http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-05

อนุช: วิกฤติระบบนิเวศโลก..จากมนุษย์, การเกษตรสมัยใหม่-ความสำเร็จและวิกฤติ

.

วิกฤติระบบนิเวศโลก : สาเหตุจากมนุษย์
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1633 หน้า 41


ระบบนิเวศอันเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษย์ทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติในระดับและรูปแบบที่ต่างกัน อุทกภัยใหญ่ของไทยในปี 2554 นี้ก็น่าจะนับเป็นรูปแบบหนึ่ง และมีระดับความเสียหายรุนแรงสูง แม้กระนั้นก็ยังสามารถรับสถานการณ์นี้ได้ แต่เมื่อผสมกับวิกฤติอื่น ได้แก่ ความแตกแยกภายในชาติ ก็ย่อมมีผลกระทบมากอย่างคาดเดาได้ยาก

ระบบนิเวศโลกได้แสดงสัญญาณแห่งวิกฤติตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มีการศึกษา การตักเตือน และความพยายามหลากหลายในระดับต่างๆ ในการแก้วิกฤติระบบนิเวศ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น การฟื้นฟูแหล่งน้ำและแม่น้ำสายสำคัญ การแก้ปัญหาหมอกควันในเมืองใหญ่ การลดมลพิษบางตัวเช่นยาฆ่าแมลงดีดีที

แต่ในระดับโลกแล้ว ดูเหมือนว่าวิกฤติจะยิ่งหนักหน่วงขึ้น มีปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไข เช่น ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ วิกฤติน้ำมัน วิกฤติอาหาร รูโอโซนที่บริเวณขั้วโลกที่ทำข่าวเหมือนแก้ไขได้ แต่ก็ไม่ชัดเจนอะไร

อุบัติภัยน้ำท่วมโคลนถล่ม ฝนแล้ง ป่าฝนถูกทำลาย พื้นดินกลายเป็นทะเลทราย การขาดแคลนน้ำจืด ดินจืด การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน และอากาศทั่วโลก

เมืองใหญ่ที่เป็นระบบนิเวศมนุษย์สำคัญมีความอ่อนแอเปราะบางต่อผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

กล่าวโดยรวมก็คือระบบนิเวศโลกหมดความสามารถในการรองรับชีวิตมนุษย์และสัตว์อื่นลงไปเรื่อยๆ



ไส้เดือน ปะการังและมนุษย์

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายย่อมดัดแปลงสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อการดำรงอยู่ของตัวเอง

ไส้เดือนที่กินซากใบไม้ เลื้อยไปในดินเหมือนเป็นการพรวนต้นไม้ให้เติบโตได้ดี

โขลงช้างที่ท่องป่า เปิดทางเดินแก่สัตว์อื่น ถ่ายมูลก้อนใหญ่เป็นเหมือนให้ปุ๋ยแก่พื้นป่า

เหล่านกที่กินพืช ถ่ายเมล็ดออกมาเป็นเหมือนการหว่านเพาะพันธุ์พืชเหล่านั้น

และที่น่าทึ่งกว่าก็ ได้แก่ ปะการัง ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเล็กๆ ได้เปลี่ยนท้องทะเลให้เป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพื่อการขยายตัวของเผ่าพันธุ์มัน

แต่การขยายตัวของมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคสูงสุด ดูเป็นตรงข้าม ทุกแห่งที่มนุษย์ไปถึง ระบบนิเวศล้วนถูกทำลาย ว่าไปแล้วอารยธรรมทั้งหลายที่ล่มสลายลงมีสาเหตุร่วมกันอยู่ประการหนึ่งคือการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

มีคำถามว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นผู้ทำลายระบบนิเวศหรือไม่ และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ผิดประหลาดในระบบนิเวศหรือไม่


มนุษย์กับไฟ

มนุษย์อาจรู้จักใช้ไฟมานานราว 1 ล้านปีเศษ แต่น่าจะเพิ่งใช้ไฟกันทั่วไปเมื่อราว 4 -1 แสนปีเศษมานี้เอง การควบคุมและใช้ไฟได้เพิ่มอำนาจให้แก่มนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏในสัตว์อื่นมาก่อน สิ่งที่จำแนกมนุษย์ออกจากสัตว์อื่นมีหลายประการ แต่สิ่งหนึ่งก็คือการรู้จักใช้ไฟ

มนุษย์ใช้ประโยชน์จากไฟหลายอย่างตั้งแต่การใช้ในการช่วยผลิตอาวุธ เพื่อการล่าสัตว์ ไปจนถึงการให้แสงสว่างและความปลอดภัย

กล่าวอย่างสั้นก็คือประโยชน์จากไฟทำให้มนุษย์ได้ไต่ระดับจนอยู่เหนือสัตว์ทั้งหลาย และตั้งตนเป็นผู้จัดการพิภพ

มีนักวิชาการบางคนเห็นว่าการใช้ไฟโดยเฉพาะเพื่อการหุงอาหารมีบทบาทลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือมีส่วนช่วยวิวัฒนาการของมนุษย์เอง เสริมกับทฤษฎีวิวัฒนาการว่าด้วยการคัดเลือกทางธรรมชาติที่เสนอโดย ชาร์ลส์ ดาร์วิน คือเป็นวิวัฒนาการโดยการพัฒนาทางเทคโนโลยี

นักมานุษยวิทยาดูจะเห็นพ้องกันว่า ในกระบวนการวิวัฒนาการนั้น มีมนุษย์ (Homo) สายพันธุ์หนึ่งหันไปบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ได้รับสารอาหารที่เข้มข้นขึ้น จนการมีฟันที่มีขนาดใหญ่และลำไส้ที่ยาวเหมือนสายพันธุ์ที่กินพืชหมดความจำเป็นลง ฟันจึงมีขนาดเล็กลงและลำไส้สั้นกว่า สารอาหารที่เข้มข้นนั้นจึงนำมาใช้บำรุงสมองจนใหญ่ขึ้น และกลายเป็นมนุษย์ปัจจุบัน ขณะที่มนุษย์สายพันธุ์อื่นที่ยังคงกินพืชเป็นหลักได้สูญพันธุ์ไป

แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
มีนักวิชาการบางคนเสนอทฤษฎีว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากเหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการใช้ไฟ ซึ่งมีอยู่ 2 ทฤษฎี

ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่ามนุษย์หันไปกินปลาและสัตว์น้ำอื่นที่เดิมกินไม่ได้ แต่เมื่อใช้ไฟก็สามารถหุงเป็นอาหารได้

ทฤษฎีนี้ยังรับกับทฤษฎีว่าในช่วงวิวัฒนาการหนึ่งมนุษย์สายพันธุ์นี้ได้ลงไปอาศัยอยู่ในน้ำ จนกระทั่งขนที่หนายาวหลุดไป และมีไขมันใต้ชั้นผิวหนัง คล้ายกับพวกปลาโลมา

อีกทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าการหุงอาหารด้วยไฟ ทำให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตสุก ย่อยง่าย ได้พลังงานสูง ก็ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาทางสมองได้เช่นเดียวกัน

ทฤษฎีทำนองนี้ได้เป็นที่สนใจมากขึ้น มีผู้เขียนหนังสือไว้หลายเล่มว่าการหุงอาหารช่วยวิวัฒนาการของมนุษย์ได้อย่างไร



ไฟประเภทต่างๆ

ไฟทั้งหลายเมื่อมองจากจุดของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี อาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

ก) ไฟในธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนมีมนุษย์ และสิ่งชีวิตทั้งหลายต่างปรับตัวเข้ากับไฟป่านี้ไปตามทางของตน เช่น นกเหยี่ยวอาจบินวนรอบไฟ คอยจับเหยื่อที่หนีไฟออกมาในที่แจ้ง และยังมีสัตว์อีกหลายชนิดเข้าไปกินซากที่โดนไฟเผา ซึ่งในนี้น่าจะรวมถึงมนุษย์ด้วย เป็นประสบการณ์ซ้ำๆ จนกระทั่งบางสายพันธุ์มนุษย์หันมาใช้ไฟอย่างจริงจัง

ข) ไฟในยุคพราน-หาของป่า มนุษย์ใช้ไฟเพื่อการพัฒนาเครื่องมือและอาวุธ เช่น ใช้ไฟเผาหินเพื่อทำเครื่องมือหินให้ประณีตขึ้น หรือใช้ไฟเพื่อทำหอกไม้ให้แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้ไฟอีกหลายอย่าง จนไฟเหมือนเป็นเพื่อนสนิทของมนุษย์ ประสบการณ์เหล่านี้อาจกล่าวได้ว่า ช่วยสร้างประเพณีการบูชาไฟขึ้นมา ซึ่งปรากฏในอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลก หรือสร้างความเชื่อว่าสรรพสิ่งเกิดจากไฟ

ค) ไฟในยุคการเกษตรเมื่อราว 1 หมื่นปีมาแล้ว การใช้ประโยชน์จากไฟมีหลากหลายขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ การเผาป่าเพื่อเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นเทคโนโลยีระดับสูง ต้องการผู้คนที่เชี่ยวชาญ และกำลังคนที่มากพอสมควร นอกจากนี้ ยังใช้เพื่อการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ ตั้งแต่เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด และเครื่องเหล็ก เชื้อเพลิงสำคัญได้แก่ ฟืนและถ่าน และมูลสัตว์ เป็นต้น ในยุคนี้ด้วยลำพังแรงคน แรงสัตว์ และพลังไฟจากไม้และถ่าน มนุษย์สามารถสร้างพีระมิด และจักรวรรดิใหญ่เช่นจักรวรรดิโรมันและจีนได้

ง) ไฟยุคอุตสาหกรรม ยุคอุตสาหกรรมเริ่มต้นในยุโรปตะวันตกแล้วแพร่ไปทั่วโลก เชื้อเพลิงชีวมวลเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล และมีการนำเครื่องจักรกลมาใช้ในการทำงาน รวมทั้งการสร้างพลังกระแสไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เกิดอุตสาหกรรมสมัยใหม่และการพัฒนาเทคโนโลยีบนพื้นฐานเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูก ได้เปลี่ยนโฉมหน้ามนุษย์และโลกไปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน


ไฟกับอุปนิสัยท่าทีของมนุษย์ต่อตนเองและธรรมชาติ

ถ้าไฟมีส่วนในวิวัฒนาการของมนุษย์จริง มันก็น่าจะมีส่วนต่อการกำหนดอุปนิสัยและท่าทีของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง จนฝังแน่นอย่างยากที่ถอนคลายออก และแม้เพียงถือว่าไฟมีส่วนในวิวัฒนาการของอารยธรรมมนุษย์ มันก็ย่อมส่งผลกระทบอย่างมากทีเดียว

ลองจินตนาการถึงความสำนึกในอำนาจของสิงโต มันย่อมพอใจกับพลังตบและแรงขย้ำต่อเหยื่อของมัน แต่สิ่งนี้เทียบไม่ได้กับอำนาจของไฟที่มนุษย์มีอยู่ ไฟมีอำนาจร้ายแรง มันอาจทำลายป่าทั้งป่า และแปรเป็นทุ่งหญ้าสุดสายตาได้

แน่นอนมนุษย์ย่อมพึงพอใจในอำนาจของตน อำนาจในการทำลายล้างและการควบคุมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมนุษย์ก็ยินดีและพร้อมที่จะใช้อำนาจนี้ในทุกเมื่อ

กล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่หลงใหลใฝ่อำนาจมากที่สุด ความต้องการอำนาจเพื่อควบคุมสิ่งอื่นและผู้อื่น ได้ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์มนุษย์ผ่านสงครามใหญ่น้อยครั้งแล้วครั้งเล่า สงครามที่เป็นการใช้กำลังไฟเพื่อการห้ำหั่นกัน จนถึงเดี๋ยวนี้เรามีระเบิดพวง ยานร่อนโดรนล่าสังหาร จรวดนำวิถีและระเบิดนิวเคลียร์ที่สามารถทำให้ระบบนิเวศโลกวิบัติได้

และเนื่องจากความสามารถในการควบคุม ก็ได้ชักนำให้มนุษย์มีท่าทีว่าธรรมชาติเป็นของตน ความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติมีมากไม่จำกัด ทำอะไรก็ได้ไม่เป็นอะไรมาก การถือธรรมชาติเป็นของตนนั้นในระยะแรกโดยผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิหรือพระเจ้า และต่อมาโดยผ่านระบบตลาด

มนุษย์ได้นำธรรมชาติมาใช้ดั่งเป็นทาส


มนุษย์กับเมือง

เมืองเป็นการตั้งถิ่นฐานที่เป็นอริกับระบบนิเวศมากที่สุดแบบหนึ่ง มันไม่ยั่งยืน

การดำรงอยู่ของเมืองอาศัยการนำทรัพยากรจำนวนมากจากชนบทมาใช้

หากเป็นเมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้ว ยังหมายถึงการนำทรัพยากรจากประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมาใช้ด้วย

แต่เมืองมีจุดแข็งที่มันเข้มแข็งคงทนกว่าชนบท เนื่องจากความได้เปรียบทางขนาด นวัตกรรม และความซับซ้อนของระบบ ทำให้ชนบทค่อยๆ ลดลงทุกที

จนในปัจจุบัน (ปี 2011) ประชากรโลกที่อาศัยในเมืองมีจำนวนมากกว่าที่อาศัยในชนบท และมีแนวโน้มมากขึ้น

ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความล่มจมของระบบนิเวศจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนถึงขีดสูงสุด



มนุษย์กับลัทธิผู้บริโภคหรือการบริโภคแบบหรู

ศตวรรษที่ 20 ถือกันว่าเป็นศตวรรษแห่งการต่อสู้ทางอุดมการณ์

มีอุดมการณ์และลัทธิจำนวนมากปะทะกันอย่างดุเดือด เช่น ลัทธิทุนนิยม ลัทธิสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ลัทธินาซีและฟาสซิสต์ ลัทธิชาตินิยม ลัทธิอาณานิคม และลัทธิปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย ไปจนถึงลัทธิเคร่งศาสนา (Fundamentalism)

แต่เมื่อถึงปลายศตวรรรษที่ 20 ก็ดูเหมือนว่าลัทธิและอุดมการณ์ต่างๆ จะพ่ายให้แก่ลัทธิผู้บริโภค หรือการบริโภคแบบหรูหราฟุ่มเฟือย การเฟื่องฟูขึ้นของลัทธิผู้บริโภคเกิดจากความสำเร็จใหญ่หลวงจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข่าวสารและสารสนเทศ แต่ลัทธิผู้บริโภคก็เป็นเหตุปัจจัยในการทำลายสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุด

ถ้าไม่ยึดในหลักคติพุทธที่เสนอให้รู้จักประมาณในการบริโภคแล้ว หายนะของระบบนิเวศโลกก็อยู่ไม่ไกล



++

การเกษตรสมัยใหม่ : ความสำเร็จและวิกฤติ
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 42


เมื่อถึงศตวรรษที่ 21 ได้เกิดวิกฤติอาหารที่มีลักษณะทั่วโลกในยามสันติขึ้น ที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2004 และโดยเฉพาะวิกฤติอาหารปี 2008 ที่เกิดร่วมกับวิกฤติพลังงานและวิกฤติเศรษฐกิจ - การเงินครั้งใหญ่

วิกฤติอาหารเช่นนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าเกิดความผิดปกติอย่างรุนแรงในระบบการเกษตรปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังสะท้อนความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบการเกษตรนี้ด้วย

วิกฤติอาหาร วิกฤติระบบการเกษตร และวิกฤติสิ่งแวดล้อมได้ผูกโยงกันอย่างซับซ้อน และทำให้การแก้ไขกระทำได้ยากมากด้วย


บางเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเกษตรและเกษตรกร

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเกษตรและเกษตรกรอยู่หลายเรื่อง บ้างเป็นแบบโรแมนติก บ้างตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงบางส่วน และบ้างตั้งอยู่บนความเชื่อศรัทธา

เรื่องเล่าเหล่านี้มีส่วนสำคัญทำให้เข้าใจเรื่องการเกษตรและเกษตรกรอย่างผิวเผิน ไม่รอบด้าน จนในที่สุดไม่เข้าใจถึงแก่นของปัญหาการเกษตรและวิกฤติอาหารที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หรือนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาเป็นประเด็นหรือเป็นจุดๆ

เรื่องเล่าที่ควรกล่าวถึง ได้แก่

1) การเกษตรเป็นสิ่งที่ไม่ซับซ้อน เรื่องเล่านี้ก็มีความจริงอยู่ระดับหนึ่ง แต่เรื่องทั้งหมดดูเป็นตรงกันข้าม การที่กิจกรรมการเกษตรดำเนินไปโดยชาวไร่ชาวนาที่ไม่จำเป็นต้นมีการศึกษาสูงนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าการเกษตรอาศัยความรู้ง่ายๆ

กล่าวโดยทั่วไปการเกษตรมีแนวโน้มที่จะใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดของสังคมอยู่เสมอ

เช่น ในสมัยโบราณเมื่อรู้จักหล่อเหล็ก ก็มีการนำมาใช้ทำหัวผาน ในสมัยเริ่มต้นอุตสาหกรรมก็มีการคิดเครื่องหีบฝ้าย และเครื่องจักรกลทางการเกษตร

ในยุคข่าวสาร การเกษตรก็ได้ใช้การกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ทางดาวเทียม เครื่องดูดนมวัวอัตโนมัติ และการดัดแปรยีน เกษตรกรทุกวันนี้ก็มีการศึกษาสูงขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยี

2) ชีวิตของชาวไร่ชาวนานั้นเรียบง่ายอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ มีความสุขสบายได้ "ขี่ควายชมจันทร์"

อันนี้เป็นความคิดแบบโรแมนติก ความจริงนั้นชีวิตของชาวไร่ชาวนามีความทุกข์ยากเป็นอันมาก จากการเป็นคนชายขอบและพลเมืองชั้นสอง

ในสมัยโบราณต้องถูกเกณฑ์แรงงานหรือเป็นทาสติดที่ดิน ในอาณาจักรต่างๆ ได้เกิดการลุกขึ้นสู้และการก่อกบฏของชาวนาอยู่ทั่วไป รวมทั้งในประเทศไทย

เมื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยม เกิดการแย่งยึดหรือสงวนสิทธิ์การใช้ที่ดินมากขึ้น ชาวไร่ชาวนาจำนวนมากล้มละลาย สูญเสียที่ดินทำกิน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับฟาร์มขนาดใหญ่

ยิ่งเป็นเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาชะตากรรมยิ่งเลวร้าย ทุกวันนี้ก็บังเกิดมีการลุกขึ้นสู้ของชาวนาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

กล่าวโดยสรุปก็คือชีวิตชาวไร่ชาวนาเป็นชีวิตที่ต่ำต้อย ทุกข์ยาก ชาวนาโดยทั่วไปไม่ต้องการเป็นชาวนาอีกต่อไปถ้ามีโอกาส สัดส่วนจำนวนชาวนาในประเทศต่างๆ ลดลงโดยลำดับ ในประเทศพัฒนาแล้วบางแห่งเหลือราวร้อยละ 2 ของจำนวนประชากร



ความเกี่ยวโยงอย่างซับซ้อน
ของการเกษตรสมัยใหม่

การเกษตรเป็นส่วนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจ/การเมืองของสังคมนั้นๆ และของโลก ควรต้องมองให้เชื่อมโยงกัน ความเชื่อมโยงที่สำคัญก็คือระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างการเกษตร-อุตสาหกรรม-พาณิชยกรรม-สถาบันการเงิน

กล่าวให้เป็นรูปธรรมขึ้นว่าปัญหาการเกษตรและเกษตรกรปัจจุบัน ได้แก่

ก) ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินและที่ดินทำกิน เช่นในประเทศแถบละตินอเมริกา ที่ดินเกษตรร้อยละ 80 ตกอยู่ในมือชาวนารวย

ข) อำนาจและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวนา ซึ่งโดยทั่วไปจะน้อยกว่าชาวเมืองที่มั่งคั่งกว่า

ค) การเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยี

ง) การถูกควบคุมในตลาดสินค้าการเกษตร เช่นถูกกดราคา

จ) การแบกรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและอุบัติภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ปัญหาที่เกี่ยวโยงซับซ้อนนี้ ทำให้การแก้ปัญหาเฉพาะภาคการเกษตรไม่ได้ผลอะไร ในที่สุดจึงมักปะทุขึ้นเป็นความขัดแย้งที่ดุเดือดรุนแรงในสังคม


การเกษตรสมัยใหม่เป็นอย่างไร

การเกษตรสมัยใหม่ที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วโลกนี้ เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนี้เอง ก่อนหน้านั้นการเกษตรในประเทศอาณานิคมหรือประเทศด้อยพัฒนาใช้แรงงานคนและแรงงานสัตว์เป็นสำคัญ และใช้ปุ๋ยหรือการหมุนเวียนสารอาหารตามธรรมชาติในระบบนิเวศเป็นสำคัญ

การเกษตรดั้งเดิมถูกปฏิวัติ 2 ครั้ง จนกลายเป็นการเกษตรสมัยใหม่ การปฏิวัติครั้งแรกได้แก่การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่ให้ผลผลิตต่อหน่วยสูง ถือกันว่าเป็นความสำเร็จใหญ่หลวงทางการเกษตร ช่วยแก้ปัญหาความอดอยากโหยหิวและตรึงให้ราคาอาหารถูก สามารถสนองความต้องการหรือส่งผลให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรอย่างรวดเร็ว การปฏิวัตินี้เร่งให้เกิดการใช้สารเคมีและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแพร่หลายขึ้น

การปฏิวัติครั้งที่สองคือการปฏิวัติทางยีน (Gene Revolution) ในช่วงทศวรรษ 1990 เกิดพันธุ์พืชและสัตว์ดัดแปรยีนหรือจีเอ็มโอ เร่งการปฏิวัติครั้งแรกให้เข้มข้นขึ้นอีก ทำให้บทบาทและการครอบงำของบรรษัทการเกษตรสูงขึ้น

การเกษตรที่ถูกปฏิวัติแล้ว มีลักษณะเด่นดังนี้คือ

1) เป็นการเกษตรใช้ทุนและเทคโนโลยีสูง ได้แก่ การใช้เครื่องจักรกลที่ซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ การพัฒนาพันธุ์พืช การพัฒนาสารเคมีการเกษตรเพื่อให้ปุ๋ย กำจัดศัตรูพืชและวัชพืช

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือใช้การป้อนเข้า (Input) จากภายนอกระบบนิเวศเป็นสำคัญ ไม่ใช้การป้อนเข้าภายในระบบนิเวศ เช่น การหมุนเวียนของสารอาหารมีไนโตรเจนเป็นต้นจากการปลูกพืชหมุนเวียน หรือจากมูลสัตว์ รวมทั้งการควบคุมศัตรูพืชแบบธรรมชาติ และการปลูกพืชตามฤดูฟ้าฝน ตามที่เคยปฏิบัติมา เช่นโดยการอาศัยการสูบน้ำจากใต้ดิน สามารถทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง

จากนี้เงินทุนจึงมีความสำคัญสูงขึ้นมากต่อเกษตรกร นอกเหนือจากเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน

2) ฟาร์มมีขนาดใหญ่ การผลิตแบบเชี่ยวชาญเฉพาะบางชนิด การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นสำคัญ ฟาร์มขนาดเล็กจะเสียเปรียบเชิงขนาด และไม่สามารถยืนอยู่ในการแข่งขันที่ต้องใช้ทุนและเทคโนโลยีสูงได้

ดังนั้น จึงพบว่ามีการขยายตัวของฟาร์มเฉพาะอย่างและการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปทั่วโลก มีฟาร์มขนาดใหญ่ เช่น ไร่ฝ้าย ไร่ถั่วเหลือง หรือธัญพืชของโลกก็เหลือไม่กี่ชนิด ได้แก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าวเจ้า ปลูกซ้ำกันในที่เดียวปีแล้วปีเล่า หรือหากมีการปลูกหมุนเวียนก็เป็นอย่างพื้นฐานเช่นข้าวโพด-ถั่วเหลือง- ข้าวโพด- ถั่วเหลือง

ไร่นาแบบดั้งเดิมที่เคยเพาะปลูกพืชหลายชนิดหลายสายพันธุ์ ทั้งธัญพืช ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว และเลี้ยงไก่ ปลาในที่เดียวกันได้สูญหายไป

3) การผูกพันกับตลาด ปัจจุบันประมาณว่าพื้นที่การเกษตรกว่าร้อยละ 90 ดำเนินการเพื่อป้อนผลผลิตสู่ตลาด ที่ดำเนินการตามแนวคิดว่าเพาะปลูกเพื่อกินเองใช้เอง ที่เหลือจึงขายสู่ตลาด มีอยู่น้อยมาก จนเหมือนเป็นแปลงทดลองสาธิต

การปฏิบัติเช่นนี้ไม่ใช่เพราะชาวไร่ชาวนาต้องการ แต่ที่สำคัญมันเป็นนโยบายระดับชาติ

พบว่าในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งเช่นในประเทศละตินอเมริกา รวมทั้งในประเทศไทย การเกษตรไม่ใช่เพื่อเลี้ยงตัว แต่เป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นความเติบโตจากการส่งออก

ซึ่งนโยบายดังกล่าวในหลายที่ได้ก่อความสำเร็จได้ค่อนข้างสูง แต่ก็มีบางประเทศที่เน้นปลูกพืชบางชนิด ได้แก่ โกโก้ กล้วยหอม เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร

การไปผูกพันกับตลาด ยิ่งจะทำให้ฟาร์มขนาดเล็กล้มละลายเร็วขึ้น เกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเหมือนกรรมกรเกษตร ในการเกษตรแบบตกเขียว และการเกษตรรับจ้าง (Contract Farming) โดยอาศัยการลงแรงและที่ดินของตนเป็นสำคัญ ส่วนทุนทั้งหลายตั้งแต่พันธุ์ ปุ๋ย อาหาร ยารับจากผู้ให้ทุน และผลผลิตก็ตกเป็นของผู้ให้ทุน

4) เป็นการเกษตรที่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย ที่สำคัญ ได้แก่ การทำเป็นอาหารสัตว์ ในสหรัฐปรากฏว่ามีการนำธัญพืชเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ถึงราวร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด สำหรับตัวเลขของทั่งโลกราวร้อยละ 50 ทั้งเพื่อมาตรฐานการกินที่บริโภคเนื้อสัตว์สูงขึ้น

มีบางคนคำนวณว่าหากนำธัญพืชมาใช้เป็นอาหารโดยตรง อาจเลี้ยงประชากรโลกได้ถึงราว 9 พันล้านคน

ในระยะหลังที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น ได้มีการนำพืชผลมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งได้กดดันต่อความมั่นคงทางอาหารหนักหน่วงขึ้นไปอีก ทั้งพบว่าพื้นที่เพาะปลูกเพื่อการนี้ได้ขยายตัวขึ้นค่อนข้างเร็ว

5) การขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างต่อเนื่องตามความต้องการของตลาด การขยายพื้นที่เพาะปลูกนี้กระทำโดยการทำลายป่าโดยเฉพาะป่าฝนเมืองร้อน หรือเข้าไปเพาะปลูกในบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น ฝนน้อย ดินไม่ดี ศัตรูพืชมาก ในกรณีแรกเป็นการทำลายระบบนิเวศโลกอย่างรุนแรง ในกรณีหลังต้องใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และการสูบน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด

(ดูบทความของ Miguel A. Altieri ศาสตราจารย์ทางด้านเกษตรนิเวศเชื้อสายชิลีและคณะ ชื่อ Ecological Impacts of Modern Agriculture in the United States and Latin American ใน agroeco.org)



จากความสำเร็จสู่วิกฤติ

การเกษตรสมัยใหม่ (รวมอุตสาหกรรมอาหาร) ได้ประสบความสำเร็จใหญ่หลวงหลายประการ ได้แก่ ไม่เพียงสามารถสนองอาหารราคาถูกแก่ประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวได้เท่านั้น หากแต่ยังยกมาตรฐานการกินให้มีความหลากหลาย อร่อยถูกปากยิ่งขึ้นอีก

จากความสำเร็จที่หมุนหลายรอบในทำนองนี้ว่า ความต้องการทางตลาดที่มากขึ้นก่อให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น และมีผลผลิตที่มากขึ้น กระตุ้นให้มีความต้องการทางตลาดเพิ่มขึ้น ในที่สุดนำมาสู่วิกฤติทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเกษตร ระบบนิเวศ และระบบการสนองอาหาร เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงระดับโลก

การแปรเปลี่ยนจากความสำเร็จสู่วิกฤติยังสะท้อนว่า การเกษตรสมัยใหม่แบบตะวันตกที่อาจใช้ได้ผลในประเทศพัฒนาแล้วที่มีทุนและเทคโนโลยีสูง น่าจะไม่สามารถใช้ได้ดีกับระบบการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก และแม้ในประเทศพัฒนาแล้วก็ได้มีกระแสต่อต้านการเกษตรที่เน้นประสิทธิภาพและกำไร โดยไม่คำนึงถึงระบบนิเวศเท่าที่ควรหนาหูยิ่งขึ้น

ดูเหมือนจะเป็นวิถีของโลกว่า เมื่อขึ้นขี่ความสำเร็จไปนานๆ เข้า มันจะกลายเป็นวิกฤติโดยไม่รู้ตัว



.