http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-27

แอปเปิ้ลลูกที่สาม โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
admin บทความดี จะโพสต์ตามปกติอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 2555

______________________________________________________________

แอปเปิ้ลลูกที่สาม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 30


หลังมรณกรรมของ นายสตีฟ จ็อบส์ บางคนกล่าวยกย่องเขาว่า ในโลกนี้มีแอปเปิ้ลอยู่สามลูกที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษยชาติทั้งหมด ลูกแรกคือลูกที่คุณย่าอีฟกินเข้าไป ลูกที่สองคือที่หล่นลงศีรษะของ เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน และลูกที่สามคือแอปเปิ้ลซึ่งเป็นยี่ห้อของสินค้าไอทีนานาชนิด

ผมสงสัยแอปเปิ้ลลูกที่สามนี่แหละครับ ไม่ใช่สงสัยว่าไม่มีผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์นะครับ แต่สงสัยว่ามีอะไรที่แตกต่างระหว่างแอปเปิ้ลลูกนี้ กับอีกสองลูกแรกอย่างมากเสียจนกระทั่งการเอาแอปเปิ้ลสามลูกมาปนกันเช่นนี้ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่มโหฬารในวิธีคิดของคนปัจจุบัน

ดังนั้น ผมจึงพูดถึงแอปเปิ้ลสองลูกแรกเพื่อชี้ให้เห็นว่ากระทบต่อวิถีชีวิตมนุษย์เราอย่างไร

ผมขอเริ่มจากแอปเปิ้ลลูกที่สองก่อน


ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้น นักปราชญ์ในยุโรปรู้จักระบบสุริยจักรวาลแล้ว แม้แต่คำนวณวิถีการโคจรของดาวพระเคราะห์ต่างๆ ก็ทำได้แล้วอย่างแม่นยำ แต่มีปัญหาอยู่ว่า เหตุใดดวงจันทร์ซึ่งโคจรรอบโลกจึงไม่ถูกเหวี่ยงกระเด็นออกไปจากวิถีโคจร นัยยะก็คือระบบสุริยจักรวาลทั้งระบบนั้นมีแบบแผนการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่ตายตัวอย่างนั้นได้อย่างไร

แอปเปิ้ลที่หล่นลงศีรษะของเซอร์ไอแซ็ก (ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่) ทำให้เขาคิดวาดภาพพลังที่กำหนดการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุทั้งจักรวาลขึ้นมาได้ เรียกว่า "แรงโน้มถ่วง" เป็นคำอธิบายโลกและเอกภพที่เนี้ยบที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยคิดขึ้นได้ (ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ หรือจริงแค่ไหนก็ตาม)

อันที่จริง นอกจากเซอร์ไอแซ็กแล้ว ยังมีนักคำนวณอีกหลายคนในยุโรป ทั้งก่อนหน้าและร่วมสมัยเขาที่คิดอะไรทำนองใกล้กันมาแล้ว ฉะนั้น ถ้าแอปเปิ้ลลูกนั้นไม่หล่นลงศีรษะของเขา แต่ไปหล่นลงศีรษะคนอื่น ก็คงจะเกิดทฤษฎีอะไรสักอย่างที่อธิบายการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุทั้งจักรภพได้อยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลลูกนั้นไปกำหนดโลกทรรศน์ของมนุษย์สืบต่อมาอีกหลายร้อยปี โลกทางวัตถุทั้งหมดล้วนสัมพันธ์กันในเชิงกลไก แม้แต่โลกที่ไม่เป็นวัตถุเช่นความสัมพันธ์ทางสังคม (ในทางการเมือง, เศรษฐกิจ, การบริหาร, สังคม ฯลฯ ) ก็ล้วนอธิบายได้ด้วยความสัมพันธ์เชิงกลไกในวิถีเดียวกับสิ่งที่เป็นวัตถุ

ดังนั้น สิ่งที่ไม่อาจอธิบายในเชิงกลไกได้ทั้งหลาย (เช่น ผี, พระเจ้า หรือพระนิพพาน) จึงถือว่าไม่มี หรือถึงมีก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา


แอปเปิ้ลลูกแรกกำหนดวิถีชีวิตของเราเสียยิ่งกว่าลูกไหน แอปเปิ้ลลูกนี้คือลูกที่ย่าอีฟกินเข้าไป อันที่จริงผลไม้ลูกนี้จะเป็นแอปเปิ้ลหรือมิใช่ก็ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ว่าชาวคริสต์ตะวันตกไปสมมติให้เป็นแอปเปิ้ล ก็เลยถือกันมาว่าคือแอปเปิ้ล พระคัมภีร์เรียกผลไม้ชนิดนี้ว่ามาจาก "ต้นไม้แห่งความสำนึกในความดีและความชั่ว" นี่เป็นคำแปลใหม่ของคัมภีร์พันธสัญญาเก่า ฉบับเดิมที่ผมเคยอ่านเมื่อเป็นเด็กเรียกว่า "ต้นไม้แห่งความรู้ (ดีรู้ชั่ว)" ซึ่งตรงกับฉบับแปลอังกฤษของพระเจ้าเจมส์

คุณย่าตัดสินใจกินแอปเปิ้ลลูกนี้ทำไม พระคัมภีร์บอกว่างูมาหลอกให้กิน แต่ในฐานะลูกหลานของคนที่กินผลไม้แห่งความรู้เข้าไปแล้ว ผมออกจะสงสัยว่าคุณย่าได้เลือกแล้ว ระหว่างชีวิตสุขสบายที่ไร้ "ความรู้" (หรือสำนึกผิดชอบชั่วดี) กับชีวิตยากเข็ญที่กอปรด้วยความรู้ คุณย่าเลือกอย่างหลัง และสาปให้เราทั้งหมดต้องมีชีวิตที่เต็มไปด้วยขวากหนาม แต่ต่างจากเพื่อนสัตว์ของเราทุกตัวในสวนอีเดน จะผิดหรือถูกก็ตาม คุณย่าอีฟคือผู้หญิงคนแรกที่เราทุกคนควรคารวะแม้น้ำตาจะอาบแก้ม

ไม่มีแอปเปิ้ลลูกแรก ก็ไม่มีลูกที่สอง และลูกที่สาม



คราวนี้ก็มาถึงแอปเปิ้ลลูกที่สาม

คงไม่มีใครปฏิเสธความเป็นอัจฉริยะของ นายสตีฟ จ็อบส์ ได้ รวมทั้งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าสินค้าของเขานำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตของผู้คนไม่น้อยเลย

แต่เขาไม่ได้เป็นนักประดิษฐ์อย่างเอดิสันนะครับ คนที่สร้างแอปเปิ้ล 1 และ 2 คือเพื่อนของเขาซึ่งเป็นวิศวกรชื่อ สตีฟ วอซนิแอก (และคงเป็นวิศวกรอัจฉริยะด้านอิเล็กทรอนิกส์) จ็อบส์เพียงแต่มองเห็นโอกาสทางด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ เห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ได้อย่างไร

เมาส์ซึ่งดูเหมือนเป็นนวัตกรรมของแอปเปิ้ลก็เหมือนกัน บริษัทที่คิดขึ้นก่อนคือซีรอกซ์ แต่จ็อบส์มองเห็นว่าหากเอามาเชื่อมต่อกับโปรแกรมให้รับคำสั่งของผู้ใช้ การใช้งานก็จะง่ายเสียจนการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไม่ต้องการอะไรมากไปกว่ามีสตางค์ซื้อ

ไอพอดไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอะไรใหม่ การเก็บไฟล์ในรูปเอ็มพีสามมีคนคิดขึ้นก่อนนานแล้ว แม้แต่การเอาเพลงใส่กระเป๋า โซนี่ก็เสี่ยงทำมาก่อนเป็นสิบปี กับ "ซาวด์อะเบาต์" หรือเทปตลับพกพาและประสบความสำเร็จอย่างสูง เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้เครื่องเล็กลงและคุณภาพเสียงดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตาเท่านั้น ฉะนั้น ไอพอดจึงไม่ได้แสดงอัจฉริยภาพ แม้แต่ด้านการตลาดด้วยซ้ำ

ที่น่าจะถือว่าหลักแหลมด้านการตลาดกว่า น่าจะเป็นไอทูนส์ หรือโปรแกรมจัดการกับเพลงนับตั้งแต่เก็บ, เล่น และซื้อขาย แต่ในด้านการค้าขายนั้น ไม่ใช่ผู้เล่นทำเองนะครับ ต้องมีศูนย์อยู่ที่บริษัทแอปเปิ้ล ซึ่งได้กินกำไรจากการซื้อขายอีกทีหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ทำให้ธุรกิจเพลงในโลกตะวันตกเปลี่ยนแปลงไปอย่างมโหฬาร

จ็อบส์เองก็ยอมรับก้าวใหญ่ๆ ที่พ่อค้าอื่นได้ทำมาก่อน เช่นเมื่อประสบความสำเร็จอย่างเลื่องลือแล้ว "ผมเคยพูดว่า แอปเปิ้ลจะเป็นโซนี่ของธุรกิจนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมคิดว่าแอปเปิ้ลควรเป็นแอปเปิ้ลของธุรกิจนี้" จ็อบส์กล่าว

จ็อบส์ไม่ใช่ผู้สร้างเวิลด์ไวด์เว็บขึ้น แต่ผู้สร้างทำมันขึ้นจากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลยี่ห้อ NeXT อันเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่จ็อบส์ตั้งขึ้น (หลังจากถูกบีบให้ออกจากแอปเปิ้ล) อันเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างยิ่งในสมัยนั้น ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์

แต่จ็อบส์อาจเป็นคนแรกหรือคนแรกๆ ที่เห็นว่า คอมพิวเตอร์ "ระหว่างบุคคล-interpersonal-" นี่แหละ ที่จะเป็นฐานการตลาดมหึมา เพราะผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อซื้อเข้าบ้านแล้ว

บริษัทของเขาไม่ได้ริเริ่มคิดระบบจอสัมผัสขึ้นก่อน แต่จ็อบส์มองเห็นศักยภาพของจอสัมผัสในแง่การตลาดก่อน จนแอปเปิ้ลพัฒนาระบบ multi-touch ขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถย่อหรือขยายจอได้ด้วยนิ้วของเราเอง (จอสัมผัสแต่เดิมแตะได้ทีละจุดเดียว)

เมื่อรวมความสามารถของเครื่องเหล่านี้เข้าด้วยกัน ไอโฟนก็อยู่แค่เอื้อม อันที่จริงไอโฟนไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรใหม่เลย แต่อาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาย่นย่อเข้าไปในเครื่องโทรศัพท์มือถือที่เต็มไปด้วยลูกเล่น

ความสำเร็จจึงไม่ได้อยู่ที่ประดิษฐกรรมใหม่ แต่อยู่ที่ทัศนวิสัยที่ทำให้เห็นว่า สิ่งละอันพรรค์ละน้อยเหล่านี้ เมื่อนำมารวมกันแล้วจะเกิด "ผลิตภัณฑ์" ใหม่ขึ้นได้อย่างไร


ในทัศนะของจ็อบส์ นี่คือการสร้างสรรค์ เขากล่าวว่า

"การสร้างสรรค์คือการเอาสิ่งต่างๆ มาต่อกัน เมื่อคุณถามนักสร้างสรรค์ว่าเขาทำอะไรบางอย่างขึ้นมาได้อย่างไร เขาจะรู้สึกผิดนิดๆ เพราะที่จริงเขาไม่ได้ทำมันขึ้นมา เขาเพียงแต่เห็นอะไรบางอย่างเท่านั้น ดูจะเห็นได้ชัดในหมู่นักสร้างสรรค์หลังจาก[ได้คิด]สักครู่ว่า เพราะเขาสามารถเอาประสบการณ์ที่เขาเคยมีมาต่อกัน แล้วก็สังเคราะห์สิ่งใหม่ขึ้น"

ที่จริงแล้ว จ็อบส์เป็นศิลปินมากกว่านักประดิษฐ์อย่างเอดิสัน วิชาในมหาวิทยาลัยซึ่งประทับใจเขามาก ได้นั่งเรียนโดยไม่ลงทะเบียนเพราะลาออกแล้ว คือวิชาอักษรศิลป์ (calligraphy) อันทำให้เขาสร้างฟรอนต์คอมพิวเตอร์ให้งามด้วยระยะช่องไฟที่เท่ากันให้แก่แอปเปิ้ลมาก่อนที่จะถูกวินโดวส์ลอกเลียนไป เขาคือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ (หรือกำกับการออกแบบ) ที่ดึงดูดลูกค้าได้เหมือนมนต์สะกด เรียบ ง่าย แต่สวยทน

ในจำนวนผลิตภัณฑ์ 342 รายการที่จดสิทธิบัตรไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ส่วนใหญ่แล้วเป็นด้านออกแบบ ในด้านที่เป็นสิ่งประดิษฐ์มีอยู่เพียง 43 รายการ

การออกแบบมีความสำคัญอย่างไรในตลาดที่การแข่งขันมีสูง คงไม่ต้องพูดถึง

และความเป็นศิลปินเช่นนี้เอง ที่ทำให้การบริหารของเขาคือเจ้าอารมณ์ เล่ากันว่า เมื่อเขากลับมาแอปเปิ้ลใหม่อีกครั้ง พนักงานบริษัทเกรงจะพบเขาในลิฟต์ เพราะอาจถูกไล่ออกระหว่างทาง ดังที่เขาทำไปแล้วกับพนักงานบางคน

ทั้งๆ ที่ตัวจ็อบส์เองกล่าวว่า วิธีทำธุรกิจของเขาเอาแบบจากสี่เต่าทอง คือต่างถ่วงดุลความบกพร่องของกันและกัน จนเกิดสิ่งใหม่ที่ไม่ใช่ผลรวมของสี่คน "สิ่งใหญ่ๆ ในโลกธุรกิจไม่ได้ทำคนเดียว แต่ทำโดยทีม"

ฉะนั้น ต้องระวังสิ่งที่เขาพูดกับสิ่งที่เขาทำ ไม่จำเป็นว่าจะสอดคล้องกันเสมอไป



จ็อบส์เคยกล่าวโจมตีนักสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก เพราะแอปเปิ้ลถูกโจมตีว่าไม่มีแผนในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ของตน แต่ชั่วไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น จ็อบส์คงพบว่าไม่อาจต่อต้านกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ แอปเปิ้ลกลับมาเสนอแผนรีไซเคิลแก่ผลิตภัณฑ์ตนเองยกใหญ่ เช่น รับเครื่องเก่าไปรีไซเคิลทันทีที่ซื้อเครื่องใหม่ เป็นต้น

เขาซื้อบ้านหลังใหญ่ที่สถาปนิกมีชื่อของสหรัฐเป็นผู้ออกแบบ แต่กลับทิ้งให้มันเสื่อมโทรม และจะรื้อทิ้งทั้งหลัง กลายเป็นคดีกับชาวบ้านที่อยากเก็บบ้านนั้นเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น (และของชาติ) ในที่สุดเขาก็ได้สิทธิ์รื้อบ้านหลังนั้นลงจากคำพิพากษาขั้นอุทธรณ์

นักคอมพิวเตอร์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บริโภคถูกควบคุมอย่างไรจากผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล (ง่ายๆ เช่น ไอแพดไม่สามารถต่อเชื่อมกับแฟลชไดรฟ์ได้ สื่อบางสำนักยกย่องเขาว่า จ็อบส์คือผู้สร้างคุกที่นุ่มนวลที่สุดแก่เสรีชนผู้งมงาย)

สำนักพิมพ์ที่พิมพ์ชีวประวัติของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถูกห้ามเสนอชื่อหนังสือไปจำหน่ายผ่านไอทูนสตอร์ เด็กหนุ่มที่เป็นสาวกของเขาคนหนึ่งถูกฟ้องร้องให้ปิดเว็บบล็อกของตน เพราะเก่งในการทำนาย "ความลับ" ของผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของแอปเปิ้ล เนื่องจากจ็อบส์ถือว่า ความลับเป็นสุดยอดของพลังที่จะกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค เมื่อจะเปิดตัวสินค้าใหม่

แม้เขาจะกล่าวว่า สิ่งสำคัญในชีวิตของเขาไม่ใช่มีเงินร้อยล้านเหรียญในป่าช้า แต่คือการได้คิดได้ทำสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ๆ ให้แก่โลก เขาจึงมีเงินตามประมาณการของ Forbes ใน ค.ศ.2010 อยู่ถึง 8.3 พันล้านเหรียญ เป็นเศรษฐีอเมริกันลำดับที่ 42

สินค้าตัวสำคัญสุดของแอปเปิ้ลที่จ็อบส์เฝ้าออกแบบมาอย่างเนี้ยบที่สุดคือ สตีฟ จ็อบส์

สตีฟ จ็อบส์ ตัวจริงจะเป็นอย่างไรก็ตามเถิด แต่การที่เขากลายเป็นแอปเปิ้ลลูกที่สามนี่สิครับ ที่สะท้อนให้เห็นว่าโลกได้เปลี่ยนไปจากการตัดสินใจของคุณย่าอีฟเสียแล้ว เราอยากกลับไปอยู่ในสวนอีเดนใหม่ และสิ่งแรกที่เราต้องทำคือคายแอปเปิ้ลหรือผลไม้แห่งความรู้ (ดีรู้ชั่ว) ออกมา



______________________________________________________________

admin บทความดี จะโพสต์ตามปกติอีกครั้งในวันที่ 31 ม.ค. 2555

ขอเชฺิญคลิกอ่าน บทความแรกๆของบล็อค เช่น

ทางตันและทางออกของชนชั้นนำไทย (1)(2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/01/1-2.html

'ประชาธิปไตยแบบไทย', .36 ในการเมืองท้องถิ่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/03/36.html



.