.
ภัยพิบัติทางธรรมชาติ : ปัญหาความมั่นคง 2555
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1638 หน้า 36
"ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม-การเมือง
เท่าๆ กับเป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยา หรือทางอุตุนิยมวิทยา"
Peter Hough
Understanding Global Security (2008)
ในโลกของความมั่นคงเก่า เราไม่เคยสนใจกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติในฐานะของการเป็นแหล่งของภัยคุกคาม
ในยุคสมัยเช่นนั้น ปัญหาความมั่นคงถูกวางน้ำหนักไว้กับเรื่องของภัยคุกคามทางทหาร หรืออีกนัยหนึ่งก็คือรัฐเผชิญหน้ากับการต่อสู้ทางทหาร โดยมีรัฐข้าศึก (ผู้เป็นเจ้าของกองทัพข้าศึก) เป็นเป้าหมายหลัก
ดังนั้น แม้จะรับรู้ในความเป็นจริงว่า ความผันผวนทางธรรมชาติเป็นแหล่งของภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่การต่อสู้ของรัฐก็ถูกวางน้ำหนักไว้กับเรื่องของภัยคุกคามจากรัฐข้าศึก โดยเน้นอยู่กับเรื่องของการป้องกันและรักษาเอกราชและบูรณภาพแห่งรัฐ
และแม้นว่ารัฐจะต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่ภัยเช่นนี้ก็ถูกพิจารณาว่าเป็นเพียงปัญหาทางธรรมชาติ และไม่ได้ถูกนำมาผูกโยงเป็นปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด
แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกจากการยุติของสงครามเย็น อันเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศรวมชาติของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน 2532 ทำให้เกิดการเปิดกว้างในมิติของการพิจารณาว่าอะไรหรือปัญหาใดเป็นประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในอนาคต
ผลจากสภาพเช่นนี้ทำให้เกิดความหลากหลายอย่างมากกับสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นความมั่นคงในโลกปัจจุบัน
และหนึ่งในประเด็นเหล่านั้นก็คือปัญหา "ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" หรืออาจจะจัดเป็นแนวคิดในส่วนที่ว่าด้วย "ภัยคุกคามทางธรรมชาติต่อความมั่นคง" (Natural Threats to Security)
และสำหรับบางคนแล้ว ภัยคุกคามเช่นนี้เป็นดั่ง "การกระทำของพระเจ้า" (The Acts of God) เพราะเมื่อมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นนี้แล้ว มนุษย์แทบจะรับมือกับปัญหาเช่นนี้ไม่ได้แต่ประการใด
ดังคำกล่าวของ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ว่า "เราไม่สามารถหยุดยั้งพลังของธรรมชาติได้เลย แต่สิ่งที่เราสามารถทำและจะต้องทำก็คือ การป้องกันไม่ให้พลังดังกล่าวก่อให้เกิดภัยพิบัติทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจขนาดใหญ่" (Kofi Anan, 1999)
ตัวแบบของปัญหาภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากในโลกร่วมสมัย โดยจัดอันดับจากการเสียชีวิตของประชาชน ได้แก่
1) สึนามิ
2) แผ่นดินไหว
3) ระดับสูง/ต่ำผิดปกติของอุณหภูมิในอากาศ
4) น้ำท่วม
5) พายุ
6) ดินถล่ม
7) ไฟป่า
8) ภูเขาไฟระเบิด
ถ้าแยกกรณีของภัยพิบัติในกรณีของสึนามิออกจากภัยพิบัติอื่นๆ เนื่องจากไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแล้ว เราจะพบว่าในอดีตนั้น สิ่งที่คร่าชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมและแผ่นดินไหว
แต่ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เราเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ก่อความเสียหายในวงกว้างมากขึ้น ได้แก่ ปัญหาพายุ ไม่ว่าจะเป็นพายุไซโคลน หรือพายุทอร์นาโดก็ตาม
หรือวันนี้ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ เช่น กรณีของคลื่นความร้อนที่ก่อให้เกิดความร้อนอย่างรุนแรงก็คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนมากในยุโรปในปี 2546
และในปี 2547 โลกได้เห็นปรากฏการณ์ความรุนแรงจากกรณีสึนามิ และมีผู้คนเสียชีวิตมากกว่า 30,000 คน พร้อมๆ กับความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมขนาดใหญ่
หรือในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏการณ์สึนามิในญี่ปุ่นก็ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในวงกว้างเช่นกัน
ผลของความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้นักความมั่นคงบางส่วนเสนอว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องยอมรับว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาความมั่นคงของโลก เพื่อที่ทำให้เกิดการกำหนดนโยบายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความตระหนักเช่นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเตรียมแผนรองรับในลักษณะของ "แผนบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ" (Natural Disaster Relief Plan) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เพื่อลดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลของประเทศต่างๆ อย่างมาก เพราะรัฐบาลโดยทั่วไปมักจะคิดถึงปัญหาภัยพิบัติว่าเป็นเรื่องของปัญหาทางธรรมชาติมากกว่าปัญหาความมั่นคง
แต่สถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาที่เกิดจาก "การกระทำของพระเจ้า" ดังกล่าวแล้ว ทำให้เกิดการพิจารณาถึงปัญหาในบริบทของงานความมั่นคงมากขึ้น
เพราะเมื่อปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้น ในด้านหนึ่งย่อมก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และในอีกด้านหนึ่งก็กระทบต่อสถานะของตัวรัฐบาลและความมั่นคงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
ดังนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี หรือจะดูจากภาพรวมในบริบทของโลกก็ดูจะไม่แตกต่างกันที่ความร้ายแรงของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ก็มีมากขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น การตระเตรียมแผนรองรับต่อปัญหาเช่นนี้ทั้งในระดับประเทศและในระดับระหว่างประเทศจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะคิดว่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติในแต่ละปี เป็นเพียงความ "โชคร้าย" ของสังคมหรือของผู้คนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
หากจะต้องคิดว่า ปัญหานี้เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาสังคมการเมืองในอีกด้านหนึ่งด้วย
ดังจะเห็นได้จากการวิจัยของสหภาพกาชาดระหว่างประเทศ (The International Federation of Red Cross หรือ IFRC) ถึงการเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกับอัตราการสูญเสียของประชากรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น
ดังจะเห็นได้ว่า ในระยะเวลา 10 ปี จากปี 2534 ถึงปี 2543 มีประชาชนในประเทศที่มีการพัฒนาสูงเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้อยกว่าผู้ที่เสียชีวิตจากปัญหาดังกล่าวในประเทศที่มีการพัฒนาในระดับกลาง
และจะเสียชีวิตน้อยกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบจากกรณีเดียวกันในประเทศที่มีการพัฒนาในระดับต่ำ
ตัวเลขของอัตราผู้เสียชีวิตในข้างต้นอาจจะทำให้เราตีความได้ว่า เงินสามารถซื้อความมั่นคง (ความปลอดภัย) ได้ในระดับหนึ่งจากการคุกคามของภัยธรรมชาติ
เพราะสังคมที่มีระดับการพัฒนาสูง มักจะเป็นสังคมที่มีความมั่งคั่งมากกว่า
แต่ในอีกด้านหนึ่งเราก็อาจจะต้องยอมรับว่าในสังคมที่มีการพัฒนามากกว่า ก็สะท้อนให้เห็นถึงระบบบริหารจัดการที่ดีกว่า
และอีกด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาของการพัฒนาทั้งทางกฎหมายและการทำแผนสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ ที่สามารถส่งผลต่อการกำหนดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้น ปัญหาเช่นนี้จะโทษแต่เพียงธรรมชาติก็คงไม่ถูกทั้งหมด ตัวอย่างเช่น โครงสร้างของตึกหลายชั้นในอินเดียนั้น มีไม่มากกว่าร้อยละ 10 ที่มีการก่อสร้างถูกแบบแผนและมีมาตรฐานที่สามารถรองรับต่อปัญหาแผ่นดินไหวได้จริง
อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็ถูกสร้างให้เกิดความเชื่อว่า ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติของประเทศในซีกโลกใต้ (The South) ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนานั้น จะสามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีหรือความช่วยเหลือทางเทคนิคจากประเทศในซีกโลกเหนือ (The North) เป็นต้น
แต่ในสถานการณ์จริงอาจจะพบว่า แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ไม่อาจรับมือกับปัญหาเช่นนี้ได้จริง
ดังตัวอย่างกรณีพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา (Katrina Hurricane) ในปี 2548 ที่พัดกระหน่ำเมืองนิวออร์ลีนของสหรัฐอเมริกาและได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่
ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่าแม้ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบเตือนภัยอย่างดี แต่เมื่อต้องเผชิญกับพายุขนาดใหญ่เช่นนี้ สหรัฐ ก็ต้องประสบกับความเสียหายอย่างมาก
ดังนั้น การกล่าวถึงเรื่องของภัยพิบัติทางธรรมชาติ จะคิดแต่ว่าเป็นเรื่องของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศยากจนเท่านั้นไม่ได้
เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เลือกว่าจะเกิดแก่ประเทศร่ำรวยหรือประเทศยากจน
หากแต่ประเทศยากจนอาจจะมีอัตราความเสี่ยงสูงจากปัญหาของการบริหารจัดการ และความขาดแคลนทรัพยากรในอันที่จะทำให้การรับมือเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การขับเคลื่อนในประเด็นปัญหาเช่นนี้ยังเห็นได้ชัดเจนเมื่อสหประชาชาติได้ออกข้อมติที่ 46/182 ในปี 2532 ด้วยการผลักดันให้ทศวรรษของปี พ.ศ.2543 (ค.ศ.1990) เป็น "ทศวรรษสากลเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ" (The International Decade for Natural Disaster Relief หรือ INDNR)
และขณะเดียวกันก็สร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำข้อเสนอให้แก่สหประชาชาติในการผลักดันนโยบายและความร่วมมือเพื่อให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่กันในยามต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม โครงการ INDNR ของสหประชาชาตินั้น มีลักษณะทางเทคนิค เช่น การจัดตั้งศูนย์และโครงการต่างๆ ดังตัวอย่างของ ศูนย์ติดตามไฟป่า (The Global Fire Monitoring Center) หรือโครงการติดตามพายุไซโคลนและสึนามิ เป็นต้น
องค์กรเหล่านี้เป็นความพยายามของสหประชาชาติในการผลักดันความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากการสิ้นสุดทศวรรษเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติของสหประชาชาติแล้ว องค์กรใหม่จึงถูกตั้งขึ้นในปี 2542 ได้แก่ "ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติ" (The International Strategy for Disaster Reduction หรือ ISDR) เพื่อเป็นผู้สืบทอดภารกิจของ INDNR และเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปี 2543 โดยหวังว่าองค์กรนี้จะทำหน้าที่โดยตรงในการลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภยันตรายทางธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ ที่จะเกิดแก่สังคม เศรษฐกิจ และตัวมนุษย์เอง
เรื่องราวเหล่านี้บ่งบอกถึงความพยายามในระดับโลกต่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ และในอีกด้านหนึ่งก็บ่งบอกเช่นกันถึงการพิจารณาว่า ปัญหานี้ได้ถูกยอมรับว่าเป็นปัญหาความมั่นคงร่วมสมัย และเป็นปัญหาที่ก่อความเสียหายขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม หรือกับตัวมนุษย์ซึ่งเป็นผู้รับผลที่เกิดขึ้นโดยตรง
ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่สำคัญอีกด้วยว่า ความเปราะบางของมนุษย์ต่อภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี
และแนวโน้มเช่นนี้ไม่มีท่าทีว่าจะลดลงแต่ประการใด และในอีกด้านหนึ่งจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ความเปราะบางของมนุษย์นั้นไม่ใช่เป็นผลโดยตรงจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเท่านั้น หากแต่เป็นผลจากความรู้สึกในจิตใจ
และที่สำคัญก็คือเป็นผลจากความอ่อนแอของมนุษย์เองในโลกสมัยใหม่
หากพิจารณากลับมาในบริบทสังคมไทยในปี 2555 แล้ว ก็เห็นคำตอบชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะคิดถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง
เพราะไม่มีหลักประกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2554 นั้นจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกในปี 2555 หรือไม่...
การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับ "การกระทำของพระเจ้า" จึงเป็นทางเลือกเดียว
แม้จะไม่ใช่คำตอบว่า เราจะรับมือได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันต่อการลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องถกเถียงกันว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติขนาดใหญ่จะเกิดอีกหรือไม่ในปี 2555
และอย่างน้อยความรุนแรงของพายุที่เกิดขึ้นกับฟิลิปปินส์ ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปี 2554 ก็คือคำเตือนที่ชัดเจนสำหรับการเตรียมตัวในปีหน้า!
++++
บทความของต้นปี 2554 ( *ขออนุญาตเพิ่มความ เข้าใจว่าตอนตีพิมพ์ได้ตกหล่นไป )
ช่างมัน ฉันไม่แคร์!
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1589 หน้า 36
"พวกที่ยอมยกเลิกเสรีภาพเพื่อให้ได้มา
ซึ่งความปลอดภัยเล็กๆ น้อยๆ ในปัจจุบันนั้น
พวกเขาไม่สมควรที่จะได้ทั้งเสรีภาพและความปลอดภัยเลย"
เบนจามิน แฟรงคลิน
นักการเมืองและนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน
(ค.ศ.1706-1790)
หากถอยกลับอดีตสัก 20 ปีที่แล้ว จะพบว่าอาการ "ย้อนยุค" ของรัฐไทยที่เด่นชัดน่าจะเป็นกรณีรัฐประหาร 2534 เพราะโดยทั่วไปแล้ว เรามักจะมีความเชื่อ (จะเรียกว่าเป็น "ทฤษฎี" หรือไม่ก็ตาม) ว่ารัฐประหารเป็น "สิ่งล้าหลัง" หรือเป็นอะไรที่ "ตกยุค" ไปแล้วในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์
ความเชื่อเช่นนี้ไม่ใช่อะไรที่เลื่อนลอย หากแต่ส่วนหนึ่งเป็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเอง ในปี 2534-2535 ที่แม้กองทัพจะประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในช่วงต้นปี 2534 แต่ก็ดูจะเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกับความเป็นไปของการเมืองนอกรัฐไทย
เพราะในเดือนพฤศจิกายน 2532 ได้มีการประกาศรวมชาติระหว่างเยอรมันตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน จุดสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือการ "ทุบกำแพงเบอร์ลิน" ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ใหญ่ของการแบ่งโลกของยุคสงครามเย็น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น ซึ่งเป็นระเบียบโลกที่ครอบงำความเป็นไปของการเมืองทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภายในมาตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2
ผลของการยุติของระเบียบโลกเช่นนี้ ทำให้ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจต้องสิ้นสุดไปด้วย
หรือกล่าวได้ว่าการปลุก "ผีคอมมิวนิสต์" กลายเป็นวาทกรรมที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์ และไม่สามารถโน้มน้าวให้สังคมโดยรวมเห็นด้วยกับการยึดอำนาจของทหาร
วาทกรรม "ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์" ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศในโลกที่สามรวมทั้งกับการรัฐประหารไทย ดังนั้น เมื่อเงื่อนไขของการเมืองโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ต้องสร้างวาทกรรมใหม่ๆ รองรับบทบาทของทหารในการเมืองที่ไม่มี "ผีคอมมิวนิสต์" เป็นภัยคุกคาม
วาทกรรมใหม่ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น "แบบไทยๆ" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร จึงหนีไม่พ้นประเด็นสำคัญ ได้แก่
- การทุจริต
- การข่มเหงข้าราชการประจำ
- การรวบอำนาจทางการเมือง
- การทำลายสถาบันทหาร
-การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ (จะสังเกตได้ว่า รัฐประหารในครั้งนี้ไม่มีข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์เหลืออยู่เหมือนเช่นในอดีต)
กระแสการเมืองของการปกครองในระบอบทหารดูจะขัดแย้งกับความเป็นไปของโลกอย่างมาก เพราะในหลายประเทศในขณะนั้นกลับพบปรากฏการณ์ของการที่กองทัพถอนตัวออกจากการเมือง มากกว่าจะเป็นไปเช่นในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ที่กองทัพเข้าไปครอบงำการเมือง
เพราะในอีกด้านหนึ่งระบอบอำนาจนิยมในสหภาพโซเวียตหรือในยุโรปตะวันออกก็อยู่ในทิศทางเดียวกัน ที่ต้องเปิดทางให้แก่การเมืองเสรีนิยม
ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากการสิ้นสุดของสงครามเย็น (นับจากการประกาศรวมชาติของชาวเยอรมันในปลายปี 2532) แล้ว ยุโรปตะวันออกก็เดินทางสู่ระบอบการเลือกตั้ง
ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า โลกาภิวัตน์พัดพาโลกทางการเมืองไปสู่ระบอบการเลือกตั้ง และประชาธิปไตยกลายเป็น "กระแสการเมืองหลัก" (ดังบทความของ แซมมวล ฮันติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เขียนหนังสือเรื่อง "กระแสประชาธิปไตย" เพื่อบ่งบอกถึงกระแสโลกาภิวัตน์ของการเมืองในยุคดังกล่าว)
แม้จะมีปรากฏการณ์ฝืนกระแสด้วยชัยชนะของรัฐบาลจีนในการปราบปรามการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง ในวันที่ 5 มิถุนายน 2532 แต่ปรากฏการณ์สำคัญอื่นๆ กลับตอกย้ำทิศทางของการขยายตัวของกระแสประชาธิปไตย
เช่น สาธารณรัฐบอลติกเรียกร้องเอกราชและถอยการเมืองจากระบอบสังคมนิยมสู่ระบอบเสรีนิยมในวันที่ 23 สิงหาคม 2532
การโค่นล้มระบอบเผด็จการในโรมาเนียในวันที่ 25 ธันวาคม 2532
การเลือกตั้งอย่างเสรีในเชกโกสโลวาเกียในวันที่ 29 ธันวาคม 2532
และที่สำคัญอีกกรณี ได้แก่ การยกเลิกการแบ่งแยกผิวและการขึ้นสู่อำนาจของ เนลสัน แมนเดลา ผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลานาน ในแอฟริกาใต้ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2534 (เกิดก่อนรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วัน)
เรืองราวเช่นนี้ ตอกย้ำถึงการขับเคลื่อนของกระแสประชาธิปไตย และในประเทศไทย รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพก็ล้มลงจากการประท้วงอย่างรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งก็ตอกย้ำ "ชัยชนะของประชาธิปไตย" ในเวทีการเมืองโลก แม้จะยังคงมีรัฐบาลทหารปกครองอยู่ในบางประเทศไม่ว่าจะเป็นในอินโดนีเซีย หรือในพม่า ก็ตามที
แต่รัฐบาลทหารเช่นนี้ก็อยู่ภายใต้แรงกดดันของกระแสโลกาภิวัตน์ จนในที่สุด รัฐบาลทหารที่มีอายุอย่างยาวนานในอินโดนีเซียก็ต้องยอมลงจากอำนาจ หลังจากประเทศต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และนำพาประเทศก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ด้วยการเปิดระบบการเมืองสู่การเลือกตั้ง (และทั้งยังเป็นจุดผกผันที่นำไปสู่การได้รับเอกราชของติมอร์ตะวันออก)
แม้รัฐบาลทหารในพม่าจะสามารถดำรงตนอยู่ได้ แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่า พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายและแรงกดดันต่างๆนาๆ จนอาจกล่าวได้ว่า โลกการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าไม่สบายเหมือนเก่าอีกแต่อย่างใด การปิดประเทศไม่สามารถปิดกั้นแรงกดดันจากภายนอกได้ทั้งหมด
แม้การเมืองจะก้าวสู่ระยะเปลี่ยนผ่านของประชาธิปไตยหลังจากวิกฤตการณ์ในปี 2535 แต่เมื่อชนชั้นนำและผู้นำทหารไม่พึงพอใจกับการขยายตัวของระบอบการเลือกตั้งที่ปฏิเสธได้ว่ามาพร้อมกับการเติบใหญ่ของระบบทุนนิยมแล้ว พวกเขาก็ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งในการนำพาประเทศไทย "โต้กระแสทวน" กับโลกาภิวัตน์
โดยการใช้เครื่องมือเก่าที่สุดด้วยการทำรัฐประหารในปี 2549
รัฐประหาร 2549 ไม่มีการอ้างถึง "ผีคอมมิวนิสต์" แต่ก็มาพร้อมกับวาทกรรมคล้ายๆ กัน อันได้แก่
- ความขัดแย้งและการแตกแยกของคนในชาติ
- การทุจริตของรัฐบาล
- การครอบงำการเมือง
- การหมิ่นสถาบันสำคัญ (คล้ายคลึงกับเหตุผลของการยึดอำนาจในปี 2534)
ความสำเร็จของรัฐประหาร 2549 อาจจะแย้งกับ "ทฤษฎี" ที่เชื่อว่า การยึดอำนาจในยุคโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ราคาที่ประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ความสำเร็จของการรัฐประหารดังกล่าวสูงมาก...สูงมากทั้งในเวทีสากลและเวทีภายใน เว้นเสียแต่เราปฏิเสธที่จะรับรู้และหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ ว่า "ไม่เป็นไร" !
หลังรัฐประหาร 2549 การต่อสู้ทางการเมืองทวีความเข้มข้นในทุกบริบท ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ในปี 2551 ที่อาศัยการปลุกระดมด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว พร้อมๆ กับอาศัยวาทกรรมชาตินิยมสุดโด่งต่อต้านประเทศเพื่อนบ้านเป็นทิศทางหลัก
ในขณะเดียวกันก็มีการกำเนิดของ "กลุ่มเสื้อแดง" ที่ยืนบนฐานคิดเรื่องต่อต้านทหารนิยม และเรียกร้องประชาธิปไตย
และขณะเดียวกันก็มี "กลุ่มเสื้อน้ำเงิน" ที่ผู้นำแตกออกจากกลุ่มเสื้อแดง และหันไปเป็นฐานการเคลื่อนไหวให้แก่ชนชั้นนำและผู้นำทหารบางส่วน
ในสภาพเช่นนี้ กลุ่มเสื้อเหลืองพยายามแตกตัวให้เกิดความหลากหลาย บางช่วงพวกเขาก็สร้างภาพเป็น "พวกเสื้อขาว" บางเวลาก็เป็นพวก "เสื้อหลากสี" เพื่อหลีกเลี่ยงภาพของความเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองแต่เดิม แต่ก็มีทิศทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว และต่อต้านระบอบเลือกตั้งไม่แตกต่างจากเดิม
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า "กลุ่มเสื้อเขียว" (กลุ่มทหาร) ยังคงมีอำนาจไม่แตกต่างจากสถานการณ์ที่ผ่านๆ มา เพราะในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองของความเป็น "กีฬาสี" (แดง-เหลือง-ขาว-หลากสี-น้ำเงิน-เขียว!) กลุ่มชนชั้นนำและผู้นำทหารยังคงดำรงความเชื่อแบบเดิมว่า กองทัพคือกลไกหลักของการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมการเมืองไทย
ดังนั้น การ "ล้อมปราบ" ในปี 2552 และ 2553 จึงไม่ใช่ความแปลกแยกทางการเมือง หากเป็นการตอกย้ำที่ชัดเจนว่า เวลานั้นชนชั้นนำต่อสู้โดยปฏิเสธการเมืองของประชาธิปไตยสูงยิ่งอย่างไร
ในการต่อสู้เช่นนี้ ยังเห็นภาพที่ชัดเจนอีกด้านหนึ่งว่า พวกเขาไม่สนใจกับโลกภายนอก ตัวแบบของการต่อต้านสื่อต่างประเทศอย่างกรณีจดหมาย "แสดงความเป็นไทย" และต่อต้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เป็นภาพสะท้อนที่น่าสนใจ และทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสื่อสายอนุรักษ์อย่างแข็งขัน หรือตัวอย่างของการอยู่กับโลกของ "ความเป็นไทย" ที่ไม่ต้องสนใจกับโลกภายนอกในอีกด้านหนึ่งก็คือ
การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เมืองหลวงของประเทศถูกทำให้กลายเป็น "ทุ่งสังหาร" (Killing Field) แล้วเราก็สร้างวาทกรรมต่อต้านโลกาภิวัตน์ว่า เรื่องเหล่านี้เป็น "กิจกรรมภายในของไทย" โดยไม่จำเป็นต้องนำพาว่า ภาพและข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏในเวทีสากลจะทำให้สถานะของประเทศเป็นเช่นไร หรือโลกภายนอกจะมองเราอย่างไร
ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกัน เพื่อให้การสังหารมีความชอบธรรมในตัวเอง กระบวนการทางกฎหมายจึงถูกแปรเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในตัวเอง
ความรุนแรงทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลกลายเป็น "การก่อการร้าย"
ส่วนความรุนแรงที่สนับสนุนรัฐบาลของชนชั้นนำเป็นเรื่องของ "การก่อการดี" ผลก็คือ สถานการณ์ของการใช้กฎหมายไม่ใช่ปัญหา "สองมาตรฐาน" อีกต่อไปหากแต่กลุ่มผู้มีอำนาจยอมทำแม้กระทั่งการทำให้กฎหมายกลายเป็นความ "ไร้มาตรฐาน" โดยมิไยต้องคิดถึงวันข้างหน้าว่าสังคมที่กฎหมายถูกทำลายความเป็นมาตรฐานลงนั้น ผู้คนจะอยู่กันอย่างไรในอนาคต
แต่ในโลกแคบๆ ของสังคมการเมืองไทยที่เชื่อกันอย่างง่ายๆ ว่า เราสามารถทัดทานกระแสของโลกภายนอกได้นั้น ปรากฏการณ์วิกิลีกส์ก็กลายเป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ผู้มีอำนาจในการเมืองไทยต้องเผชิญ
แน่นอน พวกเขามีวิธีที่จะไม่ไยดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนเช่นที่พวกเขา "พยายามอย่างยิ่ง" ที่จะไม่กังวลกับการนำคดีสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ ขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ เพราะพวกเขาอาจจะเชื่อง่ายๆ ว่า สำนักกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ทำอะไรพวกเขาไม่ได้ในทางกฎหมาย
ดังนั้น ในปี 2554 ที่เริ่มขึ้น การเมืองไทยก็น่าจะคงอยู่กับปรากฏการณ์ "ช่างมัน ฉันไม่แคร์" กับโลกภายนอกต่อไป เสียแต่ไม่กี่วันก่อน คนของเราพลาดไปแล้ว ที่ดันข้ามเส้นเขตแดน (บุกรุก) เข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านและถูกจับ...
หรือเราพยายามจะบอกเพียงว่า แม้แต่เส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ฉันก็ไม่แคร์!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย