.
ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ตั้งคำถามสำคัญ"ทำไมมาเลเซียมีความเสมอภาคมากกว่าไทย?"
จาก คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ในมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:30:13 น.
นักวิชาการที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เคยแสดงตัวเลขชี้ให้เห็นว่า ที่มาเลซียนั้นผู้คนมีความเสมอภาคด้านรายได้มากกว่าที่เมืองไทย เขาใช้ตัวชี้ที่เรียกว่า ค่าจีนี (GINI Co-Efficient) ยิ่งค่านี้สูงความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงและในทางกลับกัน
ตัวเลขแสดงว่าที่มาเลเซียเมื่อปี2518 มีความเหลื่อมล้ำสูงกว่าไทย คือ ค่าจีนีในปีนั้นเท่ากับ/สูงกว่า 0.5 แต่ของไทยเป็นเพียง 0.4 แต่ยิ่งพัฒนาไป 2ประเทศนี้สวนทางกัน ขณะนี้(พ.ศ.2552) ค่าจีนีที่มาเลเซีย0.4 แต่ของไทยสูงกว่า 0.5
เป็นที่ชัดเจนว่า มาเลเซียพัฒนาไปโดยมีความเสมอภาคมากขึ้น แต่ของไทย ยิ่งพัฒนายิ่งเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น
ทำไมมาเลเซียจึงพัฒนาไปโดยมีความเสมอภาคมากกว่าไทย ?
หนังสือชื่อ The Institutional Imperative: The Politics of Equitable Development in Southeast Asia โดย Erik Kuhonta พยายามให้คำตอบที่น่าสนใจ
เขาเสนอว่า เป็นเพราะว่าที่มาเลเซีย พรรคการเมืองใหญ่ซึ่งเป็นรัฐบาล (พรรค UMNO) สามารถพัฒนาการจัดตั้งองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง (มาตั้งแต่ทศวรรษ 2480) มีฐานสนับสนุนจากผู้คนชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ระดับรากหญ้า เริ่มแรกเป็นพรรคชาตินิยม แต่ต่อมาสร้างพันธมิตรกับคนระดับนำของมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียด้วย ผู้นำของพรรคได้พัฒนาพรรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์จลาจลระหว่างคนจีนและคนมาเลย์เมื่อ พ.ศ.2512 จนชาวมาเลย์เชื้อสายจีนถูกฆ่าตายไปเกือบ 200 คน สภาพสังคมในขณะนั้นโดยย่อคือ คนมาเลย์เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกระจุกตัวอยู่ที่ชนบท รายได้ไม่ค่อยสูง คนจีนเป็นกลุ่มน้อยกว่า อังกฤษสนับสนุนให้ทำธุรกิจ มีอาชีพแบบคนชั้นกลางในเมืองเป็นส่วนมาก จึงฐานะดีกว่า
ผู้นำของพรรคตระหนักดีว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจีนและคนมาเลย์ เป็นต้นเหตุประการหนึ่งที่สำคัญของการจลาจลครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2512 จึงดำเนินการปฏิรูป 2 แนวทางสำคัญ แนวทางหนึ่ง คือ ปฏิรูปองค์กรพรรค และอีกหนึ่งคือ ปฏิรูปนโยบายและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสังคม ภายใต้โครงการ New Economic Policy (NEP) เพื่อแก้ปัญหาความจนในบรรดาชาวมาเลย์ นอกจากนั้นยังต้องการเพิ่มจำนวนคนชั้นกลางที่เป็นชาวมาเลย์ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เน้นให้ภาครัฐบาลมีบทบาทสูงในการเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ คือ ไม่ใช้อุดมการณ์เลเซแฟร์ (laisses-faire) ที่ปล่อยให้กลไกตลาดกำกับระบบเศรษฐกิจเป็นหลักอย่างแต่ก่อน
สำหรับการปรับปรุงพรรคนั้น ที่สำคัญ คือ ขจัดนักการเมืองฉ้อฉลออกไป สนับสนุนให้องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่นทำงานให้ได้ผล บังคับให้ ส.ส.ของพรรคทำงานเป็นตัวแทนของชุมชนอย่างเต็มที่ ในการนำความคับขัองใจของชาวบ้านมาเสนอกับพรรค อธิบายข้อมูลของโครงการต่างๆ ให้ชาวบ้านเข้าใจ และให้คนของพรรคเข้าควบคุมการดำเนินโครงการท้องถิ่นร่วมกับข้าราชการอย่างมีประสิทธิภาพ
นโยบายหลัก 3 ประการในโครงการ NEP ก่อให้เกิดความเสมอภาคในสังคมมาเลเซีย หลังปี 2512 ได้แก่ หนึ่ง โครงการกระจายที่ดินของภาครัฐให้กับเกษตรกรไร้ที่ดินครอบครัวละ 12.5 ไร่ เพื่อปลูกยางพาราหรือปาล์มน้ำมัน โดยรัฐบาลให้กู้เงินเพื่อตั้งตัว กำหนดเวลาใช้คืนภายใน 15 ปี เมื่อชำระเงินครบก็ได้เป็นเจ้าของที่ดินนั้น โครงการนี้มีการลองผิดลองถูกหลายครั้ง และแม้ว่าจะถูกวิจารณ์ต่างๆ นานา แต่ในท้ายที่สุด พ.ศ.2548 สามารถกระจายที่ดินให้เกษตรกรระดับล่าง มีไร่เพื่อทำมาหากินมีความมั่นคงขึ้น และส่งลูกเรียนหนังสือสูงขึ้นได้กว่าห้าแสนครัวเรือน ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จมากกว่าโครงการจัดสรรที่ดินประเภทเดียวกันในประเทศอื่นๆ
สอง คือ ปฏิรูปการศึกษา มุ่งเน้นให้เด็กมาเลย์ในชนบทได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงจนถึงระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ปรับปรุงคุณภาพของครูชนบท เพิ่มแรงจูงใจให้พวกเขาทั้งเรื่องเงินเดือนและที่พักอาศัย สำหรับการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนั้น จัดการให้นักเรียนจากชนบทได้เข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นโควตาเฉพาะ เมื่อจบออกมาก็ยังกำหนดให้บริษัทเอกชนเพิ่มโควตารับนักศึกษาจากชนบทเป็นการเฉพาะอีกด้วย ด้วยกุศโลบายต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สัดส่วนของชนชั้นกลางมีการศึกษาสูง ได้ทำงานดีที่เป็นชาวมาเลย์เพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว และช่องว่างของรายได้ระหว่างคนมาเลย์และคนจีนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว
โครงการอย่างที่สาม คือ ด้านการรักษาพยาบาลรัฐบาลอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลแบบสุขภาพถ้วนหน้าจนถึงปี พ.ศ.2536 เมื่อมหาธีร์ประกาศว่าจะไม่อุดหนุน 100% อีกต่อไป
ในการใช้จ่ายเพื่อโครงการต่างๆ เหล่านี้ในทศวรรษ 2510 และ 2520 รัฐบาลนำโดย UMNO ใช้เงินจากภาษี เงินกองทุน Provident funds และเงินกู้ภายในประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐทั้งหมดสูงถึงร้อยละ 40 ของ GDP ขณะที่รัฐบาลของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้จ่ายเพียงร้อยละ 10-20 ของ GDP เท่านั้น
โดยสรุปมาเลเซียสามารถพัฒนาไปโดยสังคมมีความเสมอภาคมากขึ้น ด้วยเหตุผลใหญ่ 2 ประการ คือ เพราะว่าพรรคการเมือง มีการพัฒนาและก่อร่างสร้างตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่ติดขัดด้วยการรัฐประหาร พรรคสร้างฐานการเมืองโยงกับพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ และเพราะว่าพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลได้จากการเลือกตั้งสามารถตอบสนอง กับความต้องการของพลเมืองระดับล่างได้อย่างทันการณ์ โดยไม่ถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยม
ในทางกลับกัน Erik Kuhonta วิเคราะห์ให้เห็นว่า ไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่ามาเลเซียก็เพราะว่า 1.ขาดพรรคการเมืองที่พัฒนาองค์กร และสั่งสมประสบการณ์แบบเรียนไปทำไปอย่างต่อเนื่อง (ถูกรัฐประหารบ่อยมาก) อีกทั้งขาดการก่อร่างสร้างฐานเสียงสนับสนุนจากพลเมืองในวงกว้าง และ 2.พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศได้ เพราะว่าพลังต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยม (ทหาร ข้าราชการ ผู้นิยมเจ้า และฝ่ายธุรกิจบางส่วน) ที่เป็นพลเมืองส่วนน้อยยังแข็งแรงมาก
Kuhonta วิเคราะห์ความล้มเหลวของ 4 รัฐบาลตัวอย่างในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ในกรณีของนายปรีดี พนมยงค์ คณะราษฎรถูกต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างเข้มแข็ง โดยไม่มีฐานการเมืองที่หนาแน่นพอ ในกรณีของพรรคกิจสังคม หลังปี พ.ศ.2516 สามารถได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนักธุรกิจบางกลุ่ม (บุญชู โรจนเสถียร ธนาคารกรุงเทพ) แต่ไม่อาจผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดินและค่าเช่านา เพราะว่าหัวหน้าพรรคเอง (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ไม่ได้เห็นความจำเป็นของโครงการดังกล่าว จึงเปิดช่องให้กองทัพผลักดันออกจากอำนาจ
กรณีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อไทยรักไทยเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลมีโครงการเดียวที่ Kuhonta เห็นว่าประสบความสำเร็จสูงจากการริเริ่มและดำเนินการโดยพรรคไทยรักไทย คือ โครงการสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) พรรคนี้ท้าทายพรรคอื่นๆ ให้คิดถึงนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ แต่พรรคไทยรักไทยก็มีปัญหา เพราะว่าอิงกับคนคนเดียวด้านการเงินและผู้นำจึงไม่ยั่งยืน และเปิดช่องให้กองทัพทำการรัฐประหารสำเร็จ
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคเก่ามีความต่อเนื่องที่สุด แต่ปฏิเสธฐานสนับสนุนและความต้องการของชนบทนอกภาคใต้ พื้นเพมาจากกลุ่มนิยมเจ้า แม้ว่าจะไปทางเสรีนิยมขึ้นในภายหลัง แต่คงความอนุรักษนิยม ไม่ต่อต้านทหาร เป็นพรรคที่เอียงไปทางชนชั้นนำ และไม่สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อคนระดับล่าง
มีเรื่องหนึ่งที่ Kuhonta ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการเปรียบเทียบ คือที่มาเลเซียกองทัพและสุลต่านมีบทบาทไม่มากในการเมืองที่นั่น ซึ่งต่างจากไทย
++++
บทความของปี 2550
ต้นทุน-ผลได้ ของการรัฐประหาร พ.ศ.2549
จากคอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร มติชนรายวัน วันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10553 หน้า 6
ใน www.nidambe11.net/ekonomiz/2007q1/2007jan31p1.htm
ผู้ก่อการรัฐประหารทุกชุด มักพูดถึงผลได้ต่อประเทศชาติในรูปของความสามัคคี กำจัดคอร์รัปชัน รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฯลฯ ปฏิเสธว่า ไม่ได้รับผลได้อะไร ล้วนแต่ทำการด้วยความเสียสละ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง "ต้นทุน" ที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม
เนื่องจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะคิดเล่นๆ ถึงต้นทุน-ผลได้ ของการรัฐประหารเมื่อปี 2549 โดยต้นทุน-ผลได้นี้ มีทั้งส่วนที่จับต้องได้ (เช่น ตำแหน่ง การเลื่อนขั้น รายได้ ผลประโยชน์อื่นๆ ) และที่จับต้องไม่ได้ (เช่น เรื่องของศักดิ์ศรี ชื่อเสียง ความสะใจ ฯลฯ)
แน่นอนว่าจะต้องนึกถึงด้วยว่า ต้นทุน-ผลได้เกิดขึ้นกับใคร? ในประเด็นนี้คงต้องพิจารณาถึง 2 กลุ่มหลัก หนึ่งคือ คณะผู้ก่อการรวมทั้งผู้สนับสนุน และสถาบันของเขา สอง คือ ประชาชนคนไทยหรือสังคมไทยโดยรวม นอกจากนั้นจะขอพูดถึงกลุ่มที่สาม คือ จากมุมมองของประชาสังคมโลกที่อยู่นอกเมืองไทย
ก่อนอื่นคงต้องสาธยายถึงกลุ่มผู้ก่อการและผู้สนับสนุนหลักโดยสังเขป สำหรับผู้ก่อการ คือ ฝ่ายกองทัพไทยโดยเฉพาะกองทัพบก สำหรับผู้สนับสนุนหลักอาจแบ่งออกได้เป็น
ก.ผู้ซึ่งเรียกร้องให้มีการใช้มาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยตีความว่ามาตรานี้ให้พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ ทรงแต่งตั้งรัฐบาลพระราชทานในภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญได้ ผู้เขียนจะขอเรียกกลุ่มนี้ว่าฝ่ายนิยมเจ้า (royalists) ในความหมายที่ว่าพวกเขาต้องการพึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อผลในทางการเมือง
ข.กลุ่มชนชั้นกลางโดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ ผู้ซึ่งมองว่าทักษิณเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แถมยังปิดช่องไม่ให้พวกเขามีบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่ เนื่องเพราะเชื่อว่าระบอบทักษิณ ได้ใช้เงินเข้าเกาะกุมการเมืองและระบบบริหารราชการอย่างเต็มที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่ม คือ
ค.บรรดานักธุรกิจจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่วงนอกของกลุ่มทักษิณและไทยรักไทย ผู้ซึ่งถูกกีดกัน หรือเสียเปรียบจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือเอือมระอากับระบบพรรคพวกนิยมของกลุ่มทักษิณเป็นอย่างยิ่ง
(1) คณะผู้ก่อการรัฐประหารและผู้สนับสนุนหลักมีต้นทุน-ผลได้ อะไรบ้าง
ผลได้
1.กองทัพในฐานะสถาบันกลับมาได้รับความนิยมชมชอบอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สูญเสียศักดิ์ศรี และอำนาจไป สืบเนื่องจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี 2535 (คงจำได้ว่า ในครั้งนั้นมีประชาชนถุยน้ำลายใส่ทหาร แต่ในปี 2549 ได้รับดอกไม้) นอกจากนั้นรัฐประหารครั้งนี้ในปี 2549 ได้นำกองทัพไทยสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง กองทัพในฐานะสถาบันหวนกลับมารวบรวมอำนาจโดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาลพลเรือน
2.ผลได้เป็นชิ้นเป็นอัน ก็คือ การได้เข้าถึงงบประมาณรัฐบาลโดยตรง โดยเฉพาะการใช้งบฯลับ รวมทั้งโอกาสในการเพิ่มงบประมาณทหาร (ด้วยเหตุผลของการรักษาความมั่นคง การป้องกันไม่ให้ระบอบทักษิณหวนกลับมา) และเงินเดือนของทหาร
3.ในเมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว จึงเปิดโอกาสให้ยกเลิกมาตราสำคัญ ซึ่งส่งผลลดการควบคุม (และผลประโยชน์เกี่ยวโยง) สื่อวิทยุ และโทรทัศน์ ซึ่งฝ่ายกองทัพเคยมีบทบาทสูง รวมทั้งเปิดโอกาสให้เพิ่มมาตราใหม่ๆ ซึ่งส่งผลเพิ่มบทบาทของสถาบันกองทัพในการร่วมแต่งตั้งวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีบางส่วนได้
4.สมาชิกของสถาบันทหารมีโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจมากขึ้น และก็ได้เกิดขึ้นแล้ว
5.สำหรับปัจเจกบุคคลซึ่งอาจถูกปลดโดยนายกฯทักษิณก่อนหน้านี้ก็รอดตัวไป แต่ยังอาจได้การเลื่อนขั้นทันที เพราะบทบาทในฐานะผู้ก่อการ
6.สำหรับผู้สนับสนุนฝ่ายนิยมเจ้านั้น ผลได้คือ รัฐประหารกำจัดทักษิณ (ผู้ซึ่งพยายามทำตัวเสมือนประธานาธิบดี) ออกไปทันที สำหรับผู้นิยมเจ้าจำนวนมาก สถาบันพระมหากษัตริย์ มีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะที่สามารถถ่วงดุล หรือคานกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่พวกเขาไม่เชื่อถือหรือนิยมชมชอบ
7.สำหรับผู้สนับสนุนรัฐประหารที่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางอื่นๆ ผลได้ คือ รัฐประหารกำจัดทักษิณออกไป ทักษิณผู้ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางหมดความหมายลงไปในการเมืองไทย และอาจทำให้พวกเขาต้องมีภาระเสียภาษี เพื่อจ่ายโครงการประชานิยมต่างๆ ซึ่งนำทักษิณสู่อำนาจ
สำหรับนักธุรกิจที่อยู่วงนอกกลุ่มทักษิณ รัฐประหารทำให้ตลาดธุรกิจเสรีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าพวกพ้องและญาติโกโหติกาของทักษิณถูกลดบทบาทลงทันที
ชนชั้นกลางที่เอือมระอากับปัญหาคอร์รัปชัน ได้ความสะใจที่หลังการรัฐประหาร เขาคาดว่าทักษิณและพรรคพวกจะถูกลงโทษจากการทำคอร์รัปชันอย่างสาสม (กำลังรออยู่)
ต้นทุนของคณะผู้ก่อการและผู้สนับสนุน
1.สำหรับกองทัพ ต้นทุน คือ ความเสี่ยงอย่างน้อย 2 ประการ ประการหนึ่ง คือ ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายในกองทัพ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะว่า ความเห็นไม่ลงรอยกัน ด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งปัญหาซึ่งอาจเกิดขึ้น จากความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ไม่ลงตัว หากย้อนหลังไปดูผลของการรัฐประหารในอดีต จะพบว่าหลังการรัฐประหารหลายครั้ง ความแตกแยกเกิดขึ้นในบรรดาผู้ก่อการ ตัวอย่าง เช่น หลังรัฐประหารปี 2490 ฝ่ายนิยมเจ้า และฝ่ายทหาร ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหารต่อมาก็แตกคอกัน โดยในท้ายที่สุดฝ่ายทหารเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาด อีกตัวอย่างหนึ่งหลังรัฐประหารปี 2500 จอมพลถนอม กิติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาสฤษดิ์ก็ปฏิวัติซ้ำและตนเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในท้ายที่สุด
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง สำหรับสถาบันกองทัพ คือ การที่ฝ่ายประชาชน จะเริ่มเกิดความไม่พึงพอใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องเพราะมาตรการจำกัดเสรีภาพต่างๆ และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งความไม่พึงพอใจนี้อาจขยายตัว กลายเป็นขบวนการต่อต้านอำนาจนิยม ดังที่เกิดขึ้นในปี 2516 และ 2535 มาแล้ว
2.สำหรับฝ่ายนิยมเจ้า การที่โยงสถาบันพระมหากษัตริย์สู่การเมืองโดยตรง อาจนำความเสี่ยงมาสู่สถาบัน
3.สำหรับฝ่ายชนชั้นกลางและนักธุรกิจ มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจไม่มีบทบาทในทางการเมืองดังที่คาดหวัง แต่อาจจะต้องเผชิญกับปัญหา "พรรคพวกนิยม" กลุ่มใหม่รวมทั้งเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลง เพราะนักลงทุนต่างประเทศสูญเสียความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจไทย
(2) สำหรับสังคมไทยโดยรวม ต้นทุน-ผลได้ คืออะไร?
ผลได้
1.รัฐประหารมีบทบาทป้องกันไม่ให้ความเสียหายด้านสถาบันสำคัญๆ (เช่น ปัญหาคอร์รัปชันด้านโครงสร้าง และความทับซ้อนของผลประโยชน์) ขยายวงกว้างต่อไปจนยากที่จะเยียวยามากขึ้น
2.หยุดยั้งความเป็นไปได้ที่ระบอบการเมืองพรรคเดียว นำโดยไทยรักไทยและทักษิณ จะถูกสถาปนาขึ้นอย่างแน่นหนา ดังที่ได้เกิดขึ้นในประเทศสิงคโปร์หรือมาเลเซียในอดีต
ขณะที่ผลได้ยังมองเห็นไม่ชัดเจนนัก อาจนึกถึงผลเสียหรือต้นทุนต่อสังคม ดังต่อไปนี้
1.หลายๆประเทศประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนถึงขั้นเทียบว่าเมืองไทยเหมือนประเทศพม่า ส่งผลลดศักดิ์ศรีของประเทศไทย ในสายตาของประชาคมโลก คนไทยบางส่วนคงจะรู้สึกเสียศักดิ์ศรีบ้างเหมือนกัน
2.การที่นักลงทุนต่างชาติสูญเสียความมั่นใจในระบบเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนใหม่ หรืออาจตัดสินใจไปลงทุนที่อื่น ตรงนี้ส่งผลลดอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น และระดับรายได้ลดลง รัฐบาลจะเก็บภาษีได้น้อยลง ในขณะที่ค่าใช้จ่ายยังสูงอยู่และอาจเพิ่มขึ้นจากเหตุผลของความมั่นคง ทำให้ต้องตัดงบประมาณด้านสวัสดิการหรือเงินอุดหนุนแก่กลุ่มที่มีรายได้น้อย เช่น การลดเงินอุดหนุนภาคเกษตร
3.การประกาศภาวะฉุกเฉิน การจำกัดเสรีภาพของสื่อสารมวลชน การชุมนุมทางการเมือง การที่คนต่างจังหวัดต้องขออนุญาตเพื่อเดินทางเป็นกลุ่ม แม้กระทั่งการเดินทางไปทำงานในเขตต่างจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิ และเสรีภาพตามหลักการสิทธิมนุษยชน และการทำมาหากินโดยปกติ
4.การฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง โดยมีการกำหนดวิธีการสรรหาคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังถกเถียงกันว่า เป็นวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ หมายความว่าดุลแห่งอำนาจถ่วงอยู่ข้างคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ซึ่งในท้ายที่สุดมีความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะพยายามเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝ่ายกองทัพต้องการ แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนคนไทยต้องการ
5.การรัฐประหารนำกองทัพเข้าสู่ศูนย์กลางของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง และตอกย้ำค่านิยมที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง เพื่อแก้ปัญหาสังคม ซึ่งประวัติศาสตร์ของไทยเอง และของประเทศอื่นๆ อีกหลายๆ ประเทศพิสูจน์แล้วว่าจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
6.ถ้าหากฝ่ายกองทัพสามารถต่อรองให้ยกเลิกมาตราสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่กำหนดให้มีการปฏิรูประบบการจัดสรรสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ของสังคมเสียใหม่ โดยให้ถือว่าเป็นทรัพยากรสาธารณะส่งผลให้ฝ่ายกองทัพยังคงควบคุมสื่อวิทยุและโทรทัศน์อีกต่อไป ตรงนี้เท่ากับว่าสังคมไทยโดยรวมจะสูญเสียอย่างสิ้นเชิง
7.รัฐประหารครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ทักษิณสร้างภาพพจน์ว่าเขาเป็นนักประชาธิปไตย เพราะว่าเขาถูกกำจัดออกไปโดยการรัฐประหาร
8.ในระยะยาวความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐประหารโดยทหารขึ้นเมื่อเกิดความไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ยอมให้กระบวนการทางการเมืองภายใต้กรอบของรัฐสภาประชาธิปไตย ดำเนินไปตามครรลองของมัน (มีการเลือกตั้งใหม่ หรือให้กระบวนการศาลนำนักการเมืองเลวไปลงโทษ) จะกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองของสังคม และเศรษฐกิจไทย
และน่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน
(3) สำหรับประชาคมโลกนอกเมืองไทยนั้น
ผลได้-ยังมองไม่ออกว่ามีอะไรบ้าง นอกเสียจากว่าเผด็จการทหารที่พม่า จะรู้สึกอุ่นใจว่ายังมีประเทศเพื่อนบ้านที่ทำรัฐประหาร ให้ทหารเป็นใหญ่เหมือนกัน
สำหรับต้นทุนจากมุมมองของประชาคมโลกนั้นคือ ได้ทำลายความเชื่อที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย ก็สามารถที่จะพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้ หลังจากที่ได้ผ่านกระบวนการ พัฒนาเศรษฐกิจมาระยะหนึ่ง และแม้ว่าจะเคยมีการรัฐประหารหลายครั้ง ฝ่ายพลังมวลชนหรือประชาสังคม (civil society) ก็สามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตยทำให้เมืองไทยกลายเป็นประเทศสมาชิกของสังคมทันสมัยในประชาคมโลกได้
แต่ขณะนี้ภาพพจน์และความเชื่อนี้ถูกทำลายไปแล้ว
ข้อวิเคราะห์เล่นๆ ของผู้เขียนข้างบนนี้ บอกให้เห็นว่ากองทัพไทยเป็นกลุ่มและสถาบันที่น่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด อย่างทันทีทันใดจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ผลได้ของกลุ่มชนชั้นกลางต่างๆ ยังดูไม่ชัดเจน และแม้ว่าจะดูเหมือนได้ ในระยะยาวน่าจะเป็นภาพมายามากกว่า สำหรับประชาชนคนไทยทั่วๆ ไปโดยรวม ดูเหมือนว่าผลได้จะไม่ชัดเจนเช่นกัน และหากวิเคราะห์อย่างลุ่มลึกแล้วประชาคมโลกก็สูญเสียเหมือนกัน
ผู้เขียนจึงยังเชื่อว่า หากเมืองไทยสามารถรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญ 2540 อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ได้ โดยไม่ต้องมีรัฐประหาร 2549 ประชาชนคนไทยโดยรวม
ยังมีโอกาสต่อรองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยโดยรวม ได้ดีกว่าภายใต้ระบอบการปกครอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังการฉีกรัฐธรรมนูญไปเสีย
ผู้เขียนเป็นขาประจำของทักษิณมาตั้งแต่วันเริ่มแรกที่ทักษิณขึ้นสู่อำนาจ (คือ คัดค้านและชี้ให้เห็นจุดอ่อน ของทักษิณมาโดยตลอด) แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เพราะว่าไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นในระยะยาว
รัฐประหาร 2549 อาจกำจัดทักษิณออกไป แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาคอร์รัปชันจะถูกกำจัดไปด้วยอย่างทันทีทันใด นอกจากนั้นการรัฐประหารไม่ได้บอกเราว่า เราจะสถาปนารัฐบาลที่ดีได้อย่างไร? จะทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างไร? การรัฐประหารยังไม่ได้สร้างความสามัคคีในสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 เดือน ที่ผ่านมาดูเหมือนจะยิ่งมีความแตกร้าว ปัญหาความยากจนก็ไม่ได้ถูกทำให้หายไปด้วยการรัฐประหาร เพราะเศรษฐกิจกำลังตกอยู่ในภาวะถดถอย
ผู้เขียนเชื่อว่าการคงรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ (แก้ไขได้ในส่วนที่บกพร่องภายใต้กรอบกติกาที่วางไว้) และหลักการนิติรัฐ (rule of law) เป็นหนทางทางที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปข้างหน้า ถึงแม้ว่าทักษิณอาจจะมีบทบาทอยู่บ้างก็ตาม เราต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการทางการเมืองด้วย
เพราะว่าเราไม่อาจเปลี่ยนสังคมและการเมืองได้ในวันเดียว
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย