http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-06

ทำไมประชาธิปัตย์จึง..ไม่ชนะ โดย บุญเกียรติ, อย่าปล่อยให้ประเทศตกอยู่ใน “ความกลัว”ฯ โดย SIU

.
มีโพสต์หลังบทความหลัก
- "สุเทพ"ลั่นไม่หวั่นโดนดีเอสไอเรียกไปสอบ"ผังล้มเจ้า" อัดยับพวกไร้จุดยืน-เปลี่ยนสี
- ลิงค์สัมภาษณ์ "อภิสิทธิ์" พยากรณ์เศรษฐกิจปี"55 ไม่หมกมุ่นไล่ล่า "ทักษิณ" มาติดคุก ไม่คิดเรื่องเพื่อไทย (ไม่) ไว้ใจยิ่งลักษณ์

____________________________________________________________


ทำไมประชาธิปัตย์จึง ... ไม่ชนะ
โดย บุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ bcheewatragoongit@yahoo.com
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 04 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:13:51 น.


หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 "คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ" ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้พรรคเพื่อไทยว่า ... ที่แพ้ในเหนืออีสาน เพราะคนเขาไม่เลือก แล้วจะไปทำอย่างไรได้ พร้อมให้เหตุผลว่า เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยใช้กระบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนจัดตั้งที่ได้ผล

อีสาน คิดว่าจะได้ 10 พอเอาเข้าจริงได้แค่ 4

เหนือ คิดว่าจะได้ 21 เสร็จแล้วก็ได้แค่ 13

คุณสุเทพ ยังมองว่า เพื่อไทยชนะเพราะการตลาด ... "การจัดตั้งพรรคเพื่อไทยเข้าดี ใช้การตลาดดีมาก มีการโหมโฆษณาเหมือนสินค้าตัวใหม่ไม่เคยออกสู่ตลาดเลย 6 สัปดาห์ก็ติดตลาด (หมายถึงคุณยิ่งลักษณ์)"

แต่ก็อดที่จะแขวะอดีตนายกฯ ทักษิณไม่ได้ โดยพูดว่า ตนขอเอาใจช่วย ขอให้เป็นนายกฯ นานๆ (หมายถึงคุณยิ่งลักษณ์) แล้วทำสิ่งดีๆ ให้ชาติบ้านเมือง อย่าเอาตัวอย่างที่ไม่ดีที่พี่ชายทำไว้มาทำซ้ำอีก

ตัดไปฝั่งที่อยู่ตรงกันข้ามบ้าง "อาจารย์ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช." (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) ชี้เปรี้ยงสำหรับคำถามเดียวกันว่า ที่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งก็เพราะ มีจุดยืนอยู่ตรงข้ามประชาชน ไม่เอาการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังบริหารประเทศไม่เป็น สร้างแต่ความขัดแย้ง ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง

"นั่นคือมุมมองของ key man สองฝากฝั่ง ซึ่งก็แตกต่างกันชนิด "ไม่เผาผี" ตามความคาดหมาย"

ประชาธิปัตย์ไม่สามารถเอาชนะเพื่อไทย (หรือพรรคที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็น mastermind) ได้เลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีความพร้อมทุกๆ ด้านอยู่ในมือ ปี พ.ศ.2544 แพ้ทั้งที่คุณชวนยังนั่งเป็นนายกฯ รักษาการอยู่ ส่วนปี 2554 ก็แพ้ชนะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ รักษาการ เช่นกัน โปรดดูตารางผลการเลือกตั้งประกอบ

ผลการเลือกตั้งปี พ.ศ.2550 ยิ่งน่าสนใจใหญ่ ท่ามกลางแผนบันไดไม่รู้กี่ขั้นต่อกี่ขั้น รัฐบาลรักษาการก็เป็นผลพวงจากการปฏิวัติของ คมช. รัฐธรรมนูญก็ร่างขึ้นมาตามกรอบของฝ่ายไม่เอาทักษิณแต่ผลลัพธ์กลับเป็นพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้ครองเสียงข้างมากชนะพรรคประชาธิปัตย์ชนิดทิ้งห่างร่วม 70 เสียงเลยทีเดียว !

"อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แพ้ซ้ำซาก แพ้วกวน (สำนวนนักประท้วงในสภา) อยู่นั่นแล้ว เป็นประเด็นที่น่าขบคิด โดยเฉพาะสำหรับขุนพลของ ปชป.เอง ซึ่งจะได้ทำการสรุปบทเรียน เพื่อนำไปแก้ไขในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ ... ไม่อาจทราบได้ ?!"

1.
"ประชาธิปัตย์แพ้เพราะชอบ "ปรามาส" ประชาชน" คนประชาธิปัตย์ทำเรื่องนี้กันทั้งพรรค (ซึ่งแปลกมาก) เสมือนหนึ่งไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ย้อนกลับไปที่ย่อหน้าแรกของบทความนี้ก็ได้ คุณสุเทพให้เหตุผลของการพ่ายแพ้ครั้งล่าสุดว่า "เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยใช้กระบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งเป็นมวลชนจัดตั้ง" อันแปลความได้ว่า ผู้ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเป็นมวลชนจัดตั้ง ส่วนผู้ที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์เป็นคะแนนบริสุทธิ์

เหตุผลอมตะที่ ปชป.ชอบกล่าวอ้าง ไม่เว้นแม้กระทั่งอดีตนายกฯ ชวน ก็คือ "ปชป.แพ้เพราะไม่ได้ใช้เงินซื้อเสียง" อันแปลความหมายได้คล้ายคลึงกันคือ ผู้ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเป็นพวกขายเสียง ส่วนผู้ลงคะแนนให้ ปชป. คือเสียงบริสุทธิ์

การปรามาส (อาจจะโดยไม่ตั้งใจ หรือไม่รู้ตัว) เช่นนี้เอง ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้เลือกพรรคประชาธิปัตย์พากัน "รู้สึก" เจ็บลึกๆ ว่าตนกำลังถูก "เหยียดหยาม" และปรากฏบ่อยมาก (เพราะทุกครั้งที่แพ้ ... ปชป.ก็จะออกมาทำดังว่านี้ทุกทีไป)

"นี่เป็นข้อสังเกตแบบหวังดีนะครับ หากมองเป็นกระจกก็จะขอบคุณมาก"

2.
"แพ้เพราะ "กระแสภาคนิยม"" ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าของชาวประชาธิปัตย์ เพราะกระแสนี้เองที่เป็นดาบ 2 คม กลับเข้าเชือดเฉือนตนเอง ควรทราบว่าแต่เดิมนั้นคนไทยอาจไม่ได้คิดว่าตนเป็นคนภาคใดดอก ทุกคนล้วนเป็น "คนไทย" ก็แค่นั้นจริงๆ แต่ครั้นผลการเลือกตั้งออกมาเป็น คนใต้เลือกประชาธิปัตย์ "ยกภาค" ทุกครั้งไป วาทกรรม "ภาคนิยม" ก็เลยเกิดขึ้น และเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อปรากฏการณ์ "ความแตกแยกครั้งใหญ่ในแผ่นดินสยาม" เสื้อเหลือง-ภาคใต้ เหนือ อีสาน-เสื้อแดง อะไรประมาณนี้ ศึกหนักจึงตกอยู่ที่ประชาธิปัตย์ เพราะจำนวนที่นั่งในสภาภาคใต้ต่ำกว่า "เหนือ + อีสาน" ถึง 140 ที่นั่ง (ใต้ 53 ที่นั่ง เหนือ+อีสาน 193 ที่นั่ง)

"วันนี้ พรรคที่อยากให้กระแสภาคนิยมหายไปจากประเทศไทย จึงกลายเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ... ไม่ใช่ใครที่ไหนเลย ! "

3.
"แพ้เพราะ ... ก้าวไม่ข้าม "ทักษิณ"" หลักฐานทนโท่อยู่ในย่อหน้าที่ 3 ของบทความนี้ตรงที่คุณสุเทพฝากถึงคุณยิ่งลักษณ์ว่า "ขอให้เป็นนายกฯ นานๆ แต่อย่าเอาตัวอย่างที่ไม่ดีที่พี่ชายทำไว้มาทำซ้ำอีก" นั่นไงครับ

วาทกรรมที่แม้นาทีนี้พวกเราก็ยังได้ยินคือ "อย่าทำเพื่อคนคนเดียว" ตัวอย่างเช่น สภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ค่าที่มีที่มาจากการปฏิวัติโดย คมช. สังคมก็จะได้ยินเสียงกระทุ้งดังๆ ออกจากพลพรรค ปชป.ว่า เป็นการทำเพื่อคนคนเดียว อันหมายถึง พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นเอง

โรคก้าวไม่ข้ามทักษิณ ทำให้ประชาธิปัตย์เสียรังวัดไปเยอะ เพราะช่วงเป็นรัฐบาล 2 ปีของคุณอภิสิทธิ์ มีประเด็นกับหลายประเทศก็ด้วยเรื่อง พาสปอร์ตและวีซ่าของคุณทักษิณ ทะเลาะกับประเทศกัมพูชาจนถึงขั้นเรียกเอกอัคราชทูตกลับ ก็เพราะนายกฯฮุน เซนตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ฯลฯ

"ยิ่งตามจิกคุณทักษิณ ก็ยิ่งไปเสริมสาเหตุข้อ 1 กับข้อ 2 คนเหนือกับอีสานที่เขารักทักษิณ จะเลือกประชาธิปัตย์ได้อย่างไร อุตส่าห์มีนักการตลาดมือดีอยู่ในพรรคระดับอดีตซีอีโอของฟริโตเลย์

น่าจะกระซิบบอกคุณอภิสิทธิ์สักหน่อยว่า Market Share นั้นมันต้องมาจาก Share of Mind

4.
"แพ้เพราะไม่เคย "คิดเชิงยุทธศาสตร์" ในการบริหารจัดการ" ทำแต่เรื่องหยุมหยิม เช่น แก้ปัญหาราคาไข่ไก่ด้วยมาตรการ "ไข่ชั่งกิโล" คอยจับผิดว่าเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศไหนไปต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณบ้าง ฯลฯ ตลอด 2 ปีที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แทบไม่เคยได้ยินว่าประเทศไทยจะมีเป้าหมายแลวิสัยทัศน์เป็นอย่างไร ขณะที่เวียดนามมุ่งพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย (Modern Industrialized state) ในปี 2020 และมาเลเซียจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในปีเดียวกันนั้น (Wawasan 2020 หรือ Vision 2020)

ข้อจำกัดในเรื่องนี้ ทำให้แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองที่มีความคิดแบบมืออาชีพ (Professional) ก็ยังออกอาการเอือมระอา ปชป.ไม่น้อยเลยทีเดียว

"ปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการอย่าง ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เคยบอกไว้ว่า ... "เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ภารกิจแลเป้าหมายต้องขยับขยาย และสมรรถนะ (Competencies) ควรต้องปรับเปลี่ยน"

ประชาธิปัตย์ที่เคยครองใจปัญญาชนและผู้รักประชาธิปไตยมานมนาน อาจยังไม่สาย ถ้าจะนั่งลงทบทวนบทเรียนรอบด้าน และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของพรรคเสียใหม่ โดยอาจเริ่มต้นจากข้อสังเกตที่ผู้เขียนตั้งมานี้


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
มีบทความที่เกี่ยวข้อง

- จากพลังประชาชนฯ..การชนะฯที่"อดีตฯนายก" ไม่เคยสัมผัส โดย นายปราบ รักไฉไล
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_05.html

- จดหมายถึงคุณยิ่งลักษณ์ฯ และ จดหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ฯ โดย SIU
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/siu.html
มีความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.siamintelligence.com/letter-to-democrat-party/

- สงครามสั่งสอน, สมัยหน้าของประชาธิปัตย์ โดย วงค์ ตาวัน
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_11.html

- แพ้ และ ฉันเสียสติ โดย คำ ผกา
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_31.html

- ผลัดใบไม่พอ ต้องปลูกใหม่ทั้งต้น และ โพลคอร์รัปชั่น โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/08/blog-post.html

. . ความจำสั้น, ต้องไม่ลับ, ไล่จับเงาตัวเองฯ, 'ด่า' รัฐบาล
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/09/shadow.html



++
บทความของปลายปี 2554

อย่าปล่อยให้ประเทศตกอยู่ใน “ความกลัว” และ “ความไม่รู้” จากการลิดรอนเสรีภาพสื่อ
ในเว็บไซต์ SIU . . วันที่: 26/11/2011


เมื่อต้นปีที่ผ่านมาองค์กรจัดลำดับเสรีภาพของสื่อ ที่รู้จักในนาม “Freedom Houseได้จัดลำดับเสรีภาพของสื่อในประเทศไทยจากประเทศ “กึ่งเสรี” ในปี 2009 ให้กลายเป็นประเทศ “ไม่เสรี” ในปีที่ผ่านมา (ดู ที่นี่ http://prachatai.com/journal/2011/05/34348 )

ประเทศที่อยู่ในระดับไม่เสรีเท่ากับประเทศไทย ได้แก่ เกาหลีเหนือ พม่า จีน คิวบา โซมาเลีย อัฟกานิสถาน และ อิหร่าน ฯลฯ น่าสนใจว่าประเทศที่ถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างนี้ไม่มีประเทศไหนเลยที่เรียกตัวเองเลยว่า เป็นประเทศประชาธิปไตย

สาเหตุที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกกลุ่ม “ไม่เสรี” นั้นเกิดมาจากการดำเนินนโยบายในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีแนวโน้มในการปิดกั้นสื่อในอัตราที่สูง ยกตัวอย่าง เช่น การประกาศปิดเว็บไซต์ร่วมหนึ่งแสนเว็บไซต์ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในลักษณะคดีอาญาในการดำเนินคดี ซึ่งในหลายครั้งถูกเชื่อมโยงเป็นคดีทางการเมือง รวมไปถึงการใช้มาตรา 112 ซึ่งมีเนื้อความว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปี ที่มีผู้ดำเนินคดีจำนวนมาก

ยังไม่รวมถึงกรณีที่ “องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน” ได้ให้เกียรติประเทศไทยเป็น “แดนสวรรค์แห่งการเซ็นเซอร์” (ดู ที่นี่ http://prachatai.com/journal/2011/10/37683 ) อีกด้วย อีกทั้งยังมีการจัดอันดับไทยให้เป็นประเทศที่ไม่ปลอดภัยสำหรับนักข่าว เนื่องจากว่าได้มีนักข่าวและช่างภาพเสียชีวิตถึง 2 คน คือ นาย ฟาบิโอ โปเล็นกิ ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี และ นาย ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพญี่ปุ่น ที่เชื่อว่ามาจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ และการดำเนินการสอบสวนในช่วง 1 ปีหลังจากเหตุการณ์ของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นไม่มีความคืบหน้า จนเป็นที่กังขาของญาติผู้เสียชีวิตและนานาชาติ

และไม่นับถึงกรณีการแทรกแซงสื่อของอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่นักข่าวให้ฉายา “กริ๊งสิงสื่อ” จากสาเหตุที่มีการโทรไปให้กำหนดทิศทางข่าวและแทรกแซงกระบวนการสื่อสารบ่อยครั้ง


สโลแกนรัฐบาลย่อมปิดกั้นคุณจากความจริง!
จงปิดหู ปิดตา และปิดปาก!!

และในทางอ้อมก็ยังมีการใช้งบโฆษณาจำนวนมหาศาลในการประชาสัมพันธ์รัฐบาลผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี มีการสรุปคร่าวๆว่าน่าจะใช้งบมากกว่า 2 พันล้านบาท ในการทำประชาสัมพันธ์ (ดู ที่นี่ http://prachatai.com/journal/2011/07/36090 ) ซึ่งทำลายสถิติของพรรคไทยรักไทยลงอย่างราบคาบ แน่นอนว่าเมื่อมีการลงโฆษณาในสื่อต่างๆ ย่อมก่อให้เกิด “ความเกรงใจ” ในการนำเสนอข่าวที่จะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และนำไปสู่สิ่งที่น่าอัปยศที่สุดของสื่อมวลชนนั่นคือการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” (self – censorship)

อีกทั้งโครงการยิบย่อย เช่น ลูกเสือไซเบอร์ หรือการเปิดให้มีการใช้สถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลมาถล่มคู่ตรงข้ามทางการเมือง ยกตัวอย่างรายการ “คลายปม”ของ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่จัดเทปพิเศษเรื่อง “เหตุการณ์การชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2553? ในมุมวาทกรรม “เผาบ้าน – เผาเมือง” ในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อลดเครดิตของฝ่ายค้าน


เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลุ่มที่ขนานตนเองว่าเป็น “พวกเสรีนิยม” ก็กลับผิดหวังเพราะคิดว่าน่าจะเข้าสู่ยุคเสรี หลังจากรัฐบาลมีความคิดที่จะเปิดให้ฝ่ายค้านมาใช้สถานี NBT ในการจัดรายการได้ แต่เพียงไม่นานรัฐบาลเพื่อไทยกลับผลักดัน พ.ร.บ. จดแจ้งการพิมพ์ฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหาในการรลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชนมากขึ้น (ดู ที่นี่ www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20111021/415221/องค์กรสื่อแถลงคัดค้านร่าง-พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์.html ) จนถูกต่อต้านจากองค์กรสื่อ รวมไปถึงการกวดขันเอาจริงในการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นฯ ซึ่งในหลายๆครั้งกลายเป็นเรื่องเครื่องมือในการลดความชอบธรรมทางการเมืองและดิสเครดิตขั้วตรงข้าม

ล่าสุดหลังจากได้มีการจุดประเด็นเรื่อง “กฏหมายหมิ่นฯ” ที่มาจากพรรคฝ่ายค้านอย่างประชาธิปัตย์ ก็ได้เสนอความคิดเห็นที่สุดโต่ง โดย น.ส. มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (น่าแปลกใจที่คุณมัลลิกา เคยเป็นสื่อมวลชนมาก่อน) แถลงว่า ในวันที่ 28 พฤศจิกายน.นี้ จะทำหนังสือถึงนายกฯและรมว.ไอซีที เพื่อขอให้ปราบปรามเว็บไซต์ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยวิธีการที่ตนจะเสนอ เบาที่สุด คือให้ประสานงานไปยังรัฐบาลที่เว็บไซต์นั้นตั้งอยู่เพื่อขอให้ปิดเว็บไซต์ ดังกล่าว แต่แรงที่สุด คือให้ปิดเว็บไซต์ยูทูบหรือเฟซบุ๊กไปเลย (ดู ที่นี่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322286728&grpid=03&catid&subcatid )

แต่เชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่กล้าดำเนินนโยบายขั้นเด็ดขาด เนื่องจากฐานเสียงและกระบอกเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นคนชั้นกลางส่วนใหญ่ ที่ใช้อินเทอร์เน็ตและ โซเชียลมีเดีย และย่อมมีผลกระทบต่อฐานเสียงแน่นอน


ปิดเว็บไซต์ – ปิด Youtube!? นั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนทำเมื่อประชาชนเริ่มแสวงหาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และสิ่งที่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ซ่อนไว้ใต้พรมมาโดยตลอด เสรีภาพของประเทศจีนจึงสวนทางกลับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบเซ็นเซอร์อันทรงอาณุภาพของจีนหรือในนามที่โลกรู้จักว่า “Great Firewall” กลายเป็นกำแพงข้อมูลที่นักท่องเว็บไซต์ไม่มีวันจะหลุดรอดจากสายตาของรัฐบาลไปได้

เวลามีการพูดว่า “รัฐมนตรีฝ่ายคุมสื่อ” ซึ่งมักจะหมายถึงรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนั้นๆ ไม่รู้สึกแปลกใจกันบ้างหรือ? ทำไมถึงจะต้องมีผู้ที่เข้ามาควบคุมสื่อ ในกรณีที่สื่อไม่สุดโต่งขนาดสร้าง hate speech – คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง จนเกินไปไม่ควรจะมีการควบคุมสื่อ และบ่อยครั้งรัฐบาลก็จงใจที่จะปล่อยให้ hate speech ทำงานในการที่ตัวเองได้ประโยชน์เสียด้วยซ้ำ เช่น การปลุกระดมต่างๆ

หลายๆคนในช่วงนี้ชอบยกกรณีตัวอย่างนิยายคลาสสิก “1984? ของ จอร์จ ออร์เวล ที่มีเนื้อหาว่าผู้ปกครองนั้นจะควบคุมทุกอย่างแม้กระทั่งความคิดของผู้คนในสังคม ให้เกิดอาการ “เชื่อง” เพื่อที่จะไม่ตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆรอบๆตัว และใช้เครื่องมือ “การประชาสัมพันธ์ด้านเดียว” ในการสร้างระบบความคิดให้กับคนในสังคม อันโตนิโอ กรัมชี่ นักคิดชาวอิตาลีอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่า เป็นการ “สถาปนาอำนาจนำทางวัฒนธรรม” เพื่อที่จะควบคุมคนได้จากแก่นภายในของพวกเขา แทนที่จะใช้อำนาจโดยตรง เราจึงยังคงเห็นผู้ที่ออกมาสนับสนุนการริดลอนสิทธิเสรีภาพของรัฐอยู่บ้าง


และหากรัฐบาลเป็นคนเลือกสรรแล้วว่าประชาชนควรจะรับรู้สารอะไร และไม่ควรรู้สารอะไร ถือว่าเป็นการดูแคลนวิจารณญาณในการเลือกรับสารของประชาชนที่ร้ายกาจ เพราะรัฐบาลย่อมปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และเวลาเราพูดว่าสารนั้นมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เราก็ควรตั้งคำถามต่อไปว่า “รัฐ”ที่ถูกนำมาเรียกใช้นั้นคือ “รัฐ” (state) หรือ “รัฐบาล” (Governor) มากกว่ากัน!?

ทางที่ดีรัฐต้องให้ข้อมูลประชาชนเพื่อให้เขาเลือกสรรในสิ่งที่เหมาะสม หากประชาชนตกอยู่ในความไม่รู้ การแสดงออกอาจจะเป็นภัยต่อรัฐมากยิ่งขึ้น เมื่อนั้นรัฐอาจจะปกครองไม่ได้เป็นรัฐล้มเหลว ยกตัวอย่าง เช่น เหตุการณ์การชุมนุมปี 2553 เมื่อรัฐเข้ามาควบคุมสื่อเต็มพิกัด ผู้ชุมนุมจึงต้องหาข้อมูลในฝั่งที่ตัวเองมีเท่านั้น แน่นอนว่าข้อมูลทั้งสองด้านมีความสุดโต่ง และไม่มีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เลยเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เหตุการณ์ร้ายแรงเกินกว่าที่จะคาดคิดได้

จงอย่าปล่อยให้ประเทศตกอยู่ใน “ความกลัว” และ “ความไม่รู้” จากการลิดรอนเสรีภาพของการสื่อสาร เพราะเมื่อประชาชนตกอยู่ในความไม่รู้ และ ความกลัว การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่จะนำไปสู่การก้าวไปข้างหน้าย่อมไม่เกิด และต้องไม่ลืมว่าโลกนี้พัฒนาไม่ได้หากปราศจากการตั้งคำถาม และถ้าหากประชาชนเชื่องจนไม่รู้สึกต้องตั้งคำถามกับสังคม ก็ย่อมไม่นำไปสู่การแสวงหาคำตอบ นั่นเอง!


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ดูต้นฉบับและความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.siamintelligence.com/state-of-censorship/



+++

"สุเทพ"ลั่นไม่หวั่นโดนดีเอสไอเรียกไปสอบ"ผังล้มเจ้า"อัดยับพวกไร้จุดยืน-เปลี่ยนสี
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:45:26 น.


ที่อาคารรัฐสภา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เรียกนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อชี้แจงแผนพังล้มเจ้าที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) นำมาเปิดเผยระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552 ซึ่งหากนายถวิลไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้หมดดีเอสไอจะเชิญนายสุเทพในฐานผู้อำนวยการ ศอฉ.มาชี้แจง ว่า ตนได้ทราบจากสื่อมวลชนว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ เตรียมจะเรียกตนไปสอบปากคำเรื่องที่โยงใยถึงสถาบันหรือผังล้มเจ้า ซึ่งหลังจากตนทราบข่าวก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง

"ผมรู้สึกว่าดีเอสไอชักจะทำอะไรเลอะเทอะมากขึ้น จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีจุดยืนในการทำงานหรืออย่างไร เพราะกรณีนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยาน หลักฐาน ที่แสดงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน และนำไปเสนอต่อ ศอฉ. โดยในการพิจารณามีทั้งผู้แทนของดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมพิจารณาอยู่ด้วย จนมีความเห็นสรุปกันว่ากรณีนี้มีหลักฐานที่สมควรไปสืบสวนสอบสวนนำผู้ที่กระทำความผิดมาลงโทษ" นายสุเทพกล่าว และว่า วันนี้มาออกข่าวในลักษณะเหมือนจะกล่าวหาว่าตนเป็นต้นเรื่อง ตนก็เลยรู้สึกว่าคนในกรมนี้ท่าจะเปลี่ยนสีไปแล้ว หวังจะเอาใจกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ในบ้านเมือง

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือเชิญไปสืบสวนมาถึง แต่ทราบจากสื่อมวลชนเท่านั้นใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า รัฐบาลยุคนี้เขาทำแบบนี้กันประจำ เหมือนเมื่อครั้งที่ตำรวจเชิญตนไปสอบเรื่องคดี 91 ศพ ออกข่าวเกือบ 2-3 สัปดาห์กว่าจะเชิญ จนตนรู้สึกว่าขณะนี้เขามีวิธีส่งหนังสือเชิญผ่านสื่อมวลชนกันแล้วหรืออย่างไร

เมื่อถามว่า ยังมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า "ผมมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ได้มีเฉพาะพนักงานสอบสวน เพียงแต่กระบวนการยุติธรรมมันเริ่มที่พนักงานสืบสวน ไปที่อัยการสูงสุดและไปที่ศาล ฉะนั้น มีหลายขั้นตอน อาจจะมีบุคคลบางคนที่เห็นกับลาภยศ ประจบสอพลอ บิดเบือนข้อเท็จจริงและคดี แต่ว่ามันไม่สามารถไปได้ไกลจนถึงสิ้นสุดกระบวนการ"

เมื่อถามอีกว่า ได้คุยกับนายถวิล เรื่องผังล้มเจ้าที่ดีเอสไอจะเชิญไปสืบสวนหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนไม่คุยเรื่องนี้กับนายถวิล เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะไปคุยอะไร



+++

โปรยหัว ลิงค์ "อภิสิทธิ์" พยากรณ์เศรษฐกิจปี"55 ไม่หมกมุ่นไล่ล่า "ทักษิณ" มาติดคุก ไม่คิดเรื่องเพื่อไทย (ไม่) ไว้ใจยิ่งลักษณ์
ในมติชน ออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:30:40 น.


2555 อุณหภูมิการเมือง เศรษฐกิจ ร้อนแรงทะลุปรอท

ร้อนแรงทั้งวาทกรรม "ปรองดอง" ที่แฝงนัยยะการนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับประเทศไทย

ร้อนแรงทั้งฝีมือบริหารประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้าน-อดีตนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ เศรษฐกิจ การเมือง และ "ทักษิณ" ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

-ทั้งการประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2555นี้ จะยากลำบากแค่ไหน ?

-เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท จะเกิดขึ้นได้อย่างไร รวมถึงแรงต้านค่าแรง300บาทจากภาคเอกชน ที่จะนำร่อง ใน 7 จังหวัดในเดือนเมษายนนี้

- แผนแก้น้ำท่วมของ "ดร.โกร่ง" นายวีรพงษ์ รามางกูร จะเป็นเป็นทางออกทั้งหมดหรือไม่ ?

- มีการโฆษณาว่า หากแผนปรองดองออกมา ทุกสีจะได้หมดอย่างเท่าเทียม

-เรื่องปรองดองที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งใหญ่หรือไม่

-การไล่ล่า "ทักษิณ" ของประชาธิปัตย์จบหรือยัง

คลิกอ่านรายละเอียด

ที่ www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1325702257&grpid=no&catid=04

ตัวอย่าง เช่น

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
- ในที่สุดทุกประเด็นจะถูกลากกลายเป็นปัญหาการเมือง

ก็ส่วนหนึ่ง เพราะผมคิดว่าครั้งนี้ที่เสียหายมากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะมีการเมืองเข้าไปยุ่ง ที่เราอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ก็คือประเด็นหลักที่พยายามบอกกับสังคม และเราไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาล แต่หวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง และผมค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐมนตรีไม่รอดหรอกในเรื่องถอดถอน เพราะเห็นทำผิดกฎหมายชัดเจน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
- ปัญหาประชาธิปัตย์-คดีราชประสงค์ ในปี"55 จะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานไป ผมกับคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัญหาการเมืองไม่ใช่ตรงนั้น แต่มันอยู่ตรงที่ว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไรให้เกิดความขัดแย้ง หากยังมุ่งมั่นอยู่แต่กับการทำเพื่อคนคนเดียว เหมือนเรื่องพาสปอร์ต มันก็เป็นความเสี่ยงที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง เพราะเขาเลือกได้ที่จะไม่ทำ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
- หมายความว่าการไล่ล่า "ทักษิณ" ของประชาธิปัตย์จบแล้ว

ผมไม่ได้ไปไล่ล่า เพียงแต่บอกว่าเป็นหน้าที่รัฐบาลไทยนะครับ ทำผิดกฎหมายไทยก็ต้องมารับโทษ แต่คงไม่ได้ไล่ล่าเหมือนกับการตั้งทีมพิเศษไปติดตาม แต่มันเป็นเรื่องปกติ ใครทำผิดกฎหมายไทย ศาลตัดสินว่าผิด ก็ปฏิบัติอย่างนั้น คำว่า ไล่ล่า มันเป็นวาทกรรมที่เพื่อไทยสร้างขึ้น



.