.
"วรเจี๊ยก"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 85
นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ที่แสดงจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกับนักวิชาการคณะ "นิติราษฎร์" และ "ครก.112" อย่างเด่นชัดมาตลอด
นำภาพของ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" นักวิชาการคนสำคัญของคณะนิติราษฎร์มาขึ้นปก และตกแต่งรูปนักวิชาการกฎหมายมหาชนรายนี้ให้กลายเป็นลิงยักษ์ "ชิมแปนซี" ซึ่งกำลังนำขบวนประท้วงต่อต้านกฎหมายอาญามาตรา 112
พร้อมคำพาดหัว "วรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า"
ที่มาดั้งเดิมของภาพลิงยักษ์ดังกล่าว คือ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเนื้อหาแหลมคมเรื่อง "Rise of the Planet of the Apes" (กำเนิดพิภพวานร)
ก่อนหน้านั้น เคยมีคนในเครือข่ายสังคมออนไลน์นำภาพลิงยักษ์จากหนังดังเรื่องนี้มาตกแต่งล้อเลียนให้เข้ากับบริบททางการเมืองแบบไทยๆ มาแล้วครั้งหนึ่ง
ด้วยการเอาภาพของ "พิภพ ธงไชย" หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ มาสวมบทลิงชิมแปนซี มีฉากหลังเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำโปรยว่า "กำเนิดพิภพ ธงไชย"
แม้จะมุ่งเสียดสีในแง่ "เนื้อหา" หรือจุดยืนทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ภาพ "กำเนิดพิภพ ธงไชย" ในครานั้น ก็ดูจะให้น้ำหนักกับการเล่นสนุกเรื่อง "คำ" อยู่มิใช่น้อย
ผิดกับกรณี "วรเจี๊ยกฯ" ที่เป็นการหยิบยืมภาพจากภาพยนตร์ต่างประเทศ มาใช้ในอีกบริบทหนึ่งซึ่งแยกขาดต่างหากจากตัวหนัง คือ บริบทการเมืองไทยร่วมสมัย
โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะลดทอนความน่าเชื่อถือ (ดิสเครดิต) ของคณะนิติราษฎร์ และ ครก.112 เป็นจุดใหญ่ใจความสำคัญ
ทว่า หากยังยึดถือบริบทแรกเริ่ม
"วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ตัวจริง กลับมีชะตาชีวิตที่สอดคล้องกับเหล่าลิงยักษ์ในหนังฮอลลีวู้ดอย่างมีนัยยะน่าสนใจ
"Rise of the Planet of the Apes" เล่าเรื่องราวของ "ลิงชิมแปนซี" ที่สูญเสียแม่และเจริญเติบโตขึ้นมาจากการเป็น "สัตว์ทดลอง" ซึ่งถูกเลี้ยงดูมาอย่างมนุษย์
การทดลองดังกล่าวส่งผลให้เจ้าลิงตัวนี้กลายเป็น "ลิงอัจฉริยะ" ที่เริ่มมีความรับรู้และวิจารณญาณใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับมนุษย์
กระทั่งมันได้ตระหนักว่า ตัวเองนั้นเป็น "ลิง" ไม่ใช่ "มนุษย์" อย่างที่เคยถูกเลี้ยงดูและถูกทำให้เชื่อมาตั้งแต่เด็ก
"มนุษย์" ต่างหากที่เป็นฝ่ายกดขี่ทำร้ายและใช้ประโยชน์จาก "ลิง" เพื่อผลประโยชน์ของพวก "มนุษย์" เอง แม้จะมี "มนุษย์" บางคน ที่รักและต้องการสงเคราะห์ลิงต่อไปเหมือน "ลูกแท้ๆ ก็ตาม"
สุดท้าย "ชิมแปนซีอัจฉริยะ" ก็เอื้อนเอ่ยคำว่า "No" ออกมา เพื่อปฏิเสธระบอบการปกครองของมนุษย์ มันกลายเป็นหัวขบวนปลดปล่อยบรรดา "เพื่อนลิง" ให้พ้นจากอำนาจครอบงำ ทั้งที่เป็น "อาวุธปืน" และ "ความรู้" ของมนุษย์
จนได้รับชัยชนะ กลายเป็นปฐมบทของหนังดังอีกเรื่องอย่าง "Planet of the Apes" ในที่สุด
คําว่า "No" ของตัวละครเอกซึ่งเป็นวานรในภาพยนตร์อเมริกัน ทำให้ผมนึกถึงคำสัมภาษณ์ขนาดยาวกว่า ที่วรเจตน์กล่าวไว้กับผู้สื่อข่าวมติชนออนไลน์
ทว่า คำปฏิเสธสั้นๆ และคำอธิบายยาวๆ คู่นี้ กลับคล้ายมีเจตจำนงหรือปณิธานบางประการร่วมกัน
ส่วนหนึ่งจากคำสัมภาษณ์ของนักวิชาการแห่งคณะนิติราษฎร์มีเนื้อหาว่า
"ปืนไม่ได้ดังตลอดเวลา มันแค่ดังอยู่ช่วงหนึ่งเท่านั้น สังคมที่ถูกกดทับเอาไว้ เนียนบ้างไม่เนียนบ้าง สักวันหนึ่งคนก็จะรู้ แล้วเขาก็จะค่อยๆ ลุกขึ้นยืน
"แน่นอนว่าการลุกขึ้นยืนมันต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวดเพราะฝ่ายที่ไม่อยากให้ลุกขึ้นยืนจะกดทับไว้ แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีพลังไหนที่จะแข็งแกร่งไปกว่าพลังหรืออำนาจของประชาชน
"แม้เสียงปืนจะดัง พลังของปืนจะรุนแรง แต่สุดท้ายแม้ในประวัติศาสตร์โลกก็จารึกไว้ว่า พลังของประชาชนนั้นแข็งแกร่งที่สุด ไม่มีใครต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงได้หรอก"
การตกแต่งภาพและการเขียนคำพาดหัว ที่ถูกคิดค้นดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของการเมืองแบบไทยๆ ในกรณี "วรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า" เพื่อลดทอนคุณค่าของนักวิชาการ-ปัญญาชนที่รวมตัวกันเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
จึงอาจมีความนัยที่พลิกกลับจากความประสงค์ของผู้สร้าง/ดัดแปลงอย่างสิ้นเชิง หากพิจารณาจากบริบทดั้งเดิมอันเป็นสากลของภาพที่ถูกหยิบยืมมาฉวยใช้
เมื่อ "ระบบคุณค่า" ของ "ความเป็นไทย" และ "ความเป็นสากล" ไม่ได้ (มิอาจ) แบ่งแยกออกจากกันโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ดังนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่านิยามประเภทไหนของ "วรเจี๊ยกฯ" จะ "ติดตลาด" หรือมีพลานุภาพในสังคมการเมืองไทยมากกว่ากัน
++
MONEYBALL "โลกธุรกิจในวงการกีฬา"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1641 หน้า 87
กำกับการแสดง Bennett Miller
นำแสดง Brad Pitt
Jonah Hill
Philip Seymore Hoffman
Robin Wright
เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในฤดูกาลเบสบอลเมเจอร์ลีกปี ค.ศ.2002 คือทีมโอกแลนด์แอธเลติกส์ หรือเรียกย่อๆ ว่า โอกแลนด์ เอ. เล่นชนะการแข่งขันเกมแล้วเกมเล่าต่อเนื่องกับถึงยี่สิบเกม
โอกแลนด์ เอ. เป็นทีมหางแถวโหล่สุด ไม่มีทางติดฝุ่นทีมเต็ง งบประมาณจำกัดไม่มีเงินซื้อตัวผู้เล่นเก่งๆ มาเข้าทีม ซ้ำร้ายผู้เล่นหลักๆ ก็กำลังถูกทีมกระเป๋าหนักซื้อตัวไปไม่เหลืออะไรไว้ในมือ พูดง่ายคือเป็นทีมที่อับจนหนทางพาตัวไปสู่ชัยชนะ และเป็นม้านอกสายตาในฤดูกาลด้วยประการทั้งปวง
แต่เท่าที่ปรากฏ ในฤดูกาลนั้นเอง แม้จะออกตัวช้าด้วยความพ่ายแพ้เกือบหมดรูปไม่เหลือฟอร์ม แต่ทีมโอกแลนด์ เอ. กลับผงาดขึ้นมาแสดงฝีมือเหนือคาด ทำให้บรรดาเซียนเบสบอลและนักวิเคราะห์เกมการเล่นต่างตะลึงงัน ไม่รู้จะคิดยังไงกับเรื่องนี้
โอกแลนด์ เอ. เอาชนะใจแฟนเบสบอลทั่วอเมริกา ด้วยการเล่นชนะรวดเดียวยี่สิบเกม
ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของการทำลายสถิติการเล่นชนะในเกมต่อเนื่องเท่าที่เคยมีมา
หนังเรื่องนี้คือเรื่องราวของชัยชนะในความพ่ายแพ้...
เรื่องราวของการคิดนอกกรอบ และการกล้าเสี่ยงด้วยหน้าตักทั้งหมดที่มี เพื่อพิสูจน์สิ่งที่ตนเชื่อมั่น
เบื้องหลังทั้งหมดอยู่ที่ตัวบุคคลคนเดียว
... บิลลี บีน (แบรด พิตต์)...
ผู้แปรโฉมหน้าวงการเบสบอลอาชีพ ด้วยทัศนคติและรูปแบบใหม่ในการรวบรวมนักกีฬาเข้ามาอยู่ในทีม ต่างไปจากขนบแบบแผนเดิมๆ ที่เคยทำกันมานับร้อยปี
บิลลี บีน มีอดีตเป็นดาวรุ่งของเบสบอลอาชีพ เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น อายุเพียงสิบห้าปี ฝีมือการเล่นเบสบอลของเขาไปเข้าตาแมวมองซึ่งล้วนทำนายว่าเขาจะเป็นซูเปอร์สตาร์ที่มีอาชีพรุ่งโรจน์ในวงการต่อไป
แมวมองยื่นข้อเสนอด้วยแรงจูงใจก้อนใหญ่ให้เขาไปเล่นให้ทีมอาชีพ ซึ่งทำให้บิลลีต้องตัดสินใจเลือกทางเดินครั้งสำคัญในชีวิต เขาทิ้งทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตัดหนทางสู่อนาคตอื่นใด นอกกรอบของนักกีฬาเบสบอลอาชีพ
สิบปีให้หลัง ศักยภาพยิ่งใหญ่ในตัวเขาที่แมวมองทำนายไว้ ไม่เคยเป็นอะไรนอกจากศักยภาพ เขาอยู่ในทีมใหญ่ แต่ไม่เคยได้ลงเล่นในสนามฤดูกาลแล้วฤดูกาลเล่า
บิลลีตัดสินใจครั้งใหญ่อีกครั้งที่จะเดินออกจากการเป็นนักกีฬาและผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของทีม
หน้าที่ของผู้จัดการทั่วไปคือจัดทีมสำหรับการแข่งขันตลอดฤดูกาล ซึ่งเช่นเดียวกับวงการกีฬายอดนิยมทั้งหลาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนตัวนักกีฬาในทีมด้วยค่าตัวระดับเจ็ดหลักลงมา
เห็นๆ จากหนังเลยว่าถ้าใครไม่เขี้ยวจริงคงอยู่ในวงการนี้ได้ยาก
สิ้นฤดูกาล 2001 ทีมโอกแลนด์ เอ. ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้
และทำท่าว่าจะต้องเสียนักกีฬามือดีไปอีกสามคน แถมยังไม่มีงบประมาณจะซื้อตัวนักกีฬาดีๆ มาสมทบ
บิลลีซึ่งเกลียดความพ่ายแพ้ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ต้องปรับวิธีคิดใหม่ทั้งหมด และเผอิญได้พบกับบัณฑิตหนุ่มสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล ปีเตอร์ แบรนด์ (โจนาห์ ฮิลล์) ซึ่งเพิ่งจะได้งานทำเป็นครั้งแรก
ปีเตอร์ แบรนด์ เป็นนักวิเคราะห์ตัวเลขและสถิติที่ปราดเปรื่อง ดูจากตัวเลขของผลงานในอดีตของนักเบสบอลอาชีพแต่ละคนแล้ว เขาเชื่อว่าไม่ต้องใช้เงินมากก็จะสามารถจัดทีมที่นำไปสู่ชัยชนะได้
บิลลีจึงจ้างปีเตอร์เป็นผู้ช่วย และพลิกวงการด้วยการไม่แยแสกับคำวิเคราะห์ของกลุ่มแมวมองอาชีพรุ่นเก๋าที่เฝ้าดูผลงานของนักกีฬาแต่ละคนๆ ใช้สายตาและสมองวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และใช้สัญชาตญาณในการคัดเลือกตัวนักกีฬาในทีม
อาจจะด้วยประวัติชีวิตนักกีฬาอาชีพที่ล้มเหลวจากคำพยากรณ์ของแมวมองก็ได้ ที่ทำให้บิลลีหันมาพึ่งสถิติล้วนๆ โดยเชื่อนักวิเคราะห์ตัวเลขที่แยกสถิติการเล่นของผู้เล่นแต่ละคนโดยละเอียด ซึ่งทำให้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนตัวผู้เล่นที่อยู่นอกสายตาของแมวมอง ด้วยราคาที่พอจ่ายได้
ผลก็คือชัยชนะที่เป็นปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น แม้ว่าทีมโอกแลนด์ เอ. จะไม่ได้ก้าวไปถึงตำแหน่งแชมเปี้ยนของฤดูกาลนั้น หรือฤดูกาลต่อๆ มา
แต่นี่เป็นเรื่องราวการฝ่าฟันของบิลลีในวงการกีฬาอาชีพ และการทบทวนพิจารณาความหมายในชีวิตของเขา รวมทั้งการจัดความสำคัญในชีวิต
หนังจบลงที่ข้อความว่า บิลลี บีน ปฏิเสธข้อเสนอเป็นค่าตัวสิบสองจุดห้าล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นค่าตัวสูงสุดของผู้จัดการทีมเบสบอล ฯลฯ
เป็นหนังเกี่ยวกับธุรกิจในโลกกีฬา มากกว่าตัวกีฬาเบสบอลเอง เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องดูเบสบอลเป็น ก็พอจะดูหนังรู้เรื่อง
บทหนังเขียนอย่างฉลาด ด้วยผู้เขียนคนเดียวกับที่เขียนบท The Social Network และ แบรด พิตต์ ก็สร้างบทบาทที่น่าจดจำให้แก่ตัว บิลลี บีน จนทำให้ได้รับการเสนอเข้าชิงโกลเดน โกลบ แต่ก็พลาดไปแก่ จอร์จ คลูนีย์ ดังที่ทราบกันแล้ว
ในขณะที่บทบาทที่เรียกเสียงหัวเราะได้โดยไม่ตั้งใจทำมุข คือบทของ ปีเตอร์ แบรนด์ ซึ่ง โจนาห์ ฮิลล์ สร้างบทบาทที่โดนใจคนดูมาก เลยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาสมทบชาย
เพลงที่ลูกสาวของบิลลีร้องตอนกลางเรื่อง ซึ่งกลายมาเป็นเพลงปิดเรื่องด้วย ยังก้องอยู่ในหูต่อมาอีกนาน ด้วยความหมายที่กินใจและสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาได้ดี
อย่าพลาดนะคะ เป็นหนัง feel good อีกเรื่อง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย