.
สวัสดีปีใหม่กับสื่อ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
ในวาระขึ้นปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่น่าทำคือย้อนดูตัวเอง
เมื่อต้นปี 2554 กลุ่มวิจัยภายใต้อาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ได้เสนอผลวิจัยสรุปรวบรวมคะแนนจากดัชนีชี้วัดสื่อ 4 ข้อคือ เสรีภาพของสื่อได้รับความคุ้มครองและส่งเสริม, ความหลากหลายของสื่อ, การกำกับดูแลสื่ออิเล็กทรอนิกส์, มาตรฐานความเป็นมืออาชีพของคนทำสื่อ ปรากฏว่าสื่อไทยได้คะแนนรวมคาบเส้น สองในสี่ดัชนีชี้วัดสอบตก รวมทั้งความเป็นมืออาชีพด้วย
นั่นเป็นผลจากการสำรวจในปี 2553 ผมไม่ทราบว่าจะมีการเสนอผลสำรวจ-วิจัยในปี 2554 หรือไม่ แต่โดยความรู้สึกส่วนตัว ผมเห็นว่า ความบกพร่องหลักๆ ของสื่อไทยที่เป็นมาหลายสิบปีแล้ว ก็ยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้
1.งานวิจัยของกลุ่ม อ.อุบลรัตน์ชี้ให้เห็นว่า จำนวนของสื่อประเภทต่างๆ ในประเทศไทยใน พ.ศ.2553 นั้นมีมากทีเดียว เรามีวิทยุกระแสหลักอยู่ 524 สถานี วิทยุชุมชนอีกเกือบ 8,000 สถานี เรามีฟรีทีวี 6 ช่อง โทรทัศน์ดาวเทียม 30 ช่อง (ปัจจุบันมีมากกว่านั้นขึ้นไปอีกเท่าตัว) เคเบิลทีวีอีก 800 ช่อง มีสื่อสิ่งพิมพ์ 80 ฉบับ แบ่งเป็นท้องถิ่น, ระดับชาติ และภาษามลายูกับจีน มีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต 36 ราย ทั้งผ่านสายโทรศัพท์และไม่ผ่าน
ก็ไม่น้อยเลยนะครับ แต่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าสื่อไทยละเลยความพยายามที่จะเข้าถึงกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น มีคนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ประชากรเพียงร้อยละ 20-22 เท่านั้นที่เข้าถึงสื่ออินเตอร์เน็ต แม้แต่สื่อวิทยุ ก็มีประชากรไม่ถึงครึ่งที่เข้าถึงได้ (ด้วยสาเหตุต่างๆ ที่ไม่ใช่เพราะไม่มีเงินซื้อวิทยุ) สื่อที่ประชากรเกือบจะถ้วนหน้าสามารถเข้าถึงได้คือฟรีทีวี ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมอย่างรัดกุมของรัฐและทุน
ปัญหาที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง (และไม่เข้าถึง) สื่อนี้ คงมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ด้วย ซึ่งแก้ไม่ได้ง่ายนัก เท่าที่ผมมองเห็นมีสองอย่างคือ
ประการแรก การเมือง, การปกครอง และเศรษฐกิจไทย กระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ข่าวคราวของท้องถิ่นจึงไม่มีความหมายแก่คนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับข่าวส่วนกลางก็ไม่มีความหมายแก่คนอีกมากที่มองไม่เห็นว่าจะกระทบต่อชีวิตของตนอย่างไร ยิ่งการเสนอข่าวเป็นลักษณะเสนอปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว ก็ยิ่งยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจนัยยะประวัติของข่าวนั้นต่อชีวิตของตน
ประการที่สองก็คือ สื่อกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ไปแล้ว ภารกิจหลักคือการ "ขาย" ให้ได้ (ทั้งผู้ซื้อและโฆษณา) คุณค่าเชิงธุรกิจ (ขายสินค้าด้วยต้นทุนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้) จึงมาก่อน สื่อที่ราคาถูกและทุกคนเข้าถึงได้ง่ายคือสื่ออินเตอร์เน็ต แต่สื่อประเภทนี้เสียอีกที่ถูกกีดกันหวงห้ามค่อนข้างมากจากรัฐ กระทรวงไอซีทีนั้นตั้งขึ้นเพื่อกำกับควบคุมการสื่อสารระหว่างประชาชน มากเสียยิ่งกว่าป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต หรือกำกับ (regulate) ให้เกิดระเบียบที่ไม่ทำลายเสรีภาพของใคร วิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีคนใหม่ในรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อเรื่องนี้ เลวร้ายไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลอื่นๆ ที่ผ่านมา
ดังนั้นแทนที่สื่ออินเตอร์เน็ตซึ่งในหลายสังคมกำลังกลายเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว จะสามารถพยุงให้มาตรฐานของสื่ออื่นดีขึ้น จึงมีผลน้อยมากในสังคมไทย
2.อำนาจรัฐไม่ได้จำกัดการฉ้อฉลอยู่แต่สื่อใหม่ทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่รวมไปถึงสื่อกระแสหลักต่างๆ ด้วย สมัยก่อนรัฐคุกคามสื่อโดยตรง แต่จะทำเช่นนั้นอย่างเปิดเผยในปัจจุบันไม่ได้เสียแล้ว แต่นักการเมืองจะอาศัยหรือสร้างสายสัมพันธ์ "พิเศษ" กับนักข่าวหรือแม้แต่เจ้าของสื่อ เพื่อกำกับควบคุมข่าว และทำได้ในระดับหนึ่ง (ไม่ถึง 100%) ที่มีพลังมากกว่านั้นก็คือการใช้งบโฆษณาของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งในปัจจุบันมีมูลค่ามหาศาล) ในการกำกับควบคุมสื่อ
ร้ายไปกว่านั้น เนื้อหาของการโฆษณากลายเป็นโฆษณานักการเมืองที่ควบคุมกระทรวงนั้นๆ หรือพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล แทนที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์ที่จะให้ประโยชน์แก่ประชาชน เช่นสิทธิที่พึงได้จากอุบัติภัยใหญ่ หรือการส่งลูกเข้าเรียน สิทธิการยกเว้นภาษี ฯลฯ เป็นต้น งบจำนวนนี้จะกระจายไปยังสื่อที่เป็นมิตร และใช้ลงโทษสื่อที่ถูกมองว่าไม่เป็นมิตร
ฉะนั้นโดยผ่านงบโฆษณา รัฐก็สามารถคุมแนวทางของสื่อได้ระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องไปทุบแท่นพิมพ์, หรือสั่งปิดโรงพิมพ์
ที่อันตรายมากคือโฆษณาของรัฐวิสาหกิจ เพราะจะออกมาในรูปของโฆษณาแฝงในข่าว หรือรายการ-คอลัมน์ โดยผู้รับสื่ออาจไม่รู้ตัวเลย บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ซึ่งคุมเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ในประเทศไทย ควรถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในทุกเรื่อง แต่สังคมกลับถูกมอมเมาด้วยโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติของบริษัท ซึ่งกระจายไปยังสื่อต่างๆ เสียจนไม่มีใครอยากเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากเป็นงบโฆษณาที่ใหญ่มากเกินกว่าจะชวดไปง่ายๆ
ในกรณีที่เป็นนโยบายสาธารณะซึ่งควรที่สังคมจะได้พิจารณาและอภิปรายกันอย่างรอบด้าน เช่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องอาจเสนอรายการทีวี หรือคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ ที่สนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่เปิดให้ผู้รับสื่อได้รับข้อมูลรอบด้าน
ทีวีทุกช่อง (รวมทั้งที่เรียกว่าทีวีสาธารณะด้วย) เสนอรายการแบบนี้ โดยไม่เตือนผู้ชมให้รู้ว่านี่เป็นการโฆษณา หรือนำเสนอมุมมองของฝ่ายตรงข้าม นโยบายสาธารณะที่ใหญ่ขนาดนี้ ถูกอำนาจของงบโฆษณาทำให้กลายเป็นทางเลือกที่สังคมไม่ต้องพิจารณาใคร่ครวญเลย
ผมอยากพูดเลยมาถึงการสร้างญัตติสาธารณะด้วย ฝ่ายที่มีกำลังทางเศรษฐกิจสูงจะอาศัยสื่อในการสร้างญัตติสาธารณะที่เอื้อต่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว โดยฝ่ายอื่นไม่มีพื้นที่ในสื่อสำหรับต่อรองอย่างเพียงพอ
ขอยกตัวอย่างเรื่องน้ำท่วมครั้งนี้ ฝ่ายที่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้เป็นกอบเป็นกำมหึมา โดยไม่ต้องขึ้นศาลหรือประท้วงปิดถนนที่ไหนสักแห่ง คือธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งสภา, มหาวิทยาลัย, นักวิชาการ, และฝ่ายโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ ออกมาจับจองพื้นที่สื่อ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความเสียหายของเขาคือความเสียหายของชาติ ฉะนั้นต้องชดเชยเขาในรูปยกเว้นภาษี, ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, สร้างโครงสร้างพื้นฐานป้องกันเขา (ไม่ได้ยินใครเรียกร้องให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ป้องกันหรือบรรเทาน้ำท่วมอย่างทั่วหน้า มีแต่จะเอาของกูให้รอดคนเดียวเสมอ) ฯลฯ จนดูเหมือนสื่อจะลืมแม่ค้าริมถนนไปแล้ว นอกจากเอามาเสนอในฉากข่าวเชิงละครให้สะเทือนใจกันเป็นกระสาย
คุณ "ใบตองแห้ง" เสนอทางแก้งบโฆษณาจากภาครัฐว่า ต้องกำหนดระเบียบให้เปิดเผยการจ้างทำสื่อของหน่วยราชการ (และรัฐวิสาหกิจ) ว่าใช้ไปเท่าไร กับใคร เรื่องอะไร เพื่อให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบและซักถามได้
ผมก็เห็นด้วยนะครับ ในขณะเดียวกันก็อยากเสนอเพิ่มเติมว่า การมีสำนักงานมอนิเตอร์สื่อของฝ่ายประชาชนบ้างก็จะดี แต่ทำให้มีประสิทธิภาพกว่าที่มีอยู่ในเวลานี้ คือสามารถล้วงลึกลงไปได้มากกว่านั่งนับประเภทข่าว แล้วก็สรุปเอาเองอย่างง่ายๆ โดยไม่สนใจเบื้องหลังเอาเลย จะเอาเงินมาจากไหน นอกจากองค์กรประเภท สสส.แล้ว ยังมี กสทช.ซึ่งสามารถให้เงินอุดหนุนเอกชนทำอย่างมีประสิทธิภาพก็ได้
ภัยคุกคามสื่อที่สังคมควรระวังในปัจจุบัน คือการกำกับควบคุมสื่อโดยรัฐและทุน ผ่านงบโฆษณานี่แหละครับ นี่เป็นเรื่องใหญ่เสียจนข้อเสนอทั้งของคุณ "ใบตองแห้ง" และผม คงไม่พอจะจัดการกับมันได้หรอกครับ ตราบเท่าที่สังคมไทยยังไม่ยี่หระต่อสิทธิในการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง และสิทธิในการไม่ถูกหลอก จะมีใครทำอะไรเพื่อกระตุ้นสำนึกต่อสิทธิเหล่านี้ไปด้วยก็ยิ่งดี
3.ความสัมพันธ์ระหว่างนักข่าวและเจ้าของสื่อก็มีปัญหาเหมือนกัน อำนาจของเจ้าของสื่อในการกำหนดเนื้อหามีอยู่สูง จนกระทั่งคนทำสื่อเองไม่ได้มีเสรีภาพจะเสนอความจริงที่ตัวค้นพบได้อย่างอิสระ ในภาพรวม ปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเจ้าของสื่อจำเป็นต้องแข่งขันทางธุรกิจ หากจำกัดเสรีภาพของนักข่าวมากเกินไป ผลิตภัณฑ์ของตนอาจจืดชืดจนไม่มีผู้ซื้อได้ แต่ในระยะยาว เจ้าของสื่ออาจไปพัวพันกับนักการเมือง เสียจนกระทั่งสื่อขาดความเป็นกลาง ดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ
ทางออกน่าจะเพิ่มอำนาจต่อรอง (ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม) ของคนทำสื่อกับเจ้าของ เช่นการตั้งสหภาพซึ่งไม่ใช่ดูแลแต่เพียงผลตอบแทนและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องดูแลไปถึงจุดยืนด้านเสรีภาพอีกด้วย เรื่องนี้ก็น่าประหลาดนะครับ เพราะสื่อหนังสือพิมพ์ที่มีสหภาพของตัวมีอยู่ฉบับเดียว เป็นภาษาอังกฤษที่เดิมเป็นของฝรั่ง ส่วนทีวีก็มีเฉพาะช่องเดียวที่เป็นทีวีซึ่งรัฐถือหุ้นใหญ่
4.ทางด้านเนื้อหา สื่อไทยยังสนใจเสนอข่าวระดับปรากฏการณ์เท่านั้น ไม่ยอมลงทุนเจาะข่าวให้ลึกไปถึงความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนของตัวละครในข่าว หรือระบบที่อยู่เบื้องหลังความไม่ชอบมาพากลต่างๆ
จริงๆ แล้วเบื้องหลังการตี 'ปิงปอง' นั้น มันมีเหตุมีผลที่เข้าใจได้ทั้งนั้น แต่เมื่อสื่อไม่เจาะไปถึง ผู้รับสื่อจึงมองเห็นแต่ความไม่เป็นโล้เป็นพายของนักการเมือง หรือบุคคลสาธารณะต่างๆ ในขณะเดียวกันก็สิ้นอำนาจที่จะไปจัดการแก้ไขปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น
ชีวิตสาธารณะของคนไทยจึงมีแต่เรื่องหมากัดกัน
++
คนน่าชัง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1637 หน้า 30
Alexis de Tocqueville กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ความคิดเกี่ยวกับความเสมอภาคและประชาธิปไตยจะแพร่หลายไปสู่ประชาชนวงกว้าง "ไพร่" และ "อำมาตย์" หาได้มีความเกลียดชังกันไม่ เพราะต่างคนต่างอยู่
แม้ว่าชีวิตอันฟุ้งเฟ้อ (เร่อร่า) ของ "อำมาตย์" จะเป็นไปได้ เพราะกินแรงงานของ "ไพร่" ก็จริง แต่ "อำมาตย์" ก็ไม่ได้ใส่ใจชีวิตของ "ไพร่" ในสังกัดของตนมากไปกว่า ส่วยสาอากรที่พึงได้รับตามประเพณี
ในทางตรงกันข้าม "ไพร่" ก็ยอมรับแล้วว่า ชีวิตอันต่ำต้อยและยากเข็ญของตนนั้นเป็นธรรมชาติ เกิดเป็น "ไพร่" ก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ ไม่มีใครไปนั่งคิดวิเคราะห์ว่า ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อของ "อำมาตย์" นั้น เป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร ฉะนั้น ถึงจะอึดอัดกับภาระผูกพันที่มีกับ "อำมาตย์" แต่ก็ไม่ได้เกลียดชังขมขื่นกับคนเหล่านั้น
แต่ประชาธิปไตยและความเสมอภาค ทำให้คนสองกลุ่มนี้ต้องมามีชีวิตร่วมกัน ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน แก่งแย่งทรัพยากรชิ้นเดียวกัน และแก่งแย่งนโยบายสาธารณะของรัฐบาลเดียวกัน ได้เห็นหน้ากันอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก
ต่างฝ่ายต่างจึงเกลียดกันชิบเป๋ง
ในเมืองไทย ผมคิดว่ากระแสความชิงชังระหว่างกันนั้น มาปรากฏให้เห็นอย่างล่อนจ้อน ในระหว่างการยึดราชประสงค์ของกลุ่มเสื้อแดง
ก่อนหน้านี้ ต่างฝ่ายต่างซ่อนความเกลียดชังไว้เบื้องหลังคำว่า "ชาติ" และ "การพัฒนา" ฝ่ายใดจับจองการนิยามความหมายของสองคำนี้ได้มากกว่า ฝ่ายนั้นก็จะได้เปรียบในการกำหนดนโยบายสาธารณะ
แต่การยึดแหล่งช็อปปิ้งสุดหรูกลางเมืองในครั้งนั้น ทำให้ไม่มีฝ่ายใดซ่อนความชิงชังระหว่างกันไว้ได้อีกต่อไป การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงทำลายการนิยาม "ชาติ" และ "การพัฒนา" ที่ "อำมาตย์" เคยนิยามไว้ลงโดยสิ้นเชิง
ใน "ชาติ" เสื้อแดงประกาศว่า ประชาชนต้องมาก่อน และก่อนอะไรอีกหลายอย่างที่เคยบดบังความสำคัญของประชาชนด้วย ร้ายยิ่งไปกว่านั้น ในการมาก่อนของประชาชนนั้น หมายถึงการที่พวกเขาต้องเป็นฝ่ายกำหนดเอง โดยฝ่าย "อำมาตย์" ไม่ต้องมาจัดให้
ส่วน "การพัฒนา" นั้น ฝ่ายเสื้อแดงยืนยันว่าการพัฒนาคือการเมือง เพราะที่จริงคือการเลือกจะใช้ทรัพยากรอะไร, อย่างไร และเพื่อใครนั่นเอง ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งอยู่เหนือการเมืองอันต้องปล่อยให้ดำเนินการโดยอิสระของเหล่าผู้เชี่ยวชาญฝ่าย "อำมาตย์"
เมื่อคนสองกลุ่มนี้ต้องมาอยู่ใกล้ชิดกันในตลาด (ในทุกความหมายของคำว่าตลาด - เศรษฐกิจ, การเมือง, สังคมและวัฒนธรรม) ต่างก็ได้เห็นรสนิยม, วิธีคิด, วิถีชีวิต ฯลฯ ของกันและกัน เป็นความแตกต่างที่ไม่อาจเข้าใจได้ และดังนั้นจึงน่ารังเกียจ
ในระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชประสงค์สืบมาจนถึงทุกวันนี้ ความเกลียดชังดูหมิ่นเหยียดหยามกันสามารถแสดงออกได้อย่างเปิดเผยโดยไม่ต้องปิดบัง อะไรที่เป็นฐานแห่งความชอบธรรมทางอำนาจของฝ่าย "อำมาตย์" และบริวาร กลุ่มเสื้อแดงก็เอามาแฉโพยและ "ล่วงละเมิด" (ลองนึกถึงสิ่งที่เสื้อแดงพูดถึงวีรบุรุษของ "อำมาตย์" สองคน คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และ คุณอานันท์ ปันยารชุน)
ในทางตรงกันข้าม ฝ่าย "อำมาตย์" ก็แสดงความชิงชังขนาดทำลายความเป็นมนุษย์ของ "ไพร่" ด้วยการเรียกว่าเป็นควายแดงบ้าง เป็นปลวกบ้าง จนกระทั่งความตายจากการสังหารหมู่ของคนเสื้อแดง ไร้ความหมายเสียยิ่งกว่าตึกรามบ้านช่องที่ถูกเผา
ผ่านมาสองปี ความเกลียดชังเหยียดหยามต่อกันก็มิได้บรรเทาเบาบางลงแต่อย่างไร เข้าไปอ่านข้อความของทั้งสองฝ่ายในเว็บไซต์ต่างๆ แล้วลองคิดถึงตัวเองว่ามาจากสังคมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสังคมไทยเลย คงจะตระหนกว่า สังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังต่อกันเช่นนี้ ยังดำรงอยู่เป็นสังคมเดียวกันต่อไปได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองฝ่ายก็คงจินตนาการต่อไปได้ด้วยว่า ต่างไม่สามารถกลับไปอยู่ลำพังโดยไม่เกี่ยวข้องกัน เหมือนสมัยโบราณได้อีกแล้ว ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องอยู่ใกล้ชิดกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะอยู่ร่วมกันภายใต้กติกาอะไร?
ความใกล้ชิดอย่างเดียวอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ใกล้ชิดกันภายใต้กติกาอะไร นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
พี่ชุบ ซึ่งเป็นภารโรงสมัยที่ผมยังเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ คุยกับผมตั้งแต่สมัยนั้นว่า การรับใช้อาจารย์ซึ่งล้วนเป็นคนระดับสูงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย (สมัยที่ผมเรียนที่นั่น ผมมีอาจารย์ตั้งแต่ระดับพระองค์เจ้ามาถึง ม.ร.ว.) ต้องมีความรอบคอบละเอียดลออในการรับใช้ เช่น จะเสิร์ฟเครื่องดื่มให้ท่านในห้องพักนั้น ต้องดูทิศทางลมให้ดีว่า ลมพัดมาทางไหน อย่าได้ยกเครื่องดื่มเข้าหาท่านทางหัวลม เพราะคนชั้นเราย่อมมีกลิ่นตัวและกลิ่นเสื้อผ้าซึ่งไม่น่าอภิรมย์ ต้องเข้าทางหางลม ให้ท่านไม่รู้สึกอึดอัด
ภายใต้กติกาที่พี่ชุบยึดถือ "ไพร่" กับ "อำมาตย์" จะอยู่ใกล้ชิดกันอย่างไร ก็ไม่ทำให้ "อำมาตย์" อึดอัด แต่กติกาอย่างนั้น "ไพร่" สมัยนี้อึดอัดเสียแล้วล่ะครับ ครั้นไม่ยึดถือ "อำมาตย์" ก็จะอึดอัด ส่วนพี่ชุบก็ปลดเกษียณไปนานแล้ว ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ผมก็ไม่ทราบ
ดังนั้น "ไพร่" กับ "อำมาตย์" จะอยู่ร่วมเส้นทางเดียวกัน โดยไม่เกลียดชังกันจึงมีอยู่ทางเดียว
นั่นคือทำให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับกติกาใหม่ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและการต่อรองที่เท่าเทียมกัน
เรื่องนี้ผมและใครๆ ก็พูดมานานแล้ว จึงไม่ขอพูดอีก แต่ผมกำลังคิดว่า การบรรลุเป้าหมายนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ไม่ใช่เพียงเหตุผลทางการเมืองหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่อาจเป็นเพราะโดยทางวัฒนธรรมหรือการศึกษา เราไม่ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันจริงเลย ต่างคิดถึงอีกฝ่ายหนึ่งจากภาพสมมติซึ่งห่างไกลความเป็นจริงอย่างยิ่งด้วยกันทั้งคู่
การศึกษาที่ผมหมายถึงไม่ได้มีเฉพาะชั้นเรียน เพราะคนย่อมเรียนรู้จากนอกชั้นเรียนมากกว่าในชั้นเรียน แม้ว่าชั้นเรียนก็มีความสำคัญ ดังนั้น ผมจึงนึกถึงสื่อต่างๆ มากกว่า
แม้ว่าละครทีวีอาจสื่อชีวิตและความคิดค่านิยมของคนชั้นกลางลงไปถึงชาวบ้าน แต่ผมรู้สึกเสมอว่า ชีวิตของคนชั้นกลางในทีวีเป็นเพียงเสี้ยวเดียว เสี้ยวเดียวทั้งในความหมายถึงเนื้อหา และกลุ่มคน ในความเป็นจริงแล้ว คนชั้นกลางมีความหลากหลายสูงมาก ส่วนที่เป็นค่านิยมของคนชั้นกลาง ก็ออกจะเป็นสิ่งหยุดนิ่งเกินไป เพราะค่านิยมทั้งหลายที่คนชั้นกลางเคยยึดถือนั้น ถูกท้าทายและละเมิดอยู่ตลอดเวลา โดยคนชั้นกลางด้วยกันเองนั่นแหละครับ
ความเสี่ยงกับความไม่แน่นอนทั้งหลาย เป็นความเสี่ยงที่คนชั้นกลางต้องเผชิญด้วยความหวาดหวั่นที่สุด แต่ละครทีวีแทบไม่เคยพูดถึงความเสี่ยงเหล่านี้เลย
โดยสรุป คนชั้นกลางหรือบริวารของ "อำมาตย์" นั้น คือคนแปลกหน้าที่ "ไพร่" ไม่รู้จักเลย
ในทางตรงกันข้าม ชีวิตของ "ไพร่" ซึ่งกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วก็เป็นสิ่งลี้ลับในทัศนคติของคนชั้นกลางเช่นกัน ละครทีวีไม่เคยเสนอเรื่องราวของเขาอย่างเป็นจริง "ไพร่" ในละครทีวีมีบุคลิกตายตัวตามอุดมคติ เลวตามสูตร หรือดีตามสูตร
พูดเรื่องนี้แล้วอดคิดถึงนักเขียน (นิยาย) ไม่ได้ว่า น่าแปลกเหมือนกันนะครับที่ การเขียนนิยาย (นวนิยาย-เรื่องสั้น) ของไทยซึ่งเริ่มมาเกือบศตวรรษแล้ว ไม่นำเอาชนชั้นล่างขึ้นมาสู่ความเป็นนักเขียนเลย ผมไม่ถนัดกับเรื่องนี้นัก แต่พยายามนึกถึงนักเขียนจากชนชั้นล่างอย่างไร ก็นึกไม่ออกมากกว่าคุณศรีดาวเรืองคนเดียว
วรรณกรรมร่วมสมัยจึงไม่ใช่เวทีสำหรับชนชั้นล่างจะปรากฏตัว
ยิ่งคิดถึง "มโนภาพ" ว่าคนไทยคือใคร อันเป็นสิ่งที่เรายึดว่าลักษณะอย่างนี้แหละเป็นตัวเรา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออัตลักษณ์ของไทย เป็นลักษณะที่มีคนชั้นล่างอยู่ในนั้นน้อยลงทุกที เช่น จะบอกว่าคนไทยคือชาวนา แต่ส่วนใหญ่ของคนไทยปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้เป็นชาวนา ที่ยังทำนาอยู่ก็ไม่ได้เป็นชาวนาอย่างที่เคยเป็นแล้ว หากเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวเพื่อขายในตลาด ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคนชั้นล่าง ทำให้เขาหลุดออกไปจากส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไทยไปทุกที
ในชั้นเรียนเอง เราก็แทบไม่ได้พูดถึงคนอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น "อำมาตย์" และบริวารตามความเป็นจริง หรือ "ไพร่" ตามความเป็นจริง ชั้นเรียนระดับประถม-มัธยมเป็นที่ปลูกฝังอุดมคติ (ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีอำนาจ) ไม่ใช่ที่สอนให้รู้และเคารพความจริง
ส่วนชั้นเรียนระดับที่สูงกว่านั้น ก็กลายเป็นที่ฝึกคนให้เป็นเครื่องมือของการพัฒนาที่ไม่มีคนอยู่ในนั้น เราเรียนรู้เรื่องการสร้างเขื่อน โดยไม่สนใจว่าคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำนั้น ใช้มันอย่างไร งานวิจัยที่เกี่ยวกับคนชั้นล่างส่วนใหญ่ เป็นการค้นหาหนทางที่จะนำเอาคำตอบสำเร็จรูปไปตอบโจทย์ของชาวบ้าน โดยไม่สนใจจะเรียนรู้เกี่ยวกับโจทย์จริงที่ชาวบ้านหรือชนชั้นล่างกำลังเผชิญอยู่จริง
มีคำตอบตั้งแต่ยังไม่รู้คำถามชัดเลย
ผมจึงเชื่อว่า ตราบเท่าที่เราไม่จัดให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ระหว่างกันและกัน
เส้นทางแห่งความเสมอภาคและการต่อรองที่เท่าเทียมกัน ระหว่าง "อำมาตย์ "และ "ไพร่" ย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรค
และความรุนแรง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย