http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-14

THE GIRL WITH.., ส.ค.ส.สวีทตี้, Puss in Boots โดย นพมาส, พน, นพ.ประเสริฐ

.

THE GIRL WITH THE DRAGON TATTOO "นางเอกพังก์"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 87


กำกับการแสดง David Fincher
นำแสดง Daniel Craig , Rooney Mara
Christopher Plummer
Stellan Skarsgard
Robin Wright


The Girl With the Dragon Tattoo นับเป็นหนังที่มีแฟนหนังสือติดตามและตั้งความคาดหมายไว้สูง เนื่องมาจากความนิยมแพร่หลายของหนังสือที่เป็นไตรภาคจากปลายปากกาของ สตีก ลาร์สัน นักเขียนชาวสวีเดนที่ล่วงลับไปเพียงเมื่อเขียนภาคสามของไตรภาคจบหมาดๆ

ยิ่งหนังสือเล่มนี้เคยทำเป็นหนังมาแล้วในชื่อเดียวกันเมื่อสองสามปีก่อน ยิ่งหนังสวีเดนเรื่องนี้เข้าถึงแก่นและสาระของเรื่องราวและสร้างแคแร็กเตอร์ได้สมใจแฟนผู้ติดตาม ก็ยิ่งเป็นทั้งบวกและลบสำหรับเวอร์ชั่นของฮอลลีวู้ด ที่กำกับโดยผู้กำกับฯ ยอดฝีมือคนหนึ่งของวงการ คือ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้มีผลงานเด่นๆ อย่างเช่น Seven, The Curious Case of Benjamin Button และ The Social Network

พูดด้วยสำนวนโวหารก็ต้องว่าหนังรีเมกฮอลลีวู้ดเรื่องนี้ต้องเดินตามหลังและวัดรอยเท้าที่ใหญ่โตที่เดินล่วงหน้าไปแล้ว


นอกจากการเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนถึงฆาตกรรมบุคคลคนหนึ่งที่เป็นความลึกลับในอดีตของครอบครัวมหาเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การเผยให้รู้ถึงอาชญากรรมร้ายแรงซ่อนเงื่อนที่เป็นความลึกลับในอดีต

ความโดดเด่นที่น่าติดตามของเรื่องราวในภาคหนึ่งนี้ คือการวางตัวละครตัวเอกที่เป็นชื่อเรื่อง ให้โดดเด่นสะดุดตาและแปลกใหม่ไม่เหมือนนางเอกในนิยายที่เคยมีมาก่อน

ลิสเบธ ซาลานเดอร์ เป็นสาวน้อยในวัยยี่สิบสามที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ชายและของสังคมอย่างโหดร้ายที่สุด กระนั้นเธอก็ไม่ยอมตกเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำแต่ฝ่ายเดียว แต่เธอมีวิธีแก้แค้นเรียกความยุติธรรมกลับคืนในวิถีทางอย่างน่าทึ่งของเธอเอง โดยไม่หวังพึ่งสถาบันสังคมหรือบุคคลอื่นๆ

ลิสเบธ...ซึ่งเรื่องราวจะค่อยๆ เผยให้เรารู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในภาคสองและภาคสาม...ตกอยู่ในความดูแลของรัฐมาตั้งแต่อายุสิบสองปี เนื่องจากคำสั่งศาลว่าเธอเป็นบุคคลที่ไร้สมรรถภาพทางกฎหมาย

เธอมีผู้ดูแลที่รัฐแต่งตั้งให้มาแล้วหลายคน ผู้ดูแลคนล่าสุดที่เข้าอกเข้าใจเธอดีที่สุดก็เพิ่งจะเส้นเลือดในสมองแตกจนต้องเข้าโรงพยาบาลและรับการบำบัด เป็นผลให้เธอต้องตกมาอยู่ในมือของผู้ดูแลคนใหม่ชื่อเบอร์มัน และผู้ชายคนนี้เป็นอมนุษย์ในคราบทนายความ

ชีวิตรันทดที่ถูกทำร้ายจิตใจและร่างกายมาตลอดทำให้ลิสเบธสร้างเกราะกำบังตัวเองด้วยรูปลักษณ์ของคนนอกสังคม สักรอยรูปมังกรเด่นชัดบนตัว ใส่ห่วงเจาะแทงทะลุบนใบหน้า ทำผมทรงพังก์แหวกแนว สวมเสื้อหนัง ขี่มอเตอร์ไซค์โลดโผน และทำตัวแปลกแยกจากสังคม

