http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-10

จาตุรนต์ ฉายแสง: ..ทำไมต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

.
มีโพสต์แถลงการณ์ - 33 องค์กร หนุนแก้ รธน.เลือก สสร. หยุดอำนาจนอกระบบโดยสมบูรณ์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

จาตุรนต์ ฉายแสง : จับประเด็น ตอบคำถาม ทำไมต้องเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ
จาก http://chaturon.posterous.com/92920295 . . 8 January 2012



1) เหตุใดจึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ (2550)

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความไม่ชอบธรรมและมีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากการรัฐประหาร ถือได้ว่าคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้รับรองการรัฐประหารด้วย การคงใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปทั้งที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ในสายตาของอารยประเทศเขาถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งกลับยอมรับกฎกติกาที่พวกเผด็จการสร้างไว้

ในส่วนของเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมคือให้องค์กรที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือผ่านความเห็นชอบมาจากคณะรัฐประหารสามารถล้มรัฐบาล คนไม่กี่คนที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนเลยสามารถหักล้างมติของประชาชนทั้งประเทศได้ การตรวจสอบ ควบคุมและถอดถอนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารรวมทั้งข้าราชการระดับสูงทำโดยองค์กรที่ขาดความชอบธรรมและสามารถเลือกปฏิบัติโดยปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆที่เป็นปัญหาอีกมาก

เมื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้มาระยะหนึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองถูกทำลายให้อ่อนแอลงอย่างมาก ความไม่เป็นประชาธิปไตยและขัดต่อหลักนิติธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเป็นต้นเหตุสำคัญให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยที่นับวันจะหนักหนายิ่งขึ้น ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนา ประชาชนเสียประโยชน์ทั้งๆที่ประเทศไทยอยู่ในจุดที่มีภูมิรัฐศาสตร์ที่เอื้ออำนวย มีโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆที่พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ แต่ต้องกลับมาติดหล่มความขัดแย้งและยังขาดความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศโดยเฉพาะในระบบความยุติธรรมและความไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ความสนใจที่เขาจะมาลงทุนหรือทำมาค้าขายด้วยน้อยลงไปอย่างมาก


2) กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญควรเป็นอย่างไร

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภา ผู้ที่สามารถเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมี 3 ฝ่ายคือคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือประชาชนแล้วให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาเองก็มีการคัดค้านกันมากว่าจะแก้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาเอง พอคนคิดกันอย่างนี้มากๆเข้าก็ทำให้แก้โดยวิธีนี้จะสำเร็จได้ยาก เป็นที่มาของการมีสสร.ขึ้น นอกจากนั้นก็มีการเสนอว่าหลังจากร่างเส็จแล้วควรให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินเป็นขั้นตอนสุดท้าย

การจะมีสสร.และการลงประชามตินี้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นถ้าจะให้มีขึ้นจึงต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งเป็นมาตราว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเสียก่อน


3) สสร.ควรมีที่มาและองค์ประกอบอย่างไร

ที่ผ่านมาเคยมีสสร.มาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในปี 40 ให้ผู้สมัครในแต่ละจังหวัดเลือกกันเองให้เหลือ 10 คน แล้วให้รัฐสภาเลือกให้เหลือจังหวัดละคน ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิก็ให้วงการวิชาการสรรหากันมาแล้วให้รัฐสภาเลือก ส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สสร.มาจากการสรรหาแล้วให้คมช.เลือก ครั้งนี้จะใช้วิธีการอย่าง 2 ครั้งก่อนคงไม่ได้ แบบคมช.นั้นเป็นเผด็จการเต็มที่ ส่วนแบบปี 40 ก็อาจยังไม่เป็นที่ยอมรับเพียงพอ เมื่อการเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาก การให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นคนตัดสินจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด ดังนั้นสสร.จึงควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

สสร.ควรมีจำนวนเท่าไหร่นั้นย่อมขึ้นกับภารกิจที่จะมาทำ คือการร่างรัฐธรรมนูญ น้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่ดี

จะมาจากจังหวัดละคนหรือจะเป็นสัดส่วนกับประชากร เป็นเรื่องที่หารือกันได้ในขั้นตอนต่อไป

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาช่วยยกร่างนั้น อาจให้วงการวิชาการเสนอมาหรือสมัครมาเองแล้วให้รัฐสภาเลือก หรือจะให้ สสร.เลือกอีกทีก็ได้ บางคนเสนอให้สมัครกันเองแล้วให้ประชาชนทั้งประเทศเลือกโดยตรงไปเลย ก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เรื่องเหล่านี้หารือกันคงมีข้อยุติที่ดีได้


4) ทำไมต้องมีการลงประชามติ การลงประชามติควรมีก่อนหรือหลังการยกร่าง

การลงประชามติเป็นเรื่องจำเป็นทำให้รัฐธรรมนูญใหม่มีความชอบธรรม คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีโอกาสล้มร่างนั้นเสียก็ได้ หากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยร่างนั้นก็ต้องตกไป ถ้าเห็นด้วยก็ผ่าน แล้วใครจะมาฉีกก็จะยาก คนส่วนใหญ่จะไม่ยอม

การลงประชามติก่อนยกร่างนั้นมีปัญหาว่าจะถามว่าอย่างไร ถามว่าแก้หรือไม่นั้นไม่มีความหมาย เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะแก้มากหรือน้อยในเรื่องอะไร ถ้าออกมาว่าไม่ให้แก้ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่บอกว่าแก้ได้ จะกลายเป็นว่าต่อไปใครก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อีกเลยหรือ การลงประชามติก่อนยกร่างจึงไม่เป็นประโยชน์ เป็นการสูญเปล่า

ที่ควรให้ความสำคัญสำหรับการลงประชามติคือ ต้องให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารตลอดจนความคิดเห็นของทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง ต้องให้เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ต้องเปิดโอกาส ส่งเสริมให้มีการรณรงค์ได้อย่างเสรี จัดเวลาให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนได้เต็มที่และเท่าเทียมกันให้มากที่สุด อย่าทำเหมือนการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทำแบบมัดมือชกฝ่ายเดียว ไม่อนุญาตให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีโอกาสสื่อสารกับประชาชน ขณะนั้นยังคงใช้กฎอัยการศึกในหลายสิบจังหวัด ใครไม่เห็นด้วยก็จับไปขังในค่ายทหาร ปล่อยให้พูดได้อยู่ฝ่ายเดียว และยังออกกติกาด้วยว่าถ้าไม่ผ่านก็ให้คมช.นำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้ก็ได้ตามใจชอบ การลงประชามติอย่างนั้นเป็นเรื่องลวงโลก รัฐบาลนี้ไม่ควรทำอย่างนั้นอีก


5) ควรแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นอะไร มาตราใดบ้าง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาสำคัญๆจำนวนมากที่ต้องแก้ ถึงได้เรียกกันว่าต้องยกร่างกันใหม่ แต่เมื่อจะแก้หรือยกร่างใหม่โดยสสร.ก็คงต้องช่วยกันให้แก้มาตรา 291 ให้สำเร็จเสียก่อนแล้วค่อยมาว่ากันที่เนื้อหาสาระที่จะแก้ ถึงตอนนั้นควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเสนอความเห็นกันได้เต็มที่


6) ใครควรเป็นผู้เสนอแก้มาตรา 291

เท่าที่เป็นข่าว ขณะนี้ประชาชนกำลังรวบรวมรายชื่อกันอยู่ใกล้จะยื่นได้แล้ว นี่ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน นอกจากนี้เข้าใจว่าสส.ฝ่ายรัฐบาลก็เตรียมเสนอร่างเช่นกัน ก็สอดคล้องกับที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง ก็เหลือแต่รัฐบาล เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วรัฐบาลก็คงต้องเสนอด้วยเพราะรัฐบาลก็แถลงนโยบายไว้ว่าจะแก้ แถมยังแถลงไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะทำใน 1 ปีด้วย นอกจากนี้เมื่อปรากฏว่าประชาชนเห็นต่างกันในเรื่องเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะหาทางออกให้สังคมด้วยการให้มี สสร.ที่มาจากประชาชนมาร่างแล้วให้ประชาชนตัดสินด้วยการลงประชามติเท่ากับรัฐบาลกำลังช่วยหาทางออกให้กับสังคม


7) จะแก้เมื่อไหร่ดี

ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ขณะนี้ความจริงก็ช้าไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สายไป ถ้าจะให้ทันกำหนดหนึ่งปีก็คงต้องเริ่มในเร็วๆนี้จะได้แก้มาตรา 291 ได้ทันในสมัยประชุมนิติบัญญัติ มิฉะนั้นจะไปติดช่วงปิดสมัยประชุม เปิดอีกทีก็สิงหาคมก็ไม่ทันกำหนดแล้ว

ที่ว่าทำใน 1 ปีนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องเสร็จทั้งฉบับ แต่ควรจะแก้มาตรา 291ให้เสร็จ เมื่อแก้มาตรา 291 แล้วยังต้องเลือก สสร. ต้องยกร่างแล้วยังต้องทำประชามติ ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปี


8) มีข้อโต้แย้งว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความขัดแย้ง

ก็จริง การแก้รัฐธรรมนูญย่อมทำให้เกิดการต่อต้านคัดค้าน จนอาจเกิดความรุนแรง ก็ต้องดูว่าการคัดค้านนั้นมีเหตุผลหรือไม่ ใช้วิธีการที่ถูกต้องหรือไม่และมีทางออกที่คนส่วนใหญ่ยอมรับได้หรือไม่ ป้องกันหรือลดความขัดแย้งหรือความรุนแรงได้หรือไม่ การให้มี สสร.และการลงประชามติน่าจะช่วยลดปัญหานี้ได้มาก

แต่ไม่แก้ก็ขัดแย้ง สังคมไทยอยู่กับความขัดแย้งมาหลายปีแล้ว ขณะนี้ก็ยังขัดแย้งกันอยู่ ยิ่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปนานเท่าใดก็จะยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้น การที่มีความพยายามที่จะปรองดองเป็นเรื่องดีและคงช่วยลดความขัดแย้งได้บ้าง แต่ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้ง การปรองดองที่เป็นจริงก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ก็ยังจะขัดแย้งไม่จบสิ้นและรุนแรงกว่าเดิม การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมและให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ความจริงแล้วคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยในระยะยาว เมื่อแก้แล้วก็มารณรงค์กันให้สังคมไทยมีค่านิยมที่ยอมรับกติกา แก้ปัญหาการมีความคิดที่แตกต่างกันที่ยังมีอยู่ตลอดไปด้วยด้วยสันติวิธีในระบบกติกาที่เป็นธรรม


9) ข้อกล่าวหาว่าแก้เพื่อคนๆเดียว

เหตุผลสำคัญที่มักใช้ในการต่อต้านขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญก็คือการทำเพื่อคนๆเดียว ทั้งๆที่ความจริงแล้วการมุ่งทำลายคนๆเดียวต่างหากที่เป็นต้นเหตุให้ประชาธิปไตยและระบบยุติธรรมของประเทศนี้ต้องถูกทำลายเสียจนยับเยินอย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลหรือรัฐสภาจะแก้รัฐธรรมนูญเองทั้งหมดคงหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหานี้ได้ยาก ถึงไม่ได้ตั้งใจทำเพื่อคนๆเดียวเขาก็หาเรื่องได้อยู่ดี ดังนั้นการที่ สสร.ที่มาจากประชาชนจะเป็นคนร่าง แล้วยังให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติได้อีกซึ่งเท่ากับว่าไม่มีใครกำหนดอะไรได้ จึงเป็นวิธีที่จะทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าทำเพื่อคนๆ เดียวก็คงไม่มีน้ำหนักต่อไป



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ที่เสนอในประชาไท มีความคิดเห็นท้ายบท อ่านที่ www.prachatai.com/journal/2012/01/38669



+++

33 องค์กร หนุนแก้ รธน.เลือก สสร. หยุดอำนาจนอกระบบโดยสมบูรณ์
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Mon, 2012-01-09 23:52


33 องค์กรร่วมลงนามในแถลงการณ์ สนับสนุนแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ตามแนวทางของคณะนิติราษฎร์ และ นปช. ด้วยการเลือก สสร. 3 หวังสร้างสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ ดังนี้


แถลงการณ์

ขอสนับสนุนแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 โดยประชาชนเลือก สสร. 3
เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง


ความเห็นต่างทางความคิด และความขัดแย้งทุกปริมณฑลทางการเมืองสังคมวัฒนธรรม ถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม หากมีแต่ความเห็นเหมือนอย่างถูกกดขี่บังคับและการปิดกั้นความต่างโดยการริดรอนเสรีภาพ ล้วนสะท้อนถึงการปกครองประเทศแบบเผด็จการอำนาจนิยมของผู้ปกครองทั้งสิ้น

ปัจจุบัน การขับเคลื่อนทางสังคมไทย เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขนำพาสังคมไทยสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้น ได้รวมศูนย์อยู่ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ 50

“คณะนิติราษฎร์” ได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขผลพวงของการรัฐประหาร และปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน และแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เพื่อสอดคล้องกับหลักการความยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยดั่งอารยะประเทศ

เพื่อมิให้เกิดกรณีเช่น “อากง” “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” “สุรชัย แซ่ด่าน” “สุรพศ ทวีศักดิ์” “ก้านธูป” และอีกหลายคน จึงต้องยึดหลักนิติรัฐคู่กับหลักนิติธรรม มิใช่ปล่อยให้บุคคลใดฟ้องร้องกล่าวโทษก็ได้ และควรกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสิทธิ์ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยุคโลกาภิวัฒน์มิใช่ยุคป่าเถื่อนอีกแล้ว ตลอดทั้งเพื่อมิให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายผู้รักชาติรักประชาธิปไตยเหมือนเช่นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา

ขณะที่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายการปกครองสูงสุดของประเทศ และกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังต่างๆในสังคมไทย แต่อย่างใดก็ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย

ปัญหารากเหง้าของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มาจาก “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” โดย “อำมาตยาธิปไตย” และเพื่อ”อำมาตยาธิปไตย” จึงต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อนำพาสังคมไทยสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อย่างแท้จริง


เราในนามองค์กรประชาธิปไตยข้างล่าง มีความคิดเห็น จุดยืน และข้อเสนอดังนี้

1. ขอสนับสนุนข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อสอดคล้องกับหลักการความยุติธรรมและระบอบประชาธิปไตยดั่งอารยะประเทศ

2. ขอสนับสนุนข้อเสนอของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) องค์กรคนเสื้อแดง และองค์กรประชาธิปไตยทั้งหลาย ซึ่งดำเนินการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และต้องใช้กระบวนการมีส่วนของประชาชนเท่านั้น โดยให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 3 โดยตรง ตลอดทั้งเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ก็เพื่อยุติบทบาทอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

3. เราขอเรียกร้องให้ฝ่ายนิยมอำมาตยาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งหลาย จงยอมรับกติกาประชาธิปไตย เคารพหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง “คนเท่ากัน” เสียงส่วนน้อยต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยตามหลักอารยะประเทศประชาธิปไตย และหยุดกระทำใดๆ ที่นำสู่สร้าง “ความเกลียดชัง” โดยขอให้ดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างมีหลักเหตุผลและต่อสู้กันทางความคิดความต่างอย่างอารยะชนที่พึงมี


ลงชื่อองค์กร

1. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)

2. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา (กดม.) จ.กาฬสินธุ์

3. กลุ่มต้นอ้อ จ.ขอนแก่น

4. กลุ่มมิตรภาพ จ.ขอนแก่น

5. กลุ่มภูเวียงเพื่อการพัฒนา จ.ขอนแก่น

6. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น

7. กลุ่มเพื่อนพัฒนาภูกระดึง จ.เลย

8. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)

9. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.) จ.กาฬสินธุ์

10. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)

11. แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)

12. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จ.อุบลราชธานี

13. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จ.สกลนคร

14. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จ.สกลนคร

15. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จ.ชัยภูมิ

16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จ.ชัยภูมิ

17. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จ.นครพนม

18. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จ.ยโสธร

19. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)

20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง (ชสร.)

21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จ.พิษณุโลก

22. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย กทม.

23. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

24. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จ.ร้อยเอ็ด

25. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จ.บุรีรัมย์

26. กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้

27. กลุ่มผู้ใช้แรงงานเพื่อประชาธิปไตย ภาคเหนือ

28. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน (สนนอ.)

29. สำนักเรียนรู้กระจายอำนาจและปกครองตนเอง(กอ.-ปอ.) จ.เชียงใหม่

30. สถาบันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม (LSI.)

31. สถาบันพัฒนาเยาวชนแห่งประเทศไทย (สยท.)

32. กลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จ.มหาสารคาม

33. กลุ่มยอป่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีองค์กรเข้าร่วมเพิ่ม และมีความคิดเห็นท้ายบท อ่านที่ www.prachatai.com/journal/2012/01/38668



.