http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-03

ปราบดา หยุ่น: แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน, คอมเม้นต์สั้นๆ โดย กฤดิกร วงศ์สว่างพาณิชย์

.

บทความดีๆฯ ขอเสนอบทความหลักและบทความร่วมสนทนา เพื่อได้เห็นด้านกว้างด้านลึกของการเจาะประเด็นถกเถียง อันเป็นความงดงามของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งบนพื้นฐานให้ความเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ก็จะทำให้ผู้ร่วมอ่านได้ต่อเติมความคิดฝัน และเข้าใจความคิดของตนและสังคมได้ลึกซึ้ง แข็งแรงขึ้น แม้หากการถกเถียงจะมีจุดเน้นหนักไม่ตรงประเด็นกันนัก ก็ยังมีผลให้ผู้ร่วมต่างๆสามารถนำไปปรับใช้ในภาคปฏิบัติตามสภาพอันเหมาะสมของตน จนได้อยู่ดี ซึ่งต่อมา "..สะพานต้องถูกสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ลงไม้ร่วมมือ ด้วยการพักวางเรื่องส่วนตัวและเว้นวรรคจากความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆหรืออคติระหว่างกันชั่วขณะ จนกระทั่งสะพานเสร็จสำเร็จสมบูรณ์เสียก่อน ปัจเจกนิยมจึงจะสามารถหวนคืนฟื้นฟู และปัจเจกชนทั้งหลายจึงจะสามารถกลับคืนสู่ห้องหับของตนเพื่อเสพแสงไฟแห่งเสรีภาพ ในมายาของความไม่เกี่ยวดองข้องกันทางสังคมและการเมืองได้ดังเดิม.. "


แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน
โดย ปราบดา หยุ่น
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Tue, 2011-12-27 23:59


แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน

ความสำคัญของเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในสังคมไทย

และเหตุใดเราจึงมิอาจนิ่งเฉยอยู่กับที่เมื่อเสรีภาพดังกล่าวสั่นคลอน

ปราบดา หยุ่น


“...อย่าหลงเชื่อไปว่า เราได้หลุดพ้นจากรอยบาป (ของการเข่นฆ่าผู้คิดต่าง) แม้กระทั่งของการข่มเหงโดยกฎหมาย การลงทัณฑ์ความคิดเห็น หรืออย่างน้อยก็การแสดงความคิดเห็น ยังคงมีอยู่ในทางนิตินัย; และการบังคับใช้ของมัน แม้กระทั่งในยุคสมัยนี้ ก็มิได้เกิดขึ้นน้อยครั้งเสียจนจะสามารถตายใจว่าสักวันหนึ่งการลงทัณฑ์เช่นนั้นจะไม่ถูกนำมาใช้อย่างหนักหน่วงสุดขั้วอีกครั้งจอห์น สจ๊วร์ต มิลล์, On Liberty, 1859


ในโลกมนุษย์ยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ดูเหมือนจะมีสังคมเพียงสองประเภทที่สมาชิกในสังคมสามารถถูกกฎหมายตัดสินจำขังเป็นเวลานานสองถึงยี่สิบปี ด้วยข้อหาส่งข้อความสั้นจากโทรศัพท์มือถือของคนคนหนึ่งไปยังโทรศัพท์มือถือของคนอีกคนหนึ่ง ด้วยข้อหาแปลความบางบทบางตอนจากหนังสือภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่งเพื่อเผยแพร่ในพื้นที่ออนไลน์ส่วนตัว และด้วยข้อหาแสดงความเห็นทางการเมืองของตนบนเวทีสาธารณะ

สังคมสองประเภทที่ว่าคือ สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ (cult) ที่คลั่งคลุ้มในความเชื่อเบ็ดเสร็จสำเร็จรูปโดยปราศจากการตั้งคำถาม และโดยมิแยแสต่อเหตุผล สิทธิมนุษยชน และความจริง

สังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ อาจดูเหมือนมีความคล้ายคลึงคล้องเกี่ยวกันอยู่ไม่น้อย ทว่าจุดแข็งทางอำนาจของสังคมสองประเภทนั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิง สังคมเผด็จการ คือสังคมที่ปกครองโดยกำลัง โดยการบังคับข่มขู่ หรืออาจกล่าวรวมได้หลวมๆ ว่าเป็นการปกครองด้วย “ความกลัว” โดยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่เห็นคนอื่นที่เหลือเป็นเพียงฝูงสัตว์ สมาชิกในสังคมเผด็จการอาจเต็มไปด้วยความอัดอั้นตันใจ และไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ที่คุ้มค่ากับการต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำทรราชย์กับสมุนถืออาวุธ ทว่าไม่มีทางเลือก ต้องดำรงอยู่ในกรอบขังนั้นด้วยความจำทน

สังคมลัทธิมีคุณสมบัติแทบตรงกันข้าม สมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมลัทธิต่างค่อนข้างสุขีปรีดา ซึ้งซาบในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมั่นคงกลมเกลียวของความเป็นสาวกภายใต้การปกครองของผู้นำ ซึ่งมักได้รับการยกชูอยู่สูงจนมีสถานะเหนือมนุษย์ หรือมีภาพลักษณ์เป็นวีรชนไร้ผู้เทียมทาน และตราบใดที่สถานการณ์ในสังคมลัทธิดำเนินราบรื่นตามสูตรสำเร็จ ที่ถูกสถาปนาขึ้นด้วยการอ้างอิงความเห็นชอบของผู้นำ หรืออุปโลกน์ว่าเป็นการทำเพื่อผู้นำ สมาชิกส่วนใหญ่ต่างอิ่มเอมภาคภูมิกับการได้เกิดมารับใช้และปกป้องลัทธิของตนโดยถ้วนหน้า

และด้วยเชื่อมั่นว่าคำสอนของลัทธิคือสัจธรรมแห่งชีวิต สมาชิกทั้งหลายจึงมั่นใจว่า สิ่งที่ลัทธิสอนสั่งให้ตนเป็นและปฏิบัติคือ “ความถูกต้อง” คือ “ความดี” คือความ “มีศีลธรรม” กระทั่งถึงขั้นให้คุณสืบสานข้ามรุ่นไปยังชาติภพอื่น เมื่อมีสมาชิกหัวแข็ง ริอ่านแตกแถว คิดต่าง ตั้งคำถามสงสัย และหาญกล้าแสดงทีท่าผิดแผกไปจากข้อบังคับหรือความเชื่อของลัทธิ ทั้งในทางรุนแรงและนุ่มนวล ทั้งโดยตั้งใจและโดยไร้เดียงสา สาวกข้างมากมักเกิดอาการใจสั่น หวั่นหวาดว่าฐานความเชื่อของพวกตนจะถูกลบหลู่ดูแคลน กังวลวิตกว่าสมาชิก “กบฏ” ส่วนน้อยนั้นจะสร้างรอยร้าวและส่งผลให้เสาหลักของลัทธิล้มครืนลง

ข้อกล่าวหาที่ดีที่สุดเท่าที่สาวกลัทธิจะนำมาใส่ร้ายข่มขู่ผู้คิดต่าง มักมีเพียงข้อกล่าวหาไร้น้ำหนักและปราศจากเหตุผล อาทิ ผู้คิดต่างเป็นคนเลวทรามเพราะตั้งคำถามกับผู้นำหรือกับความศรัทธาในตัวผู้นำผู้ประเสริฐ ผู้คิดต่างต้องการทำร้ายผู้นำหรือทำลายลัทธิเพราะคนหวังดีที่ไหนจะเสือกคิดต่าง การคิดต่างแปลว่าผู้คิดต่างเนรคุณต่อลัทธิซึ่งเปรียบเสมือนบ้านของผู้คิดต่าง ดังนั้นผู้คิดต่างจึงควรออกไปจากบ้านหรือปลดตัวเองออกจากลัทธิเสีย สาวกลัทธิผู้มีจิตใจเหี้ยมโหดมักมีความเห็นถึงขั้นที่ว่าผู้คิดต่างทั้งหลายสมควรถูกฆ่าล้างโคตร นอกจากนั้นยังมีการกีดกั้นขัดขวาง ประณามความเห็นหรือความช่วยเหลือจากคนนอก โดยประกาศว่าคนนอกไม่เข้าใจในพื้นฐานวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง (ซึ่งไม่ต้องการตรรกะ) ของลัทธิตน

ทั้งหมดนั้นล้วนมิใช่ “เหตุผล” ที่เกิดจากการคิด (ตามความหมายของการ “ใช้เหตุผล”) หากแต่เป็นเหตุผลที่เกิดจากการบังคับไม่ให้คิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแม้แต่น้อย เนื่องเพราะกฎข้อที่หนึ่งของการเป็นสมาชิกลัทธิคือ “ถอดสมองส่วนที่ใช้ตรรกะและเหตุผลทิ้งไปเสียก่อน” ตามด้วยกฎข้อที่สอง “กฎระเบียบและคำสอนของลัทธิย่อมถูกต้องหมดจด” และแม้ว่าสาวกลัทธิจะนิยมใช้ถ้อยคำขับไล่ไสส่งผู้คิดต่างให้ออกห่างไปจากลัทธิ ทว่าในทางปฏิบัติพวกเขาพอใจกับการคุมขัง ทำร้าย หรือบังคับข่มขู่ให้ผู้คิดต่างต้องถอนคำพูด กลับใจ หรือปิดปากไว้ด้วยความกลัวเสียมากกว่า เป็นที่รู้กันดีในหมู่ผู้มีประสบการณ์เข้าร่วมลัทธิ ว่าการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นเรื่องง่ายดาย ทว่าการลาออกหรือการปลดปล่อยตนเองจากสถานะของความเป็นสาวกนั้นเป็นเรื่องที่แทบต้องเอาชีวิต (ทั้งของตนเองและคนใกล้ชิด) เข้าแลก สังคมลัทธิทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้ผู้คิดต่างลอยนวล

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิ จึงอยู่ที่สถานภาพทางจิตใจของสมาชิกในสังคม สมาชิกในสังคมเผด็จการส่วนมากมีชีวิตอยู่อย่างจำยอม รอคอยการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบการปกครองที่เสรีกว่าอย่างลำบากยากไร้และไม่เห็นอนาคต ในขณะที่สมาชิกของสังคมลัทธิมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกครอบงำ มิหนำซ้ำยังพากันเสนอตัวเป็นผู้ตรวจตราความเรียบร้อยในลัทธิอย่างบ้าคลั่งเสียเอง โดยมิต้องรับคำสั่งจากเบื้องบน

นั่นหมายความว่า ปัญหาส่วนใหญ่ของสังคมเผด็จการอยู่ที่ตัวผู้นำ ในขณะที่ปัญหาสำคัญของสังคมลัทธิอยู่ที่ตัวสมาชิกเอง ทั้งสมาชิก “วงใน” ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการบริหารลัทธิ และบรรดาสาวกคลั่งจัดที่หลับหูหลับตาศรัทธาลัทธิและพร้อมจะทำการกำจัดผู้เป็นกบฏ (หรือผู้ที่ถูกพวกเขากล่าวหาว่าเป็นกบฏ) ให้ราบคาบ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ความเกลียดชัง ความรุนแรง และความอัปรีย์ที่เกิดขึ้นในสังคมลัทธิจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากการเห็นชอบหรือจากความประสงค์โดยตรงของผู้นำ บ่อยครั้งมันเกิดจากสาวกผู้เสนอหน้าแสดงความรัก ความภักดี และใช้ข้ออ้างอันปราศจากเหตุผลทั้งหลาย สร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมล่าแม่มดและการข่มขู่ผู้คิดต่างอย่างปลอดซึ่งจริยธรรมหรือความยุติธรรมใดๆ

ในยุคสมัยนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ อาจเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดของสังคมที่มีส่วนผสมของทั้งสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิ (บูชาประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ผู้มีสถานะเป็นประธานาธิบดี “ตลอดกาล” แม้ว่าเขาได้ตายไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537) ทว่าจากสภาวะที่ปรากฏชัดในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากกรณีการกล่าวหา ใส่ร้าย ข่มเหง ฟ้องร้อง และลงโทษผู้คิดต่างอย่างเกินเลยหนักหน่วง (ยังไม่นับว่าในบางกรณีผู้ถูกลงโทษอาจเป็นผู้บริสุทธิ์) ยังมีกรณีการเกิดรัฐประหารที่ขัดขวางการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงมาหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และยังคงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ จะมีก็เพียงผู้นิยมหลอกลวงตนเองอย่างล้ำลึก หรือสาวกคลั่งจัดในลัทธิ (ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือคนประเภทเดียวกัน) เท่านั้นที่จะไม่สรุปว่าสังคมไทยก็มีคุณสมบัติที่มิเพียงละม้ายสังคมเผด็จการ มิเพียงคล้ายสังคมลัทธิ หากแต่ดูเหมือนจะมีส่วนผสมของสังคมทั้งสองประเภทอยู่อย่างกลมกลืนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คงเกินเลยความจริงและไม่เป็นธรรมนัก หากจะวางสังคมไทยไว้บนแท่นฐานเดียวกันกับเกาหลีเหนือ อย่างน้อยจากภาพบนเปลือกภายนอก สังคมไทยยังคงเป็นสังคมเปิด ให้เสรีภาพในการใช้ชีวิตกับสมาชิกในสังคม มีการถ่ายเทและสานต่อทางปัญญากับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเสรีนิยมที่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตยและสนับสนุนสิทธิพื้นฐานทางความคิดและการแสดงออกของปัจเจกชนอย่างเข้มแข็งมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ สังคมไทยยังขึ้นชื่อในสากลโลกว่าเป็นประเทศที่มี “ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” (tolerance) มากที่สุดประเทศหนึ่ง จึงมิอาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่สมาชิกส่วนใหญ่ตกอยู่ในความหวาดกลัว ถูกปิดหูปิดตา หรือถูกกีดกันกดข่มมิให้ได้สัมผัสการคิดต่างและแนวทางเสรี สมาชิกในสังคมไทยส่วนใหญ่มีิอิสระในการเดินทางออกนอกประเทศ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ มีอิสระในการนับถือศาสนา มีโอกาสปรนเปรอตนเองด้วยความบันเทิงนานาชนิด (ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย) ด้วยความสุขสบาย หรูหราฟุ่มเฟือย ได้ง่ายดายกว่าสมาชิกในสังคมอื่นหลายเท่า แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งโดยปัญญาชนร่วมชาติว่าสังคมไทยเป็นสังคม “ปากว่า ตาขยิบ” หรือ “มือถือสาก ปากถือศีล” และแม้ว่าจะเป็นคำวิจารณ์ที่น่ารับฟังอยู่มากในหลายบริบท (แต่จะว่าไป สังคมไหนๆก็มีคุณสมบัติของความเสแสร้ง สร้างภาพ ตอแหล ผสมอยู่ทั้งนั้น) ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยใดก็ตาม สังคมไทยยังถือว่าห่างไกลจากการตกอยู่ภายใต้สภาวะขั้นวิกฤตของความเป็นสังคมเผด็จการและความเป็นสังคมลัทธิสุดโต่งอย่างไม่ต้องสงสัย

เช่นนั้นแล้ว เหตุใดเมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อมีการตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาว่าลบหลู่ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เหตุใดเมื่อสมาชิกบางคนมีพฤติกรรมขัดแย้งกับธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ที่ “สังคม” เรียกร้องแกมบังคับให้ปฏิบัติ (ทั้งที่บางธรรมเนียมมิได้เป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดอย่างเป็นทางการ) บรรยากาศและอารมณ์ของสังคมไทยจึงเคลื่อนเข้าใกล้เส้นขีดของความเป็นสังคมเผด็จการและสังคมลัทธิได้ทันทีอย่างน่าวิตก ความเป็นสังคม “อดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง” ดังที่ชาวโลกเยินยอสรรเสริญไว้ เหือดหายในพริบตา ปัญญาชนผู้ชาญฉลาด ได้รับการศึกษาขั้นสูงสุดจากประเทศโลกที่หนึ่ง กลับกลายเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อและพิธีกรรมไร้ตรรกะโดยปราศจากยางอาย ศิลปินผู้ชื่นชม “การมองมุมกลับ” “การแหกคอก” “การคิดนอกกรอบ” ต่างแปรร่างเป็นนักอนุรักษ์นิยมผู้ปกป้องทัศนคติสำเร็จรูปใส่ผงชูรส นักสื่อสารมวลชนที่ดิ้นรนเรียกร้องเสรีภาพสื่อ ต่างเอาหูฟังไปนา เอาตากล้องไปไร่ มิกล้าเปิดพื้นที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกริดรอนเสรีภาพและผู้ถูกกลั่นแกล้งรังแก ครูบาอาจารย์ นายแพทย์ พระสงฆ์ผู้พร่ำเทศนาวิถีแห่งพุทธอันเปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา ต่างกลายเป็นกระบอกเสียงให้กับสาวกวงในของลัทธิ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม กระทั่งทนายและผู้พิพากษาซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายทางกฎหมายของประชาชน ต่างตัดสินใจแทบเป็นเสียงเดียวกันว่าการปกป้องตรรกะผิดเพี้ยนสำคัญกว่าการรักษาความยุติธรรม

หากความ “เป็นคนไทย” คือการอยู่ในศีลธรรมอันดี รักสามัคคี มีความโอบอ้อมอารี ดังที่ป่าวประกาศกันอยู่ทุกเช้าค่ำ เมื่อมีการพูดถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา กลับดูเหมือนว่าประเทศนี้จะมี “คนไทย” อาศัยอยู่ไม่มากเท่าไรเลย

เหตุใดความเป็น “สังคมอารมณ์ดี” เป็น “สังคมใจกว้าง” เป็น “สังคมไม่เป็นไร” ของไทย จึงบอบบางและผันปรวนได้ง่ายดายเพียงนั้น

หากคำตอบคือ “ความรัก” ย่อมเป็นเรื่องวิปริตพิสดารไม่น้อยที่ความรักกลับบันดาลให้แผ่นดินไทยเจิ่งนองไปด้วยอุทกภัยแห่ง “ความเกลียดชัง” หลากล้นท่วมท้นหนทางแห่งเหตุผลจนไม่มีใครเอาอยู่เช่นนี้

หากยังสามารถสันนิษฐานด้วยความหวังว่าสังคมไทยไม่สุดขั้วในความเป็นเผด็จการและเป็นสังคมลัทธิเทียบเท่าเกาหลีเหนือ เหตุผลที่มีความเป็นไปได้ที่สุดข้อหนึ่ง คือสมาชิกในสังคมบางส่วนยังไม่เข้าใจความสำคัญและบทบาทของเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก (freedom of speech) ที่แท้จริงดีพอ ยังไม่รู้ซึ้งว่าอิสรภาพในการเลือก ในการใช้ชีวิต ในการดำรงสถานะของความเป็น “ปัจเจกชน” ในสังคม เป็นอิสรภาพที่งอกเงยขึ้นจากรากแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกทั้งสิ้น

คุณสมบัติที่น่ายินดีที่สุดของมนุษยชาติไม่ใช่การสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้ครองโลก แต่คือการสามารถก้าวขึ้นสู่สถานะของสัตว์ผู้รู้จักเรียนรู้จนมีเหตุผลเพียงพอที่จะหาหนทางอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางความคิดอย่างเป็นธรรมและสันติ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่า “เจริญแล้ว” มิได้เจริญเพราะก้าวหน้าทางวัตถุเท่านั้น ตรงกันข้าม การใช้เหตุผล การยอมรับในตรรกะ การให้ความสำคัญกับการมองโลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การเข้าใจว่าความแตกต่างหลากหลายคือธรรมชาติของโลกและสังคมมนุษย์ (ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้มนุษย์แสดงออกตาม “ธรรมชาติ” ของตนได้มากที่สุดโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน) คือความ “เจริญ” ทางปัญญา ที่เอื้อให้เกิดความเจริญทางวัตถุและการพัฒนาด้านอื่นๆตามมาอีกมากมาย ในขณะที่การปิดปาก การเซ็นเซอร์ การบังคับข่มขู่ให้อยู่ในกรอบกำหนดกักขัง คือต้นเหตุสำคัญของความหยุดนิ่ง ความล้าหลัง ความแร้นแค้น จนอาจเลยเถิดถึงการล่มสลายของสังคม

แสงสว่างจากไฟฟ้าจะไม่สามารถเกิดขึ้น ไม่สามารถได้รับการแพร่กระจายแจกจ่ายความสะดวกสบายกับมนุษย์ไปทั่วทุกมุมโลก หากผู้คิดประดิษฐ์มันไม่ได้รับการคุ้มครองจากแสงสว่างทางปัญญาที่มาพร้อมกับเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก แสงไฟแห่งเหตุผลจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ยิ่งกว่าแสงไฟสังเคราะห์ แสงไฟแห่งปัญญาจึงเป็นแสงไฟดวงสำคัญที่เราจำเป็นต้องยึดมั่นหมั่นดูแลรักษามิให้มอดดับ หากเรายังต้องการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างสงบและเสรี

กลียุคจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อเสรีภาพของการไม่เชื่อในกลียุคถูกริดรอนไปเท่านั้น ตราบใดที่แสงไฟแห่งเหตุผลยังคงมีช่องทางส่องสว่าง ความหวังที่สังคมจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานาไปได้ย่อมยังเรืองรองอยู่เสมอ

สมาชิกในสังคมผู้สามารถถือตนเป็น “ปัจเจกชน” อยู่ได้ทุกวันนี้ ล้วนเป็นหนี้บุญคุณบรรพบุรุษที่ต่อสู้โดยเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก นับตั้งแต่การต่อสู้กับทรราชย์ กับอำนาจปกครองของศาสนา กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กับเผด็จการทหาร กับทรราชย์ในคราบสังคมนิยม พวกเขาคือสถาปนิก วิศวกร และช่างก่อสร้างตัวจริงของ “บ้าน” เสรี หลังที่เราใช้พำนักพักพิงโดยไม่ต้องสำนึกว่าความเป็นปัจเจกคือความหรูหราฟุ่มเฟือยของสังคมมนุษย์ยุคสมัยใหม่ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากมิใช่เพราะการเสียสละและการสังเวยตนของบรรพบุรุษ บรรพบุรุษที่ว่านั้นไม่จำกัดเฉพาะ “บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ” หากคือบรรพบุรุษของโลก ต่างยุคต่างสมัย ต่างภูมิประเทศ ต่างยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ การออกแบบ และการก่อสร้าง แสงไฟในบ้านหลังนี้จึงใช้เวลาไม่น้อย ใช้สมองไม่น้อย ใช้ความกล้าบ้าบิ่นไม่น้อย และใช้เลือดใช้เนื้อไม่น้อย กว่าที่มันจะทำงานส่องสว่างอย่างค่อนข้างเสถียร ให้เราได้ประโยชน์จากมันอย่างเป็น “ปัจเจก” ในห้องเล็กๆส่วนตัวของเราเอง