ภายใต้รูปลักษณ์สาวพังก์นี้ ลิสเบธมีมันสมองที่ปราดเปรื่องเฉียบคมอย่างหาตัวจับยาก เธอมีความจำแบบภาพถ่าย ซึ่งหมายความว่ากวาดตามองอะไรปราดเดียวก็เก็บรายละเอียดได้หมดไม่ตกหล่น ลิสเบธมีลักษณะของคนเป็นโรคออทิสติกอ่อนๆ เพราะเธอเก็บตัว ไม่ชอบสุงสิงกับคนอื่น ซึ่งก็มีที่มาที่ไปจากชีวิตโหดร้ายที่เธอต้องเผชิญมาแต่วัยเด็ก

โลกของเธอคือโลกไซเบอร์ และขณะที่เธอทำงานรับจ้างก๊อกๆ แก๊กๆ ไปวันๆ เป็นหน้าฉาก แต่อาชีพที่แท้จริงของเธอคือเป็นคอมพิวเตอร์แฮ็กเกอร์ ทำให้เธอได้ล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวเบื้องลึกของบุคคลที่ต้องการจะตรวจสอบ


พระเอกของเรื่องชื่อ มิเคล บลอมควิสต์ (แดเนียล เครก ในหนังสวีเดน เล่นโดย ไมเคิล ไนควิสต์ คนที่เล่นเป็นผู้ร้ายตัวเอ้ในหนัง Mission Impossible, the Ghost Protocol นี้เอง) เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่สืบสาวราวเรื่องเปิดโปงนักธุรกิจใหญ่คนหนึ่ง ถูกฟ้องร้องและถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด จนต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

บลอมควิสต์ถูกตามตัวไปหามหาเศรษฐีชราชื่อ เฮนริก วังเกอร์ (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) ซึ่งต้องการให้เขาสืบสวนกรณีที่เชื่อว่าเป็นฆาตกรรมของหลานสาวคนโปรดเมื่อสี่สิบปีมาแล้ว ซึ่งตำรวจไม่สามารถคลี่คลายได้

บลอมควิสต์ตกลงรับงานชิ้นนี้ เนื่องจากวังเกอร์สัญญาจะส่งมอบเอกสารที่จะทำให้เขากู้หน้าและแก้ความอัปยศจากคดีที่เขาถูกตัดสินว่าผิดได้ และขอจ้างผู้ช่วยสืบหาข้ามูลฝีมือดีๆ อีกคน

ซึ่งนำเขาไปสู่ ลิสเบธ ซาลานเดอร์ (รูนีย์ มารา ในหนังสวีเดน เล่นโดย นูมี ราพาชี ด้วยบทบาทที่จับตาไม่แพ้กัน)

บลอมควิสต์กับลิสเบธช่วยกันสืบสาวราวเรื่อง จนนำไปสู่คดีฆาตกรรมหญิงสาวชาวยิวอีกห้าคนที่ถูกฆ่าตายอย่างทารุณ และตำรวจยังไม่สามารถสืบหาตัวฆาตกรได้



นวนิยายเรื่องนี้เน้นให้เห็นความทารุณโหดร้ายที่ผู้หญิงเป็นผู้ถูกกระทำด้วยสภาพจิตวิปลาสของผู้ชายวิตถารที่บ้าอำนาจหรือไม่ก็คลั่งลัทธิ

สรุปว่าพระเอกกับนางเอกก็ช่วยกันคลี่คลายปมฆาตกรรมได้สำเร็จ และ เฮนริก วังเกอร์ ก็ทำตามสัญญาคือส่งมอบเอกสารที่บลอมควิสต์ต้องการให้ เสียแต่ว่าเอกสารพวกนั้นกลายเป็นสิ่งเปล่าประโยชน์ ไม่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานมัดตัวคนผิดในศาลได้

ลิสเบธจึงได้ใช้สติปัญญาล้ำเลิศของเธอล้วงหาข้อมูล จนสามารถดัดหลังฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเจ็บแสบ

หนังมีตอนจบที่ออกจะทำให้เป็นนิยายรักแสนเศร้าไปหน่อย โดยทำให้ลิสเบธเปิดใจรับ บลอมควิสต์อย่างเต็มตัวเต็มใจ แต่ก็ให้เผอิญมีเรื่องหักมุม ก่อให้เกิดความผิดหวัง และต้องจากกันไป ซึ่งทิ้งเรื่องค้างไว้สำหรับภาคสองกับภาคสามที่กำลังจะตามมา

บทบาทของ รูนีย์ มารา เป็นที่จับตาใครๆ มากจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ ผลยังไม่ได้ประกาศ และเป็นที่คาดเดากันว่าคงได้เข้าชิงออสการ์เหมือนกัน

เป็นหนังที่ทำได้ดีมากเลยค่ะ ไม่เสียชื่อ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับฯ คนเก่ง เสียแต่ว่าผู้เขียนยังติดใจเวอร์ชั่นสวีเดนที่ดู "ดิบ" และ "เถื่อน" มากกว่า และลงทุนน้อยกว่า

และชอบตัวบลอมควิสต์ในเวอร์ชั่นนั้นมากกว่า แดเนียล เครก ซึ่งยังลบคราบของ เจมส์ บอนด์ ออกจากตัวไม่หมด



++

ส.ค.ส. สวีทตี้ : หวานของวัยรุ่นช่วยอุ่นใจวัยโรย
โดย พน คอลัมน์ แลหนังไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 86


หลังช้ำใจจากภัยน้ำกันไปมากหน้าหลายตา หนังไทยรับปีใหม่ปีนี้ ออกมาดีกว่าที่คิด น่าจะช่วยชูใจให้มีแรงกลับมาสู้ๆ อย่างที่ชอบให้กำลังใจกัน

ผู้กำกับฯ ฤกษ์ชัย "ยอร์จ" พวงเพชร ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเรื่อง "32 ธันวา" ถูกวางให้เป็นเรื่องรับปีใหม่ เพราะชื่อเรื่อง ทำให้เขาออกจะหนักใจที่ถูกคาดหวังให้เป็นผู้สร้างหนังไทยรับปีใหม่ปีต่อมา ดังนั้น เมื่อ "สุดเขต สเลดเป็ด" ทำรายได้อย่างน่าพอใจ เขาก็รู้สึกขอบคุณคนไทยที่ไม่ทิ้งกัน

ความหนักใจของผู้กำกับฯ หนุ่ม สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม

เมื่อก่อนนี้คนทำหนังมุ่งหวังจะได้ฉายรับเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์

เดี๋ยวนี้ช่วงเทศกาลมีวันหยุดยาว ผู้คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยว ถึงกับทำให้คนทำหนังกังวลว่าคนจะเข้าโรงหนังกันน้อยกว่าปกติ

ก่อนนั้นเหมือนจะมีเพียงครอบครัวระดับมั่งคั่งจึงจะมีกำลังจับจ่ายใช้สอยเรื่องการทัศนาจร

น่าจะสะท้อนว่าภาพรวมของสังคมเรา ผู้คนพลเมืองมีสถานะที่ดีขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไม่ได้หมายความว่าสังคมจะดีขึ้นเสมอไป เพราะสภาพบ้านเมืองเราในตอนนี้ ดูท่าว่าความปรารถนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น กลับก่อปัญหาทางสังคม

ไปบันเทิงใจรับปีใหม่ดีกว่า



หลังจากผลงานขึ้นๆ ลงๆ มาตลอดหลายปีนับแต่ "พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า" ที่ชาวประชาส่วนหนึ่งส่ายหน้าสมชื่อเรื่อง แต่ทำเงินให้ผู้ลงทุนอุ่นใจ แล้วได้รับความสำเร็จยิ่งใหญ่กับ "แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า"

ผลงานล่าสุดนี้นับเป็นงานดีที่สุดของฤกษ์ชัย แม้จะไม่มีฉากให้หัวร่องอหายอย่างครั้งแสบสนิท แต่ความบันเทิงโดยรวมทัดเทียมกัน เหนือกว่าด้วยน้ำเนื้อชีวิต แม้จะเป็นชีวิตวัยรุ่นที่วัยโรยบางรายอาจจะแอบค่อนว่า ก็แค่ไอ้พวกผ่านอ่างน้ำร้อนมาทีหลัง

แต่ก็ออกมาให้คุณค่ากับชีวิตมากกว่าแค่บันเทิงเฮฮา

ลองสดับรับรู้เรื่องราวดู



มาแตร์ (อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา) มาบอกเลิกตั๊ด (วรเวช "แดน" ดานุวงศ์) ชายหนุ่มผู้สร้างสนามฟุตบอลให้เช่า ด้วยเหตุผลที่ชีวิตเขาให้เวลากับฟุตบอลมากกว่าคนรัก ทำให้ง้อ (คีรติ "ยิปซี" มหาพฤกษพงษ์) เพื่อนสนิทของมาแตร์ที่แอบพึงใจในตัวแฟนของเพื่อนรัก ได้พอวาดหวัง

