว


"ความทุกข์" นั้นจะมีประสิทธิภาพในวันเกิดเหตุเท่านั้น
แต่พอเวลาผ่านเลยไป ระดับ "ความทุกข์" ต้องลดลง
ใครเพิ่มขึ้น แสดงว่าต่อมจินตนาการมีปัญหา
แต่งเติมเสริมแต่งจนทุกข์หนัก
นอกจากนั้น เมื่อถึงเวลาหนึ่ง "ความทุกข์" บางอย่างต้องแปรเป็น "ความสนุก" ให้ได้

เหมือนกับเรื่อง "น้ำท่วม"
ต้นปีหน้าเป็นต้นไป เราต้องเล่าเรื่อง "น้ำท่วม" แบบการผจญภัย

เหมือนเรื่องราวบน "เขาชนไก่" ของเด็กผู้ชายที่เรียน รด.
ตอนที่อยู่บนนั้น ทั้งเหนื่อยทั้งโหด
แต่เล่าตอนนี้ สนุกโคตร-โคตรเลย

หรือรุ่นพี่บางคนที่เล่าเรื่องเข้าป่าสมัย 6 ต.ค.19
เล่าได้สนุกสนานมาก
หัวเราะกันกลิ้ง
ทั้งที่ชีวิตจริงตอนนั้นแต่ละคนลำบากมาก

ปีหน้าอย่าลืมนะครับ
เล่าเรื่อง "น้ำท่วม" เมื่อไร
ต้องเล่าให้สนุก
เพราะปีหน้าเป็นปีแห่งความสนุกสนาน
ไม่เชื่อดูเลขปี พ.ศ. ซ้ำอีกครั้ง

2555
สวัสดีปีใหม่ครับ
555
555

สวัสดีปี 2555



++

ชื่อนี้มาจากไหน
โดย หนุ่มเมืองจันท์ คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1636 หน้า 24


ในแวดวงการตลาด เรื่องการตั้งชื่อสินค้านั้นสำคัญมาก
ตั้งชื่ออย่างไรให้จำง่าย
ตั้งชื่ออย่างไรให้สื่อความหมายตามที่ต้องการ
แต่ในยุคก่อน ชื่อสินค้าส่วนใหญ่ไม่มีอะไรซับซ้อน
คิดกันแบบง่ายๆ

อย่างยาสีฟันตราดอกบัวคู่ ที่ถือว่าเป็นสุดยอดกลยุทธ์ "ป่าล้อมเมือง" ของจริง
เจ้าของคือ "บุญกิจ ลีเลิศพันธุ์" ที่คิดสูตรยาสีฟันสมุนไพรขึ้นมาได้ แต่มีปัญหาที่เนื้อยาบีบออกมาเป็น "สีดำ"
เขาวิ่งรถตระเวนขายอยู่แถบภาคอีสานด้วยความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า

"บุญกิจ" อัดสปอตโฆษณาง่ายๆ ด้วยข้อความว่า "เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ยาสีฟันสมุนไพรตราดอกบัวคู่สีกาแฟฟองขาวๆ"
ยิงโฆษณาตามสถานีวิทยาเอเอ็มและเอฟเอ็ม พร้อมกับนำยาสีฟันให้ดีเจทดลองใช้
"ใช้ก่อน ถ้าดีแล้วจึงบอกต่อ"
เป็นคำพูดของเขาที่บอก "ดีเจ" ทุกคน
ยาสีฟันดอกบัวคู่ขายดิบขายดีในต่างจังหวัด พอถึงจุดหนึ่งเขาก็ตัดสินใจบุกเมืองกรุง
และกลายเป็น "ยาสีฟัน" ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศ

ถ้าพูดกันตามตรง ชื่อ "ดอกบัวคู่" เมื่อเทียบกับ "คอลเกต-ดาร์ลี่-ใกล้ชิด"
สู้ไม่ได้เลย
ถ้าไม่ได้คุณภาพสินค้าที่คนใช้บอกต่อแล้ว ชื่อ "ดอกบัวคู่" คงแทรกตลาดคนรุ่นใหม่ได้ยาก
ผมสนใจชื่อนี้มานาน อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงตั้งชื่อ "ดอกบัวคู่"
จนวันหนึ่งอ่านบทสัมภาษณ์ของ "บุญกิจ" ในนิตยสารผู้หญิงเล่มหนึ่ง
"บุญกิจ" บอกว่าชื่อนี้แวบขึ้นมาตอนที่เขาไปงานเช็งเม้ง
และเห็นที่ฮวงซุ้ยจะมีปูนปั้นเป็นรูป "ดอกบัว" อยู่คู่กัน
เขาก็เลยตั้งชื่อว่า "ดอกบัวคู่"
ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย


ไม่เหมือนกับยาธาตุน้ำขาวตรา "กระต่ายบิน"
ชื่อนี้มีที่มาซับซ้อนและเต็มไปด้วยตำนานความแค้นส่วนตัวครับ
ผมเคยคุยกับ "รุ่นหลาน" ที่ดูแลด้านการตลาด
เขาเล่าว่าคนที่ตั้งชื่อนี้คือ "คุณยาย" ของเขาที่เป็นเจ้าของสูตรยาธาตุน้ำขาว
คุณยายเกิด "ปีเถาะ" หรือปีกระต่ายครับ
เวลาที่เธอฟังนิทานกระต่ายกับเต่าทีไร จะหงุดหงิดในใจทุกครั้งว่าทำไมกระต่ายต้องแพ้เต่า
นอนหลับไปแค่แวบเดียว ตื่นขึ้นมาก็วิ่งไม่ทันเต่าแล้ว

คุณยายอยากจะช่วย "กระต่าย" ในนิทาน
เมื่อวิ่งสู้ไม่ได้
เธอเลยเติม "ปีก" ให้กับ "กระต่าย"
หวังว่าต่อไปหากกระต่ายไปวิ่งแข่งกับเต่าอีก
ต่อให้แอบงีบหลับ ปีกที่เธอเติมให้จะทำให้กระต่ายตัวนี้บินได้
จะได้ชนะ "เต่า"
น่ารักไหมครับ
เป็นความสะใจส่วนตัวล้วนๆ


มี "กระต่าย" แล้วก็ต้องมี "เต่า"
เคยได้ยินชื่อแป้งตรา "เต่าเหยียบโลก" ไหมครับ
ดังมากในเว็บไซต์ pantip โต๊ะเครื่องแป้ง หรือที่เขาเรียกว่า "ห้องแป้ง"
"เต่าเหยียบโลก" เป็นผงสมุนไพร
เห็นชื่อแล้วพอเดาออกไหมครับว่า "เต่าเหยียบโลก" มีคุณสมบัติพิเศษอะไร
ใช้ทารักแร้ดับกลิ่น ระงับเหงื่อใต้รักแร้
ปราบ "เต่า" ครับ
โลโก้ของเขาก็ง่ายๆ เป็นรูปเต่าเหยียบอยู่บนโลก
ตีความยากจริงๆ ว่าเจ้าของสินค้าต้องการสื่ออะไร
เพราะถ้าจะปราบเต่า ก็ต้องให้โลกกลิ้งทับเต่า

แต่ทำไมให้ "เต่าเหยียบโลก"
ที่น่าสนใจก็คือ เวลาเราไปซื้อสินค้าตัวนี้ คงเขินๆ น่าดูเลยเวลาถามคนขาย
"มีแป้งเต่าเหยียบโลกไหมครับ"
ถ้าร้านนั้นไม่มีขาย คนขายไม่เคยรู้จัก
รับรองมีเสียงหัวเราะแทนคำตอบ
ถือเป็นการตั้งชื่อสินค้าแบบไม่เกรงใจคนซื้อเลย



แต่ชื่อที่ผมชอบที่สุด
และถือเป็น "ยี่ห้อ ออฟ เดอะ เยียร์" ของผม
แป้งตรา "ลูกหมีเล่นรีรีข้าวสาร" ครับ
ไม่ได้เขียนเล่น
มีจริงๆ ครับ
ถือเป็นยี่ห้อสินค้าที่ฉีกตำราการตลาดทุกเล่ม
ตามปกติตั้งชื่อสินค้า เราจะต้องชื่อไม่ยาว
ตามหลักจริงๆ คือ 1-3 พยางค์
ให้เรียกง่าย จำง่าย
ขนาด "โคคา โคล่า" มีแค่ 4 พยางค์ยังต้องเปลี่ยนเป็น "โค้ก"
ตัดเหลือเพียงพยางค์เดียวเพื่อการจดจำ
แต่ "ลูกหมีเล่นรีรีข้าวสาร" ยาวถึง 7 พยางค์
แค่เรียกชื่อก็เหนื่อยแล้ว

"ลูกหมีเล่นรีรีข้าวสาร" เป็นแป้งสมุนไพรเหมือนกันครับ
มีคุณสมบัติดับกลิ่นใต้รักแร้ และแก้เท้าเหม็น
ในห้องแป้งจะค่อนข้างเชียร์กันว่าใช้ได้ดี
แต่เวลาไปถามคนขายก็คล้ายๆ กับ "เต่าเหยียบโลก"
ต้องใช้ความกล้าหาญมาก
ส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีการเดินๆ ดู ถ้าเจอแล้วค่อยหยิบ

โลโก้ของ "ลูกหมีเล่นรีรีข้าวสาร" เป็นรูปลูกหมี 7 ตัวกำลังเล่นรีรีข้าวสารกันอยู่
ถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยพื้นบ้าน
แต่คำถามว่าชื่อนี้เกี่ยวอะไรกับตัวสินค้า
ใช้ชื่อ "เต่า" ยังพอหาเหตุผลได้บ้าง
แต่ "ลูกหมีเล่นรีรีข้าวสาร" นึกไม่ออกจริงๆ ครับ
จนวันหนึ่งมีคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นเพราะการละเล่นรีรีข้าวสารนั้น ต้องมี 2 คนที่ชูมือเป็นอุโมงค์
ถ้า 2 คนนั้นมีกลิ่นเต่า
คนที่เดินรอดอุโมงค์จะทรมานมาก
แต่หากใช้แป้งยี่ห้อนี้
การเล่นรีรีข้าวสารจะมีความสุข
ฟังแล้วมีเหตุผล

ปีใหม่นี้ถ้าไม่รู้จะซื้อ "ของขวัญ" อะไรให้เพื่อน
ขอแนะนำแป้ง "ลูกหมีเล่นรีรีข้าวสาร"
รับรอง "ฮา" แน่นอน...



+++

ราโชมอน 2540
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:06 น.


ถือเป็นการโยน "ระเบิด" ลูกใหญ่ใส่ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อรัฐบาลประกาศจะโอนหนี้จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านบาท ให้กับแบงก์ชาติเพื่อลดภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาลลง

จากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 30 ของจีดีพี

เปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงินมาฟื้นฟูและซ่อมสร้างเศรษฐกิจภายหลังอุทกภัยครั้งใหญ่

แน่นอน คนที่ไม่พอใจก็คือ แบงก์ชาติ

เพราะต้องรับหนี้ก้อนใหญ่เป็นของตัวเอง

แต่ฟังคำอธิบายของ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ผู้ว่าการแบงก์ชาติแล้ว นึกถึงนิยายเรื่อง "ราโชมอน " ขึ้นมาทันที

เรื่องเดียวกัน แต่มองคนละมุม และเล่าคนละเรื่อง

"ประสาร" อธิบายที่มาของหนี้ก้อนนี้ว่ามาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

รัฐบาลรับประกันหนี้ของสถาบันการเงินทั้งระบบ ทั้งเงินฝากและเจ้าหนี้ ทำให้ต้องตั้งกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมารับภาระหนี้


สังเกตไหมครับว่า "ที่มา" ของปัญหาในมุมของแบงก์ชาติ คือ นโยบายรัฐบาลที่รับประกันหนี้

แต่ "ประสาร" ไม่พูดถึงการตัดสินใจต่อสู้ค่าเงินบาทของ "แบงก์ชาติ" จนทำประเทศล้มละลาย

ต้องกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากความผิดพลาดของแบงก์ชาติครั้งนั้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปิดสถาบันการเงิน

และตั้งกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมา

"ราโชมอน" ของแบงก์ชาติเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของแบงก์ชาติที่รัฐบาลเป็นคนตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ

และประกาศรับประกันทั้งเงินฝากและเจ้าหนี้

รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบ


"ประสาร" เลือกที่จะเริ่มต้นจุดนี้ เพราะรู้ดีว่าถ้าย้อนต่อไปอีกนิดว่าปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจมาจากไหน

"แบงก์ชาติ" จะเป็น "ผู้ร้าย" ทันที

ถ้าใครได้อ่านหนังสือ "เล่าเรื่องสมมุติในอดีต" ของ "อำนวย วีรวรรณ"

หรือ "บันทึกลับ 2540" ของ "ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์" แกนนำพันธมิตร ซึ่งเคยเป็นรองโฆษกพรรคความหวังใหม่

หรือ "โลกสีขาว" ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

จะรู้เลยว่า "ความอิสระ" ของแบงก์ชาตินั้นน่ากลัวเพียงใด

ขนาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่รู้เลยว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของไทย 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้นเป็น "ภาพลวงตา"

คนที่กระซิบบอก พล.อ.ชวลิต ให้ยืนยันว่าจะไม่ลดค่าเงินบาท คือ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ทั้งที่รู้ว่าสู้ไม่ไหวแล้ว ต้องลอยตัวค่าเงินบาท

แต่ก็ยังหลอกคนเป็น "นายกรัฐมนตรี"



ยิ่งอ่านรายงานของคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ หรือ ศปร.ที่ตั้งขึ้นมาสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ยิ่งชัดเจน

ครับ ถ้าแบงก์ชาติมีความรู้สึกรับผิดชอบหนี้ก้อนนี้สักนิด

เราคงไม่เห็นตัวเลขการชำระเงินต้นที่เป็นหน้าที่ของ "แบงก์ชาติ" ในช่วงเวลา 14 ปี เพียง 300 ล้านบาท

ในขณะที่รัฐบาลชำระ "ดอกเบี้ย" ไปแล้ว 840,000 ล้านบาท

เมื่อไม่รู้จักแสดงความรับผิดชอบ

การใช้ "ดาบ" ก็จำเป็น !!!



.