.
เพิ่มเติม - ชมคลิป "ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112" โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * ** * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
วิกฤตอัตลักษณ์ไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:00 น.
ยิ่งตระหนักชัดแก่ผมมากขึ้นทุกทีว่า ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ในเมืองไทยทุกวันนี้ คือความขัดแย้งในเรื่อง "ความเป็นไทย" อะไรที่ถือว่า "ไทย" และอะไรที่ถูกมองว่า "ไม่ไทย" กำลังต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงการนิยามว่า "ความเป็นไทย" คืออะไร
ไม่ต่างจากสังคมในระยะเปลี่ยนผ่านทั่วไป หนึ่งในความขัดแย้งกันของคนกลุ่มต่างๆ คือเรื่องอัตลักษณ์ เราเป็นอะไร และเราควรเป็นอะไร เหมือนหรือต่างจากคนอื่นอย่างไร จึงจะอยู่ในโลกที่เปลี่ยนไปแล้วต่อไปได้
แม้ในการขัดแย้งโต้เถียงกัน ประเด็นเรื่อง "ความเป็นไทย" ไม่ได้ปรากฏออกมาชัดๆ เสมอไป แต่ลึกลงไปเบื้องหลังคือ ไทยควรเป็นหรือไม่ควรเป็นอะไรอยู่นั่นเอง เช่น จะเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของรัฐในการชุมนุมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้เสนอและผู้คัดค้านมีความเห็นว่า คนไทยควรชุมนุมทางการเมืองได้แค่ไหน และอย่างไร จึงจะพอเหมาะพอดีกับคนไทย
นับตั้งแต่ ร.5 เป็นต้นมา "ความเป็นไทย" เคยถูกนิยามตามวัฒนธรรมและระบบคุณค่าของราชสำนัก แม้แต่ข้าราษฎรที่เป็นพสกนิกร ก็ถูกมองว่าเป็น "อื่น" คือมีความเป็น "บ้านนอก" ที่ยังไม่ "ศิวิไลซ์" แต่ก็สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็น "ไทย" แท้ที่ยอมรับวัฒนธรรมและระบบคุณค่าของราชสำนักได้ โดยผ่านการศึกษาซึ่งรัฐจัดขึ้น
"ความเป็นไทย" ตามนิยามนี้ดำรงอยู่สืบมา และเป็นเนื้อหาหลักในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับ จนถึงสิบสี่ตุลา จึงเริ่มถูกท้าทายด้วยอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย เสนอชาตินิยมที่มีเนื้อหาใหม่ กล่าวคือ มีศูนย์กลางอยู่ที่สามัญชน (และวัฒนธรรมของชาวบ้าน) วัฒนธรรมใหม่ที่ขบวนการฝ่ายซ้ายผลิตขึ้นในช่วงสั้นๆ นี้ สั่นสะเทือนนิยาม "ความเป็นไทย" ที่ครอบงำสังคมไทยมานานอย่างถึงรากถึงโคนพอสมควรทีเดียว ไม่เฉพาะแต่เพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น ที่ยังนิยมฟังและเล่นกันต่อมา หลัง 6 ตุลาคม 2519 แม้แต่วัฒนธรรมชาวบ้าน เริ่มได้รับศักดิ์ศรีและเกียรติยศ จนสามารถไปปรากฏตัวบนเวที "ความเป็นไทย" ได้มากขึ้น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
นับตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา เพลงพื้นบ้าน, เพลงลูกทุ่ง, พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน, ปราชญ์ชาวบ้าน, เทคโนโลยีชาวบ้าน, พิธีกรรมและงานฉลองของชาวบ้าน, ฯลฯ เข้าไปปรากฏตัวอย่างชัดเจนในภาพยนตร์, นิตยสาร, ทีวี, เวทีการประกวด, การโฆษณาสินค้า, ส.ค.ส., รางวัลที่ทางการมอบให้, ฯลฯ จนยากที่จะนิยาม "ความเป็นไทย" กันด้วยวัฒนธรรมและค่านิยมของราชสำนักล้วนๆ
ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมป๊อปของตะวันตกก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างเข้มข้นมากขึ้น ดึงดูดวัยรุ่นในเขตเมืองให้เข้าไปเสพอย่างเหนียวแน่น และค่อยๆ ขยายความนิยมนี้ออกสู่ชนบท วัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ พยายามปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ด้วยการผนวกเอาบางส่วนของวัฒนธรรมป๊อปแบบตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตน
"ความเป็นไทย" ยังกลืนกันไม่สนิทนัก ระหว่างวัฒนธรรมราชสำนักซึ่งเป็นอัตลักษณ์เดิม กับวัฒนธรรมพื้นบ้านตามประเพณีของไทย บางส่วนของวัฒนธรรมพื้นบ้านสามารถจับจองพื้นที่ "ความเป็นไทย" ได้ เช่น ผ้าไหมมัดหมี่, ลายผ้าชาวเขา, หรือการแข่งเรือ และส้มตำ ฯลฯ เป็นต้น แต่อีกหลายส่วนก็ยังแยกพื้นที่ออกไปต่างหาก เหมือนจะเข้าไปแทนที่อัตลักษณ์ความเป็นไทยแบบเก่า
ผู้อุปถัมภ์ "ความเป็นไทย" ในสองแบบนี้ ก็แยกจากกัน ชนชั้นนำตามประเพณีอุปถัมภ์และพยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมราชสำนัก ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เดิม ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่อัตลักษณ์ให้แก่วัฒนธรรมพื้นบ้านที่เลือกสรรบางอย่างให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเป็นไทย" ด้วย
ในส่วนวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผู้อุปถัมภ์ใหญ่สุดคือตลาด ซึ่งสนับสนุนให้ผลิตวัฒนธรรมประเภทนี้ในเชิงพาณิชย์ และนี่คือเหตุผลที่ทำให้วัฒนธรรมพื้นบ้านมีพลวัตในการปรับตัวสูง เพราะต้องปรับเปลี่ยนให้ตัวเอง "ขายได้" ในตลาดที่ผู้ซื้อมีจำนวนมโหฬาร ยิ่งปรับมากก็ยิ่งหาความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมราชสำนักได้น้อยลง จนจะกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเป็นไทย" ได้ยากขึ้น
แม้กลืนกันไม่สนิท และทิ้งความขัดเขินไว้ให้เห็นมากมายใน "ความเป็นไทย" แต่โดยรวมๆ แล้วก็อาจกล่าวได้ว่า "ความเป็นไทย" ขยายพื้นที่ไปครอบคลุมทั้งสองกระแส แล้วกลบสิ่งที่ไม่น่าจะไปกันได้ไว้ไม่ให้ใครรู้สึก
กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ความเป็นไทย" ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ถูกฝ่ายใดนิยามเพื่อขจัดอีกฝ่ายหนึ่งออกไปอย่างสิ้นเชิง
แต่ความขัดแย้งในช่วงนี้ ไม่เปิดโอกาสให้ทำอย่างนั้นได้แล้ว "ความเป็นไทย" กำลังถูกแย่งกันนิยามอย่างเอาเป็นเอาตาย และยากที่จะกลืนเข้าหากันได้ง่ายๆ ( ปรองดอง ? )
ผมขอยกตัวอย่างคำนิยามของฝ่ายที่เข้ามาท้าทายคำนิยามเก่าบางเรื่อง ก็จะมองเห็นว่ายากที่จะกลืนเข้าหากัน
ประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ฝ่ายท้าทายเห็นว่า คือคุณลักษณะที่ขาดไม่ได้ของ "ความเป็นไทย" คำนี้มีความหมายกว้าง แต่คุณลักษณะที่เห็นพ้องต้องกันในหมู่ผู้ท้าทาย ก็คือความเสมอภาค และอำนาจสูงสุดคืออธิปไตยของปวงชน
แต่ความเสมอภาคไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเป็นไทย" มาก่อน แท้ที่จริงแล้ว "ความเป็นไทย" ตั้งอยู่บนหลักการแห่งความไม่เสมอภาคด้วยซ้ำ เพราะรู้จักที่ต่ำที่สูงต่างหาก จึงทำให้สังคมอยู่โดยสงบราบเรียบสืบมาได้
อีกฝ่ายหนึ่งพยายามรื้อฟื้นคุณธรรมที่เคยได้รับการยกย่องมาปราม นั่นคือ ความสามัคคีซึ่งอ้างกันว่าเป็นส่วนสำคัญของ "ความเป็นไทย" มาก่อน (หนึ่งในคุณลักษณะสามประการของชนชาติไทย ตามนิยามของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) แต่ความสามัคคีแบบไทยถูกยกไว้สูงกว่าคุณธรรมทุกอย่าง เช่น สูงกว่าความยุติธรรม, สูงกว่าความเมตตากรุณา, สูงกว่าความซื่อสัตย์ ฯลฯ เราอาจละเมิดคุณธรรมเหล่านี้ได้หมดเพื่อผดุงความสามัคคีเอาไว้ ดังนั้น ความสามัคคีแบบไทยจึงหมายถึงการยอมรับความไม่เสมอภาคด้วย อีกฝ่ายหนึ่งจึงยอมรับไม่ได้
อธิปไตยของปวงชนคืออำนาจสูงสุดก็เช่นกัน ฝ่ายที่ท้าทายคำนิยาม "ความเป็นไทย" ยึดถือว่าการเมืองในระบอบรัฐสภาเป็นหนึ่งในตัวแทนที่ขาดไม่ได้ของหลักการข้อนี้ ฉะนั้น การเลือกตั้งโดยให้สิทธิอย่างเท่าเทียมแก่พลเมืองทุกคนจึงมีความสำคัญ และผลของการเลือกตั้งคือการชี้ขาด แต่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งยังยึดถือนิยาม "ความเป็นไทย" แบบเดิม ต้องการนิยามว่า ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ มีความสำคัญกว่า เพราะขาดสามสิ่งนี้ ก็จะสูญเสีย "ความเป็นไทย" ไป ในบางคราวจึงจำเป็นต้องละเมิดอำนาจที่มาจากอธิปไตยของปวงชนบ้าง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการนิยาม "ความเป็นไทย" ที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว และไม่มีหนทางประนีประนอมกันได้ง่ายๆ
และนี่คือวิกฤตอัตลักษณ์ที่แท้จริง เพราะวิธีเก่าๆ ซึ่ง "ความเป็นไทย" เคยเปิดพื้นที่ให้สิ่งที่ต่างกันเป็นคนละขั้ว สามารถอยู่ร่วมกันในนามของ "ความเป็นไทย" นั้น ไม่อาจใช้ในกรณีของการแย่งชิงกันนิยามอัตลักษณ์ในครั้งนี้ได้เสียแล้ว
++
ด.ช.ปลาบู่
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 28
ความตื่นตัวต่อคำทำนายของ ด.ช.ปลาบู่นั้นเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็น "สินค้า" ที่สื่อปั้นขึ้นวางขายในตลาด แต่คนเราจะเห่อซื้อ "สินค้า" อะไรคงมีเหตุมากกว่าเพราะ "สินค้า" นั้นถูกวางขาย
อนาคตเป็นเรื่องที่มนุษย์เราอยากรู้มาแต่บรมสมกัลป์แล้ว จะทำนายโดยผ่านการเผากระดองเต่า, กระดูกสัตว์ หรือชำแหละไก่ แล้วพัฒนาขึ้นมาให้ละเอียดซับซ้อน โดยเอาปัจจุบันไปผูกกับแผนที่ดวงดาว, แผนภูมิขลังๆ, หรือเทศะและกาละ ซึ่งเชื่อว่าล้วนบอกหรือลิขิตความเป็นไปอันจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งสิ้น
แต่คำทำนายของ ด.ช.ปลาบู่ก็ไม่เหมือนกับ การทำนายอนาคตที่มีมาแต่สมัยหิน เพราะส่วนใหญ่ของคำทำนายโบราณ คือคำทำนายอนาคตของบุคคล เช่น จะได้คู่หรือไม่ จะหายเจ็บหายป่วยหรือไม่ ฯลฯ เป็นต้น
แต่ปลาบู่ทำนายอนาคตของสังคมไทยทั้งหมดเลย
การทำนายอนาคตกว้างๆ ไม่เจาะจงเฉพาะบุคคลก็มีในสมัยโบราณเหมือนกันนะครับ เช่น การทำนายฟ้าฝนในสังคมเกษตร, ทำนายพายุคลื่นลมในสังคมประมง, ทำนายศึกสงครามในหมู่นักรบ ฯลฯ แต่ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นการทำนายที่เจาะจงประโยชน์เฉพาะหน้า เจาะจงไปยังกลุ่มคนเฉพาะซึ่งต้องคาดเดาอนาคตเพื่อวางแผนในการอาชีพ
ผมคิดว่าการทำนายอนาคตกว้างๆ เช่นนี้ ตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบัน อาจแบ่งออกได้เป็นสองอย่าง
อย่างแรกคือการทำนายโดยมีเหตุอันเห็นได้ในปัจจุบัน เช่น การทำนายภูเขาไฟระเบิด โดยดูจากอาการของภูเขาไฟ หรือทำนายพายุโดยดูจากการก่อตัวและเส้นทางเคลื่อนตัวของพายุลูกนั้น หรือการทำนายทางอุตุนิยมวิทยาทั้งหลาย การทำนายเหล่านี้ทำได้โดยดูจากเหตุที่เห็นได้ในปัจจุบันทั้งสิ้น
ผมอยากจะรวมเอาการผูกดวงไว้ด้วย เพราะการผูกดวงคือดูจากการเคลื่อนที่ของดวงดาวต่างๆ อันเห็นได้จากปัจจุบันเหมือนกัน (ส่วนจะตรงหรือไม่ตรงกับดาราศาสตร์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) การทำนายดวงเมืองหรือดวงโลกจึงอยู่ในการทำนายที่ไม่ต่างจากการทำนายภูเขาไฟ (ซึ่งมีโอกาสผิดได้เหมือนกัน) คือดูจากเหตุอันเห็นได้ในปัจจุบัน
ประเด็นที่ผมอยากจะเน้นก็คือ การทำนายอนาคตอย่างนี้ไม่จำกัดแต่การทำนายที่ดูเป็น "วิทยาศาสตร์" อย่างเดียว เพียงแต่โบราณเขาไม่นิยมทำนายดวงเมืองกัน จนเหตุได้เกิดไปแล้วจึงอธิบายตามหลัง
ในเมืองไทยเคยมีกฎหมายห้ามทำนายดวงเมืองด้วยซ้ำ
การทำนายอนาคตอย่างที่สองมาจากสังคมที่เชื่อในเรื่องเทพลิขิต อะไรที่จะเกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้ารู้อยู่แล้วทั้งสิ้น (ominiscient สัพพัญญู, ominpresent - อกาลิโก ทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต อันเป็นคุณสมบัติของพระผู้เป็นเจ้าในหลายศาสนา) ว่ากันอย่างเป็นทางการ ปัญญานุภาพของพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่เกินกว่ามนุษย์คนใดจะหยั่งถึง ฉะนั้น การไปอ้างว่าตัวหยั่งถึงเทพลิขิตว่าจะเป็นอย่างไร จึงเท่ากับเทียบปัญญาของตนเองกับปัญญาของพระเจ้า นับเป็นบาปมหันต์ในหลายศาสนา
แม้กระนั้น ก็อดไม่ได้นะครับ คำทำนายอนาคตที่อิงกับเทพลิขิต จึงปรากฏมาแต่โบราณในสังคมที่เชื่อเรื่องเทพลิขิต เช่นคำทำนายของนอสตราดามุสเป็นต้น ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในสมัยหนึ่ง แต่ที่ต้องห้ามไม่ใช่เพราะทายถูก หากเพราะขัดหลักความเชื่อขั้นพื้นฐานทางศาสนาต่างหาก
ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ในคริสต์ศาสนา พระเจ้าได้บอกส่วนสุดท้ายของอนาคตไว้แล้ว คือวันพิพากษาหรือวันสิ้นโลก ในพุทธศาสนามีวันสิ้นกัลป์ เมื่อเกิดดวงอาทิตย์ถึง 7 ดวงมาเผาผลาญโลกจนไหม้เป็นจุณ
ฉะนั้น คำทำนายอนาคตที่อิงกับศาสนาจึงต้องมีฉากจบที่วันสิ้นโลก ซึ่งจะมาเร็วหรือมาช้าเท่าไร ไม่มีใครรู้
ผมรู้สึกว่าคติเรื่องวันสิ้นโลกนั้นฝังใจมนุษย์ แม้ว่าอิทธิพลของศาสนาต่อโลกทรรศน์ของเราอาจด้อยความสำคัญลง แต่เรื่องวันสิ้นโลกยังแฝงอยู่ในโลกทรรศน์โดยไม่รู้ตัว หนังฮอลลีวู้ดนำเอาคตินี้มาขายและมักทำกำไรได้ดี มีแต่เรื่องโลกถูกทำลายลงด้วยมนุษย์ต่างดาว, สงครามล้างโลก, น้ำท่วมโลก, อุกกาบาตชนโลก, เชื้อโรคจากต่างดาวทำลายชีวิตบนโลก, ยุคน้ำแข็งกลับมาใหม่ ฯลฯ
แน่นอนว่าไม่ใช่วันพิพากษาแท้ๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นต้องมีพระเจ้าออกมายืนกางแขนบนท้องฟ้าด้วย และเรื่องจะดำเนินต่อไปให้สนุกได้ยาก
มีคำทำนายอนาคตของสังคมในเมืองไทยสมัยโบราณเหมือนกัน ที่รู้จักกันดีมีอยู่สามชิ้น แต่ผมเข้าใจว่าไม่เชิงเป็นคำทำนายอนาคตของสังคมนัก ชิ้นแรกคือคัมภีร์อนาคตวงศ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ศาสนา ทำนายว่าพุทธศาสนาจะเรียวลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้น จึงต้องเร่งปฏิบัติธรรมก่อนที่พระศาสนาจะสูญหายไปหมด หรือมิฉะนั้น ก็เร่งสั่งสมความดีไว้เพื่อจะได้เกิดทันพระศรีอาริย์
ชิ้นที่สองกล่าวกันว่าเป็นคำทำนายความวิบัติของกรุงศรีอยุธยา ที่ว่า "กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม" (อันเป็นสำนวนกลอนในปลายอยุธยาแน่) สรุปคือมีสาเหตุมาจากความวิบัติของระเบียบทางสังคมนั่นเอง ว่ากันว่าเป็นคำทำนายของพระนารายณ์บ้าง ของขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือบ้าง ก็น่าประหลาดที่พระเจ้าแผ่นดินทำนายความวิบัติของราชวงศ์ตัวเอง แต่มีเหตุผลและหลักฐานบางอย่างที่ทำให้ผมเชื่อว่า คำทำนายนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองของปรปักษ์พระนารายณ์ เพื่อชิงราชสมบัติมากกว่า จึงไม่อาจนับได้ว่าเป็นคำทำนายอนาคตแท้ๆ
ชิ้นที่สามคือคำทำนายที่อ้างว่ามีมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทำนายความเป็นไปของรัชสมัยต่างๆ 10 รัชสมัย และจบลงด้วย "ถิ่นกาขาว ชาวศิวิไลย" ดูจากภาษาและสำนวนที่ใช้ในคำทำนายก็เห็นได้ชัดว่า ต้องแต่งขึ้นหลัง ร.5 หรือแม้แต่ ร.6 ลงมา ซึ่งสังคมไทยเปลี่ยนไปพอสมควรแล้ว การทำนายอนาคตของสังคมกลายเป็นเรื่องปรกติ ทั้งดูเหมือนจะมีนัยะทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย
ยังมีอีกชิ้นหนึ่งคือคำทำนายของกรมหลวงนรินทรเทวี พระภคินีต่างมารดาของ ร.1 ที่ว่า ราชวงศ์จะมีอายุ 150 ปี ซึ่งทำให้ตื่นตระหนกกันพอสมควรใน พ.ศ.2475 แต่นั่นเป็นคำทำนายของตระกูลมากกว่าของสังคมทั้งหมด
ทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนแตกต่างจากคำทำนายของ ด.ช.ปลาบู่
ประการแรกคำทำนายของ ด.ช.ปลาบู่ ไม่เกี่ยวกับเทพลิขิตใดๆ แต่ออกจะสัมพันธ์กับความเชื่อที่มาจากอนาคตวงศ์ คือพูดถึงพระศรีอาริย์ (บางทีก็ฟังดูเหมือน ด.ช.ปลาบู่เป็นพระศรีอาริย์ที่กำลังเสวยพระชาติต่างๆ ก่อนจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้า)
ประการที่สอง ดูเหมือนคำทำนายนี้ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ (อย่างน้อยก็โดยตรง) แตกต่างจากคำทำนายที่มีมาแต่โบราณซึ่งมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ชัดเจน
และประการสุดท้ายก็คือ ในขณะที่อ้างความ "พิเศษ" บางอย่างของผู้ทำนาย แต่กลับอิงเหตุผลไว้กับอะไรที่ "เป็นเหตุอันเห็นได้ในปัจจุบัน" หรือที่ฟังดูเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เช่น เขื่อนพังเพราะแผ่นดินไหว, น้ำหนักของตึกรามบ้านช่องที่กดให้โครงสร้างของดินรวนไปหมด, การขุดลอกสันดอนปากน้ำเจ้าพระยา ฯลฯ
ดังนั้น จึงเป็นคำทำนายที่น่าเชื่อถือแก่คนหมู่มาก คนที่ยังเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ ก็นับว่าตรงกับการสิ้นสุดสมัยของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน คนที่เชื่อวิทยาศาสตร์ (แบบเขาลือกัน) ก็ฟังขึ้น เพราะล้วนมีเหตุอันเห็นได้มาชี้ไว้ให้ดูทั้งสิ้น เกิดความตื่นตระหนกกันไปทั่ว ทั้งไพร่ผู้ดียาจกเข็ญใจ
อย่างไรก็ตาม จะอธิบายความตื่นตระหนกนี้ว่ามีฐานความเชื่อของสังคมรองรับอยู่อย่างเดียวไม่พอ ผมคิดว่ามีเงื่อนไขทางสังคมอีกบางอย่าง ซึ่งสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่พอดี ที่ทำให้คำทำนายนี้เป็นที่เชื่อถืออย่างกว้างขวางเช่นนี้
ประการแรก ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ทำให้ชีวิตของทุกคนอยู่ในความเสี่ยงยิ่งกว่าบรรพบุรุษในยุคสมัยใดเคยประสบมา เพราะความเปลี่ยนแปลงที่กระทบชีวิตเราทุกคน ล้วนเป็นเหตุที่เราไม่สามารถแม้แต่เข้าใจมันได้ด้วยซ้ำ ไม่พักต้องพูดถึงไปกำกับควบคุมมัน คำทำนายของ ด.ช.ปลาบู่ทำให้ความเสี่ยงกลายเป็นรูปธรรมขึ้น ทั้งเข้าใจง่าย และที่สำคัญกว่านั้นคือเตรียมตัวรับมือมันได้ในระดับหนึ่ง เราสามารถคุมชีวิตเราได้เป็นครั้งแรก แม้คุมภัยพิบัติไม่ได้ก็ตาม
ประการที่สอง ว่าเฉพาะในสังคมไทย ทั้งไพร่ทั้งอำมาตย์ต่างรู้ดีแก่ใจตัวว่า สภาพที่เรารู้จักเคยชินทั้งทางการเมืองและสังคม ตลอดไปถึงเศรษฐกิจ กำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่จะเปลี่ยนไปอย่างไร ไม่ทราบได้ เพราะยังไม่มีฝ่ายใดสามารถควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้นได้สักฝ่ายเดียว จะยันกันไปอีกนานเท่าไรก็ไม่รู้ ไม่เคยมีครั้งใดในประวัติศาสตร์ ที่สังคมไทยจะเผชิญความเครียดเท่านี้
วิบัติภัยตามคำทำนายของ ด.ช.ปลาบู่ จึงเป็นเหมือนตัวคลายปม เพราะหากเกิดขึ้นจริง ความไม่แน่นอนที่เขม็งเกลียวมาจนถึงวันนี้ก็จะได้ถึงจุดจบเสียที เกิดเงื่อนไขใหม่ที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า ตัวจะมีอำนาจควบคุมความเปลี่ยนแปลงได้สูงกว่าฝ่ายอื่น
ประการที่สาม น่าสังเกตมากนะครับ ภัยพิบัติตามคำทำนายนั้นกระทบต่อภาคกลาง (ทางภูมิศาสตร์) มากสุด เช่นหากเขื่อนแตก ย่อมเกิดมิคสัญญีแก่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ไม่มีสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา แทนที่ดินจะปูดขึ้นตรงปากแม่น้ำ กลับมาปูดขึ้นในเมือง ก็โดนกรุงเทพฯ ไปตรงๆ ฯลฯ
ภัยพิบัติเหล่านี้ไม่กระทบภาคเหนือซึ่งอยู่เหนือเขื่อน ไม่กระทบภาคอีสานและภาคใต้ เพราะอยู่คนละลุ่มน้ำ คนในพื้นที่เหล่านี้จึงไม่ตื่นตระหนกต่อคำทำนาย
ที่น่าสังเกตก็คือ คนในภาคเหนือ, อีสาน และใต้ คือคนที่น่าจะมีความเครียดน้อยสุด เพราะในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังก้าวย่างเข้ามานั้น ดูเหมือนเขามีคำตอบที่แน่ชัดอยู่แล้ว อย่างน้อยก็ในบางเรื่อง
+++
คลิกชมคลิป "ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112" โดยนิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 22:05:17 น.
คลิปวิดีโอบันทึกปาฐกถาหัวข้อ "ทำไมจึงต้องแก้ไขมาตรา 112" โดยนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในเวทีวิชาการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.55 ที่ผ่านมา
นิธิ เอียวศรีวงศ์: Nidhi Eawsriwong on Lese Majeste
www.youtube.com/watch?v=pCombmIfID4
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย