http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-20

..พิสูจน์ซ้ำ'ปรองดอง ใครทำ-ใครดีแต่พูด', ลึกแต่ไม่ลับ 20 ม.ค.55

.
รายงานพิเศษ 3 - "ยิ่งลักษณ์" โชว์ "เงียบ-เฉียบ" ดับ รมต.โลกลืม เลื่อนชั้น "ปู 2" ไม่พ้นครหา "บริษัท รบ.ชินฯ"
รายงานพิเศษ 4 - "จุดอ่อน" ใน "จุดแข็ง" "อารักษ์-นิวัฒน์ธำรง" จาก "มืออาชีพ" ชินคอร์ป สู่ "รัฐมนตรี" มือใหม่
รายงานพิเศษ 5 - ปฏิบัติการ "2 โอ๋" ปลด "อ๊อด" ทัพฟ้าสะท้าน ทัพบกสะเทือน "บิ๊กตู่-บิ๊กเฟื่อง" หวั่นไหว "สุกำพล" "แรงส์" โหมไฟกองทัพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


เยียวยาม็อบ 2 พันล้าน! พิสูจน์ซ้ำ ' ปรองดอง ใครลงมือทำ-ใครดีแต่พูด '
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 12


ทันทีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มีมติเห็นชอบหลักการ

ตามมติคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอแนะมาตรการ กลไกและวิธีการเยียวยาเหยื่อและผู้เสียหาย

ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากความรุนแรงและขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ทันทีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เห็นชอบตามที่คณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. (ปคอป.) เสนอกรอบชดเชยเยียวยาผู้เสียหาย

ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชนและภาคเอกชน ตลอดจนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบในกรอบวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ดังนี้

กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพรายละ 4,500,000 บาท กรณีเสียชีวิตได้รับค่าปลงศพอีกรายละ 250,000 บาท

ชดเชยเยียวยาความสูญเสียด้านจิตใจ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอีกรายละ 3,000,000 บาท สรุปกรณีเสียชีวิตจะได้รับการชดเชยเยียวยาทั้งสิ้น 7,750,000 บาท ทุพพลภาพได้รับ 7,500,000 บาท

ทั้งยังกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง กรณีศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง และกรณีศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกแต่ถูกควบคุมหรือคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก

ให้ได้รับเงินชดเชยอัตราเท่าจำนวนระยะเวลาถูกควบคุมตัวหรือคุมขัง เกินกว่าเวลาให้จำคุก ตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของไทยปี 2553 คือ 150,177 บาทต่อปี

ก็เกิดเสียงค้านดังระงมจากบรรดาขาประจำ

ไม่ว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดินของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ กลุ่ม 40 ส.ว. และ ส.ว.เลือกตั้งบางคน

ที่ขาดหายไม่ได้เลยคือพรรคประชาธิปัตย์



ข้อคัดค้านการเยียวยาของกลุ่มขาประจำเหล่านี้เหมือนโขกออกมาจากพิมพ์เดียวกัน

นั่นคือการตั้งแง่ถึงจำนวนเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท และ 7,750,000 บาทว่าไม่สมเหตุสมผล ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย

เป็นการเลือกปฏิบัติ นำเงินภาษีประชาชนไปแจกจ่ายในลักษณะปูนบำเน็จให้คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่หลายคนยังมีคดีร้ายแรงติดตัว ได้ประโยชน์จากมติดังกล่าวมากที่สุด

กลุ่มขาประจำยังตั้งคำถามไปถึงรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า

ถ้าตั้งกรอบการชดเชยเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง เหตุใดจึงไม่นำกรณีพฤษภาคม 2535, 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มารวมไว้ด้วย

รวมไปถึงเหยื่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจากเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจผู้พลีชีพ

และยังขยายไปยังนโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดในยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ส่งผลให้มีการ "ฆ่าตัดตอน" เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่ครึ่งค่อนประเทศเมื่อปลายปี 2554 อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 800 ราย สมควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาด้วยหรือไม่

ครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ดีแต่พูด แต่ยังลงมือทำ

ด้วยการยื่นฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนมติ ครม. วันที่ 10 มกราคม 2555 ที่อนุมัติให้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาดังกล่าว

ทั้งยังยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการวิธีบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเพิ่มเติม

หรือพูดง่ายๆ คือ ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับมติ ครม. วันที่ 10 มกราคมไว้ก่อน ยังไม่ให้มีผลใช้บังคับ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาออกมา

ปรากฏต่อมาว่าศาลปกครองพิจารณาแล้ว ไม่รับคำขอให้ไต่สวนฉุกเฉินก่อนมีคำพิพากษา เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

และศาลยังไม่กำหนดวันนัดไต่สวนคดีนี้



เป็นเรื่องธรรมดาทางการเมืองในยุคที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดแจ้ง คือเมื่อมีกลุ่มคัดค้านออกมาคัดค้าน ก็ต้องมีฝ่ายสนับสนุนออกมาตอบโต้

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า การเยียวยาครั้งนี้ถือเป็นหลักกิโลเมตรแรกของการสร้างความปรองดอง เพราะเป็นการเยียวยาให้ทุกกลุ่ม ทุกสี

-ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะพวกเขาไม่ได้เตรียมตัวมาตายให้ใคร-

ยังมีนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่เห็นต่างจากประชาธิปัตย์ ยกตัวอย่าง นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า

การเยียวยาให้ผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามโดยอำนาจรัฐในการเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ดี และควรทำนานแล้ว เช่นเดียวกับการการเยียวยาเหยื่อความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้

คนที่ออกมาเรียกร้องให้เยียวยาภาคใต้ ก็เป็นคนในรัฐบาลชุดเก่า ซึ่งไม่เห็นสนใจ แล้วจะมาเรียกร้องตั้งเงื่อนไขอะไรกันตอนนี้ เรื่องเยียวยาภาคใต้ต้องพิจารณาต่อไป แต่ไม่จำเป็นต้องเอาทั้ง 2 กรณีมารวมกัน

ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ แกนนำเสื้อแดง ให้ความเห็นคมคายตามแบบฉบับว่า เงินเยียวยา 2,000 ล้านบาทเป็นเพียง 1 ใน 3 ของเงินที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ปราบปรามประชาชนในปี 2553

นอกจากนี้ มติ ครม. เรื่องการเยียวยานี้ เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ คอป. ที่มีมาตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพียงแต่รัฐบาลชุดนี้รับมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม

บนหลักการว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายล้วนเป็นองค์ประกอบความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางการเมืองนั้นหากมีการบาดเจ็บล้มตายไม่ว่าประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบเยียวยาแก้ไข

ด้านปฏิกิริยาของ นปช. แม้ นางธิดา โตจิราการ ประธาน นปช. จะพอใจตัวเลขการชดเชยเยียวยา

แต่ก็ยืนยันว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญในการสร้างความปรองดอง มากไปกว่าการคืนความยุติธรรมให้ นปช. และคนเสื้อแดง ในคดี 91 ศพ ที่รัฐบาลต้องหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้

มาถึงจุดนี้จึงเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า

แม้แนวทางสร้างสมานฉันท์ปรองดองจะกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลทุกชุด นับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา

แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่ ใครลงมือทำ ใครดีแต่พูด

ร้ายกว่านั้น คนดีแต่พูดยังขัดขวางคนลงมือทำอีกต่างหาก



++

ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 8


"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ลงมือปรับปรุงคณะรัฐมนตรี "ปู 1" เป็น "ปู 2" ด้วยสูตร "ปรับใหญ่" จำนวน 16 ที่นั่ง ขอแยกสัดส่วนออกเป็น 4 แท่งหลักด้วยกัน คือ

"กลุ่มที่ 1" รัฐมนตรีที่ถูกปรับเปลี่ยนแค่โยกย้ายกระทรวงกำกับดูแล คือยังร่วมรัฐบาล "ปู 2" อยู่ ประกอบด้วย 1.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองนายกฯ 2.พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 3."กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกฯ ควบว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นควบว่าการกระทรวงการคลัง

4.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5.นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 6.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข

"กลุ่มที่ 2" รัฐมนตรีหน้าใหม่ ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมใน ครม."ยิ่งลักษณ์ 2" ประกอบด้วย 1.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2.นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 3.นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 4.ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (โควต้าชาติพัฒนา)

5.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 6.นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 7.นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ 8. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9.นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง 10.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

"กลุ่มที่ 3" รัฐมนตรี "ปู 1" ที่ถูกปรับออกพ้นวงโคจรจากรัฐบาล "ปู 2" ประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ 2.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 4.น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ 5.นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม 6.นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ 7.นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุข 8.นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ 9.นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รัฐมนตรีช่วยศึกษาธิการ

10.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม



"กลุ่มที่ 4" เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจากรัฐบาล "ปู 1" และ ยังดำรงอยู่จุดเดิมในรัฐบาลในรัฐบาล "ปู 2" ประกอบด้วย 1.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 2.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ 3.นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ และรัฐมนตรีท่องเที่ยวและการกีฬา 4.นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

5.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 7.นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 8.พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยคมนาคม 9.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

10.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 11.นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 12.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ 13.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 14. นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

15.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม 16.นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 17.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเเทคโนโลยี 18.นางกุสุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 19.นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ยกยอด กลุ่มที่ 1 ที่ถูกสลับกระทรวง บวกกับกลุ่มที่ 2 ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ ผนวกกับกลุ่มที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ในหมวดที่ 4

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล "ปู 2" มีสัดส่วนดังนี้ คือ 6+10+19 เท่ากับ 35 คน "จัดเต็ม" 36 คน เมื่อนำรวมกับอีก 1 ที่นั่ง ของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ในฐานะนายกรัฐมนตรี

การปรับ ครม."ปู 2" มีเบื้องหลังการถ่ายทำมากมายหลายประเด็น ประการแรก ชี้ให้เห็นว่าประสงค์จะแก้เกมกับปัญหาเศรษฐกิจ-ประชานิยม จึงระดมคนนอกและคนในมาลงในตำแหน่งหลักเป็นทิวแถว ประการที่สอง "ปู 2" สมคบคิดจัดทำกันจำเพาะเจาะจงวงแคบๆ รู้กันเพียงไม่กี่คน อาทิ "ยิ่งลักษณ์+ทักษิณ+คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์

ประการที่สาม ชัดเจนเลยว่า มุ้งวังบัวบาน ของ "เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์" ยังทรงพลังในพรรคเพื่อไทย ไม่เช่นนั้นศิษย์ในคาถา "บุญทรง" คงไม่ได้ขึ้นลิฟต์ไปนั่งว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ "ลูกรัก" ที่ชื่อ "วรวัจน์" ต้องหลุดโผไปเลย เพียงแต่ถูกลดเกรด ได้นั่งว่าการสำนักนายกฯ

เหนือสิ่งอื่นใดเลย ชี้ให้เห็นว่า "นายใหญ่-นายหญิง" ยังให้เครดิตกับพรรคร่วม ทั้งชาติพัฒนา และโดยเฉพาะชาติไทยพัฒนา ของ "บรรหาร ศิลปอาชา" เพราะดังที่ทราบกันดีว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์+ท่องเที่ยวและการกีฬา เป็น 2 กระทรวงที่ "เพื่อไทย" พึงปรารถนา และประสงค์จะดึงกลับมากำกับดูแลเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อให้แผนฟื้นฟูประเทศเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ "บรรหาร" ไม่ยินยอม สุดท้าย "นายใหญ่" ถอย ไม่แตะไม่ต้อง รวมทั้ง "ตัวบุคคล" ที่นั่งประจำการยังเป็นคนหน้าเดิม

เพียงแต่ "วางเชิง" เอาไว้เล็กน้อยด้วยการผลักดัน "ณัฐวุฒิ" ไปเป็นช่วยเกษตรฯ ประกบ "ธีระ" เพราะ "เดอะเต้น" ไม่เงียบเฉยเหมือน "พรศักดิ์" รมช.คนเก่าแน่นอน



+++

"ยิ่งลักษณ์" โชว์ "เงียบ-เฉียบ" ดับ รมต.โลกลืม เลื่อนชั้น "ปู 2" ไม่พ้นครหา "บริษัท รบ.ชินฯ"
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 10


เริ่มเห็นโครงเค้า หน้าตากันแล้ว สำหรับ "ครม. ปู 2" ที่มีกำหนดในการปรับเปลี่ยนกันหลัง "รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เข้าปฏิบัติหน้าที่ได้เพียงไม่กี่เดือน และจะเป็นการ "ปรับใหญ่" ยกพวง หลายกระทรวงและหลายตำแหน่ง

โดย "ยิ่งลักษณ์" ยอมรับว่า ถึงเวลาที่จะต้องปรับ เพื่อความเหมาะสมในการทำงาน

ซึ่งก็สมเหตุสมผล ในการเปลี่ยนแปลง เพราะใน "ครม. ปู 1" คณะรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ล้วนแต่ชื่อ-ชั้น ยังไม่ได้รับการยอมรับว่า ความสามารถระดับเข้าขั้น "เสนาบดี" เพราะที่เคยคาดหวังกันว่า จะมี "คนใหม่-คนนอก" จะเป็น "มืออาชีพ" หรือประเภท "ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน" เข้ามารับตำแหน่งในขณะนั้นแทบจะไม่มี

จึงทำให้ "ภาพ" ของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ถูกมองอยู่แล้วว่า "ใหม่" ในทางการเมือง และยัง "อ่อน" ประสบการณ์ในการบริหารประเทศ ไม่ได้แข็งแกร่งขึ้นในสายตาของคนทั่วไป

และเมื่อเข้ารับ "ตำแหน่ง" กลับกลายเป็นว่า กลายเป็น "รัฐมนตรีที่โลกลืม" ไปอย่างรวดเร็ว

ซึ่งเมื่อ "แจกัน" และ "ใบเฟิร์น" อันเป็นองค์ประกอบของ "ดอกไม้" อย่าง "ยิ่งลักษณ์" ไม่ได้ช่วยเสริมสง่าราศี หรือเพิ่มความแข็งแรงให้กับ "นายกรัฐมนตรีหญิง"

จึงไม่แปลกที่การเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับปรุงจะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์

นอกจากนี้ ช่วงระยะสั้นๆ ที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เข้ามาบริหารประเทศ ถือว่าเพียงพอสำหรับพิสูจน์ฝีไม้ลายมือของ "รัฐมนตรี" แต่ละคนได้อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะช่วงที่ "รัฐบาล" ต้องเผชิญ "วิกฤติน้ำท่วมใหญ่" ปลายปี 2554 ที่ต้องระดมความร่วมมือจากทุกกระทรวง ทบวง กรม เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขสถานการณ์

ถือได้ว่า เป็นเวลาของการ "วัดหัวใจ" รัฐมนตรีร่วมคณะ และก็ทำให้เห็นว่ามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่แสดงความยินดีที่จะเข้ามาร่วมแบกรับภาระ "อุทกภัย" ร่วมกับ "นายกรัฐมนตรีหญิง"

ดังนั้น เมื่อผ่านจังหวะของการทดสอบ "หัวใจ" และ "ฝีมือ" กันอย่างจริงจังไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมีการ "กำจัดจุดอ่อน" อย่างจริงจัง ในหลายหน่วยงาน ทั้ง "กระทรวงการคลัง, กระทรวงกลาโหม, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงพลังงาน" และเก้าอี้ "รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี"

รวมไปถึงการตัดสินใจปลดภาระทางการเมืองบางอย่าง อาทิ บางคนที่มีชนักติดหลัง ถูก "ยื่นถอดถอน" หรือบางคนที่ทิศทางไม่ตรงกับนโยบายของรัฐบาล ออกจากตำแหน่งไปพร้อมกัน



บทสรุปบรรทัดสุดท้ายของ "ปู 1" จึงต้องออกด้วยการ "ปรับใหญ่" มากนับสิบตำแหน่ง

ซึ่งถือว่าความท้าทายอย่างยิ่ง ต่อการที่จะปลุกปฏิกิริยาของ "กลุ่มการเมือง" และ "กลุ่ม ส.ส." หลายกลุ่มในพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะออกมาแสดงความไม่พอใจและสร้างแรงกระเพื่อมให้กับ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ได้ตลอดเวลา

ทั้งในกลุ่มที่โดนปรับออกจากตำแหน่ง และกลุ่มที่ต้องการโอกาสเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล

ดังนั้น แม้จะมีกระแสข่าวการ "ปรับ ครม.ยิ่งลักษณ์" หลุดออกมาตามหน้าสื่ออย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่าเดือนว่าจะมีการขยับ "ปรับ ครม."

แต่ "แกนนำในรัฐบาล" โดยเฉพาะ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ก็ไม่เคยปริปาก และไม่เคยมีใครสามารถแสดงความชัดเจนได้สักครั้ง


จนเมื่อทุกอย่างสุกงอม ในจังหวะสุดท้าย "ยิ่งลักษณ์" จึงค่อยๆ โทรศัพท์เรียก "ว่าที่รัฐมนตรี" เป็นรายตัว เพื่อให้ไปกรอกประวัติและจัดเตรียมเอกสารสำคัญ

เป็นความสุขุมที่ "ยิ่งลักษณ์" สามารถสยบแรงกระเพื่อมภายใน "เพื่อไทย" อย่างได้ผล

แม้จะมีบางกลุ่มที่แสดงอาการไม่พอใจอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย และไม่น่าจะกระทบกระเทือนภาพใหญ่ของรัฐบาล

"ยิ่งลักษณ์" ที่ไม่เคยตอบคำถามชัดเจนเรื่องทิศทางการ "ปรับ ครม." เพื่อใช้ "ความเงียบ" รักษา "ความนิ่ง" จึงกลายเป็น "ความเฉียบขาด" ในท้ายที่สุด

และนอกจากจะสามารถลดแรงกระเพื่อมภายในเพื่อไทยได้แทบสนิทแล้ว "ความเงียบ" ที่ถูกคงสภาพเอาไว้ ยังสามารถลดกระแสต้าน จาก "ภายนอก" และ "ฝ่ายตรงข้าม" ได้เป็นอย่างดี

เนื่องจากในช่วงก่อตั้ง "รัฐบาลพรรคเพื่อไทย" ทั้ง "ยิ่งลักษณ์" และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" เรียนรู้กับ "แรงต้าน" และ "กระแสเสียดทาน" จากภายนอก กดดัน "มือดี" ให้ "ปฏิเสธ" และ "ถอนตัว" จากการเข้ารับตำแหน่งใน "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จนไร้ตัวเลือกมาแล้ว

ดังนั้น การรักษาระดับ "ความนิ่ง" ให้ได้มากที่สุด จึงเป็นผลดีในการควบคุม แรงกระเพื่อม ทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งส่งผลให้ "ยิ่งลักษณ์" และ "พ.ต.ท.ทักษิณ" มีโอกาสเลือกเฟ้นและทาบทามบุคคล ที่ได้รับการยอมรับเข้ามารับตำแหน่งได้มากขึ้น

และนั่นน่าจะเป็นประโยชน์กับ "หน้าตา" ของ "ครม.ยิ่งลักษณ์" ชุดใหม่มากที่สุด


แต่จากรายชื่อที่ออกมา กลับปรากฏว่า "ว่าที่รัฐมนตรีใหม่" ที่เริ่มเผยหน้าตาออกมาให้เห็น กลับยังเหมือนว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ" และ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ไม่สามารถสลัดปัญหาเรื่อง "ข้อจำกัด" ใน "การคัดสรรบุคคล"

แม้รายชื่อ "ว่าที่รัฐมนตรี" ส่วนหนึ่งจะมองได้ว่า ถูกขยับปรับตำแหน่งให้เข้าที่เข้าทาง จากที่เคยผิดฝาผิดตัว ไปเมื่อครั้งจัดตั้ง "รัฐบาลพรรคเพื่อไทย" ก็ได้โอกาสย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ว่าที่รัฐมนตรีใหม่" กว่าครึ่งหนึ่ง ที่จะมีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งนั้น ดูเหมือนว่าจะยังถูกจำกัดกรอบเอาไว้กับ เฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิด "พ.ต.ท.ทักษิณ" และ "เครือข่ายของตระกูลชินวัตร"

"อารักษ์ ชลธาร์นนท์" ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โปรไฟล์ก็คืออดีตผู้บริหารไทยคม และ "บริษัทในเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ"

"นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ถูกคาดหมายว่าจะได้รับมอบหมายให้ดูแลสื่อในกำกับของรัฐ แม้จะมีสถานะทางการเมืองปัจจุบันจะเป็น "ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย" แต่เมื่อเอ่ยชื่อ "นิวัฒน์ธำรง" ก็ย่อมหนีไม่พ้น ภาพของผู้บริหารของ "สถานีโทรทัศน์ไอทีวี" และมือดีทางด้านการตลาดของ "บริษัทในเครือชินวัตร"

รวมไป "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แม้สถานภาพ คือนักวิชาการ ด้านคณะวิศวกรรมศาสตร์ แต่อดีตคือที่ปรึกษาด้านคมนาคมของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย

"นลินี ทวีสิน" ว่าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ภายในเพื่อไทย รับรู้กันว่าโยงใยไปถึง "กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์" รายใหญ่

และ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ว่าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สังคมจดจำ ได้ในภาพของ "แกนนำมวลชนคนเสื้อแดง" ที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง เพื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ" และ "พรรคเพื่อไทย"



เหล่านี้ได้กลายเป็น "ภาระ" ของ "ว่าที่รัฐมนตรีใหม่" และ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ตั้งแต่ยังไม่ได้มีการแต่งตั้งและบริหารงานอย่างเป็นทางการ

ซึ่งจะต้องพิสูจน์ตัวเอง และ พิสูจน์ผลงาน ในการปฏิบัติหน้าที่ให้ได้อย่างรวดเร็ว

ก่อน "ฝ่ายตรงข้าม" จะใช้จุดนี้ เป็นเงื่อนไขในการโค่นล้ม "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" เหมือนที่เคยโค่นล้ม "พ.ต.ท.ทักษิณ" สำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง

จากการโจมตี "รัฐบาลพรรคไทยรักไทย" ด้วยข้อกล่าวหา บริหารประเทศ เหมือน บริษัท ...

... "บริษัท รัฐบาลชินวัตร จำกัด" อีกครั้ง!



+++

"จุดอ่อน" ใน "จุดแข็ง" "อารักษ์-นิวัฒน์ธำรง" จาก "มืออาชีพ" ชินคอร์ป สู่ "รัฐมนตรี" มือใหม่
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 11


สําหรับพนักงานเก่าในกลุ่ม "ชินคอร์ป" เมื่อเห็นชื่อ "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" และ "อารักษ์ ชลธาร์นนท์" เป็นรัฐมนตรีในสังกัดพรรคเพื่อไทย

ไม่มีใครแปลกใจ

เพราะทั้ง 2 คนคือ อดีตผู้บริหาร "ชินคอร์ป" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ความไว้วางใจมานานตั้งแต่ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นการกระชับอำนาจของ "ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

รัฐมนตรีใหม่ในตำแหน่งสำคัญ คือ การวางหมากเพื่อการทำงานอย่างแท้จริง

ส่วนคณะรัฐมนตรีชุดแรก ส่วนใหญ่จะเป็นการตอบแทนบุญคุณของกลุ่มต่างๆ และเป็นการวางหมากป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรค

แต่ 4-5 เดือนที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ปรับแผนการจัดการในพรรคใหม่ จากเดิมที่กระจายให้แต่ละกลุ่มดูแล ส.ส. มาเป็นการ "บายพาส" จาก "ทักษิณ" โดยตรงผ่านตัวแทนที่ไว้ใจได้

นอกจากนั้น การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา "ทักษิณ" รู้ดีว่า ส.ส. ทุกคนตระหนักแล้วว่าบารมีของ "ทักษิณ" ยิ่งใหญ่แค่ไหน ใครที่ออกจากพรรคเพื่อไทยต่อให้เป็น ส.ส. กี่สมัยก็สอบตกทันทีโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน

"ทักษิณ" จึงมี "อำนาจต่อรอง" สูงกว่า ส.ส.

ตอนแรก เขาไม่คิดว่าจะต้องปรับคณะรัฐมนตรีรวดเร็วเช่นนี้

แต่เพราะวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดฮวบลง และเป็นห้วงเวลาที่สะท้อนให้เห็นฝีมือของรัฐมนตรีแต่ละคน

ทั้ง "ทักษิณ" และ "ยิ่งลักษณ์" รู้แล้วว่านับจากนี้ต่อไป "ผลงาน" เท่านั้นจะทำให้รัฐบาลอยู่รอด

และ "ผลงาน" เท่านั้นจะทำให้ "ทักษิณ" มีโอกาสกลับบ้าน

การตัดสินใจเลือก "นิวัฒน์ธำรง" และ "อารักษ์" เป็นรัฐมนตรีโดยไม่สนใจ ส.ส. เก่าทั้งหลายเป็นการแสดงความมั่นใจใน "อำนาจ" ของ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์"

ทั้งคู่ต้องการ "มือทำงาน" แบบตัวจริง-เสียงจริง

และ "นิวัฒน์ธำรง" และ "อารักษ์" มีคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ 1.ความไว้วางใจ และ 2.เป็นมืออาชีพด้านการบริหาร

ซึ่งเป็นสิ่งที่ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" ต้องการมากในวันนี้



"นิวัฒน์ธำรง" นั้นเคยเป็นผู้บริหารของ "ไอบีเอ็ม" ก่อนที่จะลาออกมาอยู่กับ "ทักษิณ" ตั้งแต่ "ชินคอร์ป" ยังใช้ชื่อบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ฯ

เขาเป็นมืออาชีพคนแรกที่ "ทักษิณ" ดึงตัวมาทำงานด้วย

เป็นพนักงานเก่าแก่ระดับ "ลูกหม้อ" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้ความไว้วางใจมาก

โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมากที่สุดตอนที่เป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

เขาเป็นที่รักของพนักงานไอทีวี ซึ่งปัจจุบันแต่ละคนเป็น "ขาใหญ่" ในวงการข่าวโทรทัศน์

วันที่ "ทักษิณ" ขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็ก "นิวัฒน์ธำรง" เป็นคนหนึ่งที่ก้าวออกมาจาก "ชินคอร์ป" เพื่อมาช่วย "นายเก่า" ในทางการเมือง และยืนหยัดกับพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยมาตลอด

เขาเปิดตัวบนถนนสายการเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

เป็นคนหนึ่งที่ช่วยงาน "ยิ่งลักษณ์" ในรัฐบาล "ปู 1" ที่ทำเนียบรัฐบาล กับ "สุรนันทน์ เวชชาชีวะ" อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจากบ้านเลขที่ 111

การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของ "นิวัฒน์ธำรง" ครั้งนี้ คาดว่าเป็นการอุดจุดอ่อนใน 2 เรื่อง คือ

1.การประสานงานภายในทำเนียบรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ

และ 2. ดูแลด้านสื่อ

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหาร "สื่อ" ภาครัฐ การประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลที่เคยเป็น "จุดแข็ง" ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในอดีตไร้ประสิทธิภาพอย่างยิ่ง

นอกจากนั้นในช่วงน้ำท่วมใหญ่ สื่อของรัฐก็มีบทบาทน้อยมากในการแก้วิกฤติทั้งที่น่าจะเป็นศูนย์รวมข่าวสารที่ประชาชนอยากรู้ และเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน

"นิวัฒน์ธำรง" นั้นเคยดูแล "ไอทีวี" มาก่อน รู้เรื่องการบริหารสื่อเป็นอย่างดี ซึ่งหากได้รับผิดชอบเรื่องสื่อ คาดว่าช่อง 11 จะมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่

อย่าลืมว่า "ไอทีวี" นั้นเคยเป็นสถานีข่าวที่โดดเด่นที่สุดในแวดวงจอแก้ว



ส่วน "อารักษ์" นั้น จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นเดียวกับ นายบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอกลุ่มชินคอร์ป

นายอารักษ์นั้นถือเป็น "ขุนพล" ของ "ทักษิณ" คนหนึ่ง

ทุกครั้งที่หน่วยงานไหนมีปัญหา หรือต้องการบุกเบิกงานใหม่

ชื่อของ "อารักษ์" จะเป็นชื่อแรกเสมอ

ไม่ว่าจะเป็นการบุกตลาดต่างประเทศของกลุ่มชินคอร์ปในยุคแรกๆ "อารักษ์" ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)

หรือตอนที่บุกเบิกธุรกิจการเงินอย่าง "แคปปิตอล โอเค" หรือ "ไทยแอร์เอเชีย" นายอารักษ์ก็ได้รับการวางตัวให้เป็น "ขุนพล"

ตำแหน่งสุดท้ายของ "อารักษ์" ก่อนเกษียณอายุ คือ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร "ไทยคม"

"อารักษ์" ไม่เคยย่างกรายเข้ามาในสนามการเมืองมาก่อน และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทยเลย

เชื่อกันว่าเหตุผลที่ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" เลือก "อารักษ์" นั้นนอกจากความไว้วางใจและรู้มือกันมานานแล้ว

"อารักษ์" ยังจบคณะวิศวะ จุฬาฯ ซึ่งมีเพื่อนพ้องน้องพี่ในกระทรวง และ ปตท. จำนวนมาก และเป็นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่มาก่อน การดูแลองค์กรระดับหมื่นล้านอย่าง ปตท. จึงไม่น่าจะมีปัญหา

ในขณะเดียวกัน "อารักษ์" คุ้นเคยกับการเจรจาระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นตอนที่ดูแลบริษัท ชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล ฯ หรือดาวเทียม "ไทยคม" จึงน่าจะเป็นประโยชน์หากมีการเจรจาเรื่องแหล่งพลังงานกับประเทศต่างๆ

ในทางบริหาร ชื่อชั้นของ "นิวัฒน์ธำรง" และ "อารักษ์" ย่อมเหนือกว่ารัฐมนตรีคนเก่า

เพราะเป็นผู้บริหารมืออาชีพในองค์กรขนาดใหญ่มาก่อน ทั้งคู่น่าจะช่วยงาน "ยิ่งลักษณ์" ได้เป็นอย่างดี

แต่ในทางการเมือง ทั้ง 2 คนกลับเป็น "เป้าสำคัญ" ที่พรรคประชาธิปัตย์รอขย้ำ

เพราะการเป็นอดีตผู้บริหารในกลุ่มชินคอร์ป และเป็นลูกน้องเก่าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ย่อมถูกโจมตีได้ว่าเป็น "ตัวแทน" ของ "ทักษิณ"

ในทางการเมืองนั้นยิ่งใกล้ชิด "ทักษิณ" มากเท่าไร ก็เป็น "เป้า" เรียกแขกทางการเมืองมากเท่านั้น

และนี่คือ "จุดอ่อน" ใน "จุดแข็ง" ของ 2 อดีตมืออาชีพจากค่าย "ชินคอร์ป" ในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"



+++

ปฏิบัติการ "2 โอ๋" ปลด "อ๊อด" ทัพฟ้าสะท้าน ทัพบกสะเทือน "บิ๊กตู่-บิ๊กเฟื่อง" หวั่นไหว "สุกำพล" "แรงส์" โหมไฟกองทัพ
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 15


ไม่ใช่เรื่องเกินคาดที่ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต จะข้ามจาก รมว.คมนาคม มาเป็น รมว.กลาโหม

เพราะในเบื้องแรกของการจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 นั้น ก็มีชื่อ พล.อ.อ.สุกำพล แกนนำเตรียมทหาร 10 เพื่อนซี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในลิสต์ของคนที่จะเป็น รมว.กลาโหม

แต่ด้วยเพราะแผนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเบื้องต้นคือการไม่ปะทะกับกองทัพ ด้วยการส่ง บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา มาเป็น รมว.กลาโหม เพื่อไม่ทำให้กองทัพกระเพื่อม เพราะไม่มีพิษมีภัย แต่ออกแนวใจดี ปรองดอง

ประหนึ่งว่าหลอกให้กองทัพตายใจไปก่อนว่า จะไม่มีการแก้แค้น ไม่แตะต้องกองทัพ โดยเฉพาะไม่แตะต้อง บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.

ตรงกันข้ามในห้วง 5-6 เดือนของการเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ถูก ผบ.เหล่าทัพ ทั้งขู่และทั้งเอาใจ จนทำให้ถูกมองว่า ถูกกองทัพกลืนกินไปหมดทั้งตัวแล้ว ไม่มีความเป็นทหารของฝ่ายการเมืองหลงเหลือ คงมีแต่สายเลือดทหารแก่ที่ไม่มีวันตายไปจากความเป็นทหารอยู่เต็มกาย

จนถูกมองว่า "อ่อน" เกินไปที่จะมาต่อกรกับกองทัพ โดยเฉพาะกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เดินยืดอกเบ่งกล้ามอาดๆ พูดจาเสียงดัง จน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ทั้งหงอทั้งกลัว

ตลอดเวลาของการเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ รู้ตัวดีว่า ถูกแกนนำ ตท.10 เลื่อยขาเก้าอี้มาตลอด แต่เพราะเขาเชื่อมั่นว่า ผลงานยังเป็นที่น่าพอใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังต้องการให้เล่นบทพิราบ ปรองดองกองทัพต่อไป

แต่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ หารู้ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นบอกกับแกนนำ ตท.10 บางคนว่า ไม่คิดว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ จะอ่อนขนาดนี้ เพราะนอกจากยอมกองทัพ ยอมหงอให้ ผบ.เหล่าทัพ ไปเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา ที่ปล่อยผ่านหมด โดยอ้างว่า เพราะมี พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 เป็นเกราะคุ้มกันกองทัพนั้น ฟังไม่ขึ้นแล้ว ยังกลายเป็นกระบอกเสียงให้กองทัพไปอีกด้วย

แต่กระนั้น พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็มั่นใจว่าจะได้นั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ต่อไป เพราะถูกถามทีไร มักจะตอบว่า "ไม่เห็นได้ยินข่าวจะปรับผมออกเลย" บ้างก็ว่า "นายกฯ ยังไม่เห็นพูดอะไรเลย"



จนที่สุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เพิ่งเป็นคนบอกกับบิ๊กอ๊อด ด้วยตัวเอง ในวันที่ข่าวการปรับ ครม.ปู 2 สะพัดว่า ให้ไปเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" ที่อาจจะให้ดูแลความมั่นคงต่อ ซึ่งก็ไร้ปฏิกิริยาอะไรจาก รมว.กลาโหม วัย 75 ผู้นี้ เพราะก็ถือว่า ยังอยู่ใน ครม. และมีตำแหน่งสูงขึ้น

"ก็ถือว่าลงสวย" บิ๊กอ๊อด บอกกับคนใกล้ชิด

แต่ที่เขายังเป็นห่วงคือ รมว.กลาโหม คนใหม่ พล.อ.อ.สุกำพล ถือว่าเป็นคน "แรงส์" มาก รักมาก เกลียดมาก โกรธมาก

"ผมพร้อมทั้งนั้น จะให้อยู่คมนาคมต่อ หรือเป็น รมว.กลาโหม" พล.อ.อ.สุกำพล เปรย เพราะก่อนหน้านี้ เขาก็เคยพูดทีเล่นทีจริงว่า จากคมนาคม แล้วจะไปกลาโหม เพราะมีเรื่องต้องจัดการหลายเรื่อง

เป็นที่รู้กันว่า พล.อ.อ.สุกำพล นั้นนอกจากเป็นนายทหารร่างสูงใหญ่ เสียงใหญ่ เสียงดังฟังชัดแล้ว ยังเป็นนายทหารประเภท ถึงลูกถึงคน ใจถึงใจนักเลงปากกล้า และแม้จะเป็นทหารอากาศ แต่นิสัยเหมือนทหารบก และรู้จักพวกทหารบก เป็นอย่างดีด้วย

ไม่เช่นนั้นแล้ว ตอนเป็น รมว.คมนาคม ก็คงไม่ปรากฏข่าว การยึดอำนาจ รวบอำนาจจนเกิดความขัดแย้งในคมนาคม จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาอยากเปลี่ยนกระทรวงบ้าง

ที่สำคัญแรงแค้นจากการที่เขาถูกปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 นั้นยังฝังใจ ไม่ใช่แค่กับในกองทัพอากาศ แต่กับทหารบก แกนนำการปฏิวัติด้วย



จึงไม่แปลกที่ความหวั่นไหวจะเกิดขึ้นในกองทัพทันที ที่มีข่าว พล.อ.อ.สุกำพล มาเป็น รมว.กลาโหม ไม่ใช่แค่ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. เท่านั้นที่หวั่นไหว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. ก็ไม่น้อยไปกว่ากัน

ด้วยเพราะบุคลิก ลักษณะนิสัยของ รมว.กลาโหม เป็นดัชนีชี้วัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเอาอย่างไรกับกองทัพ

อย่าลืมว่า การปฏิวัติครั้งนั้นทำให้ พล.อ.อ.สุกำพล เสธ.ทอ. ฝันสลายที่จะเป็น ผบ.ทอ. แค่ถูกเด้งไปเป็น ผช.ผบ.ทอ. ด้วยความปรานี แล้วก็เข้ากรุผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ก่อนที่ในปี 2552 ได้ครองอัตราจอมพล เป็น จเรทหารทั่วไป อยู่ในกรุกลาโหม

พล.อ.อ.อิทธพร จึงส้มหล่นได้เป็น ผบ.ทอ. ภายใต้การสนับสนุนของ บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ที่เป็นแกนนำการปฏิวัติในขณะนั้น

จึงไม่แปลกที่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะมีความพยายามจาก ตท.10 ในการเด้ง พล.อ.อ.อิทธพร พ้นเก้าอี้ ผบ.ทอ. เช่น การในการโยกย้ายกันยายน ปีที่แล้ว มีแรงดันให้ บิ๊กโต พล.อ.อ.พิธพร กลิ่นเฟื่อง ประธานที่ปรึกษา ทอ. แกนนำ ตท.10 ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. แทน

แต่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ก็เป็นเกราะกำบัง เพราะไม่ได้เห็นว่ามีความผิดอะไร แม้ว่าจะเคยสั่งเครื่องบินรบขึ้นประกบเครื่องบินส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ให้บินล้ำน่านฟ้าไทย ในระหว่างบินกลับจากกรุงพนมเปญ แถมมี พ.ร.บ.กลาโหม คุ้มกันอีกแรง

แต่เก้าอี้ ผบ.ทอ. ก็สั่นสะเทือนอีกครั้ง หลังจากที่น้ำท่วมใหญ่กองทัพอากาศ แบบมิด จน บิ๊กเฟื่อง ถูกวิจารณ์ว่า ประมาทและไม่มีแผนในการเตรียมพร้อม ด้วยเพราะคิดว่า แค่แนวกระสอบทรายเอาอยู่ จนทำให้ต้องใช้งบประมาณซ่อมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

สถานะของ พล.อ.อ.อิทธพร ในรัฐบาลนี้จึงง่อนแง่น แม้ว่าจะเกษียณกันยายน 2555 อีกไม่กี่เดือนนี้แล้วก็ตาม จึงไม่แปลกที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะสั่งตัดงบประมาณซ่อมฟื้นฟู ทอ. เหลือแค่ กว่า 7 พันล้านเท่านั้น ส่วนที่เหลือให้ใช้งบประมาณรายปีของ ทอ. ซ่อมเอง ซึ่งทำให้ พล.อ.อ.อิทธพร ไม่ค่อยแฮปปี้ เพราะไม่ได้เตรียมเป็นงบฯ สำหรับฟื้นฟูน้ำท่วม

ที่สำคัญ พล.อ.อ.สุกำพล ก็ไม่พอใจ ที่ พล.อ.อ.อิทธพร โยนความผิดเรื่องน้ำท่วม ทอ. ไปให้ฝั่งสนามบินดอนเมือง ซึ่งอยู่ในการดูแลของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ที่มี พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี เป็นประธาน ซึ่งก็เป็นแกนนำ ตท.10 ที่มีปัญหาคาใจกันอยู่

และย่อมหมายรวมถึง พล.อ.อ.สุกำพล ในฐานะ รมว.คมนาคม ที่คุม ทอท. อีกทีหนึ่งด้วย



ดังนั้น กองทัพอากาศ จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างหนัก หาก พล.อ.อ.สุกำพล มาเป็น รมว.กลาโหม และจับตามองกันด้วยว่า จะกระทบต่อการวางตัว ผบ.ทอ. คนต่อไป หรือไม่ เนื่องจาก บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ตท.13 ผช.ผบ.ทอ. ถูกคาดหมายว่าจะเป็น ผบ.ทอ. แต่ด้วยเพราะเป็นน้องรักของพี่ๆ ทุกขั้วมาตลอด และเป็นคนที่ทำงาน และรับผิดชอบงานสำคัญมาตลอด จึงเชื่อว่า พล.อ.อ.ประจิน ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ

แต่ที่ต้องร้อนๆ หนาวๆ คือบรรดาทหารบก ที่ล้วนมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติ เรื่อยมาจนถึงการปราบปรามม็อบเสื้อแดง ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ และบรรดาบูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินีที่เป็นทายาทอำนาจ

พล.อ.อ.สุกำพล นั้นไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 อย่างมาก เพราะไม่ถูกต้องที่ใช้คณะกรรมการ 7 คน โดยที่ รมว.กลาโหม ไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงใดๆ จึงมีแนวโน้มว่า จะต้องมีการแก้ไขมรดก คมช. ฉบับนี้แน่นอน เพราะมีการตั้งทีมกันไว้แล้ว รวมถึง พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่จะคุม กอ.รมน. ด้วย

นั่นอาจหมายถึงการเข้ามามีส่วนในการโยกย้ายทหารด้วย แต่คงไม่ถึงขั้นจะทุบโต๊ะยึดอำนาจทั้งหมด แต่ พล.อ.อ.สุกำพล จะ "แข็ง" ขึ้น และแข็งมาก

ยิ่งหากต้องมาเจอกับ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยแล้วก็เหมือนกัน ไฟอยู่ใกล้น้ำมัน หรือต่างฝ่ายต่างเป็นไฟ ที่จะลุกถาโถมโหมพระเพลิงเข้าใส่กัน จะต้องเรียกว่า กลาโหมต้องแตกหรือระเบิดแน่นอน

โดยบุคลิกนิสัย พล.อ.อ.สุกำพล จะกล้าในการต่อรองมากกว่า แต่อาจจะไม่ถึงขั้นมาหักด้ามพร้าด้วยเข่า

"แต่จะปล่อยกองทัพให้เป็นอย่างนี้ต่อไปไม่ได้" พล.อ.อ.สุกำพล เคยเปรย

เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะมีการปฏิวัติยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ในเมื่อกองทัพกับรัฐบาลต่างขั้วอำนาจ แล้วกองทัพก็ยังคงมีสรรพกำลังพร้อม



เป้าหมายสำคัญของ พล.อ.อ.สุกำพล ที่จะมาคุมกลาโหม คือ การถอดสลักการปฏิวัติ ทั้งในส่วน ทบ. และ ทอ. ส่วน ทร. นั้นคงไม่มีผลกระทบ เพราะตั้งแต่ บิ๊กติ๊ด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร. มาจนถึงยุค บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ เป็น ผบ.ทร. ถือว่าวางตัวดี เป็นทหารของประชาชน ไม่ฝักใฝ่การเมือง อีกทั้งส่วนตัวก็รู้จักกันดี ที่อาจทำให้ ทร. มีความหวังที่จะซื้อเรือดำน้ำเยอรมนี 4 ลำ เพราะนอกจากลดเหลือ 5,500 ล้าน เยอรมนียังให้ตอร์ปิโด อะไหล่อีกกว่า 5 หมื่นรายการ

ส่วนบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะแม้จะจุดยืนเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่การแสดงออกแตกต่างกัน

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนตัว รมว.กลาโหม ทั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล


มีรายงานว่า มีการล็อบบี้ให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไปเจรจาต่อรองกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการเลือก รมว.กลาโหม คนใหม่ เช่น บิ๊กโอ๋ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ รมว.กลาโหม แกนนำ ตท.10 เพื่อนทักษิณ อีกคน ซึ่งแม้จะ "แรงส์" แต่ก็ยังพอคุยกันได้กับ พล.อ.ประยุทธ์

รวมทั้ง บิ๊กเกาะ พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ อดีต ผบ.ทบ. ซึ่งเป็นพี่รักของ พล.อ.พฤณท์ และเป็นคู่เขยเครือญาติของ พล.อ.ยุทธศักดิ์ เองก็ตาม

ขณะที่กระแสข่าวในพรรคก็มีชื่อ บิ๊กอ้วน พล.อ.สัมพันธ์ บุญญานันต์ อดีต รมว.กลาโหม และปลัดกลาโหม ในยุครัฐบาลทักษิณ มาชิงเก้าอี้ รมว.กลาโหม นี่ด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อครั้งวิ่งเต้นธุรกิจไทยคม กับ บิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ประธาน รสช. หัวหน้าคณะปฏิวัติ เพราะ พล.อ.สัมพันธ์ เป็นคนใกล้ชิดบิ๊กจ๊อด

แต่ยิ่งกว่านั้น พบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เมื่อสุดสัปดาห์ ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะจัดโผ ครม. ใหม่ ตั้งแต่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ แอบเข้าไปหา พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกองบัญชาการกองทัพบก เพราะในส่วนของกองทัพ และ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เห็นว่ากำลังไปได้ด้วยดีกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ที่พวกเขาเรียกว่า พี่อ๊อด

จากนั้นวันรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ เข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ไปพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นการส่วนตัว ที่อ้างว่า นำบัตรเชิญงานเลี้ยงรับรองวันกองทัพบก ที่จัดขึ้นค่ำ 19 มกราคม ที่สโมสร ทบ. วิภาวดี ไปเรียนเชิญ หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับปากไปร่วมงาน จนเป็นที่จับตามองว่า เมื่อ ป.ปู กับ ป.เปรม เจอหน้ากัน จะเกิดอะไรขึ้น

ไม่แค่นั้น พบว่ามีนายทหารบูรพาพยัคฆ์ ทหารเสือราชินี และวงศ์เทวัญ บางส่วน ในกองทัพภาคที่ 1 มีการหารือกันถึงสถานการณ์หากมีการเปลี่ยน รมว.กลาโหม

แต่ที่แน่ๆ เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ อย่างมาก ไม่ว่ามุมไหนในกองทัพ ก็วิจารณ์และจับตามอง หากมี รมว.กลาโหม เป็นทหารอากาศ

แถมเป็นนายทหารสายเหยี่ยว อย่าง พล.อ.อ.สุกำพล เสียด้วย



ปฏิบัติการเลื่อยขาเก้าอี้ และปลด พล.อ.ยุทธศักดิ์ จาก รมว.กลาโหม ครั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นผลงานของแกนนำ ตท.10 ที่บินไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ หลายครั้ง พร้อมไปฟ้องเรื่องพฤติกรรมของ พล.อ.ยุทธศักดิ์

แต่ที่ยิ่งกว่าคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ฟังมากที่สุดคือ 2 โอ๋เพื่อนรัก ทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล และ พล.อ.พฤณท์ ที่ถือเป็นกุนซือในด้านกองทัพ ที่เป็นเพื่อนซี้เพื่อนตายกันมา

เดิม พล.อ.พฤณท์ ก็หวังที่จะเป็น รมว.กลาโหม อยู่ลึกๆ เหมือนกัน แต่ไม่รีบร้อน เพราะยังไม่เกษียณ เปิดทางให้ พล.อ.อ.สุกำพล ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและเครือญาติไปก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.อ.สุกำพล นั้น ถือเป็นสายตรงจากบ้านจันทร์ส่องหล้า ที่สนิทสนมกับ คุณหญิงอ้อ พจมาน ดามาพงศ์ อย่างมาก

อาจเรียกได้ว่า พล.อ.อ.สุกำพล นั้นแทบจะเลือกกระทรวงได้เองเลยว่า จะลงที่ไหน แต่ในเมื่อเขาคือทหาร และต้องมาดูแลกองทัพ ให้อยู่ในเส้น จึงเป็นภารกิจที่เหมาะสมกับ พล.อ.อ.สุกำพล แล้ว

แล้วเมื่อนั้น ตท.10 จะยึดกลาโหมแบบเต็มแผง เพราะ รมว.กลาโหม ก็ ตท.10 พล.อ.พฤณท์ หัวหน้าฝ่าย เสธ. ก็ ตท.10 และมีเพื่อนๆ มาอยู่กันเต็มกลาโหมกันก่อนแล้ว ในยุค บิ๊กอ๊อด จนถูกมองว่า เป็นการยึดอำนาจบิ๊กอ๊อด มาแล้ว

แต่อยู่ที่ว่า นายทหารอากาศ นิสัยสุดแรงเกิดคนนี้ อย่าง พล.อ.อ.สุกำพล จะเลือกใช้ ไม้นวม สลับไม้แข็ง หรือว่า จะใช้มาตรการ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน กับกองทัพกันเลย

เมื่อนั้นก็ต้องทำใจกันได้เลยว่า อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

โปรดติดตามตอนต่อไป ด้วยใจระทึกพลัน...



.