.
สงครามยังไม่สิ้น! การเมืองไทย 2555
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 39
"สิ่งที่เราคาดคิดมักจะไม่เกิด
แต่สิ่งที่เราไม่คาดคิดมักจะเกิด"
Benjamin Disraeli
นายกรัฐมนตรีอังกฤษ (ค.ศ. 1804-1881)
การต่อสู้ทางการเมืองในสังคมไทยระหว่างกลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มผู้สนับสนุนซึ่งเกิดขึ้นอย่างหนักหน่วง จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงแต่อย่างใด
และที่สำคัญก็คือ ยังส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวโน้มในปี 2555 ว่า การต่อสู้เช่นนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไป และอาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นจากสถานการณ์แวดล้อมด้วยมูลเหตุและปัจจัยต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
หากย้อนกลับดูจากสถานการณ์ในปี 2554 เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้กลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 แต่ผลของชัยชนะด้วยการจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น ก็ใช่ว่ารัฐบาลจะควบคุมอำนาจรัฐไว้ได้อย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยอมรับว่า กลไกอำนาจรัฐบางส่วนนั้นยังคงยืนอยู่กับกลุ่มต่อต้านทักษิณ มากกว่าจะยอมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐบาล
เช่น พวกเขาเชื่อว่า แม้รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งขึ้นได้ แต่ก็จะอยู่ในอำนาจได้ไม่นานนัก และก็คงจะประสบ "อุบัติเหตุการเมือง" จนทำให้รัฐบาลดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง
ทัศนะเช่นนี้ดำรงอยู่ในกลุ่มต่อต้านรัฐบาลมาโดยตลอด
แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนก็คือ วิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่ของสังคมไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่แม้จะชนะการเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น ประสบกับปัญหาอย่างมากในมิติของการจัดการวิกฤต
จนทำให้หลายๆ ฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลเกิดความกังวลว่า ผลพวงจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ได้กลายเป็นวิกฤตการเมือง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล
เพราะในด้านหนึ่งก็เห็นได้ชัดเจนว่าความอ่อนแอในการบริหารจัดการวิกฤตน้ำในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสื่อต่างๆ
และในอีกด้านหนึ่งการวิจารณ์อย่างหนักหน่วงก็คือตัวแทนของการต่อสู้ที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะสนามรบในโลกไซเบอร์และเครือค่ายโซเชียลมีเดีย
เพราะภาพสะท้อนจาก "สงครามน้ำลาย" ใน "สงครามน้ำท่วม" ให้คำตอบอีกประการหนึ่งที่ชัดเจนว่า โอกาสของการประนีประนอมในทางการเมืองก็ดูห่างไกลอย่างมาก
แต่การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด
ไม่เพียงแต่พรรคนี้มีฐานการเมืองขนาดใหญ่จาก "มวลชนคนเสื้อแดง" เท่านั้น
หากแต่ประชาคมระหว่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น มีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกในการเมืองไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลวอชิงตันพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองในพม่า จนถึงกับตัดสินใจเปลี่ยนท่าทีด้วยการเดินทางเยือนพม่าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเยือนครั้งแรกในรอบ 55 ปี
จึงต้องถือว่าท่าทีเช่นนี้เป็น "สัญญาณใหม่" ของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ
หรือบรรดาประเทศหลักในสหภาพยุโรปก็มีท่าทีที่ไม่สนับสนุนกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด
ดังนั้น โอกาสของการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม โดยอาศัยพลังอำนาจของกองทัพด้วยการทำรัฐประหาร จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยง่ายในอนาคตของปี 2555
อย่างน้อยผู้นำทหารปัจจุบัน แม้พวกเขาจะมีทิศทางแบบอนุรักษ์เพียงใด ย่อมตระหนักดีว่า หากพวกเขาตัดสินใจเคลื่อนกำลังเพื่อทำรัฐประหารเมื่อใด เมื่อนั้นโอกาสและเงื่อนไขของสงครามกลางเมืองจะถูกสร้างขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และหากฝ่ายทำรัฐประหารได้รับชัยชนะ ก็จะนำไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลพลัดถิ่น" ซึ่งก็จะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองของไทยทวีความเข้มข้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การกล่าวเช่นนี้มิได้ยืนยันว่า รัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่เกิดอีกแล้วในการเมืองไทย เป็นแต่เพียงข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขใหม่ ทำให้รัฐประหารครั้งใหม่มีค่าใช้จ่ายที่แพงมากขึ้น จนไม่แน่ใจว่าหากเกิดขึ้นจริงแล้ว ผลตอบแทนสำหรับกลุ่มผู้ตัดสินใจทำคืออะไร
อย่างน้อยราคาที่ต้องจ่ายสำหรับรัฐประหาร 2549 ก็คือคำยืนยันถึงราคาแพงที่ต้องจ่าย
เพราะแม้จะล้มรัฐบาลที่พวกเขามีความ "เกลียดชัง" ลงได้ก็จริง แต่เมื่อเวทีการเลือกตั้งเปิดขึ้นเมื่อใด พรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมที่พวกเขาสนับสนุนก็ไม่เคยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ในอีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้จากสัญญาณลบทางการเมืองในกรณีของการวางระเบิดแสวงเครื่องที่กองสลากฯ บนถนนราชดำเนินในวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา แม้จะโชคดีว่าการต่อวงจรระเบิดไม่สมบูรณ์ (ดังปรากฏจากรายงานของสื่อ) แต่ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณถึงอนาคตของการเมืองหลังปีใหม่ว่า โอกาสของการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการวางระเบิดในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ยังคงมีความเป็นไปได้มาก
แต่สิ่งสำคัญก็คือ "สัญญาณความรุนแรง" ของการเมืองหลังน้ำท่วมเริ่มขึ้นแล้ว และเปิดเกมด้วยการวางระเบิด และตามมาด้วยกรณีวางระเบิดพื้นที่ลาดกระบัง
โดยข้อมูลจากสื่อกล่าวว่า ผู้กระทำผิดในกรณีนี้ตัดสินใจวางระเบิดเพราะความน้อยใจที่รัฐบาลไม่เอาใจใส่ในปัญหาของชาวเสื้อแดง
ซึ่งก็อาจจะเป็นภาพสะท้อนของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเสื้อแดงกับรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่อาจจะต้องมีการตอบคำถามนี้ให้ได้ในปี 2555 ว่าจะเดินไปในทิศทางใด
สถานการณ์การเมืองในปีหน้ายังคงผูกโยงอยู่กับการเคลื่อนไหวของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" ซึ่งประเด็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
การนิรโทษกรรมโดยเฉพาะคดีการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหาร 2549
ตลอดรวมถึงคดีคนเสื้อแดงจากการถูกล้อมปราบของกองทัพและรัฐบาลอนุรักษนิยมในปี 2553 ซึ่งก็จะพาดพิงอยู่กับเรื่องของ "คดี 91 ศพ"
ดังจะเห็นได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผู้นำรัฐบาลที่มีบทบาทโดยตรงในการล้อมปราบประชาชนนั้นถูกกดดันให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการไปให้ปากคำแก่ตำรวจ
ปรากฏการณ์เช่นนี้พอจะคาดเดาได้ไม่ยากว่า การเมืองหลังปีใหม่ย่อมจะ "ร้อนแรง" อย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันคดี 91 ศพ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก (กรณีการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ)
การขับเคลื่อนในประเด็นเช่นนี้ด้านหนึ่งเป็นแรงกดดันผู้นำทหารอย่างมาก เพราะหากมีหมายเรียกถึงฝ่ายทหาร เช่น กรณีของ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้ว ผู้นำทหารจะทำอย่างไร
และหากเกิดขึ้นจริงหมายเรียกสอบปากคำออกจากฝ่ายตำรวจแล้ว ก็อาจกลายเป็นประเด็นเรื่อง "ศักดิ์ศรี" ระหว่างตำรวจและทหารได้ไม่ยากนัก
และน่าสนใจว่า หากผู้นำทหารให้ปากคำอย่างแข็งขันว่า การสั่งปราบปรามประชาชนนั้นมาจากคำสั่งของรัฐบาลในขณะนั้นแล้ว ผู้นำรัฐบาลเก่าทั้งสองจะทำอย่างไร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลเพื่อไทยดำเนินการในลักษณะ "กัน" ผู้นำทหารเอาไว้เป็น "พยาน" และถือว่าสิ่งที่กองทัพได้กระทำไปนั้นเป็นไปตามคำสั่งของผู้นำรัฐบาลเก่า ซึ่งก็อาจนำไปสู่การดำเนินคดีกับผู้นำรัฐบาลชุดที่แล้วได้โดยตรง
นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญในปี 2555 ก็ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล แม้นายกรัฐมนตรีจะแสดงท่าที "ประนีประนอม" กับผู้นำกองทัพด้วยการเดินสายไปตามเหล่าทัพต่างๆ เพื่อขอบคุณภารกิจช่วยน้ำท่วมของกำลังพลทหาร
ซึ่งก็น่าสนใจว่า น้ำท่วมทำให้กองทัพกับรัฐบาลต้องทำงานด้วยกัน แล้วถ้าไม่มีสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว ความสัมพันธ์นี้จะเป็นเช่นไรในปีหน้า
ส่วนประเด็นรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีผู้คนเป็นจำนวนมากเห็นว่าเป็นปัญหา และน่าที่จะต้องจัดการแก้ไขในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้น ปีกอนุรักษนิยมหรือ "กลุ่มคนเสื้อเหลือง" เคยประกาศอย่างแข็งขันว่า "ไม่ยอม"
ฉะนั้น หากมีการผลักดันให้การแก้ไขเกิดขึ้น ขบวนการของกลุ่มคนเสื้อเหลืองจะยังมีกำลังและศักยภาพเพียงใดในการระดมฝูงชนเพื่อจัดเวทีต่อต้านรัฐบาล
แต่หากพิจารณาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในกรณีปราสาทพระวิหารในปีที่ผ่านมา ก็เห็นได้ชัดเจนว่า พลังของกลุ่มการเมืองส่วนนี้อ่อนกำลังลงอย่างมาก
เว้นแต่พวกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองสายอนุรักษนิยมเช่นเมื่อครั้งชุมนุมต่อต้านรัฐบาลสมัคร
จึงน่าสนใจว่าหากการชุมนุมของคนกลุ่มนี้เกิดขึ้นอีก พรรคการเมืองดังกล่าวจะยังยืนยันที่ให้ความสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมคนของพรรคเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในอนาคตอีกหรือไม่
ในอีกด้านหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 ก็คงหนีไม่พ้นจากการเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จนถึงกับถือว่าเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงที่สุดฉบับหนึ่งของโลก
ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผลของคำตัดสินใน "คดีอากง" ให้ต้องโทษจำคุก 20 ปี โดยไม่ทราบความชัดเจนว่าหลักฐานในคดีนี้คืออะไร หรือกรณี โจ กอร์ดอน (ชายไทยสัญชาติอเมริกัน) ซึ่งเป็นผู้แปลหนังสือต้องห้ามเรื่อง "The King Never Smile" ก็ถูกตัดสินจำคุกเช่นกัน จนกระทรวงต่างประเทศอเมริกันต้องออกคำเตือนถึงชาวอเมริกันที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยถึงความรุนแรงของกฎหมายดังกล่าว
ดังนั้น การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ย่อมจะกลายเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นในการเมืองปี 2555 อย่างแน่นอน
เพราะปัจจุบันกฎหมายนี้ได้ถูกกลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
และเช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องที่มีความละเอียดอ่อนจนมีเสียงเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง กลุ่มเหล่านี้ดูจะยอมรับไม่ได้เอาเลย
นอกจากนี้ หาก "มาตรการชั่วคราว" ของศาลโลกในกรณีพระวิหารถูกนำมาใช้บังคับในช่วงปลายปี 2554 อันทำให้ต้องมีการปรับกำลังทหารของทั้งสองประเทศออกจากพื้นที่ในช่วงต้นปี 2555 และหากต่อมาในช่วงปี 2555 ศาลโลกได้ออกข้อมติจริงจากการยื่นของรัฐบาลกัมพูชาให้ศาลฯ ตีความคำตัดสินกรณีพิพาทเรื่องปราสาทพระวิหาร 2505 ซึ่งผลออกมาเป็นไปในทิศทางเดียวกับมาตรการชั่วคราวแล้ว ก็จะทำให้ปัญหานี้กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่จะช่วยเพิ่มความร้อนแรงของการเมืองไทยหลังปีใหม่
เพราะกลุ่มอนุรักษนิยมคงยอมไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการ "พ่ายแพ้" ของประเทศไทย โดยลืมไปว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดที่แล้ว
เรื่องราวเหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงความพยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังมีความหวังที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ก็จะเป็นอีกหนึ่งความร้อนแรงอย่างแน่นอน และปีกอนุรักษนิยมเชื่ออย่างมากว่า การกลับมาของ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็น "เชื้อไฟ" ให้แก่การระดมมวลชนของพวกเขา ดังเริ่มเห็นได้จากกรณีการคืนหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งมีความพยายามที่จะปลุกกระแสเช่นนี้อยู่ ซึ่งก็รวมถึงประเด็นนิรโทษกรรมด้วย อันจะเป็นประเด็นร้อนหนึ่งในปีหน้า
ประเด็นสำคัญที่ลืมไม่ได้กับการเมืองไทยต้นปี 2555 ก็คือ การฟื้นฟูและเยียวยา
คำถามก็คือ ทำอย่างไรที่รัฐบาลจะมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และขณะเดียวกันก็จะต้องเร่งฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของรัฐบาลให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเข้มงวดเรื่องการคอร์รัปชั่นในกระบวนการนี้ไม่ให้ต้องกลายเป็น "จำเลยซ้ำ" จากกรณีถุงยังชีพมาแล้ว
สิ่งต่างๆ จากข้างต้นให้คำตอบง่ายๆ ว่า การเมืองไทย 2555 จะยังคงร้อนแรง และการต่อสู้ในสงครามการเมืองจะยังคงดำเนินต่อไป มิไยต้องกล่าวถึงการปรองดองและการสมานฉันท์ให้เสียเวลา!
++++
บทความของปี 2553
สงครามน้ำลาย! บทเรียนมลายา-ข้อคิดไทย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1578 หน้า 36
"หลักการก็คือ ไม่เทศนา ไม่สร้างทฤษฎี และไม่ออกคำสั่ง
สิ่งสำคัญก็คือ จะต้องไม่โฆษณาบนพื้นฐานของความเกลียดชัง "
C.C. Too
นักสงครามจิตวิทยาของฝ่ายอังกฤษในมลายา
ในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ การปฏิบัติการจิตวิทยา (psychological operations) หรือบางทีในยุคปัจจุบันก็เรียกว่า "ปฏิบัติการข่าวสาร" (Information Operations) แต่ถ้าเรียกตรงไปตรงมา เราอาจกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการเช่นนี้เป็น "สงครามน้ำลาย" (war of words) ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับฝ่ายรัฐบาลในการต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบ เพราะหากปฏิบัติการเช่นนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ก็จะทำให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมหันหลังให้กับความเชื่อของพวกเขาในการจับอาวุธต่อสู้กับรัฐได้
ดังที่ เซอร์โรเบิร์ก ทอมป์สัน เคยเสนอว่า ถ้าฝ่ายรัฐโฆษณาทางการเมืองจนสามารถดึงผู้ก่อความไม่สงบออกมาจากองค์กรจัดตั้งของพวกเขาได้ พร้อมกับการตอบแทนรางวัลให้แล้ว คนเหล่านั้นก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่การ "เริ่มต้นชีวิตใหม่"
ในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบของอังกฤษในมลายามีการใช้คำว่า "เริ่มต้นชีวิตใหม่" เพื่อใช้เรียกการที่ผู้ก่อความไม่สงบตัดสินใจที่จะยุติการรบของเขาและเข้ามอบตัวกับรัฐบาล และเมื่อมอบตัวแล้ว พวกเขาก็มักจะกลับเข้าไปชักชวนคนในองค์กรให้ยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอีกด้วย การกระทำเช่นนี้ทำให้ผู้ชักชวนได้ค่าตอบแทนจากรัฐบาล สิ่งที่พบดังที่เซอร์ทอมป์สันได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง Defeating Communist Insurgency (1966) ก็คือ
"หลายคนในพวกนี้ (กลุ่มก่อความไม่สงบ) อาจจะอยากได้เงินไปเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ในเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลจากถิ่นเดิม" เพื่อที่พวกเขาจะสามารถ "เริ่มต้นชีวิตใหม่" และใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุข โดยไม่จำเป็นต้องจับอาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐ
แม้กระทั่งการใช้คำเรียกสงครามการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในมลายา ก็ถูกเรียกว่า "ภาวะฉุกเฉิน" แทน ทั้งๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสงครามในตัวของมันเอง แต่รัฐบาลที่ลอนดอนตระหนักว่า หากเรียกสถานการณ์สู้รบในมลายาว่าเป็นสงครามแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบทางการเมืองต่อสถานะของรัฐบาลที่ลอนดอน และขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อสถานะทางเศรษฐกิจในมลายาเองอีกด้วย
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในมลายาย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัยในลอนดอนแต่อย่างใด
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า บริษัทประกันภัยนั้น จะไม่คุ้มครองต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงของสงคราม จะยกเว้นก็แต่ความเสียหายอันเกิดจากภาวะฉุกเฉินของฝ่ายพลเรือน หรือจากการจลาจล แต่ไม่ใช่ในรูปของสงครามกลางเมือง
เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้รัฐบาลอังกฤษเรียกสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปี 1948-1960 ว่าเป็น "ภาวะฉุกเฉินในมลายา" (The Malayan Emergency) แทนการเรียกการรบที่เกิดขึ้นว่า "สงครามมลายา" (The Malayan War)
การเริ่มต้นเช่นนี้ก็เพื่อเปิดประเด็นให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของฝ่ายอังกฤษในการใช้คำพูดเพื่อหวังผลทางด้านจิตวิทยา ดังจะเห็นว่า รัฐบาลลอนดอนไม่ยอมรับว่าเป็น "สงคราม" กลับเรียกการสู้รบที่เกิดขึ้นว่า "ภาวะฉุกเฉิน" หรือสำหรับผู้ที่เข้ามอบตัว จะใช้คำว่า "เริ่มต้นชีวิตใหม่" แทน เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกผิดต่อตนเองที่ตัดสินใจยุติการต่อสู้กับรัฐบาล และเป็นการให้เกียรติต่อการตัดสินใจในอดีตของพวกเขา
นอกจากนี้ รัฐบาลเองก็จะต้องสนับสนุนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของอดีตผู้ก่อความไม่สงบ เพราะชีวิตใหม่จะเริ่มต้นได้ด้วยการประกอบการทางเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีงบประมาณบางส่วนที่จัดเตรียมไว้ให้ เช่น พวกเขาอาจต้องการมีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง และในขณะเดียวกัน ก็จะต้องโยกย้ายคนเหล่านี้ออกจากพื้นที่เดิม เพื่อไม่ให้พวกเขาถูกยึดโยงอยู่กับองค์กรจัดตั้งและเรื่องเก่าๆ ของขบวนการ
เซอร์ทอมป์สันถึงกับกล่าวว่า สำหรับผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องการมีธุรกิจของตนเองนั้น "การก้าวหน้าจากผู้ก่อการร้ายไปเป็นนายทุนไม่ใช่อนาคตที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด" แต่ก็จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือบางประการจากรัฐ
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวถึงปฏิบัติการจิตวิทยาของอังกฤษในมลายาแล้ว อาจจะต้องยกเครดิตให้แก่ ซีซีทู (C.C. Too) คนจีนสัญชาติมาเลย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้วางแนวทางการโฆษณาทางการเมืองในสงครามครั้งนี้ และอาจจะต้องให้เครดิตแก่เขาว่า เป็นผู้ที่ทำให้การโฆษณาทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง
ทูได้ถือเป็นหลักการว่า การโฆษณาทางการเมืองแข่งกับกลุ่มก่อความไม่สงบ (พรรคคอมมิวนิสต์มลายา) จะต้องไม่ใช้การประฌามหรือการด่าเป็นแนวทางหลัก เพราะในความเป็นจริงแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่า ผู้รับสารจากการโฆษณาเป็นใครเช่น "เขาผู้นั้นอาจเป็นคอมมิวนิสต์ที่จริงใจ หรือเป็นคอมมิวนิสต์ที่รู้ตัวว่าหลงผิดแต่ไม่กล้าหนี หรืออาจเป็นคอมมิวนิสต์ที่หลบหนีคดีอาญา ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร"
ฉะนั้น การโฆษณาจึงต้องไม่ใช้คำพูดในลักษณะของการกล่าวร้าย หรือการประฌามหยามเหยียด สิ่งที่ทูถือเป็นหลักการสำคัญในการโฆษณาก็คือ "ไม่เทศนา ไม่สร้างทฤษฎี และไม่ออกคำสั่ง" ซึ่งทูจะกล่าวเสมอว่า "ท่านก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ซึ่งย่อมมีผิดพลาดได้" หรือกล่าวอีกด้านหนึ่งก็คือ เรียกร้องให้ผู้ก่อความไม่สงบหันกลับมามองตัวเองและคิดถึงพฤติกรรมของตัวเองอย่างชั่งใจ
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเป็นเข็มมุ่งว่าการโฆษณาทางการเมืองจะต้องไม่ใช้วิธีของการโฆษณาชวนเชื่อ ที่กล่าวในเรื่องโกหกและไม่เป็นจริง หากจะต้องยึดกุมให้ได้ว่า จะโฆษณาในสิ่งที่เป็นจริงและมีเหตุผล เพราะด้วยการกระทำในแนวทางเช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้ก่อความไม่สงบได้ เช่น ครั้งหนึ่งทูได้ประกาศรายชื่อของผู้ก่อการร้ายที่เสียชีวิตผิดพลาด เขาจึงได้ประกาศขอโทษ เพราะผู้ก่อการร้ายคนดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่
กล่าวคือ นักโฆษณาทางการเมืองต้องกล้ายอมรับผิด และกล้าขอโทษเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ใช่อาการดันทุรังหรือใช้การโกหกเป็นแนวทางหลัก เพราะถ้าประชาชน (ผู้รับสาร) จับได้ว่าเรื่องราวที่พูดเป็นเรื่องโกหกแล้ว พวกเขาอาจจะไม่รับฟังอีกเลยก็ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จะต้องตระหนักไว้เสมอว่า ผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังจะตัดสินใจมอบตัวนั้น จะยังไม่เข้ามอบตัวเลยทีเดียว แม้เขาจะเข้าใจดีว่าการกระทำที่ผ่านมาเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงก็ตามที แต่จำเป็นจะต้องมีปัจจัยบางอย่างเข้ามาเป็น "แรงกระตุ้น" ซึ่งแรงกระตุ้นนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้า และจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง และทั้งยังจะต้องรำลึกไว้เสมอดังคำเตือนของทูที่ว่า "คนเราไม่ว่าจะร้ายกาจเพียงใดก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วเขาจะต้องต่อสู้เพื่อป้องกันเกียรติยศและความเป็นคนของเขาไว้จนถึงที่สุด"
เพราะหากทำอย่างไม่รอบคอบแล้ว การมอบตัวอาจจะถูกโฆษณาตอบโต้กลับว่า เป็นการทำลายคุณค่าในความเป็น "นักรบ" ของเขาเหล่านั้น หรือเป็นการทำลายความมีเกียรติของตัวเขาเอง ซึ่งแน่นอนว่า นักรบหลายๆ คนจะไม่ยอมทำเช่นนั้นเด็ดขาด
ฉะนั้น การสร้างแรงจูงใจในปฏิบัติการจิตวิทยาหรือการส่งสารในลักษณะของข้อมูลใดๆ ก็ตาม เพื่อให้ผู้ก่อความไม่สงบเข้ามอบตัวจึงต้องการแรงผลักดันสุดท้ายที่สำคัญอันจะก่อให้เกิดการพลิกผันทางความคิด โดยเห็นว่าการมอบตัวกับรัฐบาลเป็นประโยชน์ (ผลได้) มากกว่าการดำเนินการต่อสู้ต่อไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้พวกเขาเห็นว่าการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของพวกเขานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ได้จบลงด้วยชัยชนะ หรือเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ในหลักการแล้ว การโฆษณาทางการเมืองจะต้องไม่ใช่วิธีการประฌามเหยียดหยาม แต่ก็มิได้หมายความว่า เราควรจะละเลยต่อการโจมตีต่อจุดอ่อนของกลุ่มก่อความไม่สงบ เช่น พบว่าเรื่องผู้หญิงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนตัดสินใจมอบตัว เป็นต้น
เครื่องมือที่จะใช้ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดค้น อังกฤษใช้อากาศยานบินในระดับต่ำ และพบว่าการกระจายเสียงส่งลงไปในป่าได้ผลอย่างมาก เซอร์เจอราลด์ เทมเพลอร์ ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่ ได้ใช้เวลาหลายวันบันทึกเสียงของท่านเองเป็นภาษาจีนเพื่อนำไปออกกระจายเสียงทางอากาศในบริเวณพื้นที่ป่าเขา
การส่งกระจายเสียงทางอากาศได้ผลดี เพราะผู้ก่อความไม่สงบในป่าไม่กล้าเก็บใบปลิวโฆษณาของรัฐบาลอย่างเด็ดขาด ซึ่งอาจมีโทษถึงตาย แต่เสียงที่ประกาศจากทางเครื่องบินนั้น คนเหล่านั้นไม่มีทางที่จะไม่ได้ยิน ข้อความที่ประกาศออกมาจึงเป็นแรงกระตุ้นอย่างมากให้เกิดการมอบตัว นอกจากรัฐบาลจะใช้การกระจายเสียงจากทางอากาศแล้ว ก็ยังมีการใช้รถหุ้มเกราะขยายเสียง ซึ่งสามารถได้ยินไปได้ไกลโดยรวมถึง 6 ไมล์ และยังมีการใช้ใบปลิวอีกเป็นล้านๆ แผ่นกระจายไปในที่ต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงชีวิตอันน่ารื่นรมย์ หลังจากการมอบตัวแล้ว
