http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-15

สรกล: "พม่า"สอน"ไทย"/ +หนุ่มเมืองจันท์: ไม่ได้มีคำตอบเดียว

.
โพสต์เรื่องพม่าต่อ - 'ความเปลี่ยนแปลง' ที่ "พม่า" โดย ปิยมิตร ปัญญา

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"พม่า" สอน "ไทย"
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
จากมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.


" ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง บอกว่า เราเป็นพี่น้องโกรธกันมา 63 ปีแล้ว ขอให้รัฐบาลพม่าให้ทุกอย่างที่เคเอ็นยูต้องการ "

นี่คือ คำพูดของนายขิ่น ยี รัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองของพม่า ก่อนการลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับตัวแทนของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู

เวลา 63 ปี ยาวนานพอที่จะบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเคียดแค้นและอาฆาตให้เติบโตขึ้นในใจของชาวพม่าและกะเหรี่ยง

ในฐานะ "ผู้นำ" ทุกคนมีทางเลือกเพียงแค่ 2 ทาง

ทางหนึ่ง คือ รดน้ำพรวนดินให้ต้นไม้แห่งความแค้นเติบใหญ่ขึ้น ด้วยความเชื่อว่า "สงคราม" จะทำให้เราเป็นผู้ชนะ

หรืออีกทางหนึ่ง คือ ค่อยๆ ลิดรอนกิ่งใบของต้นไม้นี้ด้วยการประนีประนอม และปลูกต้นไม้แห่ง "ความรัก" มาปกคลุม

ในอดีตผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายเลือกหนทางแรก ด้วยความเชื่อว่าจะเป็น "ผู้ชนะ" ในที่สุด

แต่สุดท้ายก็ "พ่ายแพ้" ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย

วันนี้ผู้นำรัฐบาลพม่าและกะเหรี่ยงเคเอ็นยูเลือกใช้ "การประนีประนอม" เป็นอาวุธ

แม้ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับว่าการพบปะเพียงครั้งเดียวคงไม่สามารถยุติการสู้รบอย่างสิ้นเชิงได้

แต่ "แสงสว่าง" แห่ง "ความหวัง" ได้เปล่งประกายขึ้นมาแล้วในความมืดมิด


วันนี้ "พม่า" กำลังสอนบทเรียนเรื่อง "สันติภาพ" ให้กับคนไทย

เป็นบทเรียนที่สอนว่า "สันติภาพ" เกิดได้ถ้าเราตั้งใจ

พม่า-กะเหรี่ยงเคเอ็นยู รบกัน-ฆ่ากันมานานถึง 63 ปี เขายังยอมเจรจาและยุติการสู้รบ

คนไทยที่แบ่งสีแบ่งฝ่ายมาเพียง 5-6 ปี ทำไมจะยุติความขัดแย้งไม่ได้

"เนลสัน แมนเดลลา" บุรุษแห่งสันติภาพของประเทศแอฟริกาใต้ เคยบอกว่า "การประนีประนอม" เป็นศิลปะแห่งความเป็น "ผู้นำ"

และคุณต้องประนีประนอมกับ "คู่ต่อสู้"

ไม่ใช่กับ "เพื่อน"

แต่ส่วนใหญ่ "ผู้นำ" ของแต่ละฝ่ายมักจะวางท่า ไม่ยอมยืดหยุ่น ตั้งหน้าตั้งตาทำลายชื่อเสียงหรือทำให้คู่แข่งอ่อนแอ

ไม่มีใครเอาใจใส่ในการรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความสามัคคีระหว่างกัน


"แมนเดลลา" บอกว่า ในการโต้แย้งทุกครั้ง เมื่อถึงที่สุดแล้วคุณจะไปถึงจุดที่ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดหรือถูก

"การประนีประนอม" จะเป็นเพียงทางเลือกเดียวสำหรับผู้ที่ต้องการสันติภาพและเสถียรภาพอย่างจริงจัง

ความขัดแย้งของสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังขึ้นในใจคนไทย

ต้นไม้ต้นนี้จะเติบโตต่อไป หากทั้ง 2 ฝ่ายยังเชื่อว่าตนเองจะเป็น "ผู้ชนะ" ในที่สุด

แต่อย่าลืมว่าความเชื่อเช่นนี้ทั้ง "พม่า" และ "กะเหรี่ยง" เคยเชื่อมานาน 63 ปี

ก่อนวันนี้จะสรุปได้ว่าสิ่งที่เขาเชื่อมานั้นผิดพลาด

ดังนั้น หากคนไทยอยากลิดรอนต้นไม้ต้นนี้ไม่ให้งอกงามต่อไป

เราต้องกล้าหาญที่จะ "ประนีประนอม"

กล้าลืมความแค้น และ กล้าให้อภัย



++++
บทความเมื่อต้นปี 2554

ไม่ได้มีคำตอบเดียว
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1587 หน้า 24



"ริชาร์ด สเตงเกิล" ผู้เขียนหนังสือ "วิถีแมนเดลา" หนังสือในดวงใจของผมเล่มหนึ่ง

เขาเคยถาม "เนลสัน แมนเดลา" ว่าเหตุที่ "แมนเดลา" ยกระดับการต่อสู้ไปสู่การใช้อาวุธนั้น เป็นเพราะเห็นว่าการต่อสู้อย่างสันติวิธีไม่มีทางยุติการแบ่งแยกผิวได้
หรือ เพราะมันเป็นหนทางเดียวที่จะป้องกันพรรคเอเอ็นซีไม่ให้แตกเป็นเสี่ยงๆ

คำตอบของ "แมนเดลา" ไม่ใช่ทางใดทางหนึ่ง

แต่เป็น...
"เป็นทั้งสองอย่างไม่ได้หรือ "

ครับ ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีเพียงสาเหตุเดียว

1 คำถาม ไม่จำเป็นต้องมี 1 คำตอบ

การแก้ปัญหาก็เช่นกัน

ไม่จำเป็นต้องมีวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียว

"แมนเดลา" เคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ "สเตงเกิล" ฟัง

เด็กหนุ่มชาวธอห์ชา เดินทางจากหมู่บ้านเล็กๆ ของตนเพื่อหาภรรยา
เขาใช้เวลาหลายปีเดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาหญิงสาวผู้สมบูรณ์แบบ แต่ก็หาไม่พบ
ในที่สุดเขาตัดสินใจเดินทางกลับหมู่บ้าน
ระหว่างทางที่เดินเข้าหมู่บ้าน เขาพบกับผู้หญิงคนหนึ่ง และรู้สึกขึ้นมาว่าเธอคนนี้คือหญิงสาวที่เขาค้นหามานาน

"ฉันพบภรรยาของฉันแล้ว"
ครับ ผู้หญิงคนนี้อาศัยอยู่ในกระท่อมถัดจากบ้านของเขาไปไม่กี่หลัง

นิทานจบลงแค่นี้
"นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเดินทางไกลแสนไกลเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการ เพราะมันอยู่ตรงหน้าคุณ"

หรือ "บางทีคุณต้องมีประสบการณ์และความรู้อันกว้างไกลเสียก่อน เพื่อจะสามารถรับรู้คุณค่าของสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและคุ้นเคยกับเราเองมากที่สุด"
เป็นคำถามของ "ริชาร์ด สเตงเกิล"

ถามแบบเดิม คือ ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
นึกออกใช่ไหมครับ ว่า "แมนเดลา" จะตอบว่าอย่างไร
"แปลได้หลายอย่าง"
และ "อาจจะถูกทั้งสองทางก็ได้"

เพราะโลกนี้ไม่ต้องมีเพียง "คำตอบ" เดียว



จากเรื่องอันลุ่มลึกของ "แมนเดลา" ผมนึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง

เป็นเรื่องเล็กๆ ที่น่ารัก

เป็นเรื่องการแก้ปัญหาของพนักงาน "คอลล์ เซ็นเตอร์" ของ "เอไอเอส" ครับ
ผมเคยบอกผู้บริหารของ "เอไอเอส" ว่าน่าจะมีใครรวบรวมเรื่องของพนักงานกลุ่มนี้มาเขียนเป็นเรื่อง
เพราะวันหนึ่ง เธอต้องรับโทรศัพท์จากลูกค้ามากมาย มีทั้งปัญหา การแก้ปัญหา และเรื่องสนุกแบบที่ใครนึกไม่ถึงเยอะแยะไปหมด
มีทั้งขอเพลง ร้องไห้ ปรึกษาเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาการใช้โทรศัพท์

ฟังแล้วน่าสนุก
อย่างเรื่องนี้ เป็นเรื่องของพนักงาน คอลล์ เซ็นเตอร์ คนหนึ่ง ชื่อ "นิรัศรา"
วันหนึ่ง มีคุณป้าโทรศัพท์เข้ามาปรึกษาปัญหาการตั้งค่าโทรศัพท์เพื่อต่อ GPRS
ขั้นตอนแรก เธอสอบถามถึงรุ่นของเครื่องก่อน
ครับ เครื่องโทรศัพท์นั้นคล้าย "ตำรวจ-ทหาร"

มี "รุ่น"
แต่ละรุ่น รายละเอียดวิธีการใช้งานจะไม่เหมือนกัน
พอรู้รุ่นเรียบร้อย "นิรัศรา" ก็เริ่มต้นด้วยการแนะนำการตั้งค่าทีละขั้นตอน

ช่วงแรกไม่ยากนัก เพราะเป็นภาษาไทย
แต่ช่วงหลัง จะต้องกดเป็นภาษาอังกฤษ
เธอบอกข้อความภาษาอังกฤษไป
คุณป้านิ่งไปนิดนึง แล้วพูดเสียงอ่อยๆ
"ป้าไม่รู้ภาษาอังกฤษเลยลูก"
เป็นเรื่องสิครับ จะให้ป้ากลับไปเรียนกวดวิชาก็คงไม่ทัน

แวบแรกของความคิด เธอแนะนำให้คุณป้าไปติดต่อศูนย์บริการลูกค้าของ "เอไอเอส" ที่อยู่ใกล้บ้าน เพราะมีเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้
แต่คุณป้าบอกว่าบ้านของเธออยู่ไกลจากตัวเมืองมาก เดินทางไม่สะดวก
และคุณป้าต้องการใช้งานด่วน
ฟัง "นิรัศรา" เล่ามาถึงตอนนี้ ผมนึกอยู่ในใจว่าถ้าเป็นเรา จะแก้ปัญหาอย่างไร

นึกไม่ออกครับ
แต่ "นิรัศรา" จัดการได้
รู้ไหมครับว่าเธอทำอย่างไร


"นิรัศรา" นั่งมองโทรศัพท์มือถือของตัวเอง แล้วคิดหาทางใหม่
เป้าหมายยังเหมือนเดิม คือ ช่วยคุณป้าพิมพ์ภาษาอังกฤษเพื่อตั้งค่า GPRS
แล้วเธอก็นึกอะไรขึ้นมาได้
หันไปบอกเพื่อนให้ช่วยหาโทรศัพท์รุ่นเดียวกับของคุณป้าให้หน่อย
พอได้เครื่องมาอยู่ในมือ เธอก็ดู "ปุ่มกด" ว่าเป็นแบบไหน

ครับ ปุ่มกดโทรศัพท์นั้น แต่ละปุ่มจะประกอบด้วย 1.ตัวเลข 2.ภาษาไทย และ 3.ภาษาอังกฤษ
เครื่องที่คุณป้าใช้นั้น เลข 2 จะมีภาษาอังกฤษ ABC ไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงเลข 9 มี WXYZ
สมมุติว่าต้องการกดตัว B เราก็ต้องกดเลข 2 ซ้ำ 2 ครั้ง
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่ตรงนี้ล่ะครับ
คุณป้าไม่รู้จัก "ภาษาอังกฤษ" แต่เธอรู้จัก "ตัวเลข"

เมื่อ "ภาษาอังกฤษ" อยู่ปุ่มกดเดียวกับ "ตัวเลข"
"นิรัศรา" ก็ใช้ "ตัวเลข" เป็นสะพานเชื่อม
เธอบอกคุณป้าให้กดปุ่มเปลี่ยนรูปแบบการกดจาก "ตัวเลข" เป็น "ภาษาอังกฤษ"
แล้วบอกขั้นตอนการกดด้วยภาษาตัวเลข
กดเลข 2 ซ้ำ 3 ครั้ง
กดเลข 5 ซ้ำ 2 ครั้ง ฯลฯ

แม้จะบอกเป็น "ตัวเลข" แต่เมื่อคุณป้ากดตาม หน้าจอโทรศัพท์ก็ขึ้นเป็น "ภาษาอังกฤษ"
เหมือนที่ "เติ้ง เสี่ยว ผิง" เคยบอกว่า เขาไม่สนใจว่าแมวสีอะไร ขอให้จับหนูได้ก็พอ
"นิรัศรา" ก็เช่นกัน เธอไม่สนใจว่าจะใช้วิธีการใด
ขอให้คุณป้าตั้งค่า GPRS ได้ก็พอ
เธอใช้ภาษา "ตัวเลข" บอกไปเรื่อยๆ จนเสร็จสิ้นกระบวนความ
คุณป้าก็ตั้งค่าต่อ GPRS สำเร็จ
ใช้เวลาการสนทนาประมาณ 1 ชั่วโมง

ครับ การสนทนาจบลงด้วยคำขอบคุณจากคุณป้ายาวเหยียด
ในขณะที่ "นิรัศรา" กลับบ้านด้วยความสุขใจ

ทั้งภูมิใจที่แก้ปัญหาสำเร็จ

และช่วยทำให้คุณป้ามีความสุข

ครับ ทุกคำถามไม่ได้มีคำตอบเดียว

ทุกปัญหาก็ไม่ได้มีทางแก้เพียงทางเดียว



+++

'ความเปลี่ยนแปลง' ที่ "พม่า"
โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com
ในมตชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 17:13:18 น.


หลายสิ่งหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศพม่าสำหรับบางคนแล้วดูราวกับ "ปาฏิหาริย์" ขนาดย่อมกำลังบังเกิดและคลี่คลายขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย

เพียงมองย้อนหลังกลับไปไม่นานนัก แค่ปี 2007 พม่ายังคงเป็นรัฐทหารเผด็จการ ที่พร้อมทุกเมื่อที่จะ "ปลิดปลง" การคัดค้าน ไม่เห็นด้วยในทุกรูปแบบตั้งแต่ยังเป็นหน่ออ่อน เป็นปุ่มปมยังไม่ระบัดใบ

ปีนั้นเลือดทั้งของประชาชน ของพระสงฆ์องค์เจ้า นองไปทั่วท้องถนนนครย่างกุ้ง จากการลุกฮือขึ้นประท้วงการบริหารจัดการประเทศของระบอบเผด็จการทหาร

ปี 2010 เมื่อพม่าจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี การจัดการทุกอย่างก็ดูเหมือนจะสะท้อนถึงความพยายามในอันที่จะ "สืบทอดอำนาจ" ของบรรดานายพลทั้งหลายให้คงอยู่ ต่อเนื่องต่อไป นักสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งหลาย "ตีตรา" กระบวนการเลือกตั้งในพม่าหนนั้นว่าเป็นเพียง "ละครตลก" อีกฉาก-เท่านั้น

ออง ซาน ซูจี กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ส่วนใหญ่ บอยคอตการเลือกตั้งหนนั้น ตัวผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญได้รับอิสรภาพในเดือนพฤศจิกายนถัดมา หลังจากใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การ "ควบคุม" เนิ่นนานกว่า 7 ปี

ถึงกระนั้น นักสังเกตการณ์การเมืองในพม่าที่ยังมีสติครบถ้วน ทุกประการก็ยังยืนยันว่าไม่มีวี่แววให้เห็นแม้แต่น้อยว่า ประดานายพล ทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลง ผันแปร

หนึ่งปีให้หลัง ทุกอย่างพลิกผันราวหน้ามือกับหลังมือ

ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต บริการที่เคยเป็น "ของต้องห้าม" ได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ข่าวสารและการสืบค้นสำคัญอย่าง ยาฮู หรือกูเกิล หรือแม้แต่กระทั่ง "บีบีซี" พ่อค้าแม่ขายตามท้องถนนสามารถวางจำหน่ายภาพโปสเตอร์ของ ออง ซาน ซูจี อย่างเปิดเผย

บรรยากาศผ่อนคลาย เปิดกว้างเสียจนเมื่อไม่นานมานี้พนักงานต้อนรับสตรีในโรงแรมหรู สามารถปฏิเสธคำขอ "เลขที่ห้องพัก" จากเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษที่ติดตามความเคลื่อนไหวของ "พม่าลี้ภัย" คนสำคัญรายหนึ่งได้ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ยืนกรานว่า เธอ "ไม่มีสิทธิ" เปิดเผยข้อมูลเช่นนั้นของแขกที่เข้าพักได้

