.
มีบทความต่ออีก 3 บท
- "ประชาธิปไตย" หากประชาชนต้องการแล้วก็ไม่มีใครขัดขวางได้ โดย สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา
- รัฐธรรมนูญ"ครึ่งใบ-เต็มใบ" โดยนคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
- ถ้ายกเลิกมาตรา 309 (บทนิรโทษกรรม) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ใครได้ใครเสีย โดย นคร พจนวรพงษ์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ความรู้สึก
โดย ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.
กฎหมายในโลกสมัยใหม่จำเป็นต้องมีความชัดเจน แน่นอน มั่นคง เพื่อผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเนื้อหาสาระของการกระทำใดที่จะเป็นความผิดจะต้องมีการระบุและอธิบายไว้อย่างชัดเจนล่วงหน้า เพื่อหวังว่าคนที่กำลังชั่งใจว่าจะทำดีหรือไม่ จะได้ใช้เป็นต้นทุนประกอบการตัดสินใจและงดเว้นการกระทำผิดเสีย
อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญกว่า คือ กระบวนการที่จะพิสูจน์ว่าบุคคลได้กระทำการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าเป็นความผิดหรือไม่
กฎหมายในปัจจุบันจึงต้องมีการบัญญัติถึง กระบวนการพิสูจน์ "ความจริง" ว่าบุคคลได้กระทำจริงดังที่ได้มีการกล่าวหากันหรือไม่ การตัดสินว่าบุคคลนั้น "ถูกหรือผิด" จึงเกิดตามภายหลัง
ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงจะต้องยืนอยู่บนหลักฐานในเชิงประจักษ์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผลที่ชัดเจนแน่นอน ก่อนที่จะนำข้อเท็จจริงนั้นมาปรักปรำให้บุคคลต้องรับโทษทัณฑ์
จากประสบการณ์อันเลวร้ายในทุกสังคม ซึ่งประวัติศาสตร์ได้สะท้อนการกระทำอันเป็นผลร้ายต่อผู้บริสุทธิ์จำนวนมากซ้ำแล้วซ้ำเล่า บทเรียนเหล่านั้นได้ก่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมต้องมีการประกันสิทธิของคู่กรณี เพื่อป้องกันการลงโทษ "แพะ" ที่ถูกลากมาให้ "รับบาป" จากสิ่งที่ตนมิได้กระทำ
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบันจึงกำหนดให้ คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกล่าวหา หรือ "จำเลย" ได้รับการประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างเข้มแข็ง ด้วยเหตุว่า ถ้าจำเลยต้องคำพิพากษาว่า "ผิดจริง" จะต้องรับโทษทางอาญาที่มีผลร้ายแรง ลิดรอนสิทธิอย่างกว้างขวางและยาวนาน
บทบาทการทำหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจึงต้องคำนึงถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้อย่างปราศจากข้อสงสัยว่าผิดจริง ดังที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ในคดีอาญาหลายกรณี การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยอาจจะมิได้พิเคราะห์คำอธิบายที่แตกต่างจากการรับรู้ทั่วไปของสังคมที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวาทกรรม "ความมั่นคงของชาติ" "ความสงบเรียบร้อยของสังคม" และ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งมีความคลุมเครือ ยกตัวอย่างคดีอาญาหลายคดี เช่น คดีสิ่งแวดล้อม คดียาเสพติด คดีก่อการร้าย คดีการใช้สิทธิในการชุมนุม และคดีการแสดงความคิดเห็นอันสุ่มเสี่ยงต่อความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือความมั่นคง ประชาชนที่ตกเป็นจำเลยมักจะพยายามอธิบายการกระทำซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแห่งคดีที่แตกต่างไปจากวาทกรรมเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" "ความสงบเรียบร้อยของสังคม" และ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจและยึดถือเป็นสรณะ
แต่ในแทบทุกคดีไม่ได้รับการตอบสนอง
จากการทบทวนความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยในพื้นที่สื่อสาธารณะทั้งหลาย ทั้งในข่าว บทสัมภาษณ์ เครือข่ายทางสังคมบนโลกอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งโพล คนในสังคมไทยมักแสดงออกว่ายอมรับในความหลากหลาย แต่เมื่อเกิดคดีในกลุ่มข้างต้น พวกเขากลับดูดายต่อผู้ที่เห็นต่างในกรณีเหล่านี้ โดยเฉพาะในเมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม
การตีความเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" "ความสงบเรียบร้อยของสังคม" และ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" ของผู้ที่ใช้อำนาจรัฐทั้งฝ่ายปกครองอันมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเป็นหลัก และการตีความโดยพยายามเชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้เข้ากับ "ความรู้สึก" ย่อมมีผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เห็นต่างเป็นอย่างมาก ไม่ว่ารัฐจะอ้างว่าเป็น "ความรู้สึกของปวงชนชาวไทย" แต่คนที่อ้างก็มิเคยทำประชามติหรือประชาพิจารณ์ หรือแม้มีลูกขุนมาให้ความเห็นเลยสักครั้ง
ท่ามกลาง "ฝุ่นควันของความขัดแย้งทางความคิดในช่วงเปลี่ยนผ่าน" การใช้อำนาจรัฐดำเนินการต่อความหลากหลายทางความคิดย่อมกดทับ ความพยายามในการต่อสู้ทางการเมืองบนพื้นฐานของสันติวิธีให้เหี้ยนเตียนไป
อนึ่ง การแสดงความคิดเห็นเป็นวิธีการที่ประหยัดเลือดเนื้อที่สุดอันควรค่าแก่การรักษา
กระบวนการยุติธรรมที่ตีความขยายขอบเขตเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของสังคม" และ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" ออกไปจำกัดการใช้สิทธิของประชาชนโดยอ้างเรื่อง "ความรู้สึก" ย่อมเป็นการทำลายความเป็นคนที่ตั้งอยู่บนความแตกต่างหลากหลายเป็นที่สุด
หากต้องการรักษาสันติภาพไว้ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่แหลมคมขึ้น เรื่องการตีความและใช้กฎหมายบนพื้นฐานของเหตุผลที่รองรับด้วยกฎหมายที่ประกันสิทธิเสรีภาพเป็นที่ตั้ง ย่อมเป็นหนทางที่ "ต้องเลือก" อย่างถึงที่สุด เนื่องด้วยกฎหมายลำดับรองและการบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นภายใต้บริบทของรัฐไทยที่มีปัญหาเรื่องอำนาจนิยมจะมีผลต่อการลิดรอนสิทธิของประชาชน ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่งเสมอ แล้วแต่ว่าตอนนั้นอำนาจรัฐอยู่กับใคร ดังนั้นการยึดมั่น "สิทธิตามรัฐธรรมนูญ" จึงมีความสำคัญต่อทุกคนที่อาจจะตกเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐเมื่อไหร่ก็ได้
หากกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยังไม่มีการปรับตัว และคงดำเนินไปอย่างชาชินต่อความรู้สึกเจ็บปวด ทรมาน ไม่ยุติธรรม ของเหยื่อซึ่งสั่งสมขึ้นเป็นความคลั่งแค้น กงล้อแห่งความรุนแรงย่อมหมุนไปบนเงื่อนไขที่ทำให้สังคมก้าวเดินไปสู่ภาวะ "ไร้ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์" ในท้ายที่สุด
เมื่อจุดแตกหักทางความคิดและกระบวนการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมาถึง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" และ "มนุษยธรรม" ต่อผู้ที่เห็นต่าง ก็อาจจะไม่หลงเหลืออยู่ในสังคมนี้อีกเลย เพราะท่ามกลางความขัดแย้งที่กำลังคุกรุ่น และพร้อมที่จะระเบิดขึ้นนั้น คนที่มีความกลัวย่อมเกิดความหวาดระแวงและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเข้าประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามในอีกไม่ช้า
+++
"ประชาธิปไตย" หากประชาชนต้องการแล้วก็ไม่มีใครขัดขวางได้
โดย สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:00:00 น.
สถิตย์ ไพเราะ อดีตรองประธานศาลฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลเยาวชนและครอบครัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอาจารย์ (พิเศษ) ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา เขียนบทความเรื่อง "ร่วมสร้างพลเมืองผ่านกระบวนการเลือกตั้งเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย" ขึ้นเพื่อประกอบการเสวนาทางวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา มติชนออนไลน์ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ดังนี้
เคยมีนักศึกษาถามผมว่า การเป็นผู้พิพากษาควรมีคุณสมบัติอย่างไร
คุณสมบัติของผู้พิพากษาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ ต้องเลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยบริสุทธิ์ใจ ตามที่มาตรา 26(3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการบัญญัติไว้
ระบอบประชาธิปไตย คืออะไร
ประการแรก ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลายตามที่มาตรา 1 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองประเทศสยามชั่วคราวที่ท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ร่างขึ้นและทูลเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เพราะฉะนั้น ตราบใดที่อำนาจสูงสุดคืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการยังไม่อยู่ในมือราษฎรทั้งหลาย ตราบนั้นประเทศไทยก็ยังไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ประการที่สอง การปกครองระบอบประชาธิปไตยบุคคลที่อยู่ภายใต้การปกครองต้องมีเสรีภาพตามประกาศอิสรภาพของประเทศอเมริกา ซึ่งร่างโดยท่านโธมัส เจฟเฟอร์สัน เมื่อ ค.ศ.1789
เสรีภาพคืออะไร
เสรีภาพ คือ การที่บุคคลจะพูด จะทำ จะเขียนอย่างไรก็ได้ ถ้าในขณะที่พูด ที่ทำ ที่เขียนนั้น ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ฉะนั้น จะออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังให้เป็นโทษแก่บุคคลไม่ได้ไม่ว่าทางใดๆ เพราะถ้าหากทำเช่นนั้นได้บุคคลย่อมไม่มีเสรีภาพ เมื่อบุคคลไม่มีเสรีภาพจะเรียกว่าการปกครองนั้นเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยไม่ได้
ประการที่สาม รัฐบาลของประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนตามที่ท่านประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอน ได้กล่าวที่เมืองเกตตีสเบิร์ก (Gettysburg) ในสมัยสงครามกลางเมืองของอเมริกา ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย
รัฐบาลที่จะเป็นรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนก็ต้องเป็นรัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกตั้งเข้ามา แต่มาจากขุนศึกก็ดี ศักดินาก็ดี อำมาตย์ก็ดี ย่อมไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย
ประการที่สี่ คนในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีความเสมอภาค ข้อความนี้ปรากฎอยู่ที่หน้าศาลสูงสุดของประเทศอเมริกา Equal justice under law ฉะนั้น ตราบใดที่ประชาชนยังไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ยังมีสองมาตรฐาน ตราบนั้นก็ยังเรียกว่าประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้
ประเทศจะปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชน
หากประชาชนต้องการแล้วก็ไม่มีใครขัดขวางได้
เพราะเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์
+++
รัฐธรรมนูญ"ครึ่งใบ-เต็มใบ"
โดยนคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 03 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 16:05:46 น.
รัฐธรรมนูญฉบับใดจะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเต็มใบหรือเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร สิ่งสำคัญยิ่งอยู่ที่ช่วงระยะเวลาการยกร่างจัดทำว่าอยู่ในยุคสมัยใด ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน หรือยกร่างจัดทำภายใต้ความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจหรือไม่
รัฐธรรมนูญฉบับยกร่าง
จัดทำภายใต้ความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจ
ขอนำเสนอรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับในยุคหลังๆ หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยคเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 9 ฉบับ (ฉบับที่ 10-18)
เป็นฉบับชั่วคราว 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2519) ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2520) ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2534) และฉบับที่ 17 (พ.ศ.2549) แต่ละฉบับจะหาความเป็นประชาธิปไตยใดๆ ไม่ได้เลย
การยึดอำนาจการปกครองหรือการปล้นอำนาจจากประชาชน แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเหล่านั้น เป็นเครื่องมือเข้าควบคุมการบริหารราชการบ้านเมืองของคณะรัฐประหาร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง นานาอารยประเทศดูถูกดูแคลนว่าการใช้กำลังยึดอำนาจนั้น เป็นการกระทำของอนารยชนคนป่าเถื่อน (barbarian) ไม่ต่างอะไรกับชนเผ่าที่ล้าหลังแย่งชิงอำนาจกันในกาฬทวีป
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมี 5 ฉบับนั้น มี 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) และฉบับที่ 16 (พ.ศ.2540) ที่ยกร่างจัดทำภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบานถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
แต่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 3 ฉบับที่ยกร่างจัดทำเกิดขึ้นภายใต้ความครอบงำของคณะรัฐประหารผู้ยึดอำนาจ กล่าวคือ
ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2521) เกิดขึ้นภายหลังจากที่ พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ทำรัฐประหารซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520
ฉบับที่ 15 (พ.ศ..2534) เกิดขึ้นภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2550) เป็นฉบับปัจจุบัน เกิดขึ้นภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมาแปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว การยกร่างจัดทำอยู่ในความครอบงำและอิทธิพลของบุคคลในคณะรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ปี 2521 และปี 2534 ที่เปิดทางให้บุคคลในคณะรัฐประหารหรือบุคคลที่คณะรัฐประหารสนับสนุน สืบทอดอำนาจต่อไป ตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีตำแหน่งในองค์กรอิสระที่สำคัญๆบางองค์กร คปค.หรือ คมช.แต่งตั้งไว้แล้ว ให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ (6 ปี 7 ปี หรือ 9 ปี แล้วแต่กรณี) ตามมาตรา 232, 242, 247 ประกอบมาตรา 299 เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบดูได้จาก "บทเฉพาะกาล" อันเป็นบทสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ จะเอาความเป็นประชาธิปไตยมาจากไหน ในเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จำนวน 35 คน ที่ทำหน้าที่ยกร่างจัดทำก็ดี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 100 คน ที่ทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญก็ดี เป็นบุคคลที่คณะรัฐประหาร โดย คมช.คัดเลือกแต่งตั้งเข้ามาทั้งสิ้น การยกร่างจัดทำอยู่ในความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจตั้งแต่ต้นจนจบ
แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้จะผ่านการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศก็ตาม แต่ก็เป็นการลงประชามติภายใต้การกดดัน ข่มขู่หรือบังคับและการแทรกแซงทุกวิธีการทุกวิถีทาง จากอิทธิพลของคณะรัฐประหารที่มีอำนาจสูงสุดและควบคุมการบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น แล้วจะไปหวังอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 นี้ โดยอาศัยบทบัญญัติตามมาตรา 291 โดยหยิบยกมาแก้ไขบางเรื่องบางมาตรา การแก้ไขเพิ่มเติมด้วยวิธีการเช่นนี้ แม้จะปรับปรุงหรือดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ก็ไม่พ้นซากเดนหรือผลพวงซึ่งเกิดจาก จิตวิญญาณของการรัฐประหารที่ยึด "อำนาจเผด็จการ" เป็นหลักการแทรกซึมอยู่ทั่วไปในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่รู้จักจบสิ้น วิธีการนี้ไม่ควรที่จะกระทำหรือแม้แต่ที่จะคิด พูดง่ายๆ ก็คือตัดทิ้งไปได้เลย
เปรียบเสมือนการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยให้ "บ้านคือวิมานของเรา" ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขจากโครงสร้างเดิมที่เป็น "บ้าน" มิใช่ว่าโครงสร้างเดิมเคยเป็น "รถถังและปืนใหญ่" มาก่อน แล้วการแก้ไขจากโครงสร้างเช่นนั้นจะได้อะไรขึ้นมา เราควรจะเขียนแบบวางผังตีแปลนสร้างบ้านทั้งหลังขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ต้องไปเสียดายหรือเสียเวลากับโครงสร้างเดิมที่ไม่ใช่ "บ้าน" นั้นอีกต่อไป
รัฐธรรมนูญฉบับยกร่าง
จัดทำภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) และฉบับที่ 16 (พ.ศ.2540) ได้ยกร่างจัดทำขึ้นในยุคสมัยที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เนื้อหาจึงเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับที่ยกร่างจัดทำภายใต้ความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย
การศึกษาข้อมูลในอดีตถึงการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปได้บ้าง
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) ยกร่างจัดทำในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ "วันมหาวิปโยค" 14 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" จำนวน 18 คน มีนายประกอบ หุตะสิงค์ เป็นประธาน "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ซึ่งมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภา พิจารณาอนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 นี้
อาจพูดด้วยความภาคภูมิใจของคนไทยในขณะนั้นได้ว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง มากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา (ฉบับที่ 1-9)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 (พ.ศ.2540) ระหว่างช่วงใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง กำหนดกลไกทางการเมือง ให้สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ในยุคสมัยนั้นประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานที่สุด กระแสเรียกร้องต่างๆ ผลักดันไปสู่การยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น
หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 พรรคชาติไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งวางนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนแล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นกุญแจดอกสำคัญ นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองของไทยอย่างจริงจัง ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง" มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ด้วยการดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้ ในที่สุดได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ที่สำคัญยิ่งก็คือกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ประกอบด้วยผู้มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด จังหวัดละคน 76 คน ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ 23 คน รวม 99 คน สภาร่างรัฐธรรมนูญมีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน ผู้พิจารณาและอนุมัติคือรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส.จากการเลือกตั้ง 393 คน ส.ว.ที่แต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว 262 คน รวม 655 คน ในช่วงนั้นมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี
การยกร่างจัดทำตลอดจนการพิจารณาอนุมัติ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งการยกร่างจัดทำเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ
รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 นี้ เมื่อศึกษาโดยละเอียดแล้วจะพบหลักปรัชญาในการปฏิรูปการเมืองอย่างมีระบบและสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยบัญญัติวางหลักการปฏิรูปการเมืองไว้ ...
บัญญัติวางหลักกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ กระบวนการใช้อำนาจรัฐ และกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้อย่างครบถ้วน มีการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับประชาชนคนไทย และขนานนามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
+++
ถ้ายกเลิกมาตรา 309 (บทนิรโทษกรรม) ของรัฐธรรมนูญ 2550 ใครได้ใครเสีย
โดย นคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:15:00 น.
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับถาวรที่ 18) พ.ศ.2550 มาตรา 309 อ้างถึงรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2549) ซึ่งมีบทนิรโทษกรรมอยู่ในมาตรา 37
"มาตรา 37 บรรดาการกระทำทั้งหลาย ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ของหัวหน้าและคณะ...(คปค.หรือ คมช.) ...ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"
นั่นก็คือ "บทนิรโทษกรรม" ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ คปค.หรือ คมช.ประกาศใช้เพื่อปกป้องการกระทำอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย เนื่องจากการกระทำรัฐประหาร เพื่อให้คณะของตนไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ต้องมีความผิด
การบัญญัติบทนิรโทษกรรมเช่นนี้ ได้เคยมีแต่เฉพาะในรัฐธรรมนูญ "ฉบับชั่วคราว" เท่านั้น คือฉบับที่ 9 (พ.ศ.2515) มาตรา 21 ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2519) มาตรา 29 ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2520) มาตรา 32 ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2534) มาตรา 32 และฉบับที่ 17 (พ.ศ.2549) คือมาตรา 37 ดังกล่าวมาแล้ว
ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ผ่านมาไม่มีฉบับใดบัญญัติบทนิรโทษกรรมเช่นนั้นไว้ พึ่งจะมีให้เห็นในฉบับที่ 18 (พ.ศ.2550) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย กล่าวคือ มาตรา 309 อยู่ในบทเฉพาะกาลและเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้ว่า
"มาตรา 309 บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"
รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2550) นี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 จะเห็นได้ว่ามาตรา 309 อ้างฉบับชั่วคราวที่ 17 (พ.ศ.2549) ซึ่งมีบทนิรโทษกรรม ตามมาตรา 37 เป็นหลักคุ้มครองหรือนิรโทษกรรมไว้ทั้งหมด ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดก่อนหรือหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2550 และจะคุ้มครองต่อไปตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 จนถึงปัจจุบันและจะคุ้มครองต่อไปในอนาคตจนชั่วกัลปาวสาน และถ้ายกเลิกมาตรา 309 นี้แล้ว ใครได้ใครเสีย
เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2511) มาตรา 183 ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2521) มาตรา 206 และฉบับที่ 15 (พ.ศ.2534) มาตรา 222 บัญญัติไว้ในลักษณะเดียวกันคือ ประกาศหรือคำสั่งที่ออกใช้บังคับ "ก่อน" วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้มีผลใช้บังคับได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป และไม่เคยมีฉบับถาวรฉบับใดใช้คำว่า "ก่อนหรือหลัง" วันประกาศใช้เช่น มาตรา 309 นี้เลย
การคุ้มครองการกระทำของผู้ใช้อำนาจโดยพลการทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างไม่รู้จักจบสิ้น และยังคุ้มครองรวมไปถึงพรรคพวกผู้เกี่ยวข้องของ คปค.หรือ คมช. ซึ่งมีอีกอย่างกว้างขวางและมากมาย ทำให้สะกิดใจนึกถึงความขมขื่นใจของคนไทยในอดีต
ราษฎรชาวสยามหรือประชาชนคนไทยเคยถูกลวง ถูกหลอกและถูกบังคับให้เจ็บช้ำน้ำใจครั้งที่เราเคยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (สิทธิทางศาล) ให้แก่จักรวรรดินิยม หรือประเทศที่ล่าอาณานิคม ซ้ำร้ายเรายังถูกตีความขยายความจากสนธิสัญญาที่เคลือบคลุมและอยู่ในภาวะจำยอมจนต้องเสียสิทธิทางศาลให้แก่คนในบังคับหรือพลเมืองของประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมเหล่านั้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ความไม่ชอบธรรมและเอาเปรียบของสนธิสัญญาเหล่านั้นคนไทยเราก็ร่วมมือกันผลักดันและยกเลิกสนธิสัญญาที่เราตกเป็นทาสหรือเสียเอกราชทางศาลนั้นได้สำเร็จในที่สุด
เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ก็จะขอตอบคำถามตามหัวเรื่องข้างต้นที่ว่า ถ้ายกเลิกมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ใครได้ใครเสีย โดยนำเอาหลักตรรกวิทยาว่าด้วยการคิดหาเหตุผลมาพิเคราะห์ว่า ใครคือผู้กระทำละเมิดต่อกฎหมาย ใครคือผู้ถูกกระทำและได้รับความเสียหาย ใครคือผู้ออกกฎหมายมาคุ้มครองผลของการทำละเมิดด้วยการนิรโทษตัวเอง ก็จะเห็นคำตอบได้ชัดเจนแล้ว
มีบุคคลสาธารณะที่ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในสภาพของนักการเมือง นักการทหาร นักกฎหมายหรือนักวิชาการ รวมตลอดไปถึงนักเคลื่อนไหวไร้อุดมการณ์บางคน ต่างหลับหูหลับตาออกมาพูดว่าการเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 309 ก็เพื่อประโยชน์ของคนบางคนหรือบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น ถ้ายกเลิกมาตรา 309 แล้วประเทศชาติจะเสียหาย
คำพูดที่พูดออกมาเช่นนี้สังคมพอจะรู้ว่าพวกเขาหมายถึงใครและมีจุดประสงค์อย่างไร ซึ่งบุคคลที่เขากล่าวถึงว่าจะได้ประโยชน์ก็ล้วนแต่เป็นผู้เสียหายที่ถูกพวกเขากระทำย่ำยีถูกพวกเขากระทำละเมิดทั้งนั้น
คนไทยยุคสมัยนั้นเขากินข้าวสุกข้าวสวย กินข้าวนึ่งข้าวเหนียว ไม่ได้กินแกลบกินรำที่ใครจะมาโน้มน้าวหลอกลวงได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว พวกผีกระหังหรือผีกระสือที่ชอบอาจมของโสโครกอาศัยความมืดหรืออำนาจมืดบีบบังคับหลอกลวงผู้ด้อยปัญญาทั่วไปจนเคยตัว ไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทยทุกคนที่เท่าเทียมกัน โปรดรับทราบด้วยว่าปัจจุบันนี้พวกคุณจะทำเช่นนี้อีกไม่ได้แล้ว ประชาชนเขาเห็นไส้เห็นพุงกันหมดแล้ว ประชาชนเขาตาสว่างกันทั่วทุกคนแล้ว ประชาชนเขาจะไม่ยอมต่อไปอีกแล้ว ประชาชนเขาจะต่อต้านขัดขวางอย่างจริงจัง อย่าใช้อำนาจมืดมาบังคับหลอกลวงประชาชนอีกเลย อย่าปิดหูปิดตาประชาชนอีกต่อไปเลย ระวังผลกรรมจะตามทัน
เมื่อหันมาพูดถึงคน "เสีย" แล้วจะมีใครเสียบ้าง ใครออกกฎหมายมาคุ้มครองพวกเขาเล่าคำตอบง่ายๆ ก็เช่นกัน คนจะเสียก็พวกทำละเมิดก็คือพวกเขานั่นเอง การใช้กำลังยึดอำนาจการปกครองล้มล้างฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีความผิดฐานเป็นกบฏมีโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งรวมทั้งตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำด้วย (ป.อ.มาตรา 113) และยังกระทำย่ำยีเข่นฆ่าประชาชนผู้มาชุมนุมเรียกร้องเรียกหาประชาธิปไตยอีก ซึ่งพวกเขาจะต้องมีความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย และอายุความก็มากเสียด้วยส่วนใหญ่จะยาวนานถึง 20 ปี และยังจะถูกบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งด้วยอีกต่างหากในอนาคตต่อไปใกล้ๆ นี้อาจจะได้เห็นโฉมหน้าของหัวหน้าใหญ่หัวหน้ารองหรือบรรดาลิ่วล้อลูกสมุนบางคนถูกรางวัลใหญ่รางวัลย่อยหรือถูกหางเลขกันบ้าง
การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในช่วงกระทำการยึดอำนาจ จนถึงสิ้นสุดการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็น่าจะเพียงพอแล้ว ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยากที่จะฝืนใจยอมรับได้ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว การนิรโทษกรรมก็ควรจะสิ้นสุดลง
การใช้อำนาจเช่นนั้น ถ้าบริสุทธิ์ใจจริง ไม่มีอคติ ไม่มัวเมาในอำนาจ ไม่ลุแก่อำนาจ ไม่ก่อกรรมทำเข็ญ ไม่ไปทำละเมิดให้บุคคลอื่นใดหรือประเทศชาติเสียหาย ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีมาตรา 309 มาคุ้มครอง (หรือคุ้มหัว...ขออภัย) อีกต่อไป
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย