http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-23

โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัญหาที่ต้องแก้ (1,2)/ .."ฟอกขาว" โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัญหาที่ต้องแก้ (1)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1639 หน้า 38


ผู้อ่านใช้ชื่อว่า "KS" ส่งอีเมลบรรยายถึงสภาพปัญหาของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ก่อสร้างในพื้นที่พร้อมภาพประกอบชี้ให้เห็นว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลที่หน่วยราชการพยายามบอกว่าเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเทคโนโลยีสะอาดและนำของเสียหรือเหลือใช้มาแปรรูปเป็นพลังงาน แต่ผลปรากฏที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

"ผมอ่านคอลัมน์ สิ่งแวดล้อม เรื่อง โรงไฟฟ้าชีวมวล ปมขัดแย้งที่ต้องเคลียร์ ในมติชนรายสัปดาห์ 23-29 ธันวาคม 2554 มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลดังนี้

หมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้ มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (MW) จำนวน 2 โรงตั้งอยู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2547 โรงไฟฟ้าเปิดเป็นต้นมา ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี ลมเหนือพัดมาในช่วงฤดูหนาว จะได้รับปัญหาความเดือดร้อนจากฝุ่นขี้เถ้าจากโรงไฟฟ้าทั้งสองที่มีฝุ่นขี้เถ้าทั้งภายในและภายนอกบ้าน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่วัน เกาะตามภาชนะ ถ้วยชามจาน ตู้ เตียง โต๊ะ ผ้าที่ซักตากไว้ ต้องปัดกวาดเช็ดถู วันละหลายๆ ครั้ง ในห้องที่เปิดหน้าต่างไว้แต่ปิดหน้าต่างมุ้งลวด ฝุ่นขี้เถ้ายังเข้ามาได้

ต่อมามีการร้องเรียนหน่วยงานทางราชการ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สาธารณสุข นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด ตั้งแต่ปี 2547 ให้ดำเนินการแก้ไข แต่ปัจจุบันปัญหายังมีอยู่

โรงไฟฟ้าทั้งสองไม่ได้แก้ไขใดๆ

ในทุกปี ชาวบ้านจะร้องเรียนไป อบต. อุตสาหกรรมจังหวัดลงมาตรวจสอบ พบว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นขี้เถ้าจริง และฝุ่นขี้เถ้ามาจากโรงไฟฟ้าจริง ก็มีคำสั่งให้โรงไฟฟ้าปรับปรุงแก้ไข 1 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง แต่ให้แก้ไขแบบไม่ต้องหยุดการผลิต เปิดไปด้วยแก้ไขไปด้วย ในระหว่างแก้ไข ชาวบ้านได้รับผลกระทบเหมือนเดิม

พอถึงหน้าฝน เดือนเมษายน ลมเปลี่ยนทิศปัญหาไม่มี เลยไม่รู้ว่าโรงไฟฟ้าได้แก้ไขไปหรือไม่ แต่พอหน้าหนาวมาอีก ปัญหาก็กลับมาเหมือนเดิม ร้องเรียนไปใหม่ อุตสาหกรรมจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ลงมาตรวจ แล้วออกคำสั่งเหมือนเดิม เป็นอย่างนี้มา 7 ปีแล้ว ปัจจุบันปัญหาก็ยังมีอยู่"



สรุปปัญหาอยู่ตรงที่

1. หน่วยงานราชการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ตามกฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด ออกคำสั่งเอื้อประโยชน์ต่อโรงไฟฟ้า

2. โรงไฟฟ้าเองไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ชาวบ้านในหลายพื้นที่เลยไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าดีๆ ก็มีเยอะ แต่โรงไฟฟ้าที่เห็นแก่ตัวก็มีมากเหมือนกัน ถ้าหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลโรงไฟฟ้า ควบคุม ตรวจสอบ จัดการ ให้บริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีพอ ปัญหาจะไม่เกิด โรงไฟฟ้าอยู่ได้มีกำไร สร้างงานให้ชุมชน ชุมชนในพื้นที่พัฒนา แต่ต้องให้ประชาชนที่อยู่พื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้า และอาศัยอยู่มาก่อนโรงไฟฟ้าจะตั้งเสียอีก อยู่ได้ด้วย ไม่ได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่นขี้เถ้า

กฎหมายมีช่องโหว่เยอะ

1. โรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดไม่เกิน 10MW ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ ก่อสร้างได้เลย ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ อยู่ดีๆ ก็ก่อสร้างขึ้นมาได้ ชาวบ้านคัดค้านไม่ได้

2. มีโรงไฟฟ้า ไม่เกิน 10MW 1 โรงก็พอทน แต่นี่เลี่ยงกฎหมาย สร้างอีก 1 โรงที่มีขนาดไม่เกิน 10MW อยู่ในพื้นที่เดียวกัน รั้วเดียวกัน เจ้าของเดียวกัน ใช้ออฟฟิศเดียวกัน ประตูเข้าออกเดียวกัน แต่ใช้คนละชื่อ คนละบริษัท

3. ตอนสร้างโรงที่ 2 ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์อีกเหมือนเดิม เพราะมีขนาดไม่เกิน 10MW ก่อสร้างได้เลย ไม่ต้องทำรายงานสิ่งแวดล้อมอีไอเอ ชาวบ้านคัดค้านก็ไม่ได้

4. ประเด็นอยู่ที่ กลายเป็นว่ามีโรงไฟฟ้าขนาด 7.5 MW+9.5MW = 17MW >10MW อยู่ในพื้นที่ แต่หน่วยงานราชการจงใจปิดตาไว้ ทำเป็นไม่รู้ เลือกใช้กฎหมายที่ใช้สำหรับโรงไฟฟ้าไม่เกิน 10MW

5. ก่อนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าที่ 2 ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน และมีการจัดทำรายงานอีไอเอ



++

โรงไฟฟ้าชีวมวล ปัญหาที่ต้องแก้ (จบ)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 36


อีเมลร้องเรียนปัญหาของโรงไฟฟ้าชีวมวลของผู้อ่านใช้ชื่อว่า "KS" ผมนำไปเป็นประเด็นสอบถามกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงานได้รับคำตอบกว้างๆ ว่า โรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นประเภทใด จะต้องไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนที่อยู่ในบริเวณรอบๆ โดยเด็ดขาด

หากเจ้าของโรงไฟฟ้ามีความรับผิดชอบกับชุมชนต้องการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างราบรื่น ต้องสร้างระบบป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายที่กำหนดเอาไว้

ถ้าเกิดปัญหาโรงไฟฟ้าปล่อยควันพิษ ส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่นผงละอองฟุ้งกระจายเมื่อใด ผู้บริหารโรงไฟฟ้าจะต้องเร่งแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก

เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานยืนยันว่า ถ้าโรงไฟฟ้าทำตามกฎระเบียบเช่นนี้แล้ว รับรองว่าไม่มีปัญหากับชุมชนแน่นอน

แต่โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งที่ผู้อ่านร้องเรียนนั้น สร้างปัญหาให้กับชุมชนมาโดยตลอด มีทั้งฝุ่นขี้เถ้าฟุ้งกระจาย แสดงว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าว ละเลยกฎกติกาของทางราชการอย่างแน่นอน

เท่าที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า โรงไฟฟ้าดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นโรงไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ

โรงไฟฟ้าดังกล่าวก่อสร้างในพิ้นที่ใกล้เคียงกัน ใช้แกลบและเปลือกไม้มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า


ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 กำหนดไว้ว่า โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าตั้งแต่ 6 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านั้นๆ

เป้าหมายในการตั้งกองทุนที่ว่าเพื่อสร้างสรรค์มิติใหม่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน เป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและแบบอย่างที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต

เงินที่เข้ากองทุนทางคณะกรรมการกองทุนพิจารณานำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ สนับสนุนด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี กีฬาดนตรี ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จัดทำผังเมืองรวมชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตและบรรเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้า

ถ้าดูหลักเกณฑ์และเป้าหมายของโครงการแล้วจะเห็นได้ว่า รัฐมีความพยายามให้โรงไฟฟ้ากับชุมชนอยู่ด้วยกันได้

แต่ในทางปฏิบัติแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น เหมือนที่ผู้อ่านส่งข้อมูลมาให้

ฝุ่นขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาแกลบและเศษไม้ เป็นหลักฐานยืนยันว่า โรงไฟฟ้าแห่งนั้นต้องมีช่องโหว่ในการผลิตอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

เพราะถ้าควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐาน ฝุ่นขี้เถ้าจะต้องไม่ฟุ้งกระจายออกจากโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนเป็นเวลานานถึง 7 ปี

ข้อที่น่าสงสัยอีกประเด็น เมื่อประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีคำสั่งให้โรงไฟฟ้าแก้ปัญหา แต่ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีกในเวลาไม่นาน

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะโรงไฟฟ้าหลบเลี่ยงบ่ายเบี่ยงหรือข้าราชการรู้เห็นเป็นใจกับผู้บริหารโรงไฟฟ้า โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะได้รับความเดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า



ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า มีโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าตั้งแต่ 6 เมกะวัตต์ขึ้นไปตั้งกระจายไปทั่วประเทศ 39 จังหวัด มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า รวมแล้ว 75 กองทุน

ผมหยิบคำถามของคุณ KS ถามเจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานเรื่องเจ้าของโรงไฟฟ้าหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์การทำประชาพิจารณ์ ไม่ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ (อีไอเอ) ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์

เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานบอกว่า โรงไฟฟ้าทุกแห่งไม่ว่าเล็กใหญ่ต้องผ่านการพิจารณาของหน่วยงานราชการหลายแห่ง เช่นกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ต้องดูว่า เครื่องจักรที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ที่ติดตั้งป้องกันควันพิษ ฝุ่นเขม่าได้มาตรฐานหรือไม่

เมื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ถ้าโรงไฟฟ้าปล่อยมลพิษออกมา กรมควบคุมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องไปตรวจสอบ เกินมาตรฐานที่ตั้งไว้หรือไม่

ถ้าหน่วยงานที่อนุมัติ และตรวจสอบ ควบคุมโรงไฟฟ้าอย่างเข้มข้นและโรงไฟฟ้าทำตามกฎระเบียบ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงานยืนยันว่า ปัญหาที่จะมากระทบกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยมาก หรือมีก็สามารถแก้ไขได้เร็วทันท่วงที ไม่มีปัญหาเรื้อรัง

ส่วนที่ตั้งคำถามว่า โรงไฟฟ้าหลบเลี่ยงกฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้ เช่น กำหนดให้โรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์และการจัดทำอีไอเอก่อน

เจ้าหน้าที่คนเดิมบอกว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์นี้ เชื่อว่าทางคณะกรรมการพิจารณามาอย่างรอบคอบเหมาะสม เพราะถ้าให้โรงไฟฟ้าขนาดเล็กๆ ทำประชาพิจารณ์หรืออีไอเอ จะต้องใช้เงินงบประมาณมากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น ราคาค่าไฟก็แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

"มีคำถามตามมาว่า ตัวเลขมาตรฐานนั้นอยู่ตรงไหน ถ้าสมมติให้อยู่ที่ 5 เมกะวัตต์ต้องทำประชาพิจารณ์หรืออีไอเอ ทางโรงไฟฟ้าต้องการเลี่ยงกฎเกณฑ์นี้ ก็สามารถยื่นขออนุญาตตั้งโรงไฟฟ้า ขนาด 4.5 เมกะวัตต์ ทางหน่วยงานรัฐ ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้น เรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึกของเจ้าของโรงไฟฟ้า ถ้ามีความรับผิดชอบต่อสังคม จะสร้างโรงไฟฟ้าเล็กใหญ่ขนาดไหนก็ไม่มีปัญหา"

บทสรุปของเรื่องนี้ อยู่ที่ "จิตสำนึก" สาธารณะนั่นเอง



++++
บทความของต้นปีที่แล้ว 2554 ช่วงเดียวกัน

ปรากฏการณ์ "ฟอกขาว"
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 34


กลายมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งในปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เมื่อ คุณเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ออกมาเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ "มติชน" ว่าเตรียมทำหนังสือเสนอกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อขอให้ปิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา บางส่วน เพราะเกิดปัญหาปะการังฟอกขาวทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อประชากรปะการังในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน

คุณเกษมสันต์ให้รายละเอียดว่า ปะการังเขากวาง ปะการังวงแหวน ปะการังดาวใหญ่ และปะการังโขด ล้วนเกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว

ปรากฏการณ์ฟอกขาว หรือ Coral Reef Bleaching ก็คือ ปรากฏการณ์ที่ปะการังชนิดต่างๆ รวมถึงสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง อีกหลายชนิด มีสีซีดลง และหากการฟอกขาวนั้นเป็นไปโดยสมบูรณ์ ปะการังเหล่านั้นจะเหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยให้เห็นสีขาวของหินปูน ซึ่งเป็นโครงสร้างของมัน

โดยทั่วไป ปะการัง และสิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง ชนิดที่จะเกิดการฟอกขาวได้นั้น จะมีลักษณะการดำรงชีวิตที่ต่างไปจากสัตว์อื่นๆ กล่าวคือ มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกับสาหร่ายเซลล์เดียวขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า "ซูแซนเทลลี" อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อชั้นในของปะการัง

ซูแซนเทลลีเป็นตัวที่ช่วยสร้างสีสันให้แก่ปะการัง



เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง แซลเทลลีไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ในที่สุดปะการังจะซีดขาวและตายลงในที่สุด

การเปลี่ยนทางสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง มีได้หลายทาง เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นหรือลดวูบลงอย่างรวดเร็ว พื้นที่บริเวณนั้นๆ มีความเข้มแสงมากเกินไป เกิดความเค็มลดต่ำ หรือมีเชื้อแบคทีเรียระบาด

สำหรับกรณีที่เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาวในฝั่งทะเลอันดามันนั้น คุณเกษมสันต์คาดการณ์ว่า น่าจะมาจากสาเหตุอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นถึงกว่า 30 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 ที่ผ่านมาต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน

นักวิชาการบางคนบอกว่า น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อน

กระแสน้ำ กระแสลมและสภาวะภูมิอากาศของโลก ต่างส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น รวมทั้งปะการัง

สาเหตุที่สอง มาจากคนทิ้งของเสียลงทะเล โดยเฉพาะของเสียจากเรือ



อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่มีนักดำน้ำไปยืนเหยียบปะการังจนเสียหาย

คุณเกษมสันต์กล่าวว่า จากการสำรวจในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม 2553 โดยเฉพาะที่หมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน จ.พังงา รวมทั้งหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และเกาะราชา จ.ภูเก็ต พบว่าในแต่ละแห่งแนวปะการังได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายจากการฟอกขาวมาก

เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบตอนใน ปะการังตายถึง 93.6% เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวแม่ยายทิศเหนือ ตายถึง 99.9% เกาะปาชุมบาตะวันออกเฉียงเหนือ ตายถึง 95% เกาะตาชัย ตายถึง 84% เกาะสุรินทร์ใต้ (อ่าวเต่า) ตาย 85% เกาะสิมิลัน หน้าประภาคาร ตาย 89.3% เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84% เกาะบางงู ทิศใต้ ตาย 60.8%

สำหรับเกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง อาทิ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไผ่ เกาะยูง เกาะบิด๊ะใน และเกาะบิด๊ะนอก พบว่าแนวปะการังส่วนใหญ่ของทุกๆ เกาะ อยู่ในสภาพเสียหาย มีปะการังตายมากกว่าปะการังมีชีวิตประมาณ 2-3 เท่า และเสียหายมาก

เฉพาะจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวต้นไทร หาดยาว อ่าวรันตี แหลมตง มีปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่น อยู่ในแนวปะการังน้ำตื้นพบว่าปะการังเขากวางกว่าร้อยละ 90 ได้ตายลงเช่นเดียวกับที่เกาะราชาใหญ่อ่าวทิศเหนือ ปะการังตายมากถึง 96.7%

"ในหลายพื้นที่ไม่พบปะการังวัยอ่อนเลย อาจกล่าวได้ว่าความเสียหายของแนวปะการังจากการฟอกขาวในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อเดือนธันวาคม 2547"

คุณเกษมสันต์ตั้งข้อสังเกต



อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิดผลกระทบต่อแนวปะการัง เนื่องจากนักท่องเที่ยวยังขาดความรู้ความเข้าใจ มีการเหยียบปะการัง การทิ้งสมอเรือในแนวปะการัง รวมทั้งพบอวนและลอบที่อยู่ในสภาพใหม่และเก่าจำนวนมากในแนวปะการัง นอกจากนี้แล้วเจ้าของทัวร์ชักชวนนักท่องเที่ยวให้อาหารปลาในแนวปะการังอาจเป็นสาเหตุให้มีสาหร่ายขึ้นคลุมปะการังจำนวนมากในหลายบริเวณ

คุณเกษมสันต์ยกตัวอย่างเกาะไผ่ หินกลาง พบว่าปลาเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะกินอาหารจากนักท่องเที่ยวแทนที่จะกินสาหร่ายที่ขึ้นคลุมปะการัง

ทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากในกรณีที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของคนนั้น จะต้องดูแลคุ้มครองพื้นที่แนวปะการังอย่างเข้มงวด

ตามข่าวของหนังสือพิมพ์มติชน นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะนำไปสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปะการังในฝั่งทะเลอันดามัน ถ้าเสียหายมากอาจถึงขั้นปิดอุทยานทั้งหมู่เกาะสิมิลันและสุรินทร์ รวมทั้งพีพี อาจเป็นบางจุดแม้เป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ

ในเมื่อจำเป็นต้องปิดอุทยาน ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวหรือบรรดาบริษัททัวร์ก็ต้องเห็นด้วย เพราะถ้าไปรอแก้ปัญหาโลกร้อนหรือปรากฏการณ์เอลนิโญนั้น คงเป็นเรื่องใหญ่เกินความสามารถมนุษย์

ฉะนั้น เหลือทางออกทางเดียวคือคุมพฤติกรรมมนุษย์ ไม่ให้เข้าไปรบกวนแหล่งปะการังชั่วคราว จนกว่าธรรมชาติเยียวยากลับฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ ปะการังมีสีสันสดใส จากนั้นจึงค่อยอนุญาตให้นักท่องเที่ยว นักดำน้ำลงไปชมความงามอีกครั้งจึงเหมาะที่สุด



.