นี่คือสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้แม้แต่จะคิด-เมื่อสักราว 6-7 เดือนก่อนหน้านี้

เมื่อตุลาคม ปีกลาย รัฐบาลพม่าเริ่มต้นปล่อยนักโทษราว 6,300 คน ซึ่งรวมถึงนักโทษ "การเมือง" และนักโทษ "ทางความคิด" ราว 200 คน

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ "ซาร์กานาร์" นักเสียดสีทางการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของพม่า

วันดีคืนดี "ถิ่น ส่วย" ผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนสื่อมวลชน "มือเซ็นเซอร์" ตัวฉกาจของรัฐบาลทหารในอดีตหมาดๆ ออกมาประกาศย้ำในที่สาธารณะว่า "การเซ็นเซอร์สื่อ" ที่เคยทำกันมาจนเป็นวัตรปฏิบัตินั้นจำเป็นต้องยุติ เพราะ "เข้ากันไม่ได้" กับ "แนวปฏิบัติแบบประชาธิปไตย" ที่ยึดถือกันอยู่ในเวลานี้

เดือนสิงหาคม ออง ซาน ซูจี ได้เข้าพบหารือแบบเห็นหน้าค่าตากันกับ เต็ง เส่ง อดีตนายพลทหาร ที่ตอนนี้อยู่ในสถานะ "ประธานาธิบดี" แห่งพม่า



น่าสนใจอย่างยิ่งที่ว่า ในเวลานี้ ทุกเรื่องทุกหัวข้อ ไม่ได้เป็นสิ่ง "ต้องห้าม" อีกต่อไป การละเมิดสิทธิมนุษยชน ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันอย่างเปิดเผยในรัฐสภา กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ ถึงกับมีบทบัญญัติเปิดทางให้จัดตั้ง "สหภาพแรงงาน" ขึ้นด้วยซ้ำไป

ในทำนองเดียวกันกับที่มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อเปิดทางให้เอ็นแอลดีสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้อีกครั้ง และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หนึ่งในตัวแทนของพรรคที่จะลงชิงชัยในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 48 ที่นั่งครั้งนี้นั้น คือ นางออง ซาน ซูจี

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปีที่ผ่านมาที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่ประชุมประกาศให้พม่าเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2014

เมื่อ ฮิลลารี่ ร็อดแฮม คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลอเมริกันคนแรกในรอบ 50 ปี ที่เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ บารัค โอบามา โทรศัพท์จาก "แอร์ฟอร์ซ วัน" ไปถาม ออง ซาน ซูจี ว่าเธอสนับสนุนการเยือนครั้งนี้หรือไม่

ออง ซาน ซูจี ไม่เพียงตอบรับ แต่ยังเปิดเผยถึงแผนการเตรียม ลงสมัครรับเลือกตั้งล่วงหน้ากับผู้นำสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

น้ำแข็งที่เคยจับตัวเป็นแผ่นหนา หนัก กั้นกลางระหว่างสองฝ่าย ในที่สุดก็หลอมละลาย?

อาจบางที สิ่งที่ตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงในพม่าได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน ปีที่แล้ว เมื่อรัฐบาลพม่าประกาศ "ระงับ" การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ "มิตโสน" เขื่อนกั้นลำน้ำอิรวดีมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ ที่เงินทุนเกือบทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากทางการจีน แลกกับการได้สิทธิซื้อไฟฟ้า 90 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ผลิตได้กลับเข้าประเทศ

โครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักจากทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและประชาชน เพราะไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและยังจำเป็นต้องโยกย้ายชาวบ้านมากกว่า 10,000 คน ออกจากแหล่งพักอาศัยทำมาหากิน

นี่เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลโอนอ่อนผ่อนตามเสียงคัดค้านในวงกว้าง แม้ว่าจะหมายถึงการ "เหยียบตาปลา" หุ้นส่วนใหญ่จากปักกิ่งก็ตามที

เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการก่อสร้างเขื่อนทำนองเดียวกันที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทยลงทุนและบริษัทอิตัลไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสร้าง ก็ถูกระงับไปด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกัน

ถ้าย้อนเวลากลับไปเปรียบเทียบการคัดค้านเขื่อนครั้งนี้กับการคัดค้านการขึ้นราคาน้ำมันเมื่อปี 2007 ที่เป็นชนวนการลุกฮือของพระและประชาชนแล้วละก็

ความเปลี่ยนแปลงที่พม่าก็เห็นได้ชัดเจนยิ่งนัก


เมียว ยาน นอง เต็ง ชายในชุดเชิ้ตสีเบจกับโสร่งตามสไตล์พม่าวัย 37 ปี เชื่อว่า "ความเปลี่ยนแปลง" ที่เห็นอยู่นี้เป็น "ผลสะท้อน" จาก "อาหรับสปริง แห่งอุษาคเนย์"

ตอนอายุ 21 นอง เต็ง เป็นแกนนำนักศึกษาชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ ลงเอยด้วยการถูกตัดสินจำคุก 7 ปี หลุดพ้นมาได้ไม่นานนัก เขาเข้าร่วมขบวนการ "ซาฟฟรอน เรฟโวลูชั่น" การปฏิวัติเหลืองเมื่อปี 2007 ถูกจับอีกครั้ง คราวนี้ต้องใช้เวลาอีก 2 ปีในคุก "อินเส่ง" อันลือเลื่องเรื่องการทารุณกรรม

เมื่อปีที่แล้ว "เดอะเลดี้" ที่หมายถึง ออง ซาน ซูจี แต่งตั้งให้เขาเป็น ผู้อำนวยการสถาบัน "บายดา" (บา-ยะ-ดา) รับผิดชอบในการดำเนินงาน "โรงเรียนกินนอนการเมือง" ที่พรรคเอ็นแอลดีจัดตั้งขึ้น เพื่อหวังบ่มเพาะประชาธิปไตยให้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะกลายเป็นอนาคตของประเทศ เป็นการสร้าง "นักเคลื่อนไหว" เพื่อประชาธิปไตยในแนวทางสันติ "รุ่นใหม่" ให้สืบทอดเจตนารมณ์คนรุ่นนี้ในกาลข้างหน้า

สถาบันบายดา มี 3 สาขาแล้วในตอนนี้ ย่างกุ้งหนึ่ง มัณฑะเลย์หนึ่ง และทางตะวันออกของรัฐฉานอีกหนึ่ง มีนักเรียนประจำอยู่กว่า 200 คน เรียนรู้วิชาการทั่วไปพร้อมๆ กับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปด้วยกัน

สาขาย่างกุ้ง มีอายุครบ 1 ปีเต็มแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซูจีเดินทางมาร่วมพิธีฉลองในวาระครบรอบด้วยตัวเอง พวกเขาต้อนรับเธอด้วย ช่อดอกไม้ ภาพของ นายพลออง ซาน และ "เดอะเลดี้" ติดตั้งไว้อย่างเปิดเผย บรรยากาศที่เรียบง่าย กลายเป็นครึกครื้น รื่นเริง ยินดีในทันทีที่เธอปรากฏกาย

จนกระทั่งถึงเวลานี้ ยังไม่มีการแทรกแซงใดๆ จากทางการต่อสถาบันแห่งนี้

"เรากำลังเสี่ยงในการทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดนี้" ซูจี บอกกับทุกผู้คนในที่นั้น "แต่ที่เราเสี่ยงอยู่ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อประชาชนทั้งมวลของประเทศ"

เสียงโห่ร้องรับดังกึกก้องจากฝูงชน ลูกโป่งถูกปล่อยเป็นอิสระ สู่ท้องฟ้า

คำถามก็คือว่า ที่ว่าเสี่ยงนั้น-มากมายเพียงใด



นอง เต็ง เชื่อว่า รัฐบาลพม่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง พลิกผันไปในอีกทิศทางหนึ่งซึ่งแตกต่างจากที่เคยยึดถือมา เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่อาจสลัดตัวเองให้หลุดรอดจากอิทธิพล "จีน" ที่หยั่งลึกมากยิ่งขึ้นทุกที

ในทรรศนะของเขา จีนคือ "มหาอำนาจที่ต้องการยึดเราเป็นอาณานิคม" มัณฑะเลย์ เมืองใหญ่มีประชากรมากกว่า 1 ล้าน "กลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนไปแล้ว" ในเวลานี้

เป้าหมายก็เพื่อ "ฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของเรา และควบคุมการค้าทั้งหมดในภาคส่วนนี้"

เขาเชื่อว่า คนในรัฐบาลก็รู้สึกอย่างเดียวกันกับที่เขากำลังรู้สึก และถ้าต้องการเป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน พม่าก็จำเป็นอยู่ดีที่ต้องสร้างสัมพันธ์ใกล้ชิดกับตะวันตกให้มากยิ่งขึ้น

นั่นคือ รัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง

คำอธิบายในเรื่องเดียวกันนี้ ฟังดูผิดแผกออกไป เมื่อออกจากปากของคนอย่าง "หาญ ยอนฮวย" ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพม่า-ยูโร (อีบีโอ) สายเลือดไทยใหญ่ในยุโรป ที่ถือเป็นชาวพม่าลี้ภัยคนสำคัญยิ่งผู้หนึ่ง และเป็นคนที่ใช้เวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ จับตาและพยายามเปลี่ยนแปลงพม่าไปสู่ประชาธิปไตยอยู่ตลอดเวลา

"หาญ" เพิ่งเดินทางตระเวนไปในพม่าตั้งแต่ย่างกุ้งจรดรัฐฉานเมื่อปลายปีที่แล้ว เขารู้สึกอย่างที่หลายคนรู้สึกว่า พม่ากำลังอยู่ใน "ระยะเปลี่ยนผ่าน" ทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง

แต่เขาไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้เกิดขึ้นอย่าง "ตั้งใจ" จากแกนนำในระดับสูงสุดของประเทศ หากแต่เป็นการปล่อยให้ "กระแส" ไหลผ่าน ชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลเองต้องทำตามกระแส เพียงเพื่อให้รัฐบาลใหม่ "ประสบความสำเร็จ" อันจะยังผลให้เกิด "ความชอบธรรม" ต่อการปกครองของทหาร

ภายใต้กรอบคิดนี้ หาญเชื่อว่า ไม่มี "ฝ่ายปฏิรูป" กับ "ฝ่ายอนุรักษ์" ที่แข็งกร้าวต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มแกนนำของรัฐบาลและพรรครัฐบาล จะมีก็แต่คนที่ลงมือทำ กับคนที่ "เป็นกังวล" ว่า ประธานาธิบดีใหม่จะ "ไปไกลเกินไป เร็วเกินไป" หรือไม่? และ อีกพวกที่เป็นส่วนใหญ่ในบรรดาชนชั้นนำของฝ่ายรัฐบาลที่เป็นพวก "นั่งบนภู ดูทางลม" เท่านั้น

เพราะนั่นเป็นวิถีทางที่ทำกันมาเนิ่นนานร่วมครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่นายพลเนวิน ยึดอำนาจรัฐในพม่า

"คุณอยู่รอดได้ด้วยการนั่งดูอยู่เฉยๆ รอวันฝุ่นหลายตลบ เมื่อทุกอย่างชัดเจนว่าลมจะพัดไปทิศไหน พวกนี้ทุกคนก็จะเข้ามามีส่วนร่วม ไม่จำเป็นต้องเชิญชวนใครทั้งนั้น"

นั่นหมายความว่า ตราบเท่าที่ทุกอย่างยังเรียบร้อย ดำเนินไปด้วยดี ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างแห่งอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงก็จะยังเกิดขึ้นต่อไปได้ ทีละเล็กทีละน้อย

เว้นเสียแต่ว่า เกิดวิกฤตการณ์ระดับหนักหนาสาหัส และรัฐบาลพลาดพลั้งในการรับมือกับสถานการณ์นั้น ทุกอย่างก็อาจหวนกลับไปสู่วิถีเดิมอีกครั้ง

แน่นอน ด้วยต้นทุนที่แพงอย่างยิ่ง

เพราะในทางหนึ่ง หาญ ยอนฮวย เชื่อเหมือนอย่างที่ นอง เต็ง เชื่อเช่นเดียวกันว่า

ในทันทีที่ประตูแห่งเสรีถูกเปิดอ้าออก จะปิดมันลงให้สนิทอีกครั้งนั้น...ยากเย็นอย่างยิ่ง!!



.