http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-01-23

เยียวยาจิตใจ หรือชดใช้ชีวิต โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

เยียวยาจิตใจ หรือชดใช้ชีวิต
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1640 หน้า 20


เป็นครั้งแรกที่ได้รับรู้โดยตรงว่ามีผู้อ่านลดลงหนึ่งท่านเพราะไม่พอใจหน้าปกหนังสือ ทำให้คนอ่านมติชนรายสัปดาห์บนหน้ากระดาษ ลดลงเหลือ 299,999 คน (ประมาณเอาเอง) ส่วนคนอ่านบนจอแก้วในระบบออนไลน์หรือบนเว็บต่างๆ ที่ถ่ายทอดต่อออกไป ไม่รู้ว่าเพิ่มหรือลดลงไปเท่าไร

เรื่องปกหนังสือผู้เขียนไม่มีส่วนกำหนด แต่มีความเห็นว่า ปกหนังสือไม่เพียงเป็นเรื่องดึงดูดคนอ่าน แต่เป็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่า ช่วงเวลานั้นมีเหตุการณ์อะไรหรือบุคคลใดน่าสนใจ

รูปแบบของปกมติชนสุดสัปดาห์ทุกฉบับคือคน แต่คนนั้นอาจจะมีทั้งผู้อ่านที่ชื่นชมหรือเกลียดชัง

แต่ที่ผู้เขียนได้ยินมาเป็นคำวิจารณ์เรื่องเนื้อหาที่บอกว่า ...ยังสามารถหาความจริงและเหตุผลได้พอคุ้มค่าเงินและเวลาในการอ่านมติชน...

ฟังแล้วก็รู้สึกว่าต้องปรับปรุงงานเขียนให้ยกระดับขึ้นไปอีกตามอายุ ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 35 ของมติชน เพราะคนอ่านต้องการความจริงกับเหตุผล คนทำข่าวและวิเคราะห์ข่าวจึงมีงานทำและต้องมีผลงานที่ตอบสนองต่อสังคมได้อย่างภาคภูมิ

สำหรับคอลัมน์นี้ยังยืนยันแนวทางการสร้างความยุติธรรมและความปรองดองในสังคม ถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ

เพราะเราไม่อยากเห็นการสูญเสียโดยไม่จำเป็น ไม่อยากเห็นการเยียวยาเกิดขึ้นซ้ำซาก



เยียวยาทำไม?
จะได้ผลแค่ไหน?

ผู้วิเคราะห์บอกว่าการเยียวยาทางกายจะขึ้นอยู่กับฝีมือแพทย์และยา แต่การเยียวยาทางใจคือการปลอบประโลมทางจิตใจ เพื่อให้ฝ่ายที่สูญเสียยอมรับการชดเชยสิ่งที่สูญเสียไป แม้จะไม่ได้ชีวิตคืนมา ไม่ได้อวัยวะคืนมา แม้ความเจ็บปวดยังอยู่ในความทรงจำหรือความเป็นจริง เอาวันแห่งอิสรภาพคืนมาไม่ได้ หลายฝ่ายจึงต้องพยายามหาสิ่งชดเชย

การเยียวยาทางจิตใจไม่ได้มีเพียงการใช้เงินมาชดเชยแต่อาจจะมีมาตรการทางกฎหมาย เช่น การหาตัวคนทำผิดมาลงโทษ การคืนความยุติธรรม

มาตรการต่างๆ ที่สร้างขึ้นก็เพื่อทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองสงบลง ปูทางไปสู่ความปรองดอง

กรณีการเยียวยาในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 เริ่มต้นโดยใช้มาตรการทางกฎหมายการติดตามเร่งรัดดำเนินคดี 91 ศพ ตามด้วยการชดเชยทางการเงิน เป็นการแสดงน้ำใจของฝ่ายรัฐบาลที่เห็นใจผู้ที่สูญเสีย และเป็นการยอมรับว่า รัฐบาล (แม้จะไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้) ได้ทำผิดพลาด ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการสลายการชุมนุม ใช้ทหารติดอาวุธหนักแทนที่จะใช้ตำรวจซึ่งถูกฝึกฝนมาให้ทำหน้าที่สลายการชุมนุม

(การกระทำที่ผิดพลาดเหล่านี้ ไม่ได้มีเฉพาะที่ประเทศไทย แต่เกิดในอียิปต์ ลิเบีย และซีเรียและมีผลให้ประชาชนได้เสียชีวิตจำนวนมาก และในที่สุดก็เกิดสงครามกลางเมือง)

การเยียวยาทางจิตใจจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้คนส่วนใหญ่ที่สูญเสียยอมรับ แต่ถ้ามีเพียงกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ เห็นว่าไม่ยุติธรรมและจะใช้ปฏิบัติการตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพื่อแก้แค้น เรื่องก็จะไม่จบลงง่ายๆ

ผู้มีอำนาจของทุกฝ่าย ที่ไม่อยากให้เกิดสงครามในทุกประเทศ ก็จะใช้วิธีเยียวยาทางจิตใจทุกวิถีทาง

ที่สำคัญ คือ การให้ความยุติธรรม

ส่วนการขัดขวางกระบวนการการเยียวยา จะมีขึ้นเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้เกิดการปรองดอง แต่ต้องการขยายความขัดแย้ง เพื่อปกปิดความผิดหรือเพื่อหาประโยชน์จากความขัดแย้งที่ขยายใหญ่ขึ้น

มหาอำนาจบางประเทศ ที่ไม่ต้องการเยียวยาคนที่สูญเสียเพราะต้องการให้เกิดสงครามการเมือง เพื่อตนเองจะได้มีอำนาจ หาประโยชน์จากการค้าอาวุธ หรือข้าราชการบางคนที่ได้ผลประโยชน์จากงบประมาณประเทศนั้นๆ

โดยทั่วไปผู้ที่มีจิตสำนึกและรักสันติ ก็จะยอมรับมาตรการเยียวยาด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียทั้งชีวิตคนและงบประมาณซึ่งจะตามมาอีกมากมายมหาศาล


ผู้สูญเสีย
ไม่มีใครรับจ้างตาย
หรือขายอิสรภาพ

มีกลุ่มคนที่แสดงอาการคัดค้านมาตรการเยียวยาที่รัฐบาลชุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชดเชยให้กับผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและเสียหายจากสถานการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 การคัดค้านมีทั้งการใช้คำพูดและอาจขยายไปจนถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง

มีหลายคนที่แสดงอาการเหยียดหยามคนที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ราวกับว่าคนที่ตายไปนั้นได้รับเงินเกินคุณค่าของชีวิต

คนที่บาดเจ็บก็ได้รับเงินเกินค่าของความเจ็บปวด และการสูญเสียอวัยวะ คนที่ถูกกักขัง ก็ได้รับเงินเกินกว่าอิสรภาพที่เสียไป

มีเสียงประชดประชันว่า "น่าจะมีคนแกล้งทำเป็นบ้าเพื่อไปขอรับเงินจากรัฐบาล" หรือ "ถ้ารู้อย่างนี้จะวิ่งไปให้ถูกลูกปืนบ้างเพื่อจะได้เงินมาใช้" หรือ "ยอมติดคุกซักปีก็จะได้เงินเป็นล้าน"

คนที่มีทัศนะแบบนี้ถ้ามีอำนาจหรือมีส่วนในการใช้อำนาจจะเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะจะทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ความขัดแย้งขยายเป็นความรุนแรงได้

ผลของการต่อสู้ทางการเมืองครั้งใหญ่ๆ ในอดีตถึงปัจจุบันมีการสูญเสียชีวิตแทบทุกครั้ง คนที่ออกมาต่อสู้ ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือพิการ และเมื่อถูกลูกปืนหัวทะลุ เสียชีวิต เสียดวงตา เสียปอด เสียไต เสียแขนขาจนพิการ ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะอยู่อย่างไร

พวกเขาออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่เอารัฐประหาร ต่อต้านตุลาการภิวัฒน์ คัดค้านความอยุติธรรม คำว่าม็อบรับจ้าง หายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ หายไปจากคำค่อนแคะบนเฟซบุ๊ก

เมื่อคนพวกนี้ วิ่งเข้าไปเผชิญหน้ากับรถสายพานหุ้มเกราะและกองกำลังทหารที่ติดอาวุธ เสียงนินทาที่ตามมาก็คือพวกนี้มันบ้า แต่คนที่เห็นด้วยก็ชื่นชมว่ากล้าหาญ

ถ้าคนที่เสียชีวิตบอกได้ ก็คงจะบอกว่า "กูไม่อยากถูกยิง แต่หลบไม่พ้น ไม่รู้มันยิงมาจากไหน" คนที่อยู่ในที่ชุมนุมเวลานั้น เมื่อถูกยิงก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะตาย บาดเจ็บหรือติดคุก แต่รับประกันว่าในขณะนั้นไม่มีใครคิดว่าจะได้เงิน คนที่ถูกจับก็เช่นเดียวกัน รู้ว่าจะถูกนำไปขังคุก ถูกดำเนินคดี แม้ยามที่ติดคุกก็ไม่มีใครคิดว่าจะได้รับเงินค่าชดเชย ทุกคนจึงพยายามขอประกันตัวหรือดิ้นรนออกจากคุกกันทั้งสิ้น

ไม่ควรเอาความคิดแบบคนงกเงินมากล่าวหาคนอื่นว่า รับจ้างตาย หรือขายอิสรภาพ

อย่าเข้าใจผิดว่า ความตายและอิสรภาพ สามารถซื้อ-ขายได้ในตลาดหุ้น



การเยียวยาความขัดแย้งทางการเมือง
แตกต่างกับการชดเชย ความสูญเสีย
ของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนในเหตุการณ์อื่นๆ

มีผู้พยายามเปรียบเทียบว่าทำไมผู้ที่ได้รับการเยียวยาในเหตุการณ์ทางการเมืองจึงได้รับผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานตามปกติ เช่น ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ข้าราชการ ฯลฯ หรือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ

ตามปกติแล้วจะมีคนประสบความสูญเสียในขณะปฏิบัติภาระหน้าที่การงานต่างๆ ในทุกอาชีพ ทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนไม่น้อย ในแต่ละหน่วยงาน ทุกคนที่เข้ามาทำงานรู้อยู่แล้วว่าสภาพการงานของตนเองเป็นอย่างไร มีภาวะความเสี่ยงเป็นอย่างไร ต้องป้องกันอย่างไร

ในขณะที่ทำงาน ตนเองจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอะไรบ้าง ทั้งเงินเดือน สวัสดิการพิเศษ ยศตำแหน่ง ฐานะทางสังคม

ดังนั้น จึงมีความแตกต่างในกรณีที่ทหารตำรวจ ข้าราชการพลเรือนเสียชีวิต แม้แต่รับราชการหน่วยเดียวกันแต่ยศไม่เท่ากันก็มีความแตกต่าง

ถ้าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าประสบอุบัติเหตุ ถูกไฟชอร์ต เสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตในหน้าที่ ก็จะมีค่าชดเชยแบบหนึ่ง แต่ถ้าในเหตุการณ์นั้นมีชาวบ้านมาเสียชีวิตด้วยเนื่องจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ ชาวบ้านจะได้ค่าชดเชยอีกแบบหนึ่ง

การเยียวยาทางการเมืองเพื่อพยายามยุติความขัดแย้งมิใช่เป็นการชดเชยการเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ตามปกติ จึงมีเงื่อนไขที่แตกต่างตามสภาพของแต่ละเหตุการณ์ ตามยุคสมัย

บางครั้งและหลายครั้งอาจไม่ได้รับอะไรเป็นการชดเชย เพียงแค่รอดชีวิตมาก็ถือว่าบุญแล้ว

บางยุคสมัยอาจได้รับเกียรติว่าเป็นวีรชน แต่บางยุคในเหตุการณ์ที่คล้ายกันอาจถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อการร้าย

แต่การจะย้อนกลับไปเยียวยาเหตุการณ์ในอดีตคงต้องดูสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและข้อตกลงในแต่ละยุค

อย่างเช่น การสงบศึกตามนโยบาย 66/23 มีข้อเสนอให้ที่ดินทำกินกับผู้ที่วางอาวุธ ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง

ผ่านไป 20 กว่าปี จนผู้คนลืมไปแล้ว ยังมาจ่ายเงินแทนที่ดินคนละสองแสนกว่า ก่อนการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ไม่นาน เรื่องแบบนี้จึงเป็นนโยบายของรัฐบาล

ผู้วิเคราะห์เห็นว่า เหตุการณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเหมือนกันและความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ คือกรณีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 85 ศพ ที่ตากใบ จ.นราธิวาส รัฐบาลควรทบทวนนโยบายเยียวยาโดยเร็ว


ถ้าไม่อยากเยียวยา
คงต้องหาชีวิตมาแลก

อย่าคิดว่าทุกคนดีอกดีใจที่ได้เงินจากการเยียวยา เมื่อมีบางคนไม่อยากให้ก็มีบางคนไม่อยากรับ มีคนบอกว่าไม่เอาก็ได้ แต่ให้ชดใช้ชีวิตมา ถ้าเอาชีวิตลูกหรือพี่น้องคืนมาไม่ได้ ก็ขอเอาชีวิตฝ่ายที่ฆ่ามาชดใช้ ถ้าเอาดวงตาแขนขาเขาคืนมาไม่ได้ ก็ขอดวงตาหรือแขนขาของอีกฝ่ายคืนมาก็แล้วกัน พวกเขาขอเพียง 80 ศพ ก็เพียงพอ ดูแล้วเป็นแบบโบราณ เป็นข้อเสนอแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ไม่มีการปรองดอง

ดูเผินๆ ก็รู้สึกว่าดี เพราะไม่ต้องเสียเงินตั้ง 2,000 ล้าน

แต่เรามีบทเรียน กรณีแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม นักศึกษา ประชาชนถูกฆ่าไปประมาณ 50 คน เมื่อมีการใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน คนที่ถูกล้างแค้นไม่ใช่มีเพียง 50 คน 5 ปี ของสงครามมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 พันคน บาดเจ็บเป็นหมื่นๆ ใช้เงินหลายหมื่นล้าน ใช้เวลาหลายปีกว่าจะปรองดองกันได้

กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้เสียชีวิตเกินกว่า 5,000 งบประมาณที่ใช้ไปน่าจะเกินกว่า 1.7 แสนล้าน ถ้าย้อนเวลาไปอีกจำนวนคนตายก็มากกว่านี้ และยังไม่รู้จะรบกันไปอีกกี่ปี

การเยียวยาแม้ไม่มีใครคัดค้านเลยก็ทำได้ยากอยู่แล้ว แต่ที่ทั่วโลกเขาพยายามทำกันเพราะรู้ว่า มันดีกว่าจะให้แผลของความขัดแย้งลุกลามจนไม่อาจรักษา


ความขัดแย้งของบ้านเราวันนี้ถ้าปล่อยให้ขยายออกไป จะมีการตายอีกมากมาย ไม่ใช่ 80 หรือ 91 ศพ แต่เมื่อสงครามเกิดมันจะเริ่มที่ขั้นต่ำ 8,000 ศพ และขยายเป็น 80,000 ศพ ส่วนงบประมาณจะใช้เป็นแสนๆ ล้าน ถ้าไม่อยากเยียวยาก็ต้องเตรียมหาชีวิตมาแลก เกรงแต่ว่าจะเป็นชีวิตชาวบ้านเสียมากกว่าคู่ขัดแย้ง

สำหรับวันนี้... ที่ต้องเยียวยาจิตใจอย่างเร่งด่วน คือ...

เยียวยาฝ่ายปราบประชาชน ให้มีสติ ถ้ายังหมกมุ่นเสียใจที่แพ้การเลือกตั้ง มองประชาชนเป็นศัตรู อาจคิดสั้นทำอะไรที่คาดไม่ถึง

เยียวยาผู้ที่สูญเสียและยังโกรธแค้น ด้วยความยุติธรรม ไม่ใช่ด้วยเงินเท่านั้น

เยียวยาทั้งสังคม ด้วยการปรับปรุงระบบยุติธรรม แก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

ต้องรีบทำวันนี้...จะได้ไม่ต้องเอาชีวิตคนจำนวนมาก...มาชดใช้ในวันหน้า



.