http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-22

วิตถารชน โดย คำ ผกา

.

วิตถารชน
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 89


"ค่าใช้จ่ายในภารกิจ ศอฉ. ที่เริ่มตั้งแต่มีการเรียกทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ ตั้งแต่วันที่ 12-23 มีนาคม ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 280 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 30-40 ล้านบาท แต่หลังจากขยายเวลาออกไปอีก ได้ปรับเปลี่ยนกำลังตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไป จากเดิมที่มีกำลังพลเพียง 5 หมื่นอัตรา เพิ่มมาอยู่ที่ 6.4 หมื่นอัตรา ทำให้มียอดค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

โดยตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม - 30 พฤษภาคม รวมถึงวันประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว รวมยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,400 ล้านบาท (เฉพาะเบี้ยเลี้ยง) มีการเบิกจ่ายเป็นล็อตๆ ในรูปแบบของงบสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โดยขอเบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ขั้นตอนงบสำรองจ่าย เฉพาะแค่ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาค สนามและภายในหน่วย แต่หากรวมไปถึงค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายแบบรายยิบรายย่อยคงมียอดสูงถึง กว่า 5,000 ล้านบาท"
http://prachatai.com/journal/2010/06/30153


ข่าวดีที่สุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) พิจารณาอนุมัติวงเงินเยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

สำหรับฉันถือเป็นข่าวดี เพราะนี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ที่ "รัฐ" ได้ส่งสัญญาณมาสู่สังคมอย่างชัดเจนว่า "ผู้ที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือไม่มีสิทธิฆ่าประชาชน"

นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการยอมรับว่า "ประชาชนมีสิทธิทุกประการที่จะแสดงความเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล ประท้วงรัฐบาล ภายใต้กรอบของกฎหมาย และหากมีความสูญเสียอันเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ การสั่งการโดยรัฐและอาวุธของรัฐ รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียนั้น"

แน่นอนต้องมีคนตั้งคำถามว่า การชุมนุมทางการเมือง การประท้วงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นหรือไม่

คำตอบคือ การประท้วงทุกประเภทในโลกนี้ต้องการสร้างภาวะที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตปกติของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความหมายทางการเมือง โดยมีวัตถุประสงค์ให้คนเหล่านั้นตระหนักถึงปัญหาที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน (หากประท้วงแล้วเงียบฉี่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่ทราบว่าจะออกมาประท้วงไปทำซากอะไร สู้นอนฉี่อยู่ที่บ้านจะดีกว่าหรือไม่)

การปะทะกันระหว่างสิทธิของผู้ประท้วง สิทธิของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ (เช่น ผู้ประกอบการที่ราชประสงค์ นักท่องเที่ยว ประชาชนที่อยู่อาศัยในย่านนั้นอาจได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่มีคนมาชุมนุม) และรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในสองทางคือ ทั้งตระหนักว่าประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองนั้นมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำเช่นนั้นขณะเดียวกันรัฐต้องมีหลักการในการควบคุมมิให้การชุมนุมนั้นไปละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น

ทว่า หลักการที่จะควบคุมนั้นต้องเป็นไปตามหลักสากล - แน่นอนว่า "หลักสากล" ย่อมไม่มีพลซุ่มยิง ไม่มีสไนเปอร์ ไม่มีการกุผังล้มเจ้า ไม่มีรถถัง อาวุธสงคราม ไม่มีการบุกเข้าสลายการชุมนุมในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังทหาร

ที่สำคัญ - ยังไม่มีการอภิปรายอย่างจริงจังว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดูแลความเรียบร้อยเมื่อมีการชุมนุมทางการเมือง ต้องเป็นตำรวจ มิใช่ "กองทัพ" เพราะประชาชนมิใช่อริราชศัตรู



ทว่า ทั้งหมดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในสมัยของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่คงไม่จำเป็นต้องย้อนอดีต ฉายหนังซ้ำว่า พรรคประชาธิปัตย์บินเกาะล้อรถถังขึ้นมาเป็นรัฐบาลอย่างไรทั้งๆ ที่แพ้การเลือกตั้ง และข้อเรียกร้องของประชาชนที่มาชุมนุมทางการเมืองนั้นคือการยุบสภาเพื่อล้างไพ่คืนอำนาจให้ประชาชนกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง -เท่านั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือขบวนการใช้สื่อและการข่าวสร้างให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองกลายเป็น "ผู้ก่อการร้าย" บ้าง เป็น "คอมมิวนิสต์" บ้าง เป็นพวกอยากเปลี่ยนประเทศเป็น "สาธารณรัฐ" บ้าง

น่าเศร้าไปกว่านั้นคือมันทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมอุดมศีลธรรมปลิ้นปล้อน จอมปลอม และอ่อนปัญญาในเวลาเดียวกัน เพราะเมื่อรัฐบาลบอกว่าผู้ชุมนุมประท้วงเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นพวกสาธารณรัฐ เป็นผู้ก่อการร้าย - สังคมไทยก็พร้อมจะเกลียดชังผู้ประท้วงชุมนุม โดยที่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าเป็นคอมมิวนิสต์แล้วไง? คอมมิวนิสต์คืออะไร? สาธารณรัฐคืออะไร?

ในโลกนี้มีประเทศไหนเป็นสาธารณรัฐ แล้วประเทศเหล่านั้นกลายเป็นปิศาจ น่าเกลียดน่ากลัวอย่างนั้นหรือ?

มีผู้ออกมาพูดว่า "ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน" ในช่วงที่รัฐกำลังใช้กำลังทหารเข้าล้อมปราบประชาชน และผู้นั้นกลับกลายเป็นขวัญใจชนชั้นกลางชาวไทยผู้รักในความดี ผู้เลื่อมใสในคำสอนของพุทธศาสนา ผู้ฝักใฝ่ใน ติช นัท ฮันห์ และเหล่าผู้รักการปฏิบัติธรรมในสวนธรรมกลางป่าเขาอันสุขสงบ


สังคมที่ให้คุณค่าเกียรติยศกับคนที่ยืนอยู่ข้างฝ่ายเข่นฆ่าประชาชนคือสังคมวิตถาร สังคมที่ไม่มีความสลดใจต่อการสังหารประชาชนด้วยอาวุธที่มาจากภาษีของประชาชนคือสังคมที่วิตถาร

แต่สังคมไทยไม่เคยสำเหนียก ทบทวนความวิตถารของตนเองแม้แต่น้อย


โศกนาฏกรรมได้เกิดขึ้นแล้ว มีศพเกลื่อนกลาดอยู่บนถนน มีเลือดอาบอยู่ทุกหนทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร ทุกค่ำคืนในแสงไฟระยิบระยับและความหรรษาจากมหรสพแห่งการบริโภคอันหรูหรากลางเมืองหลวงเราต้องได้ยินเสียงกรีดร้องของวิญญาณของคนเหล่านั้นที่ต้องตายไปพร้อมกับคำถามว่า "เราแค่มาขออำนาจของเราคืนแล้วมาฆ่าเราทำไม"

มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ปราศจากอาวุธได้ส่งเสียงบ้าง และวันที่ 3 กรกฎาคม ของปีที่ผ่านมา ประชาชนที่ไร้เสียงในสื่อ ไร้อำนาจ ไร้อาวุธ ได้ส่งเสียงบอกวิตถารชนทั้งหลายว่า "เราไม่เสียสติพอที่จะเลือกให้ความอำมหิตเป็นตัวแทนของเรา"

แต่น่าเศร้าที่วิตถารชนยังฟูมฟาย คร่ำครวญ รับไม่ได้อย่างยิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังดิ้นรนและทำงานอย่างหนักในการนำพาสังคมไทยออกจากความวิตถารนั้น (ดูปฏิกิริยาของคนเหล่านี้ต่อการทำงานของนิติราษฎร์ได้ )


"สังคมไทยสมควรต้องเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อ เพราะประชาธิปไตยของไทยเหมือนเด็กที่ท้องตอนอายุ 14"

นี่คือหนึ่งในความเห็นของวิตถารชน ผิดทั้งโดยตรรกะพื้นฐานว่า เอาอะไรมาวัดว่าเด็กอายุ 14 เป็นแม่ที่ดีไม่ได้?

ในประวัติศาสตร์ไทยมีคนเป็นแม่ตั้งแต่อายุ 14 มากมายที่เป็นแม่ที่ประเสริฐ และไม่ว่าจะในสมัยไหน "อายุ" ไม่ได้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของความเป็นแม่แม้แต่น้อย - ทั้งไม่ต้องถามต่อว่า "แม่ที่ดีเป็นอย่างไร ใครกำหนด?"

นี่คือความมักง่ายในการใช้ตรรกะของวิตถารชน ไม่นับว่ามีข้อถกเถียงที่ซับซ้อนกว่านั้น เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า วาทกรรม "ชิงสุกก่อนห่าม" ถูกผลิตมาเพื่อทำลายความชอบธรรมการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี 2475 เท่านั้น

วิตถารชนเหล่านี้เพียงแต่ถูกครอบงำด้วยวาทกรรมชุดนี้ผ่านระบบการศึกษา แบบเรียน และชุดความรู้ซ้ำซาก มักง่ายที่ถูกนำเสนอผ่าน "สื่อ - มวลชน" ไทยมายาวนานหลายทศวรรษเท่านั้นเอง

"ประชาชนที่สูญเสียรายได้ และธุรกิจที่เจ๊งไปในช่วงการชุมนุม ฝากมาถามว่า ตอนนี้ต้องมาทำงานหาเงินเสียภาษีให้รัฐไปจ่ายค่าชดเชยผู้ชุมนุมอีกเหรอ มันทำใจยากนะ"

"ธุรกิจประเภทใหม่ รายได้ดี...ธุรกิจการเรียกร้องประชาธิปไตย"

"ใครไม่ตายหรือบาดเจ็บ ยังเหลือวิธีสุดท้ายคือ แกล้งบ้า ให้ญาติไปขอรับเงินได้นะคะ"

"ถ้ารู้สึกผิดที่เหยียบศพเขาขึ้นมา ก็ใช้เงินตัวเองจ่ายสิคะ"

"เคยได้ยินแต่ปล้นแล้วเผา แต่เผาแล้วปล้นต่อ เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ"

เหล่านี้เป็นอีกหลายข้อความตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงวิตถารในตรรกะ เพราะเราในฐานะประชาชน ไม่เคยคิดว่า เราจะต้องทำงานเสียภาษีไปเพื่อให้รัฐบาลนำภาษีนั้นไปเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการทำรัฐประหาร จนสุดท้ายกลายเป็นงบประมาณในการ "ทำลายล้างและเข่นฆ่าประชาชน"

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดเรื่องโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่ต้องถกกันอีกมากว่าเอื้อประโยชน์ให้ใครกันแน่ และที่ว่ากันว่า ชาวบ้าน คนชนบท คนจน ที่เหล่าวิตถารชนเฝ้าประณามว่าคือพวกที่ "ไม่ต้องจ่ายภาษี" นั้น พวกเขาถูกเก็บภาษีทางอ้อมให้กลายเป็นคนจนซ้ำซากจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร

วิตถารชนไม่ได้สำเหนียกเลยหรือว่า "เงิน" ไม่อาจทดแทนชีวิตของคนที่เรารัก ถ้า พ่อ แม่ ลูก ของเราตายไปในวันนี้



ฉันขอถามคนที่ชอบพูดกันนักหนาว่า "บ้านเราเป็นเมืองพุทธ" ฉันขอถามคนที่ชอบทำหน้าอิ่มบุญ ปล่อยปลา ทำทาน กันเป็นประจำว่า เงินเท่าไหร่จะเยียวยาจิตใจของเราได้

ฉันเคยอ่านบทความฟูมฟายเรื่องความรักของแม่ ความเสียสละของแม่ ในหน้านิตยสารดกจริตมามากมาย บางครั้งแทบอ้วกในความเว่อร์ เวิ่นเว้อของเหล่าแม่ๆ ชนชั้นกลางเหล่านั้น แต่แล้วพวกท่านไม่คิดกันบ้างหรือว่าหัวอกของพ่อ แม่ ที่สูญเสียลูกไปกับการ "ฆ่าทิ้ง" อยู่กลางถนนนั้นเป็นอย่างไร และ "เงิน" ชดเชยลูก ผัว พ่อ หรือ แม่ ใครได้บ้าง?

เงินเพื่อเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมืองไม่ใช่การชดเชยการสูญเสียคนในครอบครัว แต่เป็นการแสดง "ความรับผิดชอบ" และเพื่อปักธงให้สังคมไทยตระหนักและสำเหนียกต่อไปว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหนต่อจากนี้ก็ไม่มีสิทธิเอาอาวุธและกำลังพลมาฆ่าประชาชน

นี่เปรียบเสมือนการชดเชยทางแพ่ง ส่วนทางอาญานั้นกระบวนการยุติธรรมต้องสืบเอาคนผิดมาลงโทษต่อไป เพราะการเรียกร้องความยุติธรรมไม่ได้หยุดอยู่ที่การจ่ายเงินค่า "ทำขวัญ"

มีคนตั้งคำถามถึงอาชญากรรมโดยรัฐที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ คำตอบของฉันคือ นี่เป็นครั้งแรกที่ประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาและรับผิดชอบต่ออาชญากรรมโดยรัฐ ย้ำว่า เรียกร้อง ต่อสู้ มันไม่ได้มาจากความเมตตาปรานีจากพรรคการเมือง หรือนักการเมือง แต่มาจากการที่ประชาชนกดดันพรรคการเมืองที่เขาเลือกมาจนสำเร็จ

นี่คือบรรทัดฐานที่ได้เกิดขึ้นแล้ว (ไม่อยากซ้ำเติมว่า ตอนที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลและขึ้นมาด้วยฐานคะแนนเสียงจากภาคใต้ ทำไมไม่กดดันให้พรรคประชาธิปัตย์ผ่านงบประมาณมาเยียวยาครอบครัวของผู้เสียหาย? จะอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ก่อ ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะการเยียวยาให้ผู้เสียชีวิตครั้งนี้ก็ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยเป็นคนก่อ)

สิ่งที่สำคัญกว่าเงินคือบรรทัดฐานที่ประชาชนไทยได้ต่อสู้มาเพื่อมิให้สิทธิของตนต้องถูกละเมิดโดยอำนาจรัฐอย่างมักง่าย - อันวิตถารชนคงไม่เข้าใจ



.