http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-07

คนมองหนัง: เลนิน,..และ"ตัวละครผู้หญิง", ทราย: "ดอง"

.

เลนิน, สตาลิน, คิม จอง อิล และ "ตัวละครผู้หญิง"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 85


มรณกรรมของผู้นำคอมมิวนิสต์อย่าง "คิม จอง อิล" ได้รับความสนใจจากทั่วโลก ทั้งในแง่การเปลี่ยนผ่านผู้ถือครองอำนาจสูงสุดในประเทศเกาหลีเหนือ, ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การเมืองในคาบสมุทรเกาหลี

รวมถึงภาพนิ่ง-ภาพเคลื่อนไหว ซึ่งถ่ายทอดปฏิกิริยาโศกสลดของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ร่ำไห้ไว้อาลัยให้แก่การจากไปของ "บิดาแห่งประเทศ" จนปานจะขาดใจ

คิม จอง อิล ไม่ได้แปลกแยกจากวงการภาพยนตร์ เพราะเขาเคยเขียนหนังสือชื่อ "On the Art of the Cinema" (มีให้ยืมที่หอสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาความตายของผู้นำเกาหลีเหนือ ผ่านมุมมองเปรียบเทียบทางภาพยนตร์ จึงมีความน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย


มรณกรรมของ คิม จอง อิล ทำให้ผมนึกถึงหนัง 2 เรื่อง ซึ่งอาจถูกจัดรวมอยู่ในหมวดหมู่ภาพยนตร์ที่ผมสรุปรวบยอดและตั้งชื่อขึ้นมาเอง ว่าเป็นหนังแนว "เมื่อบิดาต้องอาสัญ"

เรื่องแรกคือ หนังเยอรมัน ชื่อ "Goodbye Lenin!" ซึ่งเล่าเรื่องราวของคนเป็น "แม่" ผู้ยึดมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ชาวเบอร์ลิน ที่มีอาการป่วยขั้นโคม่าจนต้องนอนหมดสติไปนานหลายปี

หลังทราบว่าลูกชายออกไปชุมนุมประท้วงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่เธอยึดถือ

ก่อนที่เธอจะตื่นฟื้นขึ้นมาในช่วงเวลาซึ่งระบอบการปกครองเดิมล่มสลายไปแล้วพร้อมกับกำแพงเบอร์ลิน, เยอรมนีตะวันออกต้องรวมประเทศกับเยอรมนีตะวันตก ที่เพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปี ค.ศ.1990, ลัทธิทุนนิยม-บริโภคนิยม เริ่มแพร่กระจายเข้ามาผ่านป้ายโฆษณาโคคาโคล่า

และอนุสาวรีย์ "เลนิน" ถูกโค่นล้มเคลื่อนย้ายหายไป

เพราะต้องการป้องกันสภาพจิตใจของ "มารดา" ผู้เพิ่งตื่นจากนิทรา ไม่ให้ช็อกหมดสติไปอีกครั้ง

หน้าที่ของผู้เป็น "ลูกชาย" จึงได้แก่การหลอกลวง "แม่" ว่าประเทศเยอรมนีตะวันออก และโลกอุดมคติแบบคอมมิวนิสต์ยังคงดำรงอยู่

กระบวนการหลังจากนั้น จึงเป็นเรื่องราวของการค่อยๆ ปรับตัว ปรับความเข้าใจ และยอมรับความจริงอันเปลี่ยนแปลงไปของเหล่าตัวละคร

ก่อนที่ "มารดา" จะสิ้นใจลงอย่างสงบ พร้อมๆ กับความพังทลายของ "ระบอบ" และภาวะปลาสนาการของ "บิดา" อย่าง "เลนิน"



หนังอีกเรื่องที่พูดถึงประเด็นความตายของ "บิดา" ไว้อย่างแหลมคม ก็ได้แก่ "Silent Wedding" ภาพยนตร์โรมาเนีย ซึ่งเล่าเรื่องราวว่าด้วยงานสมรสของหนุ่มสาวชาวโรมาเนียในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง เมื่อปี ค.ศ.1953

แต่แทนที่คู่บ่าวสาวและผู้มาร่วมงานจะได้สนุกสนานกับงานรื่นเริงอย่างเต็มที่ พวกเขากลับถูกบีบบังคับให้ "เงียบ" เพื่อไว้อาลัยแด่การถึงมรณกรรมของ "โจเซฟ สตาลิน" ผู้นำแห่งสหภาพโซเวียต ที่สิ้นลมหายใจก่อนคืนวันแต่งงานพอดี

บรรดาผู้ร่วมงานจึงต้องแอบแสวงหาความสุข, เล่นโจ๊ก และหัวเราะขำขันกันอย่าง "เงียบเชียบ" ที่สุด

กระทั่งถูกทหารโซเวียตจับได้ จนนำไปสู่ภาวะ "ตลกร้าย" เมื่อผู้ชายทั้งหมดในหมู่บ้านถูกลงโทษและหายสาบสูญไปตลอดกาล

เหลือเพียงประชากรผู้หญิง และความทรงจำ "บาดแผล" เกี่ยวกับวันวิวาห์ครานั้น



หนังทั้ง 2 เรื่องแสดงให้เห็นว่า มรณกรรมของผู้นำสูงสุด มีสายสัมพันธ์ร้อยรัดอยู่กับชะตากรรมของประชาชนคนเล็กคนน้อยอย่างแน่นแฟ้นลึกซึ้ง

ทั้งประชาชนผู้เชื่อมั่นในระบอบการปกครองของผู้นำคนนั้นๆ อย่างชนิดเปี่ยมศรัทธาหมดหัวใจ

และประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณดินแดนชายขอบของแสงเทียนแห่งอำนาจ ณ ศูนย์กลางโลกคอมมิวนิสต์ มิหนำซ้ำยังพยายามต่อต้านท้าทายอำนาจดังกล่าวอย่างชวนหัวเสียด้วยซ้ำไป

น่าสังเกตอีกว่า ประชาชนคนเล็กคนน้อยที่หลงเหลือชีวิตอยู่หลังจากการถึงแก่มรณกรรมของ "บิดา" (หรือภาวะล่มสลายของระบอบการปกครองแบบ "บิดา") และเหล่าชายคนรัก/ผู้นำครอบครัว ซึ่งถูกเล่าถึงในหนังทั้งสองเรื่อง คือ "ผู้หญิง"

ตั้งแต่ตัวละคร "แม่" ใน "Goodbye Lenin!" เรื่อยมาจนถึง "ภรรยา" ใน "Silent Wedding"

ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์กึ่งสารคดีของ "ฤทธี ปาห์น" ผู้กำกับฯ ชาวกัมพูชา ที่ไปเล่าเรียนวิชาทำหนังและเติบโตในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมักเล่าเรื่องราวของสังคมเขมรหลังยุค "เขมรแดง" ผ่านตัวละคร "แม่/ผู้หญิง"

ในฐานะผู้เหลือรอด ผู้ทนทุกข์ และผู้ที่ต้องแบกรับอดีตอันเจ็บปวดรวดร้าวจากภัยสงคราม

ผู้หญิงในหนังเยอรมัน หนังโรมาเนีย รวมถึงหนังเขมร ย่อมเป็นผู้หญิงเหมือนกันกับสตรีชาวเกาหลีเหนือที่แสดงอาการโศกศัลย์สุดหัวใจ เมื่อทราบข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของท่านผู้นำ

แต่ดูเหมือนปัจจัยทางด้านอุดมการณ์และประสบการณ์ชีวิตบางอย่าง จะส่งผลให้พวกเธอมีอารมณ์ความรู้สึกที่ผิดแผกแตกต่างกันไป



++

"ดอง"
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 80


ช่วงปลายปีที่ผ่านมามีพิธีกรรมหนึ่งที่ยังคงติดอยู่ในใจฉัน

นั่นคือการจัดงานศพแก่ คิม จอง อิล

ท่านผู้นำที่รักผู้เป็นอมตะตลอดกาล (อันนี้เรียกตามตำแหน่งที่ทางเกาหลีเหนือ ขนานนามให้ ไม่ได้เรียกเอง)

แค่ทันทีที่ข่าวการตายของผู้นำคนนี้แพร่กระจายออกมา ฉันก็เริ่มจินตนาการถึงงานศพของเขาทันที

ยิ่งบวกกับการได้เห็นภาพปฏิกิริยาของผู้คนที่เปียงยาง ซึ่งทุ่มตัวร่ำไห้ ทอดอาลัยในตัวท่านผู้นำจนแทบไม่เป็นสมประดี

บวกกับข้อมูลสรรเสริญเกี่ยวกับชีวิตของท่านผู้นำในสารพัดรูปแบบที่นำมาตอกย้ำให้เราได้รับรู้กัน (ไม่ว่าจะเป็นมหัศจรรย์กำเนิดที่ทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง จากเหน็บหนาวไปเป็น อบอุ่น ดาวทอประกายส่องแสง สายรุ้งสองสายพาดผ่านโค้งฟ้า (จริงๆ รุ้งเดียวก็น่าตื่นตะลึงแล้ว แต่ทางกระทรวงประดิษฐ์ข้อมูลของเกาหลีเหนืออาจเกรงว่าจะไม่พอ เลยซัดมันสองสายคู่ไปเลย) ที่ทำให้การกำเนิดของศาสดาใดๆ ในโลกดูอ่อนด้อยไปถนัด

หรือการเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นอาหารที่เรียกว่าแฮมเบอร์เกอร์ รวมไปถึงการเป็นผู้นำของโลกแฟชั่น

เหมือนจะขำนะ แต่เป็นฉันก็คงขำไม่ออก


ถ้าเป็นพลเมืองชาวเกาหลีเหนือที่มีชุดความจริงให้ได้รับรู้เพียงอย่างเดียว

เราจะไปเอาความเป็นจริงอื่นๆ มาเทียบได้อย่างไร

ถ้าใครมาบอกอะไรที่เป็นเท็จหรือแปลกแตกต่างไปกว่าข้อมูลที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ได้หรือความจริงที่เขาเชื่อกันเขาคงคิดว่าเรามาจากต่างดาว

แล้วอาจจับไอ้พวกมนุษย์ต่างดาวที่ช่างกล้าจะแตกต่างไปเข้าค่ายใช้แรงงานในดินแดนลับลี้ยากเข็ญอะไรไปนั่นเลย

สมองน้อยๆ ของฉันก็ยิ่งคิดกว้างไกลออกไปว่างานศพของเขาจะออกมาในรูปแบบใดกันหนอ

จะมีการโกนหัวไว้ทุกข์ทั้งประเทศไหม

หรือจะมีการนำทหารจากทุกเหล่าทัพมาแปรขบวนเป็นหน้าของท่านผู้นำที่รัก

หรือจะจุดระเบิดนิวเคลียร์เป็นการไว้อาลัย

ช่างน่าตื่นเต้นระทึกขวัญเสียจริงๆ ความตาย



พอเอาเข้าจริง ก็ไม่ต่างจากที่ฉันคิดไปเสียเท่าไหร่

การจัดขบวนไว้อาลัย การร้องห่มร้องไห้ และการเคารพศพที่ตั้งเอาไว้ในโลงแก้ว

สดชื่น และเปล่งปลั่ง ประหนึ่งว่าท่านผู้นำไม่ได้ตายจากไปไหน

เป็นเพียงแต่ท่านล้มกายลงนอนชั่วคราวเท่านั้น

โดยมีลูกชาย-คิม จอง อุน-ผู้ซึ่งจะมารับสืบทอดอำนาจต่อไปเดินประกบโลงแก้วของพ่อ โดยปราศจากถุงมือในอากาศที่หนาวเหน็บ

ช่างเป็นจิตวิญญาณที่น่าเทิดทูนเสียจริงๆ

โธ่ ท่านผู้เป็นที่รัก ศูนย์รวมแห่งชีวิตและจิตใจประชาชน ขาดท่านไปแล้วเราจะเป็นอย่างไร

(อันนี้ฉันลองคิดคำรำพึงของชาวเกาหลีเหนือ ว่าน่าจะออกมาในรูปนี้แหละ)


เมื่อผ่านการเคารพศพอย่างมหึมามโหฬาร รวมใจกันทั้งแผ่นดินไปแล้วก็มาถึงการเก็บรักษา

ดอง

ง่ายๆ อย่างนั้นเลย

ดองเหมือนฝรั่ง เหมือนมะม่วง

และเหมือนวัฒนธรรมที่สืบทอดมาของรัฐแบบสังคมนิยม



ในหนังสือ "บันทึกลับ คนดองศพเลนิน" ซึ่งเขียนโดยลูกชายของหนึ่งในทีมที่ต้องทำการรักษาศพผู้นำสูงสุดของรัสเซีย

ไม่ได้รักษาเอาไว้ด้วยความรักเคารพแต่อย่างใด

แต่เพื่อใช้ร่างอันไร้ลมหายใจนั้นในการดำเนินแต้มต่อทางการเมืองของผู้นำในยุคถัดมาอย่างสตาลิน

เลนินถูก "รักษาสภาพ" ไว้ด้วยวิธีเอมบาล์มมิ่ง คือการฉีดสารเคมีเข้าไปในร่างกายศพถึง 8 ลิตร

จากนั้นไม่กี่นาทีต่อมา สภาพศพที่เขียวคล้ำจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นสีผิวหนัง เป็นขาวอมชมพูทีละน้อย

หากใบหน้าได้รับความเสียหาย นักวิทยาศาสตร์ประจำห้องแล็บจะผ่าตัดเอาหนังหรือกระดูกจากส่วนอื่นๆ ของศพมาแต่งใบหน้าเช่นเดียวกับการทำศัลยกรรมพลาสติก

จากนั้น ใช้เครื่องสำอางรองพื้นกลบร่องรอยผ่าตัด

ทาลิปสติกที่ปากรวมทั้งใช้สารเคมีขาวแต้มบริเวณหน้าผากและแก้มเผื่อว่าญาติสนิทบางคนต้องการจุมพิตศพเป็นครั้งสุดท้าย

เลนินตายไปเมื่อ 80 ปีก่อน ปัจจุบันศพถูกเก็บรักษาในโลงแก้วที่จัตุรัสแดง

จนถึงทุกวันนี้รัสเซียยังไม่เปิดเผยเคล็ดลับการดองศพแห้งสู่โลกภายนอก

แต่ที่แน่ๆ นอกเหนือไปจากสุดยอดเคล็ดลับแล้ว การดองหรือการรักษาศพคงใช้เงินไม่น้อย

แล้วยิ่งนึกถึงอัตราค่าครองชีพที่ต่ำอย่างน่าใจหายของชาวเกาหลีเหนือ แล้วก็สะท้อนใจ การรักษาอดีตเอาไว้นี่ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย



แต่ก็ว่ากันไม่ได้หรอกใช่ไหมคุณผู้อ่าน

ไอ้พวกโลงแก้ว โลงติดแอร์ที่มีขายกันเกลื่อนกล่น

หรือโครงร่างซากที่หลงเหลือของพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

ร่างอันสมบูรณ์ไม่เปื่อยเน่าของมรณะสักขีทั่วโลก

รวมไปถึงมัมมี่อียิปต์โบราณอายุเป็นพันๆ หมื่นๆ ปีนั้นก็เกิดจากความเชื่อความรักความศรัทธานั่นแหละ

ก่อนจะว่าความบ้าคลั่งของใคร เขาคงต้องหันมาดูตัวเราเองก่อน

ว่าคลั่งไคล้ลุ่มหลงหมกมุ่นกับสิ่งสมมุติ และซากของสิ่งที่ตายไปแล้วมากขนาดไหนกัน


* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"บันทึกลับ คนดองศพเลนิน" (Lenin"s Embalmers) เขียนโดย อิลยา สบาร์สกี และ แซมมวล ฮัทชินสัน แปลโดย โรจนา นาเจริญ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 โดยสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์



.