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ปฏิบัติการจิตวิทยาได้ผลก็คือ ผู้ที่มอบตัวได้เข้าร่วมกับรัฐบาลในการรณรงค์ให้ "สหาย" หรือ "พลพรรค" ของพวกเขาเดินออกจากองค์กรจัดตั้ง เช่น ทูได้ใช้อดีตผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวออกเดินทางไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในชนบท และจัดแสดงละครการเมืองขึ้น การโฆษณาทางการเมืองที่ดำเนินการโดยผู้มอบตัวแล้วมักจะ "โดนใจ" พรรคพวกของเขาในองค์กรอย่างมาก
เพราะละครการเมืองเหล่านี้ล้วนแต่สร้างขึ้นจากเรื่องภายในองค์กรที่พวกเขารับรู้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
กรณีการมอบตัวของแลมสวี (Lam Swee) ซึ่งเป็นสมาชิกระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา ผลจากปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ทำให้เขาถูกจับปลดอาวุธ และผู้บังคับหมวดของเขาถูกยิงเสียชีวิตจากคำสั่งของกรรมการกลางพรรค
หลังจากการมอบตัวแล้ว เขาได้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ วิจารณ์ปัญหาภายในของพรรค หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์นับเป็นหมื่นๆ ฉบับ และถูกนำไปทิ้งในป่า เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บรรดาพลพรรคของกลุ่มก่อความไม่สงบได้เห็นถึงเหตุผลในการตัดสินใจยุติการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ
การกระทำเช่นนี้ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการป้องกันเกียรติยศของเขาเองด้วย เพื่อป้องกันข้อกล่าวหา "ทรยศพรรค" หรือ "ทรยศองค์กรจัดตั้ง"
ผลจากการมอบตัวของแลมสวี ยังทำให้ในเวลาต่อมา เขาได้กลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของซีซีทู และบุคคลทั้งสองได้กลายเป็นจักรกลสำคัญต่อความสำเร็จของอังกฤษในการทำสงครามจิตวิทยา แม้เรื่องราวของเขาทั้งสองจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็ถือได้ว่า การร่วมแรงร่วมใจของทั้งสองคนนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนอย่างสำคัญในการทำสงครามในอีกมิติหนึ่งที่อาศัยการโฆษณาทางการเมืองเป็นเวทีของการต่อสู้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญก็คือ สงครามจิตวิทยาจะได้ผลหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเองด้วยว่า รัฐบาลมีผลงานให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนหรือไม่ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการต่อสู้เพื่อเป็นคำยืนยันให้แก่ประชาชนหรือไม่ และสำคัญอย่างยิ่งก็คือ พลังสนับสนุนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลสามารถนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตของการก่อความไม่สงบได้
เรื่องราวในข้างต้นอาจจะดูเป็นอะไรที่อยู่ไกลจากสังคมไทยในปัจจุบัน และทั้งเป็นเรื่องราวที่จบลงแล้วอย่างสิ้นเชิงจากโลกความมั่นคงในอดีต หากแต่พิเคราะห์ให้รอบคอบ เราอาจจะพบว่า "ข้อเตือนใจ" ของแนวทางที่ปรากฏในบทความนี้เป็น "ข้อคิด" อย่างดีให้แก่การต่อสู้ในสนามรบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หรือในสนามการเมืองในพื้นที่ต่างๆ ประเทศ ซึ่งกำลังมีการโหมโฆษณาทางการเมืองอย่างหนัก
สงครามน้ำลายในมลายาให้ข้อคิดอย่างดีว่า การโฆษณาทางการเมืองต้องไม่ใช่การโกหก และไม่ใช่การประณามหยามเหยียด เพราะการโฆษณาเช่นนี้ดำเนินการเพื่อเอาคนมาเป็นพวก ไม่ใช่เพื่อเอาคนมาเป็นศัตรู...
เว้นเสียแต่กลไกและบุคลากรของรัฐไทยมีความเชื่ออย่างหยาบๆ เพียงว่า การโฆษณาทางการเมืองคือการโกหก !
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย