http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-18

ทหารไทย 2555: กองทัพกับการเมืองภายใน โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

ทหารไทย 2555 : กองทัพกับการเมืองภายใน
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 37


"มนุษย์ไม่ได้สร้างเหตุการณ์ปัจจุบัน เขาเพียงแต่ล่องลอยไปกับมัน
และพยายามที่จะบังคับทิศทาง"
A. J. P. Taylor
นักประวัติศาสตร์


การเมืองไทยเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างมากจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงต้นปี 2544 และก็เปลี่ยนโฉมอย่างมากอีกครั้งหนึ่งหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549

และที่สำคัญก็คือ ความสำเร็จของการยึดอำนาจในครั้งนี้ได้กลายเป็น "จุดผกผัน" อย่างมีนัยสำคัญกับบทบาทของทหารกับการเมืองไทย

หลังจากความสำเร็จของการยึดอำนาจในปี 2549 แล้ว ปรากฏการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การขยายบทบาทของทหารในการเมืองไทย และลักษณะเช่นนี้ดำรงอยู่สืบเนื่องเรื่อยมา และยังไม่เห็นถึงแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทดังกล่าวแต่อย่างใด

ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญของผลพวงรัฐประหารก็คือ การพยายามป้องกันผลประโยชน์ของผู้นำทหาร การออกพระราชบัญญัติกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งประสงค์ที่จะป้องกันการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง (รัฐบาล) ในกระบวนการแต่งตั้งนายทหารระดับสูง

เพราะกลุ่มผู้ยึดอำนาจเชื่อว่า รัฐบาลทักษิณแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร จนต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการรัฐประหาร (รัฐประหารของ รสช. 2534 ก็มีการกล่าวอ้างว่าเกิดจากปัญหานี้เช่นกัน)

กลุ่มทหารที่ออกกฎหมายเช่นนี้เชื่อง่ายๆ ว่า ด้วยวิธีดังกล่าว กองทัพจะมีสถานะเป็นเสมือน "เขตปกครองอิสระ" ที่รัฐบาลจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายไม่ได้

ดูเหมือนนายทหารกลุ่มนี้จะไม่เข้าใจหลักการทางการเมือง ไม่ว่าจะในระบบการปกครองแบบใดก็ตาม กองทัพคือเครื่องมือและ/หรือกลไกของรัฐบาล แม้ในยุคของรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะในกรณีของไทยหรือของประเทศใดก็ตาม กองทัพก็คือเครื่องมือของรัฐบาล ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระได้แต่อย่างใด

กล่าวคือ การดำรงสภาพให้กองทัพเป็นอิสระก็คือ การสร้าง "รัฐซ้อนรัฐ" ให้เกิดขึ้นในระบบการเมือง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กระบวนการทางการเมืองเช่นนี้มักจะต้องจบลงด้วยการรัฐประหารเสมอ เพราะสถานะแบบรัฐซ้อนรัฐนั้นในที่สุดแล้วย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเป็นในระบอบการปกครองของรัฐบาลทหารก็ไม่ได้แตกต่างกัน

ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตย กองทัพจึงอยู่ภายใต้ "การควบคุมของพลเรือน" (Civilian Control) [คำว่า "พลเรือน" หมายถึงรัฐบาลพลเรือน]

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกรอบความคิดเรื่อง "รัฐบาลคุมกองทัพ" หรือหากเป็นในระบอบสังคมนิยมก็ไม่แตกต่างกันคือ "พรรคคุมปืน" อันเป็นแนวความคิดที่กองทัพอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลนั่นเอง

ซึ่งปัญหานี้จะเป็น "โจทย์" ของฝ่ายทหารและรัฐบาลในอนาคตของการเมืองไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


กฎหมายเช่นนี้จึงเป็นดัง "มรดกบาป" ชิ้นใหญ่ประการหนึ่งของรัฐประหาร 2549 ซึ่งเมื่อสังคมการเมืองก้าวออกจากการยึดอำนาจกลับสู่การเมืองแบบการเลือกตั้งแล้ว กฎหมายดังกล่าวก็ไม่สมควรจะมีสถานะดำรงอยู่ต่อไปแต่ประการใด

และหากรัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนที่จะยกเลิกกฎหมายที่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตยแล้ว ก็อาจอาศัยกระบวนการทางรัฐสภา ด้วยการผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่เวทีรัฐสภา เพื่อให้เกิดการออกเสียงชี้ขาดในที่สุด

หรืออาศัยอำนาจของพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการประกาศของนายกรัฐมนตรียกเลิกกฎหมายดังกล่าวก็ย่อมกระทำได้ เพราะถือว่าอำนาจในกฎหมายดังกล่าวขัดแย้งกับอำนาจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าสูงสุดของส่วนราชการ

เว้นเสียแต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อได้อำนาจรัฐแล้วยังกังวลปัญหาความขัดแย้งกับกองทัพ จึงใช้วิธีประนีประนอม โดยหวังว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวจะไม่ทำให้กองทัพเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลชุดนี้มากเกินไปนัก และทำให้รัฐบาลมีชีวิตได้ยืนยาวมากขึ้น

แต่หากดูจากเงื่อนไขทางการเมืองแล้ว วิธีคิดดังกล่าวดูจะเป็น "ความอ่อนหัด" เป็นอย่างยิ่ง

เพราะเมื่อย้อนกลับไปสู่ยุครัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช กับรัฐบาลของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั้น กองทัพแสดงบทบาทเป็น "เขตปกครองอิสระ" อย่างชัดเจน จนเห็นได้ว่ากองทัพนั้นยืนคนละฝ่ายกับรัฐบาลอย่างชัดเจน

แม้ในยุคของนายกฯ สมัคร จะมีความพยายามอย่างมากในการทอดสะพานเชื่อมกับผู้นำกองทัพอย่าง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ผบ.ทบ. ในขณะนั้น) แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ท่าทีของกองทัพในแบบ "รัฐอิสระ" ไม่เอากับรัฐบาลเกิดขึ้นโดยตลอด


ปรากฏการณ์เช่นนี้ไปไกลมากขึ้นภายใต้วาทกรรมในทำนองว่า "รัฐบาลไม่ใช่เจ้าของกองทัพ" และมีนัยสืบเนื่องโดยตรงว่ากองทัพจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังคำสั่งของรัฐบาล

วาทกรรมดังกล่าวทำให้การไม่เชื่อนั้นไม่ก่อให้เกิดปัญหา "ความรู้สึกผิด" ทั้งทางศีลธรรมและจริยธรรมในตัวเอง เพราะในความเป็นจริงรัฐบาลคือผู้บังคับบัญชาของกองทัพ

การนำเสนอวาทกรรมเช่นนี้ก็เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลหลุดออกไปจากกรอบการเมืองปกติ และทำให้ผู้นำทหารในขณะนั้นไม่จำเป็นต้องรับคำสั่งจากรัฐบาล ซึ่งก็คือการตอกย้ำความเป็น "รัฐอิสระ" ของทหาร

และขณะเดียวกันก็สร้างวาทกรรมให้กองทัพต้องยึดโยงอยู่กับกลุ่มการเมืองจารีตนิยมแบบเก่าเท่านั้น ซึ่งในด้านหนึ่งก็สอดรับกับ "จริต" ของแนวความคิดทางการเมืองของผู้นำทหารระดับสูงของไทยอยู่แล้ว ที่มีพื้นฐานทางการเมืองและความคิดในแบบ "อนุรักษ์นิยม-จารีตนิยม" เป็นทุนเดิม จนไม่อาจตัดสายสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับกลุ่มจารีตนิยมลงได้

พื้นฐานเช่นนี้มีส่วนอย่างสำคัญกับการผลักดันให้ผู้นำกองทัพบางส่วนกลายเป็น "กลุ่มต่อต้านทักษิณ" ไปโดยปริยาย

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ผู้นำกองทัพจะเชื่อว่าพวกเขามีความชอบธรรมในการเข้าแทรกแซงการเมืองไทย

การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำเกิดขึ้นในค่ายทหาร จึงกลายเป็น "หน้าที่" ของทหารที่จะต้องกระทำ และเป็นการดำเนินการที่ไม่จำเป็นต้อง "รู้สึกผิด" ในทางการเมือง

ในขณะเดียวกันรัฐบาลดังกล่าวดำรงอยู่ด้วยการค้ำจุนของกองทัพในทางการเมือง ไม่ต่างกับวาทกรรม "รัฐบาลหอย" ในรัฐประหาร 2519 ที่มีการเปรียบเทียบว่า รัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น "เนื้อหอย" และกองทัพเป็น "เปลือกหอย" ที่คอยปกป้องรัฐบาลให้อยู่รอดได้



บทบาทที่ชัดเจนของผู้นำทหารด้วยการเป็น "ผู้จัดตั้งรัฐบาล" ในยุครัฐประหาร 2549 และยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ บ่งบอกถึงสถานะของการเมืองไทยที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐบาลพลเรือนไม่ใช่ผู้มีอำนาจแท้จริง หากแต่เป็นเพียง "รัฐบาลหุ่น" ของกองทัพและกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยม-จารีตนิยม ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งได้ จึงใช้วิธีของ "การเดินเกมการเมือง" ด้วยพลังอำนาจของสถาบันทหาร ที่ใช้ในการข่มขู่และกดดัน จนสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในรูปแบบที่พวกเขาต้องการได้

และถ้าไม่ได้ด้วยการกดดันทางการเมืองแล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อรัฐบาลที่กลุ่มทหารและกลุ่มอนุรักษนิยมจัดตั้งขึ้นถูกคุกคามจากการชุมนุมของ "กลุ่มเสื้อแดง" กองทัพในฐานะ "เปลือกหอย" ที่มีบทบาทในการคุ้มครองรัฐบาลผสมของพรรคประชาธิปัตย์ จึงตัดสินใจใช้กำลังในปฏิบัติการ "ล้อมปราบ" การชุมนุมที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการปราบปรามใหญ่ในเมืองครั้งที่ 2 (โดยในครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519)

การล้อมปราบในปี 2519 อาจจะพออาศัยเงื่อนไขของสถานการณ์ระหว่างประเทศของยุคสงครามเย็นเป็นปัจจัยสนับสนุนด้วยวาทกรรม "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป"

แต่การปราบในปี 2553 เงื่อนไขเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะเป็นการปราบปรามประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ร่วมชุมนุมเป็น "ชนชั้นล่าง" จากหลายๆ จังหวัด

ผลจากการล้อมปราบนำไปสู่การ "ซุ่ม" สังหารด้วยพลแม่นปืนจนกลายเป็น "กรณี 91 ศพ" และในขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความแตกแยกครั้งใหญ่ในสังคมไทย

เพราะถ้าความขัดแย้งระหว่าง "เอาทักษิณ vs ไม่เอาทักษิณ" นำไปสู่ความแตกแยกอย่างมากแล้ว การสังหารกรณี 91 ศพ ก็คือการตอกย้ำให้เห็นถึงความแตกแยกที่ฝังลงลึกในสังคมไทย

จนบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า การประนีประนอมทางการเมืองเป็นสิ่งที่อาจจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในปี 2555

และขณะเดียวกันก็มองไม่เห็นถึงลู่ทางที่จะนำไปสู่การก้าวไปถึงจุดดังกล่าวได้แต่อย่างใด


ฉะนั้นแม้ในปี 2554 กองทัพกับรัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันได้ภายใต้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ แต่ความร่วมมือดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่จะกลายเป็น "กาว" เชื่อมกองทัพกับรัฐบาลให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติได้อย่างยั่งยืนในทางการเมือง

เพราะเมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2555 กองทัพกับรัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี 91 ศพ ซึ่งหากการสอบสวนขยายผลต่อจากการสอบสวนฝ่ายการเมืองแล้ว จะมีปรากฏการณ์ของการ "สอบสวนผู้นำทหาร" เกิดขึ้นได้หรือไม่ (ไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม) เพราะหากเกิดขึ้นจริง ก็อาจเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในการเมืองไทยต่อจากการนำเอานายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่กระบวนการปกติด้วยการให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ซึ่งประเด็นนี้มีนัยอย่างสำคัญในกระบวนการทางการเมืองของไทย แต่ก็จะนำไปสู่การเป็นแรงเสียดทานทางการเมืองอย่างมากในอนาคต

ในอีกด้านหนึ่งบทบาทของผู้นำทหารซึ่งมีทัศนะแบบอนุรักษนิยม-จารีตนิยมนั้น อาจจะทำให้เกิดการ "เผชิญหน้า" กับการเคลื่อนไหวในกรณี มาตรา 112 ได้

ดังจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านในช่วงปลายปี 2554 โดยเฉพาะจาก "กรณีอากง" เห็นได้ชัดเจนว่ามีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่เรื่องนี้จะขยายตัวจนกลายเป็น "ประเด็นใหญ่" ในปี 2555 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหานี้หนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้นำทหารดังการแสดงออกภายใต้วาทกรรม ถ้ารับมาตรานี้ไม่ได้ ก็ให้ "ไปอยู่ต่างประเทศ" เสีย

ลักษณะเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดแรงเสียดทานทางการเมืองในปี 2555 อย่างชัดเจน เพราะกลุ่มอนุรักษ์นิยม-จารีตนิยมนั้นไม่เข้าใจและที่สำคัญก็คือไม่ยอมรับการแก้ไขและ/หรือการยกเลิกมาตราดังกล่าว



นอกจากนี้ ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็จะเป็นอีกปมปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำกองทัพยุคปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมโยงกับการรัฐประหาร 2549 อันเป็นจุดกำเนิดของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

ผู้นำทหารจะยอมรับได้หรือไม่หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำเอาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นแนวทางหลัก

หากเป็นเช่นนี้แล้วพวกเขาจะออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ "ผลผลิตรัฐประหาร" เหมือนอย่างกับความพยายามในการปกป้องมาตรา 112 หรือไม่

ปมการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอีกประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญคู่ขนานกับปัญหามาตรา 112 ที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้นำทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน และเห็นได้ชัดเจนว่าท่าทีของผู้นำกองทัพในปีกอนุรักษนิยมนั้น คงยอมรับกับปัญหาการเคลื่อนไหวคัดค้านในประเด็นทั้งสองไม่ได้


แต่ในส่วนกรณี 91 ศพ รัฐบาลกับกองทัพอาจจะประนีประนอมกันได้ โดยใช้วิธี "กันเป็นพยาน" กับผู้นำทหาร เพื่อมุ่งเอาผิดกับฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้องเป็นด้านหลัก

หรือ พ.ร.บ. กลาโหม ก็ปล่อยค้างไว้ โดยไม่แตะต้อง เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็สามารถใช้อำนาจ "คร่อมทับ" อำนาจของกฎหมายดังกล่าวได้ (ถ้าจะทำกันจริงๆ!) โดยไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้าด้วยการเดินแนวทางยกเลิกกฎหมายนี้

ดังนั้น ความขัดแย้งในปี 2555 จะมีบริบททางกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ ม.112 จะเป็นดัง "สนามทุ่นระเบิด" ทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล

และหากก้าวข้ามสนามทุ่นระเบิดนี้ไปได้ ก็หวังอย่างน้อยว่า ความสัมพันธ์ในปี 2555 ระหว่างผู้นำหญิงของประเทศกับผู้นำชายของทหารจะยังคงพอ "หวานชื่น" เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมืองได้บ้าง เหมือนเมื่อครั้งการเยี่ยมเยือนแต่ละกองบัญชาการกองทัพของผู้นำรัฐบาลในช่วงปลายปี 2554!



.