ท่ามกลางธรรมชาติดิบเปลือย การเป็นปัจเจกอย่างปลอดภัยและสุขสบายมิอาจเกิดขึ้นได้ในสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะในสังคมก่อนสมัยใหม่ ผู้ใดประสงค์จะอยู่อย่างเป็นปัจเจกถือเป็นสมาชิกนอกคอก นอกรีต ผิดเพี้ยน และหากยืนยันจะอยู่อย่างปัจเจกจริง ก็จำต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้อย่างเรียบง่ายสมถะในสภาพแวดล้อมที่ไร้ความปราณีต่อการอยู่อย่างสันโดษ กาลเวลาได้ดำเนินมาถึงช่วงกลับตาลปัตร เมื่อการเป็นปัจเจกชนคือความปลอดภัย ความสงบ สบาย ไร้รอยด่าง และการแสดงออกร่วมกันทางสังคมกลายเป็นกิจกรรมของนักเคลื่อนไหว น่ารำคาญ ชวนตั้งข้อสงสัยว่ามีนัยยะแฝง เสี่ยงต่อการถูกใช้ “เป็นเครื่องมือทางการเมือง” ถูกกล่าวหาว่าเป็นกิจกรรมของคนสร้างภาพ เรียกร้องความสนใจ อยากเท่ หรือกระทั่งจิตวิปลาส

ถึงกระนั้น ความเป็นปัจเจกก็จะมิอาจดำรงอยู่อย่างถาวร หากรากฐานของมันมีโอกาสถูกสั่นคลอนได้เสมอ เสรีภาพในการใช้ชีวิตของปัจเจกชนจะมืดหม่น หากแสงไฟแห่งเหตุผลถูกละเลยและได้รับการยินยอมให้ถูกกลบดับโดยอำนาจเผด็จการและระบบลัทธิ สมาชิกในสังคมผู้ยังมีสติ ยังมีความหวัง และยังเชื่อมั่นว่าสังคมของตนมิใช่เผด็จการ มิใช่ลัทธิ จึงจำเป็นต้องสละความปลอดภัยและความสงบสบายในห้องส่วนตัวชั่วครู่ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าจะปกปักรักษาแสงไฟแห่งปัญญา แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มีค่าทว่าเปราะบางดวงนี้ไว้ด้วยกัน

หากสังคมจำเป็นต้องสร้างสะพานอย่างเป็นรูปธรรม การกล่าวว่าเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน แต่ขอเก็บตัวอยู่ในห้องเพื่อสร้างสะพาน “ด้วยวิถีทางของตนเอง” จึงเป็นการแสดงออกอย่างผิดเพี้ยนในเชิงตรรกะ โดยสมาชิกผู้ไม่เข้าใจในความหมายของวาระสำนึกทางสังคม ปัจเจกนิยมสร้างสะพานขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ สะพานต้องถูกสร้างขึ้นด้วยการร่วมแรงร่วมใจ ลงไม้ร่วมมือ ด้วยการพักวางเรื่องส่วนตัวและเว้นวรรคจากความขัดแย้งเล็กๆน้อยๆหรืออคติระหว่างกันชั่วขณะ จนกระทั่งสะพานเสร็จสำเร็จสมบูรณ์เสียก่อน ปัจเจกนิยมจึงจะสามารถหวนคืนฟื้นฟู และปัจเจกชนทั้งหลายจึงจะสามารถกลับคืนสู่ห้องหับของตนเพื่อเสพแสงไฟแห่งเสรีภาพในมายาของความไม่เกี่ยวดองข้องกันทางสังคมและการเมืองได้ดังเดิม

สมาชิกบางส่วนในสังคมไทยผู้จดจ้องจะกลบดับแสงไฟแห่งปัญญาและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก คือกลุ่มคนผู้หวังร้ายต่อสังคมและอนาคตของชาติที่แท้จริง พวกเขาก่อตั้งขบวนการให้ร้ายหมายหัวสมาชิกผู้คิดต่าง อ้างว่าความคิดต่างเห็นต่างคือความต้องการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์และระบอบการปกครองของชาติ นำพลังแห่งรักและศรัทธาของสมาชิกจำนวนมากในสังคมมาใช้เป็นเหตุผลและเครื่องมือในการข่มเหงรังแกผู้คิดต่าง บิดเบือนความจริงและข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้วยสื่อชวนเชื่อและวาทกรรมซ้ำซากที่พยายามฉุดลากความเห็นต่างให้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของความเป็นขบถ เป็นผู้เนรคุณ เป็นคนชั่วช้า เป็นขี้ข้านักการเมือง

หากสมาชิกส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อมั่นว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิที่ิมืดบอดทางเหตุผล ทว่าเป็นสังคมเสรีที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และหากความ “เป็นคนไทย” จะเป็นสถานะที่น่าภาคภูมิใจในสากลโลกโดยแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่แสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกที่มักถูกหรี่ดับลง ต้องได้รับการกอบกู้ให้หลุดพ้นจากกำมือของกลุ่มคนผู้เป็นปรปักษ์ต่อปัญญาและความก้าวหน้าของสังคม

สังคมที่ได้รับการปกครองโดยธรรมไม่มีความจำเป็นต้องหวาดกลัวความจริง ไม่ต้องกักขังผู้เห็นต่าง ไม่ต้องใช้คำว่า “กบฏ” ปรักปรำสมาชิกด้วยกัน การมอบเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกอย่างหมดจดให้กับสังคมคือบทพิสูจน์ที่จะสะท้อนภาพได้แจ่มชัดที่สุดว่า ตัวตนที่แท้ของสังคมนี้เป็นเช่นไร หากสมาชิกในสังคมกล้ายืนยันว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมเผด็จการ ไม่ใช่สังคมลัทธิ วิธีพิสูจน์ที่จะปราศจากข้อกังขาโดยสิ้นเชิง คือต้องปรับระดับแสงไฟแห่งเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกให้เจิดจำรัสถึงขีดสุด

ความถูกต้องที่แท้ย่อมกล้าปรากฏตัวในที่แจ้ง ความจริงที่แท้ย่อมกล้าสบตากับแสงไฟ

หากสมาชิกในสังคมร่วมแรงร่วมใจรักษาแสงไฟแห่งเหตุผลและปัญญาดวงสำคัญดวงนั้นไว้ด้วยกัน สังคมไทยก็ยังมีหวังที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีโพสต์ความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai3.info/journal/2011/12/38507



++

คอมเม้นต์สั้นๆ ถึงคุณปราบดา หยุ่น กับบทความ "แสงไฟที่เราต้องรักษาไว้ด้วยกัน"
โดย กฤดิกร วงศ์สว่างพาณิชย์
ในเวบไซต์ ประชาไท . . Thu, 2011-12-29 00:32


ก่อนอื่นใด ผมต้องขอกล่าวชื่นชมภาษาที่หมดจด งดงาม และชัดเจนในการสื่อความของคุณปราบดาในบทความชิ้นดังกล่าวนี้ (แม้ผมจะต้องขอสารภาพว่า ผมไม่ใช่แฟนหนังสือตัวยงของคุณปราบดานักก็ตาม) และผมก็ "เห็นด้วยอย่างยิ่ง" กับ พื้นฐานจุดยืนทางความคิด ของคุณปราบดา

กระนั้น ผมมีประเด็นที่เห็นว่าสมควรแก่การแลกเปลี่ยนอยู่บ้าง (หากคุณจะมีโอกาสได้ผ่านมาเห็นโน้ตชิ้นนี้) แม้จะเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในตัวบทความ แต่ผมคิดว่าในระดับหนึ่งมันสะท้อนถึง "ปัญหาในการมองปัญหา" ของบทความที่ว่า ผมมีประเด็นแลกเปลี่ยนดังนี้


1. ความเป็นไปได้ในการแยก "สังคมเผด็จการ" กับ "สังคมลิทธิ"

ในตัวบทความของคุณปราบดา แน่นอนว่ามีการพยายามจะแสดงให้เห็นถึง "ความต่าง" ในแง่ characteristic ของ "สังคมทั้ง 2 ประเภท" ที่ว่ามานี้ ซึ่งหากเราสรุปแบบง่ายที่สุด (ขออภัยหากเป็นการ over-simplified) คือ สังคมแบบเผด็จการจะเน้นที่การปกครองด้วยความกลัว ด้วยพลานุภาพของรัฐ ในขณะที่สังคมแบบลัทธิจะปกครองผ่านพลังอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจของภาษา และการครอบงำกระบวนการคิด และคุณปราบดายังได้เน้นเพิ่มต่อไปอีกว่า สังคมเผด็จการนั้นมีฟังก์ชั่นในการทำงานหลกผูกติดอยู่กับตัว "ผู้นำ" ในขณะที่สังคมแบบลัทธิฟังก์ชั่นการทำงานมกจะผูกติดอยู่กับตัว "สังคม"

คำถามของผมมันก็แบบง่ายๆ ซื่อๆ ประสาคนบื้อๆ คนหนึ่งนี่แหละครับว่า "สุดท้ายแล้วมันสามารถแบ่งแยกได้อย่างที่ว่าจริงหรือ"?

เราสามารถแยก "ความกลัว (fear)" ออกจาก "ความรัก (love)"/"ความร่วมมือ (trust)" ได้จริงๆ ล่ะหรือ?

ผมคิดว่ามันทำไม่ได้หรอกครับ เอาเข้าจริงๆ แล้ว แม้แต่ในบทความของคุณปราบดาเอง คุณก็ยังไม่สามารถ "หาพบ" ได้เลย แม้แต่เกาหลีเหนือ ที่นำมายกเป็นตัวอย่างในบทความเองนั้น ก็ถูกนำเสนอในฐานะสังคมที่ผสม (blend) ระหว่างสองประเภทนี้เข้าด้วยกัน (และด้วยความเคารพ...นี่เค้าเรียก "ความเป็นไปได้แบบที่ 3" ครับ ฉะนั้นด้วยตัวบทความเองที่บอกว่ามีสังคมเพียงสองประเภทที่ดูจะเป็นไปได้ ก็ออกจะผิดอยู่)

ในสังคมเกาหลีเหนือนั้น เราไม่อาจจะปฏิเสธได้โดยง่ายหรอกว่า "ความรัก"/"ความร่วมมือ" ที่มีต่อตัว "ท่านผู้นำ" นั้น ไม่ได้มีเบื้องหลังของการคงอยู่ของพวกมัน มาจาก "ความกลัว"

และหากจะพูดในแง่นี้แล้ว ในสังคมแทบจะทุกระบบในโลกก็ "รักกัน" บนพื้นฐานของ "ความกลัว" ต่อบางสิ่งทั้งสิ้น (เพราะเรา "กลัว" ว่าจะต้องตายเพราะคิดต่างจาก "ผู้มีอำนาจ/อำนาจนำในสังคม" ไม่ใช่หรอกหรือ จึงร่วมมือกันสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา เพื่อตอบสนองความกลัวของเรา ให้ต่อไปสามารถ "เห็นต่างได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน")

เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่เป็นปัญหาในการมองปัญหาอย่างแรกของคุณปราบดา คือผมเองเห็นด้วยว่า "ระบอบเผด็จการ" (จะทางกายภาพ หรือทางความคิด จิตใจอะไรก็ตามแต่) นั้นเป็นปัญหา แต่ปัญหาของคุณนั้นคือการมองส่วนที่ไม่ได้เป็นปัญหาของตัวปัญหานั้นๆ หรือเปล่า?

ที่ผมกล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่าผมจะต้องการพูดว่าเผด็จการไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง (มันเป็นปัญหาแน่นอน) ซึ่งผมเห็นตรงกับคุณปราบดาในแง่นี้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คุณปราบดาพยายามจะ "แยก" มัน (เป็นประเภท) ฉะนั้นคุณปราบดาก็จะต้องหาลักษณะพิเศษจำเพาะ (differentia specifica) ของระบอบเผด็จการออกมาเพื่อ "แยกมัน" ออกจาก "สิ่งอื่นๆ" ซึ่งผมเห็นว่าฟังก์ชั่นของการใช้ความกลัว ไม่ใช่ลักษณะจำเพาะใดๆ เลย

ดูอีกตัวอย่างเพิ่มก็ได้ครับ อย่างฝรั่งเศส หรือเยอรมนี ในสหภาพยุโรปนั้น ก็แน่นอนว่าเป็นประเทศใหญ ที่สำคัญของสหภาพยุโรป ตัวสหภาพเองก็ "กลัวการไม่ให้ความร่วมมือของสองประเทศนี้" และสองประเทศนี้เองก็ทราบถึง "ความกลัว" ที่รัฐสมาชิกอื่นมีต่อพวกตน" ทั้งสองรัฐนี้ก็บริหารความกลัวเช่นเดียวกัน แต่ก็คงจะตลกอยู่หากจะบอกว่าสองประเทศนี้เป็นเผด็จการเพราะบริหารความกล้ว

และ (อีกครั้งหนึ่ง) คุณสามารถ "แยก" สังคมออกเป็น 2 ประเภท ได้อย่างที่ว่า "ตั้งแต่ตอนไหน?"

ตั้งแต่ตอนไหนที่เผด็จการไม่ใช่ลัทธิ, ตั้งแต่ตอนไหนที่ความกลัว กับความรัก/ความร่วมมือ ถูกตัดขาดออกจากกัน?


2. ว่าด้วยการถอดสมองส่วนที่มีตรรกะ

ตอนแรกที่ผมอ่านเจอข้อความส่วนนี้ของคุณปราบดา ผมก็เกือบจะเห็นด้วย แต่พอมาลองคิดอีกที ผมเห็นว่าไม่น่าจะใช่ ไม่น่าจะเป็นการวาง (address) ตำแหน่งแห่งที่ของปัญหาอย่างตรงประเด็นนัก เอาจริงๆ จะว่าส่วนนี้คุณปราบดาพูดมาไม่ถูกเลยก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก แต่ผมคิดว่า "การถอดสมองส่วนที่มีตรรกะ" ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่ง (และทางเลือกสุดท้าย) ของเหล่าผู้นิยมเจ้าเสียมากกว่า

สิ่งที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นโดยเป็นวงกว้างมากกว่านั้น ดูจะเป็น "การถอดถอนความเป็นไปได้ในการคิด ด้วยกรอบตรรกะอันเป็นไปได้แบบอื่นๆ ออกไป" เสียมากกว่า คือไม่ใช่การถอดทิ้งยกเครื่องอะไรอย่างที่คุณปราบดาว่ามา แต่เหลือเพียงทางเลือกในการคิด การมองแบบเดียวไว้ให้ต่างหาก

ผมมองว่าแบบนี้อาจจะน่ากลัวเสียยิ่งกว่าการถอดสมองส่วนการคิดอย่างเป็นตรรกะทิ้งทั้งกะบิเสียอีก เพราะหากเค้าถอดทิ้ง เค้าก็คงจะทำเพียงอย่างที่คุณปราบดาว่ามาคือ การยัดใส่ความเชื่อว่า "กฏระเบียบและคำสอนของลิทธิย่อมถูกต้องหมดจด" แล้วก็จบไป แต่การเหลือสมองส่วนตรรกะไว้ แต่ทำลายความเป็นไปได้แบบอื่นๆ ทั้งหมดอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนี้ มันอนุญาติให้เกิดการพัฒนาที่น่ากลัวได้ เกิดเป็น Hyper-Nationalist คือเป็นพวกบ้าคลั่งชาตินิยมยิ่งกว่าตัวหลวงวิจิตรที่คนเหล่านี้สมาทานตัวเป็นสานุศิษย์เองเสียอีก หรือการเป็น Hyper-Royalist ที่ดูจะคลั่งเจ้าเสียยิ่งกว่าตัวราชสำนักคลั่งไคล้ในตัวเสียอีก ผมมองว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และนั่นน่ากลัวกว่าการถอดสมองทิ้งไปทั้งรากทั้งโคนนัก

ทางเลือกการถอดสมองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อตรรกะชุดดังกล่าวที่ได้รับการอนุญาตให้เป็นตรรกะชุดทางการ (Official Logic) เจอหนทางตันในการโต้แย้ง...การถอดสมองตัวเองทิ้ง เสมือนการสละเครื่องบินชนเรือรบก็จะเกิดขึ้น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคุณพงพัฒษ์ หรือพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งก็จะถูกโปรแกรมให้พูดตอบได้เพียง "ไม่รักพ่อ มึงก็ไปหาบ้านอื่นอยู่" (เป็นโปรแกรมการตอบโต้ที่โง่เง่าเสียยิ่งกว่าคุณสิริในไอโฟน 4 เอส)


3. สมาชิกในสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ คือคนที่เชื่อว่าสังคมของตนเป็นสังคมประชาธิปไตย และยังคงมีพื้นที่ของเสรีภาพอยู่...หรือครับ?
ผมคิดว่าข้อความแนวนี้ ที่พยายามโน้มนาว (Encourage) ให้คนออกมาสู้ของคุณปราบดานั้น แม้จะมีจุดประสงค์ทางความคิดที่ดีมาก และน่านับถือ แต่พร้อมๆ กันไป มันก็ผิดชนิดกลับหัวกลับหางกันเลยทีเดียว

"คนที่ออกมาสู้มันคือคนที่เห็นว่าสังคมไทยไม่ได้เป็นสังคมประชาธิปไตย อย่างที่เคยถูกหลอกให้เชื่อเลยนี่หว่า" ตรงกันข้าม คนที่ยังนิ่งเฉย เปรมปรีไปวันๆ นั้นต่างหากที่ยังหลงงมกับคติตามตรรกะชุดทางการว่า "เราเสรี, มีประชาธิปไตย"

คนที่ลุกขึ้นมาคือคนที่ "เชื่อว่าเราควรจะมีประชาธิปไตย (ที่เรายังไม่มี)" ในขณะที่คนซึ่งกำลังนั่ง "จับเจ่าอยู่ในห้องของตน" (หากพูดด้วยภาษาแบบคุณ) นั้นต่างหากครับคือ คนที่ไม่เคยจะลองชะโงกคิด ตะแคงถามอะไร แล้วเชื่ออย่างแน่นิ่งว่าสังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย

คนที่ออกมาจากห้อง ผมมองว่าคือคนที่มองเห็นปัญหาว่า ประชาธิปไตย กับการฆ่าคนที่เห็นต่างไป 91 ศพ "มันเป็นไปไม่ได้...ไปด้วยกันไม่ได้" ฉะนั้นคนเหล่านั้นไม่ได้มองว่าเรามีเสรีอยู่ จึงออกมาสู้ แต่เห็นว่าเราไม่มีเสรี จึงต้องสู้เพื่อให้ได้เสรีนั้นมาครองต่างหากครับ


4. (สุดท้าย) ประเทศไทยไม่ได้เป็นเผด็จการสุดโต่ง...

ประเด็นนี้เป็นประเด็นเล็กๆ ยิบย่อย (อาจจะเรียกว่าหยุมหยิมก็ได้) แต่ผมคิดว่ามันสื่อถึงการปัญหาในการมองปัญหาของคุณปราบดาด้วยเช่นกัน จากที่คุณปราบดายกตัวอย่างเรื่องเกาหลีเหนือ แล้วก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นรูปแบบสุดโต่งของเกาหลีเหนือ แล้วมานำเสนอว่าเราก็เป็นในลักษณะเดียวกัน แต่ในระดับ (degree) ที่แตกต่างกัน เรา "ยังคงห่างไกลจากความสุดโต่ง" แบบนั้น เรายังมีอิสระในการดำรงชีวิต จับจ่ายใช้สอย เที่ยวเล่น ฯลฯ

แน่นอนครับว่าผมเห็นด้วยว่าประเทศไทยอยู่คนละระดับกับเกาหลีเหนือ (แม้จะยืนบนเส้นทางเดียวกันในหลายส่วน) แต่การ address ปัญหาว่าเรามีเสรีภาพมากกว่า เพราะเราจับจ่ายใช้สอยได้ง่าย เที่ยวสนุกได้ทั่ว ฯลฯ นั้น ดูจะทำให้ผมกระอักกระอ่วนความรู้สึกอยู่บ้าง แน่นอน ว่า "สิทธิในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ" นั้นย่อมนับว่าเป็น สิทธิเสรีภาพได้ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง เราก็จะพบประเทศอย่างจีน, ซาอุดิอาระเบีย, ฯลฯ ที่ความเจริญทางวัตถุเจริญงอกงาม (ในหลายๆ แง่ มากกว่าประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ) การเดินทางท่องเที่ยว, การจับจ่ายใช้สอย, ฯลฯ

แต่ผมเองยังไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาลดทอนความ "สุดโต่ง (radical)" ความความไร้ซึ่งมนุษยธรรม และประชาธิปไตยในรัฐเหล่านี้ได้กระมัง โดยเฉพาะกับซาอุดิอาระเบีย ที่ขึ้นแท่น 1/10 ประเทศที่ไร็ซึ่งมนุษยธรรมที่สุดในโลกแน่ๆ มีการประหารคนกลางที่สาธารณะเกิดขึ้น กษัตริย์ปกครองอย่างเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ฯลฯ สิ่งเดียวที่ทำให้มันไม่ถูกประณามโดยชาวโลกหนักหนาเท่ากับอิหร่าน ก็คงเพียงเพราะการร่วมสังวาสทางการเมือง (political intercourse) กับสหรัฐอเมริกาอย่างไม่รู้จักเบื่อหน่ายกระมัง

คำถามคือ ความเจริญ และเข้าถึงทางวัตถุดังที่คุณปราบดาว่ามา มันใช้เป็นตัวชี้วัดอะไรกับความ "ไม่สุดโต่ง" ได้จริงๆ ล่ะหรือ? หากได้ ซาอุดิอาระเบียนี่ "ไม่สุดโต่ง" ด้วยหรือเปล่า?

และที่ผมว่าน่าตลกไปกว่านั้นสำหรับประเทศไทยคือ การสามารถเลือกแสดง "ความสุดโต่ง" ใส่คนบางกลุ่มได้ โดยละที่จะแสดงออกต่อคน "อีกกลุ่ม" ทั้งๆ ที่กระทำการเรื่องเดียวกันต่างหากที่เป็นความสุดโต่งของความสุดโต่งในรูปแบบหนึ่ง คือ เลือกและควบคุมความสุดโต่งได้อย่างไม่ต่างจากมือเท้าของตน

สามารถอ่านบทความของคุณปราบดา หยุ่น ได้ที่: http://www.prachatai3.info/journal/2011/12/38507

---------------------------------------------

ปล. ผมเองเขียนโน๊ตนี้ขึ้น เพียงแค่หวังว่าจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างกลุ่มคนที่คิดต่าง (จากคนกลุ่มใหญ่) ด้วยกัน ซึ่งผมเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์มากกว่า การที่พวกเดียวกันเขียนอะไรออกมาแล้วก็อวยตามกันไปหมด ทั้งนี้ผมยังคงขอชื่นชมในจุดยืนทางความคิด และความตั้งใจของคุณปราบดา ที่ได้เขียนบทความชิ้นที่ว่านั้นขึ้นมาอย่างยิ่งครับ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีโพสต์ความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2011/12/38520
โดยขอคัดเฉพาะข้อความร่วมสนทนาจาก ปราบดา หยุ่น มาดังนี้

ฯลฯ . . Submitted by ปราบดา (visitor) on Thu, 2011-12-29 14:51.

ขอบคุณคุณกฤดิกรที่มาแลกเปลี่ยนครับ ผมขอแลกเปลี่ยนกลับอย่างกระชับ โดยยังไม่ได้ใช้เวลาทบทวนทุกประเด็นอย่างละเอียด ตอบเพียงเท่าที่นึกออกตอนนี้เท่านั้น

1) ในบทความของผม ผมคิดว่าผมไม่ได้บอกว่าสังคมเผด็จการกับสังคมลัทธิสามารถถูกแยกออกจากกันได้โดยสิ้นเชิง (และการแยกของผมก็ไม่ใช่การแยกแบบนักวิชาการ แต่เป็นความแยกทางความรู้สึก) หากแต่ก็มีคุณสมบัติที่เกี่ยวพันกันอยู่ดังที่คุณกฤดิกรว่า อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่าสังคมสองแบบนั้นสามารถแยกออกจากกันได้ในหลายบริบท ที่แน่ๆคือสังคมลัทธิเป็นสังคมที่มักจะมีคนยินดีสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วยตัวเองด้วยซ้ำ เช่น ลัทธิเชิงศาสนา (เช่น Scientology) หรือองค์กรที่ใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอบอบบางทางจิตใจของคนเป็นเครื่องมือชักจูงผู้คนเข้าร่วม ที่ผมยกเกาหลีเหนือเป็นตัวอย่างเพราะผมเห็นว่าเป็นกรณีศึกษาที่พิเศษ คือมีส่วนผสมของทั้งสองสังคมเข้าด้วยกัน แต่ผมเชื่อว่า (และเคยอ่านหนังสือมาบ้าง) ประชาชนในเกาหลีเหนือจำนวนหนึ่งก็อยากหลุดพ้นจากการถูกปกครองเช่นนั้น ถึงขั้นมีการพยายามหลบหนีเสี่ยงตายออกจากประเทศ ในขณะที่ในเมืองไทยจะเกิดความรู้สึกที่คล้ายเกาหลีเหนือก็ต่อเมื่อเป็นประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

2) ข้อนี้ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าสิ่งที่คุณกฤดิกรแย้งมานั้นต่างจากที่ผมเสนออย่างไร ผมคิดว่าอาจจะเป็นการตีความภาษาที่ต่างกันเล็กๆน้อยๆ แต่เราน่าจะเห็นด้วยในภาพรวมคล้ายๆกัน นอกจากนั้นต้องอธิบายว่า บทความของผมมีหลายช่วงที่เป็นการเขียนเชิงประชดประชัน (สันดานคนเขียนมันเป็นอย่างนั้น) จึงไม่ได้หมายความจะระบุอย่างละเอียดว่าถอดสมองส่วนไหนบ้าง (ผมมีความสนใจในสมองศึกษาและจิตวิทยา แต่ก็ได้แต่อ่านเอาความรู้ ยังไม่ฉลาดพอจะเข้าใจในเชิงวิชาการจนสามารถนำมาถ่ายทอดได้อย่างนักวิทยาศาสตร์)

3) ข้อนี้ก็เช่น ผมไม่คิดว่าผมเห็นต่างจากคุณกฤดิกร อาจจะสับสนในการตีความวิธีเขียนของผมมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ปฏิเสธยากว่าสังคมไทย “ดูเหมือน” เป็นสังคมที่มีเสรีภาพมากจากภายนอก และคนจำนวนมากก็รู้สึกเช่นนั้น และจะว่าไป ในชีวิตประจำวันก็เป็นเช่นนั้น ต่อเมื่อมีปัญหาใหญ่ขึ้นมาเสียก่อนเราจึงจะพบว่าเสรีภาพที่เราเห็นในแต่ละวันสามารถถูกริบไปได้ในพริบตา ดังนั้นบางคนเขาก็ไม่ได้รู้อยู่แล้วหรอกครับว่าสังคมเราเป็นแบบนี้ เขาต้องทบทวนและใช้เวลาศึกษาดูบ้าง ก่อนจะเห็นชัด ที่น่าวิตกกว่าคือคนที่ “รู้แล้ว” ว่าเป็นเช่นนั้นแต่ก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน ผมเห็นด้วยกับคุณกฤดิกร และผมคิดว่าบทความของผมก็ต้องการเสนอเช่นนี้เหมือนกัน

4) ข้อนี้เชื่อมโยงกับข้อที่แล้ว และที่ผมยกตัวอย่างเสรีภาพในการจับจ่ายใช้สอยและการใช้ชีวิตนั้นก็เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้นน่ะครับ ไม่ได้ตั้งใจจะเน้นว่าความเจริญทางวัตถุเป็นตัวบ่งชี้ความไม่เป็นเผด็จการสุดโต่งของสังคมไทย

โดยรวมๆแล้วผมเขียนบทความชิ้นนั้นขึ้นโดยพยายามมองสังคมไทยจากบรรยากาศและความรู้สึกบนผิวเปลือกแบบที่สังคมไทยดำเนินไปในแต่ละวัน (อย่างน้อยก็จากที่ผมเห็นในจุดที่ผมอยู่) เพราะผมต้องการสื่อสารกับคนที่ไม่เห็นปัญหา หรือคิดว่ามันไม่เป็นปัญหา (ซึ่งถ้าเขาได้ทบทวนแล้วก็ยังไม่คิดว่ามันมีปัญหา ก็เป็นสิทธิของเขา มันอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขาจริงๆก็ได้) มันไม่ใช่บทความที่ผมเพียงต้องการแสดงความเห็นและจุดยืนส่วนตัวออกไปดื้อๆโดยไม่สนใจภาพภายนอกที่เป็นอยู่

ผมคิดว่าคุณกฤดิกรกับผมน่าจะเห็นพ้องกันเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่คุณกฤดิกรอาจเข้าใจหรือตีความจุดประสงค์ในการเขียนในบางช่วงของบทความผิดไปเล็กๆน้อยๆเท่านั้น

ขอบคุณอีกครั้งครับสำหรับการแลกเปลี่ยน มันเป็นประโยชน์กับระบบความคิดของผมไม่น้อย

ด้วยความนับถือ
ปราบดา


ฯลฯ . . Submitted by กฤดิกร วงศ์สว่างพานิช (visitor) on Thu, 2011-12-29 22:04.

(ตอบโดยรวมๆ นะครับ)

@คุณปราบดา...คือ โดยหลักผมคิดจะเขียน "เสริม" ส่วนที่ผมคิดว่ามันขาดไปมากกว่า "ติง" นะครับ เพราะผมเห็นด้วยกับ concept โดยรวม

อย่างที่ผมเกริ่นไปในตัวงาน ผมยอมรับว่านี่เป็นการคอมเม้นต์ในประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ของงานคุณคุ่น ... ผมไม่ได้ไปแตะ "แกน" ของตัวงานอยู่แล้ว เพราะอย่างที่บอกว่า ตัว "แกน" ความคิดผมเห็นตรงกัน

ปัญหามันอยู่ที่ว่าประเด็น "เล็กๆ น้อยๆ" พวกนี้มันมีผลในการมองภาพรวมไหม ผมก็คิดว่ามันพอมีบ้าง (การ address ปัญหาผิดที่ มันก็ทำให้เข้าใจปัญหาผิดจุดไปด้วย) อย่างเรื่อง "ถอดสมอง" ที่เป็นแค่ phrase เล็กๆ ของงานคุณคุ่นนั้น แต่ในอีกทางหนึ่งการมองปัญหาตามวิสัยนี้ มันก็ทำการลดทอนความสามารถในการอธิบายปรากฏการณ์หลายประการ (อย่างการเกิดขึ้นของพวก Hyper-Royalist, Hyper-Nationalist, Hyper-Sexist, etc.) ซึ่งจะบอกว่าไม่กระทบภาพใหญ่เลย ผมก็คิดว่าไม่ได้ถูกต้องนัก

หรืออย่างการ address กึ่ง encourage (ข้อ 3) ของคุณคุ่นนั้น บางคนอาจจะมองว่าเป็นประเด็นยิบย่อย ที่ผมดูจะจิกกัดเกิน และไม่ worth discussing แต่ผมกลับมองว่าการ address ที่ผิดขนาด "กลับฟาก" แบบนี้ มีผลต่อการจัดระบบความคิดในระยะยาวอยู่ ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ...หลอกตัวเองไปว่า "ประเทศกูมี ปชต. อยู่บ้างจริงๆ นะ" ทำนองนั้น ผมไม่คิดว่าการหลอกตัวเอง และผู้อ่านแบบนี้มันจะเป็นผลดีกับภาพใหญ่นัก

ในทำนองเดียวกันกับข้อสุดท้าย ผมมองว่าคุณคุ่นกำลังหลอกตัวเอง และสังคมที่กำลังเสพติดงานเขียนอยู่ว่า "เราไม่ radical เพียงเพราะเราอนุญาตให้มีคนทำตัวตามสลิ่มวิถี" ได้ นั้นผมคิดว่าเป็นการบิดเบือนภาพความเป็นจริงอย่างร้ายแรงมากเอาการอยู่

...ผมเองก็ไม่รู้นะครับว่าไอ้โน๊ตที่ผมเขียนนี่มันจะ "ให้อะไร หรือตอบอะไร" (ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่างานเขียนของผมต้องทำหน้าที่เหล่านั้นด้วย) และเรื่องนี้มันก็ subject อยู่กับมุมมองของแต่ละท่าน แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยมันก็ได้ทำหน้าที่ในการพยายามจะตอบโต้ประเด็นรอบนอก (ที่ผมมองว่ากระทบภาพใหญ่อยู่บ้าง) ของคุณคุ่นไป (เพราะไม่รู้จะด่าส่วนแก่นยังไง ก็ผมเห็นด้วยกับเนื้อหาที่เป็นแกนกลางของงานนี่หน่า)

บางท่านอาจจะถึงขั้นบอกว่าเป็นการน่าหมั่นไส้ที่มาขัดขา "พวกเดียวกันเอาตอนนี้" โดยเฉพาะกับประเด็นหยุมหยิม หากจะขัดก็ควรจะขัดกับประเด็นใหญ่ๆ และในบางระดับเป็นการเสริมประเด็นอีกฝ่าย แบบ อ.สมศักดิ์ ขัดนิติราษฎร์ (ด้วยความเคารพต่อ อ.สมศักดิ์ แต่อยากจะขำนิดหากจะบอกกันว่า อ.สมศักดิ์ ไม่เคยเล่นประเด็นยิบย่อย! อย่างตอนดราม่ากับ คุณภควดี เนี่ยช่างเป็นประเด็นอะไรที่ "ใหญ่ และแกนกลางมาก") ผมกลับเห็นว่า "เวลาไหนก็ตามหากเห็นต่างก็ต้องเสนอ"

ไม่ใช่ว่า เออ ตอนนี้เป็น critical moment หากไม่ใช่เรื่องหลักใหญ่ใจความจริงๆ เราก็หุบปากเออออกันไปก่อนเถิด แล้วค่อยมาว่ากัน (ผมกลับมองว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ต่างจากวิธีการกระทำของอีกฝ่าย ที่เรากำลังพยายามต่อสู้ด้วยกระทำอยู่เลย)....และผมก็ไม่คิดว่าที่เขียนมานี้มันไป "ขัด" ประเด็นอะไรคุณปราบดานักนะครับ ผมกลับคิดว่าผมพยายามจะเสริมส่วนที่คุณปราบดา "ทำตกหล่นระหว่างทาง" เสียมากกว่า อย่างการลืมคิดเรื่อง hyper-royalist,การสลับทิศ และตำแหน่งแห่งที่ของ "ระบอบการปกครองไทย" ฯลฯ ผมเองก็มองไม่ออกว่าผมไป "ขัดแข้งขัดขา" อย่างไร หรือไม่ "เสริม" อย่างไร?


ฯลฯ . . Submitted by ปราบดา (visitor) on Fri, 2011-12-30 01:06.

คุณกฤดิกรครับ

ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าคุณขัดขาหรืออะไรผมนะครับ (เข้าใจว่าคุณคงสื่อสารถึงคนอื่นๆที่มาตอบกระทู้มากกว่าจะพูดกับผม)

มีข้อเดียวที่ผมไม่ค่อยเข้าใจ คือที่คุณกฤดิกรย้ำถึงข้อ 4 ที่ว่าผมกำลัง “หลอกตัวเอง” ผมยังไม่ค่อยเข้าใจประเด็นของคุณกฤดิกรสักเท่าไร คุณกฤดิกรกำลังบอกว่าในความเห็นของคุณจริงๆแล้วสังคมไทยเป็น “เผด็จการสุดโต่ง” ใช่ไหมครับ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องให้คำจำกัดความว่า “สุดโต่ง” ของคุณกฤดิกรเป็นอย่างไร เพราะคำว่า “สุดโต่ง” ของผมคือเลวร้ายที่สุดแล้ว เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่เอาเลยเพราะทำอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น

สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือสังคมไทยมีความเป็นเผด็จการแอบแฝงอยู่ในภาพของสังคมเสรี ผมไม่ได้หลอกตัวเองว่าสังคมไทยไม่มีความเป็นเผด็จการ เพียงแต่ “บนเปลือกนอก” มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่นสิงคโปร์ก็ดูภายนอกค่อนข้างเสรี แต่การที่สื่อไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้อย่างจริงๆจังๆ มันก็มีความเป็นเผด็จการแฝงอยู่ การที่ผมบอกว่าภายนอกเรา “ดูเสรี” ก็ไม่ได้หมายความผมหลอกตัวเองนี่ครับ เพราะผมไม่ได้บอกว่ามันเสรีจริงๆ เพียงแค่ “ดูเหมือน” เท่านั้น และการ “ดูเหมือน” นี่ก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะสำหรับคนที่เขาไม่คิดถึงเรื่องนี้ หรือไม่คิดถึงสิ่งที่แฝงอยู่ เขาก็จะไม่เคยคิดเลยว่าสังคมไทยมีความเป็นเผด็จการอยู่ด้วย คือสามารถใช้ชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายโดยคิดว่าสังคมไทยเสรีมากก็ยังได้

ถ้าความหมายของคำว่า “สุดโต่ง” ของผมคือแบบเกาหลีเหนือ แล้วคุณกฤดิกรก็เห็นด้วยว่าสังคมไทยไม่ถึงกับเป็นแบบเกาหลีเหนือ ถ้าอย่างนั้นคุณกฤดิกรจะเรียกสังคมไทยเป็นเผด็จการ “สุดโต่ง” ได้อย่างไรครับ คงต้องหาคำใหม่มาใช้มากกว่า

สมมติว่าประเทศที่ “สุดโต่ง” คือประชาชนออกนอกประเทศไม่ได้ ประเทศที่ประชาชนออกนอกประเทศได้ก็น่าจะไม่ “สุดโต่ง” นะครับ แต่เป็นระดับรองลงมา

ผมคิดว่าคุณกฤดิกรน่าจะอ่านที่ผมเขียนไม่ค่อยเคลียร์ เพราะผมไม่ได้คิดว่าเรามีเสรี “จริงๆ” อย่างที่คุณคิดว่าผมเชื่อ แต่ผมหมายความว่า เราอาจจะใช้ “เสรีภาพเปลือกๆ” ที่เรามีอยู่เป็นหนทางในการจุดปัญญาให้เกิดและตระหนักได้ว่าเราไม่ได้เป็น “เสรีจริงๆ”...งงไหมครับนี่

......
ฯลฯ


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เคยมีโพสต์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ www.thaipoetsociety.com ที่
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/05/112.html



.