http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-02

มุกดา:'ทวาย' ยุทธศาสตร์การค้าครึ่งโลก จีน ไทย พม่า แบ่งปลากันกิน

.
รายงานพิเศษ 1 - 50 ปี การท่องเที่ยวไทย (2503-2553) จาก 196 ล้าน เป็น 5.9 แสนล้านบาท
รายงานพิเศษ 2 - ไม่ร้ายอย่างที่คาด จากคอลัมน์ 'ก่อสร้างและที่ดิน'
รายงานพิเศษ 3 - การส่งออก พ.ศ.2555 ความผันผวน เศรษฐกิจโลก และ อัตราแลกเปลี่ยน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"ทวาย" จุดยุทธศาสตร์การค้าครึ่งโลก จีน ไทย พม่า แบ่งปลากันกิน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 20



การเปิดประตู...ทวาย...จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเมืองและมีผลต่อเศรษฐกิจของพม่า และภูมิภาค ในรอบ 50 ปี
เรื่องนี้เกี่ยวพันกับวิสัยทัศน์และการเคลื่อนไหวของผู้นำพม่า ไทยและจีน...



ประตูออกสู่มหาสมุทรอินเดียของจีน
บานแรกไม่ใช่ ทวาย

วันนี้จีนมีประชากรถึง 1,340 ล้านคน แม้จะมีชื่อว่าปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ในความเป็นจริง ชีวิตความเป็นอยู่ของคน 1,300 ล้าน อยู่ในระบบการผลิตและการค้าขายแบบทุนนิยมมาหลายปีแล้ว

จีนต้องพึ่งการผลิตที่ต้องเลี้ยงตัวเองในประเทศและพึ่งการส่งออกสินค้าไปทั่วโลก ผลิตตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ วันนี้จีนจึงเกาะอยู่บนหลังเสือของทุนนิยมเหมือนประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้

ส่วนอินเดีย (ปัจจุบันมีประชากร 1,210 ล้าน) ปี 2534 เริ่มปรับตัวเข้าสู่ระบบการค้าเสรีมากขึ้น พอถึง 2540 ก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

จีนซึ่งเติบโตและก้าวไปก่อนร่วม 10 ปี พบว่า อินเดีย มีทำเลที่ดีกว่าทางภูมิศาสตร์โลก เพราะอยู่ใกล้ตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันและตลาดสินค้า อยู่ใกล้แอฟริกาซึ่งเป็นตลาดการค้าใหม่และเป็นแหล่งวัตถุดิบแร่ธาตุขนาดใหญ่ ที่สำคัญตลาดคนรวยอย่างยุโรป อินเดียก็อยู่ใกล้กว่ามาก

จีนพบว่าเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเชื่อมต่อ ทั้ง 3 ทวีป คือแอฟริกา ตะวันออกกลาง (เอเชีย) และยุโรป คือจะต้องลงสู่มหาสมุทรอินเดียโดยผ่านพม่า

ปี 2540 แม้พม่าซึ่งยังปกครองด้วยระบบเผด็จการทหารจะถูกต่อต้านจากชาติตะวันตกแต่จีนยังมีสัมพันธ์ที่ดีและสนับสนุนพม่ามาตลอด

จีนจึงสามารถเสนอสร้างท่าเรือน้ำลึกและจุดขนส่งน้ำมันและก๊าซที่เมืองสิตต่วย ในรัฐยะไข่ โดยมีจุดมุ่งหมายจะลำเลียงน้ำมันจากตะวันออกกลางมาขึ้นที่ชายฝั่งแห่งนี้ และสร้างท่อลำเลียงผ่านตอนเหนือของพม่าเข้าสู่มณฑลยูนนานจนถึงโรงกลั่นน้ำมันที่เมืองคุนมิง

ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติขนานไปกับท่อส่งน้ำมัน เพราะจีนได้ตกลงซื้อน้ำมันจากหลุม Swhe ของพม่า ซึ่งน่าจะดูดก๊าซขึ้นมาใช้ได้ถึง 30 ปี

ระยะทางจากชายฝั่งที่รัฐยะไข่ จนถึงชายแดนจีนคือ 800 กิโลเมตร และจากชายแดนจีนถึงคุนมิงคือ 640 กิโลเมตร

สิ่งที่จะตามมากับแนวท่อส่งน้ำมันและก๊าซนี้คือทางรถไฟ น้ำมันและก๊าซจะไหลไปตามท่อสู่จีน

ส่วนสินค้าจากจีนก็จะไหลมาตามทางรถไฟ ในภาวะฉุกเฉินใดๆ เชื่อว่ากำลังทหารจากจีนจำนวนมากจะสามารถปกป้องตลอดทั้งเส้นทางนี้ได้

วันนี้โครงการทั้งหมดทำไปมากแล้ว แต่ตอนที่ทำจริง จีนได้เลือกใช้เมือง จ๊อกปิว (Kyauk Phyu) ซึ่งเป็นเกาะใกล้ชายฝั่งใกล้จุดเดิมเพราะจีนคิดว่ามีความปลอดภัยมากกว่า

คาดว่าในปี 2013 ระบบส่งก๊าซและน้ำมันจะทำได้สำเร็จ ในปี 2015 ระบบรถไฟจะแล้วเสร็จ

ประตูสู่มหาสมุทรอินเดียสำหรับจีนเปิดแล้วแต่ไม่ใช่...ทวาย



ทวาย...ท่าเรือของทุกชาติ
จุดยุทธศาสตร์การค้า
และอุตสาหกรรมครึ่งโลก

19 พฤษภาคม 2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมกรุงเทพฯ - ทวาย กับ นายยาน วิน

โครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แต่วิสัยทัศน์แบบนี้ นโยบายแบบนี้ มีมาตั้งแต่ปี 2548-2549 ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ทีมวิเคราะห์ไม่ทราบว่าคนที่เป็นต้นคิดเรื่องนี้เป็นใคร มีกี่คน แต่เป็นความคิดที่ถือว่าเป็นการรุกทางยุทธศาสตร์ที่มีผลต่อการค้าระดับโลก

แม้รัฐบาลทักษิณก็ถูกปฏิวัติในปี 2549 โครงการถูกดันต่อเพราะพม่าเองอยากให้ทำ

พม่ามองเห็นแล้วว่าทวายเป็นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน

ในขณะที่การเมืองไทยยังผันผวน บริษัท อิตาเลี่ยนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ก็ลุยก่อสร้างในฝั่งพม่า และทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 60 ปี โดยได้รับสิทธิ์สัมปทานในการบริหารท่าเรือ และพื้นที่ต่อเนื่อง 170 ตร.ก.ม. เพราะมั่นใจในจุดยุทธศาสตร์การค้าของทวาย...

โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายมีท่าเรือพาณิชย์ 1 ท่าและท่าเรืออุตสาหกรรม 1 ท่า ที่สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 175 ล้านตัน/ปี และมีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับนิคมอุตสาหกรรม และการพาณิชย์กว่า 300,000 ไร่ มีโรงไฟฟ้าขนาด 4,000 เมกะวัตต์

บริเวณโครงการจะเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิต ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน จึงเหมาะสำหรับ เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคอล และเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมเหล็กและอิเล็กทรอนิกส์

ทวายนอกจากจะสามารถเชื่อมต่อทวีปอื่นทางทะเลแล้วยังมีแผนสร้างสนามบินพาณิชย์ระดับนานาชาติ

มีเส้นทางบกเข้าสู่ประเทศไทยผ่านจังหวัดกาญจนบุรีโดยมีระยะทาง 230 ก.ม. รวมระยะทางจากทวายถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 350 กิโลเมตร

เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งของท่าเรือน้ำลึกทวายคือให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งจะเปิดประตูหลังผ่านประเทศไทยไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านลาว ทะลุเวียดนามถึงเมืองดานังซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของเวียดนามในฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

เส้นทางนี้จะร้อยรัดคนพม่า 50 ล้าน คนไทย 67 ล้าน คนลาว 7 ล้าน คนเวียดนาม 90 ล้าน คนจีน 1,340 ล้าน ให้เป็นพลังการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก


การเคลื่อนไหว
เพื่อเปิดประตู...ทวาย...ของพม่า
สู่โลกสากล

ทีมวิเคราะห์ไม่แน่ใจว่าจีนเห็นด้วยหรือไม่ เมื่อเริ่มแรกโครงการท่าเรือน้ำลึก...ทวาย เพราะเหมือนกับมามีคู่แข่งที่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียในพม่าเพิ่มอีกหนึ่งแห่ง

แต่รัฐบาลพม่าอยากทำแน่เพราะจะได้ประโยชน์จากทั้งโลก

ไทยก็อยากให้ทำ เพราะท่าเรือที่จ๊อกปิวอยู่ทางเหนือไกลมากและเหมือนท่าเรือของจีน

อเมริกาก็อยากให้มีท่าเรือ ทวาย เป็นท่าเรือน้ำลึกนานาชาติ เพื่อถ่วงอำนาจจีน

จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมทักษิณจึงพยายามเชื่อมสัมพันธ์กับพม่าหลายครั้งหลายวิธี

การเคลื่อนไหวเพื่อโครงการนี้มาเห็นชัดว่าทุกฝ่ายตกลงกันได้ไม่นานนี้ เมื่อรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งจึงเข้าสานต่อ พม่าก็รีบปรับท่าทีทางการเมืองให้สถานการณ์ภายในสงบเพื่อเตรียมรับการลงทุน มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองการทูตตลอดช่วง 100 วันที่ผ่านมา

ปลายเดือนกันยายนอดีตนายกฯ ทักษิณไปกัมพูชาอย่างครึกโครม แต่เข้ามาเลเซีย จีน และพม่า อย่างเงียบๆ ได้พบคนชั้นนำของทุกประเทศ

5 ตุลาคม 2554 นายกฯ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปเยือนพม่า

21 พฤศจิกายน พม่าประกาศว่าจะปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด (คาดว่าจะเป็น 4 ม.ค. 2555)

28 พฤศจิกายน ผบ.สูงสุดของพม่าเข้าพบรองประธานาธิบดีจีน นายสี จิ้น ผิง

1 ธันวาคม ฮิลลารี่ คลินตัน เยือนพม่าเข้าพบ ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และ ออง ซาน ซูจี

5 ธันวาคม รัฐบาลพม่าตกลงหยุดยิงกับ กองกำลังกู้ชาติไทยใหญ่ สำหรับกลุ่มกะเหรี่ยง KNU คาด ว่าราววันที่ 12 มกราคม 2555

ต้นเดือนธันวาคม อดีตนายกทักษิณไปจีนพบกับใครบ้างก็ไม่รู้

15 ธันวาคม อดีตนายกทักษิณเดินทางไปพม่า พบกับประธานาธิบดี เต็ง เส่ง และ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตประธานาธิบดีพม่า (ที่มีคนกล่าวว่าไปปูทางให้พบซูจี ไม่จริง เรื่องนั้นตกลงกันไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม)

20 ธันวาคม นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปประชุมกลุ่มผู้นำภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กรุงเนปยีดอว์พบผู้นำพม่าและผู้นำหลายประเทศ รวมทั้งพบ ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาติแห่งชาติที่ย่างกุ้ง

22 ธันวาคม นายสี จิ้น ผิง รองประธานาธิบดี เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการและพบปะปรึกษาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ กับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

สัญญาณตอบรับเรื่องนี้ที่สำคัญคือ ความสงบในพม่า การตอบรับการหยุดยิงของกองกำลังกลุ่มชนชาติต่างๆ ส่วน ออง ซาน ซูจี เปลี่ยนยุทธวิธี จากนิ่งสงบอยู่ในบ้านกลับสู่สนามการเมืองเปิด

เธอไม่ได้ถูกธนูยิงที่เข่าแต่นี่เป็นโอกาสผลักดันประเทศให้มีสถานะทางประชาธิปไตยที่สูงขึ้น

พรรคของเธอมีโอกาสมากขึ้น

ประชาชนมีโอกาสดีขึ้นทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ จึงมีการตกลงกับผู้นำรัฐบาล ที่จะกลับมาเล่นการเมืองแบบเลือกตั้ง



ผู้นำทุกชาติไม่มีใครโง่
จึงมองอนาคตได้แจ่มชัด

ทีมวิเคราะห์มองการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายว่าเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มีคนพูดถึงท่าเรือน้ำลึกทวายในแง่ที่จะประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าจากแหลมฉบังเมื่อต้องการส่งของไปยังแอฟริกาหรือยุโรป

แต่หลังจากได้เห็นโครงการเต็มรูปแบบ ทุกประเทศที่เป็นเจ้าพ่ออุตสาหกรรมและการค้าก็ตาลุกวาวเพราะการได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้ จะได้รับความสะดวกทั้งวัตถุดิบที่จะมาจากเอเชียและแอฟริกา น้ำมันที่จะมาจากตะวันออกกลางและตลาดสินค้าไม่น้อยกว่าครึ่งโลก

วันนี้ผู้นำทุกชาติ ไม่มีคนโง่ จึงพูดรู้เรื่อง ทุกฝ่ายก็มองเห็นประโยชน์ที่จะได้รับ

จีนถึงแม้จะมีเส้นทางรถไฟและท่อลำเลียงน้ำมันทางตอนเหนือของพม่าอยู่แล้ว แต่ถ้าโดดเข้ามาลงทุนในนิคมทวายก็มีแต่จะได้เพิ่มขึ้น เพราะที่นี่จะใช้เป็นแนวหน้าในการผลิตสินค้า

จีนจะสามารถตั้งโรงงาน ส่งทุน ส่งผู้เชี่ยวชาญ และช่างมาจากจีน ใช้แรงงานพื้นฐานของพม่า

ปัจจุบันจีนมีตลาดการค้าและแหล่งวัตถุดิบอยู่ในแอฟริกาหลายประเทศ เช่น ไนจีเรีย คองโก แองโกลา แอลจีเรีย ซูดาน ฯลฯ

จีนใช้วิธีให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค ได้ขายของ และได้ทรัพยากรกลับมา แต่ในอนาคตทรัพยากรที่เป็นวัตถุดิบหลายอย่าง จีนสามารถนำเข้าสู่โรงงานที่ทวาย ผลิตเป็นสินค้าด้วยน้ำมันจากตะวันออกกลางและส่งไปขายทั่วโลก

ญี่ปุ่นซึ่งเชี่ยวชาญในการลงทุนในต่างแดนอยู่แล้ว ก็สามารถแบ่งฐานการผลิตและช่างจากประเทศไทยเข้าไปเปิดสาขาที่ทวายโดยใช้แรงงานพื้นฐานในพม่า

นายทุนไทยและสิงคโปร์ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

สำหรับอเมริกามาแน่นอนได้ข่าวว่าจะลงทุนขนาดใหญ่เพื่อผลทางการค้าและการเมือง


พม่าและไทย...
เจ้าถิ่นและเจ้าของโครงการจะได้อะไร ?

พม่า...ทุกคนได้ตั้งแต่รัฐบาลถึงชาวบ้าน แต่คนที่มีได้มีเสียด้วยคือพวกที่ถูกเวนคืนที่ดิน ทวายจะถูกพัฒนาให้เป็นแบบนิคมมาบตาพุดและแหลมฉบัง แต่ใหญ่กว่าหลายเท่า

จุดอ่อนของประเทศพม่าอย่างหนึ่งคือการขาดแคลนช่างฝีมือด้านต่างๆ จะยังเป็นปัญหาซึ่งจะต้องใช้ช่างฝีมือจากจีน ไทยและอินเดียเข้าทดแทน

สำหรับประเทศไทยนอกจากการเข้าไปเป็นเจ้าของนิคมยังได้ผลประโยชน์จากการก่อสร้าง การค้าวัสดุต่างๆ การเข้าไปตั้งโรงงานในเขตนิคม ยังมีผลประโยชน์ที่ส่งถึงเขตนิคมชายฝั่งตะวันออกและภาคกลางซึ่งแม้อาจไกลจากทวายไปเล็กน้อยแต่ก็พอที่จะขนสินค้ามาได้ในชั่วข้ามคืน

นอกจากนั้น ยังอาจสร้างโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงนครปฐม เพราะเส้นทางมอเตอร์เวย์ขนาดใหญ่จะเชื่อมสู่ท่าเรือน้ำลึกทวายใน 3-4 ชั่วโมง

กลุ่มทุนไทยจึงมีทางเลือกหลายระดับ

แต่ที่น่าจับตาดูคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่านอกจากจะค้านการขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว จะมีการขยับตัวอย่างไรในเรื่องนี้

ถ้าไม่รู้จักคว้าโอกาส คนไทยคงได้กินแต่หางปลา

ทีมวิเคราะห์เห็นว่า การเปิดประตูหน้าทวายของพม่าสู่มหาสมุทรอินเดีย และทะลุสู่ไทยซึ่งเป็นประตูหลังสู่แปซิฟิก ได้ทำสำเร็จแล้ว หลังการเดินทางของผู้นำที่ผลัดกันเยี่ยมเยือนไปมา

บทบาทของ นายสี จิ้น ผิง น่าจะมีน้ำหนักที่สุด ทั้งต่อรัฐบาลพม่า และทุกชาติ รวมทั้งกองกำลังชนชาติต่างๆ เพราะเขาจะขึ้นเป็นผู้นำหมายเลข 1 ของจีนในปีหน้า

อีกคนที่ริเริ่มและเทียวไล้เทียวขื่อทั้งพม่าและจีนหลายรอบจนทุกอย่างจบลงแม้จะใช้เวลานานถึง 5 ปี คือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนจากกลุ่มอำนาจเก่าและฝ่ายค้าน ด้วยการถอดถอนจากการเป็นพลเมืองไทย ให้ไปเป็นพลเมืองโลก



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านบทความที่ขยายความในอีกแง่มุม ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325484292&grpid=&catid=01&subcatid=0100 ( เส้นเดินเรือโลก กับ นายกรัฐมนตรี ?โง่? แหลมฉบัง ทวาย )



+++

50 ปี การท่องเที่ยวไทย (2503-2553) จาก 196 ล้าน เป็น 5.9 แสนล้านบาท
คอลัมน์ แนวโน้ม ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 80
( ที่มา : วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ คอลัมน์มองอย่างวีระศักดิ์ "รู้ไหมเรื่องเที่ยว", โพสต์ทูเดย์, 17 พฤศจิกายน 2554 )


เคยมีการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5,089 คน เมื่อปี พ.ศ.2548 พบว่า

สิ่ง ดึงดูดใจทางด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้คะแนนสูงสุด คือ อัธยาศัยของคนไทย รองลงมาคือ เรื่องช็อปปิ้ง เรื่องอาหาร เรื่องชายหาด เรื่องสถานบันเทิง เรื่องสปา เรื่องการเดินป่าและล่องแก่ง การท่องเที่ยวในชุมชน กอล์ฟ และดูการแสดงของสัตว์

ผลสำรวจนี้ระบุด้วยว่า การบริการทางเพศเป็นสิ่งดึงดูดใจที่ชาวต่างชาติให้คะแนนไว้สูงกว่ากอล์ฟ

สิ่งดึงดูดใจที่นักท่องเที่ยวให้คะแนนสูงสำหรับกัมพูชา คือ ที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์

ส่วนสิงคโปร์เด่นในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับสวนสนุก ส่วนลาวมีคะแนนสูงในเรื่องวิถีชีวิตกับแหล่งท่องเที่ยวภูเขา น้ำตก

ราย ได้จากการท่องเที่ยวที่ไทยได้รับ คิดเป็น 10 เท่าของรายได้จากการส่งออกข้าว และคิดเป็น 9 เท่าของการส่งออกสินค้าสิ่งทอ และคิดเป็น 8 เท่าของการส่งออกคอมพิวเตอร์ ในปี พ.ศ.2553

รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพีประเทศไทย

ส่วน กัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 13 ของจีดีพี และลาวมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึงร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมดของลาว

เมื่อปี ค.ศ.1950 นักท่องเที่ยวเดินทางข้ามประเทศมีแค่ 25 ล้านคนทั่วโลก

แต่ 50 ปีต่อมาใน ค.ศ.2010 หรือ พ.ศ.2553 จำนวนนักท่องเที่ยวข้ามประเทศมีเพิ่มเป็น 935 ล้านคนทั่วโลก

ปี ค.ศ.1950 รายได้จากการท่องเที่ยวรวมกันทั่วโลกมีมูลค่าเพียง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อีก 50 ปีต่อมาคือ ค.ศ.2010 หรือ พ.ศ.2553 รายได้เรื่องการท่องเที่ยวก้าวกระโดดเป็น 8.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ปี 2503 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 196 ล้านบาท ผ่านไป 50 ปี ในปี 2553 ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 5.9 แสนล้านบาท (ไม่นับเงินไทยเที่ยวไทย)



+++

ไม่ร้ายอย่างที่คาด
โดย นาย ต. คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 22


วิกฤติมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากบรรดานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ถูกน้ำท่วมเสียหายหนักแล้ว ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับความเสียหายลำดับรองลงมาคือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่กระจายตัวอยู่ในทุกทำเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโซนรังสิต และบางบัวทองที่เป็นแหล่งโครงการบ้านจัดสรรจำนวนมาก

ตรวจสนามรบอสังหาริมทรัพย์หลังน้ำลด ปรากฏว่า ระดับความเสียหายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ไม่ได้ร้ายแรงมากเหมือนที่คาดตอนดูข่าวน้ำท่วม

ผลกระทบประการแรก คือยอดขายใหม่ที่หายไป 70-80% ระหว่างน้ำท่วมน้ำ เป็นเรื่องจริงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เป็นการเสียโอกาสการขายไป 2-3 เดือนหรือ 1 ไตรมาส

แต่ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หวั่นกันมากคือปัญหาลูกค้าที่อยู่ระหว่างผ่อนดาวน์ ลูกค้าที่ถึงเวลาโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนใจ ไม่ยอมโอนตามกำหนด เพราะนั่นหมายถึงการเสียโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินสด 80-90% จากการขายบ้านที่ได้ลงทุนพัฒนาและก่อสร้างไปแล้ว

สุ่มสำรวจจากการสอบถามผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่มีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างขายจำนวนมากครอบคลุมทุกทำเล พบข้อมูลใกล้เคียงว่า ระหว่างที่มีสถานการณ์น้ำท่วม ลูกค้าเลื่อนจ่ายเงินดาวน์และเลื่อนโอนประมาณ 15%

และเมื่อน้ำแห้งสนิทดี ลูกค้ากลุ่มนี้ลดลงเหลือประมาณ 5-10%

ไม่มากเหมือนที่คาดการณ์กันไว้แต่แรก

วิเคราะห์กันว่า สาเหตุหลักๆ ที่ลูกค้ายังคงตัดสินใจซื้อบ้านที่จองไว้แล้วทั้งที่กังวลเรื่องน้ำท่วมเนื่องมาจากอยู่ในทำเลเดียวกับแหล่งจ้างงานหรือที่ทำงาน คนเลือกทำเลที่อยู่อาศัยตามทำเลการจ้างงาน จึงไม่สามารถถูกทดแทนได้ด้วยการย้ายไปอยู่ทำเลอื่นที่ห่างไกลสถานที่ทำงาน


สําหรับตลาดคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลทางบวกจากน้ำท่วมนั้น ทำให้ห้องชุดที่ตกค้างขายไม่หมดตามโครงการต่างๆ ขายได้ ทำให้ตลาดคอนโดฯ ที่อ่อนแรงลงตั้งแต่ต้นปี 2554 กลับมาคึกคักใหม่ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เตรียมเปิดโครงการกันจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการที่เปิดขายแล้วหลังน้ำลด สังเกตพบว่า ก่อนน้ำท่วมขนาดห้องชุดที่ขายดีเป็นห้องชุดสตูดิโอ และ 1 ห้องนอนเป็นส่วนใหญ่

แต่หลังจากน้ำลด สัดส่วนการขายห้องชุดขนาด 2 ห้องนอนมีสัดส่วนมากขึ้น

ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าคนทำงานหรือครอบครัวใหม่ที่ทำงานในเมือง ตัดสินใจเลือกคอนโดมิเนียมเป็นที่อยู่อาศัยแรกแทนทาวน์เฮ้าส์รอบนอก



ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะหนักหนาสาหัส ความจริงหลังน้ำลดก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสตามที่หวั่นวิตกกัน

หากวิกฤติการเงินปี 2540 ทำให้ระบบการเงินของภาครัฐและเอกชนหลังจากวิกฤติแข็งแรงขึ้น และฝ่าฟันวิกฤติที่ตามมาได้

จึงยังหวังว่า วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ก็น่าจะทำให้ภาครัฐและเอกชนปรับตัว สามารถรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ไปได้

และขณะนี้ ขอให้ประกาศโครงการป้องกันน้ำท่วมทั้งระบบออกมาให้เร็ว สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทุกอย่างก็จะกลับคืนมาเป็นปกติ



+++

การส่งออก พ.ศ.2555 ความผันผวน เศรษฐกิจโลก และ อัตราแลกเปลี่ยน
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 101


การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2554 มีมูลค่า 15,498 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2553 ร้อยละ 12.4

เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 16,872 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2553 ร้อยละ 2.4

ทำให้ขาดดุลการค้า 1,373 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ โดยช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2554 ส่งออกมีมูลค่ารวม 211,809 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ขณะที่มีการนำเข้ารวม 209,345 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5

และเกินดุลการค้า 2,465 ล้านเหรียญสหรัฐ


จากการแถลงของ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

ปัจจัยสำคัญคือ โรงงานผลิตและการส่งมอบสินค้าได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดยสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 26.7

สินค้าสำคัญที่ลดลงมาก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมนี และเครื่องประดับ ของเล่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3

เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหาร น้ำตาล ยกเว้นข้าว ลดลงร้อยละ 27.7

สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ลดลง ทั้งกลุ่มเชื้อเพลิง สินค้าทุน สินค้าวัถตุดิบ ยานพาหนะ อุปกรณ์ขนส่งและอาวุธ ยุทธปัจจัย ยกเว้นสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6

ในส่วนของตลาดส่งออกก็ติดลบเป็นส่วนใหญ่

โดยตลาดหลักลดลงร้อยละ 16.9 จากการลดลงของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตลาดศักยภาพสูงลดลงร้อยละ 8.4 จากการลดลงของ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ส่วนตลาดอินโดจีนและอาเซียนเพิ่มร้อยละ 8.8 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ

ตลาดศักยภาพรองลดลงร้อยละ 19.8 จากการลดลงของออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย แอฟริกา

ส่วนละตินอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4



ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อการส่งออกปี 2555 จำนวน 3 อันดับแรก คือ 1. ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวยังสูง 2. ปัญหาต่อเนื่องจากอุทกภัยน้ำท่วมต่อการผลิต การส่งมอบ และคำสั่งซื้อเพิ่ม รวมถึงแผนเยียวยาและฟื้นฟูหลังน้ำท่วมไม่ได้ตามกำหนด 3. อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนและค่าบาทแข็งที่คณะรัฐมนตรีได้สั่งการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนราคาน้ำมันและเสถียรภาพทางการเมืองไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง

กล่าวสำหรับเสถียรภาพทางการเมืองเป็นการประเมินจากความจัดเจนของ นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ประสานกับนักวิชาการกระทรวงพาณิชย์



++++
ข่าวคราวเศรษฐกิจแสนล้าน อื่นๆ

การบินไทยเปิดเกมรุกตั๋วถูก เจาะตลาดเอเชียกินรวบ"จีน"
www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1325389634&grpid=00&catid=&subcatid= . . 1 ม.ค.55 . . 10:47:17 น.

27 ธ.ค.2554 “มาร์ค” งัดมติ ครม.เดิม ย้ำชัด กทม.มีอำนาจบริหารตลาดนัดจตุจักร ไม่ใช่ รฟท. แนะจับตาดูสุดท้ายต้องให้เอกชนรับช่วงบริหารแทน ทิ้งภาระให้ผู้ค้า เหน็บรัฐอย่ามอง กทม.ไม่ใช่พรรคตัวเอง วอนให้ตัดสินใจบนผลประโยขน์ส่วนรวมและเจตนารมณ์ตั้งตลาดนัด...
www.thairath.co.th/content/pol/226414 . . 27 ธ.ค. 54, 22:15 น.
เพื่อความเข้าใจเรื่องรายได้มหาศาลแฝงเร้นไม่เข้ารัฐที่ตกเป็นของเครือข่ายคนชั้นสูง,เครือข่ายข้าราชการและบริวารนักการเมือง( ผลประโยชน์ที่อ้างว่าเป็นของส่วนรวม ) อันเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงกีดกั้นไม่ให้จ้างมืออาชีพมาบริหารแล้วให้ผลประโยชน์แก่รัฐอย่างสูงและผู้ค้าตัวจริงมีค่าใช้จ่ายเป็นธรรม หาอ่านได้จาก
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/mguise.html ( บทความที่ 4)
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325335776&grpid=&catid=03&subcatid=0305
( เปิดปมขัดแย้งขุมทรัพย์แสนล้าน “ตลาดนัดสวนจตุจักร” ผลประโยชน์นี้เพื่อใคร ?? )


.