.
รายงานจากหนังสือ
- เผย "จิมทอมป์สัน"ช้ำ "ปรีดี พนมยงค์" ถูกโค่น
- ชี้โลกรุนแรงน้อยลง ผลงานวิจัยสวนกระแส
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ความรัก-ความตาย
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 80
เมื่อสักช่วงอาทิตย์ - 2 อาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวหนึ่งซึ่งสร้างความฮือฮาให้แก่ใครหลายๆ คน
โดยเริ่มจากวงสังคมในอินเตอร์เน็ต (เกือบจะเหมือนเช่นทุกๆ กระแสในโลกตอนนี้) ก่อนจะแผ่ขยายไปสู่หน้าหนังสือพิมพ์ในเวลาต่อมา
ข่าวนั้นก็คือข่าวที่ชายคนหนึ่งแต่งงานกับคู่รักของเขา แม้ว่าเธอจะตายไปแล้ว
หลายๆ คนที่ฉันรู้จักต่างก็แสดงปฏิกิริยาต่อข่าวนี้ไปในทางซาบซึ้งเสียส่วนใหญ่
ครั้นฉันถามว่าที่มันซึ้งเพราะอะไร คนก็จะลากเสียงยาวใส่ว่า...แหม จะต้องให้บอกอีกเหรอ
มันซึ้งจะตายไป การที่ได้รู้ว่ามีคนรักเราและแต่งงานกับเราทั้งที่เราไม่ได้รู้อะไรแล้ว
ส่วนฉัน - ก็เหมือนเคย - คือไม่เข้าใจในความอ่อนหวานซาบซึ้งนั้่น แต่รู้สึกแปลกๆ เสียมากกว่า
คือ, ฉันไม่รู้ว่าจะต้องแต่งไปทำไม ก็ในเมื่อเราไม่ได้รู้อะไรแล้วนี่หว่า
เธอผู้จากไปแล้วก็ไม่ได้ฟื้นมารับรู้รับชี้อะไรด้วย จะว่าเป็นการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก็ดูจะแปลกๆ
เรื่องแบบนี้มันดูโรแมนติกเพราะไม่มีวันที่ชีวิตมันจะเป็นจริงขึ้นมาได้กระมัง
เขาทั้งคู่ไม่มีวันจะต้องมาทะเลาะกันด้วยเรื่องโง่ๆ ไม่ต้องมานั่งคิดถึงความเป็นไปได้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนอกใจ
ไม่ต้องมานั่งปากเปียกปากแฉะกับนิสัยไม่ถูกอารมณ์ที่อาจมีขึ้นหลังใช้ชีวิตร่วมกัน
ไม่ต้องตื่นกลางดึกมานั่งเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ลูก
ไม่ต้องมีวันที่เงินขาดมือแล้วมานั่งมองหน้ากันว่าจะอยู่รอดในวันต่อไปด้วยวิธีไหน
ไม่ต้องเจอกับอะไรๆ อีกหลายๆ อย่างที่ชีวิตคู่จริงๆ ต้องเจอ
มันเป็นเพียงการอยู่ร่วมกับความน่าจะเป็นอันงดงาม
มันเหมือนกับว่าในเวลานี้โลกขาดแคลนความซาบซึ้งและความเชื่อในความรักอันซื่อสัตย์
เราไม่เชื่ออีกแล้วว่ามันจะมีอยู่จริง หรือถึงมี มันก็คงไม่เกิดกับเรา
แต่เราก็ต้องการความรักกันมากขึ้น หิวกระหายการอยู่ร่วมกันที่เป็นไปได้มากขึ้น
ความรักในยุคอัศวินแบบที่นักรบหนุ่มจะมีแม่ย่านางประจำใจซักคนเอาไว้คิดถึงหรือได้ผ้าเช็ดหน้าจากเจ้าหล่อนมาซักผืนก็เพียงพอแล้วต่อการสละชีพนั้นดูจะไม่พอเสียแล้ว
เมื่อดูเหมือนความรักและพิธีกรรมแห่งการผูกมัดอย่างการแต่งงาน สามารถก้าวล่วงเข้าสู่อาณาจักรแห่งความตายได้ มันจึงดูจะเป็นการเอาชนะเล็กๆ น้อยๆ ของมนุษย์ที่ดูโรแมนติกซาบซึ้งมากอย่างบอกไม่ถูก
แต่เอาจริงๆ คนที่ซึ้งส่วนใหญ่ก็คงยินดีจะคบกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ รักกันบ้าง โกรธกันบ้าง และซาบซึ้งกับความตาย และรักอันเป็นนิรันดร์ของคนอื่นมากกว่าตายเพื่อพิสูจน์เสียเอง
ก็ใครจะบอกได้ว่าถ้าเราตายไปแล้วคู่รักของเราจะมีคนใหม่ภายในกี่วินาที
คนตายนั้นตายไปแล้ว ไม่ได้มารู้สึกรู้สาอะไรด้วย
นอนนิ่งๆ ตัวเย็นเฉียบชนิดเอาความรักความโรแมนติกใดๆ มาทุ่มเทให้ก็ไม่ได้รับรู้อะไร
ฉันจะไม่พูดถึงโลกที่อยู่หลังความตายหรอกนะ เพราะฉันก็ไม่รู้ว่ามันมีหรือเปล่า แต่ทางกายภาพมันก็เป็นเช่นนั้น
ในมุมหนึ่งฉันรู้สึกว่าการแต่งงานและการมีลูก สร้างครอบครัวกันนี่มันต้องอาศัยยิ่งกว่าความกล้า มันไม่ใช่เรื่องของเราเพียงคนเดียว เราไม่สามารถจะเดินหนีมันไปได้อย่างแท้จริง (ต่อให้การหย่าร้างจะมีจริงก็เถอะ แต่มันก็ได้ในทางทะเบียนกระดาษ ไม่ใช่ทางอารมณ์) และชีวิตของเราจะไม่มีวันเหมือนเดิม
คนที่กล้าได้ขนาดนี้ฉันนับถือ เพราะนอกจากฉันจะยังไม่กล้าพอแล้ว ยังไม่มีใครคิดเหิมเกริม อยากมากล้ากับฉันอีกด้วย
แต่แต่งงานกับคนที่ตายไปแล้วมันเลยกลายเป็นเรื่องของความแปลกมากกว่าความกล้า
ฉันนึกถึงว่าถ้าวันหนึ่งเขาคนนั้นมีคู่รักคนใหม่ เธอจะรู้สึกอย่างไรบ้าง
รู้สึกเป็นที่สอง หรือคาดหวังอะไร
คาดหวังว่าเขาจะรักเธอจนตายหรือ? คงไม่ใช่, เพราะเขาก็มามีคนใหม่คือเธอนี่เอง
หรือเธอต้องตกอยู่ภายใต้เงามืดของความโรแมนติกชั่วชีวิต ทุกคนที่ได้รู้เรื่องของเขากับเจ้าสาวคนก่อนก็คงพูดเรื่องนี้กันไปตลอดกาล และเธอก็กลายเป็นเมียน้อยของวิญญาณดวงหนึ่ง
ไม่รู้สินะ
ฉันอาจเป็นคนที่ไม่โรแมนติกจนเกินเยียวยาแล้วก็ได้
หรือไม่, ก็ถูกความรักทำร้ายเสียจนขวางโลกอย่างนี้ไปเอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"ความรัก ความรู้ ความตาย" เขียนโดย ธเนศ วงศ์ยานนาวา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2553 โดยสำนักพิมพ์ศยาม
++
เที่ยวพิพิธภัณฑ์เวียดนาม (1) : "ชาติพันธุ์" ของ "ลุงโฮ"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 85
ช่วงส่งท้ายปีเก่าที่ผ่านมา มีโอกาสไปเดินเที่ยวเล่นแถวกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม อยู่ 3 วัน และได้แวะเข้าชมพิพิธภัณฑ์น่าสนใจบางแห่ง
พิพิธภัณฑ์ระดับไฮไลต์ที่ถือเป็นจุดเด่นของเวียดนาม และยังไม่มีในเมืองไทยอย่างเป็นกิจจะลักษณะก็คือ "พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเวียดนาม"
(สำหรับกรณีของประเทศไทย "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก" จ.ปทุมธานี จะถูกจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านชาติพันธุ์วิทยา โดยมีเป้าหมายเริ่มจัดแสดงในปี พ.ศ.2558)
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ 54 ชนเผ่าของประเทศเวียดนาม อย่างไรก็ตาม การจัดแสดงและเล่าเรื่องกลับมีลักษณะค่อนไปในทาง "แช่แข็ง" อยู่มิใช่น้อย