เง็ก (รมิตา "ยิปโซ" มหาพฤกษพงษ์) น้องสาวฝาแฝดของง้อ เปิดร้านในทำนองห้องพักผ่อน มีขนมน้ำชากาแฟ มีบริการด้านเสริมสวย มีอุ่น (ธีรชัย "อิรา" วิมลชัยฤกษ์) เป็นหนุ่มรักสวยรักงามแต่ไม่มีกิริยากระเดียดหญิง เป็นช่างทำเล็บ

ยังมีเจ็ท (ธนกฤต "ว่าน" พานิชวิทย์) เป็นเพื่อนสนิทกับคู่นี้ วางบทบาทกึ่งกำกวมว่าใครจะชอบใครเป็นพิเศษ จะเป็นสามเส้า โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเพศตรงข้ามกันเท่านั้น ที่จะรู้สึกเกินเลยความเป็นเพื่อนกับเพื่อนได้ หรือหนักไปกว่านั้น ใครจะชอบเพื่อนทั้งสองจนเลือกไม่ถูกด้วยหรือเปล่า

แต่ขณะเดียวกันเจ็ทก็เป็นนักจัดรายการวิทยุ ที่พรรคพวกมองว่าเป็นคนเจ้าชู้ ชนิดล่าสุดที่คั่ว (สำนวนเก่าหน่อยนะหลาน อยู่ ยังเป็นเด็ก ม.ต้น และรายการที่จัดเป็นไปในทำนองสื่อกลางสำหรับหนุ่มสาวที่ไม่รู้จะเริ่มคบเพศตรงข้ามได้อย่างไร

ด้านเง็กก็มีพี่หมีมาตื้อ เทียวไล้เทียวขื่อซื้อของกำนัลมาประเคนให้สาวเอียน แต่แอบปลื้ม (ของ ไม่ใช่คน แต่นานๆ ไปก็ชักจะปนๆ จนทำใจไม่ถูก)

กลับไปที่ชุดแรก มาแตร์ไปสะดุดตาแทน (อารักษ์ "เป้" อมรศุภศิริ) หนุ่มเล่นกีตาร์ตรงโถงห้องน้ำของรมณียสถานสมัยใหม่ที่ไหนสักแห่ง (มีจริงหรือไม่ วัยรุ่นวัยเที่ยวเท่านั้นที่จะรู้) พร้อมๆ กับฟ้า (อภิญญา "สายป่าน" สกุลเจริญสุข) ที่สะดุดตาหนุ่มแทนอยู่ก่อนหน้า แต่ละล้าละลังคิดไม่ออกบอกไม่ถุกว่าทำไงจึงจะสานสัมพันธ์ได้

นอกจากบทบาทที่มีความสัมพันธ์โยงใยกันดังกล่าว ยังมีอีกคู่ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกับกลุ่มข้างต้นเลย คือระหว่างคุณหมอดี้ (ชื่อ ไม่ใช่คำย่อจากเลดี้) สาวทันสมัย (ณัฐฐาวีรนุช "จ๋า" ทองมี) กับฟิน (กวี "บีม" ตันจรารักษ์) คนไข้หนุ่มหล่อ

ไม่เกี่ยวในตอนนี้ อาจจะไปเฉลยว่าเกี่ยวในตอนหน้าก็ได้

เพราะนี่เป็นตอนแรกของตัวละครชุดนี้ ที่จะมีบทสรุปให้อีกทีในวันแห่งความรัก

เป็นการวางแผนทำหนังอย่างชาญฉลาด ทำไมไม่มีใครในโลกนี้คิดมาก่อนหน้าหนอ แม้แต่ฮอลลีวู้ดที่ช่ำชองกับอุตสาหกรรมนี้ ก็ได้แค่ทำเรื่องแนวรวมดาราออกมาเพื่อวันแห่งความรักเมื่อปีกลาย แล้วค่อยคิดออกว่าทำมาต้อนรับวันปีใหม่ก็ได้ (นี่หว่า) ในปีนี้

แต่เรื่องที่ยังไม่สรุปในตัว ถ้าเดินเรื่องไม่สนุก โอกาสจะถูกเมินมีมาก

นอกจากคนรักหนังจะมีสมาธิจดจ่อจริง ไม่จิตกระเจิง โอกาสที่จะทำหนังให้สนุกได้ ก็ไม่ได้ไกลเกินฝัน

และครั้งนี้ ฤกษ์ชัยทำได้อย่างนั้น สะท้อนว่าวุฒิภาวะตกผลึกระดับหนึ่งแล้ว หลังจากอาจจะหลงระเริงกับความสำเร็จของแสบสนิท ทำให้งานต่อๆ มาปัดเป๋ย้อนกลับไปไม่ต่างจากงานแรกที่ดูเหมือนว่าได้รับความสำเร็จ เพราะแวดวงหนังไทยในเวลานั้นหาเรื่องพอจะสนุกได้ไม่ฝืดฝืนยากเต็มที

และแม้เรื่องรับปีใหม่สองครั้งก่อนหน้าจะทำรายได้เป็นที่พอใจของผู้ลงทุน แต่ความสนุกความลงตัวห่างชั้นกับครั้งนี้เยอะ



โครงดังเล่ามานั้น อาจจะทำให้ลางท่านค่อนว่า เอาเรื่องเขามาเล่าซะหมด แล้วคนดูที่ไหนจะได้ลุ้น

ความสนุกในครั้งนี้อยู่ที่รายละเอียดในโครงที่ว่า โดยเฉพาะบทสนทนา ถึงแม้คำว่าบทหนังจะไม่ใช่แค่บทเจรจาโต้ตอบของตัวละคร อย่างที่คนเดินดินธรรมดาไม่ได้ใกล้ชิดแวดวงไม่ได้เรียนการละครภาพยนตร์เข้าใจ บทหนังหมายถึงอะไรมากไปกว่านั้น

แต่ครั้งนี้บทสนทนาเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้หนังสนุก ชนิดที่หลายๆ ฉาก ตัวละครนั่งคุยโต้ตอบกันไปมาอยู่กับที่ราวกับละครจอเล็ก

ไม่ใช่บทสนทนาหวานเอียนเรียกเสียงกระตู้วู้แนว แม้จะน้ำเน่า แต่ก็มีเงาจันทร์ (ที่จริงแม้จะออกเอียน แต่เมื่อออกมาครั้งแรก ไม่มีใครไม่นับถือคนต้นคิด)

ครั้งนี้ฤกษ์ชัยสามารถคิดคำคมๆ บาดใจคนอยู่ในวัยแสวงหารัก แม้จะเฉียดเอียน แต่เมื่อเอ่ยกันเป็นครั้งแรกๆ ย่อมยังความรู้สึกบาดใจก่อน ไว้ค่อยเอาไปใช้กันบ่อยจนเฝือนั่นแหละ ถึงจะกลายเป็นเอียนไปจริงๆ

ลำพังบทพูดคมๆ โดนใจ ไม่พอจะเรียกแขกในระดับน่าพอใจได้ ต้องเสริมด้วยผู้รับบทที่ตลาดกำลังรัก

ฤกษ์ชัยระดมดาราคุ้นขาคุ้นทางจากงานเก่าผนวกกับคนใหม่ไม่เคยร่วมงานจอใหญ่กันมาก่อน แต่เห็นได้จากผลงานก่อนหน้าว่าผูกใจคนดูได้ดีมาร่วมสร้างความสนุกเป็นความสุขปีใหม่

เมื่อครั้งสุดเขตฯ ผู้เขียนวิจารณ์ไปว่า ยิ้บโซที่ฤกษ์ชัยเคยมอบบทรองให้ครั้งก่อนหน้าใน "32 ธันวา" เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ดึงให้หนังทั้งเรื่องน่าสนใจขึ้น

แต่เหมือนกับฤกษ์ชัยพบว่า ยิ้บโซผูกใจคนดูได้ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัว ด้วยลักษณะสาวมั่นพูดรัวเร็วฟังรู้เรื่องไม่ทั้งหมด เป็นลักษณะที่เมื่อพบเห็นใหม่ๆ ก็น่ารักดี แต่ถ้าซ้ำอยู่อย่างนั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คนดูมีโอกาสเบื่อได้

มาครั้งนี้เขาจึงนำยิปซีพี่สาวฝาแฝดที่มีลักษณะเฉพาะตัวเด่นไม่เท่าน้อง แต่มีบางอย่างละม้าย ไล้ใจคนดูขณะเดียวกันสามารถถ่ายทอดบทแสดงความรู้สึกลึกๆ ได้ มารับบทเด่นในครั้งนี้

และจากที่ทำออกมา มีโอกาสว่าบทของยิปโซในตอนหน้าจะเด่นขึ้น

บทบาทเด่นของยิปซีที่มาคั่นระหว่างงานสองชิ้นจากฝีมือผู้กำกับฯ เจ้าเดิมของยิปโซ ช่วยลดทอนความติดตาจากงานก่อนหน้าของสาวเสน่ห์ออกแปลกคนนี้



ที่น่าสนใจอีกบทคืออุ่น ผู้เขียนเคยชมผู้รับบทว่าแสดงได้เป็นธรรมชาติระดับเชื่อในบทที่ตัวเองรับเมื่อครั้ง "บิ๊กบอย" ในชื่อการแสดงครั้งนั้นว่า "โทนี่" อิรา รากแก่น ครั้งที่จำต้องอิงนามสกุลของมารดาผู้เป็นราชินีหมอลำเพื่อเรียกแขก

ในชีวิตจริง อิราทำงานเป็นช่างเสริมสวย แต่ไม่ได้มีทีท่ากระเดียดหญิงอย่างช่างเสริมสวยที่เกิดมาเป็นเพศชายส่วนใหญ่ เขาดูเป็นผู้ชายสะอาดๆ ธรรมดาคนหนึ่ง

เหมือนผู้กำกับฯ จงใจวางบทเพื่อบอกคนดูที่อาจจะสงสัยในตัวจริงของอิราว่าเขาเป็นอย่างไรกันแน่ โดยให้เจ็ตเพื่อนสนิทถามว่าทำไมอุ่นเลือกอาชีพทำเล็บ เขาตอบว่า ไม่รู้สิ คงเป็นเพราะเขาชอบอยู่ใกล้ๆ ผู้หญิงละมั้ง

เหมือนจะบอกคนดูว่า นั่นคือคำตอบของอิราตัวจริงต่อผู้สงสัย

ก่อนนี้เมื่อมนุษย์ยังไม่ได้เปิดใจกว้าง ผู้ชายที่ชอบเรื่องสวยเรื่องงามชอบอยู่ใกล้หญิงงาม โดยไม่ได้ต้องการเป็นหญิงเสียเอง คงมีพอสมควร

แต่สภาพสังคมทำให้ผู้ชายแท้ๆ ที่ชอบเช่นนั้น ไม่กล้าทำงานด้านความสวยความงาม

หากผู้กำกับฯ จงใจอิงชีวิตจริง บทสรุปในตอนหน้าอาจจะให้คำตอบคนดูมากกว่าแค่บทบาทในหนังเรื่องหนึ่ง



++

Puss in Boots มีมากกว่าแมวและไข่
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 71


ไม่เคยดูหนังสามมิติในโรงไอแม็กซ์มานาน เพิ่งรู้ว่าเดี๋ยวนี้หนังสามมิติสมบูรณ์แบบและน่าตื่นตะลึงเพียงนี้ ขออภัยจริงๆ ที่ไปดูช้า ค่าตั๋วแพงแต่ก็น่าลงทุนไปชมสักครั้งครับ

หนังแมวน้อยเจ้าปัญญา Puss in Boots ก็สนุกสุดเหวี่ยงจบไม่รู้ตัวจริงๆ

ผมรู้จักแมวน้อยเจ้าปัญญาตั้งแต่เริ่มจำความได้ ประมาณนั้นเลยทีเดียว น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ของชีวิตที่อ่านด้วยตนเองเป็น เป็นนิทานคำกลอนประกอบภาพสี่สีอ่านสนุก

เวลานั้นอ่านแล้วมีแต่ความสนุก ชื่นชมว่าแมวน้อยเจ้าปัญญา

หารู้ไม่ว่ามันถูกบันทึกเป็นตัวละครที่กะล่อนและคดโกงมากที่สุดตัวหนึ่งในโลกวรรณกรรม

เป็นนิทานพื้นบ้านฝรั่งเศสชื่อเดิมว่า Master Cat หรือ Booted Cat (Le Maitre Chat, ou Le Chat Bott') เล่าเรื่องแมวชั้นต่ำยากจนที่เจ้าเล่ห์และฉ้อฉลในนามของเจ้าชายแต่ที่แท้แล้วก็เพื่อความร่ำรวยและฐานะทางสังคมของตัวเอง

เป็นหนึ่งในนิทานของ Charles Perrault (1628-1703)



นิทานเล่าเรื่องชาวเหมืองคนหนึ่งถึงแก่กรรมยกเหมืองให้แก่ลูกชายคนโต ยกล่อตัวหนึ่งให้แก่ลูกชายคนรอง และยกแมวตัวหนึ่งให้แก่ลูกชายคนเล็ก ลูกชายคนเล็กผิดหวังแต่แมวน้อยเจ้าปัญญาอาสาจะแก้ไขให้โดยขอรองเท้าบู๊ตหนึ่งคู่ จากนั้นแมวใส่รองเท้าบู๊ตจับกระต่ายตัวหนึ่งใส่ถุงไปถวายพระราชาในนามของมาควิสแห่งคาราบาส

วันหนึ่งพระราชาและพระธิดาเสด็จเลียบริมแม่น้ำ แมวจึงให้เจ้านายถอดเสื้อผ้าซ่อนไว้ใต้ก้อนหินแล้วลงไปรอในแม่น้ำ จากนั้นแมวทูลพระราชาว่ามาควิสแห่งคาราบาสถูกขโมยลักเสื้อผ้าไป พระราชาจึงหาเครื่องแต่งกายสมยศให้แก่เจ้าชายแล้วเชิญนั่งรถเคียงคู่พระธิดาซึ่งตกหลุมรักมาควิสปลอมในทันที

ไม่รอช้าแมวน้อยเจ้าปัญญาบุกปราสาทยักษ์ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการแปลงกาย ในตอนแรกมันแปลงเป็นสิงโตแต่ถูกแมวเจ้าเล่ห์ล่อหลอกให้แปลงเป็นหนูจึงถูกแมวจับกินเสีย

พระราชาเข้าใจว่าปราสาทของยักษ์เป็นของมาควิสแห่งคาราบาสจึงยกพระธิดาให้แก่ชายหนุ่มลูกชาวเหมือง

ส่วนแมวน้อยเจ้าปัญญาก็เสพสุขจับหนูเล่นไปวันๆ ชั่วนิจนิรันดร



นิทานเรื่องแมวช่วยเจ้านายมีอีกหลายเรื่องทั้งในยุโรปและอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แต่เชื่อได้ว่าชาร์ลส์ไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านั้นและไม่ได้ลอกใคร

แมวของชาร์ลส์เป็นแมวตัวเดียวที่ใส่รองเท้าบู๊ตขณะที่แมวตัวอื่นไม่มีเรื่องรองเท้ามาผสมเลย

นิทานประเภทนี้จัดอยู่ในประเภทนิทานสิงสาราสัตว์กลับมาช่วยเหลือมนุษย์ซึ่งสะท้อนการก่อร่างสร้างตัวของสังคมมนุษย์และวิญญาณของสรรพสัตว์แต่โบราณ

หลังจากเป็นที่รู้จักและนิยมในฝรั่งเศสจึงถูกนำไปรวมเล่มกับนิทานเรื่องอื่นรวมแปดเรื่องในหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ Mother Goose"s Tales โดยมีเจ้าหญิงนิทรา ซินเดอเรลลา และหนูน้อยหมวกแดงรวมอยู่ด้วย

นักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียง Bruno Bettelheim บอกว่าประเด็นของเรื่องแมวในรองเท้าบู๊ตที่เด็กๆ จับได้คือประเด็นการใช้ประโยชน์จากเรื่องเล็กๆ เพื่อทำการใหญ่ให้สำเร็จ

แมวมีภาพลักษณ์เป็นวีรบุรุษในแง่ที่สามารถสร้างตนจากที่ไม่มีอะไร จึงเป็นนิทานที่มีคุณค่าต่อพัฒนาการเด็ก

ส่วนเรื่องความเจ้าเล่ห์และไม่ตรงไปตรงมาของแมวจะไม่ถูกส่งไปถึงเด็กๆ เพราะนิทานไม่ได้วางโครงเรื่องให้แมวต้องเลือกระหว่างการกระทำสองอย่างคือดีและเลว

เนื้อเรื่องสั้นและพุ่งไปข้างหน้าอย่างชัดเจนนั่นคือ "สร้างตัวเอง"

จะเห็นว่าเป็นแก่นเรื่องคนละอย่างกับหนังการ์ตูนสามมิติของดรีมส์เวิร์กเรื่องนี้ ในหนังการ์ตูนพุซต้องเลือกระหว่างความดีและความชั่วตั้งแต่เล็ก และกลายเป็นความขัดแย้งหลักของเรื่องด้วยซ้ำไป

นักวิจารณ์ด้านสังคมศาสตร์วิเคราะห์ว่านิทานของชาร์ลส์สะท้อนความคิดเห็นของเขาต่อสังคมฝรั่งเศสและบทบาทชายหญิง กล่าวคือสตรีมีหน้าที่รอชายในอุดมคติมาขอแต่งงาน บุรุษมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ความมั่งคั่งที่สังคมคาดหวัง

แก่นเรื่องเช่นนี้ไม่ตรงกับหนังการ์ตูนเรื่องนี้อีกแล้ว คิตตี้ไม่ใช่แมวนางเอกประเภทนั่งสวยนอนสวยรอคนมาเชยชม ส่วนพุซก็ไม่ได้แสวงหาความมั่งคั่งเขาเป็นแอนตี้ฮีโร่ผดุงความยุติธรรมโดยแท้



ตัวละครหรือตัวการ์ตูนที่ดรีมส์เวิร์กใส่เข้ามาเพื่อเป็นคู่ขัดแย้งกับพุซกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของบทเพลงกล่อมเด็กที่รู้จักกันดีนั่นคือ Humpty Dumpty ไข่เพื่อนซี้วัยเด็กของพุซซึ่งอยู่เบื้องหลังแผนการร้ายทั้งเรื่อง

บทเพลงกล่อมเด็กนี้มีเนื้อร้องว่า

Humpty Dumpty sat on a wall,

Humpty Dumpty had a great fall.

All the king"s horses and all the king"s men

Couldn"t put Humpty together again

จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนบอกว่าฮัมตี้ดัมตี้เป็นไข่ เป็นที่รู้กันเอาเองภายหลังว่าเขาเป็นไข่ รากศัพท์เดิมคำนี้หมายถึงคนเมาหรือคนงุ่มง่ามเดินแล้วล้มๆ อย่างที่คำเมืองว่าเต้าอุ๊บเต้าอั๊บเสียมากกว่า

นักวิจัยจำนวนหนึ่งสันนิษฐานว่าฮัมตี้ดัมตี้เป็นชื่อปืนใหญ่ของฝ่ายนิยมกษัตริย์ในสงครามกลางอังกฤษปี 1648 ที่ถูกทำลายร่วงหล่นลงมาจน "ซ่อมแซมไม่ได้" กลายเป็นบทเพลงแห่งชัยชนะที่นิยมร้องกันไปทั่ว

แต่ที่ใครๆ นึกว่าเขาเป็นไข่เกิดจากภาพวาดของ เซอร์จอห์น เทนเนียล จากรูปประกอบนิทานปี 1871 เรื่อง Through the Looking Glass ของ ลูอิส คารอล นักเขียนอลิซในแดนมหัศจรรย์นั่นเอง

บทพูดระหว่างอลิซและเจ้าหน้าไข่ดัมตี้ฮัมตี้กลายเป็นบทความวิชาการที่ใช้อธิบายอาการทางสมองที่เรียกว่า prosopagnosia คือผู้ป่วยไม่สามารถแยกแยะบุคคลจากใบหน้าได้ มักพบในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก (A Larner.Lewis Carroll"s Humpty Dumpty : an early report of prosopagnosia? J Neurol Neurosurg Psychiatry. 2004 July ; 75(7) : 1063. )

ตอนที่อลิซร่ำลาฮัมตี้ดัมตี้ เธอพูดว่า "ลาก่อน จนกว่าจะพบกันอีกนะ"

ฮัมตีดัมตี้ว่า "ชั้นจะไม่รู้จักเธออีกเวลาเราพบกัน"

เมื่ออลิซแปลกใจ ฮัมตี้ดัมตี้จึงอธิบายว่าหน้าของอลิซช่างเหมือนกับคนอื่นคือมีตาสองข้าง มีจมูกตรงกลางและปากอยู่ด้านล่าง นี่ถ้าอลิซมีตาสองข้างย้ายไปอยู่ข้างเดียวกันแล้วมีปากอยู่ข้างบนเรื่องจะง่ายขึ้นมาก เขาต้องจำอลิซได้แน่ๆ

ตัวละครอย่างฮัมตี้ดัมตี้ถูกเลือกให้มาเป็นตัวร้ายที่พ่ายแพ้แก่อำนาจใฝ่ต่ำของตนเอง แล้วกระทำการเสมือนจำไม่ได้ว่าพุซเป็นเพื่อนคนเดียวในวัยเด็กของพวกเขา จนกว่าพุซจะพิสูจน์ให้เห็นว่าที่แท้แล้วพวกเขาเป็นใครหรือควรทำอะไร เช่นเดียวกับผู้ป่วย prosopragnosia ที่แม้จำหน้าไม่ได้แต่ระบุบุคคลจากนิสัยหรือการกระทำได้

เป็นหนังการ์ตูนที่สนุกที่สุดส่งท้ายปี 2011 เลยครับ



.