กล่าวคือ เป็นการขับเน้นประเพณีและวิถีชีวิตแบบ "ดั้งเดิม" ของประชากรในกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น แต่ไม่พูดถึงการปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ของพวกเขาอย่างเด่นชัดมากนัก
(ส่วนวิถี "ดั้งเดิม" ที่ถูกนำเสนอ จะ "ดั้งเดิม" แค่ไหน? และมีเพียง "แบบเดียว" หรือไม่? นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งต้องถกเถียงกันต่อ)
จุดดึงดูดความสนใจของบรรดานักท่องเที่ยวนานาชาติในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาที่เวียดนาม ก็คือ "หมู่บ้านจำลอง" ซึ่งรวบรวมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มาจัดแสดงราวกับเป็น "ของจริง"
ในบางบ้าน บรรดานักเดินทางต้องอาศัยเรี่ยวแรงและความตื่นเต้น (นิดๆ) เพื่อปีนป่ายขึ้นไปเที่ยวชม ประหนึ่งกำลังผจญภัยใน "สวนสนุก" ก็มิปาน
ขณะที่เจ้าหน้าที่ประจำบ้านแต่ละแห่งก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป บางคนยิ้มทักทายนักท่องเที่ยว บางกลุ่มกำลังทำอาหารกลางวันกินกันอย่างค่อนข้างเป็น "ธรรมชาติ" แต่หลายคนก็แสดงอาการเขินออกมาเมื่อถูกจับภาพโดยอาคันตุกะผู้เยี่ยมชม
อย่างไรก็ดี อีกหนึ่งกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็น "ธรรมชาติ" จริงๆ ดูเหมือนจะได้แก่ คนงานก่อสร้างข้างกำแพงเตี้ยๆ ของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกำลังจับกลุ่มนั่งจ้องมองมายังเหล่านักท่องเที่ยว จากไซต์งานก่อสร้างอาคารสูงอันทันสมัย
เรื่องราวของพวกเขาคงถูกเขียนถึงใน "ชาติพันธุ์นิพนธ์" อีกประเภทหนึ่ง นอกเหนือไปจาก "ชาติพันธุ์นิพนธ์" อันถูกปะติดปะต่อขึ้นมาผ่านการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา
จุดสะดุดใจเล็กๆ ใน "หมู่บ้านจำลอง" ได้แก่ การปรากฏตัวขึ้นของปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าบางอย่าง เช่น พัดลม ที่ถูกนำมาติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ประจำบ้านแต่ละหลัง
ทว่า ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์คงต้องการจะสื่อถึงนัยยะลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น
ด้านหนึ่ง คือวิถีชีวิตของผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ย่อมวิวัฒน์ไปตามยุคสมัย
แต่นัยยะอีกด้าน อาจหมายความว่า "เรือนดั้งเดิม" ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ยังสามารถใช้อยู่อาศัยได้ในวิถีชีวิตสมัยใหม่
ความนัยประการหลังส่งผลให้นักท่องเที่ยวอย่างผมเกิดคำถามขึ้นในหัวทันทีว่า
เพียงแค่ "ปลั๊กไฟ" และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด มันแสดงให้เห็นว่า "เรือนไม้บ้านดิน" ทั้งหลาย สามารถถูกใช้สอยได้อย่างสอดคล้องลงรอยกับผู้คนที่เริ่มคุ้นชินคุ้นเคยกับวิถีหรือจังหวะชีวิตในโลกสมัยใหม่จริงๆ หรือ?
ยกตัวอย่างเช่น "บ้านเรือนไทย" ที่ถูก "โชว์" กันอยู่ตามรายการโทรทัศน์หรือนิตยสารซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็น "คนดูคนอ่านในเมือง" (ไม่ใช่ "บ้านไม้" ที่ใช้อยู่อาศัยจริงๆ ในต่างจังหวัด) ต้องถูกปรับรูปแปลงร่าง ทั้งภายนอกและภายใน ไปมากน้อยเพียงใด แค่ไหน จึงจะสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบันได้จริงๆ?
หรือต่อให้ถูกดัดแปลงเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปเป็นจำนวนมาก ก็ยังน่าตั้งคำถามว่า ผู้อยู่อาศัยซึ่งอาจต้องใช้ชีวิตอีกครึ่งค่อนหนึ่งในออฟฟิศบนตึกสูง, กับโต๊ะทำงานรวมทั้งจอคอมพิวเตอร์ และอุทิศเวลาว่างส่วนใหญ่ให้แก่การประกอบกิจกรรมนันทนาการ ณ ห้างสรรพสินค้า
จะรู้สึก "สะดวกสบาย" กับที่อยู่อาศัย "ครึ่งๆ กลางๆ" ในลักษณะ "เรือนไทยประยุกต์" ได้จริงๆ หรือ?
หากคำว่า "สะดวกสบาย" มิได้หมายถึงการเป็นแค่สถานที่จัดงานเลี้ยงในวาระพิเศษชั่วครั้งคราว หรือ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจในช่วงวันหยุดสั้นๆ
ขออนุญาตวกกลับมาที่พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยา บริเวณชานกรุงฮานอย อีกครั้ง
เราสามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กำลังพูดถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 54 ชนเผ่าภายในประเทศเวียดนาม
แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นการพูดถึงผู้คน "54 กลุ่มชาติพันธุ์" อย่างที่พวกเขาเป็น, ดังที่พวกเขาแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและปฏิสัมพันธ์ที่มีกับโลกภายนอก
หรือพูดถึงผู้คน "54 ชนเผ่า" อย่างที่รัฐอยากให้พวกเขาเป็น หรือต้องการจะเข้าไปควบคุมจัดการพวกเขาให้ดำรงคงสภาพเช่นนั้นไว้ "นิ่งๆ" กันแน่?
สิ่งที่อาจอธิบาย "แนวคิดเบื้องหลัง" การจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์แห่งนี้ได้ดี ดูเหมือนจะมิใช่ "วัตถุทางวัฒนธรรม" ชิ้นต่างๆ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิพิธภัณฑ์เอง
หากเป็น "ภาพวาดสีน้ำมัน" ชิ้นหนึ่ง ในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ใจกลางกรุงฮานอย ที่วาด "ลุงโฮ" ตัวโตยืนยิ้มด้วยสีหน้าท่าทางใจดีอยู่ตรงจุดโฟกัสของรูป โดยมีผู้คน, บ้านเรือน และการละเล่นหรือวัฒนธรรมประเพณีจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดำรงอยู่ได้อย่างรื่นเริงรายรอบ "บิดาแห่งชาติ"
ซึ่งในอีกนัยหนึ่งก็หมายถึง "รัฐเวียดนาม"
++
เที่ยวพิพิธภัณฑ์เวียดนาม (จบ) : "บางอย่าง" ที่หายไป?
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 85
จุดเด่นจริงๆ ของ "พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเวียดนาม" กลับกลายเป็นการจัดฉาย "วิดีโอ" ประกอบวัตถุที่ถูกนำมาจัดแสดง
วิดีโอจำนวนมากเหล่านั้นอาจเป็น "ภาพยนตร์สารคดีชาติพันธุ์" ตามแบบแผน ซึ่งไม่ได้มีกลวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้น เร้าใจอะไรมากมายนัก
แต่การดำรงอยู่ของ "สื่อชนิดใหม่" อย่างวิดีโอ ก็ส่งผลให้รูปแบบการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งนี้ มีความน่าสนใจ และเป็น "เอกลักษณ์" มิใช่น้อย
หากเปรียบเทียบกับพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งนำเสนอประเด็น "ประวัติศาสตร์การเมือง-สังคมสมัยใหม่" ส่วนใหญ่ในเวียดนาม (หรือแม้กระทั่งในลาว) ซึ่งดูเหมือนจะมีวัตถุจัดแสดงหลักเป็นหลักฐานประเภท "จดหมายเหตุเอกสาร"
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานประวัติศาสตร์ที่เป็น "เอกสาร" ในยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศ
ความรู้สึกแรกเริ่มของผมเวลาไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นก็คือ "เชย" และ "น่าเบื่อ"
กระทั่งไม่ได้บันทึกภาพเอกสารต่างๆ เก็บไว้ในกล้องถ่ายรูปเลย (เมื่อมาเขียนบทความชิ้นนี้ จึงต้องหยิบยืมรูปจากอินเตอร์เน็ตมาใช้เป็นภาพประกอบ)
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาคิดย้อนดูกลับพบว่า ภาวะเปี่ยมล้นไปด้วย "หลักฐานเอกสาร" ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของเวียดนามนั้น สะท้อนนัยยะน่าสนใจชวนขบคิดบางประการซึ่งแฝงเร้นอยู่
กล่าวคือ พิพิธภัณฑ์กระแสหลักในเวียดนามบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้าง "รัฐสมัยใหม่" โดยพึ่งพา "จดหมายเหตุเอกสาร" เป็นสำคัญ (แน่นอนว่า เอกสารที่ถูกนำมาจัดแสดงย่อมได้รับการคัดสรรมาแล้ว เพื่อให้ยังประโยชน์สูงสุดต่อ "ผู้ชนะ")
แต่สำหรับพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในไทย ทั้งที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ยุคโบราณ และประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สิ่งที่ถูกนำมาจัดแสดงมักเป็น "วัตถุสิ่งของ" หรือ "ภาพ" โดยมีหลักฐานเอกสารเป็นเพียงตัวละครประกอบส่วนน้อย
แม้แต่ในพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ หลักฐานเอกสารก็ไม่ได้มีสถานะเป็นวัตถุจัดแสดงหลัก ทว่าสิ่งที่มักถูก "ผลิตซ้ำ" ในฐานะ "พระเอก" กลับเป็นข้อความจากถ้อยคำ "วรรคทอง" เพียงไม่กี่ (2) วรรคมากกว่า
ซึ่งการผลิตซ้ำเพียงแค่นั้น มิได้ก่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ หรือ "ความรับรู้" ต่อประวัติศาสตร์แบบใหม่ๆ ขึ้นมาแต่อย่างใด
(น่าสังเกตว่าพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ ในเวียดนาม มักบอกเล่าถึงเหตุการณ์ปฏิวัติปลดแอกประเทศหรือสงครามเวียดนาม อันเป็นบ่อเกิดของรัฐเวียดนามปัจจุบัน
ขณะที่พิพิธภัณฑ์สำคัญๆ ในไทย มักบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ยุคโบราณ -อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งซึ่งช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่อำนาจรัฐปัจจุบัน- มากกว่าจะกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลให้ "หลักฐานเอกสาร" หายไปจากพิพิธภัณฑ์ไทย)
จากประสบการณ์ส่วนตัว ข้อความตัวอักษรในพิพิธภัณฑ์ไทยซึ่งสร้างความตื่นเต้นให้กับผม กลับเป็นข้อความที่มิได้มีที่มาจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นข้อความจากเรื่องเล่ามุขปาฐะ อันปรากฏในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน "วัดหนัง" ฝั่งธนบุรี
ข้อความดังกล่าว บอกเล่าเรื่องราวที่ "หลวงปู่รอด" ขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง ไม่ยอมถวายอดิเรกแด่รัชกาลที่ 4 ซึ่งเสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐิน ส่งผลให้หลวงปู่รอดถูกถอดสมณศักดิ์ และต้องย้ายไปจำพรรษาที่วัดโคนอน
สำหรับสาเหตุที่หลวงปู่รอดไม่ยอมถวายอดิเรกนั้น ประวัติศาสตร์บอกเล่า ระบุว่า เพราะท่านไม่สบอารมณ์ในเรื่องการแบ่งแยกธรรมยุติกนิกายออกจากมหานิกาย
ขอวกกลับมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หรือพิพิธภัณฑ์กระแสหลักของทางการไทย ซึ่งมีเนื้อหาจัดแสดงเชื่อมโยงกับรัฐไทยสมัยใหม่
ผมอยากตั้งสมมุติฐานเล่นๆ ว่า การไม่ค่อยปรากฏตัวของวัตถุจัดแสดงที่เป็น "เอกสาร" ในพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น อาจแสดงให้เห็นว่า รัฐไทยสมัยใหม่ดำรงอยู่ได้ด้วยประวัติศาสตร์ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาจาก "ความจริง?" ที่เป็น "ภาพ" "วัตถุสิ่งของ" หรือถ้อยคำสั้นๆ ประเภท "วรรคทอง"
แต่ไม่ใช่ "ข้อเท็จจริง" ที่ดำรงอยู่ในเอกสาร
อย่างไรก็ดี จดหมายเหตุเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่จำนวนมาก กลับไปมีที่ทางอยู่ในบทความของนักวิชาการผู้มีจุดยืนตอบโต้/ท้าทายประวัติศาสตร์แห่งชาติกระแสหลัก อาทิ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" หรือ "ณัฐพล ใจจริง" มากกว่า
หรือว่า "ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ฉบับทางการ" กับ "เอกสารทางประวัติศาสตร์" หลายต่อหลายชิ้น จะไม่มีความสอดคล้องลงรอยกัน?
+++
เผย "จิมทอมป์สัน"ช้ำ "ปรีดี พนมยงค์" ถูกโค่น
จาก นสพ.ข่าวสดรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7721 หน้า 7
เมื่อ 18 ม.ค. เอพีรายงานเปิดตัวหนังสือไขปริศนาชีวิต จิม ทอมป์สัน นักธุรกิจอเมริกันผู้มาโด่งดังในเมืองไทยในฐานะ "ราชาผ้าไหม" จากนั้นก็หายตัวลึกลับไปจากโรงแรมบนแคเมอรอนไฮแลนด์ รัฐอิโปห์ มาเลเซีย เมื่อ 45 ปีก่อน ว่าแท้จริงแล้ว จิม ทอมป์สัน เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐ หรือซีไอเอ และโดดร่มแทรกซึมเข้าประเทศด้วยภารกิจต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยสงครามเย็น แต่สุดท้ายผิดหวังในนโยบายก่อสงครามเวียดนามของรัฐบาล รวมถึงการที่นายปรีดี พนมยงค์ บุคคลที่ทอมป์สันเคารพนับถือถูกรัฐประหาร
หนังสือเขียนโดย โจชัว เคอร์แลนต์ซิก นักเขียนอเมริกัน กล่าวถึงผลงานใหม่ที่ชื่อว่า "The Ideal Man: The Tragedy of Jim Thompson and the American Way of War" (บุรุษแห่งอุดมการณ์ : โศกนาฏกรรมจิม ทอมป์สัน และวิถีสงครามแบบอเมริกัน) ว่าต้องการให้คนไทยเห็นว่าไทยมีความสัมพันธ์ในแง่มุมใดกับสหรัฐ หนังสือเล่มนี้อ้างอิงข้อมูลจากเอกสารลับของเอฟบีไอ ที่เพิ่งเผยแพร่ตามบทบัญญัติว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ ระบุว่า ทอมป์สันทำงานในกรมยุทธศาสตร์แห่งกองทัพโดยขณะนั้นหน่วยนี้เพ่งเล็งมาที่นายโฮจิมินห์ ผู้นำปฏิวัติของเวียดนาม แต่เมื่อทอมป์สันลงพื้นที่ศึกษาและสัมผัสในภูมิภาคกลับชื่นชมในตัวโฮจิมินห์ รวมถึงนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษคนสำคัญของไทย
จุดแตกแยกเกิดขึ้นในช่วงสงครามอินโดจีน เมื่อสหรัฐตัดสินใจเข้าร่วมกับฝรั่งเศสเพื่อทำสงครามกับกลุ่มชาตินิยมเวียดนาม อันเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเริ่มละทิ้งปฏิบัติการทั้งหมด ต่อมายังผิดหวังซ้ำอีก เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในไทยปี 2490 ทำให้นายปรีดีต้องพ้นจากอำนาจและหนีออกนอกประเทศ บุคคลใกล้ชิดนายปรีดีถูกสังหารมากมาย ส่วนทหารกลายเป็นขั้วอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยจวบจนปัจจุบัน
+++
ชี้โลกรุนแรงน้อยลง ผลงานวิจัยสวนกระแส
คอลัมน์ สกู๊ปพิเศษ ใน นสพ.ข่าวสดรายวัน วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7223 หน้า 7
ทั้งภัยก่อการร้ายข้ามชาติ (ที่ล่าสุดมาเยือนไทย) ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติและศาสนาในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทำให้หลายคนรู้สึกว่าโลกสมัยนี้ยิ่งวุ่นวายและรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในรูปแบบหนังสือเล่มหนาถึง 700 กว่าหน้าที่ชื่อว่า Better Angels of Our Nature เขียนโดย สตีเวน พิงเกอร์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอันโด่งดังของสหรัฐ อเมริกา สวนกระแสว่าโลกในยุคพวกเราๆ ท่านๆ นั้น "รุนแรงน้อยกว่า" และ "มีสันติ สุขมากกว่า" ยุคที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ มนุษย์เสียอีก
พิงเกอร์นำเสนอข้อมูลที่น่าทึ่งว่าประ ชากรโลกร้อยละ 15 ในยุคหินต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือผู้อื่น (เช่น ฆาตกรรมหรือ สงครามระหว่างเผ่า) แต่เมื่อเวลาผ่านไปตัวเลขนี้กลับลดลง
ในศตวรรษที่ 17-20 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามดุเดือดที่สุดระหว่างรัฐในยุโรปนั้น มี ผู้เสียชีวิตในสงครามเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
ขณะเดียวกันอัตราการฆาตกรรมในยุโรปยุคกลางคือ 1 คดีต่อประชากร 100 คนต่อปี แต่ในยุคปัจจุบันนั้นลดลงมาเหลือเพียง 1 คดีต่อประชากร 100,000 คนต่อปี
ถึงแม้ในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ "ฆ่าหมู่" เช่น ยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 (6 ล้านคน) รวันดา (2 ล้านคน) เขมรแดง (1 ล้าน 7 แสนคน) สงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นก็ฆ่าคนไปทั้งหมด 55 ล้านคนทั่วโลก
แต่ในอดีตนั้นการฆ่าหมู่มีจำนานมหาศาลกว่ามากมายนัก นับเฉพาะกองทัพมองโกล ฆ่าคนไปถึง 45 ล้านคนในการแผ่ขยายอำนาจในศตวรรษที่ 12 ทั้งนี้ในสมัยมองโกลประชากรโลกมีเพียง 1 ใน 7 ของยุคปัจจุบันเท่านั้น 45 ล้านคนถือเป็นตัวเลขที่เยอะมาก
พิงเกอร์ชี้ว่าตามจริงแล้วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปีพ.ศ.2488 โลกไม่มีสงครามขนาดใหญ่ระหว่างประเทศมหาอำนาจดังเช่นในอดีตเลย นับเป็น 65 ปีเต็มแห่งสันติภาพ นอกจากนี้สิทธิของสตรี เด็ก ชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ (เช่นคนรักเพศเดียวกัน) หรือแม้แต่สัตว์ ก็ได้รับการปกป้องมากขึ้น
ทำไมพิงเกอร์มองว่าโลกจึงรุนแรงน้อยลง?
ความเบื่อหน่ายสงครามและการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้สงครามระหว่างรัฐมีน้อยลง
นอกจากนี้ การเปิดรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม การศึกษาและวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผลมากกว่าอารมณ์ สื่อมวลชนที่พร้อมประจานความรุนแรงในสังคมหนึ่งๆ ให้ชาวโลกเห็นการสร้างความเท่าเทียมกันทางเพศ คือส่วนที่ทำให้สังคมรุนแรงน้อยลงเชˆน
แต่ที่น่าสนใจคือข้อเสนอของพิงเกอร์ว่า "อำนาจรัฐที่มากขึ้น คือส่วนที่ทำให้การฆาตกรรมน้อยลง"
จากเดิมในสังคมโบราณมีแนวคิดอย่าง "ลูกผู้ชายแค้นต้องชำระ" เมื่อเกิดการขัดแย้งระหว่างบุคคลก็มักจบลงด้วยการชักดาบหรือปืนออกมาดวลกัน ณ ตรงนั้น แต่เมื่อรัฐมีอำนาจขึ้นนั้นก็ริบอาวุธ (จนสมัยนี้ไม่มีใครเดินสะพายดาบได้อย่างซามูไรแล้ว) พร้อมตั้งหน่วยตัดสินความขัดแย้งระหว่างบุคคล เช่น ตำรวจ ศาล และ เรือนจำ
ที่แห่งใดที่มีการพกอาวุธ(ปืน)และอำนาจรัฐส่วนกลางน้อย อย่างเช่นรัฐเท็กซัสในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อว่าเป็น "ถิ่นคาวบอย" อัตราฆาตกรรมก็สูง และส่วนใหญ่เป็นการฆาตกรรมโดยการบันดาลโทสะ มิใช่ปล้นฆ่า
อย่างไรก็ตาม มีผู้คัดค้านงานวิจัยของ พิงเกอร์ว่า เพราะประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนความรุนแรงต่อประชากรจึงน้อยลงเป็นธรรมดา หากเกิดสงครามนิวเคลียร์จนมีผู้เสียชีวิต 2,000 ล้านคนในโลกอนาคตที่มีประชากร 20,000 ล้านคน ก็จะนับเป็นอัตราส่วนน้อยนิดอย่างนั้นหรือ
จึงมีเสียงวิจารณ์ว่าความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปในโลก เราทุกคนควรหาทางยุติลง มิใช่เทียบตัวเลขความรุนแรงกับจำนวนประชากรเพื่อให้รู้สึกดีอย่างเดียว
ที่สำคัญคือ อำนาจรัฐนั้นไม่ควรประหัตประหารประชาชนเสียเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย